ผู้เขียน หัวข้อ: ผมมีงานมีการทำ....ไม่ต้องการไปขอทานใคร!  (อ่าน 1379 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงานชั้น ๗ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคมนี้  ลูกจ้างชายร่างสันทัด ผิวกร้านดำ ได้ลุกขึ้นพูดอย่างทะนงตัวตามใจความข้างต้น  กลางที่ประชุมผู้ใช้แรงงานกว่า ๒๐๐คน  ที่พากันมาสัมมนาพูดคุยกันว่า   ควรหรือไม่ที่ผู้ใช้แรงงาน กว่า ๙ ล้านคน   จะยกพวกเอาประกันสุขภาพของตนออกจากระบบประกันสังคมไปอยู่ในระบบบัตรทองของฟรีจากรัฐบาล   ดังที่เอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวผลักดันในทุกวันนี้

      อะไรคือเหตุผลที่ชายผู้นั้น และผู้ใช้แรงงาน กว่า ๒๐๐ คน ที่ลงมติเป็นเอกฉันท์ในภาคบ่ายว่าไม่เอาของฟรี  และยอมที่จะลงขันในอัตราโดยเฉลี่ย คนละ ๘๐๐ บาทต่อปี  เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพของพวกตนเองในระบบประกันสังคม ต่อไปอีก     ก็เป็นข้อที่ผมจะขอรายงานไปโดยลำดับดังนี้

     ระบบประกันสังคม

     ที่ประชุมวันนั้นได้ให้ข้อความคิดเป็นความหมายของระบบประกันสังคมไว้ชัดเจนก่อนว่า  เป็นระบบที่สมาชิกพร้อมจะรับผิดชอบตัวเองอยู่ก่อนแล้ว   แล้วจึงออกเงินมารวมเป็นกองทุนกลางเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพร่วมกันของทุกคน    ถ้าเป็นระบบของผู้ใช้แรงงานไทยก็ออกกันเฉลี่ยปีละ ๘๐๐ บาท  มีรัฐกับนายจ้างสมทบให้อีกก้อนหนึ่ง จนทุกคนก็ได้หลักประกันไปถ้วนหน้า  เช่นถ้าใครป่วยเป็นมะเร็ง โดนค่าใช้จ่ายไป ๕ แสนบาท  ก็เอาจากกองกลางนี้ได้   ทั้งๆที่เพิ่งออกเงินไปแค่ ๑๐ ปี  เป็นเงิน ๘ พันบาทเท่านั้นเอง   เป็นต้น

     การลงเงินสร้างหลักประกันร่วมกันเช่นนี้   อาจเกิดขึ้นโดยการร่วมกันซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนก็ได้    หรือแม้ในกรณีสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีของข้าราชการนั้น    พิเคราะห์ให้ลึกๆแล้วก็เป็นประกันสังคมเช่นกัน   เพราะสวัสดิการอย่างนี้คือเหตุผลสำคัญที่ดึงดูดคนให้มาทำราชการด้วยเงินเดือนต่ำได้   ส่วนต่างของเงินเดือนข้าราชการที่ต่ำกว่าตลาดนี่เอง ที่เปรียบได้เช่นเงินที่ข้าราชการได้นำมาลงขันกันไว้เป็นรายเดือน    แล้วจ่ายจริงออกมาจากกรมบัญชีกลางเมื่อมีใครเจ็บป่วย 

     ความเข้าใจเช่นนี้พิเคราะห์ให้ลึกซึ้งต่อไปอีก   ก็จะได้ความคิดต่อไปว่า คนเราถ้าอยู่โดยลำพังไม่ร่วมมืออะไรกันเลย    ก็จะเกิดหลักประกันอะไรขึ้นมาไม่ได้  ต่อเมื่อลงทุนร่วมกันเป็นสังคม  ชีวิตส่วนตนก็จะมีหลักประกันดีขึ้น    เช่นร่วมกันสร้างหลักประกันสุขภาพก็ได้  ร่วมกันสร้างเป็นความฝันหวานถ้วนหน้าทุกสองอาทิตย์สำหรับทุกคนที่ซื้อสลากกินแบ่งก็ได้   

     แม้กระทั่งการร่วมกันโดยสารรถเมล์ตอนเช้า  ไม่ว่านั่งหรือโหนอยู่ท้ายรถ ก็จ่ายตั๋ว ๗ บาทเท่ากันหมด  ซึ่งถ้าดูเฉพาะเที่ยวเช้านั้นรถคันนั้นก็กำไรเละ    แต่พอเที่ยว ๔ ทุ่ม  นั่งอยู่ ๕ คน ก็จ่าย ๗ บาทอีกเหมือนเดิม  ซึ่งถ้าดูเฉพาะเที่ยวดึกนั้นก็ถือว่าขาดทุนยับ   แต่ที่ยังเดินรถดึกได้ในราคาเดิม ก็เพราะอาศัยกำไรจากเที่ยวเช้ามาเฉลี่ยนั่นเอง   มองอย่างนี้แล้วระบบขนส่งมวลชนนี้ก็เป็นหลักประกันของการเดินทางในเมือง  ที่เราทุกคนช่วยกันสร้างไว้เหมือนกันว่า  ทุกคนมีโอกาสต้องกลับดึกได้เสมอ   จึงต้องสร้างระบบกลางเป็นประกันไว้ว่า๔ ทุ่มแล้วก็ยังกลับบ้านได้ในราคา ๗ บาทนั่นเอง

     เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว “ ประกันสังคม”  คือหลักประกันที่เกิดจากการลงทุนลงแรงร่วมกันเป็นสังคม  และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าต่างคนต่างอยู่กันไปตามลำพัง
ระบบโรงทานสังคม

     ระบบรักษาฟรีจากงบประมาณของรัฐนี้มีมานานแล้ว   เพิ่งมาปรับขยายรักษาฟรีไปถึงทุกคนที่ไม่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง รวม ๔๘ ล้านคน   เมื่อในสมัยรัฐบาลทักษิณ ๑ นี่เอง   โดยใน๖ ปีแรก  มีการเก็บค่าธรรมเนียมครั้งละ ๓๐ บาท   จนมาในปี ๒๕๕๐  ถึงได้เลิกเก็บเงิน จนเปลี่ยนฉายาจาก ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เป็น  บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรคไปในที่สุด

     จากการอภิปรายในที่ประชุมผู้ใช้แรงงานได้ปรากฏข้อมูลของระบบนี้ ขึ้นมาโดยลำดับว่า

     ๑)  ระบบนี้ครอบคลุมทั้งคนยากจนจริงประมาณ ๒๐ ล้านคน   และคนที่พอดูแลตัวเองได้กว่า ๒๐ ล้านคน

     ๒) ระบบนี้เรียกตัวเองเป็นกองทุนประกันสุขภาพ   แต่ตัวจริงไม่ได้มีรายได้อะไรนอกจากแบมือของบประมาณแผ่นดินในลักษณะเหมาจ่ายมาเทรวมกันเป็นกอง  แล้วเรียกว่ากองทุนเท่านั้น   การคิดเหมาจ่ายจะคิดเป็นรายหัว หัวละ ๑๒๐๐ บาทในปีแรกแล้วบานปลายขอเพิ่มมาเรื่อยๆ  จนเ ป็น ๒,๘๕๐ บาท/หัว ในปีนี้ และกำลังจะขออีก ๗๐๐ บาท/หัว  ในปีหน้า  เหตุเพราะเงินที่ให้ในอัตราปัจจุบันไม่พอใช้ จนโรงพยาบาลหลวงร้อยกว่าแห่งขาดทุนกว่า๕ พันล้านบาทแล้ว

     ๓) สอบถามกันต่อไปอีกพบว่า  เงินที่เหมาจากรัฐบาลนั้น รวมเงินเดือนบุคลากรด้วย,งบลงทุนด้วย, กิจกรรมพิเศษของ สปสช.ด้วย  เหลือมาเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลประชาชนจริงๆ เพียง ๖๐๐บาท/หัวเท่านั้น    ซึ่งก็หาได้พอกับค่าใช้จ่ายจริงของโรงพยาบาลแต่อย่างใดไม่  ทำให้โรงพยาบาลต้องสำรองจ่ายแล้วได้คืนไม่ครบอยู่ทุกปี   จนขาดสภาพคล่องสิ้นไขมันสิ้นทุนรอนที่เคยสะสมไว้ไปถ้วนหน้าในที่สุด

     ๔) สภาพบานปลายอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อรัฐบาล ขิงได้เลิกค่าธรรมเนียม ๓๐ บาท ทำให้ผู้คนมาขอยาจากโรงพยาบาลกันมากขึ้นง่ายขึ้น   หมอทั้งหลายนั้นเมื่อถูกเอ็นจีโอพาคนไข้มาร้องเรียนฟ้องร้องมากเข้า  ก็เลยต้องสั่งตรวจประกอบการรักษาอย่างถี่ยิบไว้ก่อนเพื่อป้องกันตัว   ส่วนเตียงในทุกโรงพยาบาลก็ล้นมากขึ้น ล้นเพราะคนป่วยเรื้อรังและญาติไม่ต้องการให้นอนป่วยที่บ้านอีกต่อไป ฯลฯ 

     ๕) ด้วยภาระที่มากแต่จ่ายน้อยจ่ายยากอย่างนี้   โรงพยาบาลหลายแห่งจึงทยอยถอนตัวจากระบบบัตรทองนี้มากขึ้นทุกวัน   ทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล กทม. โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่  เหลือแต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณะสุขที่ดิ้นไปไหนไม่ได้  ต้องรับดูแลราษฎร ๔๘ ล้านคน   ด้วยคิวคนไข้ที่ยาวเหยียด  ตั้งแต่ ตี ๕  และภาระหนักอึ้งแทบไม่มีเวลากินข้าวกินปลาที่ตกแก่หมอพยาบาลในปัจจุบันนี้

