ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดงานวิจัย 2 ฉบับ ฉายภาพหายนะ จากป่าต้นน้ำถึงท้องทะเลไทย ใครคือตัวการ?  (อ่าน 720 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
 ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ภาพของภูเขาหัวโล้น และภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำในภาคเหนือ ภาพของเรือประมงประเภทเรืออวนลาก อวนรุน และภาพของลูกปลาตัวเล็กๆ ในท้องทะเลไทย ได้ถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานานไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ
       
       แต่ภูเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพด เรืออวนลาก อวนรุน ลูกปลาตัวเล็กๆ เหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร ทั้งยังพบข้อมูลใหม่ๆ ว่า กรณีประเทศไทยถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป หรือ EU นั้นก็ล้วนมีความเกี่ยวพันเป็นเรื่องเดียวกันชนิดแยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปไม่ได้
       
       ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้กระทั่งปัญหาเรือประมงผิดกฎหมาย การล่อลวงแรงงาน ไปจนกระทั่งประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ที่เป็นการก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวพันกันอย่างน่าประหลาดใจ เป็นความเกี่ยวพันกันโดยมีเงาทะมึนของกลุ่มทุนยักษ์ทาบทาอยู่เบื้องหลัง เป็นกิจการ เป็นผลกำไรของกลุ่มทุนใหญ่ที่เดิมพันด้วยป่าต้นน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย
       
       “ASTVผู้จัดการภาคใต้” นำงานวิจัย 2 ฉบับ คือ 1.“การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” และ 2.“การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิต” มาเผยแพร่ต่อให้ผู้ที่สนใจได้ค้นพบคำตอบว่า เหตุใดป่าต้นน้ำทางภาคเหนือจึงถูกทำลายย่อยยับ พอๆ กับท้องทะเลไทย ที่นับวันจะมีทรัพยากรร่อยหรอลงไปทุกที
       
       งานวิจัย 2 หัวข้อนี้ จัดทำโดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ซึ่งขณะนี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยทั้ง 2 หัวข้อไว้ในเว็บบล็อกhttp://www.salforest.com/knowledge/trashfish-research-aug ซึ่ง “ASTVผู้จัดการภาคใต้” รวบรวมทั้ง 2 หัวข้อมาไว้ให้ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเนื้อหาได้อย่างสะดวก ณ ที่นี้ ติดตามได้จากเนื้อหาด้านล่าง
       
      **** ‘ซีพี’ ‘เบทาโกร’ ‘ธ.ก.ส.’ ความหวังการปลูกข้าวโพดอย่างยั่งยืนที่น่าน
       
       ผลการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” ชี้ว่า โรงงานผลิตอาหารสัตว์รายสำคัญอย่างเครือซีพี และเบทาโกร รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีศักยภาพในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ อันเกิดจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างไม่เหมาะสมในจังหวัดน่าน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุด จึงสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ปฏิบัติตามได้
       
       งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยคณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ได้ดำเนินการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณตลอดระยะเวลาครึ่งปี ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ จังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และตำบลป่าแลวหลวง ในอำเภอสันติสุข และตำบลอวน ในอำเภอปัว เพื่อจัดทำแผนที่และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน รวมถึงค้นหาศักยภาพในการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน
       
       คณะวิจัยพบว่า พฤติกรรมของเกษตรกรรายย่อยซึ่งเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชัน ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกแล้ว พื้นที่ชันส่วนใหญ่ยังเกิดจากการบุกรุกป่าต้นน้ำสำคัญ ซึ่งจากการคำนวณเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ระหว่างปี 2545 และ 2556 พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่วิจัยในลุ่มน้ำยาว-อวน-มวบ ในตำบลป่าแลวหลวง พงษ์ ดู่พงษ์ และอวน ร้อยละ 60 หรือ 35,440 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งได้มาจากการบุกรุกป่า
       
       นอกจากนี้ การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ชัน ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น ปัญหาอุทกภัยอันเนื่องมาจากการมีพื้นที่ป่าลดลง ปัญหาหมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่ เนื่องจากที่ดอนไม่สามารถใช้วิธีไถกลบแบบพื้นที่ราบได้ และปัญหาต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีเกินขนาด โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่า ที่ดอนต้องใช้ยาฆ่าหญ้ามากกว่าปริมาณปลอดภัยที่ระบุบนฉลาก
       
       อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ จากการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน คณะวิจัยพบว่า เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจการต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ชันมีอำนาจต่อรอง และทางเลือกน้อยกว่าเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ราบ เพราะผลผลิตที่ได้คุณภาพด้อยกว่า แต่ต้นทุนในการผลิตกลับสูงกว่า ดังนั้น เพียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญที่มีอำนาจในการต่อรองสูงหันมาให้ความสำคัญต่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ก็มีโอกาสที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างการใช้ “มาตรฐานการรับซื้อที่ยั่งยืน” ในต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีสามารถปรับปรุงระดับความยั่งยืน ลดผลกระทบเชิงลบจากการเพาะปลูกได้อย่างต่อเนื่อง เช่น บทเรียนจากมาตรฐาน Coffee and Farmer Equity Practices (C.A.F.E.) ของสตาร์บัคส์ และนโยบายการอนุรักษ์ป่าของ Golden Agri-Resources (GAR) ในประเทศอินโดนีเซีย
       
       จากการวิเคราะห์ข้อมูล คณะวิจัยพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญที่มีอำนาจในการต่อรองสูงอันดับแรก คือ โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตตัวจริงที่มีอยู่น้อยราย ซึ่งปัจจุบัน เบทาโกร และเครือซีพี เป็นผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายสำคัญจากผลผลิตทั้งหมดในพื้นที่วิจัย ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% และ 28% ตามลำดับ ดังนั้น หากโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุดเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิต เช่น ห้ามเปลี่ยนป่าไม้เป็นพื้นที่การเกษตร ห้ามใช้สารเคมีเกษตรในระยะเกิน 5 เมตร จากแหล่งน้ำถาวร ก็จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพ
       
       นอกจากโรงงานอาหารสัตว์แล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกรายที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรได้ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดน่าน โดย ธ.ก.ส. ควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่ขอกู้เงิน เช่น เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิมาแสดงในการขอรับสินเชื่อตามนโยบายที่กำหนดไว้ แทนที่จะกำหนดแต่เฉพาะเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องต่อความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก เช่น ใช้เพียงบุคคล 5 คน มาค้ำประกันเงินกู้แบบกลุ่มก็กู้ได้ ดังที่ใช้จริงอยู่ในขณะนี้
       
       อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วน ไม่ต่างจากการขับเคลื่อนไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในธุรกิจอื่น นอกจากผู้เล่นรายใหญ่จะสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการกำหนดมาตรฐานการรับซื้อ หรือปล่อยกู้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้าง “ซีเอสอาร์” ที่ยั่งยืนกว่าการทำกิจกรรมซีเอสอาร์แบบครั้งเดียวจบ ผู้เล่นก็ควรให้เวลาที่เพียงพอ และอุดหนุนทรัพยากรแก่เกษตรกรรายย่อยในการปรับตัว เพื่อไม่ให้พวกเขาประสบปัญหาทางการเงินมากกว่าเดิม มิฉะนั้น อาจกลายเป็นว่า ความยั่งยืนและการฟื้นฟูระบบนิเวศต้อง “แลก” มาด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่ลง       
                   
         
       **** ทางรอดประมงไทย อยู่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
       
       ผลวิจัย “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิต” พบ 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำประมงที่ยั่งยืนในประเทศไทย คือ การใช้ปลาเป็ดเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาป่นโดยขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่มาทั้งของผู้ผลิตปลาป่น และผู้ผลิตอาหารสัตว์ กฎหมายที่ล้าหลัง และการบังคับใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการขาดกลไกมาตรฐานความยั่งยืนที่ดี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้
       
       งานวิจัยชิ้นนี้ริเริ่มโดยอ็อกแฟม ประเทศไทย เพื่อศึกษาและสร้างแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมผลิตปลาป่น ศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลาป่นที่มีต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในสงขลา และเพื่อกระตุ้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ให้เกิดการสนทนา ร่วมกันพัฒนาระบบการผลิตแ ละยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น
       
       ผลจากการลงสำรวจพื้นที่ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ การศึกษากฎหมายและมาตรฐานที่มีอยู่ คณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ได้ข้อสรุปว่า โรงงานผลิตปลาป่นในสงขลา ยังรับซื้อ “ปลาเป็ด” (trash fish) ซึ่งปัจจุบันไม่ได้หมายถึงปลาที่ตลาดไม่ต้องการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกปลาชนิดต่างๆ และปลาขนาดเล็กที่ชาวประมงจับโดยลากอวนไปบนพื้นทะเล ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้จนเน่าเปื่อยใต้ท้องเรือจนกว่าเรือจะเทียบท่า ไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์
       
