แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 559 560 [561] 562 563 ... 651
8401
รัฐสภาทิ้งทวนมีมติเอกฉันท์ 511 เสียง ให้ความเห็นชอบพ.ร.บ. 24 ฉบับ เปิดทางครม.ดำเนินการต่อไป พร้อมผ่านกรอบเจรจาเศรษฐกิจ 3 ฉบับรวด
 
 วันนี้ (28 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 11.30 น. ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) ที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ และยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอยืนยันจำนวน 24 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่..) พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ... และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ... เป็นต้น หลังการอภิปรายอย่างกว้างที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 511 เสียง ให้ความเห็นชอบทั้ง 24 ฉบับ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
   
  หลังจากนั้นที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย พิธีสารเร่งเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทย-เปรู และกรอบการเจรจาต่อเนื่องภายใต้ความตกลงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น สำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
   
  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป จากนั้น พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 17.20 น.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 พฤศจิกายน 2554
...........................................................

28 พ.ย. 54 - ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่จากสภาชุดที่แล้ว ทั้ง 24 ฉบับ โดยจะมีการพิจารณาต่อในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค. นี้

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่จากสภาชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 153 วรรคสอง จำนวน 24 ฉบับ โดยจะมีการพิจารณาต่อในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.54 - 18 เม.ย.55   ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ...,
2.ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...,
3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่..) พ.ศ...,
4.ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่..) พ.ศ...,
5.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองภูเก็ต พ.ศ...,
6.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองเพชรบุรี พ.ศ...,
7.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองนครสวรรค์ พ.ศ...,
8.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่..) พ.ศ...,
9.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาศาลแขวง (ฉบับที่..) พ.ศ...,
10.ร่าง พ.ร.บ.ความร่วมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ...,
11.ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำ ตำแหน่ง และประโยชน์แทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจกาแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่..) พ.ศ...,
12.ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ...,
13.ร่าง พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ...,
14. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ...,
15.ร่าง พ.ร.บ.สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ...,
16.ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ...,
17.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ...,
18.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ...,
19.ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..,
20.ร่าง พ.ร.บ.ตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ. ..,
21.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ...,
22.ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ...,
23.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... และ
24.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ...

เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
radioparliament.net
.................................................

8402
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ห้องพิจารณาคดี 10 ศาลจังหวัดพระโขนง ถนนสรรพาวุธ ศาลพิพากษายกฟ้องคดีที่ นายธวัชสิทธิ์ และนางธัญญพัฒน์ ตวงสินกุลบดี สามีภรรยา และเป็นบิดามารดา นายพีรวีร์ ตวงสินกุลบดี ผู้ตาย เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทโรงพยาบาล (รพ.) ศิครินทร์ ที่ 1 บริษัทโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ที่ 2 นพ.ดำรงค์ ประกายทิพย์ นพ.สุทธิศักดิ์ ไชยอัชนรัตน์ และ นพ.หิรัญย์ ศรีจินไตย แพทย์ รพ.ไทยนครินทร์ เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายในฐานะผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 31.2 ล้านบาท

คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2552 ด.ญ.ชญาณ์พิศา โฆษิตเบ็ญจพล ป่วยเป็นไข้หวัด 2009 และเข้ารักษาโรงพยาบาลศิครินทร์ โดยนายพีรวีร์ ลูกพี่ลูกน้องกับ ด.ญ.ชญาณ์พิศา ได้แวะไปเยี่ยมดูแลเป็นประจำ จนนายพีรวีร์ต้องเข้ารักษาตัวในวันที่ 24 มิถุนายน 2552 เนื่องจากมีอาการตัวร้อนและไอ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษา และให้กลับบ้าน ทั้งๆ ที่อาการยังไม่ดีขึ้น จนญาติต้องส่งโรงพยาบาลศิครินทร์ อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ญาติขอให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รักษาแทนพบว่าเป็นปอดบวม เมื่อเอกซเรย์ปอดเป็นฝ้าขาว แล้วอุทานว่าอาจารย์ (จำเลยที่ 3) ปล่อยกลับไปได้ยังไง จากนั้นจำเลยที่ 4 จึงเดินมาแจ้งญาติว่าจะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางโดยไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสหวัด 2009 ต่อมาจำเลยที่ 5 ได้วินิจฉัยว่านายพีรวีร์เป็นโรคปอดบวมและไม่ได้ซักประวัติโรคหวัด 2009 เมื่ออาการไม่ดีขึ้นญาติขอย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จนนายพีรวีร์ ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 31.2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานนำสืบทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเบิกความขัดแย้งกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะพยานโจทก์ปาก นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เบิกความรับว่า จำเลยที่ 3-5 ซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ทำการตรวจรักษาผู้ตายตามหลักการแพทย์และได้นำน้ำมูกซึ่งเป็นสารคัดหลั่งของผู้ตายส่งไปตรวจพิสูจน์เพื่อหาเชื้อเอช 5 เอ็น 1 ซึ่งผลออกมาเป็นลบ อีกทั้งแพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์ ก็ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ตายว่าเนื่องจากปอดวายเฉียบพลัน ไม่ใช่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายไม่ได้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำเลยทั้งห้าจึงไม่จำต้องรับโทษฐานกระทำการประมาทในการตรวจรักษา พิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแก่จำเลยทั้งห้ารวมเป็นเงิน 1 แสนบาท ภายใน 30 วันหลังจากศาลมีคำพิพากษา

ภายหลัง นางธัญญพัฒน์  มารดาผู้ตาย กล่าวว่า ตนเองและครอบครัวน้อมรับผลคำพิพากษาของศาล และยืนยันจะขอต่อสู้คดีต่อไปให้ถึงที่สุดเพื่อทวงความยุติธรรมเพราะยังเชื่อว่าต้องสูญเสียลูกชายไปเพราะการตรวจรักษาที่ขาดความรอบคอบของแพทย์ 

มติชนออนไลน์ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

8403
 พบยารักษามะเร็งเม็ดเลือด Gilvec ขอรับสิทธิบัตรที่มีลักษณะไม่มีวันสิ้นสุด ถึง 6 คำขอ หวังสิทธิบัตรผูกขาดยาวถึงปี 69
       
