ผู้เขียน หัวข้อ: นักกฎหมายจวก "แนวปฏิบัติแพทยสภา มาตรา 12" ออกมาได้อย่างไร!  (อ่าน 2020 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
บทความพิเศษ: เบื้องลึกที่ควรรู้ แนวปฏิบัติแพทยสภา มาตรา 12

จากกรณีที่คณะอนุกรรมการบริหาร แพทยสภา ได้ออกแนวทางปฏิบัติของแพทย์ หลังมีการประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตา มหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ที่ 20  พฤษภาคม พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา
 
ผู้เขียนในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำกฎหมายดังกล่าว ขอเรียนให้ทราบว่า  ประเด็นกฎหมายที่เป็นข้อกังวลของแพทยสภาทั้ง 6 นั้น ไม่ว่าจะเป็น 1.แพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องแน่ใจว่าหนังสือแสดงเจตนาฯ กระทำโดยผู้ป่วยขณะมีสติสัมปชัญญะ
2.หนังสือแสดงเจตนาฯ ควรได้รับการพิสูจน์ว่ากระทำโดยผู้ป่วยจริง 
3.ในกรณีที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ "ความจริงแท้" ของหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้รักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ
4.การวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เกี่ยวข้องในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น
5.ไม่แนะนำให้มีการถอดถอนการรักษาที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และ
6.กรณีมีความขัดแย้งกับญาติผู้ป่วย เรื่อง "ความจริงแท้" ของหนังสือแสดงเจตนาฯ แนะนำให้ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิทางศาล ได้ผ่านการพูดคุย ผ่านการประชุมของนักกฎหมายกับแพทย์ จนเกิดความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งไม่มีประเด็นที่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อสงสัยจากคนบางกลุ่ม จึงขอนำประเด็นข้อสงสัยเหล่านั้นมาชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องอีกครั้ง หนึ่ง ดังนี้
 
1.สิทธิการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการ สาธารณสุข ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.2550 เป็นการฆ่าตัวตาย ใช่หรือไม่
 
สิทธิการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข  (Living will) มิใช่การให้สิทธิแก่ผู้ใดที่จะฆ่าตัวตาย เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นกรณีการปฏิเสธการรับบริการในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น เพราะเมื่อถึงเวลาที่ชีวิตเดินทางมาถึงจุดที่ไม่อาจรักษาโรคให้หายได้และจะต ้องจากไป ก็ขอจากไปตามวิธีธรรมชาติ อย่าเหนี่ยวรั้งหรือพยายามที่จะฝืนความตายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การเจาะคอ การปั๊มหัวใจ เป็นต้น คำสั่งเช่นนี้ ในต่างประเทศเรียกว่า Living will คือ เจตนาที่แสดงไว้เมื่อครั้งชีวิตยังปกติ เพราะหากว่าชีวิตอยู่ในวาระสุดท้าย ย่อมไม่สามารถแสดงเจตนาได้
 
2.การทำ Living will เป็น Mercy killing หรือการการุณยฆาต ใช่หรือไม่
 
คำตอบทางกฎหมายคือ ไม่ใช่ การุณยฆาตเป็นการเร่งการตายที่เรียกว่า  Active Euthanasia ซึ่งตามกฎหมายทำไม่ได้ แต่การทำ Living will เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยขอตายตามวิธีธรรมชาติ เป็นกรณีที่เรียกว่า Passive Euthanasia ซึ่งในแง่กฎหมาย จริยธรรม ถือว่ากระทำได้ตามความประสงค์ของผู้ป่วย
 
3.การทำตามความประสงค์ดังกล่าว แพทย์จะถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งผู้ป่วยหรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
 
ในประเด็นดังกล่าว หากไม่เข้าใจในหลักกฎหมาย และไม่เข้าใจในแนวปฏิบัติที่ถูกต้องของแพทย์ ก็เป็นไปได้ที่เกิดความกังวลข้างต้น และในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น แม้ผู้ป่วยจะอยู่ในวาระสุดท้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และจะต้องตายจากไป ก็ยังต้องได้รับการดูแลอยู่ คือมิได้หมายความว่าผู้ป่วยจะถูกทอดทิ้ง แพทย์ยังคงดูแลเหมือนเดิมหรืออาจดูแลมากกว่าเดิมอีก โดยผ่านการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative care) เพื่อบรรเทาอาการที่ทุกข์ทรมานหรือระงับปวดแก่ผู้ป่วย เพื่อให้เขาจากไปอย่างสงบ เพียงแต่ไม่ใช้เครื่องมือต่างๆ มายืดความตายเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่มีประเด็นเลยที่จะกล่าวหาว่า แพทย์งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะทั้งหมดเป็นความต้องการของผู้ป่วยเอง

