ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อตูน Bodyslam ต้องวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาล กับ ความล่มสลายของหลักประกันสุขภาพ  (อ่าน 586 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เพราะการบริหารแบบผิดๆ ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังทำให้ โรงพยาบาลของรัฐเกือบครึ่งประเทศเป็นหนี้ ขาดเครดิตในการซื้อยาและเวชภัณฑ์ และอาจจะต้องปิดตัวลง ส่งผลให้คนไทยในหลายพื้นที่เข้าไม่ถึงการรักษาทางสาธารณสุขอีกต่อไป หวังว่ารัฐบาลจะเร่งรีบแปรรูป สปสช. ให้บริหารอยู่บนพื้นฐานของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก่อนจะสายเกินไป
       
       ปกติโรงพยาบาลของไทยสามารถสร้างตึกใหม่ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ได้นั้นต้องอาศัยพระเกจิอาจารย์ เช่น หลวงพ่อคูณ หลวงพ่อเปิ่น หลวงตามหาบัว หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตลอดจนกฐินและผ้าป่าเป็นหลัก สปสช. นั้นชอบอ้างว่าตนมีหน้าที่หาเงิน แต่แท้จริงไม่เคยหา มีแต่ขอรัฐบาลเป็นหลักเป็นแสนๆ ล้านบาท และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แจกไม่เลือก ให้ฟรีทุกคนตั้งแต่ระดับมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทยไปจนคนยากไร้ชายขอบ หรือคนไทยที่ยากจนจริงๆ นั้นกำลังเป็นภาระทางการคลังของประเทศอย่างมหาศาล ค่าใช้จ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่รู้จักกันในนาม 30 บาทรักษาได้ทุกโรค นั้นเพิ่มขึ้นปีละประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทและน่าจะถึง 25 % ของงบประมาณแผ่นดินภายใน 10 ปีนี้ และเป็นภาระหนักของกระทรวงการคลัง (โปรดดูได้ใน บทความ 1.3% หรือ 4% ของ GDP สำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการคลังจริงหรือ?)
       
       เพราะ สปสช. ไม่เคยหาเงินแบบ ตูน บอดี้สแลม หรือพระเกจิอาจารย์องค์ใดๆ มีแต่แบมือขอรัฐบาลเพียงถ่ายเดียว เลขาธิการ สปสช. ไม่ควรได้เงินเดือนมากๆ แบบ CEO รัฐวิสาหกิจชั้นดี เพราะไม่เคยหารายได้หรือกำไรมาช่วยโรงพยาบาลเลย เงินทุกบาททุกสตางค์ก็มาจากภาษีของประชาชนที่ของรัฐบาลอีกทีเท่านั้น
       
       คราวนี้ที่ตูน บอดี้สแลมเป็นข่าว เพราะเขาเป็นนักร้องดังและวิ่งจริง เหนื่อยจริง หาเงินได้เยอะจริง ช่วยโรงพยาบาลบางสะพานในการซื้ออุปกรณ์รักษาคนไข้ได้จริง น่ายกย่องชื่นชมมาก แต่อาการของโรงพยาบาลบางสะพานที่ปรากฎให้เห็นนั้นเป็นเพียงอาการผิวเผิน และเป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงจนกระทบถึงคุณภาพการบริการ แล้วตูน บอดี้สแลมจะไปวิ่งหาเงินอีกเป็นร้อยๆ โรงพยาบาลไหวหรือไม่?
     
       สถิติล่าสุดจากกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข http://hfo58.cfo.in.th/ นั้นพบว่าโรงพยาบาลทั่วไป (ขนาดกลาง) จากจำนวน 88 โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนกว่าร้อยละ 64.38 ส่วนโรงพยาบาลศูนย์ (ขนาดใหญ่) จากจำนวน 28 โรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนกว่าร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของทั้งหมด คิดเป็นแต่ละปี ขาดทุนประมาณ ร้อยละ 40 โดยเฉลี่ยประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี (รูปจากเฟสบุ๊ค แฉ NGOs และ องค์กรอิสระ) ข้อมูลอนุกรมเวลาสะท้อนให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่โรงพยาบาลที่ขาดทุนจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้คำว่าขาดทุนคือมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย


        สถิติที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งอีกประการคือเงินบำรุง ทั้งนี้โรงพยาบาลต่างๆ มีระเบียบเงินบำรุงที่เกิดจากการบริหารในอดีตแล้วมีกำไรหรือมีรายได้อื่นๆ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลสามารถซ่อมแซมอาคารสถานที่หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ตลอดจนการซื้อใหม่ได้ ในทางการแพทย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มาทดแทนของเก่าที่ชำรุดเสียหายหรือล้าสมัย หากโรงพยาบาลมีเงินบำรุงติดลบแปลว่าโรงพยาบาลมีหนี้สินท่วมท้นจนกระทั่งเงินเก็บเก่าไม่เหลืออีกแล้วและยังมีหนี้ค่ายา ค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค อีกมากมาย หากเงินบำรุงติดลบมากๆ หรือมีหนี้ท่วมท้นมากๆ ภาษาทางธุรกิจเรียกว่าใกล้ล้มละลายคือมีหนี้สินท่วมท้นจนไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ ขณะนี้ โรงพยาบาลทั่วไปกว่าร้อยละ 60 มีเงินบำรุงติดลบ เริ่มเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัว ส่วนโรงพยาบาลศูนย์กว่าร้อยละ 32 ก็มีเงินบำรุงติดลบเช่นกัน และกำลังพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง


        เมื่อโรงพยาบาลทั้งหลายขาดทุนและมีหนี้สินล้นพ้นจนเงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบกันมากเช่นนี้ ประชาชนย่อมได้รับผลกระทบจากคุณภาพการรักษาพยาบาล ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า
       
       “ชัดเจนไม่ต้องคิดมากให้ปวดหัว โรงพยาบาลทั้งประเทศ ที่ไม่ใช่เอกชน คงต้องขอให้ น้องตูน พี่น้อง ดารานักร้อง ช่วยหาเงินเพื่อไม่ต้องปิดโรงพยาบาลเป็นทิวแถว ประกาศทราบทั่วกัน”
       
       เช่นเดียวกันกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกมาวิจารณ์ว่า
       
       “โรงพยาบาลขาดทุนมีมากแค่ไหน (30-50%) ขาดทุนเท่าไหร่ (ทั่วประเทศหมื่นล้านต่อปี) อนาคตอันใกล้ โรงพยาบาลนั้นๆ มี หนี้สะสมจะไม่สามารถซื้อยามารักษาผู้ป่วยได้ เพราะ สปสช. ไม่ยอมจ่ายเงินให้โรงพยาบาล จาก http://hfo58.cfo.in.th/ แสดงข้อมูลประมาณ ทุกๆ 3 เดือน ใน พ.ศ.2557 ถึง พ.ศ.2559 ข้อมูลของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป พบว่า เงินบำรุง (รายได้ทั้งหมด จากสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และ บัตรทอง) เมื่อหักหนี้ (ค่าใช้จ่ายไม่นับหนี้คงค้าง) จะพบมีประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของโรงพยาบาลทั้งหมด ขาดทุน โดยดูค่าเฉลี่ยแต่ละปี จะ ขาดทุน ประมาณ 8 พันล้านบาท กำไรของโรงพยาบาลที่เหลือจะไม่สามารถช่วยการ ขาดทุนได้ เพราะโรงพยาบาลที่ขาดทุนก็มักจะขาดทุนต่อเนื่อง วิเคราะห์ การที่โรงพยาบาลได้รับเงินบำรุงจาก สปสช. น้อยกว่าค่าใช้จ่าย (สิทธิอื่นมักเบิกได้เต็มจำนวน) จะส่งผลทำให้ โรงพยาบาลนั้นๆ มี หนี้สะสมจะไม่สามารถซื้อยามารักษาผู้ป่วยได้”
       
       ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า
       
       
การจัดสรรเงินในระบบสาธารณสุข ที่ไม่เป็นตามจริง น่าจะอธิบายปัญหาต่างๆ ทั้งๆ ที่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยดีมาก แต่ สปสช. จะทำให้ล้ม ดังที่เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ตั้งแต่
       ⁃ ฝ่ายรักษา โรงพยาบาล ทุกระดับ เงินไม่พอในการช่วยบำบัดการป่วย ช่วยชีวิต
       ⁃ ฝ่ายป้องกัน งบไม่พอป้องไม่ไหว คัดกรองไม่ทัน
       ⁃ ฝ่ายรักษา หมางเมินกับฝ่ายป้องกัน จะแย่งงบประมาณ
       ⁃ การจัดคัดเลือกยา เป็นไปตามถูกสุด
       ⁃ การเทภาษีบาปเข้า สำนักโฆษณา ป้าย และทีวี แต่ผลสำเร็จอาจประเมินมิได้ เนื่องจากไม่มีใครกล้าประเมิน
       ⁃ ประชาชน ไม่ได้รับการรักษาที่ควรต้องเป็น และอย่างเหมาะสม เพราะ บุคลากรสาธารณสุข ไม่พอเกิดความโกรธ เกลียดชัง
       ⁃ ชมรมเสรี ก่นประณาม เกิดฟ้องร้อง
       ⁃ บุคลากรถอดใจ ลาออก คนน้อยลงงานเท่าเดิมหรือมากขึ้น
       ⁃ คนป่วยตายมากขึ้น
       ⁃ จะฝึกหมอใหม่เอาปริมาณ เอาหมอครอบครัว หารู้ไม่ว่าปัญหาโรคในพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญยังหนาว
       ⁃ หมอถูกฟ้องร้อง หามีคนช่วยไม่ ให้รับชะตากรรมกันเอง
       ⁃ วนไปมา เห็นจุดจบ อยู่รำไร
       ⁃ ที่โกรธกัน ทะเลาะกัน ดีกันได้มั้ย
       ⁃ รื้อระบบ ที่ไม่เหมาะ ให้คนทั้งประเทศรับรู้สภาพ พังพาบ ตายก็ตายด้วยกัน แต่ยังรักกันดีกว่ามั้ย

       
       ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนนั้นเริ่มชัดเจนมากขึ้นในพื้นที่ประชากรเบาบาง ดังที่นายแพทย์อมร แก้วใส ได้บรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสิงห์บุรีว่า
       

       ข้อมูล น้องชาว รพ.ส่งมาให้ล่าสุด จาก รพ.อินทร์บุรี/จ.สิงห์บุรี เตรียมลดขนาด/เตรียมปิด รพ.บางแห่งกันแล้วครับ...ข่าวว่า รพ อินทร์บุรี เป็น รพท m1 218 เตียง จะยุบเป็น m2 หมอขอย้ายหมดแล้วครับ คน 600 หายไป 150 ผู้ตรวจเสนอโครงการ จำใจจาก...อาจจะดีก็ได้นะ ลดจำนวน/ควบรวม รพ. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มจำนวนคนใน รพ.ที่เหลือ ถ้ามี 1 รพท/รพศ.ในจังหวัด, 1รพช.ในอำเภอ, 1รพ.สต.ในตำบล อาจลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคนใน รพ.ได้ คงจำเป็นต้องยังงี้มั้งครับ?!?โดยยกเว้นบางแห่งที่มีเหตุผลจำเพาะ หรือรวมทุก รพ.ในจังหวัดเป็น รพ.เดียวกัน รวมถึง รพ.สต. เป็นสาขากัน รวมบริหาร คน เงิน ของ และการจัดระบบบริการร่วมกัน?!? ไหวไหม งบบัตรทองเพิ่ม 1% กว่าๆ เงินเดือนเจ้าหน้าที่.อยู่ในงบนี้เพิ่ม 6% ค่ายา วัสดุเพิ่ม >3% (ตามเงินเฟ้อ?)เจ๊งอยู่แล้วชัดๆครับ ถ้าไม่ยุบ กิจการ รพ. และไล่คนออกบ้าง ตำหนิผมเลยครับ
       


        อาการที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นปัญหาว่า ประเทศไทยไม่อาจจะดันทุรังให้บริการสาธารณสุขฟรีทุกอย่างตามความคิดของนักสิทธิมนุษยชนซึ่งล่องลอยไม่อยู่บนหลักการของความพอเพียงและความพอประมาณได้อีกต่อไป เพราะถึงทำให้ฟรีได้ก็ไม่ได้คุณภาพ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้การรักษาก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้คนไทยยังมีภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาและความถี่ในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจจะฝืนได้
       
       เราเป็นประเทศแก่ก่อนรวย กองทุนประกันสังคมก็กำลังจะประสบปัญหา โปรดดูได้ใน บทความ เหตุใด “กองทุนประกันสังคม” จึงมีโอกาสล่มสลายสูงมาก?
       
       กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็หนีไม่พ้น ซ้ำยังมีปัญหาหนักกว่าเพราะไม่เคยมีรายได้เป็นของตัวเองเลย กองทุนประกันสังคมนั้นไม่ประสบปัญหาจากสิทธิรักษาพยาบาล แต่จะมีปัญหาจากการจ่ายบำนาญและจะเกิดปัญหาเงินกองทุนติดลบในอีก 30 ปี มีคนช่วยกันจ่ายอยู่สามฝ่ายคือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นรัฐบาลจ่ายคนเดียว สปสช. มีหน้าที่ขอเงินจากรัฐบาลมาแล้วไปสั่งการบริหารโรงพยาบาล (ทั้งๆ ที่ไม่มีหน้าที่ แต่อย่างใด)
       
       การแจกของฟรีนั้นผมเองก็ชอบ คนไหนก็ชอบ แต่ต้องถามเหมือนกันว่าของฟรีคุณภาพห่วย ขาดทุนย่อยยับจนไม่มีเงินซื้อยาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เราจะเอาชีวิตไปเสี่ยงกันกับความขาดแคลนหรือไม่ การให้โดยปราศจากเงื่อนไขเลยจนแทบล้มละลาย รัฐบาลไทยมิใช่พระเวสสันดรชาดก ทำบุญจนเดือดร้อนไปหมด ถึงเวลาหรือไม่ที่ควรต้องทบทวนนโยบายสาธารณะว่าเราจะช่วยเฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆ ก่อน ใครที่อยากได้บริการที่ดีขึ้นก็ควรต้องร่วมจ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเองถ้าท่านอยากอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็ควรแก้ปัญหานี้ การสรรหาเลขาธิการ สปสช ก็เช่นกัน เลิกสรรหาเลขาธิการที่คอยแต่ขอเงินภาษีจากรัฐบาล อย่างน้อยควรต้องหาเงินได้เก่งกว่าน้องตูน บอดี้แสลมออกวิ่งได้แล้ว
       
       ปัญหาความล่มสลายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมีรากฐานมาจาก
       1. ไม่อยู่บนความพอเพียงพึ่งพาตนเองได้ ไม่มีเหตุผลเพียงพอในการใช้เงิน
       2. ผู้บริหาร สปสช. ไม่ได้ทำงานจริงในพื้นที่ บริหารแต่เงิน ไม่ได้บริหารงาน และในความเป็นจริงๆ สปสช. ก็ไม่ได้มีหน้าที่บริหาร ไม่เช่นนั้นก็ยุบกระทรวงสาธารณสุขไปซะ
       3. การบริหารงานภายในกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีปัญหา ไม่กล้าลงมือแก้ปัญหาทั้งๆ ที่ปัญหาก็ทราบดีอยู่แล้ว เกิดปัญหาสองนคราสาธารณสุข ระหว่างหน่วยงานตระกูล ส และกระทรวงสาธารณสุขเอง กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวในประเทศไทยที่ปลัดกระทรวงมีเงินงบประมาณในมือน้อยกว่าเลขาธิการ สปสช. และเมื่อสั่งอะไรแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอาจจะเกรงใจน้อยกว่าเลขาธิการ สปสช. เพราะไม่มีเงินในมือ
       
       การแก้ปัญหาความล่มสลายนี้ต้องรีบทำ ก่อนจะสายเกินแก้ หลักการสำคัญที่สุดคือการทำความจริงให้ปรากฎบนหลักความพอเพียง มีเหตุผล ประมาณตน อะไรที่ประชาชนที่พอมีฐานะควรร่วมจ่ายได้เพื่อให้ได้บริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นก็ควรเร่งทำ NGO สายนักสิทธิมนุษยชนก็ควรกลับมาสู่โลกของความเป็นจริง ตัวเองไม่ได้เป็นคนทำงานมีแต่เรียกร้องบนความหายนะของประเทศชาติก็ควรพิจารณาด้วยจิตสำนึกได้แล้ว ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านเองก็เคยพบปัญหานี้ที่โรงพยาบาลศิริราช ขาดทุนย่อยยับจาก 30 บาทรักษาได้ทุกโรค ท่านเองก็เคยแก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ให้คนที่มีฐานะได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกันก็อาจจะต้องปรับขยายมาเป็นระดับประเทศ ระดับกระทรวงสาธารณสุขนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติทางการคลังจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ ขอให้กำลังใจทุกฝ่าย
       
       ปล. คนไทยทุกคนต้องขอบคุณ ตูน บอดี้สแลม ที่ช่วยหาเงินให้โรงพยาบาลโดยไม่ขอรัฐบาลได้มากกว่าเลขาธิการ สปสช. ทุกคนที่ผ่านมา (และคาดว่าในอนาคตด้วย)

โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์       
14 ธันวาคม 2559
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000124431