กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
11
"หมอชลน่าน" สั่งปรับ 100,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังใน จ.สมุทรปราการ หลังปฏิเสธรับผู้ป่วยวิกฤติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นต่อมาภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

25 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ. ครั้งที่ 4/2567 ที่มีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงบทลงโทษ จากเหตุการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นจนภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

ที่ประชุมมีมติเห็นว่า จากการรับฟังพยานหลักฐานทั้งในส่วนของพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว

ดังนั้น เมื่อสถานพยาบาลได้รับการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการเพื่อนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน สถานพยาบาลจึงมีหน้าที่ในการตรวจคัดแยกลำดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และจะต้องปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้นแต่การปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการนำสิทธิการรักษาพยาบาลหรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาปฏิเสธ ไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้ ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 (1)แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 และข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

และเมื่อพิจารณาจากการกระทำครั้งนี้พบว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินโดยการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้มีการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อนำส่งถึงสองครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธทั้งสองครั้งและไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายใกล้ตาย เนื่องจากปัญหาระบบทางเดินหายใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและอำนาจหน้าที่ของสถานพยาบาล ประกอบกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการกระทำข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีมติให้ลงโทษปรับทางปกครองในอัตรา 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยการลงโทษปรับทางปกครอง กับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่สอง

ก่อนหน้านี้ กพฉ. เคยมีมติลงโทษปรับ 100,000 บาท ในอัตราที่สูงสูงสุด แก่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ถูกรถชนอาการสาหัส และภายหลังได้เสียชีวิต ซึ่งขัดต่อกฎหมายและนโยบายของนายแพทย์ชลน่าน ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาช่วยชีวิตตามมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สิทธิการรักษา และความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยปฏิบัติการพบเหตุการณ์การปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในลักษณะนี้สามารถแจ้งมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สพฉ.โทร.028721669 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

25 เม.ย. 2567
https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/594464
12
สระแก้ว - อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ กระทำอัตวินิบาตกรรมตนเองในบ้านพักที่ จ.สระแก้ว แม่บ้านเผยได้ยินเสียงปืนตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้แต่ไม่คิดจะฆ่าตัวตายเพราะไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความเครียด ขณะชาวบ้านในพื้นที่สุดรักพากันเรียกติดปาก "หมอบรรหาร"

วันนี้ (23 เม.ย.) ร.ต.อ.เสน่ห์ เดชสุภา พนักงานสอบสวนเวร สภ.เขาฉกรรจ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างสระแก้ว จุดอำเภอเขาฉกรรจ์ ว่าทเกิดเหตุฆ่าตัวตายโดยใช้อาวุธปืนที่บ้านเลขที่ 16 ม.5 ต.เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมแพทย์เวรโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ และพิสูจน์หลักฐานตำรวจภูธร​สระแก้ว

พบที่เกิดเหตุเป็นบ้านพักกลางสวนที่อยู่ติดกับสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ลักษณะ​เ​ป็นบ้านปูน 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด และยังพบว่าเป็นบ้านพักของนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

และจากการตรวจสอบภายในห้องนอนบนชั้นที่ 2 พบบนโซฟามีร่างผู้เสียชีวิตคือ นายบรรหาร ภู่ทอง สภาพนอนหงาย สวมเสื้อกล้ามสีน้ำเงิน นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ โดยมีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดที่ขมับขวา 1 นัด เลือดไหลเต็มโซฟาและพื้น ข้างลำตัวพบอาวุธปืนลูกโม่ขนาด .22 ตกอยู่ คาดว่าน่าจะเป็นการอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ตัวเอง และน่าจะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง

หลังเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบและเก็บรายละเอียดในที่เกิดเหตุแล้ว ได้มอบหมายให้กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตส่งโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ ก่อนส่งให้นิติเวชทำการผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้งที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

จากการสอบถามแม่บ้าน ทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น.ที่ผ่านมา "หมอบรรหาร" ได้เข้านอนตามปกติ และไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าเกิดความครียด หรือคิดจะทำร้ายตัวเอง

โดยก่อนเกิดเหตุตนได้อยู่ชั้นล่างของบ้าน กระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น.ที่ผ่านมาได้ยินเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 นัด แต่ไม่สงสัยอะไรและคิดว่าเป็นเสียงดังมาจากด้านนอกจึงเข้านอนตามปกติ

