ผู้เขียน หัวข้อ: สิงโตแห่งเซเรงเกติ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1353 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ชีวิตของสิงโตเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ แม้แต่ราชันนักล่าก็อาจกลายเป็นเหยื่อเสียเอง

                       แมวมีเก้าชีวิต นั่นคือสิ่งที่เราชอบพูดกัน แต่คำพูดนี้ไม่ได้เหมารวมสิงโตแห่งเซเรงเกติเอาไว้ด้วย ชีวิตท่ามกลางภูมิประเทศอันหฤโหดแห่งนี้ช่างยากเข็ญ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ และความตายก็ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อายุขัยของ ทั้งราชันนักล่าแห่งแอฟริกาและเหยื่อของพวกมันมักจะสั้น  ถ้าโชคดีและแข็งแกร่งพอ สิงโตเพศผู้ตัวเต็มวัยอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 12 ปี ขณะที่เพศเมียตัวเต็มวัยมักอายุยืนกว่า กล่าวคืออาจถึง 19 ปี ทว่าอายุขัยเมื่อแรกเกิดกลับต่ำกว่านั้นมากสำหรับสิงโตทุกตัว หากพิจารณาถึงอัตราการตายที่สูงมากของลูกสิงโต โดยครึ่งหนึ่งอาจตายก่อนอายุสองปีด้วยซ้ำ แต่การอยู่รอดจนเติบใหญ่ก็หาใช่หลักประกันว่า พวกมันจะได้ตายอย่างสงบสุข

                       เสือเป็นสัตว์โดดเดี่ยว  ขณะที่สิงโตเป็นสัตว์วงศ์แมวเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์สังคมอย่างแท้จริง พวกมันอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงและกลุ่มพันธมิตร  เพราะเหตุใดพฤติกรรมทางสังคมซึ่งไม่ปรากฏในสัตว์วงศ์แมวชนิดอื่นใดจึงเป็นสิ่งจำเป็นในหมู่สิงโต  นี่เป็นการปรับตัวที่จำเป็นเพื่อให้สามารถล่าเหยื่อขนาดใหญ่อย่างวิลเดอบีสต์  มีส่วนช่วยในเรื่องการปกป้องลูก  หรือเกิดขึ้นจากแรงกดดันในการแข่งขันแย่งชิงอาณาเขตกันแน่ ขณะที่รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมของสิงโตปรากฏมากขึ้นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา การค้นพบสำคัญๆจำนวนมากกลับมาจากการศึกษาสิงโตอย่างต่อเนื่องภายในระบบนิเวศแห่งเดียว นั่นคือเซเรงเกติ

                       อุทยานแห่งชาติเซเรงเกติประกอบด้วยที่ราบทุ่งหญ้ากับป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ราว 14,750 ตารางกิโลเมตรใกล้กับพรมแดนตอนเหนือของแทนซาเนีย  อุทยานแห่งนี้ถือกำเนิดจากเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าขนาดเล็กกว่านี้สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1920 และได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1951 ระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่โอบอุ้มเซเรงเกติอยู่นั้นไม่เพียงอุดมไปด้วยวิลเดอบีสต์ ม้าลาย และกาเซลล์ที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลเพื่อติดตามสายฝนไปยังทุ่งหญ้าระบัด แต่ยังครอบคลุมเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า (ที่ตั้งขึ้นเพื่อการล่าสัตว์) หลายแห่งตามแนวตะเข็บด้านตะวันตกของอุทยาน และพื้นที่อื่นๆทางตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการดูแลแบบผสมผสาน (ซึ่งรวมถึงเขตอนุรักษ์ธรรมชาติโงรองโกโร) และส่วนขยายข้ามพรมแดน (เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติมาไซมารา) ในเคนยา

                        นอกเหนือจากฝูงสัตว์อพยพแล้ว ระบบนิเวศนี้ยังรองรับประชากรฮาร์ทีบีสต์ โทปี รีดบัก วอเตอร์บัก อีแลนด์ อิมพาลา ควายป่าแอฟริกา หมูป่าแอฟริกา และสัตว์กินพืชอื่นๆซึ่งอยู่ติดที่มากกว่า ไม่มีบริเวณอื่นใดในแอฟริกาอีกแล้วที่โอบอุ้มประชากรสัตว์กีบอย่างชุกชุมหนาแน่นและอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์อันโล่งกว้างเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ เซเรงเกติจึงเป็นดั่งแดนสวรรค์สำหรับเหล่าราชสีห์และพื้นที่ภาคสนามในฝันของนักวิจัยสิงโต

