ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิชาการวิทย์ฯจุฬา เตือนน้ำจืดไหลลงทะเล ทำสัตว์น้ำตาย!  (อ่าน 947 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ ทางทะเล จุฬาฯ - ม.ราม แจงผลกระทบน้ำจืดไหลลงทะเล ส่งผลปากอ่าวหอย ปลาในกระชังปะการัง บนเกาะจ.ชลบุรี ตายเพียบ ประกาศเตือนดอนหอยหลอดระวังหอยตาย ขณะที่นักท่องเที่ยว ชาวไทยปีนี้อดดูปลาวาฬบรูด้า พร้อมฝากประชาชนอย่ากังวลเรื่องสัตว์น้ำทะเล ยันไม่มีสารปนเปื้อนแม้น้ำเน่าจากน้ำท่วมไหลลงทะเล ย้ำรัฐบาลบริหารจัดการน้ำจืดไหลลงทะเลอย่างมีระบบ

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง “ผลกระทบมวลน้ำมหาศาลจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ต่อทะเลไทยร้ายแรงแค่ไหน? ”
       (23 พ.ย.54) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาเรื่อง “ผลกระทบมวลน้ำมหาศาลจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ต่อทะเลไทยร้ายแรงแค่ไหน? ”  โดยมีรศ.ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทะเลในอ่าวไทยจะมี 2 ฤดู คือ มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำจืดจำนวนมากที่ไหลลงทะเลนั้น กระแสการไหลของน้ำ และทิศทางลมมรสุม ทำให้พื้นที่ชายฝั่งตะวันออก จ.ชลบุรี ปากอ่าว ได้รับผลกระทบ แต่พอเข้าเดือน ต.ค.- พ.ย. และคาดว่าจะไปถึงช่วงเดือนธ.ค.นั้น ฝั่งที่จะได้รับผลกระทบคือฝั่งตะวันตก น้ำจืดไหลลงปากอ่าวจ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจ.เพชรบุรี

       ทั้งนี้ ผลกระทบที่ได้รับด้านชีวภาพ จะส่งผลต่อสัตว์ที่อยู่ตามปากอ่าว การเลี้ยงหอยแครง หอยแมลงภู่ของผู้ประกอบการ เลี้ยงปลาในกระชังของชาวประมงอาจจะตายหมด เพราะการที่มีน้ำจืดไหลลงในทะเลจำนวนมาก ทำให้ค่าของความเค็ม ออกซิเจนละลายน้ำได้น้อยลง ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และในส่วนของพื้นที่จ.เพชรบุรี ปีนี้ ชาวไทย นักท่องเที่ยวอาจจะพบเห็นปลาวาฬบรูด้า ได้ยากขึ้น เพราะปลาวาฬชนิดนี้ จะเข้ามากินสารอาหาร แต่เมื่อน้ำจืดไหลลงน้ำทะเลจำนวนมาก สารอาหารที่สมบูรณ์ บริเวณปากอ่าวจะถูกทำลาย ทำให้ปลาวาฬหากินไกลจากปากอ่าวมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเห็นปลาวาฬได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับชาวบ้านดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม ก็น่าเป็นห่วง เพราะหอยจะเสียหายหมดได้ ดังนั้น นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบ ชาวประมง ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอย ปลาในกระชัง ถ้าลงทุนไปแล้วรีบเก็บเกี่ยว หรืออย่าเพิ่งลงทุน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายได้
       
       “น้ำจืดที่ไหลลงทะเลในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่เยอะมาก ประมาณ 4,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่หลังจากนี้คาดว่าลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสูงกว่าทุกปี เนื่องจากทุกปี ช่วงเดือนพ.ย.- ธ.ค.นั้น น้ำจืดจะไหลลงทะเลประมาณ 300-400 ลบ.ม. แต่ปีนี้ คาดว่าจะมีน้ำจืดไหลลงทะเลประมาณ 1,000 ลบ.ม. ดังนั้น อยากฝากรัฐบาลบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบ เพราะแม้การทยอยน้ำจืดไหลลงทะเล จะไม่ส่งผลกระทบต่อทะเลมาก แต่กระทบต่อประชาชน รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และหาระบบที่ดี” รศ.ดร.ไทยถาวรกล่าว

       ด้าน ดร.เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ กล่าวว่าผลกระทบของมวลน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลมาก ด้านเคมี เรื่องน้ำเน่าที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจืด หรือสารเคมีต่างๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล อาจทำให้ปู ปลา สัตว์น้ำปนเปื้อนสารพิษนั้น
       
       “จากการศึกษา วิจัย เมื่อสารพิษต่างๆ ลงสู่ทะเล โดยเฉพาะโลหะหนักนั้น สารพิษจะถูกตรึง และตกตะกอน ไม่ปนเปื้อนในน้ำทะเล ปู ปลา หรือสัตว์ทะเลจะไม่ได้รับสารพิษ ดังนั้น สัตว์น้ำจากทะเลยังสามารถรับประทานได้ ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง อีกทั้ง ห่วงโซอาหาร การดำรงชีวิตของสัตว์น้ำนั้น มีการช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นหอยบางชนิด ที่ไม่ได้ไหลไปกับกระแสน้ำ แต่ติดอยู่กับปะการัง ซึ่งหากเป็นหอยประเภทปิดปากตัวเองได้แน่น ไม่ต้องกินอาหาร ก็สามารถรอดได้ แต่หากเป็นหอยประเภทเปิดปากหอยกินอาหาร ก็อาจจะตายได้”
       
       ขณะที่ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) กล่าวถึงกรณีมวลน้ำจืดที่ไหลลงทะเลในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นั้น แนวปะการังบริเวณเกาะค้างคาว จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นแนวปะการังที่ใหญ่และยาวอีกแห่งหนึ่ง ได้รับความเสียหาย เกิดปะการังฟอกขาวขึ้น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อุณหภูมิในน้ำสูง เมื่อปี 2553 แต่ครั้งนี้เกิดจากน้ำจืดที่ไหลลงทะเลรุนแรงกว่า และทำให้ปะการังเสียหายมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง เสียหาย 100 % ปะการังดอกกะหล่ำ 97 % ปะการังโขด 52 % ปะการังสมอง 8 % นอกจากนั้น เม่นทะเลหนามดำ ตาย 45 %หอยสองฝาในแนวปะการัง เช่น หอยนางรม ตาย 10 % หอยงอบ ตาย 5% และหอยมุกกวาง ตาย 2%
       
       “ขณะนี้กระแสน้ำได้ไหลไปฝั่งตะวันตก ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะบริเวณที่น้ำจืดที่ไหลลงทะเลจ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี ไม่มีแนวปะการัง เนื่องจากแนวปะการังจะมีอีกที่บริเวณจ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูปะการังที่เสียหายไปนั้น เจ้าหน้าที่จากกรมประมง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล จะเข้าไปช่วยกันแก้ไข ฟื้นฟู และอยากขอความร่วมมือจากประชาชน หรือหน่วยงานที่ต้องการฟื้นฟูปะการัง อย่าตัดตอนปะการังแล้วย้ายไปปลูก เพราะนั้นไม่ใช่เป็นผลดี แต่จะสร้างผลกระทบและความเสียหายอีกมาก” ผู้เชี่ยวชาญ ม.รามกล่าวทิ้งท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 พฤศจิกายน 2554