       ภญ.ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์ ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ได้เปิดเผยความคืบหน้าของการวิจัย พบว่า ยาตัวสำคัญๆหลายตัวที่จำเป็นต่อการรักษาโรค มีคำขอสิทธิบัตรที่เข้าข่ายการขอรับสิทธิบัตรที่มีลักษณะ evergreening หรือเรียกว่า สิทธิบัตรที่มีลักษณะแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากได้รับสิทธิบัตรไป อุตสาหกรรมยาข้ามชาติจะได้สิทธิผูกขาดมากไปกว่าที่ควรได้ โดยในยาบางตัวพบว่าจะมีระยะเวลาการผูกขาดในตลาดยานานขึ้นถึง 10 ปี
       
       “เราพบว่า ยา Imatinib หรือชื่อทางการค้าคือ ยา Glivec ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ก่อนหน้านี้ อยู่ในกลุ่มการประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) มีคำขอรับสิทธิบัตรของยาตัวนี้ในประเทศไทยถึง 6 คำขอ ทั้งการใช้, การขอในรูป salt form และการขอในรูปของ polymorph ซึ่งอยู่ในข่ายที่เป็น evergreening ชัดเจน หากเทียบกับสิทธิบัตรตัวตั้งต้นของสหรัฐอเมริกา ยาตัวนี้น่าจะหมดสิทธิบัตรในไทยในปี 2559 แต่หากคำขอสิทธิบัตรแบบ evergreening เหล่านี้ได้รับการอนุมัติ ผู้ขอจะได้สิทธิผูกขาดทำให้ไม่มีใครสามารถผลิตยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งได้จนถึงปี 2569 ซึ่งมากกว่าสิทธิที่พึงจะได้ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม คำขอเหล่านี้พ้นระยะเวลาที่จะนักวิจัยและภาคประชาชนจะสามารถทำคำคัดค้านได้ เพราะตามกฎหมายในบ้านเรานั้นกำหนดระยะเวลาในการคัดค้านก่อนการได้รับสิทธิบัตรไว้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับกฎหมายสิทธิบัตรในต่างประเทศ เราจึงทำได้เพียงนำส่งข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและแจ้งต่อสาธารณชน”
       
       ด้าน นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัยฯ กล่าวว่า ยากลีเวคกำลังกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะอีกครั้ง เพราะในวันพรุ่งนี้ (29) ศาลสูงสุดของอินเดียจะเริ่มการไต่สวนคดีที่ บ.โนวาร์ติส กล่าวหารัฐบาลอินเดียทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่แก้กฎหมายสิทธิบัตรให้เป็นไปตามองค์การการค้าโลก หลังจากที่สำนักงานสิทธิบัตรอินเดียปฏิเสธที่จะให้สิทธิบัตรกับคำขอที่เป็น evergreening ในยาตัวนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น
       
       “คดีนี้มีความสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก เพราะการยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จะส่งผลกระทบมหาศาล โดยไปขัดขวางยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด และนำไปสู่การเข้าไม่ถึงยาของประชาชนในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ซึ่งนี้เป็นข้อสรุปที่สะท้อนในงานวิจัยเรื่องสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดที่ทำใน 5 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และ แอฟริกาใต้ ของสถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ สถาบันวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้”
       
       ทีมวิจัยฯกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้มีการแถลงผลการวิจัยเบื้องต้นในคำขอสิทธิบัตรทางยาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เข้าข่าย evergreening ถึงร้อยละ 96 นั้น ทางเครือข่ายผู้ป่วยและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญทีมวิจัยไปให้ข้อมูลเพื่อทำความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น
       
       “ทราบมาว่า ขณะนี้ทางสมาคมบริษัทยาข้ามชาติ หรือ พรีม่า ก็พยายามที่จะขอเข้าไปให้ข้อมูลกับกรมทรัพย์สินฯ ว่า สิ่งที่เขาขอนั้น เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เดิม (Incremental Innovation) ซึ่งก็เป็นสิทธิของทางพรีม่าในการให้ข้อมูล แต่เราเชื่อว่าขณะนี้หน่วยราชการและผู้กำกับนโยบายมีความตระหนักถึงปัญหาการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย ก็ต้องฝากทั้งผู้กำกับนโยบายและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากจะมีผลกระทบที่เกิดกับการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนทั้งประเทศ”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 พฤศจิกายน 2554

8404
 สบส.ประเมินโรงพยาบาลที่เสียหาย เซ่นมหาอุทกภัย 561 แห่ง เบื้องต้นพบมูลค่าเสียหาย 340 ล้าน รพ.อยุธยา หนักสุดพุ่ง 160 ล้าน ห่วงห้องผ่าตัด ห้องคลอด ไอซียู เปื้อนเชื้อรา กำชับทุกแห่งเร่งดูแล
       
       นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูสถานบริการสาธารณสุขหลังน้ำลด ว่า ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ถือเป็นมหาอุทกภัยที่ถือว่ารุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อสถานบริการสาธารณสุข (สธ.) ขนาดใหญ่ถึงขั้นปิดบริการหลายแห่ง โดยมีโรงพยาบาล (รพ.)ได้รับความเสียหายทั้งหมด 561 แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ. รพท.) 16 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 70 แห่ง และที่เหลืออีก 468 แห่ง เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลสังกัดกรมต่างๆ และสังกัด กทม.โดยเบื้องต้นได้สำรวจความเสียหายใน รพ.11 แห่ง มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 340 ล้านบาท แค่ รพ.พระนครศรีอยุธยา แห่งเดียวเสียหายราว 160 ล้านบาท และยังมี รพช.ที่ประเมินเบื้องต้นในพื้นที่เสียหาย 70 แห่ง ประมาณ 50 ล้านบาท
       
       นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ในการซ่อมแซมสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายนั้น เมื่อประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเสร็จสิ้น จะเสนอของบประมาณตามแผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัยของรัฐบาล และในส่วนของสถานพยาบาลที่มีความเสียหายต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพ.สต.ประมาณ 400 แห่ง จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในแต่ละพื้นที่เพื่อขอให้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด วิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ในการเข้าไปประเมินความเสียหายและรายงานกลับมายังกรม ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือด้านใดสารมารถประสานยังกรมได้
       
