ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 พ.ค.2555  (อ่าน 962 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 พ.ค.2555
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2012, 18:29:52 »
1. “ในหลวง” ทรงเครื่องแบบทหารเสด็จฯ ทุ่งมะขามหย่อง พสกนิกรนับแสนเฝ้ารับเสด็จ เผย ใกล้เสด็จฯ ออกจาก รพ.ได้แล้ว!
       
           เมื่อวันที่ 25 พ.ค. เวลาประมาณ 16.30น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลศิริราช  เพื่อไปพักผ่อนพระอิริยาบถและติดตามงานตามพระราชอัธยาศัย ณ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการแก้มลิงและเป็นสถานที่ตั้งพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย และที่สำคัญ เป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ ไปทรงเกี่ยวข้าว ณ ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อปี 2539
       
           ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ มีประชาชนจากทุกสารทิศจำนวนนับแสนคนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองและชมพูไปเฝ้ารอรับเสด็จเพื่อชื่นชมพระบารมี  ขณะที่สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ประชาชนชาวไทยจำนวนมากมารอเฝ้ารับเสด็จตามท้องถนนตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปจนถึงพระนครศรีอยุธยา เพื่อชื่นชมพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด นับเป็นการเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
       
       โอกาสนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทรงมีพระพักตร์สดใส และทรงโบกพระหัตถ์ พร้อมแย้มพระโอษฐ์ให้กับประชาชนตลอดเส้นทาง ขณะที่ประชาชนพร้อมใจกันเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยกกล้องส่วนพระองค์ขึ้นมาฉายรูปประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จด้วย
       
       หลังรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนถึงพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และครอบครัว ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโฉนดที่ดินแปลงนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวข้าวเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2539 ขณะที่นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
       
       จากนั้น ได้เสด็จฯ ไปยังศาลากลางน้ำ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียง “ทุ่งมะขามหย่อง ผืนแผ่นดินทองแห่งพระมหากรุณาธิคุณ” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวว่า เมื่อปี 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำรอบพระราชานุสาวรีย์พระสุริโยทัย เพื่อนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง และในปี 2538 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ จ.พระนครศรีอยุธยา ปล่อยน้ำเข้าพื้นที่พระราชานุสาวรีย์ เพื่อบรรเทาปัญหาแก่ราษฎรที่เดือดร้อนจากอุทกภัย และนำน้ำไปใช้ในการเกษตรต่อไป
       
       ทั้งนี้ หลังการแสดงต่างๆ จบลง ประชาชนต่างลุกขึ้นยืนจุดเทียนชัยถวายพระพรและพร้อมใจกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา 2 รอบ ก่อนเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังกึกก้องและยาวนานทั่วทั้งทุ่งมะขามหย่อง กระทั่งเวลา 19.25น. จึงเสด็จฯ ไปยังพระตำหนักสิริยาลัย และเสวยพระกระยาหารค่ำตามพระราชอัธยาศัย ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯ กลับโรงพยาบาลศิริราช
       
       ด้านนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เผยว่า การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปยังทุ่งมะขามหย่องครั้งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงานของอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่อง หลังประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 ซึ่งพระองค์ทรงอยากให้ประชาชนได้รู้ถึงประโยชน์ของน้ำท่วม หากบริหารจัดการน้ำได้ดี จะเกิดประโยชน์
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้บอกข่าวดีกับประชาชนระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ จ.นครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาลศิริราชได้ในเร็ววันนี้ เนื่องจากพระพลานามัยดีขึ้นมากแล้ว
       
       2. “บิ๊กบัง” ดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา -“ขุนค้อน” รีบชงเข้าวาระ 31 พ.ค. ด้าน “ปชป.” ซัด ทำเพื่อ “ทักษิณ” คนเดียว!

       เมื่อวันที่ 24 พ.ค. มีข่าวแพร่สะพัดว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งในเวลาต่อมา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้ออกมายอมรับว่า พล.อ.สนธิ ได้ยื่นญัตติด่วนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณาจริง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และตรวจสอบแล้ว ทุกอย่างถูกต้อง จึงบรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว น่าจะพิจารณาได้ในวันที่ 30-31 พ.ค.
       
