ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 27 พ.ค.-2 มิ.ย.2555  (อ่าน 964 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
1. สภาฯ เลื่อนถก กม.ปรองดองออกไปไม่มีกำหนด ด้านพันธมิตรฯ ประกาศพักชุมนุม ขณะที่ “ผู้การแต้ม” ถูกเด้งเข้ากรุ คาด ไม่ยอมสลายม็อบ!

       ความคืบหน้าหลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้รีบบรรจุเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 30-31 พ.ค. ขณะที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วย ประกาศนัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้ารัฐสภาในวันที่ 30 พ.ค.เช่นกัน เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่มุ่งล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น
       
       ปรากฏว่า พล.อ.สนธิ ได้ออกมายืนยันว่า การเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ตนคนเดียว พร้อมย้ำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเพียงถนนเส้นหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรองดอง และว่า อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาหรือสร้างความปรองดองได้เร็ว ต้องรีบทำ อย่ารอช้า เพราะบ้านเมืองรอไม่ได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ มีมากถึง 4 ร่าง คือ 1.ร่างของ พล.อ.สนธิ 2.ร่างของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.กลุ่มเสื้อแดงในพรรค ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับร่างของ พล.อ.สนธิ ต่างกันตรงที่ร่างของนายณัฐวุฒิ ไม่ให้ลบล้างความผิดผู้ที่สั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 3.ร่างของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และ 4.ร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกับร่างของ พล.อ.สนธิ
       
       ด้านแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกจากระเบียบวาระ พร้อมเผยจุดยืนของพรรคว่า จะคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภา รวมทั้งจะรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม ทำลายระบอบการปกครอง พร้อมขอให้ประชาชนที่รักความถูกต้อง ออกมาแสดงการคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย
       
       ขณะที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้ว่า หากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ดังกล่าวผ่านสภา จะเป็นครั้งแรกที่ระบบตุลาการถูกแทรกแซง โดยอำนาจตุลาการจะถูกยกเลิกแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่จะไม่มีการยกเลิกอำนาจตุลาการ
       
       สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ปรากฏว่า มีมวลชนมาร่วมด้วยจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มเสื้อหลากสีของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ออกมาร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เช่นกัน จากนั้นพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนมวลชนไปหน้ารัฐสภา และยื่นหนังสือต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยให้เหตุผลที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งลบล้างความผิดของบุคคลต่างๆ ทั้งที่บางคดีมีคำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุดแล้ว,กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความชัดเจน กินความกว้าง และกระทบหลายองค์กร,มีการก้าวล่วงล้มล้างคำพิพากษาของศาล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ,กฎหมายปรองดองฉบับนี้เป็นการทำผิดต่อกฎหมายอาญาหลายมาตรา ฯลฯ จึงขอให้สภาฯ ระงับร่างกฎหมายดังกล่าว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่พันธมิตรฯ ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ อยู่หน้าสภาฯ ปรากฏว่า บรรยากาศในสภาเป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ซึ่งอยู่ลำดับที่ 27 ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงว่า ก่อนพิจารณาว่าควรเลื่อนเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหรือไม่นั้น ควรพิจารณาก่อนว่า ร่างฯ ดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ เพราะอาจเกี่ยวพันกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท ที่จะมีการคืนเงินหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกฎหมายการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีเซ็นรับรองก่อน จึงจะบรรจุเข้าสภาได้ โดยควรถามไปยัง พล.อ.สนธิ ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม หรือไม่ก็เรียกประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ ทั้ง 35 คณะให้เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องนี้
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ พยายามย้ำอยู่หลายครั้งว่า เป็นอำนาจของตนในการวินิจฉัยว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนหรือไม่ พร้อมอ้างว่า ที่ตนบรรจุร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภา เพราะโพลต่างๆ บอกว่าประชาชนทั่วประเทศต้องการความปรองดอง ทั้งนี้ บรรยากาศเริ่มตึงเครียด โดย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านต่างโห่โต้ตอบกันไปมา จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ตะโกนขึ้นว่า “ประธานคนเดียวจะวินิจฉัยได้อย่างไร ถ้าบ้านเมืองฉิบหายแตกแยก จะรับผิดชอบกันอย่างไร ช่วยเป็นกลางหน่อย อย่าทำเพื่อทักษิณ ที่นี่ไม่ใช่สภาทาส...” ด้านนายสมศักดิ์ ได้ตัดบทด้วยการสั่งพักการประชุม
       
       เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง ก็เกิดความวุ่นวายอีก เมื่อนายสมศักดิ์พยายามให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องเลื่อนญัตติร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า ประธานกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ พร้อมส่งเสียงโห่นายสมศักดิ์ ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาด่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ขณะที่นายสมศักดิ์ ยังพยายามเดินหน้าจะให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ วิ่งกรูกันไปที่หน้าบัลลังก์ประธานสภาฯ ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทยรีบวิ่งกรูไปคุ้มกันนายสมศักดิ์ ขณะเดียวกันตำรวจรัฐสภากว่า 20 นาย รีบเข้ามาอารักขานายสมศักดิ์บนบัลลังก์เช่นกัน ด้านนายสมศักดิ์ เมื่อหายตกใจรีบสั่งพักการประชุม
       
       ทั้งนี้ ระหว่างพักประชุม เหตุการณ์ยังคงวุ่นวาย โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้ตะโกนต่อว่าสภาเผด็จการ พร้อมชูป้าย “ปรองดองต้องไม่ฟอกผิดเป็นถูก” ขณะที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ พยายามขึ้นไปลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ลงจากบัลลังก์ แต่ถูกนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นำทีม ส.ส.หญิงของพรรค บุกขึ้นไปยื้อแย่งเก้าอี้ประธานคืน หลังเหตุการณ์คลี่คลาย น.ส.รังสิมา เผยเหตุที่ต้องไปลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ว่า เพราะประธานทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง หากยังมีเก้าอี้ไว้ตรงนั้น เดี๋ยวประธานก็จะกลับมานั่งอีก จึงต้องการลากไปไว้ด้านหลัง
       
       หลังไม่พอใจการทำหน้าที่ประธานของนายสมศักดิ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้พากันล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ โดยได้ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็เตรียมฟ้อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายนายสมศักดิ์ ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์วุ่นวายดังกล่าว ส่งผลให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ต้องทำหน้าที่ประธานฯ แทนนายสมศักดิ์ โดยได้สั่งปิดประชุม และนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 31 พ.ค.
       
       สำหรับการประชุมสภาฯ วันที่ 31 พ.ค.ก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก โดยก่อนประชุม ได้มีการประชุมประธาน กมธ.สามัญประจำรัฐสภาทั้ง 35 คณะ เพื่อพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ก่อนมีมติ 22 ต่อ 1 ว่าไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทั้งนี้ ก่อนลงมติ กมธ.ซีกฝ่ายค้านได้วอล์กเอาต์ ไม่ยอมลงมติ
       