       อธิบดีกรม สบส.กล่าวด้วยว่า ในระหว่างการซ่อมแซม ฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหาย สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ คือ ระบบปลอดการติดเชื้อ ซึ่ง รพ.จะต้องมีการดูแลความสะอาดและการป้องกันการติดเชื้อ ในการฟื้นฟูจึงทำได้ยากกว่าการฟื้นฟูบ้านทั่วไป โดยเฉพาะในห้องไอซียู ห้องคลอดและห้องผ่าตัด ซึ่งความชื้นจากน้ำที่ท่วมขัง ทำให้มีเชื้อรา อาจเป็นอันตรายได้
       
       สำหรับ รพ.ที่เสียหาย 11 แห่ง ได้แก่
รพ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, สสจ.ปทุมธานี, สสจ.พระนครศรีอยุธยา, วิทยาลัยพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รพ.นพรัตน์ราชธานี กรมการแพทย์, สถาบันธัญยารักษ์ กรมการแพทย์, สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต, รพ.ปทุมธานี, รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี และ รพ.สระบุรี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 พฤศจิกายน 2554

8405
 วิกฤตของมหาอุทกภัยในประเทศครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดวิกฤตต่างๆ ตามมาอีกหลายประการ หนึ่งในวิกฤตที่จะกระทบกับผู้คนส่วนใหญ่ก็คือเรื่องอาหาร ที่นาแหล่งผลิตข้าวหลายแสนไร่ สัตว์เลี้ยง พืชสวนผักผลไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำล้มตาย กว่าจะฟื้นตัว กว่าผลผลิตจะผลิดอกออกผลให้เป็นอาหารของผู้คนในสังคม จะต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน แต่สังคมไทยยังมีความโชคดีที่เรามีแหล่งอาหารโปรตีนตามธรรมชาติอยู่อีกมากโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา จากแหล่งน้ำ โดยเฉพาะจากทะเล การเร่งกู้วิกฤตของทะเลไทยจึงเป็นหนึ่งในการกู้วิกฤตแหล่งอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะแหล่งอาหารโปรตีนของสังคมจากทะเล
       
        โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญของร่างกาย ปกติร่างกายของคนเรา จะต้องการโปรตีนแตกต่างกันไปแล้วแต่ช่วงวัย เช่น ในวัยเด็กจะต้องการโปรตีนสูง 1.2 - 1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในผู้ใหญ่ 0.8-1 กรัม /กิโลกรัม/วัน  มีการศึกษาจากการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ในชาวเอสกิโม เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป พบว่าชาวเอสกิโมมีอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าคนทั่วไปเพราะว่าชาวเอสกิโมรับประทานปลามากกว่าคนทั่วๆ ไป จึงทำให้ได้รับสารอาหารจากปลามากกว่า ซึ่งปลามีสารอาหารที่จะมีฤทธิ์ลดกรดของเกร็ดเลือด และลดไตรกลีเซอไรด์ได้ดี ทำให้คนมีความสนใจแหล่งโปรตีนที่ได้จากสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ในทะเลมากขึ้น
       
        นักวิชาการได้ศึกษาและให้น้ำหนักแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็นและสำคัญต่อร่างกายเอาไว้คร่าวๆ ว่า โปรตีนที่ร่างกายของคนเราได้จากไข่ 94 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) จากนม/ผลิตภัณฑ์นม 82 คะแนน จากปลา 80 คะแนน เนื้อสัตว์ 68 คะแนน ถั่วเหลือง 61 คะแนนและจากเมล็ดพืชต่างๆ 37-58 คะแนน ซึ่งเมื่อเรามาพิจารณาโปรตีนที่สังคมไทยบริโภคหลักๆ ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีปัญหาตามมาจากการผลิตโปรตีนไม่ว่า เนื้อหมู ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ที่เรียกว่า “แรนดอน” ซึ่งพบว่า เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งในหนูทดลอง เนื้อไก่  มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ยาฆ่าเชื้อ หรือเชื้อโรคไข้หวัดนกที่ระบาดเป็นช่วงๆ เนื้อวัว บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องเชื้อวัวบ้า   
       
       “ถั่ว” แม้จะเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพในกลุ่มของพืชก็จริง แต่การเพาะปลูกก็มีการปนเปื้อน สารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึง สารอัลฟาทอกซิน ซึ่งมักจะพบในถั่วลิสง เนื่องจากมีความชื้นสูง สารตัวนี้มักก่อให้เกิดมะเร็งในตับ นมแม้จะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มของโปรตีนจากสัตว์ แต่โปรตีนคุณภาพสูงเหล่านั้น มีปริมาณเพียงแค่ 4% เพราะส่วนใหญ่นมจะมีองค์ประกอบของ “หางนม” ซึ่งมีสารอาหารหลักคือ “ไขมัน” นอกจากนี้นมหรือผลิตภัณฑ์นมยังต้องเสี่ยงกับ ยาและฮอร์โมน ที่ใช้เลี้ยงวัวปนเปื้อนมาอีกด้วย
       
        ปลาจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด เพราะปลาแม้จะมีโปรตีน 80 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าน้ำนมเพียงเล็กน้อย ถ้าจะว่าไปแล้วเนื้อปลายังเป็นสารอาหารที่มีไขมันต่ำยกเว้นปลาดุก และปลาทุกชนิดที่ทำให้สุกโดยการทอด นอกจากเนื้อปลาจะมีสารอาหารโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางร่างกายแล้ว ในเนื้อปลายังมีสารอาหารชนิดหนึ่งมีชื่อว่า omega - 3 fatty acids ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ ปลาจึงเป็นโปรตีนที่จะเป็นทางออกของวิกฤตในเรื่องอาหารที่จะเกิดตามมาหลังมหาอุทกภัยในครั้งนี้อย่างมีนัยที่สำคัญ
       
        ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีความโชคดีในแง่ของการตั้งอยู่ในเขตภูมิประเทศ ที่สองฟากฝั่งอยู่ติดกับทะเลมหาสมุทร คือ ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลถึง 22 จังหวัด ประเทศของเรามีพื้นที่ชายฝั่งรวมกันทั้งสองฝั่งกว่า 2,600 กิโลเมตร และที่สำคัญประเทศของเราตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ทำให้ท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์สัตว์น้ำหลากหลายชนิดและสามารถเจริญเติบโตในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่เราขาดการบริหารจัดการทะเลที่ผิดพลาดและเปิดโอกาสสร้างเงื่อนไขให้มีการทำลายแหล่งอาหารโปรตีนของสังคมลงอย่างรวดเร็ว
       
