ผู้เขียน หัวข้อ: เส้นชีวิตพญามังกรโบราณ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1394 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
“คลองใหญ่” ทางน้ำโบราณอายุหลายร้อยปี ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามา

เรือท้องแบนในคลองต้ายุ่นเหอ หรือ “คลองใหญ่” (Grand Canal) ไร้ชื่อหรูหรา ส่วนท้ายเรือนั้นเล่าก็ไม่มีสำนวนหวานเลี่ยนเขียนไว้  จะมีก็แต่ตัวอักษรและหมายเลขที่ประทับไว้ตรงกราบเรือ รูปลักษณ์เรียบง่ายเช่นนี้อาจสะท้อนถึงความไม่สลักสำคัญ ทว่าแท้จริงแล้วเรือท้องแบนที่แล่นขึ้นล่องคลองสายนี้ยึดโยงแผ่นดินจีนไว้ด้วยกันมานานถึง 1,400 ปี ผ่านการลำเลียงธัญพืชและทหาร รวมไปถึงการถ่ายทอดแนวคิดต่างๆระหว่างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้กับศูนย์กลางทางการเมืองในภาคเหนือ

ตามแผนที่แล้ว คลองใหญ่ทอดยาว 1,800 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งกับมหานครหางโจวที่อยู่ทางใต้ แต่เส้นทางช่วงครึ่งแรกคือระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองจี่หนิง น้ำในคลองตื้นเขินจนเดินเรือไม่ได้มาเกือบสี่ทศวรรษ ปัจจุบัน เส้นเลือดใหญ่ทางการค้าบนทางน้ำสายนี้ครอบคลุมระยะทาง 523 กิโลเมตรจากเมืองจี่หนิงถึงแม่น้ำแยงซีเกียง

                นักประวัติศาสตร์จีนมองว่า ระบบคลองดั้งเดิมซึ่งจักรพรรดิหยางแห่งราชวงศ์สุยโปรดให้สร้างขึ้นนี้เป็นความบ้าบิ่นอันปราดเปรื่อง ในสมัยโบราณ แม่น้ำสายหลักๆของจีนไหลจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก จักรพรรดิหยางมีพระราชประสงค์จะทลายข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์นี้ เพื่อให้มีเส้นทางลำเลียงข้าวจากภูมิภาคอันอุดมสมบูรณ์แถบตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำแยงซีเกียงไปเลี้ยงดูราชสำนัก และที่สำคัญคือกองทัพของพระองค์ซึ่งทำสงครามกับชนเผ่าเร่ร่อนอย่างต่อเนื่อง ข้าราชสำนักจึงเกณฑ์แรงงานราวหนึ่งล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนามาขุดคลองช่วงแรก ทหารหลายพันคนคอยควบคุมแรงงานทั้งชายและหญิงให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ  ดังที่กวีสมัยศตวรรษที่เก้าผู้หนึ่งรจนาไว้ว่า จักรพรรดิ    หยาง “ทรงใช้แรงงานอย่างทารุณ” ทว่าโครงการเหล่านี้ก็ “ก่อประโยชน์อเนกอนันต์แก่ปวงประชา” บันทึกของทางการระบุว่า โครงการขุดคลองแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 605 ใช้เวลาทั้งสิ้น 171 วัน ทว่าในความเป็นจริงต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง ถึงหกปี และสูญเสียชีวิตผู้คนไปเหลือคณานับ

                คลองสายนี้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอันทรงพลังและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์สำหรับผู้รุกราน ในช่วงต้นทศวรรษ 1840 อังกฤษหมายจะสยบจีนให้อยู่หมัดในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง จึงยกกำลังเข้ายึดเมืองเจิ้นเจียงตรงจุดบรรจบระหว่างคลองใหญ่กับแม่น้ำแยงซีเกียงไว้ เป็นการตัดเส้นทางลำเลียงธัญพืชและรายได้จากการเก็บภาษีสู่กรุงปักกิ่ง ทำให้จีนต้องยอมจำนนภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