           นายเจริญ เผยด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมีทั้งสิ้น 8 มาตรา สำหรับผู้ที่จะได้รับอานิสงส์จากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีประมาณ 3 กลุ่ม 1.ผู้ชุมนุมทางการเมือง 2.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะปฏิวัติ และ 3.นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งจากกรณีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เพียงให้มีการนิรโทษกรรมความผิดจากการกระทำระหว่างการชุมนุม แต่ยังมีการลบล้างคดีความและคำพิพากษาต่างๆ เสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยทำผิดหรือต้องคำพิพากษามาก่อน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดา จะได้รับอานิสงส์โดยตรง ซึ่งอาจรวมถึงคดียึดทรัพย์ด้วย
       
       ทั้งนี้ มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2548 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่ถือเป็นความผิด หากมีการกระทำใดผิดกฎหมาย ก็ให้พ้นผิดโดยสิ้นเชิง  มาตรา 4 ระบุว่า หากคดีใดอยู่ระหว่างสอบสวน ก็ให้ยุติการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้องร้อง ถ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี หากศาลตัดสินไปแล้ว ก็ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว และหากบุคคลใดอยู่ระหว่างรับโทษ ก็ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นทันที
       
       ขณะที่มาตรา 5 ระบุว่า บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หรือได้รับผลกระทบจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) หรือได้รับผลกระทบจากองค์กรหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งตามประกาศ คปค. ก็ไม่ต้องเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิด ส่วนมาตรา 6 ระบุให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค สิ้นผลทันที โดยให้ถือว่ากรรมการบริหารพรรคนั้นไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมาตราดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เพื่อความปรองดอง
       
       ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงการยื่นญัตติด่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ พล.อ.สนธิว่า ถ้าเป็นเรื่องด่วน ก็สามารถเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในวันที่ 31 พ.ค.ได้ โดยการพิจารณารับหลักการ ใช้เวลาเต็มที่ 1 วัน ก็น่าจะจบได้ หรือจะขยายเพิ่มอีก 1 วันก็ไม่มีปัญหา  ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นหรือไม่ นายสมศักดิ์ ชี้ว่า บ้านเมืองถึงเวลาต้องปรองดองกันแล้ว ยุคนี้ใครไม่ปรองดองก็บ้าแล้ว
       
       หลัง พล.อ.สนธิ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภา ปรากฏว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาซัด พล.อ.สนธิ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การที่รองประธานสภาฯ บรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นเรื่องด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระ ถือเป็นการลักไก่แบบเงียบเชียบ จึงสะท้อนข้อเท็จจริง 3 ข้อ คือ 1.การอ้างจัดสานเสวนาก่อน ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เป็นแค่กลวิธีลับ ลวง พราง หลอกประชาชน 2.การขยายสมัยประชุมสภาออกไป เป้าหมายที่แท้จริงไม่ใช่การเร่งออกกฎหมายเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อคนคนเดียว และ 3.มีคนบอกว่า เสื้อแดงมาส่งถึงฝั่งแล้ว ต่อไปก็จะหาพาหนะใหม่ขึ้นเขาเองนั้น วันนี้ชัดเจนแล้วว่า พาหนะใหม่ก็คือ คนที่ช่วยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ นายจุรินทร์ ยังชี้ด้วยว่า จากนี้ไป บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น
       
       ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงแล้ว กฎหมายปรองดองก็คือกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง เพียงแต่พ่วงพันธมิตรฯ และกรณีตำรวจ ทหารเข้าไปด้วย “ขอเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิชี้แจงประชาชนให้ชัด 1.ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายนิรโทษกรรม 2.พล.อ.สนธิไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาจริงหรือไม่ ตกลงเงื่อนไขอะไร ถึงยอมเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ 3.นายกฯ อยู่ในฐานะ ส.ส. หัวหน้ารัฐบาล เจ้าของพรรคเพื่อไทย และเป็นน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องแถลงท่าทีให้ชัด เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ อย่าบอกว่าเป็นเรื่องของสภา และ 4.พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไร เพราะถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะมี ส.ส.อย่างน้อย 20 คนได้ประโยชน์”
       
      3. แกนนำพันธมิตรฯ นัดรวมพลต้าน กม.ปรองดองล้างผิด “ทักษิณ” 30 พ.ค.นี้ ที่ลานพระรูปฯ ด้าน “สนธิ” ประกาศขอสู้ครั้งสุดท้าย!

