ผู้เขียน หัวข้อ: 10 ปัญหาเผือกร้อน ท้าทายรัฐมนตรีสาธารณสุขใหม่  (อ่าน 1388 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาร้อนที่ค้างคารอพิสูจน์ฝีมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ "นายวิทยา บุรณศิริ" ให้เข้ามาถอดรหัสในมุมมองของบุคลากรสาธารณสุขและเครือข่ายภาคประชาชน 10 ต้อง กับความหวังของวงการแพทย์

1.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ เป็นปัญหาที่สะสมมานานในแวดวงสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะกรณีญาติหรือคนไข้ที่ไม่พอใจผลการรักษา เข้าใจว่าแพทย์รักษาไม่ดีบ้าง หรือบกพร่องในการรักษาจนส่งผลต่อชีวิตคนไข้ และนำไปสู่ประเด็นการฟ้องร้อง ขณะที่แพทย์มองว่ารักษาเต็มที่แล้ว แม้ปัจจุบันจะมีมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เยียวยาเบื้องต้น แต่ทว่าปัญหาไม่จบสิ้น นำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.. ที่มีความเห็นต่างชนิดรุนแรง เป็นอีกเผือกร้อนที่รอให้เร่งดำเนินการ

2.ปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) ขาดสภาพคล่องที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 รพ.สังกัดกระทรวงฯ 261 แห่ง จากทั้งหมด 875 แห่ง ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องอุดช่องโหว่ ด้วยการจัดสรรเงินให้ รพ.ต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ดิ้นรนแก้ปัญหากันเอง เรื่องนี้ควรมีการวางระบบในภาพรวมว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ทั้งเรื่องการจัดสรรงบฯที่ควรดูความกระจายตัวของประชากรในแต่ละพื้นที่ อัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ที่จัดสรรเท่ากันหมดอาจไม่เพียงพอ ขณะที่ค่าตอบแทนควรพิจารณาเป็นภาระงาน เป็นต้น

3.บุคลากรแพทย์ขาดแคลน แพทย์กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ แพทย์ตามหน่วยบริการระดับปฐมภูมิไม่ค่อยมี คนไข้ส่วนใหญ่จะต้องวิ่งโร่เดินทางไปรักษาถึงในเมือง กลายเป็นภาพชินตาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีคนไข้แออัดชนิดไม่มีที่นั่งรอ ปัญหาแพทย์สมองไหลก็เป็นอีกเรื่องที่ รพ.รัฐประสบมาโดยตลอด เรื่องนี้มีหลายฝ่ายเสนอแนวทางแก้ไข ทั้งการแยกตัวจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้มีความเป็นอิสระ สามารถจัดสรรตำแหน่งได้ โดยไม่ต้องรอ ก.พ.กำหนด หรือให้อยู่ในระบบต่อไป แต่ต้องมีการต่อรองกับรัฐบาลอย่างจริงจัง

4.ปัญหาค่าตอบแทน เป็นปัญหาที่ถูกเรียกร้อง โดยเฉพาะความต้องการให้คิดตามภาระงาน แม้ปัจจุบัน สธ. จะจัดสรรงบฯถึง 4.2 พันล้านบาท เพื่อกระจายให้ รพ.ทั้งระดับจังหวัด และชุมชนแล้ว แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาที่ต้องพบทุกปี

5.การขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรรักษาฟรี บัตรทอง หรือบัตร 30 บาทนั่นเอง ประเด็นคือ การทำอย่างไรให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน หรือไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างหลักประกันสุขภาพฯ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งนำไปสู่ประเด็นการรวม 3 กองทุน หรือล่าสุดการขยายไปยังผู้ประกันตน โดยอาศัยมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่ได้ข้อชัดเจน แต่เป็นเรื่องที่ถือว่ากระแสสังคมจับตามองเป็นพิเศษ ยิ่งจะมีการฟื้นเก็บ 30 บาท งานนี้คงมีเสียงค้านไม่น้อย

6.การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (รพ.) อย่างที่ผ่านมามีการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) กว่า 9 พันแห่ง ทั้งการปรับปรุงอาคารสถานที่และป้ายโรงพยาบาล มีบุคลากรครบ มีระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อกับ รพ.แม่ข่าย เช่น อินเตอร์เน็ต เพื่อรองรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหมดเพื่อการบริการแก่ประชาชนที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือ บุคลากรอาจไม่เพียงพออย่างที่คิด รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ด้วย

7.การส่งเสริมป้องกันโรค ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อลดงบฯการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ เรื่องนี้ถูกจับตามองว่าจะดำเนินการเป็นรูปธรรมอย่างไร ทั้งเรื่องงบฯต้องมีการแบ่งสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย

8.งานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ การซื้อเครื่องสำอาง อาหาร ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน สินค้าปลอม หรือแม้กระทั่งพบสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต สิ่งเหล่านี้อาจไม่เน้นแค่การบุกจับ แต่ต้องเน้นกวาดล้างอย่างเป็นระบบด้วย

9.ประเด็นการสานต่อกฎหมายด้านสุขภาพต่างๆ ทั้งการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจบริการสุขภาพ พ.ศ. ที่จะช่วยควบคุมธุรกิจสปาที่อาจมีการแอบแฝงขายบริการทางเพศ หรือการผลักดันกฎหมายลูกของ พร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เคยเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีทั้งหมด 6 ฉบับ ทั้งการห้ามขายเหล้าปั่น การห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร การกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนท้ายรถกระบะ การติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์ ห้ามขายในสนามกีฬาของรัฐ ให้กำหนดคล้ายๆ สถานศึกษาที่ห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ในส่วนของสนามกีฬาของเอกชนกำหนดห้ามขายเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขโดยสามารถขายได้ในสโมสรของสนามกีฬานั้นๆ และห้ามขายและดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม

และสุดท้าย 10.การคลี่คลายปัญหาในกระทรวงฯ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ภาพรวมของประชาชน แต่เป็นปัญหาความขัดแย้งที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ยิ่งล่าสุดมีประเด็นความเห็นต่าง "สิทธิการตาย" หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะเถียงกันไม่จบสิ้น

เหล่านี้ คือ 10 สิ่งท้าทายรอรัฐมนตรี สธ.คนใหม่เข้ามาคลี่คลาย ...

มติชนรายวัน 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554