       จากนั้นเมื่อมีการประชุมสภาฯ นายสมศักดิ์ได้แจ้งมติของ กมธ.ให้ที่ประชุมทราบ ก่อนตัดบทด้วยการให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ตามข้อเสนอของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางคนได้แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ด้วยการขว้างหนังสือข้อบังคับการประชุมสภาไปที่บัลลังก์ประธาน ขณะที่ผลการลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วยให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนด้วยคะแนน 272 ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นนายสมศักดิ์ได้สั่งปิดประชุมทันที พร้อมนัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 1 มิ.ย.
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด สภาฯ ไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแท่นปูนและลวดหนามไปขวางตามแยกต่างๆ ของถนนที่มุ่งหน้ารัฐสภา คาดว่าเพื่อขวางไม่ให้มวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ประกอบกับผู้ชุมนุมบางส่วนได้ไปปักหลักตามแยกต่างๆ ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ ส.ส.ไม่สามารถเดินทางเข้าสภาได้ นายสมศักดิ์ จึงได้แจ้งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปเป็นวันที่ 6-7 มิ.ย.แทน ขณะที่พันธมิตรฯ ได้ประกาศพักการชุมนุมชั่วคราวเช่นกัน โดยนัดชุมนุมอีกครั้งวันที่ 5 มิ.ย.เวลา 15.00น.ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ พร้อมบอกว่า คราวนี้จะเป็นการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง และพร้อมเคลื่อนไปยังสถานที่ต่างๆ ตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด(2 มิ.ย.) ประธานสภาฯ ได้สั่งงดการประชุมสภาในวันที่ 5-7 มิ.ย.แล้ว พันธมิตรฯ จึงได้ประกาศงดการชุมนุมในวันที่ 5 มิ.ย. แต่ขอให้แนวร่วมเฝ้าระวังในที่ตั้ง และพร้อมเคลื่อนมวลชนทันทีที่มีแถลงการณ์จากแกนนำพันธมิตรฯ
       
       ทั้งนี้ หลังสภาไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ตามกำหนดได้ เพราะการชุมนุมของพันธมิตรฯ ส่งผลให้ตำรวจระดับสูงถูกเด้ง 2 นาย คนแรกคือ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผ.บชน.) โดยถูก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเวลา 30 วัน แล้วให้ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มารักษาราชการ ผ.บชน.แทน ซึ่งมีการประเมินกันว่า เหตุที่โยก พล.ต.ท.วินัย ถ้าไม่ใช่เพราะไม่สามารถเปิดทางกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าสภาได้ ก็อาจเป็นเพราะต้องการป้องกันไม่ให้ พล.ต.ท.วินัยต้องเปลืองตัวหรือมือเปื้อนเลือดหากมีการสลายม็อบ เพราะ พล.ต.ท.วินัย เป็นหลานเขยคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
       
       ส่วนตำรวจอีกนายที่โดนเด้ง ก็คือ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 30 วันเช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ถูกโยกคาดว่าเป็นเพราะรัฐบาลต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุม แต่ตำรวจไม่ทำ เนื่องจาก พล.ต.ต.วิชัย เป็นคนที่ประนีประนอม เน้นการเจรจาเป็นหลัก
       
       2. ศาล รธน.มีมติรับวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน. ขัด กม.หรือไม่ พร้อมสั่งสภาฯ ชะลอโหวตวาระ 3 ด้าน “ทักษิณ” เหิม อัดศาลปล้นอำนาจ!

       เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีมีผู้ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญถึง 5 คำร้อง ประกอบด้วย 1. คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และนายบวร ยสินทร และคณะ
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าประชุมครั้งนี้มี 8 คน ขาดไป 1 คน คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ขอลาประชุม โดยที่ประชุมมีมติ 7 : 1 ว่า ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีที่มีการร้องว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้จากบุคคลที่ทราบถึงการกระทำดังกล่าว ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง ก็คือ นายชัช ชลวร ซึ่งเห็นว่า มาตรา 68 ให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะเป็นผู้ยื่นคำร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       
       ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับคำร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณา โดยให้รวมพิจารณาคำร้องไปในคราวเดียวกัน เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดี พร้อมกันนี้ ศาลยังได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ให้ผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ประกอบด้วย ครม. ,รัฐสภา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ ,นายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะ ส่งหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยศาลจะนัดคู่กรณีไต่สวนในวันที่ 5-6 ก.ค.เวลา 09.30น.
       
