แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 602 603 [604] 605 606 ... 651
9046
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน  ยืนกรานไม่เคยหวั่นแม้ศาลแรงงานไม่รับฟ้องคดีสิทธิเหลื่อมล้ำ  ของประกันสังคม พึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญแทน   ด้าน “หมอชูชัย” ระบุ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล
       
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังศาลแรงงานมีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีชมรมฯ ทำหนังสือฟ้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอให้คืนเงินแก่ผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิ เพราะระบบสุขภาพอื่นๆ ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการกลับไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว ว่า เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งเช่นนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องในลักษณะรวมกลุ่ม แต่ต้องแยกเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นรายละเอียดในข้อกฎหมาย แต่ชมรมฯ ก็ไม่ท้อถอย เพราะเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ควรได้ จึงได้เดินหน้าพึ่งพาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุด มีข่าวดีว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมเดินเรื่องดังกล่าวโดยจะเป็นผู้ฟ้องกรณีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญแทน คาดว่าในราวอีก 1 เดือนข้างหน้า จะดำเนินการได้
       
       “สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และควรได้รับอย่างเท่าเทียม ไม่เหลื่อมล้ำเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะปัจจุบัน สปส.เป็นระบบเดียวที่ยังเรียกเก็บจากผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 1 ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 30 ที่ระบุถึงการได้รับความเสมอภาคทางด้านสุขภาพของบุคคลมาตรา 51 การมีความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และมาตรา 80(2) ที่ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ดังนั้น เรื่องสิทธิยังคงจำเป็นเสมอ”  น.ส.สารี กล่าว
       
       น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า  ที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมด้านนี้ต้องการเพื่อโอนให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเป็นผู้จัดการกองทุน จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราต้องการให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล ส่วนใครจะเป็นผู้จัดการกองทุนไม่สำคัญ สปส.หรือ สปสช.ก็ได้ แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ยิ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเลือกตั้งก็ดูเหมือนว่า พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนเลย แม้แต่นโยบายสุขภาพก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงอยากฝากให้ทุกพรรคการเมืองมีความกล้าหาญในเรื่องนี้ด้วย” โฆษกชมรมฯ กล่าว
       
       ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า  ในขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ คงต้องขอเวลาในการศึกษาข้อมูล และต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าหารือก่อน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2554

