หมวดหมู่ทั่วไป > ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์

ปัญหาสาธารณสุขไทยกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(1/1)

seeat:
๑.ปัญหาในระบบสาธารณสุข
  ความขาดแคลนในด้านงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่และขาดมาตรฐานการแพทย์ของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีสาเหตุจากอะไรและควรแก้ไขอย่างไร?
 
๒.สาเหตุของปัญหา
มาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ที่จ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่เต็มจำนวนค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับมาจริลงแต่ถืออำนาจบริหารจัดการเงินเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.
 
๓. การแก้ปัญหา
 เสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีสุขภาพดี
 
 
ความเป็นมาของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข
 
 ในระยะแรกเริ่มของการประกาศใช้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ ประชาชนไทยเพียง๔๗ล้านคนเศษเท่านั้นที่ได้รับอานิสงค์จากหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือเริ่มแรกประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยโดยประชาชนต้องจ่ายเงินในราคาถูกคือจ่ายเพียง๓๐บาท. ในขณะที่คนยากจนจริงก็ไม่ต้องจ่ายเงินเลย จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการนี้ว่า"๓๐บาทรักษาทุกโรค"
 
ต่อมาในยุครัฐบาลคมช.ที่นพ.มงคล ณ สงขลาเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกการเก็บเงินครั้งละ๓๐บาท กล่าวคือให้ประชาชนไปรับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินเลย และโฆษณาว่าเป็นการรักษาฟรีทุกโรค
 
  อย่างไรก็ตามจากสถิติของสปสช.และกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเริ่มโครงการ๓๐บาทมนั้น จำนวนผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้นเป็น๒เท่าจากเดิม  แต่สปสช.โฆษณาว่าเป็นการช่วยให้ประชาชน"เข้าถึง" บริการมากขึ้น และเมื่อเลิกเก็บเงินครั้งละ๓๐บาทก็มีจำนวนผู้ป่วยมารับการรักษาพยาบาลมากขึ้นเป็น๓-๔เท่าตัว เนื่องจากประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินเลย
  มีแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนเล่าว่า ในชนบทที่ห่างไกล ไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ ประชาชนที่เจ็บป่วยจึงไปโรงพยาบาลไม่สะดวก รอจนป่วยหนักแล้วจึงจะ"เหมา"รถมาส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เมื่อต้องเหมารถแล้ว ก็จะมีญาติติดตามมาได้อีกหลายคน และเมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วก็เลยถือโอกาสให้หมอตรวจด้วยและขอยาไปเผื่อเวลาจะเจ็บป่วยด้วย(ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มขึ้น และทำให้ต้องจ่ายยาเพิ่มโดยอาจจะไม่จำเป็น เนื่องจากแพทย์ต้องสั่งจ่ายยาให้ประชาชนที่ยังไม่ป่วย แต่มาขอยาไปไว้ก่อนดังกล่าวนี้ เพราะถ้าแพทย์ไม่จ่ายตามที่ประชาชนขอก็จะถูกร้องเรียนอีก)
 
การให้ประชาชนมี"สิทธิ" ไปรักษาฟรีโดยไม่มีขอบเขตจำกัดนี้ นอกจากจะทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่สนใจที่จะดูแลรักษาสุขภาพ ไม่สนใจสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งไม่สนใจที่จะรักษาตนเองในการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ(ที่ควรจะดูแลตนเองและลูกหลานในปกครองได้) เนื่องจาก"ถือว่ามีสิทธิ์" ในการไปรับการรักษาฟรีได้ตลอดเวลา ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระงานมากขึ้น ต้องจ่ายยามากขึ้นโดยที่ประชาชนอาจไม่ได้ใช้ยาเหล่านั้นอย่างคุ้มค่า(เมื่อได้ฟรีๆก็ไม่ตระหนักในคุณค่าของยา) เอาไปทิ้งๆขว้างๆหรือเก็บสะสมไว้ จนยาอาจหมดอายุโดยไม่ได้ใช้ยานั้นในการรักษาความเจ็บป่วย
 
