ผู้เขียน หัวข้อ: อยู่ร่วมโลกกับสิงโต-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1339 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าประชากรสิงโตในธรรมชาติเหลืออยู่เท่าไหร่ คำถามที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ เราจะพิทักษ์พวกมันได้อย่างไร

               ราชสีห์เป็นสัตว์ที่ซับซ้อน สง่างามยามเห็นอยู่ห่างๆ แต่เป็นหนามยอกอกอันน่าพรั่นพรึงสำหรับชาวบ้านผู้ต้องใช้ชีวิตร่วมกับพวกมัน

               หลักฐานบ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์และโรยราของเหล่าราชสีห์ปรากฏให้เห็นในอย่างน้อยสามทวีป ที่ถ้ำโชเวทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งเต็มไปด้วยภาพวาดรูปสัตว์ป่ายุคหินเก่าแสดงให้เห็นว่า สิงโตอาศัยอยู่ในยุโรปร่วมกับมนุษย์เมื่อ 30,000 ปีก่อน นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบเห็นสิงโตซึ่งเหลือรอดอยู่ในซีเรีย ตุรกี อิรัก และอิหร่านกระทั่งถึงศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบ  ตลอดช่วงเวลาแห่งความตกต่ำอันยาวนานนี้ มีเพียงแอฟริกาเท่านั้นที่ยังเป็นฐานที่มั่นให้พึ่งพาได้

               แต่นั่นก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน การสำรวจและการประเมินครั้งหลังๆบ่งชี้ว่า สิงโตอันตรธานไปจากถิ่นอาศัยร้อยละ 80 ในแอฟริกา ไม่มีใครรู้ว่าปัจจุบันเหลือสิงโตอยู่ในแอฟริกามากน้อยเพียงใด มากถึง 35,000 ตัวอย่างที่พูดกันจริงหรือ ทั้งนี้เพราะการนับจำนวนสิงโตในธรรมชาตินั้นทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนสิงโตโดยรวมลดลงอย่างมาก

               การประเมินครั้งใหม่ๆซึ่งรวบรวมโดยนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรแพนเทอรา (Panthera – กลุ่มอนุรักษ์สัตว์วงศ์แมวนานาชาติ) โครงการบิ๊กแคตส์อินิชิเอทีฟ (Big Cats Initiative) ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และหน่วยงานอื่นๆชี้ว่า ปัจจุบันสิงโตแอฟริกาอาศัยอยู่ในพื้นที่แตกต่างกันเกือบ 70 แห่ง ในจำนวนนี้แหล่งที่มีขนาดใหญ่และปลอดภัยที่สุดถือได้ว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญ ขณะที่แหล่งอาศัยขนาดเล็กที่สุดมีสิงโตเพียงน้อยนิดและอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ถูกจำกัดในแง่ความหลากหลายทางพันธุกรรม และไม่อาจอยู่รอดได้ในระยะยาว

               เราทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดยั้งความสูญเสียเหล่านั้นและพลิกแนวโน้มดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนบอกว่า  เราควรทุ่มเทสรรพกำลังไปยังฐานที่มั่นสำคัญต่างๆ  เครก แพ็กเกอร์ นักวิจัยสิงโต เสนอทางออกเพื่อเพิ่มการป้องกันฐานที่มั่นสำคัญบางแห่งอย่างสุดโต่งว่า ควรล้อมรั้วเขตเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ตามตะเข็บรอยต่อบางส่วน การทุ่มงบประมาณการอนุรักษ์ไปกับการสร้างแนวรั้วตาข่ายและเสา ผนวกกับการลาดตระเวนและการซ่อมแซมแนวป้องกันอย่างเพียงพอ คือหนทางดีที่สุดที่จะหยุดยั้งการล่วงล้ำพื้นที่อนุรักษ์อย่างผิดกฎหมายของคนเลี้ยงสัตว์ ฝูงปศุสัตว์ และพวกลักลอบล่าสัตว์ ตลอดจนการเล็ดลอดออกจากพื้นที่เหล่านั้นของพวกสิงโตเอง