"กระทั่งช่วงเช้าเวลา 07.30 น.ซึ่งเป็นเวลาที่"หมอบรรหาร ตื่นนอน แต่ไม่เห็นออกมาจากห้องจึงขึ้นไปเคาะประตูแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงโทรศัพท์บอกญาติให้มาช่วยงัดประตูห้องและเมื่อเปิดประตูได้ถึงกับตกใจสุดขีด เมื่อเห็นหมอบรรหาร นอนเสียชีวิตอยู่บนโซฟา จึงรีบแจ้งตำรวจ และกู้ภัยเข้าตรวจสอบ" แม่บ้าน กล่าว

ส่วนสาเหตุการทำอัตวินิบาตกรรมของนายแพทย์บรรหาร เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้และจะต้องรอสอบแม่บ้าน และลูกๆ ของหมอบรรหาร ว่ามีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ หรือมีภาวะความเครียดจากเรื่องใด ส่วนจะเป็นฆาตกรรมหรือไม่นั้นขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ และต้องรอทำการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป

สำหรับนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ ปัจจุบัน​ยังดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาสระแก้ว

โดยนายแพทย์บรรหาร เป็นบุคคลที่ชาวบ้านในพื้นที่รักใคร่เนื่องจากเป็นคนอัธยาศัยดี จึงพากันเรียกติดปากว่า "หมอบรรหาร” ทำให้เมื่อเกษียณอายุราชการจึงเลือกที่จะพักอาศัยอยู่ใน จ.สระแก้ว และได้พักอยู่ที่บ้านสวนหลังดังกล่าวเพียงลำพังกับแม่บ้านวัย 50 ปี

23 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
13
วันที่ 24 เมษายน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ร.ต.อ.ปรินทร์ ส่วนบุญ รอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.นิคม นาชัยภูมิรอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.ชัยยุทธ ศักดิ์เพชร รอง สว.กก.สส.3ฯ กับพวก

จับกุมตัว น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อินทยาวงค์ อายุ 35 ปี ที่อยู่ 62/310 ซอยเสรีไทย 72 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.52/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น”

โดยก่อนการจับกุม สืบนครบาลได้รับข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลย่านพญาไท พบผู้ที่ใช้ชื่อว่า สุวรรณอำภา อินทยาวงศ์ ปลอมบัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งบัตรประจำตัวที่ปลอมขึ้นมานั้น เป็นบัตรรุ่นเก่าของคณะ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำบัตรดังกล่าวไปใช้ในการแอบอ้างตนว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และนำไปหลอกลวงเอาเงินจากคนไข้และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลหลายราย

โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบุคคลที่ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และไม่ใช่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลได้รับความเสียหาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบนครบาลได้ตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวคือ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อายุ 35 ปี ซึ่งมีหมายจับติดตัวของศาลแขวงราชบุรี โดยพฤติการณ์คือ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2563 ขณะที่ผู้เสียหายใช้เฟซบุ๊ก และได้มีบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “ข้อมูล ส่วนตัว” เพิ่มเพื่อน

จากนั้นเฟซบุ๊กดังกล่าว ทักข้อความมาพูดคุย และได้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อว่า น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ผู้เสียหายก็พูดคุยกันมาเรื่อยๆ จนได้คบหากัน โดย น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา จะเดินทางมาหาผู้เสียหายที่ อ.เมืองราชบุรี ทุกๆ สัปดาห์ ครั้งละประมาณ 2 วัน แล้วก็จะนั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ โดยบอกผู้เสียหายว่าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลดังกล่าว และบางสัปดาห์ผู้เสียหายจะขับรถไปรับที่หน้าโรงพยาบาล แล้วก็ไปส่งด้วย เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่คบหากัน

ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2566 ผู้เสียหายและ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ได้เลิกรากันแต่ปรากฏว่าช่วงก่อนที่จะเลิกกันนั้น น.ส.สุวรรณอำภาได้มาขอให้ผู้เสียหายหาเงินจำนวนประมาณ 300,000 บาท อ้างกับผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง

ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจึงเอาเงินผู้เสียหายโอนให้ไปจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท ต่อมาผู้เสียหายพบว่า น.ส.สุวรรณอำภาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และไม่ได้เป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลขออนุมัติหมายจับ และสืบนครบาลได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาขณะที่แต่งกายในชุดบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และมีชื่อของผู้ต้องหาเป็นภาษาอังกฤษที่หน้าอกเสื้อด้านซ้ายอีกด้วยได้ จากนั้นได้นำตัวส่ง สภ.เมืองราชบุรี ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีประวัติการต้องโทษหรือเคยถูกจับมาก่อน