        วันนี้เราปล่อยให้ทะเลไทยอยู่ในขั้นวิกฤต มีสภาพที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตของทะเลที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญแก่สังคมเราในอนาคต ดังจะเห็นได้จากอัตราการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมืออวนลากของเรือสำรวจกรมประมงในอ่าวไทย ที่พบว่าในปี 2504  มีค่าเท่ากับ 297.8 กิโลกรัม/ชั่วโมง ลดลงเหลือ 62.11 กิโลกรัม/ชั่วโมง ในปี 2520 และลดลงเหลือ 40.59 และ 17.8 กิโลกรัม/ชั่วโมง ในปี 2530 และ 2552 ตามลำดับ
       
        เรืออวนลาก เรืออวนรุน เรือปั่นไฟ เป็นเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง ที่อารยประเทศทั่วโลกเขายกเลิกกันเกือบหมดแล้ว เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นตัวทำลายสัตว์น้ำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 60 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมดจากเรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือปั่นไฟประกอบด้วยลูกปลาทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกปลาหลังเขียว ลูกปูม้า ลูกปลาจวด ร้อยละ 65 – 70 ของปริมาณปลาเป็ดที่จับได้ ในปีหนึ่งๆ สัตว์น้ำที่จับได้จากอวนรุนทุกขนาดมีประมาณ 26,289 ตัน ประกอบด้วยกุ้งใหญ่ ร้อยละ 15-16 ปูม้าร้อยละ 8-9 ปลาร้อยละ 7 ปลาหมึกร้อยละ 4-5 นอกนั้นเป็นสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
       
        ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวควรจะได้เติบโตมาเป็นอาหารให้กับผู้คน แต่ต้องถูกจับขึ้นมาในเวลาไม่อันควร สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่าการกวาดจับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยเครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้จากท้องทะเลไทยก็เพราะว่าไปตอบสนองบริษัทผลิตอาหารสัตว์หรือนายทุนนักธุรกิจที่ส่งออกปลาป่นที่มักมีอำนาจเหนือข้าราชการหรือนักการเมืองในบ้านเรามาทุกยุคทุกสมัย เราจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาป่นไทยมีอัตราสูงขึ้น โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกปลาป่น 2.4 หมื่นตัน ปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 หมื่นตัน และเฉพาะช่วงครึ่งแรกปี 2553 สามารถส่งออกสูงขึ้นถึง 8 หมื่นตัน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของวิกฤตสัตว์น้ำในทะเลของเรา
       
        วิกฤตทะเลไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ เราสามารถที่จะกู้มันกลับขึ้นมาได้ หากเราต่างตระหนักว่า ทะเลคือแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคม เป็นแหล่งประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องที่เป็นชาวประมงและอาชีพต่อเนื่องจากอาชีพประมงอีกมากมาย มีผู้คนที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและอ้อมจำนวนมาก ที่สำคัญทะเลเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ผู้คนที่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ต้องรับประทานแต่โปรตีนจากไก่เนื้อ วัวเนื้อ ปลานิลเลี้ยงกลายพันธุ์ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ควบคุมเบ็ดเสร็จ ทั้งพันธุ์ อาหารและยารักษาโรค จนทำให้เราลืมแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติที่สังคมไทยเรามีอย่างเหลือเฟือ.

โดย บรรจง นะแส    28 พฤศจิกายน 2554
manager.co.th

8406
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นางวิไลวรรณ สมความคิด มารดา นายวีระ สมความคิด ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำเพรย์ซอว์ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา ขอนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากไทย เข้าไปรักษาโรครูมะตอย หรือโรคเก๊าท์ เนื่องจากเมื่อ 3 สัปดาหห์ที่ผ่านมานายวีระ มีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้ออย่างหนัก ซึ่งตนเองได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ให้ประสานกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา ขอให้นำแพทย์เข้าไปรักษา หรือนำตัวนายวีระ ออกมารักษาชั่วคราว ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ว่า ทางกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา อนุญาตให้นำแพทย์จากไทย ทำการรักษาได้ทันที โดยกระทรวงการต่างประเทศจะประสานไปยังแพทย์ให้เดินทางไปรักษาโดยเร็วที่สุด
        ส่วนความคืบหน้าการขอพระราชทารอภัยโทษ นายวีระ และนางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ หลังสถานการณ์น้ำคลี่คลายจะนัดหารือกับ นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ภายในปีนี้ นอกจากนี้จะหารือ ถึงมาตรการชั่วคราวตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่รัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว เนื่องจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังรอความชัดเจน เรื่องดังกล่าว
        นอกจากนี้จะหารือในกรอบคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี และ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา หรือ เจซี ซึ่งจะนัดประชุมกับนายฮอร์ นัม ฮง ใกล้กับชายแดนไทยกัมพูชา ทั้งนี้มอบหมายให้ นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) ว่าจะสามารถประชุมจีบีซีได้เมื่อไหร่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 พฤศจิกายน 2554

8407
เชื่อว่าหลายคนคงเคยค้นข้อมูลสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์ และบ่อยครั้งต้องอยู่ในภาวะลังเลไม่แน่ใจในข้อมูลที่พบว่าถูกต้องหรือน่าเชื่อถือเพียงใด ทว่ายังดีที่มีเว็บไซต์ดีๆ http://haamor.com/ (หาหมอ ดอตคอม) ที่มุ่งให้ความรู้เรื่องสุขภาพที่มากกว่าความรู้พื้นฐาน เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์
       
       โดย วิชานน์ มานะวาณิชเจริญ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เผยเหตุจูงใจที่ก่อตั้งว่า เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้ และการติดต่อพบแพทย์ในสมัยนี้เป็นไปได้ยากและเสียเวลา จึงทำเว็บที่ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนจะไปพบแพทย์
       
       “คนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งได้หาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์แล้วพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ มาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ล้วนเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ บางครั้งยากต่อการเข้าใจเนื่องจากเป็นศัพท์ทางการแพทย์ จากเหตุการณ์นั้นจึงเกิดความคิดที่ว่า หากคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันคงเป็นเรื่องยากพอสมควรในการหาข้อมูล จึงอยากจะมีเว็บที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับโรคและยาได้อย่างท่องแท้และนำไปปรับใช้ได้จริง”
       
