ผู้เขียน หัวข้อ: บรรพบุรุษผู้ลี้ลับของมวลมนุษย์-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 1350 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ดีเอ็นเอที่สกัดได้จากกระดูกชิ้นเล็กๆ สร้างความตื่นตะลึงให้วงการมานุษยบรรพกาลวิทยา

ในเขตเทือกเขาอัลไตทางใต้ของไซบีเรีย ห่างจากชายแดนรัสเซียด้านที่ติดกับมองโกเลีย จีน และคาซัคสถาน                    ราว 350 กิโลเมตร คือที่ตั้งของถ้ำเดนีโซวาซึ่งดึงดูดผู้คนให้มาเยือนมาช้านาน ถ้ำนี้เคยเป็นที่พักพิงของคนเลี้ยงแพะในยุคหินใหม่ และคนเลี้ยงปศุสัตว์ชาวเติร์กในสมัยหลังที่ต้อนฝูงสัตว์เข้ามาอาศัยหลบไอหนาวของไซบีเรีย นักโบราณคดีผู้ศึกษาถ้ำเดนีโซวาในปัจจุบันจึงต้องขุดลึกลงไปใต้ชั้นมูลแพะหนาๆ กว่าจะถึงชั้นตะกอนที่สะสมตัวกันอยู่ คูหาหลักของถ้ำมีเพดานสูงรูปโค้ง ใกล้ยอดเพดานมีช่องให้แสงอาทิตย์ส่องลงมา ทำให้บรรยากาศดูขรึมขลังราวกับอยู่ในโบสถ์

                ตรงปลายถ้ำมีคูหาเล็กๆอยู่ด้านข้าง ณ จุดนี้เองที่วันหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2008 อะเล็กซานเดอร์ ซึยบันคอฟ นักโบราณคดีหนุ่มชาวรัสเซีย ขุดลงไปในชั้นตะกอนที่เชื่อกันว่ามีอายุราว 30,000 ถึง 50,000 ปี และพบกระดูกชิ้นเล็กๆ เข้าชิ้นหนึ่ง ลักษณะมีขอบโค้ง ผิวขรุขระ ขนาดและรูปร่างพอๆกับเม็ดกรวด ในเวลาต่อมา นักมานุษยบรรพกาลวิทยาคนหนึ่งซึ่งผมพบที่ถ้ำเดนีโซวาพูดถึงกระดูกชิ้นนั้นว่าเป็น “แค่ฟอสซิลดาดๆ ไม่ได้เรื่องอะไรหรอกครับ” ซึยบันคอฟเก็บสิ่งที่เขาขุดพบใส่ถุงแล้วหย่อนลงกระเป๋าเพื่อนำกลับไปให้นักบรรพชีวินวิทยาที่ค่ายพักแรมดู

                กระดูกชิ้นนั้นยังมีรายละเอียดทางกายวิภาคศาสตร์พอให้นักบรรพชีวินวิทยาระบุได้ว่า เป็นชิ้นส่วนจากปลายนิ้วของไพรเมตชนิดหนึ่ง กล่าวให้เจาะจงลงไปก็คือเป็นชิ้นส่วนกระดูกบริเวณข้อปลายของนิ้วก้อย เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีไพรเมตชนิดอื่นใดนอกเหนือไปจากมนุษย์อาศัยอยู่ในแถบไซบีเรียเมื่อ 30,000 ถึง 50,000 ปีก่อน ไม่ว่าเอปหรือลิง  จึงสันนิษฐานได้ว่าฟอสซิลนี้เป็นร่องรอยของมนุษย์สายพันธุ์หนึ่ง และเมื่อดูจากพื้นผิวข้อต่อที่ยังเชื่อมกันไม่สนิท มนุษย์คนนี้น่าจะตายตั้งแต่อายุยังน้อย บางทีอาจมีอายุเพียงแปดขวบเท่านั้น

                อะนาโตลี เดเรวีอันโค หัวหน้าคณะขุดค้นอัลไต คิดว่า กระดูกชิ้นนี้น่าจะเป็นของมนุษย์ โฮโม เซเปียนส์ อย่างเราๆนี่เอง ก่อนหน้านี้เคยมีการพบศิลปวัตถุอันวิจิตรงดงามในชั้นตะกอนดังกล่าว  อาทิ สร้อยข้อมือเส้นงามทำจากหินขัดเงาสีเขียว ซึ่งจะเป็นฝีมือใครไม่ได้ นอกเสียจากมนุษย์สมัยใหม่ แต่ดีเอ็นเอจากฟอสซิลชิ้นหนึ่งที่พบในถ้ำใกล้ๆกันก่อนหน้านั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล กระดูกชิ้นนี้จึงอาจเป็นของนีแอนเดอร์ทัลเช่นกัน

                เดเรวีอันโคตัดสินใจผ่ากระดูกออกเป็นสองส่วน แล้วส่งส่วนแรกไปยังห้องปฏิบัติการด้านพันธุศาสตร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย จนถึงบัดนี้เขายังไม่เคยได้รับข่าวคราวจากกระดูกส่วนแรกนี้เลย เขานำกระดูกส่วนที่สองบรรจุซองให้คนนำไปส่งถึงมือสวันเต แพโบ นักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการที่สถาบันมานุษยวิทยาเชิงวิวัฒนาการมักซ์พลังค์ในเมืองไลพ์ซิก ประเทศเยอรมนี ที่นี่เองที่เกิดจุดพลิกผันอันน่าตื่นใจของกระดูกนิ้วก้อยจากถ้ำเดนีโซวา