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายอาชีพต่างๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และฝากเตือนประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวง หลอกให้รัก ผ่านการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้จะมีการนัดพบเจอทำความรู้จักกันแล้ว แต่มิจฉาชีพยังสามารถมีวิธีการในการหลอกลวงปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรืออวดอ้างหน้าที่การงานที่ดี ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงได้... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4543803

25 เมษายน 2567
มติชนออนไลน์
14
วิจัยเผย ‘กุ้งชุบแป้งทอด’ คืออาหารปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Environmental Research ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์โปรตีนที่ผู้คนรับประทานกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน พบว่า กุ้งชุบแป้งทอด คือเมนูที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด โดยมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่โดยเฉลี่ย 300 ชิ้นต่อมื้อ

เมนูที่มีไมโครพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 รองลงมาคือ นักเก็ตที่ทำจากพืช หรือแพลนต์เบส ซึ่งมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนไม่ถึง 100 ชิ้นต่อมื้อ ขณะที่อันดับ 3 คือนักเก็ตไก่ ตามด้วยชิ้นปลาคลุกแป้งขนมปัง เนื้อกุ้งสด และปลาแพลนต์เบสคลุกแป้งขนมปัง

อย่างไรก็ตาม อาหารที่เป็นโปรตีนที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยที่สุดคือ อกไก่ เนื้อสันนอก และเต้าหู้ และเมื่อเปรียบเทียบผลข้อมูลการบริโภค นักวิจัยคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่ในสหรัฐมีโอกาสได้รับไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยระหว่าง 11,000-29,000 ชิ้นต่อปี และอาจมากสุดถึง 3.8 ล้านชิ้นต่อปี

ขณะที่ในหมวดหมู่ผักและผลไม้ นักวิจัยพบว่า แอปเปิลและแครอท คือผลไม้และผักที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด มีมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อกรัม โดยไมโครพลาสติกขนาดที่เล็กที่สุดถูกพบในแครอท แต่ไมโครพลาสติกชิ้นใหญ่ที่สุดถูกพบในผักสลัด ซึ่งถือเป็นผักที่ปนเปื้อนน้อยที่สุด

งานวิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าพบไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอย่างเนื้อสัตว์และผักที่นำมาตรวจสอบราว 90% และผักหรือผลไม้สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านรากและนำสารเคมีต่างๆ ไปอยู่ในก้าน ใบ เมล็ด และตัวผลไม้

ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำถึงการที่เราจะลดการรับไมโครพลาสติกได้ ประการแรกคือหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ถูกเก็บอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบพลาสติก และให้เลือกอาหารที่ถูกเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ภาชนะเคลือบ หรือฟอยล์ ประการที่สองคือสวมเสื้อผ้าหรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ประการที่สาม อย่านำอาหารใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกไปอุ่นในไมโครเวฟ แต่ให้เลือกอุ่นอาหารด้วยเตาหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ประการที่สี่คือรับประทานอาหารสดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และลดการซื้ออาหารแปรรูปสูงที่ห่อในพลาสติก

มติชนออนไลน์
25 เมษายน 2567
15
เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น?

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น? เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง

โดย หมอดื้อ หรือศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา​ ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ได้แจ้งลาออกจากการเป็น หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" มีผู้ติดตาม 3.5 แสนคน ระบุว่า

เรียนทุกท่านครับ เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน/เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ
 
ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4 และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่ม แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)


ด้าน "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการลาออกของหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" ระบุว่า

หมอธีระวัฒน์ลาออกจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง “อิสรภาพ” ในการพูดความจริง เดินหน้าต่อร่วมจัดเสวนา “อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด” หอศิลป์กรุงเทพ 3 พ.ค.นี้

ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยเหตุผลว่า

"เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ"

ขอให้กำลังใจแด่ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ได้มีความกล้าหาญและเสียสละในการตัดสินใจครั้งนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นชัยชนะในการประกาศอิสรภาพเพื่อพูดความจริงให้ได้ตรงประเด็นได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะ  "ศาสตราจารย์นายแพทย์"  ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท และในฐานะ "กลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง"

และการลาออกครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การทำหน้าที่ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาหายไป

เพราะวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะยังคงเดินหน้าและเคียงข้างในการนำเสนอความจริงและทางออกให้กับประเทศ ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต่อไป