       เมื่อวันที่ 26 พ.ค. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานคอนเสิร์ต “เมืองไทยรายสัปดาห์ภาคพิเศษ” ที่สวนลุมพินี เพื่อรำลึกในโอกาสครบรอบ 4 ปีการเริ่มต้นชุมนุม 193 วันเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551  ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเดี่ยวไมโครโฟนโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทางแกนนำพันธมิตรฯ ได้แถลงความคืบหน้าการเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย รวมทั้งผลการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน จนสามารถประกาศเป็น “ร่างหลักการปกครองประเทศไทย” เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในแนวทางของพันธมิตรฯ โดยหลังจากนี้จะมีการนำร่างหลักการปกครองประเทศไปทำประชาพิจารณ์ และปรับปรุงให้สมบูรณ์ต่อไป
       
           ทั้งนี้ ร่างหลักการปกครองประเทศในแนวทางของพันธมิตรฯ เน้นการลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งมี 15 ข้อ ได้แก่ หลักการปกครองประเทศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ,หลักการปกครองประเทศต่อระบบพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องขจัดเผด็จการที่มาจาการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ที่ครอบงำประเทศทุกรูปแบบ ฯลฯ
       
           นอกจากนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังมีมติเอกฉัท์นัดชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00น. ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนมวลชนไปยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านและขอให้ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ รวมทั้งให้ผู้เสนอ ถอนวาระออกจากที่ประชุมสภาฯ
       
           พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า หากไม่มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกจากสภา กลุ่มพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวต่อไป เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทำลายชาติ แม้พันธมิตรฯ จะได้ประโยชน์จากกฏหมายดังกล่าวก็ตาม แต่ถือว่าไม่จำเป็น เพราะประโยชน์ของชาติสำคัญกว่า
       
           ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศขอสู้เป็นครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พ.ค.นี้ “นับแต่ปี 2548 มาถึงวันนี้ 7 ปีเต็ม ...สำหรับคนๆ หนึ่ง เดินทางมา 7-8 ปีแบบนี้ โดนคดีความ โดนคดีที่ผู้พิพากษาท่านมีความสุขมากกับการที่ผมผิด 1 เจตนา ท่านเปลี่ยนไปเป็น 8 เจตนา แล้วจำคุกผม 85 ปี ท่านมีความสุขปล่อยให้ท่านมีความสุขไป ผมไม่ว่า แล้วยังผ่านลูกปืนอีก 200 นัด ยังขึ้นศาล แล้ววันที่ 30 นี้ยังจะต้องออกถนนอีกแล้ว พี่น้องครับ สำหรับคนๆ หนึ่ง อายุ 65 ปี สู้ให้ชาติบ้านเมืองจนถึงวันนี้ สิ่งที่ผมทำมากเกินกว่าพอแล้วพี่น้อง ออกครั้งนี้ผมจะออกครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าแพ้จะต้องตายคาลูกปืนผมจะตาย ถ้าชนะเมื่อไหร่ผมจะล้างมือ แล้วผมจะขอลาออกจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปใช้ชีวิตที่เงียบๆ ไม่ต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาหลอกใช้ผมอีกต่อไป”
       
           นายสนธิ ยังเผยด้วยว่า ทุกวันนี้ตนมีชีวิตอยู่ได้เพราะสวดมนต์ภาวนา และถามตัวเองว่า ทำให้ชาติมากพอหรือยัง ซึ่งตอบได้ว่ายัง ต้อง 30 พ.ค.นี้ก่อน ดังนั้นหากพ้น 30 พ.ค.นี้แล้ว จะแพ้หรือชนะ หรือจบอย่างไรก็ตาม ตนต้องปล่อยให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ให้อำมาตย์ ให้หลายคนที่หลอกใช้ตนอยู่ และให้พรรคการเมืองบางพรรคที่เคยหลอกใช้ตน ให้รับแผ่นดินนี้เอาไปดูแลต่อไป
       
       4. รบ. จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากการชุมนุมแล้วล็อตแรก 465 ราย - เมิน “ปชป.” ร้อง ป.ป.ช.จ่ายเงินไม่มี กม.รองรับ!

           เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลได้จัดพิธีมอบเงินเยียวยาแก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. และ 6 มี.ค.2555 ที่อนุมัติเงินเยียวยา 2,000 ล้านบาท
       
           ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีมอบเงินเยียวยาดังกล่าว โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งยกเลิกหมายดังกล่าว และให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปคอป.) เป็นประธานแทน ซึ่งนายยงยุทธ บอกว่า นายกฯ ติดภารกิจที่ภาคเหนือ กลับมาไม่ทัน จึงให้ตนเป็นประธานแทน
       
           สำหรับยอดผู้ได้รับเงินเยียวยาล็อตแรกนี้มีจำนวน 524 ราย แบ่งเป็น เสียชีวิต 44 ราย ,ทุพพลภาพ 6 ราย ,บาดเจ็บสาหัส 58 ราย ,บาดเจ็บ 177 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย รวมยอดเงินเยียวยา 577,663,079 บาท อย่างไรก็ตามมีผู้มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยาล็อตแรกแค่ 465 ราย  ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียน ได้แก่ ญาติของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ,ญาติของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นต้น
       
           ด้านนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า เผยเหตุที่ยังไม่ได้ไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ว่า ไม่ได้ปฏิเสธการรับเงิน แต่เป็นเพราะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เรียกประชุมตรงกันพอดี ประกอบกับต้องใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ
       
           สำหรับตัวเลขเงินเยียวยาล็อตแรกนี้ นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เผยว่า แบ่งเป็น 5 ประเภท 1.เสียชีวิต ได้รับเงิน 7.75 ล้านบาท แต่หากมีการรักษาและเสียชีวิตภายหลังจะได้เพิ่มอีก 200,000 บาท รวมเป็น 7.95 ล้านบาท 2.ทุพพลภาพ ได้รับเงิน 7.9 ล้านบาท 3.บาดเจ็บสาหัส ได้รับเงิน 1.75 ล้านบาท 4.บาดเจ็บไม่สาหัส ได้รับเงิน 695,000 บาท และ 5.บาดเจ็บเล็กน้อย ได้รับเงิน 235,000 บาท
       
           อย่างไรก็ตาม เงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทนั้น นายปกรณ์ บอกว่า พม.จ่ายเป็น 2 ลักษณะ โดยจ่ายเป็นเงินสด 3.25 ล้านบาท ส่วนอีก 4.5 ล้านบาท ให้เป็นสลากออมสินแทน นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่รับเงินเยียวยา จะต้องยุติการฟ้องร้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน อีกทั้งเงินเยียวยา นำมาจากภาษีประชาชน และรัฐบาลได้พยายามเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมอย่างเต็มที่แล้วเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตและอยากให้เกิดความปรองดอง  สำหรับผู้ที่ยอมถอนฟ้องทางแพ่งเพื่อรับเงินเยียวยา ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา ที่อยู่สายเสื้อแดง โดยนางพะเยาว์ พูดทำนองเสียใจที่ต้องถอนคดีแพ่ง แต่ยืนยันว่าคดีอาญาที่ตนฟ้องจะเดินหน้าต่อไป
       
           ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาขู่จะร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หากรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 7.75 ล้านแก่ผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า ทุกอย่างทำตามขั้นตอน มีการตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการ และเสนอเรื่องผ่านที่ประชุม ครม. พร้อมชี้ว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีการจ่ายเงินชดเชยในลักษณะนี้มาแล้ว รัฐบาลก็ใช้ระเบียบคล้ายๆ เดิม ไม่ต่างกัน
       
      5. ป.ป.ช. ชี้ “สุพจน์” ร่ำรวยผิดปกติ ส่ง อสส.ดำเนินคดี พร้อมเสนอยึดทรัพย์ 18 ล้าน ด้านเจ้าตัว ลาออกจากราชการแล้ว!