                แพโบเป็นชาวสวีเดนและขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอโบราณระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะดีเอ็นเอมนุษย์  เมื่อปี 1984 เขาแยกดีเอ็นเอมัมมี่อียิปต์ได้สำเร็จเป็นคนแรก ต่อมาเมื่อปี 1997 เขายังเป็นคนแรกที่สามารถแยกดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ซึ่งสาบสูญไปกว่า 25,000 ปีก่อนหน้ายุคของฟาโรห์อียิปต์

                ตอนที่แพโบได้รับพัสดุจากเดเรวีอันโค ทีมงานของเขากำลังขะมักเขม้นอยู่กับการหาลำดับดีเอ็นเอชุดแรกจากทั้งจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ดังนั้น กว่ากระดูกนิ้วก้อยจากรัสเซียจะเป็นที่สนใจของโยฮันส์ เคราเซอ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักวิจัยอาวุโสในทีมของแพโบ  ก็ล่วงเข้าปลายปี 2009 เขาสันนิษฐานเหมือนคนอื่นๆว่า กระดูกชิ้นนี้น่าจะเป็นของมนุษย์สมัยใหม่ยุคแรกๆ

                เคราเซอและลูกศิษย์ชื่อฟู่เฉียวเหมย์ สกัดไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอหรือเอ็มทีดีเอ็นเอ(mitochondrial DNA: mtDNA) ของกระดูกนิ้วมือดังกล่าวออกมา  เมื่อทั้งสองเปรียบเทียบลำดับดีเอ็นเอที่ได้กับลำดับดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบันและมนุษย์                 นีแอนเดอร์ทัลแล้วก็ต้องวิเคราะห์ใหม่อีกครั้ง เพราะผลที่ได้จากการวิเคราะห์ครั้งแรกนั้นออกจะเหลือเชื่อ

                 ระหว่างที่แพโบไปประชุมที่ห้องปฏิบัติการโคลด์สปริงฮาร์เบอร์ที่เกาะลองไอแลนด์ เคราเซอเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการและเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่สามารถให้คำอธิบายต่างออกไปแสดงความเห็น แต่ทุกคนต่างคิดตรงกับเขา เขาจึงโทรศัพท์เข้ามือถือของแพโบ “โยฮันส์ถามว่าผมนั่งอยู่หรือเปล่า” แพโบเท้าความหลังให้ฟัง “พอผมตอบว่าเปล่า เขาก็บอกให้ผมหาเก้าอี้นั่งเสียก่อน”

                เคราเซอเองถือว่าวันนั้นเป็น “วันที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิตผมในทางวิทยาศาสตร์เลยละครับ” ดูเหมือนว่าเศษกระดูกนิ้วชิ้นนั้นจะไม่ใช่ของมนุษย์สมัยใหม่และไม่ใช่ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลด้วย แต่เป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน

เดือนกรกฏาคม ปี 2011 สามปีหลังจากซึยบันคอฟขุดพบเศษกระดูกชิ้นนั้น อะนาโตลี เดเรวีอันโค จัดสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ขึ้นที่ค่ายโบราณคดีห่างจากถ้ำเดนีโซวาไม่กี่ร้อยเมตร เดเรวีอันโคต้อนรับนักวิจัย 50 คน ซึ่งมีแพโบรวมอยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้เดินทางมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ผู้ลึกลับนี้ควรจะอยู่ตรงจุดไหนในสาแหรกตระกูลมนุษย์และเข้ามาอยู่ในไซบีเรียได้อย่างไร

                หนึ่งปีก่อนหน้านั้น มีการพบฟอสซิลฟันกรามสองซี่ซึ่งมีดีเอ็นเอคล้ายของกระดูกนิ้ว ซี่แรกปะปนอยู่กับฟอสซิลอื่นๆจากถ้ำเดนีโซวาซึ่งเก็บรักษาไว้ที่สถาบันของเดเรวีอันโคในโนโวซีบีสค์  ฟันซี่นี้มีขนาดใหญ่กว่าฟันมนุษย์สมัยใหม่และฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล แต่มีขนาดและรูปร่างคล้ายฟันของมนุษย์สกุล โฮโม รุ่นโบราณกว่านั้นมากซึ่งอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกาเมื่อหลายล้านปีก่อน ซี่ที่สองพบเมื่อปี 2010 ในคูหาเดียวกับที่พบกระดูกนิ้ว โดยพบใกล้ก้นชั้นตะกอนเดียวกันซึ่งมีอายุ 30,000 ถึง 50,000 ปี เรียกว่าชั้น 11

                ฟันซี่ที่สองมีขนาดใหญ่กว่าซี่แรกเสียอีก มีพื้นที่หน้าตัดสำหรับบดเคี้ยวใหญ่เป็นสองเท่าของฟันกรามมนุษย์ทั่วไป ใหญ่เสียจนเบนเซ วีโอลา นักมานุษยวิทยาบรรพกาลที่สถาบันมักซ์พลังค์ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นฟันของหมีถ้ำ กระทั่ง ผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่านี่เป็นฟันของมนุษย์จริง หรือถ้าจะเจาะจงลงไปก็คือเป็นของมนุษย์เดนีโซวัน (Denisovan) ตามชื่อที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มใช้เรียกบรรพบุรุษสายพันธุ์ใหม่ของเรา

เรื่องโดย เจมี ชรีฟ
กรกฎาคม 2556