26 เม.ย. 2024
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1123972
16
ข่าวสมาพันธ์ / เร่งผลิต “แพทย์” เพิ่ม เติมปัญหาใหม่หรือไม่?
« กระทู้ล่าสุด โดย story เมื่อ 21 เมษายน 2024, 12:17:17 »
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นร้อนในแวดวงสาธารณสุขไทยกับ “นโยบายการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มเข้าระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย” ของ  “กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)”  กำลังดำเนินไปท่ามกลางความเห็นต่างของบุคลากรในวงการแพทย์ที่ภาครัฐจำต้องรับฟัง เพราะข้อท้วงติงสำคัญก็คือ  “ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัญหาแพทย์ลาออก”  และการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ที่เน้น  “ปริมาณ”  อาจส่งผลกระทบในเชิง “คุณภาพ”  อีกด้วย
แม้อาจจะไม่เหมือนกันนัก แต่ก็ต้องถือว่าใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “เกาหลีใต้” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เมื่อบรรดาแพทย์อินเทิร์นและแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ทั่วเกาหลีใต้จำนวนนับหมื่นคนรวมตัวยื่นใบลาออก และนัดหยุดงานต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านนโยบายการผลิตแพทย์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งวางเป้าเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์จาก 3,000 คนในปัจจุบัน เป็น 5,000 คน ในปี 2025 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 10,000 คน ในปี 2035 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์และรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัย เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้มีจำนวนแพทย์ต่อประชากรต่ำมากเมื่อเทียบประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ

ขณะที่สหภาพและสมาคมแพทย์แย้งว่า นโยบายของรัฐบาลนั้น นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดแล้ว การเพิ่มจำนวนนี้ยังอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์และบริการของแพทย์ในอนาคตด้วย เนื่องจากสาเหตุที่แพทย์ไม่เพียงพอนั้น เป็นเพราะการกระจุกตัวในบางหน่วยงาน เช่น ห้องฉุกเฉินซึ่งสภาพการทำงานแย่และรายได้ต่ำ

สำหรับประเทศไทย ผลจากสถานการณ์การลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งเครื่องนโยบายผลิตแพทย์ใหม่เข้าสู่ระบบอย่างเต็มกำลัง โดยค่าเฉลี่ยจำนวนการผลิตแพทย์ ณ ปัจจุบันอยู่ประมาณ 2,000-3,000 คนต่อปี ซึ่งส่งผลทำให้แพทย์ต้องทำงานอย่างหนักตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยแพทย์ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้มากถึง 2,000 คนเลยทีเดียว

ทั้งนี้ นโยบายผลิตแพทย์ใหม่ขับเคลื่อนเต็บสูบ ตั้งแต่การยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งไม่เคยมีแพทย์ประจำ สธ. มีแนวทางให้มีแพทย์ประจำ รพ.สต. แห่งละ 3 คน โดยจะเติมบุคลากรแพทย์เข้าไปอยู่ใน รพ.สต.ทั้ง 8,500 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีแพทย์ 25,000 คน คอยประจำและหมุนเวียนการทำงานใน รพ.สต. แห่งละ 3 คน

หรือล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย พร้อมอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่ สธ. เสนอ

กล่าวสำหรับโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่  แพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณ์สุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการ จะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน

 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงมุ่งหวังให้แพทย์ที่ผลิตออกมาตามโครงการนี้ต้องกลับไปทำงานในพื้นที่ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เพราะฉะนั้น สธ. จึงวางแนวทางตั้งแต่ระบบการคัดเลือก คือคัดเลือกคนมาจากพื้นที่ หรือใช้กลไกการเรียนโดยเอาบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่นั้นมาต่อยอด เช่น พยาบาลที่จบปริญญาตรีแล้ว เป็นเส้นทางการผลิตแพทย์แบบใหม่ เป็น New Track มาเรียนต่ออีก 5 ปี

ทั้งนี้ จะมีการระบุชัดว่าบุคลากรตามโครงการต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ และสัญญาที่เขียนก็รองรับด้วยว่าต้องไปอยู่ในพื้นที่

สำหรับปัจจุบันอ้างอิงข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนคณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณฯ 2561 - 2565 สำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้น 13,141 คน ดังนี้ ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน, ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,054 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,044 คน, ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน, ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ. ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน, ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ. ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน

โดยค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจริงใน 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาราว 200 คน พร้อมปฏิบัติงานได้ใน เดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มีบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระงานและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เปิดเผยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่ 7.94 : 10,000 คน ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 6%

กล่าวได้ว่าสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2 ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8 ต่อ 10,000 คน เป็นต้น

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าปัจจจุบันปริมาณแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี หากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 30,000 กว่าคน ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้ขนาดเท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของแพทย์ ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่

แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุและผลดังที่ สธ.แจกแจงเอาไว้ก็นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์เป็นไปอย่างที่ว่าจริงๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มักปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์มาก

อย่างไรก็ดี เกิดคำถามว่าการเพิ่มอัตราการผลิตแพทย์มีความจำเป็นมากเพียงใด? จำนวนปริมาณแพทย์ที่เร่งผลิตจะมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่? โดยล่าสุด  “ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์”  อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  “นายเศรษฐา ทวีสิน”  เรียกร้องให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์ โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กพร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ของ สธ. ระบุ เรื่อง  “ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ”

สาระสำคัญของความเห็นต่างดังกล่าว ประกอบด้วย

 “1. ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ มากเกินไป

2. ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจากปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

และ 3. ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ”

ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานอิสระ ประกอบด้วย 1. ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ 2. นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ 3. ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ และ 4. ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

“เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คน ซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม” ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ระบุ

โดยก่อนหน้านี้  นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร  ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ได้แสดงความเป็นห่วงหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์จำนวนมากซึ่งหวั่นเรื่องคุณภาพ โดยได้ยื่นหนังสือถึงแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 เรื่องขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากมีข้อห่วงใยการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ จะเกิดการผลิตแพทย์มากเกินไป จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพเพราะเมื่อเร่งผลิตมากเกินไป

นพ.ประดิษฐ์อธิบายและให้เหตุผลว่า ในปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากพูดถึงกรณีบางโรงพยาบาล เพราะเหตุใดจำนวนแพทย์กลับไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการปัญหาการกระจายตัวของแพทย์

สำหรับสถานการณ์ปัญหาภาระงานแพทย์หนักจนลาออกเป็นปรากฎการณ์ ถามว่าการแก้ปัญหาการผลิตแพทย์จะตอบโจทย์หรือไม่ หรือเน้นการกระจายแพทย์ให้เหมาะสมนั้น ได้คำตอบว่าการกระจายแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ การเร่งผลิตแพทย์ต้องเข้าใจว่ามีส่วนหนึ่งลาออกไปด้วยทำให้สูญเสียบุคลากรมาก ในส่วนนี้ต้องหาทางออกในการป้องกันปัญหาการสูญเสียบุคลากรด้วย

 ที่สำคัญคือภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 

โดยเนื้อหาที่ สพศท. ได้ยื่นหนังสือเสนอต่อ แพทยสภา มีหลายประเด็น อาทิ 1.จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เป้าหมายอัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่

2. ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ

3. ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้ ประมาณ 50 ปี หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือ 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม

4. หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี ซึ่งสหรัฐฯ รับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม โดยศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงาน เป็นการลดมาตรฐาน หรือกรณีหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เป็นต้น

5. คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน

6. ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย

7.แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการรับรองหรือไม่รับรองปริญญา คณะ หลักสูตรใด และยังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้

8. แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

 สุดท้าย ต้องยอมรับว่าปรากฎการณ์แพทย์ลาออกเป็นผลมาจากปัญหาภาระงานล้น นโยบายเร่งผลิตแพทย์นับเป็นวาระร้อนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นการเติมบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เข้าสู่ระบบ แต่อาจไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตสมองไหลแพทย์ลาออก เพราะโจทย์ข้อใหญ่ของการเร่งผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ต้องไม่ใช่เพิ่มเพียงปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพด้วย

20 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

17
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม หวั่นปริมาณสวนทางกับคุณภาพ พร้อมเสนอ 2 ทางออก

วันที่ 17 เมษายน 2567 นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา โพสเฟซบุ๊ก อำนาจ กุสลานันท์ เผยหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ พร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ รวมถึงข้อเสนอทางเลือกการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ๆ

โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อความว่า

เรื่อง ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ

เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 ผู้บริหาร สธ.ได้แถลงข่าวการขออนุมัติงบประมาณ 150,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแพทย์เพื่อส่งไปประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คนและกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้โดยในวันที่ 20 กพ. 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 37,000 ล้านบาท แล้วนั้น

เนื่องจากมีเพื่อนแพทย์จำนวนมากได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้มา ดังนั้นคณะทำงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วย

1.ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
2.นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์
3.ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ
4.ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

จึงได้จัดทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อขอทราบความเห็นจากแพทย์ในกลุ่มต่าง ๆ มีแพทย์ตอบแบบสอบถามมา 1,485 ราย โดยเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นดังนี้

1.ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ มากเกินไป

2.ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจาก ปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

3.ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ

จึงเรียนมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คนซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม

ขอแสดงความนับถือ

ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา

17 เมษายน 2567
18
สธ. เร่งสอบ ‘ปาร์ตี้โฟมสงกรานต์’ ป่วยเข้าโรงพยาบาล 65 คน พบใช้น้ำคลองมาสาด แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอาหาร หรือ น้ำ แต่จะทราบผลในจันทร์นี้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปเล่นปาร์ตี้โฟมในงานสงกรานต์ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาในวันที่ 17 เม.ย. พบว่าเด็กเข้ารับการรักษาอาการท้องเสีย เวียนหัว ไข้สูง อาเจียน และ มีผื่นขึ้นตามตัว ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่า 65 ราย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า เบื้องต้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการสอบสวนโรคพร้อมขยายผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงในช่วง 3-7 วัน โดยพบว่าการตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test)

ซึ่งในการวินิจฉัยโรค เมื่อมีผลบวกแล้วกับไวรัสโรต้า (Rotavirus) จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยันผล ทาง สสจ.สุพรรณบุรี จึงเก็บตัวอย่างส่งไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว คาดว่าจะทราบผลในวันจันทร์นี้ (22 เม.ย.)

จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอาเจียนร้อยละ 93.33 รองลงมา ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว และปวดท้อง โดยมีประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ที่เดียวกัน ระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. ที่ผ่านมา

สสจ. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำเพื่อส่งตรวจแล็บ ส่วนผลการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พบว่าคือการสัมผัสจุดเสี่ยงร่วมกันภายในงานสงกรานต์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอาหาร-น้ำ ที่นำมาจำหน่ายในงาน การสัมผัสฝอยละอองน้ำที่นำมาเล่นสาดน้ำ หรือฝอยละอองน้ำที่ปล่อยจากท่ออุโมงค์น้ำ และปลายสายยางที่ใช้ผสมโฟม ซึ่งมีการใช้น้ำจากคลองในบริเวณที่จัดงานมาเล่นสาดกัน จึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจากฝอยละอองน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหาร หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาดภายในงานและทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้.

20 เม.ย. 2567
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8194755?utm_source=msn_news&utm_medium=footer_click
19
“อยู่ตามลำพัง” ปัญหาหนึ่งของ “สังคมผู้สูงวัย” เมื่อสถิติชี้จะมี “คนแก่” ที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว “เพิ่มขึ้น” นักวิชาการสะท้อน ผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวคือ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกมองข้าม

ปัญหาเรื้อรัง เพราะไม่ถูกวางแผนล่วงหน้า

เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “ไทย” ได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์” แล้ว แต่ปัญหาหนึ่งคือ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ “ตัวคนเดียว” โดยไม่มีญาติหรือลูกหลานดูแล นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทอดทิ้งคนแก่

แต่ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนมีลูกกันน้อยลง เลือกใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลถึงกัน และจากรายงาน “ภาพสะท้อนสถานการณ์การของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว” ของ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า...

สัดส่วนของ “คนแก่” ที่อาศัยตามลำพัง “เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด” ในปี 2564 คือมีผู้สูงอายุที่ “อยู่ตัวคนเดียว” ถึง1.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนผู้อายุทั้งหมด

และอีก 21% อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส บวกกับด้วยทุกวันนี้ “คนไม่นิยมมีลูก” ทำให้แนวโน้มผู้สูงอายุในอนาคต จะเป็นคนที่ต้องอยู่ตามลำพังโดยไม่มี“ลูกหลาน” เพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาของการที่ “คนแก่” อยู่คนเดียว แน่นอนคือ “สุขภาพ” ที่ไม่มีใครคอยดูแล บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิต โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็มี อย่างที่เราเคยเห็นกันในสื่อ

รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวันสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สะท้อนปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องเจอให้ทีมข่าวฟังว่าคือ “การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารธสุข หรือบริการสังคมอื่นๆ” และคำตอบได้จากผู้สูงอายุเหล่านี้คือ...

