ผู้เขียน หัวข้อ: นักล่าวาฬชาวไวกิ้งคนสุดท้าย-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1226 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วิถีเก่าแก่ของชาวประมงในนอร์เวย์ใกล้จะถึงอวสาน

หมู่เกาะโลโฟเตนไกลขึ้นไปทางเหนือของนอร์เวย์เป็นโลกที่แปลกแยกเสมอมา มีโขดหินขรุขระเรียงต่อกันเป็นลูกโซ่ ดูคล้ายคาบสมุทรที่โผล่พ้นผืนทะเลนอร์วีเจียนเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล คติชนของชาวนอร์สเล่าไว้ว่า ทิวเขาที่ทอดยาวของหมู่เกาะโลโฟเตนเป็นที่สถิตของโทรลล์หรืออมนุษย์จำพวกหนึ่ง และฟยอร์ดของที่นี่ยังเป็นฉากหลังอันตรึงใจของตำนานการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ของชาวไวกิ้งอีกด้วย

                เช้าวันที่อากาศแจ่มใสในฤดูร้อน  ยาน บิเยิร์น คริสเตียนเซน กัปตันเรือวัย 69 ปี แล่นเรือในน่านน้ำแห่งนี้มานานกว่า 50 ปีแล้ว และเป็นเวลา 40 ปีที่เขาขับเรือกรำแดดกรำฝนลำเดียวกันนี้มาตลอด เป็นเรือไม้ลำเล็กๆที่มีชื่อว่า ยาน บิเยิร์น เช่นเดียวกับผู้เป็นกัปตัน ทั้งคนและเรือมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่เป็นนักล่าวาฬมือฉมังที่ทรหด ทั้งยังมีรอยแผลเป็นจากการกรำงานหนักในทะเลไม่ต่างกัน

                ช่วงฤดูล่าวาฬในฤดูร้อน คริสเตียนเซนอาจใช้ปืนฉมวกจับวาฬมิงก์ได้ราว 30-40 ตัว เขาจะชำแหละซากวาฬ                 บนดาดฟ้าเรือและขายเนื้อตรงท่าเรือ  ทั้งๆที่มีมาตรการห้ามล่าวาฬเชิงพาณิชย์ระดับนานาชาติ แต่ชาวนอร์เวย์ยังคงล่าวาฬมิงก์ต่อไป แม้จะทำกันในน่านน้ำของนอร์เวย์เท่านั้นก็ตาม

                ในช่วง 50 ปีที่ยึดอาชีพเป็นนักล่าวาฬ คริสเตียนเซนผ่านมรสุมมานักต่อนักทั้งในทะเลและบนบก ผ่านช่วงอันตรายของสงครามสิ่งแวดล้อมซึ่งนักเคลื่อนไหวโจมตีและจมเรือล่าวาฬของหมู่เกาะโลโฟเตนไปหลายลำ และเมื่อสองสามปีก่อน เขายังรอดจากอุบัติเหตุร้ายแรงบนเรือเมื่อปืนฉมวกเกิดตีกลับจนมือซ้ายพิการ แต่เขาก็กลับมาล่าวาฬในฤดูต่อมา

                ทว่าขณะที่เขามุ่งหน้าสู่สถานีล่าวาฬอันเก่าแก่ คริสเตียนเซนกลับรู้สึกว่าใช่เพียงอาชีพอันยาวนานของเขาที่กำลังปิดฉากลง แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตทั้งหมด เรือที่มีชื่อเดียวกับเขาลำนี้เป็นหนึ่งในเรือเพียง 20 ลำที่ออกล่าวาฬในฤดูนี้ ต่างจากจำนวนเกือบ 200 ลำซึ่งออกล่าวาฬในน่านน้ำตามแนวชายฝั่งทางเหนือของนอร์เวย์ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 อย่างลิบลับ 

                ปัจจัยที่กำลังปิดฉากการล่าวาฬไม่ใช่จำนวนวาฬที่เหลือน้อยหรือการเมืองอันซับซ้อนของการล่าวาฬ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือ เยาวชนนอร์เวย์ไม่ต้องการเป็นนักล่าวาฬอีกต่อไป ไม่เว้นแม้แต่คนที่เติบโตบนหมู่เกาะโลโฟเตนซึ่งเป็นที่มั่นของการเดินเรือ คนรุ่นใหม่พอใจกับงานกินเงินเดือนที่ปลอดภัยกว่าบนผืนแผ่นดินในเมืองห่างไกล  หรืองานในอุตสาหกรรมน้ำมันนอกชายฝั่ง พวกเขาจึงพากันละทิ้งถิ่นฐานบนเกาะไป