9047
กระทรวงสาธารณสุขขาดเอกภาพในการทำงานเพื่อประชาชน

  ข่าวจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 อ้างถึงว่า นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่าในปีพ.ศ. 2554 กระทรวงสาธารณสุขต้องการแพทย์ 22,855 คน แต่ในความเป็นจริงในปีนี้ มีแพทย์ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 13,083 คน ยังขาดแพทย์อยู่อีก 9,772 คน โดยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน
 แต่จำนวนแพทย์ที่ว่ามีอยู่ 13,083 คนนี้ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้บอกว่า เป็นแพทย์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการลาไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอยู่อีก กี่พันคน และเป็นแพทย์ผู้บริหารที่ไม่ทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยอีกกี่คน (ซึ่งแพทย์ทั้ง 2 ประเภทนี้ น่าจะมีรวมๆกันแล้วเกือบ 5,000 คน
   ฉะนั้นการที่นับเฉลี่ยว่ามีแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 7,000 คนนั้น น่าจะไม่เป็นความจริง น่าจะเป็นแพทย์ 1 คน ต่อประชาชมากกว่า 10,000 คน ซึ่งนับว่าแพทย์ 1 คนต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษาประชาชนจำนวนมาก โดเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ในบางอำเภอ อาจจะมีแพทย์เพียง 1 คนเท่านั้น
  แต่ก็ไม่เห็นว่า ท่านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เกือบ 10,000 คน ในกระทรวงสาธารณสุขว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ได้แต่กล่าวถึงการจัดสรรแพทย์ใช้ทุน ให้ไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภออย่างน้อยแห่งละ 3คน และยืนยันว่า มีแพทย์ครบทุกอำเภอ แต่เมื่ออ่านต่อไปก็จะพบว่า บางอำเภอไม่มีแพทย์อยู่ประจำ ต้องไปขอยืมตัวมาจากอำเภออื่น เช่นแพทย์ 1 คนที่เกาะกูด ต้องยืมมาจากเกาะช้าง แสดงว่า แพทย์ท่านนี้เก่งมากที่ถ่างขาควบการทำงานได้ 2 เกาะ เพียงคนเดียว น่าจะปูนบำเหน็จความชอบให้เป็นพิเศษ ให้รับเงินเดือนเท่ากับ 2 คนเลยดีไหม ท่านปลัดกระทรวง?
  ฉะนั้น ที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุขบอกว่ามีหมอครบทุกอำเภอ ก็ไม่ใช่เรื่องจริง มีหมอในรพช.อย่างน้อยแห่งละ 3 คน ก็ไม่ใช่เรื่องจริงอีก พูดว่ามีหมอ 1 คน ดูแลประชาชน 7,000 คน ก็ไม่ใช่เรื่องจริง และพูดว่าแพทย์ใช้ทุนปี 1 ต้องอยู่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป  9 เดือนก่อนออกไปประจำโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่จริงอีก เพราะหลายคน ต้องออกไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนก่อนจะมีโอกาสเพิ่มพูนทักษะในรพ.ศ./รพ.ทั่วไป
  ฉะนั้น จะไปหวังพึ่งพากระทรวงสาธารณสุขให้แก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนคงจะยาก เพราะสิ่งที่ท่านโฆษกพูดยังหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ แล้วจะไปเชื่อถือให้แก้ปัญหาอื่นๆ คงจะทำได้ยาก
   ในข่าวเดียวกันนี้ ท่านโฆษกพูดว่า การจัดสรรแพทย์ได้จัดสรรตามจำนวนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบตามระบบภูมิศาสตร์ แต่ประชาชนไทยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานหาเลี้ยงชีพในท้องถิ่นต่างๆมากมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองชายแดน ฯลฯ โดยส่วนมากประชาชนมักมิได้แจ้งย้ายสำมะโนครัวไปด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นเสมอว่า บางอำเภอหรือจังหวัดมีจำนวนประชาชนน้อยกว่าจำนวนในทะเบียนบ้าน บางจังหวัดมีประชาชนมากกว่าจำนวนในทะเบียนบ้าน นอกจากนี้ยังมีคนต่างด้าวอพยพมาทำงานอีกมาก รวมทั้งจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะมีจำนวนประชาชนต่างด้าวมารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าจำนวนตามทะเบียนบ้าน จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่มารัฐการบริการที่โรงพยาบาล ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชาชนจริง
  ฉะนั้นการจัดสรรแพทย์ตามระบบ GIS อย่างที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่ จึงไม่สอดคล้องกับภาระงานจริง ของโรงพยาบาลต่างๆ เนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของพลเมืองดังกล่าวแล้ว  แต่กระทรวงสาธารณสุขควรจัดสรรจำนวนบุคลากรตามภาระงานจริงของแต่ละโรงพยาบาล (ตามสถิติผู้ป่วยที่มารับบริการในแต่ละปี) ก็จะทำให้มีบุคลากรเหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยและภาระงานที่แท้จริง จะช่วยแก้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
  นอกจากการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับภาระงานจนเกิดความขาดแคลนดังกล่าวแล้ว ก็ไม่เห็นว่าผู้ปบริหารกระทรวงสาธารณสุขจะมีแผนการแก้ปัญหาความขาดแคลนนี้อย่างไร รอถึงฤดูกาลแพทย์เรียนจบการศึกษาใหม่ ก็จะออกมาพูดแบบนี้ปีละครั้ง แล้วก็ฝากความหวังไว้กับการ “ผลิตแพทย์เพิ่ม” ตามโครงการต่างๆ  สลับกับการออกมาให้ข่าวว่า พยาบาลก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีความพยายามในการรักษาแพทย์/พยาบาลให้ยังคงทำงานบริการประชาชนในกระทรวงสาธารณสุขอย่างไร
นอกจากขาดแคลนบุคลากรแล้ว บุคลากรที่มีอยู่ก็ขาดตำแหน่งบรรจุ ขาดความมั่นคงและความก้าวหน้าในการรับราชการ กระทรวงสาธารณสุขมัวคิดติดกรอบ คือส่งคนไปเจรจากับก.พ.ทุกปี เพื่อจะขอตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ขอเพิ่มซี และความก้าวหน้าในราชการเพิ่มขึ้น แต่ถ้าก.พ.ไม่เห็นด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขก็จะกลับมาตีหน้าเศร้า เล่าให้บุคลากรที่เฝ้ารอตำแหน่งและการเลื่อนขั้นว่า  “ได้ไปขอแล้ว แต่ก.พ. ไม่อนุมัติ”
  ฉะนั้นในการบริหารจัดการด้านบุคลากร กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องไปอ้อนวอนขอจากก.พ. ซึ่งก.พ.เองคงไม่เข้าใจว่า การจัดสรรจำนวนตำแหน่งงาน และความเชี่ยวชาญเฉพาะควรจะทำอย่างไรให้เหมาะสม
    ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงลงไปถึงอธิบดีต่างๆ ไม่เคยที่จะคิดนอกกรอบ แยกออกจากก.พ.แล้วไปกำหนดตำแหน่ง เงินเดือน/ค่าตอบแทน และความก้าวหน้าของบุคลากรเอง เพื่อให้เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ เพื่อจะเป็นขวัญกำลังใจและแรงจูงใจให้บุคลากรทั้งหลาย มีความรักและความสุขในการทำงานบริการประชาชน ภายใต้การบริหารของกระทรวงสาธารณสุข
งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องมีคนกลางมาจ่าย ไม่ได้รับโดยตรงจากสำนักงบประมาณ
ในเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการบริหารงานเพื่อพัฒนาการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข  รวมทั้งเงินเดือนของบุคลากรนั้น แทนที่กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับมาโดยตรงจากงบประมาณแผ่นดินเหมือนกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขต้องไปขอรับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำตัวเหมือนเป็นผู้สั่งงานกระทรวงสาธารณสุขอีกทีหนึ่ง แทนที่สปสช.จะจ่ายเงินค่ารักษาประชาชนตามรายหัวประชาชนตามที่สปสช.ขอมา
   แต่สปสช.กลับมาวางแผนคิดโครงการต่างๆเพื่อให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทำตามแผนการ/โครงการของสปสช. ถ้ารพ.ไหนไม่ทำตามแผนการ/โครงการของสปสช. ก็จะไม่ได้รับเงินงบประมาณมารักษาผู้ป่วยโรคนั้นๆ กระทรวงสาธารณสุขอยากจะทำโครงการบริการประชาชนอย่างไร ก็ต้องไปขอเงินจากสปสช. ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคเอดส์ ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน โครงการไตวาย โครงการรักษาโรคหัวใจ ผ่าตัดตา ฯลฯ รวมทั้งสปสช.ยังมีเงินพิเศษมาจ่ายเงินให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางสาขาในการรักษาผู้ป่วยอีกด้วย จึงเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่สามารถวางแผนการในการพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนเองได้ เพราะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ เมื่อจะไปของบประมาณจากสปสช. ก็ต้องทำตามแผนการและนโยบายของสปสช.เท่านั้น
 การพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์การแพทย์  เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี ของสถานบริการทางการแพทย์ต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงมาเพื่อดำเนินการในส่วนนี้  โรงพยาบาลต่างๆต้องไปของบประมาณการซ่อมแซมและจัดหาอุปกรณ์ต่างๆจากสปสช. หรือทอดผ้าป่าหาเงินบริจาค มาใช้เพื่อการนี้  ทำให้หลังจากเกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว โรงพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เตียงเก่าๆหักๆในจำนวนเท่าเดิม อุปกรณ์ และเทคโนโลยีล้าสมัย  มีแต่จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นจนนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกได้ถึงความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ จึงสั่งให้รพ.ใหญ่ไปเปิดสาขานอกเมือง
  แต่ไม่แก้ปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชนให้ลดลง จากการพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี เจ็บป่วยน้อยลง จะได้ไปลดจำนวนการไปรับการตรวจรักษาโรคจากโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลหายจากความแออัดของผู้ป่วย และมีภาระงานน้อยลง
  มาตรฐานการใช้ยาและการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขก็ถูกจำกัด ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดว่าจะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเฉพาะการจ่ายยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือตามที่สปสช.กำหนดเท่านั้น ถ้าแพทย์สั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยนอกเหนือบัญชียาหลักหรือนอกเหนือจากที่สปสช.กำหนด สปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาล โดยที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีความพยายามที่จะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ ให้รัฐบาลหรือประชาชนทราบว่า การจำกัดชนิดยาและการรักษาโรคที่สปสช.กำหนดให้ใช้ยาแบบเก่าๆเดิมๆ ทำให้แพทย์ขาดประสบการณ์ในการใช้ยาและนวัตกรรมใหม่ๆในการรักษาโรค จะทำให้วิทยาการแพทย์ไทยในกระทรวงสาธารณสุขหลุดจากมาตรฐานที่ทันสมัย ไม่มีมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบกับนานาอารยะประเทศ
    จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย   ต่างก็มีอิสระที่จะเลือกไม่รับงบประมาณจากสปสช.ในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้อาจจะเคยมีประสบการณ์ว่า ได้รับงบประมาณน้อยกว่างบประมาณที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วยให้ได้มาตรฐาน จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต่างก็ประสบกับการขาดทุนจากการที่ต้องรับรักษาผู้ป่วยตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตลอดเวลา 9 ปีหลังจากมีระบบนี้ในประเทศไทย ทั้งๆที่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 1,200 บาท มาเป็นเกือบ 3,000 บาทในปีงบประมาณ 2555 โดยที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้เลย
   กระทรวงสาธารณสุขจึงขาดเอกภาพในการทำงาน  เริ่มจากมีก.พ.เป็นผู้บริหารบุคลากร การวางแผนในการดำเนินงานและนโยบายก็ต้องทำตามที่สปสช.และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้กำหนด แผนการรักษาก็ทำตามสปสช. งบประมาณทั้งในการดำเนินงานและเงินเดือนบุคลากรก็ต้องไปขอจากสปสช. และงบประมาณที่ได้รับมาก็เป็นงบขาดดุล ได้รับในจำนวนจำกัดจำเขี่ย
กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนทั้งประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถของบประมาณที่เหมาะสม เพื่อมาใช้จ่ายในการทำงาน ไม่มีความสามารถในการกำหนดตำแหน่งและจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับภาระงาน กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถวางแผนการในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และไม่สามารถพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีของสถานบริการสาธารณสุขได้ ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาได้ เพราะถูกจำกัดเรื่องยาในการรักษาผู้ป่วย
  จึงน่าเป็นห่วงว่า ประชาชนไทยที่ต้องรับบริการสาธารณสุขจากกระทรวงสาธารณสุข จะมีความเสี่ยงอันตรายจากการไปรับบริการจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่มีการแก้ไขการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมกับความจำเป็นทุกด้าน ทั้งงบประมาณ บุคลากร การพัฒนามาตรฐานสถานบริการและคุณภาพมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
26 พ.ค. 54
เอกสารอ้างอิง 1.   http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000063251
สธ.ยัน รพช.มีแพทย์ดูแลผู้ป่วยครบ แต่ยังขาดแคลนอีก 9,772 คน

9048
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลบางขุนเทียน ถนนบางขุนเทียน-ชาย ทะเล เขตบางขุนเทียน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานพิธีทำบุญและบวงสรวงสถานที่เพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้าง โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นที่ดินที่ กทม. ได้รับบริจาค ประมาณ 34 ไร่

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ศูนย์เวชศาสตร์และโรงพยาบาลบางขุนเทียนนี้จะมุ่งเน้นให้บริการด้านผู้สูงอายุแบบครบวงจร รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ มีขนาด 100 เตียง และศูนย์รักษาโรคทั่วไป ขนาด 200 เตียง ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในพื้นที่เขตบางขุนเทียน บางบอน ทุ่งครุ  จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และจังหวัดใกล้เคียง คือสมุทรปราการและสมุทรสาคร รวมประมาณ 900,000 คน

โดย กทม. ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง 2,300 ล้านบาท ซึ่ง กทม.จะใช้งบผูกพันประจำปี 2554-55 จำนวน 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในส่วนผู้ป่วยนอกได้ปลายปี 2555 ส่วนงบประมาณในการดำเนินการเฟสที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาทนั้น กทม. จะออกสลากการกุศลผ่านทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2556  ตามมติคณะรัฐมนตรีและเงินบริจาคจากการจัดสร้างพระพุทธพรรณีศรีธรรมไภสัช และพระกริ่ง กทม.และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2556ได้.

