ผู้เขียน หัวข้อ: ความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น  (อ่าน 1352 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.สุดสาย ตรีวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ได้นำเสนอผลงานและรายงานเกี่ยวกับ การสร้างความความเข้มแข็งในระบบอาหารท้องถิ่น (Local food system) ของประเทศไทย (Strengthening Local Food Systems in Thailand: School Lunch Program And Small And Micro-Community Enterprises) ในการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ “International workshop on strengthening local food systems for sustainable agriculture in Asia” จัดโดย Food and Fertilizer Technology Center for the Asian and Pacific Region ประเทศไต้หวัน ร่วมกับ The National Agricultural Cooperative Federation ประเทศเกาหลี ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลี

ในที่ประชุมดังกล่าว ได้หยิบยกตัวอย่างโครงการที่ส่งเสริมการเพิ่มอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนผ่านบทบาทของภาคเอกชนและภาครัฐบาล รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ต่อการส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับระบบอาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาระบบอาหารท้องถิ่นของประเทศไทย
 
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นภาคเอกชนหนึ่งที่มีนโยบายชัดเจนสอดคล้องและดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการเพิ่มอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนมีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ นำไปสู่ความเข้มแข็งยั่งยืนของชุมชน เช่น โครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย และโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นต้น
 
ความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดจากการสร้างงานสร้างอาชีพของซีพีเอฟ ปรากฏชัดเจนจากเกษตรกรรายย่อยกว่าหมื่นราย ที่สามารถดำรงชีพด้วยอาชีพเกษตรกรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้มาก
 
จากแนวคิดของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วยการนำระบบงานส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร ที่เรียกว่า Contract Farming มาดำเนินงานใน 2 รูปแบบคือ การประกันราคาและการส่งเสริม การเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี 2518 ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ด้วยโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่กระทง เป็นโครงการแรก และมีเกษตรกร เข้าร่วมโครงการกว่า 200 ครอบครัว ต่อมาจึงได้ขยายพื้นที่โครงการไปอีกหลายจังหวัด จนครบทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ และได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทำให้ในปัจจุบันมีสมาชิกใน “โครงการ Contract Farming” ทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย โดยการเลี้ยงสัตว์ครอบคลุมทั้ง ไก่กระทง ไก่ไข่ และสุกร
 
ทั้งนี้ ซีพีเอฟจะเป็นอำนวยความสะดวกในการจัดหาให้พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยา และวัคซีน ซึ่งมีคุณภาพสูงให้กับเกษตรกร ตลอดจนให้ความรู้ คำแนะนำปรึกษา การสนับสนุนเทคโนโลยีต่างๆ และการร่วมวางแผนการผลิต โดยทีมนักวิชาการของบริษัท
 
ขณะที่โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าก็อยู่ในแนวคิดเดียวกัน โดยซีพีเอฟได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากส่วนราชการ อำเภอพนมสารคาม และธนาคารกรุงเทพ เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ให้มีโอกาสได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก การดำเนินงานของโครงการ จัดเป็นระบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ทำให้การพัฒนาอาชีพ ของเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ  เกษตรกรทั้งหมดต่างมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างแข็งขัน ทำให้การเลี้ยงสุกรของหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าเติบโต และขยายกิจการขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ จากเมื่อเริ่มต้นโครงการมีสุกรแม่พันธุ์รวม 1,500  ตัว จนถึงปัจจุบันมีแม่พันธุ์กว่า  7,000 ตัว ขณะเดียวกัน จากคนที่ไม่มีแม้รายได้ วันนี้เกษตรกรที่นี่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 80,000 บาทต่อครอบครัว

พื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ก็กลับอุดมสมบูรณ์สามารถเพาะปลูกพืชไร่  ไม้ผล ยางพารา  และมีสภาพแวดล้อมที่ดี จากการนำเอามูลสุกรหลังการบำบัดด้วยระบบแก๊สชีวภาพ (Biogas) มาบำรุงดิน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้ามีการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยสุดในประเทศไทย
 
สำหรับความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่นที่เชื่อมโยงผ่านเยาวชน ก็คือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่นอกจากจะช่วยลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนแล้ว โรงเรียนในโครงการยังสามารถจัดสรรรายได้ เป็นค่าอาหารกลางวันนักเรียน ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนก็มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ติดตัว นำเทคนิคความรู้ที่ได้รับกลับไปถ่ายทอดสู่พ่อแม่ผู้ปกครองได้อีก
 
โครงการนี้มีรูปแบบที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ การสนับสนุนพันธุ์ไก่รุ่นแรก อาหารสัตว์ และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวบาลของบริษัทตลอดระยะเวลาการเลี้ยงไก่ไข่ในแต่ละรุ่น เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถสร้างผลผลิตไข่ไก่ในโรงเรียนได้สำเร็จ โดยนำผลผลิตส่วนหนึ่งมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน และนำบางส่วนออกจำหน่าย เพื่อหารายได้มาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่าย ดำเนินโครงการ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องสำหรับนักเรียนในรุ่นต่อๆ ไป
 
ปัจจุบันโครงการนี้ช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนได้แล้วร่วม 75,000 คน ในโรงเรียนกว่า 370 แห่งทั่วประเทศ
 
ผศ.ดร.สุดสาย ตรีวานิช นำเสนอให้ที่ประชุมระดับนานาชาติรับทราบและเห็นพ้องต้องกันว่า โครงการอันเป็นประโยชน์เหล่านี้ จากซีพีเอฟ และภาครัฐบาล รวมทั้งโครงการตามพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับท้องถิ่นได้จริง และโครงการดังกล่าวของประเทศไทยก็กลายเป็นตัวอย่างที่นานาชาติให้ความสนใจ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารท้องถิ่นอันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป

โดย : เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์
กรุงเทพธุรกิจ  29 พฤศจิกายน 2554