     ด้วยสภาพอย่างนี้บรรดาคุณหมอกว่า ๕ ท่าน  จึงได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้ใช้แรงงานว่า  ของฟรีแล้วดีด้วย ในโลกนี้ไม่มีแน่นอน   แต่ฟรีแล้วได้มาตรฐานต่ำสุดโดยถ้วนหน้าแบบคอมมิวนิสต์นั้นมีแล้วในระบบบัตรทองนี้นี่เอง    ดังนั้นถ้าพวกคุณดูแลตัวเองได้ มีระบบของคุณอยู่แล้ว จะดีชั่วอย่างไร ก็เป็นเงินของคุณ อยู่ในอำนาจของคุณที่จะปรับแก้ให้ดีขึ้นได้   ก็ขออย่ามาเป็นภาระเพิ่มลงไปในระบบบัตรทองที่กำลังจะตายมิตายแหล่  และไม่มีคนจะดูแลรับผิดชอบได้อีกเลยความไม่เสมอภาค

     ต่อปัญหาที่กลุ่มเอ็นจีโอพยายามดันหลังให้ผู้ใช้แรงงานกลุ่มหนึ่งไปฟ้องศาลปกครองว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติไม่ให้ผู้ใช้แรงงาน ๙ ล้านคนเข้าโรงทานคือรับการรักษาฟรีในระบบบัตรทองโดยเสมอภาคกับผู้อื่นนั้น   ก็ปรากฏข้ออภิปรายโต้แย้งโดยชัดเจนดังนี้

     ๑) สำหรับข้อที่รัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานนั้น    ก็หาได้หมายความว่าต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว
อย่างเช่นที่เอ็นจีโอเข้าใจเอาเองแต่อย่างใดไม่   จะมีหลายระบบก็ได้แต่ต้องเกินมาตรฐานขั้นต่ำทุกระบบ  และทุกคนต้องเข้าถึงได้เท่านั้นเอง

     ๒) ที่ประชุมเห็นต่อไปว่า  ปัญหาความไม่เสมอภาคที่แท้จริงนั้น  น่าจะอยู่ตรงที่การให้คนที่พออยู่พอกินที่อยู่นอกระบบเงินเดือน  ไปแย่งคนจนเพื่อรับรักษาฟรีมากกว่า    ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็จะไม่ขอยอมไปร่วมแย่งกับเขาด้วย

     การปฏิบัติต่อคนจนแร้นแค้นกับคนพอมีฐานะโดยให้การรักษาฟรีเสมอกันด้วยระบบบัตรทองเช่นนี้ต่างหาก  คือความไม่เสมอภาค ที่จะต้องแก้ไข  โดยดึงคนเหล่านี้มาเข้าสู่ระบบประกันสังคม  ไม่ใช่เอาคนในระบบประกันสังคมไปเข้าโรงทานเพิ่มขึ้นอีก

      อิสระชน
 
     “ ผมมีงานมีการทำ....ไม่ต้องการไปขอทานใคร! ”

     จากเนื้อหาที่นำเสนอกันในที่ประชุมผู้ใช้แรงงานเช่นที่ผมได้ลำดับมา  ผมจึงฟังคำกล่าวนี้

     ด้วยความซาบซึ้งและคารวะในจิตใจอิสระชนของท่านผู้พูดเป็นอย่างยิ่ง

     นี่คือ “อิสระชน” ที่เป็นอิสระจากความโลภ  รู้จักละอาย  เมื่อเห็นว่าตนเองยังพอช่วยตัวเองได้  ก็ไม่ขอเห็นแก่เล็กแก่น้อยไปแย่งโอกาสเบียดเสียดกับคนจน

     นี่คือ “อิสระชน” ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้ต้องอ้อนวอนเฝ้ารอของฟรี รอสินค้าประชานิยมต่างๆนานาจากรัฐหรือนักการเมือง   หรือร่วมเคลื่อนไหวกับนายหน้าค้าความจนทั่วราชอาณาจักรเช่นเอ็นจีโอปัจจุบันนี้

     นี่คือ “อิสระชน”  ที่ประกาศว่า เงินประกันสังคมคือสิทธิของผู้ใช้แรงงาน  ข้าราชการเป็นแค่ผู้จัดการและเสมียนเท่านั้น   ผู้ใช้แรงงานจะต้องเข้ามีส่วนร่วมจัดการ ตรวจสอบ และติดตามตรงนั้นตรงนี้

     คนอย่างนี้ สำนึกอย่างนี้นี่เอง  ที่ต้องเบิกบานขึ้นมากๆ ให้เต็มแผ่นดินโดยไม่จำกัดชนชั้น  ราวกับดอกไม้ร้อยชนิดร้อยสีร้อยดอก   เพื่อพาสังคมให้พ้นจากความเจ็บป่วยทางความคิดนานาที่ สิงสู่ผู้คนจนทำให้บ้านเมืองต้องตกปลักไปไหนไม่เป็น เช่นทุกวันนี้

แก้วสรร อติโพธิ