       การใช้ปลาเป็ดนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน เพราะสร้างแรงจูงใจให้การจับปลาเกินขนาดจากการใช้อวนลาก และอวนรุนตาถี่ยังคงดำเนินต่อไป ข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดสงขลา พบว่า อวนลากที่ใช้ส่วนใหญ่มีขนาด 20 มิลลิเมตร อวนรุนอยู่ที่ขนาด 10 มิลลิเมตร ขณะที่ขนาดอวนที่เหมาะสมซึ่งแผนแม่บทการจัดการทะเลไทยแนะนำไว้คือ 40 มิลลิเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่การสัมภาษณ์เรือประมงพบข้อมูลว่า การออกเรือแต่ละเที่ยวจะได้ปลาเศรษฐกิจกลับมาราว 4 ตัน แต่ได้ปลาเป็ดถึง 6.5 ตัน หรือร้อยละ 62 ของสัตว์น้ำทั้งหมดที่จับได้ โดยปลาเป็ดจะถูกเก็บไว้ใต้ท้องเรือ 1-2 สัปดาห์ จนกว่าเรือจะเทียบท่า ทำให้ปลาเหล่านี้เน่าเสีย ผู้รับซื้อจึงนำไปผลิตเป็นปลาป่นเกรดต่ำ
       
       นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่รับซื้อปลาป่นโดยพิจารณาแต่เรื่องคุณภาพในการกำหนดราคารับซื้อ คือ ดูเพียงค่าโปรตีน ความสด และกลิ่น แต่ไม่สนใจวิธีการจับปลามาเป็นวัตถุดิบผลิตปลาป่น ก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระบบนิเวศ และชุมชนเช่นกัน เพราะเมื่อปลาป่นที่ผลิตจากปลาเป็ดที่ถูกจับมาด้วยอวนลาก และอวนรุนที่ขูดพื้นทะเลและทำลายระบบนิเวศต่างๆ ยังคงขายได้ โดยปลาเป็ดทั้งหมดราว 25,000 ตันต่อปี ที่เทียบท่าที่สงขลา สามารถขายให้ผู้ผลิตปลาป่นทั้งใน และนอกจังหวัดได้ทั้งหมด เรือประมงจำนวนไม่น้อยจึงยังคงจับปลาอย่างไม่ยั่งยืนต่อไป
       
       ยิ่งกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรฐานเกี่ยวกับการทำปลาป่นที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกต้นตอสำคัญของปัญหาการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน เริ่มจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ที่ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ เช่น กำหนดว่าต้องจับกุมผู้กระทำความผิดได้ซึ่งหน้า ทำให้เกิดความยากลำบากในการจับกุม แม้ว่าจะมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะที่ระบบรับรองปลาป่น ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความยั่งยืนชุดแรก และมาตรฐานเดียวของไทยเกี่ยวกับการผลิตปลาป่น ก็เป็นระบบแบบสมัครใจ มิได้มีการบังคับจากภาครัฐ และมีช่องโหว่คือ เป็นระบบการรับรองตัวเอง ชาวประมงเป็นผู้บันทึกข้อมูลประเภทของปลาที่จับได้ แหล่งที่มา ประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้ลงในสมุดบันทึกการทำประมงด้วยตัวเอง เพื่อให้โรงงานผลิตปลาป่นนำไปใช้ โดยกรมประมงทำหน้าที่เพียงตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึกเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ เพราะขาดแคลนเครื่องมือตรวจสอบ เช่น เครื่องมือระบุพิกัดผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยบอกได้ว่าเรือประมงจับปลาตรงจุดที่รายงานจริงหรือไม่
       
       ปัจจุบัน มีผู้ผลิตอาหารสัตว์เพียงรายเดียวคือ ซีพีเอฟ ที่เข้าร่วมระบบมาตรฐานรับรองปลาป่นของไทย โดยมีมาตรการให้ค่าพรีเมียมกิโลกรัมละ 3 บาท สำหรับปลาป่นที่มีเอกสารตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปลาป่นเข้าร่วมมาตรฐานนี้
       
       วัตถุดิบหลักในการผลิตปลาป่นในสงขลาคือ เศษปลาที่ได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น โรงงานซูริมิ โรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา คิดเป็น 79,965 ตันหรือ 80% ของวัตถุดิบทั้งหมด วัตถุดิบที่เหลือเป็นปลาเรืออีก 20% หรือ 20,250 ตัน รับซื้อจากเรือประมง หรือพ่อค้าคนกลางจากทั้งในสงขลาเอง และจังหวัดอื่นๆ โดยจากปริมาณปลาเรือ (ปลาที่ไม่ได้ขนาด) ทั้งหมดมีประมาณ 7,641 ตัน หรือ 38% ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 12,609 ตันหรือ 62% มาจากสงขลาเอง ในจำนวนนี้เป็นปลาเป็ด 5,760 ตัน
       