“ประมาณ 1 ใน 4 ของคำตอบ คือไม่มีคนพาไป มันก็เป็นคำถามนึงว่า แล้วเราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ เข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือบริการทางสังคม จะทำยังไงกับคนกลุ่มนี้ดี”

แม้จะตระหนักถึงปัญหาเรื่องผู้สูงอายุในภาพรวม แต่เราไม่เคยนิยามว่า “กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว” แบบไร้ญาติขาดมิตรนั้นเป็น “กลุ่มเปราะบาง”

เอาเข้าจริง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ “ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”แต่ในเมื่อไม่ถูกนิยามว่าเป็น“กลุ่มเปราะบาง” อย่างคนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง “เราอาจไม่ได้ตระหนักว่า พวกเขาจะอยู่ได้ไหม”

การจะดูแลเหล่าผู้สูงอายุ จริงๆ อาจต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุอย่าง “การลงทะเบียนผู้สูงอายุ” ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอีก 5 ปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุ

อาจจะต้องขึ้นทะเบียนสำหรับ“คนอาศัยอยู่คนเดียว” เพราะเมื่อแก่ตัวขึ้น ความเสี่ยงเรื่องการดูแลมันจะตามมา คนกลุ่มนี้เองที่ภาครัฐและประชาสังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

“ปัญหาหนึ่งอย่างที่เจอเยอะเลยคือ ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งมากกว่าร่างกาย บางคนถึงร่างกายจะดี แต่มีเรื่องซึมเศร้า ความเหงา ความกังวลที่จะอยู่คนเดียว”

“ความกังวล”คืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ลำบาก เรื่องที่กังวลส่วนมากคือ “ความปลอดภัย” ผู้เฒ่าหลายคน อยากจ้างคนมาช่วยดูแล แต่ก็ห่วงเรื่องการถูกทำราย หรือลักขโมย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการเสนอไปในเชิงนโยบายว่า “ควรจะหาหน่วยงานหลัก” ที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ และบรรจุให้เป็นภารกิจหลัก ในทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือในชุมชน

“เพื่อนบ้าน-ชุมชน” ระบบช่วยเหลือคนแก่

จากสภาพสังคมที่เห็น ดูเหมือนหลายคนในอนาคต คงต้องใช้ชีวิตวัยแก่อย่างโดดเดียว คำถามที่น่าสนใจคือ เรามีระบบที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้ แม้จะไม่มีครอบครัวดูแลได้หรือเปล่า?

กูรูรายเดิมช่วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ตอนนี้บ้านเรามีบริการที่เรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือพาไป” เป็นบริการ ที่พาไปโรงพยายาบาล พาไปทำธุระข้างนอก แล้วก็นำกลับมาส่งที่บ้าน

แต่ด้วยที่ว่าบริการรูปแบบนี้ “มันยังไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ” มีเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นบริการที่ดี และพอจะช่วยแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการการรักษาของคนกลุ่มนี้ได้ในระดับนึง

ส่วนในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังในบ้านนั้น บางพื้นที่ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่อง “การบริการชุมชน” โดย ดร.ศุทธิดา อธิบายแนวคิดเหล่านี้ไว้เพิ่มเติม

“มีแนวคิดที่ว่า คนที่อยู่คนเดียวเนี่ย เราอยากให้เขาได้อยู่บ้านเดิม ชุมชนเดิมได้ โดยที่เขาไม่ต้องพึ่งพาใครได้ยาวนานที่สุด หมายความว่าแม้จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีครอบครัวเลย แต่ก็จะมีการดูแลโดยชุมชน”

ต่างกับ “ยุโรป” ที่จะเห็นว่า ส่วนใหญ่มักเลือกไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือซื้อบริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะว่า “สวัสดิการและเงินบำนาญของเขาสูง” พวกเขาจึงสามารถดูแลตัวเองในตอนแก่ได้

แต่ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มมีโมเดล ที่เรียกว่า “การดูแลระยะยาว” ในบางพื้นที่ คือมีการติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือกล้องวงจรปิดที่ส่งสัญญาญตรงไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น

“เขาจะมีกริ่งเรียก แล้วมันจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานในชุมชน ให้รับรู้ว่าบ้านนี้ ผู้สูงอายุกำลังมีปัญหา”

อีกอย่างที่ทีมวิจัยของ ดร.ศุทธิดา กำลังผลักดันคือ “การดูแลโดยเพื่อนบ้าน” หมายถึงในหนึ่งชุมชน จะมีการตั้งผู้นำที่รับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ เก็บข้อมูลว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกี่คน คนไหนที่อาศัยอยู่คนเดียว แล้วก็ให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นคนช่วยดูแล “เพราะเพื่อนบ้านจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยเหลือได้เร็วที่สุด ตรงนี้ก็อาจช่วยได้”

อาจารย์เสริมอีกว่า จริงๆ แล้วการดูแลเรื่องเหล่านี้ ทางภาครัฐทำมาตลอด อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนคอยดูแลเรื่องเหล่านี้

