ผู้เขียน หัวข้อ: สวรรค์สุดขอบโลก(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1515 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ความที่อยู่ไกลแสนไกลและเข้าถึงได้ยากยิ่ง ทำให้เกาะแรงเกลกลายเป็นสรวงสรรค์ของพืชพรรณและส่ำสัตว์ในดินแดนไซบีเรีย

 

เรือยางติดเครื่องยนต์ทะยานฝ่าละอองฝนเย็นยะเยือก ลัดเลาะไปตามน้ำแข็งก้อนมหึมา ท้าคลื่นแรงลูกแล้วลูกเล่าของทะเลชุคชี ขณะเราแล่นเข้าหาชายฝั่งที่ปกคลุมไปด้วยม่านหมอก แม้คนนำทางชาวรัสเซียจะยืนยันว่า เกาะขนาดใหญ่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้าเรานี่เอง ผมก็ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดี ทว่าเมื่อหมอกบางตาลง เกาะที่ว่าก็ปรากฏเด่นชัดท่ามกลางแสงแดดแผดจ้าของแดนอาร์กติก  แผ่นดินกลางทะเลนั้นทอดยาว 146 กิโลเมตร ทิวเขาสีทองอร่ามแต่งแต้มด้วยดอกไม้ทุนดราสีสันสดใสเป็นหย่อมๆ

จอห์น เมียร์ นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายสกอต ผู้มาเยือนคนแรกที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเกาะแรงเกล (Wrangell Island) ให้โลกได้รับรู้ พรรณนาไว้อย่างวิจิตรพิสดารยามได้ยลเกาะแห่งนี้เมื่อปี 1881 ว่า “ป่าหิมพานต์ตระการตาปราศจากราคิน”

ปัจจุบัน เกาะแรงเกลคือเขตคุ้มครองทางธรรมชาติที่เข้าถึงยากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นดินแดนที่ต้องขอใบอนุญาตหลายใบจากรัฐบาลเพื่อมาเยือน และเข้าถึงได้ด้วยเฮลิคอปเตอร์ในฤดูหนาว หรือเรือตัดน้ำแข็งในฤดูร้อนเท่านั้น

เกาะแรงเกลได้รับการประกาศให้เป็น ซาโปเวดนิค (Zapovednik) หรือเขตรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่บริหารจัดการโดยรัฐบาลกลางเมื่อปี 1976 ปัจจุบันยังคงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่หนาวเย็นและอยู่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย เกาะขนาด 7,510 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้อาจเปรียบได้กับหมู่เกาะกาลาปาโกสแห่งซีกโลกเหนืออันไกลโพ้น กล่าวคือ แม้สภาพภูมิอากาศจะสุดโต่ง แต่ในหลายแง่มุม   สภาพภูมิอากาศเช่นนี้เองที่ทำให้เกาะแรงเกลรุ่มรวยไปด้วยสรรพชีวิตอย่างน่าทึ่ง  เกาะนี้คือแหล่งสร้างโพรงรังที่ใหญ่ที่สุดในโลกของหมีขั้วโลก  เท่าที่ทราบมีแม่หมีมากถึง 400 ตัวมาขึ้นฝั่งที่นี่ในฤดูหนาวเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อย   และเมื่อกลุ่มก้อนน้ำแข็งเอาแน่เอานอนไม่ได้อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ในระยะหลังๆหมีขั้วโลกจึงพากันมาพักพิงบนบนเกาะนี้ในฤดูร้อนด้วย นอกจากนี้ เกาะแรงเกลยังเป็นแหล่งอาศัยของประชากรวอลรัสแปซิฟิกกลุ่มใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งสร้างรังวางไข่เพียงแห่งเดียวของห่านหิมะในทวีปเอเชีย ทั้งยังเป็นบ้านของนกเค้าหิมะ วัวมัสก์อ็อกซ์ จิ้งจอกอาร์กติก และกวางเรนเดียร์ ตลอดจนประชากรเลมมิง (สัตว์ฟันแทะขนาดเล็กคล้ายหนู) และนกทะเลอีกจำนวนมหาศาล 