       เมื่อวันที่ 24 พ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณากรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ช่วยรายการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดที่มีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ได้แยกทรัพย์สินของนายสุพจน์ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เงินสดกว่า 18 ล้านบาท และทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ที่คนร้ายปล้นไปจากบ้านนายสุพจน์เมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย.2554 แล้วตำรวจยึดกลับคืนมาได้ โดยเก็บเป็นของกลางในคดี 2.เงินฝากในบัญชีธนาคาร ที่ดิน รถยนต์ อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ที่นายสุพจน์ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไว้ และ 3.ทรัพย์สินอื่นบางรายการ เช่น รถยนต์
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินในส่วนที่ 1 คือเงินสดกว่า 18 ล้านบาท เป็นของนายสุพจน์จริง แม้นายสุพจน์จะต่อสู้ว่าเงินดังกล่าวเป็นของตัวเองเพียง 5,068,000 บาท โดยแยกเป็นเงินสินสอดงานแต่งงานของบุตรสาว 2 ล้านบาท ,เงินที่บิดาของคู่สมรสของบุตรสาวมอบให้เป็นทุนในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ 2.5 ล้านบาท และเงินรับไหว้จากญาติผู้ใหญ่ 568,000 บาท แต่ ป.ป.ช.พบพิรุธว่า เงินของกลาง 18 ล้านบาทที่ตำรวจยึดมาจากคนร้ายอยู่ในสภาพที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ไม่มีสายคาดจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต่างจากเงินสินสอดที่นายสุพจน์นำภาพมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เป็นธนบัตรใหม่และมีสายคาดของ ธปท. ดังนั้น เงินของกลางที่ยึดได้ จึงไม่มีเงินสินสอดจากงานแต่งงานของบุตรสาวนายสุพจน์ ส่วนเงินที่บิดาของคู่สมรสของบุตรสาวให้เป็นทุนนั้น ก็ไม่มีพยานรู้เห็น การอ้างว่าเป็นการให้แบบฉุกละหุกและไม่เปิดเผย จึงไม่มีเหตุผลและผิดวิสัยของการมอบเงิน จึงเชื่อว่าไม่มีการมอบเงินดังกล่าวจริง ส่วนเงินรับไหว้จากญาติผู้ใหญ่ มีพยานหลักฐานของผู้มอบให้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีการมอบให้จริง และอาจรวมอยู่ในเงินดังกล่าว
       
        เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ป.ป.ช.จึงมีมติว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เพราะมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติจำนวน 17,553,000 บาท และทองคำรูปพรรณหนัก 10 บาท จึงมีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด(อสส.) ดำเนินคดีและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
       
        สำหรับความเคลื่อนไหวของนายสุพจน์นั้น ล่าสุด ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า เหตุที่ลาออกไม่ใช่ถอดใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องการเปิดทางให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทน ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้อนุมัติใบลาออกแล้ว และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า
       
        ส่วนความคืบหน้าการติดตามจับกุมคนร้ายที่ร่วมกันปล้นบ้านนายสุพจน์นั้น พล.ต.ต.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ยืนยันว่า ในส่วนของผู้ต้องหา 3 คนที่ยังหลบหนี ประกอบด้วย นายวีระศักดิ์ หรือโก้ เชื่อลี ,นายคำนวณ หรือนวน เมฆน้อย และนายพงษ์ศักดิ์ หรือเจี๊ยบ นามวงศ์ ทาง บช.น.ยังไม่ละทิ้งการติดตาม พร้อมยืนยันว่า ผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ที่ประเทศลาว โดยมีพวกค้าไม้ให้ความช่วยเหลืออยู่ ส่วนผู้ต้องหาที่จับกุมได้แล้ว 9 คน พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 9 ต่อศาลแล้ว ซึ่งศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกวันที่ 29 ม.ค. 2556

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 พฤษภาคม 2555