       เช่นเดียวกันกีรติ อินโอชานนท์ กล่าวว่า ในประเทศไทยยังมีคนไทยจำนวนหลายล้านคนที่อาจไม่ได้รับข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเพียงพอ จึงคิดทำเว็บไซต์สุขภาพวิชาการที่ครบวงจร ในระดับสากลที่ทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบอาการเบื้องต้นก่อนได้

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง อย่าง ศ.เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ บรรณาธิการกิตติมศักดิ์ของเว็บไซต์หาหมอ เสริมว่า คนยุคนี้ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงอยากให้คนไทยมีพื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับยุคดิจิตัลที่คนมักเลือกค้นหาข้อมูลออนไลน์ เพราะสะดวกสบาย แต่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการสื่อสารโดยผู้เชียวชาญด้านสุขภาพ เพื่อเวลาไปพบแพทย์จะได้เข้าใจตรงกัน และแพทย์จะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว
       
       แน่นอนว่านี้คงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคลายกังวล ลดเวลา สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ และเป็นคำแนะนำที่เชื่อถือได้สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลตนเอง แต่แม้จะมีข้อมูลที่แน่นอย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพให้ไกลจากโรคย่อมดีกว่าการรักษา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 พฤศจิกายน 2554

8408
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา
      
       วันนี้ (28 พ.ย.) เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เฝ้ารับเสด็จฯ
      
       นายวิทยากราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอพระทองคำ มีขนาด 30 เตียง เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็น 1 ใน 10 แห่งที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสร้างและพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งประกอบด้วย

รพ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
รพ.เบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ
รพ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู
รพ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี
รพ.เขาชะเมา จ.ระยอง
รพ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่
รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี
รพ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา
รพ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
รพ.หาดสำราญ จ.ตรัง

เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานโดยนำระบบการบริหารจัดการแนวใหม่มาพัฒนาโรงพยาบาล เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนและองค์กรท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาร่วมกับทีมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลให้เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน จัดบริการได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน ที่สำคัญมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชน
      
       รพ.พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ มีความพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้บริการรักษาพยาบาล คลอดฉุกเฉิน อุบัติเหตุ ทันตกรรม ส่งเสริมสุขภาพ และจัดคลินิกพิเศษดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวช และผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยตรวจรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อพ.ศ.2553 มีบริการนวดเพื่อการรักษาลดอาการปวดควบคู่กับการใช้ยาสมุนไพร อบ ประคบ นวดฝ่าเท้า ทับหม้อเกลือบริการหญิงหลังคลอดแทนการอยู่ไฟ โดยดูแลประชากร 43,986 คน มีบุคลากรให้บริการ 120 คน นอกจากนี้มีประชาชนในพื้นที่จำนวน 60 คน ที่จิตอาสาเข้ามาร่วมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการให้บริการดูแลอำนวยความสะดวกผู้ป่วย เช่น จัดเตรียมอาหาร ช่วยเข็นผู้ป่วย ช่วยทำความสะอาดโรงพยาบาล
      
       ผลการประเมินคุณภาพบริการในปี 2553 พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจบริการสูงถึงร้อยละ 80ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยนอกมารับบริการ 21,202ราย และผู้ป่วยใน 2,684 ราย โรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่อันดับ 1 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง รองลงมาคือ เบาหวาน และโรคถุงลมปอดโป่งพอง ส่วนด้านการแพทย์แผนไทย มีผู้ใช้บริการ 3,531 ราย มากที่สุดคือ การนวดเพื่อบำบัดอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
      
       ปัจจุบันโรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาได้พัฒนาคุณภาพบริการทุกแผนก ให้ได้ตามเกณฑ์โรงพยาบาลคุณภาพของสถาบันรับรองคุณภาพสถานบริการ (องค์การมหาชน) ซึ่งจะประเมินรับรองในเดือนธันวาคม 2554 นี้ และมีแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลสีเขียว เป็นสถานที่ทำงานสะอาด รณรงค์ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นและสดชื่น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 พฤศจิกายน 2554

8409
เมื่อวันอาทิตย์ที่​แล้ว ​ได้มี​การ​เปิด​เผย ผล​การวิจัย​ในงาน Gerontological Society of America ที่บอสตัน สหรัฐอ​เมริกา จาก คู่สมรส 238 คู่ วัย 65+ ชาวอ​เมริกัน ​ได้ค้นพบว่า คู่สมรสที่มี​เพศสัมพันธ์​เป็นประจำนั้น มี​ความสุข​ในชีวิตมากกว่า (​ทั้งนี้นอก​เหนือ​ไปจากปัจจัย​เรื่อง อายุ ​เพศ สุขภาพ ฐานะทาง​การ​เงิน) กว่า 60 % ของ​ผู้ที่มี​เพศสัมพันธ์มากกว่า 1 ครั้งต่อ​เดือน ตอบว่า "มี​ความสุข​ในชีวิต​โดยรวม" ​เปรียบ​เทียบกับ 40% ของ​ผู้ที่​ไม่​ได้มี​เพศสัมพันธ์​ในปีที่ผ่านมา ​และ​เกือบ 80% ของ​ผู้ที่มี​เพศสัมพันธ์มากกว่าหนึ่งครั้งต่อ​เดือน ตอบว่า "มี​ความสุข​ในชีวิตคู่" ​เปรียบ​เทียบกับ 59% ของ​ผู้ที่​ไม่​ได้มี​เพศสัมพันธ์ปีที่​แล้ว

ทีมงานวิจัยกล่าวว่า ​การศึกษาครั้งนี้​ได้ช่วยกระตุ้น​การสื่อสาร​และพัฒนา​การ "คิดนอกกรอบ" ของ​เพศสัมพันธ์​ในวัยสูงอายุ ​เรื่องสุขภาพ-​เพศสัมพันธ์ ​ในวัยสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน

แนวหน้า  27 พฤศจิกายน 2554

8410
คุณทราบ​ไหมว่า​การทานดาร์กช็อก​โก​แลต สามารถลด​ความ​เสี่ยงต่อ​โรคหัว​ใจวาย​ได้ ข้อมูลด้านสุขภาพจาก​เว็บ BBC รายงาน​การค้นพบ​ในประ​เทศสหรัฐ ว่า ​การขบ​เคี้ยวดาร์กช็อก​โก​แลตชิ้น​เล็กๆ นั้น ดีต่อ​ผู้หญิงวัยหมดประจำ​เดือน

​การทดลองกลุ่มตัวอย่างของ Boston Study ​ใน Journal of The American Heart Association รายงานผล​การทดลอง กลุ่มตัวอย่าง 32,000 คน อายุ 48-83 ​เป็น​เวลา 9 ปี พบว่า ​การรับประทาน​ในปริมาณ19-30 กรัม จำนวน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถลด​ความ​เสี่ยงต่อ​โรค หัว​ใจวาย​ได้ 32%

​ในขณะที่ช็อก​โก​แลตมี​แอนตี้ออกซิ​แดนท์ที่มีผลดีต่อหัว​ใจ ​แต่หากรับประทาน​ในปริมาณมาก​ก็​ไม่​เป็นผลดี​เพราะมีน้ำตาลสูง ​ความจริง​แล้วควรทาน​ในปริมาณที่​เหมาะสม ​แอนตี้ออกซิ​เดนท์ ยังสามารถหา​ได้​ในผัก​และผล​ไม้ชนิดอื่น ที่​ไม่มี​ไขมัน​แคลอรี่สูงอีกด้วย

แนวหน้า 27 พฤศจิกายน 2554

8411
กรมอนามัยจัดทีมลงพื้นที่ ให้ความรู้ประชาชนหลังน้ำลด พร้อมแนะ 5 ทางรอดปลอดโรค               
                   
       วันนี้ (23 พ.ย.) ดร.นพ. สมยศ  ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวถึงการจัดทีมลงพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองในพื้นที่น้ำท่วมขัง และน้ำลด ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง  จึงได้จัดทีมนักวิชาการลงพื้นที่กระจายความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรค ทั้งนี้ยังได้นำสิ่งของที่จำเป็น เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย คู่มือประชาชนฉบับพกพาและคู่มือ รื้อ ล้าง หลังน้ำลด ซึ่งเน้นข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมแนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรค             
     
       “เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลง สิ่งสำคัญที่ประชาชนจะต้องคำนึงถึง คือ การทำความสะอาดบ้านเรือน และการดูแลสภาพแวดล้อมในบริเวณบ้านและชุมชน เพราะน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมากจากทุกสารทิศส่งผลให้เกิดการหมักหมม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ ฉะนั้น จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและสัตว์มีพิษ โดยศึกษาได้จากคู่มือของกรมอนามัย ซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้

1.ตรวจดูระบบไฟฟ้า ต้องไม่ตัวเปียกและพร้อมใช้งาน

2.สำรวจตรวบสอบความเสียหายของตัวบ้านและบริเวณบ้านเรือน

3.เตรียมการก่อนล้างโดยจัดเตรียมอุปกรณ์  สำหรับเก็บกวาดทำความสะอาด คัดแยกเศษวัสดุและขยะประเภทต่างๆ

4.ทำความสะอาดควรทำทันทีหลังน้ำลดจะช่วยให้ขจัดคราบสกปรกได้ง่ายโดยใช้ผงซักฟอก

5.ดูแลปรับปรุงห้องครัว  ภาชนะอุปกรณ์ต่างๆเพื่องป้องกันเชื้อราปนเปื้อนในอาหาร

6.ดูแลปรับปรุงห้องส้วม ชำระล้างให้ทั่วพื้นผิวโดยใช้น้ำผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดขัด ในกรณีส้วมเต็มให้ใช้น้ำหมักชีวภาพเทราดลงในคอห่านหรือโถส้วม เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์และสิ่งปฏิกูลทำให้กลิ่นและแก๊สที่เกิดจากการหมักในบ่อเกรอะลดลง"อธิบดรกรมอนามัย กล่าว
                 
       
       ทั้งนี้ 5 ทางรอดปลอดโรคที่อธิบดีกรมอนามัยแนะนำมีดังนี้

1.อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ  เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น

2.อย่าเล่นน้ำเน่าขัง   หากสัมผัสน้ำเน่าเสียต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด

3.กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด

4.หลังน้ำลด  ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่างๆ

5.ช่วยกันล้างตลาด ประปาชุมชนและสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรค

พร้อมแนะนำผู้ที่ต้องทำความสะอาดควรสวมหน้ากากอนามัย ผ้าปิดปาก เพื่อลดการสูดดมกลิ่นขยะที่หมักหมม หรือสารเคมีที่อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ สวมถุงมือ เพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อโรคและล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 พฤศจิกายน 2554

8412
 สธ.ยกแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  4 ระยะ คาดใช้ 2,100 ล้านบาท
       
       วานนี้ (23 พ.ย.)   นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าว ถึงแผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ว่า กระทรวงได้จัดทำแผนดังกล่าวไว้ทั้งหมด 4 ระยะ โดย

ระยะแรกได้รับงบประมาณจาก ศปภ.แล้ว 109 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณเร่งด่วน ทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขพร้อมเวชภัณฑ์ ยา ฟื้นฟูร่างกาย จิตใจให้ผู้ประสบภัย ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ 

ระยะที่ 2 เป็นระยะส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่น้ำท่วม และศูนย์พักพิง  มีทั้งการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ในการควบคุมป้องกัน รวมทั้งการจัดทำสื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพในภาวะน้ำท่วม

ระยะที่ 3 พื้นที่น้ำลดแล้ว การบริการรักษาพยาบาล จัดหน่วยบริการทางการแพทย์และให้ความรู้แก่ประชาชน การฟื้นฟูสุขภาพจิต และ

ระยะที่ 4 เป็นระยะซ่อมบำรุงตามสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
         
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวถึงการพิจารณางบประมาณทุกระยะ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรายละเอียด แต่เบื้องต้นมีการประมาณการณ์ว่างบประมาณรวมทุกระยะอยู่ที่ราว 2,100 ล้านบาท
             
