หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

นักขนส่งเรณูทองคำ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)

(1/1)

pani:
ต้นมะเขือเทศเรียงรายอยู่ในเรือนกระจกที่เมืองวิลล์ค็อกซ์ รัฐแอริโซนา ลำต้นสีเขียวที่โผล่ออกมาจากใยมะพร้าวอัดแท่งสูงเสียดเพดานเรือนกระจก  ฟาร์ม ยูโรเฟรชเก็บมะเขือเทศจากต้นที่สมบูรณ์เหล่านี้ได้ปีละ 60,000 ตัน ซึ่งปลูกอยู่บนเนื้อที่ 1.25 ตารางกิโลเมตรในอาคารที่มีท่อส่งน้ำยาวรวมกันหลายกิโลเมตร และโครงข่ายลวดเหล็กเพื่อให้เถามะเขือเทศได้เลื้อยหรือขึ้นค้าง

กระนั้น ที่นี่ก็ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ด้วย นั่นคือเสียงหึ่งเบาๆที่ดังก้องอยู่ในโสตประสาท พวกมันคือผึ้งหึ่งนับพันๆตัวที่กำลังทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง

ใน การขยายพันธุ์  พืชดอกส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพา “บุคคล” ที่สามในการเคลื่อนย้ายเรณูระหว่างเกสรเพศผู้และเพศเมีย บางชนิดต้องอาศัยแรงจูงใจเป็นพิเศษกว่าจะยอมมอบเรณูล้ำค่า ตัวอย่างเช่นดอกมะเขือเทศต้องการแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่ากับแรงดึงของแรง โน้มถ่วงโลกราว 30 เท่า สตีเฟน บักมันน์ นักกีฏวิทยาจากองค์กรความร่วมมือด้านพาหะถ่ายเรณู (Pollinator Partnership) อธิบาย

ชาวสวนลองมาแล้วสารพัดวิธีในการเขย่าเรณูจากดอกมะเขือเทศ ตั้งแต่ตะแกรงร่อน เครื่องเป่าลม และคลื่นเสียงกระแทก ไปจนถึงอุปกรณ์สั่นสะเทือนมือถือที่นำมาใช้กับช่อดอกแต่ละช่ออย่างพิถีพิถัน แต่วิธีการยอดนิยมที่มักใช้กันตามเรือนกระจกในปัจจุบันน่ะหรือ ก็ผึ้งหึ่งนั่นไง ลองถ้าผึ้งสักตัวได้เข้าไปในดอกมะเขือเทศแล้วละก็ มันจะเกาะและสั่นตัวสุดแรงขณะซุกไซ้ดูดกินน้ำต้อย ทำให้ละอองเรณูร่วงหล่นสู่ยอดเกสรเพศเมีย (stigma) และติดหนึบกับขนปุกปุยบนตัวผึ้ง จากนั้นมันจะลำเลียงอนุภาคเหล่านั้นไปยังดอกไม้ดอกต่อไป กระบวนการนี้เรียกว่า การถ่ายเรณูด้วยการสั่น (buzz pollination) ซึ่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ความ จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ธรรมชาติออกแบบการถ่ายเรณูได้อย่างยอดเยี่ยม แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือ “คนงาน” แถวยาวเหยียดที่ปฏิบัติภารกิจนี้ ซึ่งได้แก่สัตว์น้อยใหญ่มากกว่า 200,000 ชนิดพันธุ์ โดยต่างก็มีกลยุทธ์แตกต่างกันออกไปในการช่วยต่อยอดให้มวลไม้ดอก แมลงวันและด้วงเป็นพาหะถ่ายเรณูดั้งเดิมย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนที่ไม้ดอกถือ กำเนิดขึ้นครั้งแรกบนโลกเมื่อ 130 ล้านปีก่อน ในส่วนของผึ้งนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุชนิดพันธุ์ที่แตกต่างกันได้ราว 20,000 ชนิดแล้ว นกฮัมมิงเบิร์ด ผีเสื้อ ผีเสื้อกลางคืน ตัวต่อ และมด ต่างพร้อมทำงานนี้เช่นกัน ส่วนหอยทากและทากก็คอยป้ายเรณูขณะคืบคลานไปตามช่อดอกไม้ ยุงขนย้ายเรณูให้มวลหมู่กล้วยไม้ ขณะที่ค้างคาวซึ่งมีปากและจมูกรวมทั้งลิ้นหลากหลายรูปแบบที่ปรับให้เข้ากับ รูปทรงดอกไม้ที่แตกต่างกัน ก็ขันอาสาเคลื่อนย้ายเรณูของไม้ดอกกว่า 500 ชนิดทั่วโลก