เดลินิวส์   26 พฤษภาคม 2554

9049
จากมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.บัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ซึ่งต่อมาได้มีประกาศกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ และประกาศกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของสถานบริการสาธารณสุข พร้อมตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาฯ ออกมาแล้ว ก็หมายความว่าจากนี้ไปทุกคน (ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องให้ผู้ปกครองยินยอม) มีสิทธิเขียนหนังสือหรือบันทึกภาพเคลื่อนไหวแสดงเจตนาฯ โดยไม่มีการบังคับ และสามารถทำในยามแข็งแรงปกติ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา
   
ส่วนข้อถกเถียงความหมายของ “วาระสุดท้ายของชีวิต” ได้มีคำอธิบายว่าหมายถึง “ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่า ภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึงและให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใด ๆ ที่แสดงถึงการรับรู้ได้ จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น”
   
ถือเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย แต่เป็นเรื่องเก่าของ หลายประเทศ ที่มักเรียกว่า “การุณยฆาต” ซึ่งหมายถึงการทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรงหรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือการงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคล โดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ ทั้งนี้เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคที่ไร้หนทางเยียวยา ซึ่งแนวคิดนี้มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน โดยผู้คัดค้านเกรงว่า สิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำนั้นทำด้วยความบริสุทธิ์ใจมีเจตนาดี จริงหรือไม่ และการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ใน “วาระสุดท้ายของชีวิต” ถูกหรือไม่ โดยก่อนหน้าได้พยายามให้การรักษาด้านอื่นหรือยัง
   
อีกทั้งอาจเปิดช่องให้มีการกระทำผิด เช่น การนำ เอาอวัยวะไปขาย หรือการฆ่าเพื่อเอามรดก ขณะที่ทุกศาสนาต่างเห็นตรงกันว่า “การุณยฆาต” เป็นบาป จึงคาดหวังว่าจากนี้ไปหน่วยงานเกี่ยวข้องจะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนให้เข้าใจถึงเจตจำนง ขอบเขต ขั้นตอนของกฎหมาย และที่สำคัญสังคมต้องช่วยกันตรวจสอบ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องเฉพาะแพทย์กับคนไข้ มิฉะนั้นอาจเอื้อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อเหตุวิสามัญฆาตกรรมเฉกเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เราเคยพบปัญหาอยู่เนือง ๆ.

เดลินิวส์  26 พฤษภาคม 2554

9050
สช.​เผยกฎหมาย​ใหม่ ​ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้น​ไปมีสิทธิ์ตัดสิน​ใจ​เลือกขอ​ไม่รับ​การรักษาพยาบาล​เพื่อยื้อชีวิต​ได้ ​เพียง​แต่มีญาติ​ใกล้ชิด​เป็น​ผู้รับรอง​เท่านั้น ชี้​เป็น​การปฏิวัติสังคม พลิก​ความ​เชื่อ​เทค​โน​โลยีคือสุดยอด​การรักษา ​ให้หันมาทบทวนคุณค่า​การ​ใช้ชีวิต ​เชื่อ​เป็นประ​โยชน์กับทุกฝ่าย ​เร่งจัด​ทำหนังสือ​เผย​แพร่​ทำ​ความ​เข้า​ใจ​แก่​แพทย์ พยาบาลทั่วประ​เทศ

สำนักงานคณะกรรม​การสุขภาพ​แห่งชาติ (สช.) จัด​เวที "สช.​เจาะประ​เด็น​เรื่องบั้นปลายชีวิตลิขิต​ได้ ตามกฎกระทรวง" ที่ออกตาม​ความ​ในมาตรา 12 ของ  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ​แห่งชาติ ที่กำหนด​ให้​ผู้ป่วยสามารถ​แสดง​เจตนา รมณ์​ใน​การ​ไม่ขอรับบริ​การสาธารณสุข​เพื่อยุติ ​ความทรมานจาก​การ​เจ็บป่วย ที่ประกาศ​ในราชกิจจานุ​เบกษา ​เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2554 ​โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ​เลขาธิ​การคณะกรรม​การสุข ภาพ​แห่งชาติ กล่าวว่า ​การที่กฎหมาย​ให้สิทธิ์​ผู้ป่วย​ใน​การ​เขียนหนังสือ​แสดง​เจตนา​ใน​การ​ไม่ขอรับ​การรักษา​เพื่อยื้อชีวิต  ​เป็นสิทธิ์ของ​ผู้ป่วยที่มีอายุ 18 ปีขึ้น​ไป ที่ยังมีสติสัมปชัญญะสามารถ​ทำ​ได้ ​แต่หาก​เป็น​ผู้ป่วยที่​ไร้สติ ​แพทย์จะต้องหารือกับญาติ​ใกล้ชิด​เพื่อ​ทำ​ความ​เข้า​ใจ​เรื่อง​การรักษาที่ตรงกันก่อน ส่วน​ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ​แต่​เป็น​โรค​เรื้อรัง​ก็สามารถ​ทำ​ได้ ​โดยต้องมีญาติ​ใกล้ชิด​เป็น​ผู้รับรอง

​เลขาธิ​การ สช. กล่าวต่อว่า ​การ​ทำหนัง สือดังกล่าวจะ​ทำ​ให้​ทั้ง​แพทย์ ​ผู้ป่วย​และญาติ​ผู้ป่วย รู้​ความต้อง​การ​และหา​แนวทาง​การดู​แล​ผู้ป่วยที่​เหมาะสมยิ่งขึ้น ขณะ​เดียวกัน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทุกระดับจะต้อง​ให้ ​ความรู้กับประชาชน​ใน​เรื่องดังกล่าวด้วย ​ซึ่งขณะ นี้ สช.​ได้จัด​ทำหนังสืออธิบาย​ถึง​การปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างละ​เอียด ​เพื่อ​แจกจ่าย​ให้กับ รพ.​ทั้งภาครัฐ ​และ​เอกชนทั่วประ​เทศ​แล้ว

ด้าน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ​ผู้อำนวย​การสถาบันพัฒนา​และรองรับคุณภาพ​โรงพยา บาล กล่าวว่า ​การปฏิบัติตามกฎหมาย​ใหม่ที่ออก มานี้ รพ.จะต้องดำ​เนิน​การต่อ​ใน 4 ​เรื่อง คือ 1.ช่วย​ให้คำ​แนะนำ​แก่​ผู้ที่ต้อง​การ​ทำหนังสือ​แสดง ​เจตนา​ไม่รับ​การรักษา 2.​เมื่อ​ได้รับหนังสือดังกล่าว ​แล้วจะต้องถ่ายสำ​เนา​เ​ก็บ​ไว้ ส่วนตัวจริง​ให้คืน ​แก่​ผู้ป่วย​หรือญาติ จากนั้น​จึง​เร่งประสาน​ทำ​ความ ​เข้า​ใจกับคณะ​แพทย์ที่จะ​ทำ​การรักษา รวม​ถึง​เมื่อ มี​การย้าย รพ.จะต้องประสาน​ทำ​ความ​เข้า​ใจกับ รพ.ที่​ผู้ป่วยย้าย​ไปด้วย 3.​แจ้งอา​การ​เจ็บป่วย​ให้ ญาติทราบ  ​เพราะบางครั้งยังมี​ความจำ​เป็นที่ต้อง รักษาอา​การบางอย่างของ​ผู้ป่วยอยู่ ดังนั้นทาง รพ.จะต้อง​เรียนรู้​เรื่อง​การชั่งน้ำหนัก ​และ 4.ต้อง ปฏิบัติตาม​ความประสงค์ของ​ผู้ป่วย พร้อมกันนี้จะต้อง​ทำ​การรักษา​แบบประคับประคองอา​การ​ไปด้วย

"​แต่มีปัญหาคือ รพ.ต้อง​การ​เห็นหนังสือที่ชัด​เจนว่าสิ่ง​ไหน​ทำ​ได้ สิ่ง​ไหน​ทำ​ไม่​ได้ ​แต่​การ​เขียนรายละ​เอียด​เกิน​ไปนั้น​ผู้ป่วยถือว่า​เป็น​การ​เสียศักดิ์ศรี ​จึง​เปิด​โอกาส​ให้​ผู้ป่วย​ได้​เขียนตาม​ความต้อง​การของตัว​เอง ดังนั้น​จึง​เป็นหน้าที่ของ รพ.ที่ต้องพิจารณา​การรักษาจากหนังสือ ​ซึ่งถือว่า​เป็น​การปฏิวัติสังคมที่จะรื้อฟื้นจาก​การที่หลงผิดว่า​เทค​โน​โลยีคือสุดยอดของ​การรักษา ​ได้หันมาทบ ทวน​การมีคุณค่า​ใน​การ​ใช้ชีวิต" นพ.อนุวัฒน์กล่าว

พร้อมกันนี้ นพ.สุรชัย ​โชคครรชิต​ไชย รอง ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่า ​การ​ใช้กฎหมายดังกล่าว ​แพทย์จะต้องดูว่า​เข้าข่าย​เป็น​ผู้ป่วยระยะสุดท้าย​หรือ​ไม่ หาก​ไม่​ใช่ จะถือว่าหนังสือนั้น​ไม่มีผลบังคับ ​เช่น กรณีอุบัติ​เหตุ ​แพทย์จะต้อง​ทำ​การรักษาตามปกติ ​ทั้งนี้ หากหนังสือที่นำมา​แสดง​เป็น​เพียงสำ​เนา​เอกสาร ​แพทย์​ผู้รักษาต้องสอบถาม​ความจริงจาก​ผู้ป่วยที่ยังมีสติ​หรือญาติ​ใกล้ชิด ​ทั้งนี้ ทาง รพ.​ได้ตั้งคณะ​ทำงานขึ้นมาดู​แล​และปฏิบัติตามมาตรา 12  ​โดย ​เฉพาะที่มี​แพทย์​และพยาบาล​เป็นที่ปรึกษา ส่วนกรณีที่​ไม่มีหนังสือ​แสดง​เจตนา ทาง รพ.จะมีคณะ​ทำงานที่​ไป​เจรจา​ทำ​ความ​เข้า​ใจร่วมกันกับญาติที่​ใกล้ชิด ​เช่น ลูก พ่อ ​แม่ ​ซึ่ง​เชื่อว่า​เมื่อมี​การพูดคุยกัน​แล้วจะ​ทำ​ให้​เข้า​ใจตรงกันมากขึ้น.