                        จอร์จ แชลเลอร์ มาถึงที่นี่เมื่อปี 1966 ตามคำเชิญของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติแทนซาเนีย เพื่อศึกษาผลกระทบจากพฤติกรรมการล่าของสิงโตที่มีต่อประชากรเหยื่อ เขารวบรวมข้อมูลมหาศาลระหว่างการวิจัยภาคสนามอันเข้มข้นยาวนานถึงสามปีสามเดือน หนังสือที่เขาเขียนขึ้นในเวลาต่อมาชื่อว่า สิงโตเซเรงเกติ (The Serengeti Lion) กลายเป็นตำราอ้างอิงของนักวิจัยรุ่นหลังๆ

                        จากนั้นก็มีนักวิจัยรายอื่นๆตามมา หนุ่มชาวอังกฤษนาม ไบรอัน เบอร์แทรม คือผู้สืบทอดภารกิจต่อจากแชลเลอร์ เขาอยู่ที่นั่นสี่ปี นานพอที่จะเริ่มแยกแยะปัจจัยทางสังคมซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จในการสืบทอดเผ่าพันธุ์และอธิบายปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งได้ นั่นคือ การฆ่าลูกสิงโตโดยสิงโตเพศผู้  เบอร์แทรมบันทึกกรณีศึกษาไว้สี่กรณี (รวมถึงกรณีต้องสงสัยอีกหลายเหตุการณ์) ที่กลุ่มพันธมิตรเพศผู้ซึ่งมาใหม่สังหารลูกสิงโตของฝูงที่พวกมันเพิ่งยึดได้ จีนเนตต์ แฮนบี กับเดวิด ไบกอตต์ สืบทอดงานวิจัยต่อมา และรวบรวมหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรโดยเฉพาะที่มีสมาชิกสามตัวหรือมากกว่านั้น ช่วยให้สิงโตเพศผู้ยึดและกุมอำนาจเหนือฝูงได้ ดังนั้นจึงสามารถผลิตลูกสิงโตที่อยู่รอดได้เป็นจำนวนสูงกว่า

                       ต่อมาในปี 1978 เครก แพ็กเกอร์ และแอนน์ พูเซย์ ก็เข้ามาคุมงานวิจัยดังกล่าวต่อ พูเซย์อยู่กับโครงการศึกษาสิงโตราว 12 ปี ร่วมเขียนรายงานการวิจัยสำคัญๆหลายฉบับ ส่วนแพ็กเกอร์ยังอยู่กับงานนี้ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาสิงโตเซเรงเกติ (Serengeti Lion Project) เมื่อรวมการทำงาน 35 ปีของแพ็กเกอร์เข้ากับงานที่แชลเลอร์และนักวิจัยคนอื่นๆทำไว้ โครงการศึกษาสิงโตเซเรงเกติถือเป็นโครงการศึกษาสัตว์ชนิดพันธุ์หนึ่งในภาคสนามที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดโครงการหนึ่ง

                        “ส่วนใหญ่สิงโตจะตายเพราะฆ่ากันเองครับ” เครก แพ็กเกอร์ บอกผม เป็นคำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องการตายจากสาเหตุต่างๆ “สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของสิงโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกรบกวน ก็คือสิงโตตัวอื่นๆ”

                       เขาแจกแจงสาเหตุดังกล่าวออกเป็นหมวดหมู่ ลูกสิงโตที่ตายอย่างน้อยร้อยละ 25 ถูกเพศผู้ที่ยึดฝูงได้ฆ่าทิ้ง บางครั้งถ้าโอกาสอำนวย สิงโตเพศเมียเองก็ฆ่าลูกสิงโตของฝูงข้างเคียงเช่นกัน พวกมันฆ่าแม้กระทั่งเพศเมียตัวเต็มวัยด้วยกัน ถ้าฝ่ายหลังทะเล่อทะล่าเข้าไปป้วนเปี้ยนอยู่ในถิ่นของพวกมัน แพ็กเกอร์บอก ความที่ทรัพยากรมีจำกัด ฝูงสิงโตจึงมีลักษณะของการหวงถิ่น

                        สิงโตเพศผู้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมหึงหวงแทบไม่ต่างกัน แพ็กเกอร์บอกว่า “กลุ่มพันธมิตรเพศผู้ก็คือก๊วนหรือแก๊งอันธพาลดีๆนี่เอง ถ้าพวกมันเห็นเพศผู้แปลกหน้ามาเกี้ยวสาวของมัน พวกมันจะฆ่าทิ้งไม่เอาไว้หรอกครับ” และสิงโตเพศผู้ยังพร้อมจะฆ่าเพศเมียตัวเต็มวัย ถ้าการทำเช่นนั้นเอื้อประโยชน์ให้พวกมัน “สิงโตจึงเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของสิงโตด้วยกันครับ” แพ็กเกอร์สรุป “ด้วยเหตุนี้ สิงโตจึงต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในท้ายที่สุด”

เรื่องโดย เดวิด ควาเมน
สิงหาคม