ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพันธุ์ใหม่  (อ่าน 1387 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ถ้าเรามี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพันธุ์ใหม่

  หลังจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการทำงานลดลง แต่งบประมาณด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการจัดสรรให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อ “จ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ

แต่เงินค่าบริการสาธารณสุขที่ว่านี้ ได้รวมเอาเงินเดือนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เงินค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรครวมทั้งงบประมาณในการซ่อมแซมและพัฒนาอาคารสถานที่ และอื่นๆ ที่กระทรวงสาธารณสุข (เคย)ได้รับเข้าไปด้วย โดยผู้ทำโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิได้มีการสำรวจและวิจัยถึงต้นทุนที่แท้จริงในการดำเนินการของโรงพยาบาลไว้ ทำให้เกิดปัญหาต่อกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

1.โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน

   ในเรื่องการขาดแคลนงบประมาณจนโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้นในปีพ.ศ. 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณ 40,000 ล้านบาทจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ในขณะที่จำนวนเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดในปี 2552 คือ89,385 ล้านบาท(หักเงินเดือน28,584 ล้านบาท)

 ส่วนงบประมาณจากระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น  โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้รับเพียง 20,000ล้าน ( จากงบทั้งหมด 60,000 ล้านบาทที่กรมบัญชีกลางต้องจ่ายในสวัสดิการค่ารักษาของงข้าราชการ)

   โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชาชนมาก มีโรงพยาบาลที่ไม่ใหญ่มาก ก็อาจจะพอมีเงินเหลือ แต่โรงพยาบาลที่มีประชาชน(ตามทะเบียนบ้าน)น้อย แต่อาจมีจำนวนผู้ป่วยมาก เช่นเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือเป็นโรงพยาบาลชายแดน ที่มีประชาชนอพยพจากที่อื่นมาใช้บริการมาก ก็จะมีปัญหาเรื่องการขาดเงินดำเนินการจนถึงกับขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการรายงานของกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ในปีพ.ศ. 2552โรงพยาบาลทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข 807 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ได้กำไรเพียง 302 แห่ง (คิดเป็น 37%) ส่วนที่เหลือจะขาดทุน 505 แห่ง (62.58%)และขาดสภาพคล่องทางการเงิน  175 แห่ง จำนวนเงินที่ขาดทุน 5,575 ล้านบาท

 ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณจากการจ่ายเงินจากกองทุนต่างๆ ไปยังโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งกำหนดการหักเงินเดือนของสปสช.ในระดับเครือข่าย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถบริหารหรือจัดการงบประมาณในแต่ละโรงพยาบาลได้

2. เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชน ทั้งคนจนและไม่จนจำนวน 48 ล้านคน ได้รับการบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

   การยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท ทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น

 ส่วนคนที่ยากจนจริงๆนั้น บางคนอาจไม่มีเงินเป็นค่าเดินทาง ก็อาจจะไม่สามารถมารับบริการได้ แต่ผู้มีเงินมากก็(อาจจะรู้มากด้วย)จะมารักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เรียกร้องการรักษามากขึ้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบดูแลสุขภาพของตนเอง และไม่ต้องร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลย

3.ไม่มีงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการเลยหลังจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลคิดว่างบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนั้น รวมทั้งเงินเดือน(บางส่วน)ของบุลากรกระทรวงสาธารณสุข และงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้นของกระทรวงสธ.แล้ว ทำให้กระทรวงต้องไปของบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมาจากสปสช. โดยแบ่งมาจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

 การขาดงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น โรงพยาบาลมีภาระงานในการตรวจรักษาผู้ป่วยมากขึ้น  ต้องสูญเสียเงินในการดูแลสุขภาพมากขึ้น

4.ขาดงบประมาณในการซ่อมแซมและพัฒนา งบประมาณที่ขาดดุล ทำให้โรงพยาบาลไม่มีงบประมาณในการซ่อมแซม พัฒนาและจัดหาสิ่งองเครื่องใช้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

5.ภาระงานมากขึ้นแต่บุคลากรก็ลาออกมากขึ้น ผู้ป่วยใน (นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล)เพิ่มขึ้น23% ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 32 % จนมีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการถึง 200 ล้านครั้งต่อปี เป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่ทำให้บุคลากรลาออกอย่างต่อเนื่อง

6.การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทุกชนิด บุคลากรหลายๆสาขาวิชาชีพขาดแคลน ต้องรับภาระงานมากเกินไป  มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการทำงาน ขาดเวลาที่จะอธิบายและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยและประชาชน มีความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนฟ้องร้อง และไม่มีความก้าวหน้าและความมั่นคงทางการงาน

7. มาตรฐานการแพทย์(ในกระทรวงสาธารณสุข)ตกต่ำ แพทย์ขาดอิสระในการพิจารณาสั่งการรักษาผู้ป่วย ทั้งๆที่ “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ” ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดกฎเกณฑ์การจ่ายยาและการจ่ายเงินของสปสช. ทำให้แพทย์ต้องสั่งใช้ยาเก่าๆเดิมๆ ตามรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งบางอย่างก็ไม่ใช่ยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย

 ซึ่งการ “มีสิทธิ์สั่งเพียงยาเก่าๆ เดิมๆ” นี้จะทำให้แพทย์ไม่มีประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆที่มีประสิทธิผลดีกว่าเดิม และประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิในระบบ “บัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาฟรีทุกโรงพยาบาล” จะมีความเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายมากขึ้น   เนื่องจากไม่มีสิทธิได้รับยาใหม่ๆที่มีประสิทธิผลสูงสุด ตามดุลพินิจของแพทย์ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

   ผลในระยะยาวก็คือการแพทย์ไทยในระบบของกระทรวงสาธารณสุขนอกจากแพทย์จะไม่สามารถมีประสบการณ์ในการ “พัฒนาการรักษาให้ความก้าวทันโลก และทันโรค” แล้ว ความรู้ทางการแพทย์ไทยยังจะต้องถอยหลังลงคลองไป ในอนาคตอันใกล้นี้  เหมือนกับที่ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ(ในการตอบคำถาม)ว่า “ผมไม่กล้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ทั้งนี้เนื่องจากไม่เชื่อถือว่าจะมีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ไว้ใจได้”

ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข

  ปัญหาในการให้บริการด้านสาธารณสุขในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้าประชาชนมีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตก็จะดีด้วย และจะช่วยให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานได้เต็มที่ สร้างเศรษฐกิจของตนเอง ครอบครัว ส่งผลให้ประเทศชาติมีความก้าวหน้า ม่านคง และเจริญรุ่งเรืองต่อไป

  จะแก้ปัญหาได้ต้องการผู้บริหารพันธุ์ใหม่ คือ ต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพันธุ์ใหม่มาแก้ปัญหา

    ปัญหาทั้งหลายที่เห็นและเป็นอยู่ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขที่กล่าวมา (ยังมีปัญหาต่างๆอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง )ทั้งหมดนี้   เป็นการสุดวิสัยที่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายจะป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ถ้าเรายังไม่มี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพันธุ์ใหม่” ที่สามารถเข้าใจถึงสาเหตุของ “การขาดเอกภาพในการบริหารจัดการ” การบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข  และลงมือแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุแห่งปัญหา”  อย่างจริงจังให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

   มิใช่เอาแต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าจะพัฒนาให้ประชาชนได้รับการบริการฟรีที่มีคุณภาพ โดยไม่ได้ศึกษาปัญหาและแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท)
11 พ.ค. 54