       นายพิมล ยังบอกด้วยว่า คณะตุลาการได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมาย หากรัฐสภายังเดินหน้าก็ไม่ได้มีบทลงโทษอะไร แต่การดำเนินการต่อไป อาจเป็นการแสดงเจตนาว่า มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะตามคำร้องจริง
       
       ทั้งนี้ ล่าสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ประกาศงดการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.แล้ว พร้อมกับงดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในวันที่ 6-7 มิ.ย. โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ออกมากล่าวหาว่า การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพราะมาตราดังกล่าวให้อำนาจอัยการสูงสุดเท่านั้นที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นายพร้อมพงศ์ ยังขู่ด้วยว่า ตุลาการฯ ที่รับคำร้องดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และอาจถูกยื่นถอดถอนได้
       
       ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ได้โฟนอินมายังเวที “ครึ่งทศวรรษความจริงวันนี้” ของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เมืองทองธานี(2 มิ.ย.) โดยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกฎหมายหรือไม่ ไว้วินิจฉัย “ขบวนการปล้นอำนาจกำลังเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ชะลอไว้ไม่ให้โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่านักการเมือง นักประชาธิปไตยระหว่างประเทศบอกมีด้วยหรือการละเมิดประชาธิปไตยข้ามสาย ผมก็ตกใจ สืบไปสืบมา ศาลรัฐธรรมนูญเขียนเอง ...ต้องบอกประชาชนว่าจะปล่อยให้กระบวนการปล้นอำนาจเกิดขึ้นอีกหรือ ตกลงจะยอมรับอำนาจที่ไม่มีอำนาจหรือไม่”
       
       พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอ้างด้วยว่า ก่อนที่ตนจะเข้ามาเล่นการเมืองมีเงิน 8.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเข้ามาเล่นการเมืองมีแต่เงินหายไป ส่วนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดไป ก็เป็นเงินของตนที่ถูกปล้นไป
       
       3. ศาล พิพากษาจำคุก “พล.อ.ธรรมรักษ์” 3 ปี 4 เดือน คดี ทรท.จ้างพรรคเล็ก ด้านเจ้าหน้าที่ กกต.รับสินบนแก้ข้อมูล เจอคุก 5 ปี!

       เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย(ทรท.) ,นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ,นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย ,นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีตผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และ 11
       
       ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 2-7 มี.ค.2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับนายชวการ จำเลยที่ 3 จ้างวานให้นายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงาน กกต.เป็นเงิน 30,000 บาท ให้ตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้
       
       ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอมรวิทย์เป็นคนเดียวที่มีรหัสผ่านเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ซึ่งหลังเกิดเหตุนายอมรวิทย์ได้สารภาพกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.ว่าเป็นผู้ไปรับแบบเอกสารแจ้งเปลี่ยนข้อมูลสมาชิกพรรคพร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลจากนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อมาแก้ไขข้อมูล โดยไม่ผ่านขั้นตอนการลงรับเอกสารงานสารบรรณ และไม่มีการเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยคิดว่าสามารถทำได้ เพราะปรึกษาเพื่อนร่วมงานแล้ว ซึ่งศาลเห็นว่า นายอมรวิทย์ทำงานมา 2 ปีเศษ ต้องรู้กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ การกระทำของจำเลยจึงสะท้อนถึงเจตนาอันมิชอบอย่างชัดแจ้ง
       
       ส่วน พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายชวการ ได้ใช้ให้นายอมรวิทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ ศาลเห็นว่า นายชวการเคยให้การไว้ว่า ได้รับการติดต่อจากนายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิท พล.อ.ธรรมรักษ์ว่า พล.อ.ธรรมรักษ์อยากพบ จากนั้นได้เดินทางไปพบที่พรรคไทยรักไทยช่วงปลายเดือน ก.พ.2549 ต่อมาวันที่ 3 มี.ค.2549 ได้ไปพบที่กระทรวงกลาโหม โดยได้รับเงินมา 50,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายให้นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 เพื่อชำระค่าลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพัฒนาชาติไทย จากนั้นวันที่ 6 มี.ค.2549 นายทวีก็ได้นำเงินมาให้นายชวการอีก 760,000 บาท เพื่อแบ่งให้ผู้สมัคร ส.ส. จากนั้นวันที่ 8 มี.ค.2549 นายทวีได้นำเงินมาให้อีก 140,000 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีของนายสุขสันต์ จำเลยที่ 4 ซึ่งนายสุขสันต์ เคยเบิกความยอมรับว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากนายชวการแล้ว ก็ไปหาผู้สมัคร พร้อมยอมรับว่า นายบุญทวีศักดิ์ได้นำแผ่นบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและรายชื่อบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส.มาให้ตนแก้ไข
       ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ที่พรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กเท่านั้นที่ส่งผู้สมัคร จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า หากพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียว โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ พรรคไทยรักไทยย่อมไม่มีโอกาสได้รับเลือกเกิน 20% ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการที่นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 4 จัดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยเน้นจังหวัดภาคใต้ จึงสมประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย
       