               ทว่าผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆกลับคัดค้านหัวชนฝา หากว่ากันตามจริงแล้ว แนวคิดในการล้อมรั้วนี้ขัดกับทฤษฎี การอนุรักษ์ที่ยึดถือกันมาตลอดสามทศวรรษ ซึ่งเน้นความสำคัญของการเชื่อมต่อระหว่างถิ่นอาศัยผืนต่างๆ แพ็กเกอร์รู้เรื่องนี้ดี และแม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่มีวันเอารั้วไปกั้นเส้นทางการกระจายตัวหรือการอพยพของสัตว์ป่าเป็นแน่

               การล่าสัตว์เป็นเกมกีฬาเป็นที่ถกเถียงเช่นกัน  การล่าสิงโตที่เกิดในสถานเพาะเลี้ยงและปล่อยเข้าไปอยู่ในฟาร์มของเอกชนที่มีรั้วรอบขอบชิดเวลานี้ทำกันอย่างแพร่หลายในประเทศแอฟริกาใต้  ในปีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ แอฟริกาใต้มีฟาร์มสิงโตแบบนี้ดำเนินกิจการอยู่ถึง 174 แห่ง มีสิงโตที่เลี้ยงไว้รวมแล้วมากกว่า 3,500 ตัว ฝ่ายเห็นด้วยให้เหตุผลว่า ธุรกิจนี้อาจมีส่วนส่งเสริมการอนุรักษ์สิงโต โดยเบนแรงกดดันจากการล่าเป็นเกมกีฬาออกไปจากประชากรสิงโตในธรรมชาติ และช่วยรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งอาจเป็นที่ต้องการในอนาคต แต่ฝ่าย ตรงข้ามเกรงว่า ธุรกิจนี้อาจทำให้รายได้จากการบริหารจัดการสิงโตในประเทศอื่นๆ อย่างเช่นแทนซาเนีย ลดลง เพราะเสนอวิธีที่ถูกกว่าและง่ายกว่าที่จะได้หัวสิงโตไปประดับผนังห้องนั่งเล่น

              กล่าวโดยสรุปคือ ภารกิจอนุรักษ์สิงโตเป็นงานที่มีความซับซ้อน ซึ่งเวลานี้ต้องพึ่งความร่วมมือข้ามพรมแดน ข้ามมหาสมุทร และข้ามสาขาวิชา เพื่อเผชิญหน้ากับตลาดโลกที่ใฝ่ฝันถึงธรรมชาติ

              แต่การอนุรักษ์เริ่มต้นที่บ้าน ในหมู่ผู้คนซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วธรรมชาติอันบริสุทธิ์และน่าพรั่นพรึงของสิงโตหาใช่ความฝัน คนกลุ่มหนึ่งในบรรดาผู้คนเหล่านี้คือชนเผ่ามาไซที่อาศัยอยู่รวมกันในกลุ่มไร่ปศุสัตว์ตามแนวตะเข็บอุทยานแห่งชาติแอมโบเซลีทางตอนใต้ของเคนยา นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา โครงการที่ชื่อว่า ผู้พิทักษ์สิงโต (Lion Guardians) ได้ว่าจ้างเหล่านักรบมาไซ หรือบรรดาชายหนุ่มผู้มีความเชื่อว่า การฆ่าสิงโตเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแห่งการเปลี่ยนผ่านที่เรียกกันว่า โอลามายีโอ (olamayio) ให้มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิทักษ์สิงโตแทน ชายหนุ่มเหล่านี้ซึ่งได้รับเงินเดือนและผ่านการฝึกใช้เครื่องส่งสัญญาณวิทยุติดตามตัวและจีพีเอสจะแกะรอยติดตามสิงโตทุกวัน และป้องกันไม่ให้สิงโตโจมตีปศุสัตว์ โครงการขนาดเล็กแต่หลักแหลมนี้ดูเหมือนกำลังไปได้สวย ที่ผ่านมาการล่าสิงโตลดลง และทุกวันนี้การเป็นผู้พิทักษ์สิงโตถือเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติภายในชุมชนเหล่านี้

เรื่องโดย เดวิด ควาเมน
สิงหาคม