ผู้เขียน หัวข้อ: คอลัมน์: สาระสุขภาพ: ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานเน้นการพึ่งตนเองแบบพอเพียง  (อ่าน 856 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2555 00:00:35 น.
งานสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐานเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์การพึ่งพาตนเองอย่างแท้จริงของสังคมไทย บางอย่างใช้ได้ทั้งในรูปของยาภายนอก ยาภายใน และอาหาร โดยเฉพาะการใช้ยาในรูปของอาหาร ที่เราจะเรียกว่าอาหารเป็นยานั้นเป็นเรื่องที่มีความปลอดภัยสูงและยังเป็นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพก่อนเจ็บป่วยด้วย


 
สมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐานมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมาย และได้เกิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่เกิดขึ้นจาก อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในกระบวนการทำงานของสาธารณสุขที่สร้าง อสม.ขึ้นมาอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คนนี้

อสม.ที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศไทยนั้นไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โน้มน้าวจิตใจ สอนและให้ความรู้แก่พวกเขา สิ่งเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้เพราะมาจากความร่วมมือของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะเข้าถึงเป้าหมายเหล่านี้ได้ ความสำเร็จของงานสาธารณสุขมูลฐาน คือตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพของชาวบ้านในการเรียนรู้และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับปัจเจก คือการช่วยเหลือตนเองในชุมชน ในระดับสังคม และยังเป็นการสร้างผู้นำทางสุขภาพที่ดีอีกด้วย

การเรียนรู้ ฟื้นฟูแนวความคิดด้านการแพทย์แผนไทย หรือองค์ความรู้การดูแลสุขภาพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดจากหมอพื้นบ้าน ฟื้นฟูการปลูกรั้วสมุนไพร และนำไปถ่ายทอดต่อก็เกิดกระบวนการเรียนรู้เชื่อมโยงต่อไป เกิดการปลูกสมุนไพร การแปรรูป การปรุงยาใช้เองในบ้าน ในชุมชน เขาทำกันเอง มีตำราเรียนรู้ โดยเฉพาะยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานที่มีจำนวน 61 ตัว มีวิธีกิน วิธีใช้ และเขาได้ใช้ความรู้พื้นฐานในชีวิตของเขามาใช้ จนมันกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโอท็อปจากสมุนไพรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์โอท็อปทุกวันนี้ร้อยละ 40 ล้วนมีรากเหง้ามาจาก อสม. ที่เคยส่งเสริมชาวบ้านให้ทำกินเองเพื่อดูแลสุขภาพตนเองกระทั่งเติบโตกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปขึ้นชื่อนั่นเอง

การส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรที่ได้รับคัดเลือกให้นำมาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานทั้ง 61 ตัวนี้ ก็อยากให้ปลูกไว้กินเองใช้เองในครัวเรือน ถ้าเป็นบ้านทาวน์เฮาส์หรือคอนโดมิเนียมก็ปลูกแบบสวนครัวลอยฟ้า หรือสวนครัวกระถางได้ มีไว้เพียงชนิดละ 1 ต้น 1 กระถางก็ใช้ได้แล้ว เพราะมากกว่า 30 ชนิดก็เป็นผักสมุนไพรเครื่องเทศประเภทหัวหรือล้มลุก หรือปลูกใส่กระถางแบบง่ายๆ และเป็นผัก

สมุนไพรที่เราใช้ในครัวเรือนสำหรับการปรุงอาหารเป็นประจำอยู่แล้ว อาทิ กะเพรา กระเทียม ขิง ตะไคร้ ข่า กระชาย กระวาน เร่ว ใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ขมิ้นชัน รักษาโรคกระเพาะอาหาร ฟ้าทะลายโจร ฝรั่ง ทับทิม รักษาอาการท้องเสียหรือใช้ส่วนอื่นตามตำรารักษาบาดแผล ฝีหนอง ขิง แก้อาการคลื่นไส้มะนาว มะแว้ง แก้ไอ แก้เจ็บคอ เทียนบ้าน ว่านหางจระเข้ ว่านมหากาฬ ฟ้าทะลายโจร บัวบก แก้ฝี แผลพุพอง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตำลึง ขมิ้นชัน พญายอ แก้อักเสบ แมลงกัดต่อย ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด แก้ไข้ เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

ในความจริงแล้วสมุนไพรแต่ละตัวก็ใช้ประโยชน์ครอบคลุมมากกว่าโรคและอาการเดียวได้ เพียงแต่ใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาจเป็นการใช้แบบสด ตากแห้งบดเป็นผง ต้มดื่มดองเหล้า อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายนั้น แนะนำให้ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบอาหาร หรือที่เรียกว่าอาหารเป็นยา จะเป็นการช่วยให้ร่างกายสร้างกลไกป้อมปราการต่อต้านโรคต่างๆ ได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่มาตามฤดูกาลอย่างไข้หวัด หรือเน้นการกินอาหารตามฤดูกาลก็ทำได้ เช่นหน้าร้อนรับประทานอาหารที่มีรสขม เย็น จืด ช่วยคลายความร้อน หน้าหนาวรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นในร่างกาย หน้าฝนรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวขม เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้กว่าร้อยละ 80

การใช้สมุนไพรในการช่วยดูแลสุขภาพทั้งในรูปแบบอาหาร ยา เครื่องสำอางเวชสำอาง และอีกมากมาย ล้วนเป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวทั้งในเรื่องความปลอดภัยความประหยัด เป็นการพึ่งตนเองแบบพอเพียงอย่างง่ายๆ.