ไทย​โพสต์ 26 พฤษภาคม 2554

9051
สธ.เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียแล้ว 4,204 ราย จาก 64 จังหวัด เสียชีวิต 2 ราย โดยช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยสูงสุดมากกว่า ร้อยละ 50  ของผู้ป่วยตลอดปี กำชับให้พื้นที่เสี่ยง 30 จังหวัดชายแดน ออกให้ความรู้กับประชาชนให้นอนกางมุ้งในเวลากลางคืนและป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ในป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบสารเคมีและที่สำคัญเมื่อป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ และขอให้กินยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา                                           
       
       วันนี้ (25 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการประจำปี 2554 พระปกเกล้าวิชาการ ครั้งที่ 9  “พระปกเกล้า...สร้างเสริมสุขภาพสู่ชุมชน”  เพื่อพัฒนาวิชาการเสริมสุขภาพสู่ชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการทำผลงานวิชาการ นำเสนอ แลกเปลี่ยนความรู้สาธารณสุข ของบุคลากรสาธารณสุข โดยมี แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ประชาชนเข้าร่วมกว่า  800  คน
       
       นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า โรคมาลาเรียยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย  โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนของประเทศไทยที่มีบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร โดยมี ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งไทยมีจังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน 30 จังหวัด ได้แก่ชายแดนไทย-ลาว 11 จังหวัด ไทย-พม่า 10 จังหวัด ไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด และไทย-มาเลเซีย 4 จังหวัด
       
       ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม -18 พฤษภาคม 2554  พบผู้ป่วย 4,204 ราย จาก 64 จังหวัด เสียชีวิต 2 ราย มากสุดสัญชาติไทยร้อยละ 64 รองลงมาพม่าร้อยละ 21  โดยจังหวัดที่ผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก 1,962 ราย แม่ฮ่องสอน 222 ราย ระยอง 276 ราย กาญจนบุรี 211 ราย ยะลา 180 ราย ชุมพร 177  ราย จันทบุรี 136  ราย ราชบุรี 114 ราย พังงา 111 ราย และสุราษฎร์ธานี 93 ราย       
                                                                 
       นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ทั่วโลกจะมีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียสูงสุด ประมาณช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยในเดือนเมษายน-กรกฎาคม ปี 2553 พบผู้ป่วย 14,199 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 ของผู้ป่วยมาลาเรียตลอดปี เฉพาะเดือนมิถุนายน พบผู้ป่วยมากถึง 5,359 ราย ดังนั้น ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 30 จังหวัด ให้ความรู้กับประชาชนให้นอนกางมุ้งในเวลากลางคืนและป้องกันไม่ให้ยุงกัดหาก เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ในป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบสารเคมีที่นิยมคือไพรีทรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายภายใน 2 วินาทีไม่เป็นอันตรายต่อคน และที่สำคัญเมื่อป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ และขอให้กินยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องเชื้อดื้อยา
       
       ในการการรักษา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดบริการเชิงรุก โดยตั้งศูนย์มาลาเรียหรือมาลาเรียคลินิก ตรวจเชื้อและรักษาฟรีผู้ป่วยในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ จำนวน 800 แห่ง ในพื้นที่ 30 จังหวัดตามแนวชายแดน ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เน้นการรักษาที่รวดเร็วช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งลดจำนวนแหล่งแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด โดยให้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ


ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 พฤษภาคม 2554

9052
 สช.ประกาศใช้แล้วกฎกระทรวงสิทธิการตายของผู้ป่วย  มีผลประกาศใช้ พ.ค.นี้  ชี้ชัดเป็นแค่แนวทางไม่ใช่ข้อบังคับ    ย้ำเป็นสิทธิของผู้ป่วยทำได้หรือไม่  แล้วแต่สมัครใจ
         
              ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  โดยการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  ซึ่งเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข (สธ.) ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ทำหน้าที่ในการประสานกับหน่วยงานสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการยกร่างกฎกระทรวงในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตาม หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2551 ที่ผ่านมา
       
       นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  เรื่อง  การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 โดยประกาศดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมจากมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ในการปฏิเสธการรักษาที่ทุกคนสามารถร้องขอได้ เพียงแต่ไม่ได้เป็นการบังคับ  โดยประกาศดังกล่าว เป็นเพียงแนวทาง หรือวิธีการในการขอใช้สิทธิที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก คสช.   ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
       
                       นพ.อำพล กล่าวต่อว่า  สิทธิ การปฏิเสธการรักษาพยาบาลมีอยู่แล้วในทุกคนตั้งแต่เกิด เพียงแต่แนวทางวิธีการยังไม่เคยมีการออกประกาศบังคับใช้ชัดเจน มีเพียง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดช่องไว้ แต่ก็ไม่มีแนวทางการปฏิบัติ  ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้บังคับ  แต่เป็นไปตามเจตนาของผู้ป่วยเอง  ที่เป็นบุคคลทั่วไปอายุ 18  ปีบริบูรณ์ โดยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.
       
       ด้านน.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ  รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ควรมี “วิธีการ” ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในกลุ่มนี้   แต่สิ่งที่กังวลคือ"แนวทางปฏิบัติ  ที่จะต้องมาดูว่าจะปฏิบัติอย่างไร ให้ สอดคล้องกับความเป็นจริง และป้องกันช่องว่างที่จะทำให้เกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติ หรือ นำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งในครอบครัวผู้ป่วย หรือ แพทย์กับผู้ป่วย โดยเฉพาะในช่วงแรก เชื่อว่าคงมีปัญหา และ กรณีศึกษามากพอสมควร อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน   อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ในทางปฏิบัติต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมด้วย
             
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวอย่างหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข  มี 2 แบบ แต่ละแบบจะมีข้อความสำคัญ อาทิ  แบบที่ 1 เป็นข้อความอย่างเป็นทางการ  เช่น ในกรณีที่ข้าพเจ้าตกอยู่ในสภาวะใดสภาวะหนึ่ง เช่น ไม่รู้สึกตัวอย่างถาวร ข้าพเจ้าไม่ต้องการตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น โปรดให้การรักษาข้าพเจ้าตามความประสงค์ ดังต่อไปนี้ เช่น การฟื้นฟูการเต้นของหัวใจและการหายใจ ให้กลับเต้นขึ้นใหม่     โดยมีช่องให้ระบุว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับการรักษาเหล่านี้ หากไม่ยอมรับก็หมายความว่า ปล่อยให้สิ้นลมไปโดยสงบ   และแบบที่ 2 เป็นข้อความระบุความต้องการที่ชัดเจน เช่น ไม่ต้องการให้เจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ หรือไม่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ  รวมทั้งการให้สารอาหารและน้ำทางสายยาง การรักษาในห้องไอซียู การฟื้นชีพเมื่อหัวใจหยุด เป็นต้น  ทั้งนี้ ในวันที่ 25 พ.ค.ตั้งแต่เวลา 11.00 น.มีการเสวนา สช.เจาะประเด็นสิทธิการปฏิเสธการรักษา ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 พฤษภาคม 2554

9053
กรมพัฒนาแพทย์แผนไทย  ย้ำไม่สามารถเปิดเผยสูตรยาสมุนไพรรักษามะเร็งได้   เกรงถูกลอกเลียน  แย้มความชัดเจนในการประชุมวิชาการช่วง ก.ย.นี้  ด้านหมอแผนปัจจุบันค้าน ยังยอมรับไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน
       
