ผู้เขียน หัวข้อ: สพศท.จี้ “วิทยา” เช็กบิล สปสช.บริหารงบผิดปกติ  (อ่าน 1230 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
 สพศท.จี้ “วิทยา” แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความผิด กรณี สปสช.มีมูลความผิดปกติในการบริหารงบฯ ด้านเจ้าตัวเผยแต่งตั้ง 7 ธ.ค.นี้
       
       วานนี้ (6 ธ.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือ เรื่อง ขอให้พิจารณาความผิดและลงโทษเลขาธิการ สปสช.และคณะกรรมการ สปสช.ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปีงบประมาณ 2546-2553 ที่ได้ร่วมกระทำความผิด 7 ประเด็น ตามที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบและประเมินผล และยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.และยกเลิกคณะอนุกรรมการทุกชุดที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการชุดเดิม ต่อ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมี นายสง่า จงเพิ่มดำรงชัย เลขานุการส่วนตัว นายวิทยา รับหนังสือแทน
       
       พญ.ประชุมพร กล่าวว่า เมื่อ สตง.ได้ตรวสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสปสช.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546-2553 พบว่า การบริหารจัดการงบฯบริหารสำนักงานและงบฯกองทุน สปสช.ไม่ถูกต้องใน 7 ประเด็น จึงขอให้นายวิทยา ดำเนินการใน 5 เรื่องอย่างเร่งด่วน คือ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความผิดและลงโทษ เลขาธิการ สปสช.และคณะกรรมการชุดเดิมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันกระทำความผิด 7 ประเด็น 2.ให้ส่งผลตรวจไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อดำเนินการทางอาญาแผ่นดินต่อไป 3.ยกเลิกคณะอนุกรรมการทุกชุดที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการชุดเดิม 4.ยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.และ 5.เรียกคืนเงินงบประมาณที่เสียหายตามที่
สตง.ตรวจพบ ทั้ง 7 ประเด็น ทั้งนี้ หาก รมว.สธ.ไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามมาตรา 157 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
       
       พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะของสตง. เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2554 มีประเด็นหลัก ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด พบว่า มีการจ่ายเงินไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด คือ การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการ สปสช.ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้การปรับเงินเดือนเป็นไปตามผลงานเป็นระยะตลอดอายุสัญญา แต่ในการปฏิบัติงาน 1 ปี เลขาธิการ สปสช.คนปัจจุบันได้รับการปรับอัตราเงินเดือนจาก 171,600 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,900 บาท เป็น 200,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดทันที จึงถือว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.รวมถึงการจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการ ตรวจสอบสูงเกินกว่าที่มติครม.กำหนด โดยในปีงบประมาณ 2548-2553 ประธานอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุม อัตรา 20,000 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่อัตราเบี้ยประชุมที่ควรได้รับ คือ 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน อนุกรรมการชุดที่ 1 ได้รับ 16,000 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราที่ควรได้รับ คือ 6,000 บาทต่อคนต่อเดือน และอนุกรรมการชุดที่ 2 ได้รับ 16,000 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราที่ควรได้รับ 6,000 บาทต่อคนต่อเดือน รวมค่าเบี้ยประชุมอนุกรรมการตรวจสอบที่สูงเกินไป 3,105,000 บาท อีกทั้งการจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม โดยมีการจ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและใช้สัญญาฉบับเดียวแล้วต่อสัญญาไปเรื่อยๆ และบางปีไม่มีการทำสัญญาจ้างแต่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง
       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อสตง.มีข้อท้วงติงการดำเนินการของ สปสช.มาเช่นนี้ก็พร้อมน้อมรับ แต่ในบางเรื่องเป็นการตรวจสอบในปี 2546 ซึ่งบางเรื่องสปสช.ได้มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว และบางเรื่องเป็นการเรื่องของการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น ระเบียบบางอย่าง สตง.ตีความตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่สปสช.มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ จึงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จึงเป็นเรื่องของการตีความเท่านั้น ซึ่ง สปสช.ยินดีปฏิบัติตามที่ สตง.ทักท้วง แต่การท้วงติงทั้งหมดไม่มีเรื่องการทุจริต เพียงแต่เป็นเรื่องระเบียบปฏิบัติ และไม่มีการสั่งให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบการทุจริตแต่อย่างใด หากมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตนก็พร้อมชี้แจงในทุกประเด็น
       
       ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตามที่ สตง.ตรวจสอบ แล้ว โดยจะมีการเชิญตัวแทนอัยการมาร่วมในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับรายชื่อคาดว่าจะได้ในวันที่ 7 ธ.ค.ซึ่งตนจะลงนามตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการใช้งบประมาณปี 2555

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 ธันวาคม 2554