ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-29 ก.ค.2555  (อ่าน 1253 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-29 ก.ค.2555
« เมื่อ: 20 สิงหาคม 2012, 03:28:49 »
1. พันธมิตรฯ ขู่ชุมนุมใหญ่ หากสภาไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ด้าน “ขุนค้อน” ยัน เลื่อนวาระพ้น 1 ส.ค. แล้ว!

       เมื่อวันที่ 24 ก.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ,นายพิภพ ธงไชย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้แถลงข่าวคัดค้านการเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ
       
       โดยนายสนธิ พูดถึงจุดยืนของพันธมิตรฯ ว่า จะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวใน 2 กรณี 1.หากรัฐบาลทำอะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นหรือล้มล้างสถาบัน พันธมิตรฯ จะออกมาปกป้องสถาบัน เพราะสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องดำรงอยู่ และ 2.การออกกฎหมายล้างความผิด ถือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ พันธมิตรฯ ยอมไม่ได้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ค้างอยู่ในสภา เป็นกฎหมายที่ล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวก ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาในวันที่ 1 ส.ค. พันธมิตรฯ จะชุมนุมทันที “ถ้าหากว่ายังมีวาระคงค้างอยู่และไม่ถอน เราจะชุมนุมทันที ส่วนการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือจะปักหลักพักค้างอย่างไร ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีท่าทีเช่นไร ผมคิดว่าพันธมิตรฯ จะไม่ยอมรับคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านคงจะพูดว่าเป็นเรื่องของสภา เพราะคำพูดนี้เป็นคำพูดที่โกหก พูดความจริงครึ่งเดียว เพราะในสภา ส.ส.เกินกว่าครึ่งเป็นเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้านายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่าควรจะถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง น่าจะแจ้งให้พรรคเพื่อไทยทราบ ถ้าพรรคเพื่อไทยทราบแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลต้องไม่ขัดข้องเช่นกัน เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าใช้คำพูดเดิมๆ ที่ปัดสวะพ้นตัวว่า เป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง เพราะคำพูดนี้เป็นคำพูดที่โกหก”
       
       ทั้งนี้ หลังแถลงเสร็จ นายปานเทพได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ประสาน ส.ส.และผู้ที่เกี่ยวข้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากการประชุมสภาก่อนวันที่ 1 ส.ค. เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ และถือเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง “กลุ่มพันธมิตรฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า ทันที่ปรากฏวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองในวันใด กลุ่มพันธมิตรฯ จะจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ในทันที พร้อมเคลื่อนมวลชนไปในสถานที่ต่างๆ จนกว่าจะมีการถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากการประชุมรัฐสภา”
       
       ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลหลังแกนนำพันธมิตรฯ ขู่ชุมนุมใหญ่หากไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากสภา ปรากฏว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐสภา ก็ยืนยันว่า จะไม่มีการหยิบยกร่างดังกล่าวมาพิจารณาในสภาแน่นอน โดยวิปรัฐบาลจะเสนอให้นำกฎหมายอื่นมาพิจารณาแทนทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภา ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่คิดหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ทำไมจึงไม่ถอนร่างดังกล่าวออกไป นายวรวัจน์ บอกว่า การถอนเป็นเรื่องของเจ้าของร่าง ซึ่งมีอยู่หลายร่าง สิ่งที่วิปรัฐบาลทำได้คือหยิบยกเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาแทนเท่านั้น
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ก็บอกว่า ได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป แต่จะเลื่อนญัตติร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไปก่อน เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ส่วนที่พันธมิตรฯ ขู่ชุมนุมใหญ่ หากไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเอาอย่างไร จึงจะขอเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน จนกว่าจะได้คำตอบสุดท้ายเพื่อที่การประชุมสภาปกติในวันที่ 8-9 ส.ค.จะได้ไม่เกิดปัญหา
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากสภา โดยรีบโยนว่า เป็นเรื่องของรัฐสภา รัฐบาลไม่สามารถถอนร่างดังกล่าวได้ เพราะไม่ใช่ร่างของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจะไม่ไปก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภา
       
       2. ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด “สุเทพ” แทรกแซง ขรก.- ส่งวุฒิฯ ลงมติถอดถอน ด้านเจ้าตัวประกาศเลิกเล่นการเมือง หากถูกตัดสิทธิ 5 ปี!