       วานนี้ (24 พ.ค.)  พญ.วิลาวัลย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เตรียมพิสูจน์ประสิทธิภาพตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษามะเร็งระยะแรก โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาระบบน้ำเหลืองเป็นสำคัญ โดยได้มีการรวบรวมสูตรตำรับยาถึง 2,000 ตำรับ เพื่อเตรียมศึกษาประสิทธิภาพเพิ่มเติม ว่า   ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยสูตรของตัวยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้ เพราะเกรงว่าเมื่อมีข่าวออกไปจะทำให้ประชาชนแตกตื่น และไปซื้อสมุนไพรมาเพื่อรักษามะเร็ง ซึ่งจะเกิดอันตรายได้ เนื่องจากการใช้ยาสมุนไพรในการรักษามะเร็งต้องรักษาตามตำรับยา มีสัดส่วนตามที่หมอพื้นบ้านแต่ละท่านจะวินิจฉัยโรค หากประชาชนนำไปทำกินเองในจำนวนมาก อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อใดๆ ได้ในขณะนี้  อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาสมุนไพรทั้ง 2 พันตำรับ พบว่า มีอยู่ 100 ตำรับที่มีความเป็นไปได้ และกรมเตรียมศึกษาวิจัยตำรับยาทั้ง 100 ตำรับอยู่ ว่า  มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้ตามที่มีหมอพื้นบ้านมาแจ้งกับกรม หรือไม่  ทั้งนี้ คาดว่า จะวิจัยเสร็จและเปิดเผยตำรับสมุนไพรบางตำรับได้ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือน ก.ย.นี้
       
        พญ.วิลาวัลย์ กล่าวต่ว่า ยืนยันว่า มีตำรับยาสมุนไพรที่สามารถรักษามะเร็งให้หายได้จริง แต่จะต้องเป็นไปตามการดูแลของหมอพื้นบ้านที่จะวินิจฉัยก่อนและดูว่าจะต้อง ได้รับยาในจำนวนเท่าใด ทำให้สูตรของตำรับยาสมุนไพรไม่มีความตายตัว แต่จะขึ้นอยู่ที่การวินิจฉัยของหมอพื้นบ้านเป็นหลัก ทั้งนี้หลักในการใช้ยาสมุนไพร คือ อะไรที่ผิดปกติ ก็ต้องทำให้เป็นปกติ ซึ่งสมุนไพรสามารถไปรักษาเซลล์ร่างกายที่ผิดปกติให้กลับสู่สภาวะปกติได้ หรือสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติได้ สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ   ทั้งนี้  ช่วงที่ผ่านมา ทางกรมได้ส่งเสริมให้มีการดื่มน้ำ ตรีผลา ซึ่งมีส่วนผสมจากมะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก  มีสรรพคุณช่วยในการเสริมภูมิต้านทาน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหวัดบ่อยๆ ทั้งยังมีสรรพคุณในการชะลอการชราด้วย อีกทั้ง   ตรีผลา ยังมีสรรพคุณในการยับยั้ง และต้านเซลล์มะเร็ง หรือหากเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาแล้วก็จะมีผลทำให้เซลล์มะเร็งโตช้า โดยมีผลวิจัยรองรับจากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่จะต้องมีการดื่มเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ร่างกายยังเป็นปกติ

ด้าน  นพ.เจษฎา  มณีชวขจร      แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็ง  โรงพยาบาลรามาธิบดี   กล่าวว่า   การรักษาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านยังไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์แน่ชัดว่า  สามารถรักษาได้จริงในระดับใด และมีตัวอย่างที่ศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิกกี่ราย  รายที่ศึกษานั้นป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด ระยะใด  และยาสมุนไพรมีผลข้างเคียงหรือไม่  เพราะการยืนยันประสิทธิผลและประสิทธิภาพของยาที่ยอมรับได้ทางการแพทย์นั้น ต้องไม่ใช่แค่ระบุว่า ยาใช้ได้ หรือไม่ได้ แต่ต้องลงรายละเอียดว่าใช้ได้ดีในระดับใด ข้อจำกัดการใช้มีอะไรบ้าง เพราะยา ทุกประเภทไม่ได้มีผลดี 100%   
       
         นพ.เจษฎา   กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันมียาสำหรับรักษามะเร็งมากมาย แต่จะใช้แตกต่างกัน  โดยในคนไข้บางรายต้องอาศัยขั้นตอนหลายอย่างในการรักษา เช่น  รักษาทั้งการฉายรังสี  การผ่าตัด และการให้ยา บรรเทาอาการปวดร่วมด้วย  บางคนใช้แค่ชนิดเดียว ขณะที่บางรายต้องใช้หลายขนาน หลายชนิดร่วมกัน  หากจะให้แยกรายชื่อยาคงไม่สามารถระบุได้หมด     ในการรักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมาพบปัญหาอย่างหนึ่ง  คือ บางรายป่วยมะเร็งขั้นต้นแล้วรักษากับหมอพื้นบ้าน พอไม่หายก็มาพบแพทย์แผนปัจจุบัน  แสดงให้เห็นว่า  ผู้ป่วยยัง ต้องอาศัยการรักษาแบบสมัยใหม่อยู่  แต่ปัญหาคือ มาพบแพทย์ในระยะที่เชื้อมะเร็งลุกลามในระยะท้ายๆ ซึ่งแพทย์พยายามช่วยชีวิตอย่างดีที่สุด แต่ผลร้ายคือ ผู้ป่วยเองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร  และอีกปัญหาที่พบได้บ่อย คือ แพทย์พบว่า ในผลเลือดของผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่ผ่านการรักษาโดยหมอพื้นบ้าน  มีร่องรอยการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างชัดเจน  แต่พอสอบถามกับผู้ป่วยกลับปฏิเสธว่าไม่เคยรับยาจากแพทย์ในโรงพยาบาล  ทำให้ทราบว่า หมอพื้นบ้านมีการให้ยาแผนปัจจุบันด้วยเหมือนกัน
       
        “  ไม่มีแพทย์คนใดอยากจะปฏิเสธการค้นพบวิจัยสรรพคุณยาสมุนไพร แต่ที่แพทย์ปัจจุบันไม่สามารถยอมรับอย่างจริงจังและนำมาใช้รักษาในโรงพยาบาล ก็เพราะคนไข้ส่วนมากมุ่งแค่ความเชื่อความศรัทธา โดยไม่มีหลักวิทยาศาสตร์ใดๆมารองรับ   ซึ่งกรณีนี้หากเกิดข้อผิดพลาดในการรักษาก็ยากที่ผู้ป่วยจะเอาผิดกับแพทย์ พื้นบ้านได้ เนื่องจากไม่มีบันทึกผลการรักษา ไม่มีเวชระเบียนใดๆ ทั้งสิ้น แต่กับแพทย์ที่ประจำการในโรงพยาบาลนั้นต้องมีรายละเอียดทุกอย่าง ทุกขั้นตอนในการรักษาและต้องรับผิดชอบกับชีวิตคนไข้ทุกราย ดังนั้น หากผิดพลาดขึ้นมาก็มีหลักฐานยืนยันชัดเจน”นพ.เจษฎา   กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 พฤษภาคม 2554

9054
Newsclip หนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นรายปักษ์แจกฟรี ฉบับที่ 205 วันที่ 10 พ.ค. 54 หน้า 15 ตีพิมพ์เรื่องราวของคนไทยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นมากที่สุด เผยความยากลำบากขณะหลบภัย และความช่วยเหลือจากทีมงานข่าวทีวีของไทย

หนังสือพิมพ์ newsclip ซึ่งนำเสนอข่าวสารเป็นภาษาญี่ปุ่นเผยแพร่ในประเทศไทย ได้นำเสนอเรื่องราวของสุวรรณา คาเมะยามะ หญิงไทยวัย 37 ปี ผู้ประสบภัยสึนามิ และตัดสินใจกลับมายังเมืองไทยพร้อมลูกชายวัย 9 ขวบเพื่อเยียวยาความรู้สึกหวาดกลัวจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

สุวรรณาพบกับสามีชาวญี่ปุ่นวัย 50 ปีของเธอครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก่อนจะแต่งงานกัน และอาศัยอยู่ที่เมืองอิชิโนะมากิ จังหวัดมิยากิเป็นเวลา 9 ปี พวกเขามีลูกชายวัย 9 ขวบ ขณะเกิดเหตุสึนามิและแผ่นดินไหวนั้น สุวรรณากำลังทำงานอยู่ในโรงงานอาหาร


สึนามิที่มาหลังแผ่นดินไหวและบ้านเรือนที่ลุกเป็นไฟลอยน้ำ

แผ่นดินไหวเกิดก่อนเวลา 15.00น.เล็กน้อย หลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรก ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และยาวนานตามมา จากนั้นระบบไฟฟ้าก็ถูกตัด แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวส่งผลให้พนักงานหญิงในโรงงานไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ พวกเธอเริ่มร้องไห้เพราะความกลัว พนักงานในโรงงาน 250 คนออกมารวมตัวกันที่หน้าโรงงานและตรวจสอบความปลอดภัยของกันและกัน พนักงานแต่ละแผนกต่างแยกย้ายไปยังที่หลบภัย แผนกของสุวรรณาซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 56 คนขึ้นไปหลบที่ดาดฟ้า นอกตัวอาคาร สัญญาณเตือนภัยดังสนั่น โทรศัพท์มือถือของเธอมีข้อความเตือนภัยว่าอาจเกิดสึนามิสูง 6 เมตร