       ขณะที่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบ ก็ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหรือหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 5 กระทำผิดจริง ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ,3 ,4 และ 5 คนละ 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน พร้อมทั้งให้ริบเงินสดของกลาง 30,000 บาท
       
       หลังฟังคำพิพากษา พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 และนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ซึ่งศาลอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท
       
      4. “ซูจี” ออกนอก ปท.ครั้งแรกในรอบ 24 ปี ประเดิมมา “ไทย” พร้อมปลุกแรงงานพม่าให้รัก ปทท. หยอด อีก 10-15 ปี ได้กลับ ปท.!

       เมื่อคืนวันที่ 29 พ.ค. นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก 2012 (World Economic Forum 2012) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งจะมาเยี่ยมแรงงานพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศของนางซูจีครั้งนี้ ถูกจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งที่ผ่านมา นางซูจีปฏิเสธที่จะเดินทางออกนอกประเทศมาตลอด เนื่องจากเกรงว่าหากเดินทางออกมาแล้ว รัฐบาลทหารพม่าจะไม่อนุญาตให้เธอกลับเข้าประเทศอีก
       
       ทั้งนี้ นางซูจีและคณะได้เดินทางไปดูวิถีชีวิตของแรงงานพม่าที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีชาวพม่านับหมื่นคนมารอต้อนรับ โอกาสนี้ นางซูจีได้ขอให้แรงงานพม่าให้เกียรติประเทศไทยและคนไทย อย่าได้สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ต้องทำงานให้ดี ถ้ามีอะไรก็ให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ไทย “อยู่เมืองไทยต้องรู้รักษาความสงบภายในบ้านเมืองของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ขอให้รักประเทศไทยเหมือนกับรักประเทศพม่า การทำงานก็ต้องทำให้เต็มที่ ช่วยกันดูแลเมืองไทยให้ดี และอีก 10-15 ปีข้างหน้า สถานการณ์ในประเทศพม่าก็จะดีขึ้น แรงงานทุกคนก็จะได้กลับประเทศ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างอยู่ในไทย ไม่เพียงนางซูจีจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนแรงงานพม่าในจังหวัดต่างๆ แต่ยังได้พบหารือกับนักการเมืองของไทยด้วย เช่น หารือเป็นการส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เผยในเวลาต่อมาว่า เป็นการหารือเรื่องทั่วไป ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจในพม่า การปรับปรุงระบบกฎหมายในพม่า เพื่อให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนได้สะดวก
       
       นอกจากนี้นางซูจียังได้เข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องปัญหาของแรงงานพม่าในไทย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า แรงงานพม่าในไทยมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แต่ลงทะเบียนไว้เพียง 8 แสนคน อีก 1.2 ล้านคนอยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้รัฐบาลพม่าตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติใน 5 จังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ได้แก่ ภูเก็ต ,สุราษฎร์ธานี ,สมุทรสาคร ,สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยแรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนพม่าแล้วลงทะเบียนตามกฎหมาย จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทเท่ากับแรงงานไทย นอกจากนี้ยังจะได้รับสวัสดิการต่างๆ และได้เข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่เท่านั้นรัฐบาลไทย-พม่า ยังได้เตรียมทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) เพื่อให้คนพม่าได้เรียนโรงเรียนไทยด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มิถุนายน 2555