แต่จากการลงพื้นที่วิจัยก็พบปัญหาหนึ่ง คือจำนวนบุคลากรน้อย และภาระงานที่เยอะ ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้ถูกดูแลอย่างทั่วถึง อีกเรื่องคือ “ข้อมูลที่กระจัดกระจาย” ของแต่ละหน่วยงาน ถ้าตรงนี้สามารถบูรณาการรวมกันได้ ก็จะตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
14 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
20
เลขาธิการแพทยสภา เตือน "หมอ" ระวังออกใบความเห็นแพทย์หรือใบรับรองแพทย์เท็จหลังหยุดยาว เหตุนายจ้างตรวจเข้มการหยุดลูจ้าง พบ 5 ปัญหาปลอมใบรับรอง แนะเก็บต้นขั้วไว้ตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้แพทย์ระวังเรื่อง "ใบความเห็นแพทย์ (เท็จ) หลังวันหยุดยาว" โดยระบุว่า เนื่องจากการให้หยุดมีผลต่อการทำงานของคนไข้บางคน ในกรณีที่ป่วยจริงไม่มีปัญหา แต่ที่แพทยสภาเคยพบปัญหาจากใบความเห็นแพทย์เท็จเหตุดังนี้ กรณีวันหยุดยาวบริษัทห้างร้านจะเพ่งเล็งในการตรวจสอบ วันลาหยุดใน ใบความเห็นแพทย์ เป็นพิเศษ เกี่ยวกับการขาดงานของ ลูกจ้าง โดยเฉพาะห้างร้านที่เปิดในช่วงวันหยุด และการหยุดโดยเจ็บป่วยจะไม่ถูกหักค่าแรง จึงมักมีการตรวจสอบอย่างละเอียดกัน

แพทยสภาเชื่อมั่นว่าคุณหมอใช้วิจารณญาณและระมัดระวังในการให้หยุดให้เหมาะสมกับความเจ็บป่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่อาจพบคือ

1. มีการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุด ให้มากขึ้น ในใบรับรองแพทย์โดย พนักงาน เป็นเหตุให้มีการส่งไปตรวจสอบ ที่สถานพยาบาลและบางครั้งถามมาที่แพทยสภา ดังนั้นจึงต้องมีต้นขั้ว ที่ชัดเจนทุกครั้ง

2. มีการใช้ใบรับรองของเพื่อนพนักงานด้วยกันมาแก้ไขชื่อ หรือทำสำเนา ถ่ายเอกสารสีปลอม ซึ่งถือเป็นใบรับรองแพทย์เท็จ เมื่อตรวจสอบกับสถานพยาบาล ดังนั้นต้นขั้วที่สถานพยาบาลจึงสำคัญมาก

3. มีการไปซื้อใบรับรองแพทย์จากแหล่งปลอมต่างๆ ปั๊มตราสถานพยาบาล มีลายเซ็นแพทย์ปลอม อันนี้ตรวจสอบกับสถานพยาบาล ได้ และมีการตรวจอยู่ประจำ ทางแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผิดกฎหมายเอกสารเท็จอยู่แล้ว

4. มีการร้องขอแพทย์ ให้เพิ่มวันลาในโรคที่ไม่ควรหยุดยาว เพราะจะกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่มีรถมาทันในการทำงาน การออกต้องระวัง ขอให้แพทย์ยึดมั่นตามข้อเท็จจริง สงสารเขาอาจจะเป็นปัญหากับตัวเองได้

5. ขอให้ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเพราะมาทำงานไม่ทัน โดยไม่ได้ป่วยจริง อันนี้เข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์เท็จ มีคดีร้องจริยธรรมมาที่แพทยสภาด้วย โดยมีพยานเพื่อนพนักงานบอกว่าไม่ได้ป่วย ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้หมอถูกลงโทษได้ แพทย์ออกได้ตามวันจริงที่มาตรวจเท่านั้น
เชื่อว่าสถานการณ์ใบความเห็นแพทย์จะมีปัญหาหลังวันหยุดยาว ขอให้คุณหมอระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ คุณหมอเอง และถ้าเป็นคลินิก ต้องให้มีสำเนาไว้ทุกครั้งที่ตรวจสอบได้ทันที ถ้าพบใบรับรองแพทย์เท็จที่ใช้ชื่อคุณหมอ ให้แจ้งความและแจ้งนิติกร แพทยสภา (02-589-7700 , 02-589-8800) และ สถานพยาบาลที่ออกด้วย

ใบรับรองแพทย์เท็จ หรือปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย เตือนเพื่อนๆ พนักงาน อย่าหยุดจนเลยเวลา หลายรายถูกออกจากงานไม่คุ้ม

17 เม.ย. 2567 ผู้จัดการออนไลน์

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10