นอกอาคาร อากาศหนาวเย็น หิมะตก ท้องฟ้ามืด 30 นาทีหลังเกิดแผ่นดินไหว สึนามิลูกแรกก็มาถึง คลื่นสีดำสนิทพัดเอาบ้าน รถ และทุกสิ่งทุกอย่างมาที่ชั้นหนึ่งของโรงงาน ขณะที่พนักงานในแผนกอื่นๆ หลบภัยอยู่ที่เนินเขาหลังโรงงาน

แม้แต่ในตอนกลางคืน อาฟเตอร์ช็อกยังดำเนินต่อไป มีสึนามิเกิดขึ้นทุกๆ ครั้งหลังอาฟเตอร์ช็อก รอบๆ โรงงาน สถานที่ต่างๆ เริ่มเกิดเพลิงไหม้ สึนามิพัดพาเอาบ้านที่ลุกไหม้เข้ามาเป็นระลอกๆ จวบจนรุ่งสาง กลุ่มของสุวรรณาจึงได้ไปสมทบกับเพื่อนพนักงานซึ่งอยู่ที่ศูนย์หลบภัยบริเวณเชิงเขา เธอหลบภัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสี่วัน

 

สามวันที่ลูกชายอยู่รอดได้ด้วยขนมปังกรอบและสามีที่ถูกสึนามิพัดไปขณะอยู่ในรถ

ลูกชายของสุวรรณาอยู่ที่สนามของโรงเรียนประถม เขากำลังออกกำลังกาย ขณะที่พื้นดินเริ่มแยกออกจากกัน เขาวิ่งเข้าไปในห้องเรียน และติดอยู่ในนั้นพร้อมกับเพื่อนนักเรียนนานสามวัน เด็กๆ อยู่ได้ด้วยขนมปังกรอบ 2 ชิ้น ขนมเซมเบ้ 1 ชิ้น และปลาแห้งเล็ก 3 ตัว สามวันหลังจากนั้น พ่อของเขาฝ่าน้ำที่ท่วมขึ้นมาถึงอกเข้ามาหา พวกเขาย้ายไปอยู่ที่บ้านของน้องชายของพ่อ

สามีของสุวรรณาและน้องชายของเขาอยู่ในรถขณะเกิดแผ่นดินไหว หลังแผ่นดินไหว พวกเขาย้ายไปอยู่บ้านของน้องชาย และเตรียมตัวหลบภัยสึนามิ น้องชายให้ลูกชายและลูกสาวของเขาขึ้นรถอีกคัน ขณะที่สามีของสุวรรณารออยู่ในรถอีกคันหนึ่งตอนที่สึนามิปะทะเข้ากับรถ รถถูกพัดออกไปและน้ำเริ่มทะลักเข้ามาในรถจนเหลือช่องว่างด้านบนเพียง 10 เซนติเมตร สามีของสุวรรณาคิดว่าเขากำลังจะตาย ขณะเดียวกันก็พยายามเปิดประตูรถ และเป็นโชคดีที่ประตูเปิดออก หลังจากนั้น เขาหนีออกมาจากรถและคว้าหลังคาบ้านหลังหนึ่งไว้ได้

หลาน (ลูกชายของน้องชาย) ของเขาปลอดภัยเพราะคว้ากิ่งของต้นไม้เอาไว้ได้ ขณะที่ลูกสาวถูกพัดลอยออกไป สามีของสุวรรณาเห็นเธอร้องไห้พร้อมกับลอยออกไป แต่เขาเองก็ไม่สามารถช่วยเธอได้ เพราะเขาก็ถูกสึนามิพัดเช่นกัน ร่างของเธอถูกพบในวันที่ 12 เมษายน

 

คนที่ช่วยเหลือสุวรรณาไม่ใช่สถานทูตไทย แต่เป็นทีมข่าว

หลังเกิดเหตุการณ์สี่วัน สมาชิกในครอบครัวของสุวรรณาก็ได้พบกัน พวกเขาหลบภัยอยู่ในบ้านของน้องชาย เนื่องจากบ้านของพวกเขาถูกสึนามิพัดออกไปไกล 100 เมตรจากจุดเดิม พวกเขาไม่สามารถจะอยู่ในบ้านของตัวเองได้ หลังจากย้ายไปที่บ้านของน้องชายได้สามสี่วัน ความช่วยเหลือก็ยังไม่มาถึง พวกเขาต้องหาอาหารประทังชีวิตวันต่อวัน ปัญหาใหญ่ที่สุดคือน้ำดื่ม พวกเขาต้องควานหาขวดน้ำที่ถูกพัดออกมาจากร้านค้าตามกองขยะ

ความช่วยเหลือแรกมาจากกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ตามด้วยอาสาสมัครจากที่ต่างๆ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดภัยพิบัติที่พวกเขาได้กินอาหาร แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม

"ฉันไม่มีอะไรจะตำหนิรัฐบาลญี่ปุ่น ฉันปลอดภัยก็เพราะ"การฝึกฝนหลบภัย" มีบ้างที่ขาดแคลน แต่ในสถานการณ์อย่างนั้น มันก็ช่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดในประเทศไทยก็คงไม่เป็นอย่างนี้ สิ่งที่ฉันต้องการก็เพียงอาหารและน้ำในวันแรก ตอนที่ฉันได้กินข้าวต้มครั้งแรกในรอบสี่วัน ฉันก็น้ำตาไหล เพราะการหาอาหารนั้นเป็นเรื่องยาก" สุวรรณากล่าว

สาเหตุที่เธอกลับมาเมืองไทยได้ เป็นเพราะเธอพบกับทีมงานทีวีของไทยซึ่งมารายงานข่าวที่เมืองอิชิโนะมากิ ทีมงานทีวีคิดว่าเธอน่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในญี่ปุ่น จึงติดต่อไปยังสถานทูต แต่ขณะที่ติดต่อไปนั้น สถานทูตยังไม่มีแผนช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่นที่เป็นรูปธรรม ทีมงานทีวีวิจารณ์สถานทูตอย่างหนักพร้อมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการช่วยเหลือ ท้ายที่สุด สถานทูตไทยตัดสินใจมอบตั๋วเครื่องบินเพื่อให้คนไทยในญี่ปุ่นบินกลับประเทศ หากแต่ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับจะต้องมารับตั๋วที่สถานทูต (โตเกียว) สุวรรณาซึ่งสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถที่จะเดินทางมาได้

"สุดท้าย ทีมงานทีวีให้ฉันยืมเงิน 30,000 เยน ถ้าไม่มีเงินก้อนนี้ ฉันคงไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้ ไม่มีระบบขนส่งมวลชนจากอิชิโนะมากิไปยังเมืองเซ็นได (เมืองหลวงของมิยากิ) วิธีเดียวที่จะไปได้ในเวลานั้นคือแท็กซี่ คนขับแท็กซี่กดปุ่มหยุดมิเตอร์เมื่อตัวเลขไปแตะที่ 15,000 เยน (หมายเหตุจากผู้แปล: ค่าโดยสารแท็กซี่ในญี่ปุ่นแพงมาก คนขับเข้าใจว่าเธอไม่มีเงิน จึงช่วยประหยัด)"

สามีของสุวรรณายังอยู่ที่ญี่ปุ่น เพราะต้องดูแลแม่ของเขา ขณะที่ลูกชายของเธอเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ในเดือนนี้ สุวรรณายังไม่สามารถเอาชนะความกลัวภัยพิบัติและความสะเทือนใจจากการสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมด ยกเว้นครอบครัวได้ เธออยากจะอยู่เมืองไทยจนกว่าเธอจะรู้สึกดีขึ้น..