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยังสำนักปลัดกระทรวง เบื้องต้นทราบว่า แผนในการฟื้นฟูแต่ละระยะนั้น ได้รับงบประมาณดำเนินการจริงเพียงระยะแรก ขณะที่ระยะที่ 2 ตั้งงบไว้ที่ประมาณ 786,767,200 บาท ซึ่ง ครม.มีการพิจารณาเห็นชอบ แต่ยังไม่อนุมัติว่าได้รับงบจริงเท่าใด ส่วนระยะที่ 3 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 915,944,130 บาท  ส่วนระยะที่ 4 อยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ได้ตัวเลขชัดเจน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 พฤศจิกายน 2554

8413
กรมควบคุมโรค พบยุงรำคาญมากสุด พาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ แต่ยืนยันไม่พบการระบาด มีวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว ขณะที่ช่วงน้ำท่วมห่วงยุงลาย ก่อไข้เลือดออก พบผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันรวม 6 หมื่น

       นพ.วิชัย สติมัย ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับยุงที่พบในประเทศไทยนั้นมี 4 ชนิด ประกอบด้วย

1.ยุงรำคาญ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากยุงชนิดนี้จะบินไกลถึง 1-2 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจำแนกยุงรำคาญที่มักพบในไทยได้ 3 ชนิด คือ
1.ยุงรำคาญ (Culex gelidus) มักพบตามท่อน้ำ ชอบบินข้างหู กัดเจ็บ แต่ไม่นำโรค แม้ในบางประเทศเคยมีรายงานการติดเชื้อไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดดังกล่าวกัด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดนี้กัด
2.ยุงรำคาญ (Culex quiquefasciatus) เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง แต่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 และ
3.ยุงรำคาญ (Culex Tritaeniorhynchus) ซึ่งพบว่ายุงชนิดนี้เป็นพาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ เจอี แต่เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการในการให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบชนิดนี้อยู่แล้ว จึงไม่พบการระบาดของโรคนี้ โดยยุงชนิดนี้มักพบตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ม้า เป็นต้น
     
2.ยุงลาย พบประมาณ 10% ซึ่งลูกน้ำยุงลายสามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำนิ่ง และเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก แต่ธรรมชาติของยุงลายจะบินไม่ไกล ประมาณ 100-200 ม.ดังนั้น จึงไม่ควรมีแหล่งน้ำขังอยู่ภายในบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรที่จะหาทางลดการสัมผัสกับยุงโดยการจุดยากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยต้องไปพักที่ศูนย์พักพิงจำนวนมาก ทำให้อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ ทางกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จึงมีการเฝ้าระวังตามศูนย์พักพิงต่างๆ ซึ่งขณะนี้พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น แต่ยังอยู่ในจำนวนที่น้อย ซึ่งยังไม่ถือเป็นนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงยังต้องจำเป็นแนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามศูนย์พักพิงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับยุงชนิดที่ 3 และ 4 คือ ยุงเสือ และยุงก้นป่อง โดยทั้งสองชนิดรวมกันมีรายงานการพบไม่10 % ซึ่งในส่วนของยุงเสือ จะพบตามผักตบชวา ซึ่งเป็นพาหะทำให้เกิดโรคเท้าช้าง ขณะที่ยุงก้นป่อง มีรายงานว่าพบตามแหล่งน้ำทิ้งบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการระบากของโรคมาลาเรีย เพราะการระบาดของโรคนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยุงก้นป่องไปกัดคนที่เป็นมาลาเรียแล้วไปกัดคนอื่นต่อเท่านั้น
       
       "สำหรับตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบ 64,000 ราย เสียชีวิต 56 ราย ขณะที่ปี 2553 พบผู้ป่วย 100,000 ราย เสียชีวิต 100 ราย ซึ่งไม่แตกต่างหรือน่ากังวลนัก” นพ.วิชัย กล่าว ว่าราย เสียชีวิตแล้ว 56 ราย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤศจิกายน 2554

8414
เลขาธิการ สปสช. เผยร่วมมือ สธ. ระดมงบ 2 พันล้าน เร่งแผนฟื้นฟูประชาชน หน่วยบริการทุกระดับ และชุมชนท้องถิ่น หลังน้ำลดให้กลับมามีประสิทธิภาพภายในปี 55...

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2554 ที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ รพ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมและรับทราบสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคของโรงพยาบาล ตลอดจนแผนการฟื้นฟูโรงพยาบาลหลังน้ำลด เพื่อให้บริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทาง รพ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเบื้องต้นได้ในวันที่ 28 พ.ย.54 และจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 1 ธ.ค.54

เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูหลังอุทกภัยภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายแห่ง ระดับน้ำเริ่มลดลง และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในส่วนของหน่วยบริการสาธารณสุขนั้น ขณะนี้มีประชาชนที่ต้องดูแลช่วยเหลือทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่หน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยนั้น ต้องให้บริการทางด้านการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการและแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งบทบาทของ สปสช. ในการฟื้นฟูนั้นจะเป็นบทบาทเสริมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นในการจัดการระบบ เช่น การเงินการคลัง และการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคประชาชน รวมถึงการจัดหาบริการให้กับประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งแผนฟื้นฟูนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วย หน่วยบริการสาธารณสุข/ผู้ให้บริการสาธารณสุข และชุมชนท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการในการรักษาพยาบาลได้ปกติเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ปี 55 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

นพ.วินัย กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่า สำหรับกลุ่มที่ 1 ประชาชนจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพในทุกมิติอย่างดี เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดบริการเชิงรุกป้องกันโรค โดยโรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบล (รพ.สต) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร ขยายความร่วมมือกับ รพ.เอกชน ที่มีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สามารถรอการผ่าตัดไว้ หรือการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน จำนวน 1,200 ราย ขยายเวลาการให้บริการผู้ป่วยกับรพ.เอกชน ที่ไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เข้าร่วมโครงการออกไปอีก 2 เดือน โดยมีเป้าหมายผู้ป่วยใน 2,000 ราย ผู้ป่วยนอก 1,000 ราย การบริการรักษากลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ติดตามผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง เอดส์ ให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังผู้ป่วยไตจำนวน 16,754 ราย ผู้ป่วยเอดส์ 41,673 ราย และจัดส่งน้ำยาล้างไตทางช่องท้องให้ผู้ป่วยถึงบ้านผ่านหน่วยบริการในพื้นที่ อปท. เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต จำนวน 8,861 ราย เตรียมเวชภัณฑ์จำเป็น ให้เพียงพอ ได้แก่ ยากำพร้า ยา CL (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) การฟื้นฟูสภาพคนพิการ โดยการจัดซ่อมและหาอุปกรณ์ทดแทนให้กับคนพิการที่อุปกรณ์ชำรุดจากอุทกภัย เช่น ขาเทียม