 สิ่งต่างๆดังกล่าวแล้ว ทำให้  โรงพยาบาลทุกระดับขาดเงินในการบริหารจัดการบริการสาธารณสุข การรักษาประชาชน รวมทั้งการพัฒนาโรงพยาบาล
 
ทั้งๆที่รู้ว่าการ"รักษาฟรี" จะทำให้โรงพยาบาลขาดเงินในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ต่างๆดังกล่าว แต่ก็ไม่มีรัฐมนตรีสธ.คนใดกล้าที่จะเลิกการรักษาฟรีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชน ๔๗ ล้านคนนี้ เนื่องจากกลัวจะเสียคะแนนนิยม ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ที่ไม่แก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดูแลรักษาและให้บริการประชาชน ที่ปรากฎมากขึ้นอย่างชัดเจน
 
  ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยที่นายจุรินทร์ฯเป็นรมว.สธ.นั้น กรมบัญชีกลาง(ที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ) เริ่มตระหนักว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นมาก จึงพยายามจะลดค่าใช้จ่าย โดยการหันไปจ่ายเงินให้โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยใน(นอนรักษาในโรงพยาบาล) ตามระบบDRG(Diseases Related Group) ตามแบบสปสช.( ซึ่งเป็นการจ่ายเงินตามราคากลางที่ต่ำกว่าต้นทุนการรักษาที่แท้จริงของโรงพยาบาล)
ฉะนั้นการจ่ายเงินแบบDRG ของกรมบัญชีกลางทำให้โรงพยาบาลขาดทุนมากขึ้น รพ.ขาดทุนเป็นจำนวนมากกว่า๘๐เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข และหลายโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดบุคลากร ขาดอาคารสถานที่เนื่องจากผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล   ผู้ป่วยต้องนอนตามระเบียง หน้าบันได หน้าห้องส้วมฯลฯ
 
  รพ.ขาดยาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมเนื่องจากสปสช.กำหนดให้ใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ล้าสมัยและไม่ได้ปรับปรุงมานานแล้ว  ถ้าแพทย์สั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักฯสปสช.ก็จะไม่จ่ายเงินค่ายาและค่ารักษาผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาล
   ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมกับอาการป่วยของผู้ป่วยแต่ละคน
 
 
   ในขณะที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดบุคลากร ขาดงบประมาณในการงดำเนินการ และขาดมาตรฐานที่ดีในการดูแลรักษาประชาชน แต่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในขณะนั้น ก็ไม่ได้สนใจที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ของกระทรวงสาธารณสุข มีแต่จะซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น โดยการถ่ายรูปขึ้นคัทเอ้าท์เอาไปติดตามที่สาธารณะและโรงพบาบาลสถานีอนามัยทั่วประเทศว่า"รักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ๔๘ล้านคน" เพื่อโฆษณาให้ประชาชนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาความขาดแคลนของโรงพยาบาลให้มากขึ้นอีก
 
โดยที่นายจุรินทร์ฯไม่ได้ลงมือแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเลย
 
  ต่อมาหลังจากการมีรัฐบาลใหม่จากพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศจะเก็บเงิน๓๐บาทจากประชาชนอีกครั้ง เพื่อที่จะทำให้ประชาขนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการรักษาสุขภาพ และจะทำให้โรงพยาบาลมีเงินมารักษาประชาชนเพิ่มขึ้น
 แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากมีมหาอุทกภัยครอบคลุมไปหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศ และทำให้กรุงเทพมหานครจมน้ำไปเกือบทั้งเมือง ทำให้ครม.ต้องหันมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ก่อน
 
  อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดสภาเพื่อพิจารณางบประมาณประจำปี๒๕๕๕ ซึ่งในการอภิปรายเรื่องงบประมาณนี้นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญสส.พรรคประชาธิปัตย์จังหวัดตาก ได้อภิปรายงบประมาณในวันที่๙พ.ย.นี้ มีใจความสำคัญว่า
 
"ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทำให้เกิดปัญหาจากการที่รัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาให้การรักษาฟรี๔๘ล้านคนได้เนื่องจากหลักการผิดธรรมชาติ จากการส่งเสริมให้ประชาชนมารักษาฟรีโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งทำให้ประชาชนชล่าใจตกอยู่ในความประมาท เพิกเฉยที่จะดูแลรักษาสุขภาพตนเอง เพราะถือว่าจะไปหาหมอขอยาหรือรักษาเมื่อไรก็ได้ จนทำให้มีการรักษาถึง๒๐๐ล้านครั้งต่อปี ในขณะทีี่มีหมอเพียง๑๐,๐๐๐คนในสธ. มีพยาบาลเพียง ๑๐๐,๐๐ กว่าคน แต่ต้องดูแลรักษาประชาชนในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลวันละ๕๐๐,๐๐๐ ครั้งทั่วประเทศ
 ทำให้โรงพยาบาลเกิดภาวะขาดทุนรุนแรง ขาดบุคลากรเนื่องจากภาระงานมากเกินกำลัง ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยขาดมาตรฐาน แพทย์พยาบาลไม่มีเวลาพอที่จะสนทนาปราศัยกับผู้ป่วยให้เข้าใจ เกิดปัญหาความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งๆที่บุคลากรเหล่านั้นก็ได้ทำการดูแลรักษาประขาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว
 แต่การได้รับงบประมาณจำกัด บุคลากรจำกัดอาคารสถานที่จำกัด จะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีปัญหาอย่างเดิมๆอีกต่อไป"
 
ผู้เขียนคิดว่าปัญหาดังกล่าวนี้จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ ถ้ารัฐบาลยังไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และบริหารจัดการอย่างเดิมๆหรือเพียงแต่แก้ปัญหาด้วยการเก็บเงิน๓๐บาทเท่านั้น
   แต่รัฐบาลกลับต้องจ่ายเงินให้เป็นค่าบริหารสปสช.และค่าจ้างบุคลากรสปสช.อย่างมากมายมหาศาล ทั้งๆที่สปสช.มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจ่ายเงินแทนประชาชนในการไปรับการรักษาพยาบาลเท่านั้น
 
  นับว่าสส.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญพรรคประชาธิปัตย์ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างชัดเจนและตรงกับความเป็นจริงที่สุด แต่ก็มีคำถามว่าในขณะที่พรรคปชป.เป็นรัฐบาลและรับผิดชอบบริหารกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทำไมไม่คิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้? ต้องรอมาบอกให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายแก้ไขเท่านั้นหรือ?
 
การที่จะแก้ไขปัญหาของระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขนี้จะทำไม่ได้เลย ถ้ายังไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ปล่อยให้สปสช.มาถืออำนาจสั่งการให้รพ.ของกระทรวงสธ.ทำงานตามกฎเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด โดยไม่ได้ยึดถือมาตรฐานทางการแพทย์และคุณภาพการรักษาผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ใช้"จำนวนเงิน"เป็นข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วย
 โดยที่สปสช.ได้้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพื่อจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วย กต่แทนที่สปสช.จะจ่ายเงินให้แก่รพ.ของสธ.ตามที่ได้รับมาจากสำนักประมาณ สปสช.กลับใช้อำนาจในการเป็นผู้"มีเงินในมือ" ทำการแบ่งเงินนั้นเก็บไว้ที่สำนักงาน เป็นจำนวนมาก และสปสช.จ่ายเงินให้แก่รพ.ไม่ครบตามที่ได้รับมาจริง  โดยสปสช.นำเงินที่แบ่งไว้นี้ไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆที่สปสช.กำหนดขึ้นเองอีกมากมายหลายโครงการ ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๕
 
 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชาชน ๔๗ล้านคนให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อให้สปสช.จ่ายเงินนี้ให้แก่โรงพยาบาล แต่แทนที่สปสช.จะจ่ายเงินเต็มจำนวนให้แก่โรงพยาบาล สปสช.กลับรวบอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่ได้จ่ายตามค่าหัวที่สปสช.ดังกล่าวข้างต้น จนทำให้โรงพยาบาลขาดเงินงบประมาณในการทำงานดังกล่าวแล้ว
 
  การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.แบบนี้เป็นการบริหารจัดการที่เรียกว่า"ผิดฝาผิดตัว" กล่าวคือกระทรวงสาธารณสุขมีภาระในการทำงานบริการประชาชน แต่ไม่ได้รับเงินงบประมาณ
ในการทำงาน และไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนบุคลากรที่ทำงานให้ด้วย รวมทั้งไม่สามารถกำหนดนโยบายในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ไม่สามารถเลือกยาที่จะรักษาผู้ป่วยได้ตามหลักวิชาการแพทย์ แต่ต้องทำงานตามหลักเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีเงินใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย
 
  โดยสรุปรพ.ของกระทรวงสาธารณสุข มีภาระงานในการดูแลรักษาประชาชนปีละ๒๐๐ ล้านครั้ง แต่ไม่มีเงินในการทำงาน ไม่สามารถกำหนดแนวทางในการรักษาผู้ป่วยได้เอง ไม่สามารถจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานได้เอง
  แต่ต้องยอมทำตามกฎเกณฑ์และการบังคับบัญชา(ทางพฤตินัย) ของสปสช.
 
ถ้าจะเปรียบเทียบการทำงานของกระทรวงสธ.กับกองทัพ ก็เปรียบได้ว่า. กองทัพบก(เปรียบเหมือนกระทรวงสธ.) มีภารกิจคือการทำสงครามสู้รบกับข้าศีก โดยมีทหารไว้รบกับข้าศึก แต่กองทัพไม่สามารถซื้อหาอาวุธสำหรับทหาร ไม่สามารถกำหนดยุทธวิธีในการสู้รบ   ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลตั้งองค์กรใหม่(เปรียบเสมือนสปสช.)เป็นผู้จัดการซื้ออาวุธ และกองทัพบกต้องฟังคำสั่งจากผู้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และทำตามที่ผู้ซื้ออาวุธบอกว่าจะต้องรบกับข้าศึกอย่างไร! โดยที่องค์กรนั้นก็ไม่ใช่ทหารผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์หรือเชี่ยวชาญชำนาญในการรบพุ่งแต่อย่างใด

   ท่านผู้อ่านลองคิดดูก็แล้วกันว่ากองทัพบก จะมีงบประมาณเพียงพอตามภารกิจหรือไม่? จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการสู้รบหรือไม่ ?ทหารจะมีขวัญและกำลังใจสู้รบหรือไม่?  กละสุดท้ายแล้วกองทัพบกจะรบชนะข้าศึกหรือไม่?
 
 โดยกองทัพบกก็เปรียบเสมือนกระทรวงสธ. และองค์กรใหม่ในการจัดซื้ออาวุธและสั่งให้กองทัพทำการสู้รบอย่างไรเปรียบเหมือนสปสช.ที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์ให้กระทรวงสธ.รักษาผู้ป่วยตามกฎเกณฑ์ของสปสช.ดังกล่าวแล้วนั่นเอง
 
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในระบบบริการด้านสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็คือการยุบสปสช.ให้เข้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสม และรพ.มีเงินในการดำเมนินการได้ตามมาตรฐาน
 
 ทั้งนี้สามารถทำได้โดยการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.๒๕๔๕ และทบทวนว่าถึงเวลาที่จะให้ใประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว เริ่มจากการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ. สามารถรักษาอาการเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ เพื่อที่บุคลากรทางการแพทย์จะได้มีเวลาที่จะรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
  เสมือนหนึ่งกองทัพที่ไม่ต้องมีองค์กรอื่น มาบังคับบัญชาหรือสั่งการในการดำเนินภารกิจของกองทัพ จึงจะสามารถรบชนะข้าศึกและป้องกันประเทศให้ปลอดภัยจากสงครามได้เช่นเดียวกัน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version