แม้ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบินไม่ได้ก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน อย่างโอพอสซัมผู้ชื่นชอบน้ำหวาน ลิงในป่าดิบชื้นบางชนิด และลีเมอร์ในมาดากัสการ์ ทั้งหมดล้วนมีมือที่คล่องแคล่วใช้ในการฉีกก้านดอกไม้ และขนปุกปุยที่เรณูสามารถเกาะยึดได้ ที่น่าแปลกที่สุดก็คือสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด เช่น ตุ๊กแกและจิ้งเหลน จะเลียน้ำต้อยและเรณู แล้วเรณูก็จะติดไปตามหน้าและเท้าขณะที่มันออกหาอาหารต่อไป

ไม้ ดอกซึ่งมีมากกว่า 240,000 ชนิด ได้วิวัฒน์ตัวเองไปพร้อมๆกับพาหะถ่ายเรณูของพวกมัน โดยใช้กลิ่นหอมหวานและสีสันสดใสดึงดูดเหล่าพาหะให้เข้าหาเพื่อแลกกับอาหาร ฐานดอกที่คล้ายกับระบบลำเลียงในสัตว์มีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เป็นท่อและหลอด ไปจนถึงกลีบดอก พู่เกสร และเดือย เป็นการจับคู่อันเหมาะเจาะระหว่างสัตว์กับส่วนต่างๆของพืช อาทิ ลิ้นยาวๆใช้แหย่เข้าไปในหลอดเรณูแคบๆ หน้าที่มีขนปุกปุยใช้มุดเข้าไปในพู่เกสรที่เหนียวเหนอะ ไม่ช้าเรณูก็แพร่กระจายออกไป

น่าเสียดายที่ความหลากหลายอันสลับซับซ้อนทั้งหมดนี้ไม่เหมาะกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monocrop) และการเกษตรเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ที่ให้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ

ปัจจุบัน พืชผลเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯอย่างน้อยหนึ่งร้อยชนิดต้องพึ่งพาผึ้งเลี้ยงเกือบ ทั้งหมดในการถ่ายเรณู ผึ้งเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูโดยเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ซึ่งจะจัดส่งไปยังฟาร์มขนาดใหญ่ในลักษณะของการให้เช่า และแม้ว่าผึ้งชนิดอื่นอย่างผึ้งรังดินจะมีประสิทธิภาพในการถ่ายเรณูของผลไม้ บางชนิดมากกว่าผึ้งธรรมดาห้าถึงสิบเท่า แต่ผึ้งธรรมดาก็มีคอโลนีที่ใหญ่กว่ามาก มิหนำซ้ำพวกมันยังบินไปหาอาหารได้ไกลกว่า และอดทนต่อการดูแลจัดการและการเคลื่อนย้ายได้ดีกว่าแมลงส่วนใหญ่ พวกมันสามารถถ่ายเรณูให้พืชได้เกือบทุกชนิด นักเศรษฐศาสตร์บางคนประมาณว่า พวกมันอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกมากกว่าสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