สำหรับกลุ่มที่ 2 หน่วยบริการทุกระดับสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดงบประมาณ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการซ่อมแซมโครงสร้าง ครุภัณฑ์ แก่หน่วยบริการที่ประสบปัญหาอุทกภัย เร่งรัดการโอนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้หน่วยบริการ ให้ได้ร้อยละ 50

กลุ่มที่ 3 ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการวางแผน ดูแล ป้องกันสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งในระยะฟื้นฟูและในอนาคต สนับสนุนให้กองทุนตำบลในเขตที่ประสบปัญหาอุทกภัย พิจารณาสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนตำบลในการจัดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกำจัดขยะ ล้างบ่อน้ำ จัดประชุมระดมสมอง ร่วมกันระหว่าง อปท. ชุมชน รพ.สต หน่วยงานอื่นในพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนในพื้นที่หลังน้ำลด และแผนพัฒนาระบบหากเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคต.

ไทยรัฐออนไลน์ 26 พย 2554

8415
 แม้เราไม่อาจหาความซื่อสัตย์ได้กับคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กับสถาบันครอบครัว ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญมาก และครอบครัวจะมั่นคงหรือไม่มั่นคงก็ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ที่คู่สมรสมีให้แก่กันด้วย วันนี้เราจึงมีบทความดี ๆ จากสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของคู่สามีภรรยามาฝากกันค่ะ

       การแต่งงานเป็นการที่คุณทั้งสองมีพันธสัญญาต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต ทุกคนแต่งงานก็คาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องซื่อสัตย์กับตน ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญมาก หากไม่มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานแล้ว ชีวิตคู่ก็ยากที่จะมั่นคงอยู่ได้
       
       ความซื่อสัตย์หมายถึงการที่คุณต้องไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตคู่ของคุณ ไม่มีบุคคลที่สาม ไม่ปันใจให้ใครอื่น รวมทั้งไม่มีเพศสัมพันธ์กับใครอื่น
       
       นอกจากความซื่อสัตย์ต่อคนรัก คุณควรต้องมีความซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของคุณด้วย การอธิบายความรู้สึกของคุณอย่างตรงไปตรงมาแก่คนรักมีความสำคัญมาก อย่าปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ และพึงระลึกอยู่เสมอว่าการมีทิฐิถือดีไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่ของคุณดีขึ้น
       
       ความไว้วางใจหมายถึงความเชื่อมั่นว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะอุทิศตนให้แก่คุณ อยู่เคียงข้างคุณและคุณรู้สึกว่าเป็นเสมือนคน ๆ เดียวกับเขา
       
       หากมีบางช่วงเวลาที่คุณรู้สึกไม่ไว้วางใจคนรักของคุณ คุณอาจต้องทำใจให้สงบและบอกกับตัวคุณเองว่า “บางสิ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ” เพราะคุณเองอาจต้องพยายามในการทำใจและบอกกับตนเองว่า “บางทีสิ่งที่เราคิดอาจไม่เป็นจริง” และหากเมื่อใดที่คุณรู้สึกว่ากำลังหึง คุณควรทำใจให้สงบ ควบคุมความรู้สึกที่กำลังพลุ่งพล่านและบอกกับตนเองว่าบุคคลนั้นไม่ได้มีความหมายอะไร
       
       คู่สมรสส่วนใหญ่เมื่อมีความรักและมีความผูกพันมากขึ้น ก็มักจะมีความรู้สึกหวาดระแวง หึงหวงและมีความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ และกลัวว่าคนรักจะตีตัวออกห่าง กลัวว่าจะเห็นคนอื่นดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกอะไร
       
       คุณทั้งสองต้องมีความซื่อสัตย์ต่อคู่ชีวิต นอกจากนั้นฝ่ายภรรยาควรทำบ้านให้มีความสุข ทำตัวให้สงบ ดูแลตนเองให้ดูดี ทำตัวให้สดชื่นและน่าอยู่ใกล้ ธรรมชาติของผู้ชายชอบความสวยงามของผู้หญิงค่ะ สำหรับฝ่ายสามีคุณควรรู้และเข้าใจว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าสู่ชีวิตแต่งงานพร้อมกับความตั้งใจที่จะ “อยู่ด้วยกันจนวันตาย” หากคุณไม่ทำให้คู่ชีวิตคุณรู้สึกแย่จริงๆ เธอคงไม่ทำอะไรที่ผิดต่อคุณแน่นอน
       
       ความผิดพลาดสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ แต่คุณเชื่อไหมว่า ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์ คนรักของคุณจะขาดความไว้วางใจในตัวคุณไปเกือบตลอดชีวิต เธออาจอยู่กับคุณต่อด้วยความรู้สึกที่ยังรักคุณหรือเพื่อลูก แต่ความรักความศรัทธาที่เคยมีจะน้อยลงจนน่าใจหาย
       
       สิ่งที่ผู้ชายควรจะระวังคือ การที่คุณสุภาพกับผู้หญิงทุกคนจนไม่มีขอบเขต อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรืออาจเลยเถิดจนเกิดความสัมพันธ์อื่นขึ้น ดังนั้น คุณควรมีขอบเขตที่ชัดเจนสำหรับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นด้วย ในปัจจุบัน มีผู้หญิงมากมายที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม บางรายใจแตกมานาน บางรายอาจมีปัญหาอยู่ในใจลึกๆ โหยหาความรักและอาจพยายามที่จะเกาะเกี่ยวใครสักคนเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจ แม้การกระทำนั้นจะเป็นการทำร้ายบุคคลอื่นก็ตาม อย่าให้ผู้หญิงประเภทนั้นมาทำร้ายครอบครัวที่มีค่าของคุณ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤศจิกายน 2554

หน้า: 1 ... 559 560 [561] 562 563 ... 651