ผู้เขียน หัวข้อ: ใครเป็น “ประชาชน” ยกมือขึ้น  (อ่าน 735 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ใครเป็น “ประชาชน” ยกมือขึ้น
« เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2015, 11:48:18 »
 เรามีความเชื่อกันมานานแล้วว่า  การปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับในสิทธิ  เสรีภาพ และอำนาจของประชาชน  อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ  ทั้งในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเป็นของประชาชน  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  ตามแนวความคิดของประธานาธิบดีอับราฮัม  ลินคอล์น  แห่งสหรัฐอเมริกา
       
       ประเทศไทยของเรามีความพยายามจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475  โดยคณะราษฎรยึดอำนาจจากกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (โดยรูปแบบ)  แต่จนถึงปัจจุบันเวลาผ่านมาเกือบศตวรรษ  เราต้องประสบปัญหาไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยอย่างนานอารยประเทศได้
       
       ประชาชนคนไทยมีฐานะเป็น “ไพร่” ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตย  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ต่อมาก็เป็น “ราษฎร” ในสมัยเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475  และมีบัตรประชาชนในยุคที่มีการเลือกตั้ง  ปัจจุบัน กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญกำลังเปลี่ยนให้เป็น “พลเมือง” ในความหมายใหม่ที่บอกว่ายิ่งใหญ่กว่าเดิม
       
       ประชาชน  หมายถึงคนของประเทศ  ในบางครั้งอาจหมายถึงผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  หรือนักบวช  และในบางครั้งหมายถึงผู้ที่ไม่ใช่ผู้เป็นพ่อค้า  อีกความหมายหนึ่งประชาชนหมายถึง  คนโดยทั่วไป  แต่มักจะใช้ในกรณีที่จะพิจารณาถึงจำนวน คือ  จำนวนคนของประเทศ หรือของโลก
       
       ประชาชน  ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  เป็นคำนาม  หมายถึง สามัญชนทั่วไป  ที่ไม่ใช่ข้าราชการ  พ่อค้า หรือนักบวช  มีความหมายเหมือนประชาราษฎร์  ประชาชน (people) หมายถึง  ผู้ที่ได้รับการยอมรับ  อนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในรัฐ หรือประเทศนั้นๆ  รวมทั้งผู้อพยพเข้ามาใหม่
       
       พลเมือง (citizen)  หมายถึง  หมู่คนที่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง  คนทั้งหมดซึ่งเป็นกำลังของประเทศ  ทั้งในทางเศรษฐกิจ  การทหาร และอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น  โดยนัยหมายถึง คนที่สนับสนุนเป็นกำลังอำนาจของผู้ปกครอง  เป็นคนอยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ปกครอง  หรือหมายถึงผู้ที่ได้รับการยอมรับให้มีสิทธิในทางกฎหมายในรัฐ หรือประเทศนั้นๆ  เป็นผู้ที่มีทะเบียนราษฎร  หรือเอกสารทางกฎหมายอื่นที่รับรองว่า  เป็นคนมีสิทธิทางกฎหมายในรัฐ หรือประเทศนั้น  เป็นผู้เสียภาษี  มีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือสิทธิอื่นๆ ในฐานะพลเมืองของรัฐหรือประเทศนั้น  ตามที่กฎหมายของรัฐ หรือประเทศนั้นกำหนด
       
       ในบรรดาประมวลกฎหมาย  หรือกฎหมายมหาชนต่างๆ ในระบอบกฎหมายของไทย  ไม่มีกฎหมายฉบับใดนิยามความหมายของคำว่า “ประชาชน”  ว่าหมายความว่าอย่างไร  หรือหมายถึงใคร  มีแต่การนิยามความหมายคำว่า “บุคคล” และ “นิติบุคคล” ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       
       ดังนั้น  เวลาพูดถึงประชาชนในทางสังคม และการเมืองไทย  จึงเกิดความเข้าใจสับสนว่า ผู้พูดหมายถึงใคร  ถ้าดูตามนิยามข้างต้น  ประชาชนในสังคมและการเมืองไทย  หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่พ่อค้า  ข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ และนักบวช   เวลาเขาพูดถึงความอ่อนด้อยของประชาชน  ไม่ว่าในทางการเมือง หรือสังคม  เขาคงหมายความถึงความอ่อนด้อยของคนไทย  ที่ไม่ใช่ผู้คนกลุ่มดังกล่าว  แต่หมายถึงกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่  เป็นเกษตรกร  ผู้ใช้แรงงาน  ผู้ให้บริการ และอื่นๆ
       
       การที่ประเทศนี้ยังเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เพราะ “ประชาชนยังไม่พร้อม” ซึ่งข้ออ้างนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณแล้ว  จนปัจจุบันประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา  ด้วยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐบาลให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงเป็นเวลา  12  ปี  ข้ออ้างนี้ก็ยังคงมีอยู่จนถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็ยังอ้าง “ความไม่พร้อมของประชาชน”
       
       หากพิจารณาพัฒนาการทางการเมืองของไทยจะเห็นได้ว่า  ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมาตลอด  ขณะที่ทหาร  ตำรวจ  พ่อค้า และนักบวชส่วนใหญ่วางตัวเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา  ประชาชนส่วนใหญ่ร่วมกันขับเคลื่อนทางการเมือง  โดยการขับไล่รัฐบาลเผด็จการรัฐสภา  นักการเมืองทรราช  การปฏิรูปนโยบายพลังงาน  รวมทั้งการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       
       ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการขับเคลื่อนของประชาชน  ครั้นผู้นำทางทหารยึดอำนาจรัฐถ่อยมาได้  ผู้ที่เข้าเสวยสุขในตำแหน่งและอำนาจใน “แม่น้ำห้าสาย” ส่วนใหญ่กลับไม่ใช่ประชาชนผู้ต่อสู้เรียกร้องยอมตายเพื่อรักษาอธิปไตยของปวงชน
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้  ประชาธิปไตยในสังคมไทยจะฝากความหวังไว้กับประชาชนส่วนใหญ่  หรือพ่อค้า  ทหาร  ตำรวจ และนักบวชกันแน่
       
       หากจะให้นิยามคำว่า “ประชาชน” ในสังคมไทย  น่าจะนิยามได้ว่า “ประชาชน หมายถึง พลเมืองที่มักจะไม่ได้ในสิ่งที่อยากจะได้ และมักจะได้ในสิ่งที่ไม่อยากจะได้” เช่น อยากจะได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรม และนักการเมืองที่เป็นปากเสียงแทนประชาชนก็ไม่ได้ กลับได้รัฐบาลสถุล และนักการเมืองถ่อยที่ไม่อยากจะได้แทน เป็นต้น

คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
 จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 พฤษภาคม 2558