                ปลาค้อดยังคงชุกชุมและยังเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แต่เมื่อชาวประมงที่แก่ตัวลงขายโควตาจับปลาและวางมือ บริษัทอาหารทะลจะฉกโควตาเหล่านั้นไปในราคาสูงลิบ แม้แต่บุตรชายของชาวประมงที่ต้องการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวอาจประสบอุปสรรคเรื่องราคาค่าเรือและค่าโควตา ซึ่งมีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 750,000 ดอลลาร์สหรัฐ

                 “ธนาคารไม่อยากปล่อยเงินกู้สูงขนาดนั้นให้หรอกครับ ถ้าคุณอายุเท่าผม” โอด เฮลเก อิแซกเซน วัย 22 ปี บอก แต่เขาตั้งใจแล้วว่าจะดำเนินรอยตามวิถีดั้งเดิมของหมู่เกาะโลโฟเตนและเป็นชาวประมง เขาเป็นชาวเกาะเริสต์และกำลังกรุยทางสู่ธุรกิจนี้โดยอาศัยวิธีอันยากลำบาก นั่นคือการออกเรือเล็กไปตกปลาค้อดทีละตัวคล้ายกับที่บรรพบุรุษชาวไวกิ้งของเขาเคยทำเมื่อพันปีก่อน ความมุ่งมั่นเช่นนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีเพียงอิแซกเซนกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่งบนเกาะเริสต์เท่านั้นที่ตั้งใจจะยึดอาชีพชาวประมง

เมื่อเทียบกับอุตสาหรรมการจับปลาค้อดของโลโฟเตน และประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของหมู่เกาะแล้ว การล่าวาฬเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง “การออกเรือไปล่าวาฬนี่รุ่นปู่ผมไม่รู้จักหรอกครับ” โอดวาร์ แบร์นต์เซน วัย 83 ปีซึ่งเป็นชาวบ้านคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ของหมู่บ้านประมง เท้าความหลังให้ฟัง 

                ถ้าจะกล่าวว่าการล่าวาฬเชิงพาณิชย์เข้ามาถึงนอร์เวย์อย่างอึกทึกครึกโครมก็คงไม่ผิดนัก ในทศวรรษ 1860 ผู้ขนส่งสินค้าทางเรือและนักล่าวาฬฐานะมั่งคั่งชาวนอร์เวย์นาม สเวนด์ ฟอย์น ได้ประดิษฐ์ปืนฉมวกซึ่งเปลี่ยนโฉมการล่าวาฬและผลักดันนอร์เวย์ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของชาติที่ล่าวาฬในโลก

                แต่ในช่วงทศวรรษ 1870 ชาวประมงนอร์เวย์ต่างตำหนิว่า อุตสาหกรรมใหม่นี้เป็นตัวการที่ทำให้จับปลาได้น้อยลง เพราะเชื่อกันว่าวาฬช่วยต้อนฝูงปลาเข้ามาใกล้ชายฝั่ง เอื้อให้ชาวประมงที่มีเรือเล็กจับปลาได้ หลังจากเกิดข้อพิพาทรุนแรงระหว่างชาวประมงกับนักล่าวาฬหลายครั้งหลายครา  นอร์เวย์จึงเป็นชาติแรกที่ประกาศห้ามล่าวาฬในน่านน้ำของตนเป็นเวลา 10 ปีเมื่อปี 1904 นับแต่นั้น นักล่าวาฬเชิงพาณิชย์ของนอร์เวย์จึงออกไปหาขุมทรัพย์ในมหาสมุทรแอตแลนติก                       ตอนเหนือที่กว้างขวางกว่า รวมทั้งในน่านน้ำอันอุดมสมบูรณ์ของทวีปแอนตาร์กติกา

                สาเหตุเป็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการล่าวาฬมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ผลตอบแทนต่ำ ประกอบกับอีกหลายๆปัจจัย รวมทั้งข้อบังคับตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species: CITES) ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีตลาดส่งออกน้อย ดังนั้น แม้รัฐบาลนอร์เวย์จะกำหนดโควตาให้จับวาฬมิงก์ได้ปีละ 1,286 ตัว แต่ในทางปฏิบัติ นักล่าวาฬจับได้น้อยกว่านั้นมาก (เพียง 533 ตัวเมื่อปี 2011)

                 แม้แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนอร์เวย์บางกลุ่มที่ต่อต้านการล่าวาฬอย่างแข็งขันก็พอใจจะรอดูการเสื่อมสลายของวิถีชีวิตซึ่งคาดว่าจะหมดไปภายในหนึ่งชั่วอายุคน ในเมื่อจำนวนประชากรวาฬมิงก์ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือน่าจะมีมากถึง 130,000 ตัว การล่าวาฬจำนวนไม่มากนักในแต่ละปีของนอร์เวย์จึงนับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน นักล่าวาฬเองต่างหากที่กำลังจะสูญพันธุ์

เรื่องโดย รอฟฟ์ สมิท
กรกฎาคม 2556