ตั้งแต่ครั้งบรรรพกาล เกาะแรงเกลก่อตัวขึ้นอย่างเหมาะเจาะในบริเวณที่อาจเรียกว่าเป็นปลายน้ำแข็ง  (ice cusp)  เกาะนี้ไม่เคยถูกธารน้ำแข็งปกคลุมหรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงในสมัยน้ำแข็งที่ผ่านๆมา และไม่เคยจมอยู่ใต้ทะเลในช่วงที่น้ำแข็งละลาย ผืนดินและพืชพรรณตามหุบเขาด้านในจึงยังคงสภาพภูมิประเทศแบบทุนดราสมัยไพลสโตซีนไว้อย่างสมบูรณ์เพียงแห่งเดียวในโลก

นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า แรงเกลเป็นสถานที่สุดท้ายที่แมมมอทขนยาวเคยอาศัยอยู่ อีกทั้งแมมมอทแคระซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ย่อยก็เคยแพร่พันธุ์อยู่บนเกาะนี้จนถึง 1700 ปีก่อน ค.ศ. หรือกว่า 6,000 ปีหลังประชากรแมมมอทในพื้นที่อื่นๆ สูญพันธุ์ไปจนหมด    งางุ้มโง้งของพวกมันพบได้ทั่วไปบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นตามหาดกรวด พื้นท้องน้ำ หรือแม้แต่พิงอยู่ข้างกระท่อมของเจ้าหน้าที่อุทยานราวกับเป็นถ้วยรางวัลการล่าจากยุคเก่าก่อน

แม้ส่ำสัตว์แห่งแดนอาร์กติกจะอยู่ดีมีสุขบนเกาะแรงเกลมาเนิ่นนาน แต่มนุษย์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งที่อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย 140 กิโลเมตร แต่แรงเกลกลับเป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างตลอดหลายร้อยปี เสมือนภาพลวงตาหรือความฝันในม่านหมอก

ตลอดศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบ การเดินทางสำรวจเกือบทุกครั้งที่เฉียดเข้าใกล้เกาะแรงเกลปิดฉากลงพร้อมกับคำว่า “หายนะ” ในช่วงต้นทศวรรษ 1820 พรานชาวชุคชีแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียบอกเฟอร์ดินันด์ วอน แรงเกล นักสำรวจชาวรัสเซีย เกี่ยวกับดินแดนทางเหนือที่ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวเมื่อสภาพอากาศเป็นใจ แรงเกลจึงเดินเรือออกตามหาดินแดนลับแลแห่งนั้น แต่ต้องยอมยกธงขาวเมื่อเผชิญกับน้ำแข็งทั้งที่ยังไม่ได้เห็นแม้แต่เงาของเกาะ เกือบ 30 ปีให้หลัง  กัปตันเรือสัญชาติอังกฤษที่ออกตามหาทีมสำรวจของเซอร์จอห์น แฟรงกลิน คิดว่าตนเองมองเห็นเกาะอาร์กติกขนาดใหญ่ทอประกายอยู่ลิบๆ ต่อมา กัปตันเรือล่าวาฬหลายคนต่างยืนยันว่าเห็นเกาะดังกล่าว แต่คำกล่าวอ้างของพวกเขายังเป็นที่ถกเถียง เพราะดินแดนอาร์กติกขึ้นชื่อเรื่องภาพลวงตาจากอุณหภูมิผกผัน (fata morgana) และภาพลวงตาชวนฝันอื่นๆ

ทีมสำรวจอาร์กติกของสหรัฐฯซึ่งออกเดินทางเมื่อปี 1879 ล่องเรือเข้าใกล้เกาะแรงเกลมากพอที่จอร์จ วอชิงตัน เดอ ลอง ผู้บังคับการเรือ  จะสามารถระบุได้ว่า เกาะนี้หาใช่ทวีปในขั้วโลก กระนั้น เดอ ลอง ก็ไม่เคยได้ขึ้นฝั่งที่แรงเกล เพราะเรือ ยู.เอส.เอส. จีนเนต ของเขาติดอยู่ท่ามกลางกลุ่มก้อนน้ำแข็งขั้วโลกนานเกือบสองปี ก่อนจะอับปางลงประมาณ 1,290 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะแรงเกล

ล่วงเข้าเดือนสิงหาคม ปี 1881 ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งบนเรือกลไฟ โทมัส แอล. คอร์วิน ที่เดินทางมายังดินแดนอาร์กติกเพื่อตามหาเรือ จีนเนต ที่สาบสูญ ได้ย่างเท้าขึ้นเกาะแรงเกล และพิสูจน์ให้สิ้นข้อสงสัยว่าเกาะนี้มีอยู่จริง ทีมค้นหาซึ่งมีหนุ่มน้อยจอห์น เมียร์ รวมอยู่ด้วย ปักธงชาติอเมริกัน และประกาศให้เกาะแรงเกลเป็นดินแดนในกรรมสิทธิ์แห่งใหม่ของสหรัฐฯ

เกาะแรงเกลดำรงอยู่อย่างแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอกตลอดกว่า 30 ปีต่อมา ก่อนที่การสำรวจซึ่งลงเอยด้วยหายนะจะเริ่มขึ้นอีกระลอก เริ่มจากทีมสำรวจอาร์กติกของแคนาดาเมื่อปี 1913 ซึ่งผู้รอดชีวิตจำต้องสละเรือ คาร์ลุก ที่อับปางลง และเดินเท้าอย่างทุลักทะเลไปตามกลุ่มก้อนน้ำแข็งเป็นระยะทาง 130 กิโลเมตรเพื่อมาหลบภัยบนเกาะแรงเกล กว่าพวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือในอีกแปดเดือนต่อมา ลูกเรือ  11 คนจาก 25 คนต้องจบชีวิตลงบนเกาะหรือบริเวณใกล้เคียง ความพยายามอีกครั้งของแคนาดาเมื่อปี 1921 เพื่อขึ้นเกาะและอ้างกรรมสิทธิ์ให้สหราชอาณาจักรอันเป็นแผ่นดินแม่  นำมาซึ่งความสูญเสียของอีกสี่ชีวิต

ล่วงถึงปี 1926 สหภาพโซเวียตพยายามแผ่อำนาจอธิปไตยให้ครอบคลุมเกาะแรงเกล โดยบีบบังคับให้ชาวชุคชีออกจากแผ่นดินใหญ่ไซบีเรียไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะ ชุนชนเล็กๆแห่งหนึ่งอยู่รอดมาได้จนถึงทศวรรษ 1970  เมื่อเกาะได้รับการยกฐานะเป็นเขตรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่า จึงมีการส่งลูกหลานของชาวเกาะรุ่นแรกกลับสู่แผ่นดินใหญ่

เป็นที่ทราบกันว่าดินแดนรอบๆเกาะแรงเกลไม่มีแหล่งน้ำมันดิบอะไรมากมาย และถึงแม้จะมี น้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดชั่วนาตาปีคงทำให้การขุดเจาะเป็นไปด้วยความยากลำบากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาลจนไม่คุ้มค่าการลงทุน

อนาคตเท่าที่เห็นคือ เกาะแรงเกลจะยังคงเป็นห้องปฏิบัติการตามธรรมชาติให้มนุษย์ได้เข้าไปศึกษาสรรพสัตว์ในแดนอาร์กติก นักวิทยาศาสตร์ที่มายังเกาะนี้บอกว่า มีอะไรบางอย่างที่ทรงพลังและชวนให้ขนลุกแฝงอยู่ในภูมิประเทศแบบไพลสโตซีนอันดิบเถื่อนซึ่งเร้นกายอยู่ ณ ดินแดนเหนือสุดของโลกแห่งนี้ แดเนียล ฟิชเชอร์ นักบรรพชีวินวิทยาแมมมอทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนบอกว่า “รู้สึกราวกับว่าได้มาถึงสุดขอบโลกเลยละครับ”

เรื่องโดย แฮมป์ตัน ไซดส์
พฤกษภาคม 2556