ประชาไท
Wed, 2011-05-25

9055
องค์กรด้านสุขภาพและสังคมกว่า 100 องค์กร  เตรียมจัดงานใหญ่ “หนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว”   31 พ.ค.นี้   ระบุเป็นแพทย์ที่ควรแก่การเชิดชู  -เหมาะจะเป็นแบบอย่าง
       
                       นพ.วิชัย  โชควิวัฒน  ประธานคณะกรรมการจัดงาน หนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม  พริ้งพวงแก้ว เปิดเผยว่า ในวาระอายุครบ  100 ปี ของ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 5 สมัย  3 รัฐบาล และยังเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญในฐานะแพทย์ต้นแบบต่อสังคมไทย โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ การพัฒนาสุขภาพ และการสาธารณสุข รวมไปถึงผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านการเมือง การศึกษาและการพัฒนาสังคม
       
                         ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า  สำหรับคุณูปการของ ศ.นพ.เสม ต่อสังคมไทยมีมากมายตั้งแต่อดีตสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ การวางรากฐานการบริการปฐมภูมิ โดยการสร้างสถานีอนามัยและโรงพยาบาลครบทุกตำบล  ทุกอำเภอ และทุกจังหวัด การพัฒนาระบบการแพทย์โดยการก่อตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ เพื่อรักษาคนไข้อหิวาตกโรค ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม การปฏิรูประบบการเงินการคลังของโรงพยาบาลที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย โดยไม่ส่งค่ารักษาพยาบาลเข้าคลังหลวงแต่นำเงินมาบริหารโรงพยาบาลเชียงรายแทน นับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาโรงพยาบาลไทยมาจนถึงทุกวันนี้  รวมทั้งการสร้างประชากรที่มีคุณภาพโดยวางรากฐานตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่เพียงแต่ความสามารถในการบริหารเท่านั้น ศ.นพ.เสม ยังมีความสามารถด้านศัลยกรรมที่หาใครเทียบได้ยาก มีผลงานเด่นคือกับการผ่าตัดแฝดสยาม (Siamese Twins) 3 คู่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ได้ตามหาแฝดชื่อ ปราจีนและบุรี ที่เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2505 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและอยากฝากไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรู้จักให้ติดตามแฝดคู่ดังกล่าวร่วมกิจกรรมด้วย
       
                       อย่างไรก็ตาม  องค์กรต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 100 องค์กร  จึง เห็นพ้องร่วมกันว่าไม่อยากปล่อยให้ชีวิตอันทรงคุณค่านี้จางหายไปตามกาลเวลา และได้ร่วมใจกันจัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนร่วมสมัยและคนรุ่นใหม่ได้รู้จักแบบอย่างที่ดีงามอย่างคุณหมอเสม รวมทั้งแนวคิดแนวปฏิบัติที่ยึดมั่นในการทำงานเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสุขภาวะ   
       
                       นพ.วิชัย กล่าวว่า  คณะกรรมการจัดงานหนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว  ขอเชิญลูกศิษย์ กัลยาณมิตร อดีตคนไข้ของ ศ.นพ.เสม  เครือข่ายสุขภาพ นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมงาน “หนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ  เสม พริ้งพวงแก้ว” ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคม 2554  ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา  13.00-17.00 น.  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
       
       ทั้งนี้  พบกิจกรรมมากมายภายในงาน อาทิ สารคดีสั้นสะท้อนชีวิตและผลงาน ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รับฟังบทกวีไพเราะจากศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บทเพลงจากคีตาญชลี หงา คาราวาน และไก่ แมลงสาบ  ปาฐกถาพิเศษโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุน วงเสวนาโดยวิทยากรคนทำงานสุขภาพและสังคมอีกหลายท่าน และนิทรรศการชีวิตและผลงานของ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤษภาคม 2554

9056
ศึกษาพบยาสมุนไพร  2,000 ตำรับ  ช่วยรักษามะเร็งระยะแรก   กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เร่งจัดประชุมหมอพื้นบ้าน  เตรียมถ่ายทอดวิชาแทนการเผยแพร่ผ่านเอกสาร  ช่วยป้องกันต่างประเทศขโมยสูตรยา
       
       พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มีการสำรวจสมุนไพรที่มีการจดแจ้งทะเบียนตำรับยาทั่วประเทศ พบว่ามีสมุนไพร 1,927 ตำรับที่มีสรรพคุณใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดการประชุมผู้รู้ หมอพื้นบ้าน เพื่อศึกษาสมุนไพรทั้ง 1,927 ตำรับ สามารถรักษาโรคมะเร็งอะไรได้บ้าง ซึ่งจะเน้นมะเร็งที่มีกลุ่มผู้ป่วยมากลำดับต้น คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก  ซึ่งผลจากการประชุมพบว่า  สมุนไพรมีสรรพคุณในการรักษามะเร็งได้จริง แต่จะช่วยรักษาได้เฉพาะในการป่วยระยะแรก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมค่อนข้างที่จะยืนยันได้ว่า เมื่อใช้สมุนไพรรักษาแล้วทำให้ไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง นอกจากนี้ ยังทำให้ได้ทราบว่ามีตำรับสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งเพิ่มขึ้นมาอีก ทำให้ในขณะนี้มีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษามะเร็งมีมากถึง 2,000 ตำรับ       
       
       “กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จึงต้องการที่จะหาแนวทางในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือเกิดปัญหาที่ต่างชาตินำสมุนไพรไทย ไปจดลิขสิทธิ์” พญ.วิลาวัณย์ กล่าว
             
        พญ.วิลาวัณย์   กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย จึงจะนำความรู้ดังกล่าวที่ค้นพบถ่ายทอดให้แก่หมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งแต่ละชนิด  แทนการจัดพิมพ์เป็นหนังสือแจกจ่าย นอกจากจะเป็นการปกป้องภูมิปัญญาของไทย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันผู้ที่จะไปกว้านซื้อสมุนไพรมาเพื่อหวังผลทางการค้าด้วย โดยขณะนี้มีหมอพื้นบ้านที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเผยแพร่ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤษภาคม 2554

9057
สธ.เผยทั่วประเทศมีแพทย์ 13,083 คน ยังขาดอีก 9,772 คน การกระจายแพทย์ ยึดตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จัดสรรให้ 100% ยืนยันโรงพยาบาลชุมชนมีแพทย์ดูแลผู้ป่วยครบทุกแห่ง

 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามแผนแม่บทกำลังคนด้านสาธารณสุข ในปี 2554 ทั่วประเทศ มีความต้องการแพทย์ 40,620 คน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการแพทย์ 22,855 คน มีแพทย์แล้ว 13,083 คน ยังขาดอีก 9,772 คน โดยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน ในการกระจายแพทย์ จะยึดตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS กำหนดตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้เลือกจังหวัดที่จะไปปฏิบัติงานตามความสมัครใจเพื่อชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งแพทย์จบใหม่ทุกคนในปีแรกจะต้องเข้าปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปเป็นเวลา 9 เดือนเพื่อฝึกปฏิบัติเพิ่มพูนทักษะกับแพทย์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ สร้างความชำนาญและประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะต้องลงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจนครบ 3 ปี
       
       นพ.สุพรรณกล่าวต่อว่า การจัดสรรแพทย์ใช้ทุนเพื่อปฏิบัติงานในปี 2554 ที่ผ่านมา มีแพทย์เข้าปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,522 คน ซึ่งคณะกรรมการจัดสรรแพทย์ประจำปี 2554 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรร โดยกำหนดให้โรงพยาบาลชุมชนต้องมีแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ขาดแคลนซ้ำซาก ซึ่งจะจัดสรรให้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรให้ 100 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการตาม GIS ส่วนพื้นที่อื่นจัดสรรประมาณร้อยละ 85 ของ GIS
       
       ทั้งนี้ การจัดสรรแพทย์ใช้ทุนจะเป็นการจัดสรรในภาพระดับจังหวัด โดยจะจัดสรรแพทย์ที่จบจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ซึ่งจัดสรรตามจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของแพทย์อยู่แล้ว รวมทั้งแพทย์ที่จบจากโครงการปกติของมหาวิทยาลัยต่างๆ ข้อมูลการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนและการจับสลากเลือกพื้นที่ปฏิบัติงานในปี 2554 พบว่า จ.ตราด จัดสรรจำนวน 8 ราย เป็นแพทย์โครงการปกติ 6 ราย และแพทย์ชนบท 2 ราย จ.เลย จัดสรร จำนวน 15 ราย เป็นแพทย์โครงการปกติ 13 ราย แพทย์โครงการแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนหรือodod 2 ราย จ.ยะลา จัดสรร จำนวน 13 ราย เป็นแพทย์โครงการปกติ 2 ราย แพทย์โครงการพิเศษต่างๆ 11 ราย
       
       “สำหรับข้อมูลแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลต่างๆ ณ เดือนพฤษภาคม 2554 พบว่าโรงพยาบาลบันนังสตา จ.ยะลา มีแพทย์ปฏิบัติงานจริงจำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นแพทย์ใช้ทุนปี 2 และกำลังรอรับย้าย จาก จ.สกลนครอีก 1 ราย โดยขณะนี้ยังไม่มีแพทย์ยื่นความจำนงสมัครไปศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์เฉพาะทาง สำหรับโรงพยาบาลเกาะกูด จ.ตราด ไม่มีแพทย์ประจำ แต่มีแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะช้าง ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะกูดด้วย ซึ่งเดิมผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะกูดมา 2 ปีแล้วรู้จักพื้นที่ดี และได้จัดแพทย์หมุนเวียนไปปฏิบัติงานประจำเดือนละ 1 คน รวมทั้งจัดพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเวชปฏิบัติประจำ 11 ราย เพื่อการรักษาเบื้องต้น ส่วนโรงพยาบาลภูกระดึง จ.เลย มีแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าลี ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูกระดึง และมีแพทย์ประจำอีก 1 ราย รวมทั้งมีแพทย์ใช้ทุนหมุนเวียนอีก 4 ราย” นพ.สุพรรณกล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤษภาคม 2554
...................................................................
สธ.เผยแพทย์ยังขาดแคลนกว่า4หมื่นคน