                นอกจากนี้ คลองใหญ่ยังเป็นสายธารแห่งวัฒนธรรม ยามที่จักรพรรดิเสด็จทอดพระเนตรประตูน้ำและทำนบ  ทรงสังเกตเห็นและซึมซับวิถีพื้นเมือง กล่าวกันว่านี่คือที่มาของเครื่องหมายการค้าสองอย่างของกรุงปักกิ่ง นั่นคือ เป็ดปักกิ่งจากมณฑลชานตง และอุปรากรจีนหรืองิ้วปักกิ่งจากมณฑลอานฮุยและหูเป่ย์ คณะอุปรากรอาศัยคลองสายนี้เดินทางไปทั่วทุกหัวระแหง ขณะที่กวีต่างดื่มด่ำกับบรรยากาศริมคลองสายนี้ หนึ่งในนั้นคือจางจี้ กวีสมัยราชวงศ์ถัง ผู้พรรณนาถึงอารามแห่งหนึ่งริมฝั่งคลองใหญ่ไว้ในศตวรรษที่แปดว่า “เสียงระฆังแว่วมาถึงเรือของข้าในเพลาเที่ยงคืน”

ฉวนหมิน หรือคนที่อาศัยอยู่ในคลองสายนี้ จำลองชีวิตความเป็นอยู่แบบหมู่บ้านขึ้นบนเรือท้องแบนราคา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลูกเรือกลุ่มเล็กๆซึ่งมักเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันจะออกเรือแต่เช้าตรู่ กระทั่งเย็นย่ำจึงนำเรือมาจอดเรียงกันไว้

                จูซือเหล่ย์ หรือที่ใครๆเรียกกันว่า ลุงจู เป็นเจ้าของเรือท้องแบน หลู-จี่หนิง-ฮั่ว 3307 เขาอาศัยอยู่ที่เมืองจี่หนิง ลุงจูมีหนี้สินก้อนโต เรือของเขาบรรทุกได้ 1,200 ตัน แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้ตัวแทนจำหน่ายถ่านหินในเมืองจี่หนิงมีสินค้าให้เขาเพียง 1,100 ตัน และแทนที่จะได้ค่าบรรทุกตันละ 70 หยวน (ราว 11 ดอลลาร์สหรัฐ) เหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้กลับลดลงเหลือเพียง 45 หยวนเท่านั้น นั่นหมายความว่ารายได้ทั้งหมดจากการเดินเรือเที่ยวนี้อยู่ที่ 49,500 หยวน (ราว 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่เขาจ่ายค่าน้ำมันดีเซลไปแล้วราว 24,500 หยวน และเสียค่าธรรมเนียมผ่านคลองอีกกว่า 10,000 หยวน นอกจากนั้นยังอาจต้องเสียค่าปรับสำหรับทุกข้อหา ตั้งแต่การปล่อยน้ำเสียไปจนถึงการติดตั้งไฟส่องสว่างผิดประเภท ถ้าเขาทำได้ดี อาจเหลือกำไร 5,000 หยวน แต่นั่นเป็นจำนวนเงินก่อนจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่นำมาต่อเรือ ลุงจูกู้เงิน 840,000 หยวนจากเจ้าหนี้เงินกู้หน้าเลือดในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 สำหรับการเดินเรือเที่ยวนี้เที่ยวเดียว เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 10,500 หยวน โดยรวมแล้ว การเดินทางครั้งแรกของเรือ หลู-จี่หนิง-ฮั่ว 3307 อาจทำให้เขาขาดทุนราว 5,000 หยวน

หลังเดินเรือมาได้ครึ่งทางของการเดินทางสองสัปดาห์ เราก็มาถึงเมืองหยางโจว เรือแล่นผ่านทิวต้นหลิวกับทุ่งดอกไม้ หลี่ไป๋ กวีเอกสมัยศตวรรษที่แปด รจนาไว้ว่า “ฝ่ามวลบุปผชาติหนาทึบราวม่านหมอกสู่หยางโจว”

