ผู้เขียน หัวข้อ: ระดมนักวิทย์ดำดิ่งสู่ก้นแอตแลนติกสำรวจ "ไททานิค"  (อ่าน 1787 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เรื่องราวของซากเรืออับปาง "ไททานิค" ที่ทอดกายสงบนิ่งอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกมานานเกือบร้อยปีกำลังจะกลับมาอีก ครั้ง เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์เตรียมดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรตรงจุดที่เรือไททานิคจม ลง เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และโบราณคดีนำมาสร้างเป็นแผนที่ 3 มิติของเรือไททานิคและเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก
       
       การสำรวจซากเรือไททานิคในครั้งนี้นับเป็นภารกิจวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของทีมนักสำรวจที่ร่วมกันระหว่างบริษัท อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic Inc.) และสถาบันสมุทรศาสตร์ วูดส์ โฮล (Woods Hole Oceanographic Institution) ในแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติการโดยออกเดินทางจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟาวแลนด์ แคนาดา ในวันที่ 18 ส.ค. นี้ และมีระยะเวลาทำงานทั้งสิ้น 20 วัน โดยมีเป้าหมายคือการสำรวจพื้นที่บริเวณ 3-4 กิโลเมตร ภายในซากเรือที่ยังเต็มไปด้วยศิลปวัตถุกองกระจัดกระจายอยู่นับร้อยๆ ชิ้น ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือที่ห่างจากชายฝั่งนิวฟาวแลนด์ราว 643 กิโลเมตร ระดับความลึกกว่า 4,000 เมตร
       
       "นับเป็นครั้งแรกที่เราปฏิบัติต่อซากเรือไททานิคในฐานะที่เป็นโบราณสถานด้วย วัตถุประสงค์ 2 ประการด้วยกัน อย่างแรกคือเพื่ออนุรักษ์มรดกที่อยู่ในเรือโดยเพิ่มเรื่องราวของไททานิคเข้า ไป และอย่างที่สองคือเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าเรือไททานิคอยู่ในสถานะใด กันแน่" เดวิด กัลโล (David Gallo) นักวิทยาศาสตร์จากวูดส์ โฮล และหัวหน้าทีมสำรวจในครั้งนี้เปิดเผยในเอพี
       
       ทั้งนี้ เรือไททานิคเป็นเรืออับปางที่โด่งดังมากที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่และหรูหราที่สุดในโลกในสมัยนั้น แต่ต้องอับปางตั้งแต่การเดินทางเที่ยวแรก โดยเรือไททานิคออกจากท่าเรือเมืองเซาท์แธมตันในอังกฤษ มุ่งหน้าสู่นิวยอร์กซิตี สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 1912 แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุชนกับภูเขาน้ำแข็งกลางมหาสมุทรแอตแลนติกจนทำให้ เรืออับปางลงสู่ก้นมหาสมุทรเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 1912 เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน
       
       ซากเรือไททานิคถูกพบครั้งแรกในปี 1985 โดยโรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) และทีมนักสมุทรศาสตร์จากนานาชาติ ซึ่งในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นการบันทึกภาพซากปรักหักพังของเรือและศิลปะวัตถุ ต่างๆ ที่อยู่ภายในเรือร่วมหลายพันชิ้น
       
       ต่อมาเจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องไททานิคได้นำคณะสำรวจลงไปเก็บข้อมูลและบันทึกภาพหัว เรือและท้ายเรือที่แยกออกจากกันในระหว่างที่เรือกำลังจม และครั้งสุดท้ายที่มีคณะเดินทางดำดิ่งสู่ก้นแอตแลนติกเพื่อสำรวจไททานิคคือ ในปี 2004 นำทีมโดยบริษัท พรีเมียร์ เอ็กซิบิชัน (Premier Exhibitions Inc.) ผู้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะวัตถุที่กู้ได้จากเรือไททานิค ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย
       
       ในการสำรวจที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นทีมแห่งความหวังของ นักโบราณคดี นักสมุทรศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์อีกหลากหลายสาขาที่ต้องการประเมินสภาพของเรือไททานิคให้ ได้ผลที่ดีที่สุด ซึ่งทีมสำรวจจะต้องผจญกับกระแสน้ำและความดันใต้ทะเลลึกที่แสนจะโหดร้าย
       
       กัลโลระบุว่าในขณะที่ไททานิคกำลังเสื่อมสภาพลงในอัตราที่ไม่มีใครรู้ได้ การเดินทางสำรวจครั้งนี้จึงนับว่าเป็นภารกิจที่เร่งด่วนมาก
       
       "เราเห็นบริเวณที่คล้ายกับเป็นดาดฟ้าชั้นบนของเรือชักจะเริ่มบางลง แล้ว ผนังเรือก็บางลงด้วย และส่วนเพดานก็อาจพลังทลายลงมาได้ในพริบตา ซึ่งเราได้ยินมาว่าเรือนี้จะกำจัดสนิมออกไปโดยพังทลายลงมา ซึ่งไม่มีใครรู้เรื่องนี้แน่ชัด" กัลโล กล่าว
       
       สำหรับตัวช่วยสำคัญของทีมสำรวจครั้งนี้คือ เทคโนโลยีการสร้างภาพและอุปกรณ์ค้นหาวัตถุใต้น้ำด้วยคลื่นเสียงซึ่งไม่เคย ใช้กับซากเรือไททานิคมาก่อน เพื่อค้นหาบริเวณภายในเรือที่ยังมีสิ่งของ ศิลปะวัตถุ หรือทรัพย์สินมีค่าที่ถูกฝังอยู่ภายใต้ดินตะกอนมานานเกือบศตวรรษ
       
       "ที่จริงเรากำลังทำเหมือนกับว่าซากเรืออับปางเป็นสถานที่เกิดเหตุ อาชญากรรม ซึ่งเราต้องการรู้ให้ได้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในซากปรักหักพังนั้น ส่วนหัวเรือและท้ายเรือนั้นมองดูเหมือนอะไร" กัลโลเผย
       
       ทั้งนี้ ทีมสำรวจจะมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เรืออาร์วี ฌอง ชาโค (RV Jean Charcot) ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรเพื่อการวิจัยขนาด 76 เมตร โดยมีลูกเรือทั้งสิ้น 20 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำ อุปกรณ์ค้นหาวัตถุใต้น้ำด้วยคลื่นเสียงที่ทันสมัยที่สุด เทคโนโลยีการบันทึกภาพและคลื่นเสียง
       
       บิล แลนจ์ (Bill Lange) นักวิทยาศาสตร์จากวูดส์ โฮล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสำรวจที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ผลสำรวจในคราวนี้คือการเปรียบเทียบภาพจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้วกับภาพล่าสุด เพื่อประเมินความเสียหาย การสึกกร่อนและผุผังของซากเรือ
       
       "เรากำลังจะได้ไปเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และนั่นเป็นของขวัญที่ได้จากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากจากเมื่อ 25 ปีก่อน" แลนจ์เผย
       
       ด้านกัลโลยังบอกอีกว่าการสำรวจซากเรือไททานิคในทางวิทยาศาสตร์จะไม่ จบลงแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเขาแน่ใจว่าจะต้องมีการสำรวจครั้งต่อไปเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนี่เพิ่งจะเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการสำรวจเรือไททานิค เพื่อทำแผนที่ทางโบราณคดีของเรือไททานิคอย่างจริงจังเสียที

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 กรกฎาคม 2553