    โฆษก สธ. เผย แพทย์ยังขาดแคลนกว่า 4 หมื่นคน ล่าสุด อัตราส่วนแพทย์ 1 คนดูแลประชาชนถึง 7 พันคน

    น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงแผนแม่บทกำลังคนด้านสาธารณสุข ในปี 2554 ว่า ทั่วประเทศ มีความต้องการแพทย์ 40,620 คน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ต้องการแพทย์ 22,855 คน มีแพทย์แล้ว 13,083 คน ยังขาดอีก 9,772 คน โดยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน ซึ่งแพทย์จบใหม่ทุกคนในปีแรก จะต้องเข้าปฏิบัติงานที่
    โรงพยาบาลศูนย์ทั่วไปเป็นเวลา 9 เดือน เพื่อฝึกปฏิบัติเพิ่มพูนทักษะกับแพทย์รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ จากนั้นจะต้องลงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจนครบ 3 ปี

    น.พ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า การจัดสรรแพทย์ใช้ทุนเพื่อปฏิบัติงานในปี 2554 ที่ผ่านมา มีแพทย์เข้าปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,522 คน ซึ่งคณะกรรมการจัดสรรแพทย์ประจำปี 2554 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรร โดยกำหนดให้โรงพยาบาลชุมชน ต้องมีแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ขาดแคลนซ้ำซาก ซึ่งจะจัดสรรให้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรให้ 100 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการตาม GIS ส่วนพื้นที่อื่นจัดสรรประมาณร้อยละ 85
    ของ GIS

ไอเอ็นเอ็น 24   พฤษภาคม   2554

9059
ไต้หวัน ​ซึ่งตั้งอยู่ ณ จุด​เชื่อมต่อระหว่าง​เอ​เชียตะวันออก​เฉียง​เหนือกับ​เอ​เชียตะวันออก​เฉียง​ใต้ ​เป็นประ​เทศที่มี​เศรษฐกิจ​เจริญ​เป็นอันดับที่ 18 ของ​โลก ​และ​เปี่ยมด้วยศักยภาพ​และพลัง​แห่งมนุษยธรรม​ใน​การดู​แล​ผู้ที่​เจ็บ​ไข้​ได้ป่วย นับตั้ง​แต่​ได้รับ​เชิญ​ให้ร่วม​เป็นส่วนหนึ่งของ​การประชุมองค์​การอนามัย​โลก ​เมื่อปี ค.ศ. 2009 ​ไต้หวัน​ก็มี​โอกาส​เพิ่มมากขึ้น​ใน​การมีส่วนร่วมทางด้านสาธารณสุขของ​โลก ​และ​ไต้หวัน​ก็ยึดมั่น​ในหลักมนุษยธรรมที่ว่า​เรื่องสุขภาพอนามัยนั้น​ไร้พรม​แดน ​และมี​ความกระตือรือร้น​เป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนช่วย​ใน​การ​เสริมศักยภาพ​ให้สาธารณสุข​โลก ​เรามิ​ได้กระ​ทำ​เช่นนี้​เพียง​เพราะ​เป็นหน้าที่​ในฐานะที่​เป็นสมาชิกประชาคม​โลก​เท่านั้น ​แต่​เรา​ทำ​เช่นนี้​เพราะ​เรามีศักยภาพ​เพียงพอที่จะ​เพิ่มพูนขุมพลัง​ใน​การร่วมรักษาสุขอนามัยของชาว​โลก

ไต้หวันสนับสนุน​การช่วย​เหลือทางด้านมนุษยธรรม ​และกิจกรรมทางสาธารณสุข​ในระดับสากลอย่างสม่ำ​เสมอมา​โดยตลอด ช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาล​และประชาชนของ​เรามีส่วนร่วมอย่างมาก​ใน​การ​ให้​ความช่วย​เหลือทาง​การ​แพทย์ ​และ​การ​แลก​เปลี่ยนด้านสาธารณสุขกับทั่ว​โลก ​ได้​เดินทาง​ไปทั่ว​โลก​เพื่อ​ให้​ความช่วย​เหลือด้าน​การกู้ภัย​และบรร​เทาทุกข์​แก่ประ​เทศที่ประสบภัยธรรมชาติ ​เช่น ​เฮติ ​และ​เรายังประสบ​ความสำ​เร็จ​ใน​การ​แบ่งปันประสบ​การณ์​และ​ความรู้​ความสามารถของ​เรา ผ่านทางศูนย์​การ​แพทย์​ไต้หวันที่มีสาขาอยู่ที่หมู่​เกาะมาร์​แชล​และหมู่​เกาะ​โซ​โลมอน ​เป็นต้น

​ในฐานะที่​เรา​เป็นสมาชิกของประชาคม​โลก ​ไต้หวัน​ได้สั่งสมประสบ​การณ์​แห่ง​ความสำ​เร็จ​ไว้อย่างมากมาย ​และมี​ความ​โดด​เด่น​ในด้านประกันสุขภาพ​แห่งชาติ, ​เทค​โน​โลยี​การ​แพทย์ ​การควบคุม​และป้องกัน​โรคระบาด จาก​การที่องค์​การอนามัย​โลก​ได้​เลือก "​การประกันสุขภาพ​แห่งชาติ" ​เป็นหัวข้อหลัก​ในรายงานอนามัย​โลกปี ค.ศ. 2010 ชี้​ให้​เห็นว่า​ในช่วง​เวลานี้​การสาธารณสุขทั่ว​โลก​ให้​ความสำคัญกับ​การจัดตั้งระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

นับตั้ง​แต่มี​การนำระบบประกันสุขภาพ​แห่งชาติมา​ใช้​ในปี ค.ศ. 1995 ​ไต้หวัน​ก็​ใช้​เบี้ยประกันที่ค่อนข้างต่ำ ​ใน​การคุ้มครอง​ผู้ป่วย​ใน​และ​ผู้ป่วยนอก ประกันสุขภาพดังกล่าวมีอัตรา​การคุ้มครองครอบคลุมมากกว่า 95% ของประชากร ดังนั้น​จึงบรรลุ​เป้าหมาย​ใน​การคุ้มครองประชากร​ทั้งหมด ​และ​ทำ​ให้ประชากร​ไต้หวันสามารถ​เข้า​ถึงบริ​การทาง​การ​แพทย์​โดย​ไม่​เสียค่า​ใช้จ่าย นอกจากนี้ประกันสุขภาพดังกล่าวยัง​ให้​การคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย ​และ​ผู้ที่​เจ็บป่วย​เป็น​โรครุน​แรง​หรือ​ได้รับบาด​เจ็บสาหัส ​ให้​เข้า​ถึง​การดู​แลของ​แพทย์​ได้อีกด้วย

​ในอนาคต​เรายังคงจะอุทิศ​แหล่งข้อมูล รวม​ถึงสนับสนุน​และมีส่วนร่วม​ในกิจกรรม​การสาธารณสุข​โลก​ในด้านต่างๆ อย่างต่อ​เนื่อง นอกจากนี้​เรา​ก็จะสนับสนุน​ให้นักวิชา​การ, ​ผู้​เชี่ยวชาญด้าน​การ​แพทย์ ​และองค์กรอิสระของ​เรา​ให้สร้าง​เครือข่าย​เชื่อม​โยงที่​ใกล้ชิดมากขึ้น กับกลุ่ม​และองค์กรทาง​การศึกษาตาม​ความ​เชี่ยวชาญ ​และพวก​เราจะ​ทำงาน​เพื่อมุ่งสู่​เป้าหมาย​การพัฒนา​แห่งสหัสวรรษ​ในด้าน​การร่วมมือทาง​การ​แพทย์ ตามที่สหรัฐอ​เมริกา​ได้วาง​เป้าหมาย​เอา​ไว้ ​เพื่อรับมือกับ​การป้องกัน​และควบคุม​โรค​แพร่ระบาด​และ​โรค​ไม่ติดต่อ

สิ่งต่างๆ ​เหล่านี้จะ​เป็น​การพิสูจน์​ถึงพลังอันอ่อน​โยน​และ​เต็ม​เปี่ยมด้วย​ความกระตือรือร้นของ​ไต้หวัน ​ใน​การมีส่วนร่วม​ในด้านสาธารณสุขทั่ว​โลก ​ให้มนุษยชาติล้วนมีสุขภาพอนามัยที่ดี​โดยถ้วนหน้า ข้อมูล​โดย "ชิว​เหวินต๋า" รมว.สาธารณสุข สาธารณรัฐจีน (​ไต้หวัน).

ไทย​โพสต์  23 พฤษภาคม 2554

หน้า: 1 ... 602 603 [604] 605 606 ... 651