อย่าง ไรก็ตาม การเพาะปลูกในระดับอุตสาหกรรมอาจกำลังบั่นทอนกลไกหรือระบบนี้ลงอย่างช้าๆ เพราะที่ผ่านมาประชากรผึ้งได้รับผลกระทบจากโรคร้ายนานาชนิดและติดเชื้อปรสิต มานานพอๆกับที่พวกมันถูกเลี้ยงมา แต่แล้วสถานการณ์กลับเลวร้ายลงอย่างหนักเมื่อปี 2006 ในสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ผึ้งจำนวนมหาศาลเริ่มหายตัวไปในช่วงฤดูหนาว  คน เลี้ยงผึ้งเปิดฝารวงผึ้งออกแต่กลับพบเพียงนางพญากับผึ้งที่ตามไปไม่ทันอีก ไม่กี่ตัว ส่วนผึ้งงานนั้นหายไปหมด  ในสหรัฐฯ ราวหนึ่งในสามถึงครึ่งหนึ่งของรังผึ้งเลี้ยงได้รับความเสียหาย เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งบางคนรายงานว่า คอโลนีผึ้งหายไปเกือบร้อยละ 90 สาเหตุของปัญหาลึกลับนี้ได้รับการขนานนามว่า ปรากฏการณ์การล่มสลายของคอโลนีผึ้งหรือซีซีดี (colony collapse disorder: CCD) ซึ่งยังคงเป็นภัยคุกคามประจำปี เช่นเดียวกับที่ยังเป็นปริศนาดำมืดอยู่

แล้วสิ่งที่เราต้องทำคืออะไร คำตอบคือจัดหาสิ่งที่พาหะถ่ายเรณูต้องการมากขึ้น และลดสิ่งที่มันไม่ต้องการลง   แล้ว แบ่งเบาภาระของผึ้งเลี้ยงโดยปล่อยให้สัตว์ในท้องถิ่นทำหน้าที่ถ่ายเรณูบ้าง การลดการพึ่งพาเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เนื่องจากสัตว์ทุกชนิดล้วนจำเป็นต้องมีระบบภูมิคุ้มกันซึ่งอยู่ในสภาพพร้อม ที่สุดสำหรับต่อกรกับจุลชีพก่อโรคในสภาพแวดล้อมของพวกมัน

ยิ่งไปกว่านั้น  การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยถือเป็นภัยคุกคามต่อพาหะถ่ายเรณูมากกว่าจุลชีพก่อโรคเสียอีก  แคลร์ เครเมน นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ดอกไว้รอบๆเรือกสวนไร่นาเพื่อแก้ปัญหาถิ่นอาศัย การปลูกพุ่มไม้เป็นแนวรั้วและแปลงไม้ดอกท้องถิ่นที่ผลิบานในช่วงเวลาต่างกัน รวมทั้งการปลูกพืชหลากหลายชนิดแทนที่จะปลูกพืชชนิดเดียว “ไม่ใช่แค่ดีต่อพาหะถ่ายเรณูท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีทำเกษตรที่ดีด้วยค่ะ” เธอบอก

แม้แต่ในเมืองที่สับสนวุ่นวายที่สุด ความคิดสร้างสรรค์เล็กๆน้อยๆก็สามารถโอบอุ้มพาหะถ่ายเรณูได้เช่นกัน  ผล การศึกษาหลายชิ้นเมื่อไม่นานมานี้เผยว่า ผึ้งที่อยู่นอกฟาร์มกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายกว่าพวกที่หากินอยู่ แต่ในฟาร์มเชิงพาณิชย์ รวงผึ้งบนหลังคาอาคารในมหานครนิวยอร์กช่วยให้สวนในเมืองและพืชพรรณในสวนสา ธารณะเซ็นทรัลปาร์กแบ่งบาน หลักการในเรื่องนี้ไม่มีอะไรยุ่งยาก นั่นคือถ้ามีถิ่นอาศัย พวกมันก็จะเข้ามา

มีนาคม 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version