                ลุงจูปลุกผมให้ตื่นจากภวังค์ “นั่นไงครับ คลองใหญ่สายเก่า หรือจะเรียกว่าร่องรอยของคลองใหญ่ก็คงไม่ผิดนักหรอก” เขาบอกพลางชี้ไปยังร่องน้ำกว้างราวห้าเมตรที่ทอดตัวคดเคี้ยวอยู่ระหว่างเกาะเล็กๆกับฝั่ง ครั้งหนึ่งคลองใหญ่เคย  คดเคี้ยวมาก ต่อมาเมื่อมีการขุดลอกคลองให้กว้างขึ้นและตัดให้ตรง คุ้งน้ำเหล่านี้จึงกลายเป็นร่องน้ำที่แยกออกไปด้านข้างหรือไม่ก็เป็นทะเลสาบที่ถูกตัดขาด

                “ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ จะบอกให้” ลุงจูเล่า เสียงแหบพร่าของเขาฟังดูมีชีวิตชีวาขึ้นมา “เรือแล่นมาจากทุกทิศทาง เราต้องมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา” เขาเป็นฉวนหมินรุ่นสุดท้ายที่คุ้นเคยกับคลองสายเก่า ซึ่งมีทั้งน้ำวนและกระแสวนที่สามารถซัดเรือท้องแบนให้ทะยานไปข้างหน้าหรือบดขยี้เรือเข้ากับสันดอนทราย

                คืนนั้นเราจอดเรืออยู่ชานเมืองหยางโจว ซึ่งเปรียบเสมือนนครเซี่ยงไฮ้ในยุคทองสองสมัย คือ สมัยราชวงศ์ถังและสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้น ปัจจุบัน ในภาคใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐบาลท้องถิ่นมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงทุ่มเงินมหาศาลเนรมิตเมืองให้สวยงามเพื่อเก็บเกี่ยวรายได้จากคลองสายนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำเช่นกัน  แม้หยางโจวจะปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งคลองให้เป็นสวนสาธารณะที่มีสนามหญ้าเรียบกริบและเจดีย์คอนกรีต  แต่ก็ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างริมคลองออกไปเกือบทั้งหมด

                รุ่งเช้าของวันที่แปด เรามุ่งหน้าสู่แม่น้ำแยงซีเกียง มาถึงตอนนี้ เรือของเราดูเล็กกระจ้อยร่อยเมื่อเทียบกับเรือเดินสมุทรสูงตระหง่าน คลื่นจากท้ายเรือเหล่านี้กระเซ็นเข้ามานองบนดาดฟ้าเรือของเรา “แม่น้ำแยงซีเกียงก็เหมือนทางหลวงครับ ส่วนเราก็เหมือนรถคันเล็กๆ จึงต้องระมัดระวังและรีบออกไปให้เร็วที่สุด” ลุงจูบอก เวลาผ่านไปสามวัน เราก็มาถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือโรงงานผลิตปุ๋ยหนานทง แต่เนื่องจากฝนตกหนัก การขนถ่านหินขึ้นจากเรือจึงใช้เวลาถึงสี่วัน จากนั้นลุงจูก็เร่งเครื่องกลับไปตามแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่อออกสู่คลองใหญ่อีกครั้ง

                เขาผลักคันเร่งเพื่อเดินหน้าเต็มตัว  เครื่องยนต์กระตุกพรวด ใบพัดตีน้ำหมุนติ้ว และแล้วเรือ หลู-จี่หนิง-ฮั่ว 3307              สีเขียวเป็นเงามันปลาบยามต้องแสงอ่อนๆของฤดูใบไม้ผลิก็แล่นเข้าสู่การจราจรที่ไม่เคยขาดสายของคลองใหญ่

เรื่องโดย เอียน จอห์นสัน
พฤษภาคม 2556