       เมื่อผลิตปลาป่นเสร็จแล้ว ทีมวิจัยพบว่า ผลผลิตปลาป่นทั้งจังหวัดถูกขายต่อไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 10% โบรกเกอร์ 24% และโรงงานอาหารสัตว์ 66% โดย บ.ซีพีเอฟ เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ที่สุดในบรรดาโรงงานอาหารสัตว์ โดยรับซื้อ 29.7% ของผลผลิตทั้งจังหวัด รองลงมาได้แก่ บ.เบทาโกร 11.5% บ.ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ 7.2% บ.ลีพัฒนาอาหารสัตว์ 5.9% และ บ.กรุงไทยอาหารสัตว์ 2.1%
       
       จากปลาเป็ด 5,760 ตัน ที่เข้าสู่โรงงานปลาป่นสงขลาในแต่ละปี นำไปผลิตปลาป่นเกรด 3 ได้ราว 1,527 ตัน ในจำนวนนี้ บ.ซีพีเอฟ รับซื้อไป 37.6% หรือ 575 ตัน พ่อค้าคนกลาง 42.7% หรือ 652 ตัน และฟาร์ม 19.7% หรือ 300 ตัน
       
       ในภาพรวมของผลผลิตปลาป่นจากสงขลา บ.เบทาโกร และ บ.กรุงไทยอาหารสัตว์ รับซื้อปลาป่นที่ตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบได้ 100% ส่วน บ.ซีพีเอฟ ตรวจสอบได้ 81% บ.ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ ตรวจสอบได้ 47% และ บ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบได้ 36%
       
       จากการศึกษาประวัติศาสตร์การทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศเปรู ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค ทีมวิจัยพบว่า ให้บทเรียนอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยในการก้าวไปสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการแก้ไข และบังคับใช้มาตรฐานที่สามารถกำกับดูแลผู้มีส่วนได้เสียได้ทุกฝ่าย อย่างเช่น ในเปรูที่มีการใช้ส่วนผสมระหว่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมง ทั้งในเรื่องการกำหนดโควตาการจับปลาของเรือแต่ละลำ ขนาดตาอวน กฎระเบียบการจับปลา การปิดพื้นที่ตามฤดูกาล และสิทธิในการตกปลา ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วม และการกำกับดูแลกันเองของอุตสาหกรรมอย่างทั่วถึง เช่น การให้อุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการกำหนดโควตาการจับปลา และแก้ไขปัญหา
       
       นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีการบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลเปรูมี IMARPE หน่วยงานวิจัยทางทะเลสำคัญ ช่วยเหลือในการค้นคว้าวิจัยเพื่อประกาศระดับการจับปลาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ และโควตาการจับปลาในแต่ละปี นอกจากนี้ เรือประมงพาณิชย์ทุกลำในประเทศเปรูยังต้องติดตั้งเครื่องติดตามผ่านดาวเทียมบนเรือ เพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณการจับปลาได้ว่าเป็นไปตามโควตาที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการละเมิดกฎการปิดพื้นที่จับปลาตามฤดูกาลเพื่อการพื้นฟูสัตว์น้ำหรือไม่
       
       ที่สำคัญก็คือ กรณีของเปรูชี้ว่า ถ้าหากการทำประมงอย่างยั่งยืนมี “เหตุผลทางธุรกิจ” ที่ชัดเจน จะยิ่งทำให้ผู้เล่นมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐาน และระบบที่ยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดโควตาการจับปลาของเรือแต่ละลำในเปรู ทำให้เรือประมงต้องวางแผนการออกเรือให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อให้เรือประมงสามารถจับปลาและนำขึ้นเทียบท่าได้ในขณะที่ปลายังคงความสด สามารถนำไปผลิตปลาป่นคุณภาพสูง ซึ่งทั้งช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดน้ำมัน และทำให้ขายได้ราคาดี จึงมีกำไรสูงขึ้น
       
       หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการทำประมงในประเทศไทยทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันเร่งพัฒนาลดช่องว่างต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงมีการควบคุม และตรวจสอบที่รัดกุม ระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากในประเทศไทย
       

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 พฤษภาคม 2558