       เมื่อวันที่ 26 ก.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีมีการกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ สมัยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีได้ลงนามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อส่ง ส.ส.ของพรรคและบุคคลอื่นรวม 19 คน ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2552 ซึ่งอาจเข้าข่ายก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นหรือพรรคการเมือง อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(1)
       
       พร้อมกันนี้ ป.ป.ช.ได้พิจารณากรณีมีผู้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยว่ารู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพในการกระทำดังกล่าวด้วยหรือไม่ โดยหลังประชุม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.แถลงว่า จากข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นายสุเทพได้มีหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 25 ก.พ.2552 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แจ้งความประสงค์ขอส่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 19 คนไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยหนังสือดังกล่าวถึงกระทรวงวัฒนธรรมในวันที่ 27 ก.พ.2552 จากนั้นวันที่ 2 มี.ค.2552 นายสุเทพได้สั่งให้รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองไปขอรับหนังสือดังกล่าวคืน เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแจ้งนายสุเทพว่าไม่ประสงค์รับ ส.ส.ไปช่วยราชการที่กระทรวง โดยนายสุเทพได้รับหนังสือคืนมาในวันที่ 3 มี.ค.2552
       
       ส่วนการกระทำของนายสุเทพถือว่าเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิยามคำว่าก้าวก่ายหรือแทรกแซง จึงต้องพิจารณาตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งระบุคำว่า “ก้าวก่าย” หมายความว่า ล่วงล้ำเข้าไปยุ่งเกี่ยวหน้าที่ผู้อื่น ส่วน “แทรกแซง” หมายความว่า แทรกเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของผู้อื่น ดังนั้นจึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของตน ส.ส.หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม “การแก้ปัญหาความเดือดร้อน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือลูกจ้าง และเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่จะต้องรับผิดชอบ ฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง”
       
       ส่วนประเด็นการขอถอนเรื่องคืนของนายสุเทพจะถือว่ายังไม่มีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรมหรือไม่นั้น ป.ป.ช.เห็นว่า การกระทำของนายสุเทพเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการสร้างฐานเสียง และเพื่อประโยชน์ของ ส.ส.หรือพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติว่า นายสุเทพมีพฤติการณ์ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้ที่ประชุม ส.ว.พิจารณาว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ โดยการถอดถอนจะต้องใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 5 ซึ่งหากมีมติถอดถอน จะส่งผลให้บุคคลนั้นถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีทันที
       
       ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์รู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพในการดำเนินการดังกล่าวหรือไม่นั้น นายกล้านรงค์ บอกว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายอภิสิทธิ์รู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพตามที่ถูกกล่าวหา จึงเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป
       
       ด้านนายสุเทพ เผยความรู้สึกหลังถูก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด โดยยืนยันว่า การจัดส่ง ส.ส.ไปช่วยงานกระทรวงวัฒนธรรม ยังไม่ได้มีการดำเนินการ แค่ทำหนังสือถึงกระทรวงวัฒนธรรมให้พิจารณา แต่เมื่อตนเปิดกฎหมายดูพบว่ามีความหมิ่นเหม่ จึงถอนหนังสือกลับ แต่ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นความผิดก็ต้องยอมรับมติของ ป.ป.ช. ส่วนจะถูก ส.ว.มีมติถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีหรือไม่ นายสุเทพ บอกว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ และว่า ขณะนี้ตนอายุ 64 ปีแล้ว หากถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจริง ก็จะมีอายุ 69 ปี ถึงตอนนั้นคงเลิกเล่นการเมืองและกลับไปเลี้ยงหลาน
       
       3. ศาล พิพากษาจำคุก 3 อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน “พล.อ.ธีรเดช”โดนด้วย ส่งผลหลุดเก้าอี้ ปธ.วุฒิฯ !

       เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ,พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ในฐานะอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะอดีตเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 กรณีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองโดยมิชอบ
       
       คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-30 ก.ย.2547 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดทำร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการและค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยนายปราโมทย์ จำเลยที่ 3 ได้นำร่างระเบียบของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกระเบียบในลักษณะดังกล่าวมาเป็นต้นแบบในจัดทำร่างระเบียบเพื่อใช้กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินบ้าง ซึ่งร่างระเบียบดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่ออกโดยมิชอบ โดยนายพูลทรัพย์และ พล.อ.ธีรเดช จำเลยที่ 1-2 ได้ให้ความเห็นชอบเพื่อออกระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2547 และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2547 ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย.2547 ให้จำเลยทั้งสาม เดือนละ 20,000 บาท เป็นเงิน 60,000 บาท
       
       ทั้งนี้ โดยหลักแล้ว การจะออกระเบียบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นรายละเดือนในลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษในลักษณะควบกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 253 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542 มาตรา 5 คือต้องผ่านกระบวนการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งหลังจากจำเลยทั้งสามกระทำผิด ได้มีการส่งเงินคืนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วคนละ 60,000 บาท
       
       ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า ขาดเจตนากระทำผิดเพราะเชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถออกระเบียบดังกล่าวได้ เนื่องจากคัดลอกข้อความมาจากระเบียบศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะจำเลยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับความไว้วางใจในความรู้ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ความดี และความสุจริต การขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองเป็นการกระทำที่ขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีมโนธรรมกำกับอย่างยิ่งยวด จะใช้มาตรฐานความรู้สึกนึกคิดเช่นคนทั่วไปไม่ได้ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิด โดยจำเลยที่ 1-2 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 86 ให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะฟังศาลอ่านคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิด ปรากฏว่า นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 เกิดอาการหน้ามืดและเป็นลม จำเลยที่ 2-3 จึงช่วยประคอง ขณะที่เจ้าหน้าที่ รปภ.ของศาลช่วยหายาดมมาให้ สักพักจึงมีอาการดีขึ้น
       
       ทั้งนี้ การถูกศาลพิพากษาจำคุกแม้รอลงอาญา ก็ส่งผลให้ พล.อ.ธีรเดชต้องพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภาทันที แต่ยังคงสถานะสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต่อไปได้ ขณะที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่แทน พล.อ.ธีรเดชแล้ว โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 บอกว่า จำเป็นต้องสรรหาประธานวุฒิสภาคนใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการประชุมรัฐสภา โดยคาดว่าจะมีการเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อสรรหาในวันที่ 10 ส.ค.นี้
       
       4. ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ “สุพจน์” ร่ำรวยผิดปกติ ส่ง อสส.ยื่นศาลสั่งยึดทรัพย์ 64.7 ล้านตกเป็นของแผ่นดิน!

       เมื่อวันที่ 24 ก.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หลังคณะกรรมการไต่สวนที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นได้มีมติเมื่อวันที่ 24 และ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาว่านายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ
       
       ทั้งนี้ หลังประชุม นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของนายสุพจน์ ซึ่งได้มีการรวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของนายสุพจน์ ทั้งจากธนาคาร ส่วนราชการ และบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่นายสุพจน์ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.รวม 36 ครั้งตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.2544 ถึง 22 พ.ย.2554 รวมทั้งได้สอบปากคำพยานบุคคลและพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสุพจน์เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย.2520 ในตำแหน่งสารวัตรแรงงาน กรมแรงงาน ได้รับเงินเดือน 1,750 บาท ปีต่อมา ได้โอนย้ายมาสังกัดกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และได้เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา กระทั่งได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2552 โดยนายสุพจน์ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2544 ว่ามีจำนวน 65.79 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มากกว่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งดังกล่าวจะพึงมี
       
       คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้ให้นายสุพจน์ชี้แจงการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว รวมทั้งไต่สวนพยานบุคคล รับฟังได้ว่า นายสุพจน์มีรายได้จากทางราชการประมาณ 4.98 ล้านบาท รายได้จากการทำงานกับบริษัทเอกชน 16 ปี 9.6 ล้านบาท รายได้จากงานพิเศษ 1 ล้านบาท รายได้เงินกู้จากธนาคาร 5.5 ล้านบาท รวมแล้วแค่ 21 ล้านบาท ซึ่งไม่สัมพันธ์กับทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. จำนวน 65 .79 ล้านบาท แม้ทรัพย์สินดังกล่าวจะได้มาก่อนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม แต่นายสุพจน์ก็ไม่สามารถชี้แจงถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้
       
       คณะกรรมการป.ป.ช.จึงมีมติเอกฉันท์ว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ 64.73 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินสดของกลางที่ตำรวจยึดได้จากคนร้ายที่ปล้นบ้านนายสุพจน์ 17.55 ล้านบาท ,ทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ,รถยนต์ยี่ห้อโฟล์กสวาเกน มูลค่า 3 ล้านบาท และทรัพย์สินอีกกว่า 44 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งเงินฝากธนาคาร ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
       
       ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องต่อให้อัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งให้ทรัพย์สิน 64.73 ล้านบาทดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไปตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 80 โดย ป.ป.ช.ได้หักทรัพย์สินที่นายสุพจน์ได้มาโดยชอบออกจากทรัพย์สินที่ไม่สามารถชี้แจงได้แล้ว
       
       5. ศาล เลื่อนถอนประกัน “จตุพร” นัดฟังคำสั่งพร้อมแกนนำแดงอีก 24 คน 9 ส.ค. ด้านศาล รธน. ฟ้องเอาผิด “ก่อแก้ว-เจ๋ง ดอกจิก” แล้ว!

       เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ศาลอาญา ได้นัดสอบถามนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หลังนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ด้วยการขึ้นเวทีปราศรัยที่หน้ารัฐสภาโจมตีข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไว้วินิจฉัยว่าขัดมาตรา 68 หรือไม่
       
        ทั้งนี้ นายจตุพรได้เดินทางมาศาล โดยมีแกนนำ นปช.คนอื่นๆ และคนเสื้อแดงมาให้กำลังใจกว่า 1,000 คน ด้านศาลพิเคราะห์คำแถลงของนายเชาวนะและนายจตุพรแล้วเห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่ยังไม่ยุติ ดังนั้นเพื่อให้ข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่านายจตุพรกระทำการผิดเงื่อนไขของศาล จึงเห็นควรให้รอฟังการสอบถามแกนนำ นปช.จำเลยคนอื่นๆ อีก 24 คนที่ศาลได้นัดไว้ในวันที่ 9 ส.ค. โดยจะสอบถามนายจตุพรพร้อมกับจำเลยคนอื่นๆ ในดังกล่าว เวลา 09.00น. และจะมีคำสั่งกรณีนายจตุพรพร้อมกับจำเลยอื่นในคราวเดียวกัน
       
       สำหรับการนัดสอบถามแกนนำ นปช.และจำเลยคดีก่อการร้ายอีก 24 คน ได้แก่ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ,นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ มีขึ้นหลังนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือขอให้ศาลทบทวนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว เนื่องจากได้พูดข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าตุลาการฯ จะมีคำวินิจฉัยกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ศาลจึงได้ออกหมายเรียกแกนนำ นปช.และจำเลยทั้ง 24 คนที่มีพฤติกรรมคล้ายกันมาไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค.เพื่อมีคำสั่งว่าจะถอนประกันจำเลยทั้งหมดหรือไม่
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลแจ้งเลื่อนสั่งคดีนายจตุพร ศาลได้แจ้งนายจตุพรด้วยว่า แม้นายจตุพรจะมีเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่นายจตุพรไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของคนอื่น จึงขอกำชับและตักเตือนให้นายจตุพรระมัดระวังการปราศรัยหรือการแถลงข่าวใดใดให้มากกว่านี้ และขอให้ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองและศาลอาจสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวได้
       
        ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ได้แถลงเชิญชวนให้คนเสื้อแดงเดินทางไปให้กำลังใจนายจตุพรและแกนนำคนอื่นๆ ที่ศาลอาญาในวันที่ 9 ส.ค. พร้อมหวังว่าผลที่ออกมาน่าจะเป็นบวก โดยศาลอาจเรียกไปอบรมแล้วปล่อยตัวกลับมา
       
        ทั้งนี้ นอกจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะขอให้ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพรแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นาวเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีแกนนำ นปช.อีกหลายคน เช่น นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ,จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ข้อหาดูหมิ่นและข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในฐานะเจ้าพนักงาน ให้เกิดความกลัวขณะทำหน้าที่ โดยได้มีการบอกเบอร์โทรศัพท์ให้พรรคพวกโทรไปหาตุลาการฯ เพื่อก่อกวนและข่มขู่ ซึ่งมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
        นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังได้แจ้งความดำเนินคดีนายอนุรักษ์ เจตนวนิชย์ และนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นักจัดรายการวิทยุชุมชนและพวกประมาณ 25 คน ที่ไปเผาโลงจำลองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญและมีการไปแจ้งความดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวฐานแจ้งความเท็จ รวมทั้งดูหมิ่นและข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เกิดความกลัวด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 กรกฎาคม 2555