4.ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยตามมาก็คือ อย่างไรที่เรียกว่า "วาระสุดท้ายของชีวิต"

ในเรื่องนี้กฎหมายนิยามได้เพียงกรอบโดยทั่วไป แต่วาระสุดท้ายของชีวิตในแต่ละโรคแต่ละกรณี แพทย์จะวินิจฉัยตามหลักวิชา ซึ่งเมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว  แพทย์ก็จะสื่อความเข้าใจกับญาติ หากญาติเห็นด้วยกับข้อวินิฉัยของแพทย์ ก็สามารถทำตามรายละเอียดใน Living will ได้ แต่หากญาติไม่เห็นด้วยและอยากเหนี่ยวรั้งชีวิตต่อไปอีกระยะหนึ่ง แพทย์สามารถปฏิบัติได้ 2 ทาง กล่าวคือ หากแพทย์เห็นความจำเป็นและเหตุผลของญาติ ก็สามารถทำตามที่ญาติต้องการได้  หรือแพทย์อาจทำตามคำสั่งใน Living will และหากแพทย์ทำตามคำสั่งใน Living  will ในมาตรา 12 วรรคสาม ก็ได้บัญญัติไว้แล้วว่า การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด
 
"ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยได้เขียน Living will ไว้แล้วว่า ไม่ต้องการให้เจาะคอหรือทำอะไรในวาระสุดท้ายของชีวิต และญาติก็ไม่ได้ขอร้องให้ทำอะไรต่อ แต่ทางสถานพยาบาลฝืนทำ ซึ่งอาจเป็นไปได้ในโรงพยาบาลเอกชนประเภทที่มุ่งค้ากำไรจากความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์ การกระทำเช่นนี้แหละที่จะมีปัญหากฎหมายตามมา การทำความเข้าใจกับญาติโดยการพูดความจริง คือจริยธรรมแห่งวิชาชีพที่พึงปฏิบัติด้วยวิธีการที่เหมาะสม"
 
5.แพทย์มีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบหรือไม่ว่า Living will หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืด การตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย เป็นของจริงหรือของปลอม
 
การตั้งข้อสังเกตในประเด็นดังกล่าวของแพทยสภา เหมือนทำให้เรื่องที่ไม่เป็นปัญหากลายเป็นปัญหา ยิ่งแพทยสภาได้ออกแนวทางไว้ว่า "ในกรณีที่มีความขัดแย้งกับญาติผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่อง "ความแท้จริง" ของหนังสือแสดงเจตนาฯ แนะนำให้ญาติผู้ป่วยใช้สิทธิทางศาล" การออกแนวปฏิบัติเช่นนี้ เป็นการสร้างภาระและความเสี่ยงแก่แพทย์มากขึ้น เพราะการระบุว่าแพทย์ผู้เกี่ยวข้องต้องแน่ใจว่าหนังสือกระทำโดยผู้ป่วยขณะมี สติสัมปชัญญะนั้น ทำให้แพทย์ต้องไปตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือแสดงเจตนา นับว่าเป็นการดึงเรื่องทางกฎหมายมาทำความยุ่งยากในเวชปฏิบัติ ทั้งที่ความสุจริตใจของแพทย์เป็นเรื่องที่อธิบายเรื่องต่างๆ ได้อยู่แล้ว และการที่แนะนำให้ญาติผู้ป่วยไปใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องร้อง ถือว่าเป็นแนวทางที่น่ากลัวมาก กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาแทนที่จะพูดคุยกัน กลับแนะนำให้ไปฟ้องศาลแทน กลายเป็นคู่กรณีกันไป ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหามากขึ้น
 
"ต้องบอกสังคมให้รับรู้ว่าแนวปฏิบัติ 6 ข้อของแพทยสภา ก็ไม่ได้ทำเป็นประกาศของแพทยสภาอย่างแท้จริง เป็นการออกแนวทางลอยๆ หากแพทย์ปฏิบัติตามและเกิดปัญหาตามมา ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะไม่สามารถคุ้มครองผู้ปฏิบัติตามได้เลย"
 
จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยมากว่าแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ออกมาได้อย่างไร เพื่อคนกลุ่มใด แนวทางดังกล่าวนอกจากออกมาโดยไม่เข้าใจในหลักกฎหมายแล้ว   ยังเป็นการนำแนวคิดทางกฎหมายที่คลาดเคลื่อน ไปทำให้เกิดปัญหาในเวชปฏิบัติและทำลายจริยธรรมที่ครูบาอาจารย์ทางการแพทย์ได้สอนไว้ถึงบทบาทของแพทย์ในแนวทางแห่งวิชาชีพว่า ให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ  เมื่อมีข้อสงสัยก็จะต้องพูดคุยกัน
มิใช่แนะนำให้ญาติไปใช้สิทธิทางศาล.

ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส
ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- เสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2554