ผู้เขียน หัวข้อ: เจาะเกมรุก"หมอปราเสริฐ"สยายปีกธุรกิจรพ.-การบินรับเออีซี  (อ่าน 1448 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
หลังจากรุกซื้อหุ้นขยายเครือข่ายรพ.กรุงเทพ จนก้าวมาเป็นรพ.เอกชนที่มีเครือข่ายมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เส้นทางจากนี้ไป คือบทพิสูจน์ความพร้อมรองรับเออีซี

 การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC : Asean Economic Community) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มตัวในปี 2558 คือ อีกหนึ่งเป้าหมายที่ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เจ้าของและผู้บริหารสูงสุดกลุ่ม รพ.กรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดใจในการให้สัมภาษณ์วานนี้ (10 ส.ค.) ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เขาเดินหน้าแผนขยายธุรกิจและเครือข่าย ทั้งธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้ครอบคลุมบริการ เพื่อรองรับการเปิดเสรีในระดับอาเซียน ด้วยความพร้อมให้มากที่สุด

 โดยเฉพาะในธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่ง นพ.ปราเสริฐ เผยว่า รพ.กรุงเทพ ในวันนี้ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชน ที่มีเครือข่ายมากที่สุดในเอเชีย หลังจากได้ซื้อหุ้นและเข้าบริหารเครือ รพ.พญาไท-รพ.เปาโลสำเร็จ ทำให้เครือ รพ.กรุงเทพ มีจำนวนโรงพยาบาลในเครือถึง 27 แห่ง ให้บริการรักษาพยาบาลทั้งระดับบน-ระดับกลาง รวมกว่า 5,000 เตียง มีบุคลากรแพทย์ในเครือกว่า 6,200 คน และมีมาร์เก็ตแคปมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท (คิดจากราคาปัจจุบันที่ 60 บาท คูณด้วยจำนวน 1,500 ล้านหุ้น)

 ผลประกอบการในธุรกิจโรงพยาบาลยังคงเติบโตต่อเนื่อง เมื่อรับรู้ผลประกอบการจากเครือ รพ.พญาไท-รพ.เปาโล เข้ามาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาส 4 จะทำให้รายได้ของเครือ รพ.กรุงเทพในปีนี้ มียอดปิดได้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท และในปี 2555 ซึ่งรับรู้รายได้ครบทั้ง 4 ไตรมาสจะทำให้มีรายได้รวมเพิ่มเป็น 4.6 หมื่นล้านบาท ในอัตราการเติบโตค่อนข้างดี และคาดว่าเมื่อเปิดเออีซีในปี 2558 รายได้ของเครือ รพ.กรุงเทพ จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวที่รายได้รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท

 เหตุผลหลักมาจากแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตต่อเนื่อง ทั้งตลาดผู้ป่วยในประเทศและชาวต่างชาติ ซึ่งเพิ่มเข้ามาทุกปี ตัวเลขผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยต่อปีมีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคน ในอนาคตหากรัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันแผนไทยเป็นเมดิคัลฮับ จะเพิ่มยอดผู้ป่วยต่างชาติเข้าไทย 2 ล้านคนได้ไม่ยาก

 อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน รพ.กรุงเทพ มีสัดส่วนการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างชาติอยู่ที่ 35% อีก 65% เป็นตลาดคนไทย แต่ในอนาคตสัดส่วนเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีการเปิดเออีซี ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนแรงงาน ทั้งระดับบริหาร และแรงงานระดับกลาง ข้ามประเทศเข้ามาทำงานระหว่างกันได้อย่างสะดวก ธุรกิจโรงพยาบาลก็จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีในจุดนี้ แต่สิ่งสำคัญ เราต้องเตรียมความพร้อมให้ทัน ทั้งเตรียมเรื่องบุคลากร ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการให้บริการให้สู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้

 นพ.ปราเสริฐ เผยว่าเรื่องเทคนิคและวิทยาการทางการแพทย์ ความรู้ความสามารถต่างๆ ของแพทย์ไทยเชื่อว่าไม่แพ้ใครในระดับอาเซียน และยังได้เปรียบในแง่ค่ารักษาพยาบาลที่ถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเราต่ำกว่าถึง 3 เท่าตัว เช่น การทำบายพาสหัวใจในไทยค่าใช้จ่ายราว 6 แสนบาทในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่กว่า 1.5-1.6 ล้านบาท และหากเทียบกับสิงคโปร์ ค่ารักษาพยาบาลในไทยก็ยังต่ำกว่าถึง 1 เท่าตัว

ขณะที่คุณภาพการให้บริการไม่ด้อยไปกว่ากัน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ไทยจะใช้รับมือกับประเทศเหล่านี้ได้ ดังนั้น โอกาสในการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลในไทย จึงยังมีอีกไม่น้อย แต่ที่สำคัญเราต้องพัฒนาองค์กรให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีโลกให้ได้

 "เรายังคงมองโอกาส เรื่องการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้อาจยังพูดไม่ได้ว่าจะขยายอีกกี่แห่ง หรือจะซื้อใครเข้ามาเพิ่ม แต่มองว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้ในการเติบโตสูง จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเห็นความสำคัญ และหันกลับมามองเรื่องเมดิคัลฮับอีกครั้ง แม้สิงคโปร์จะประกาศตัวว่าเป็นศูนย์กลางด้านนี้ แต่ไทยเราก็มีความพร้อมไม่น้อยไปกว่าเขาเช่นกัน เพียงแต่ภาครัฐต้องให้การส่งเสริมจริงจัง" นพ.ปราเสริฐ กล่าวพร้อมยกตัวอย่าง แนวทางส่งเสริม เช่น การเปิดให้ผู้ป่วยต่างชาติที่มารักษาพยาบาลในไทย สามารถต่อวีซ่าได้อย่างสะดวก ตลอดจนเปิดทางอำนวยความสะดวกในญาติผู้ป่วยเข้ามาในไทยด้วย

 นอกจากนี้ล่าสุดยังมีสัญญาณบวกน่าสนใจ สำหรับตลาดผู้ป่วยชาวญี่ปุ่น โดยเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน รพ.กรุงเทพได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ในความร่วมมือกับ 12 โรงพยาบาลเอกชนของญี่ปุ่น และมีความเป็นไปได้ที่จะลงนามเพิ่มเป็น 100 โรงพยาบาล ในการรับส่งต่อผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นของโรงพยาบาลเหล่านั้น ซึ่งจะเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวในไทย ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ในกลุ่มผู้สูงอายุหลังเกษียณ ที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในไทยซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ

 ไม่เพียงธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น นพ.ปราเสริฐ ยังเผยด้วยว่า ธุรกิจการบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ก็มีแผนขยายเครือข่ายรับมือการเปิดเออีซี ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดทีมบริหารบางกอกแอร์เวย์ส มองเรื่องการเตรียมนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือราวปลายปี 2556 เพื่อระดมทุนสำหรับการขยายเครือข่ายการบิน

เป้าหมายสำคัญคือต้องการให้บริการการบินทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในเส้นทางการบินระยะกลางราว 5-6 ชม.ให้ครอบคลุมมากขึ้น ด้วยจุดยืนหลักการเป็นสายการบินที่มีจุดขายเฉพาะตัวเป็น บูทีคแอร์ไลน์ ที่มีบริการพิเศษกว่าสายการบินราคาประหยัด เน้นให้บริการกลุ่มคนที่ต้องการความพิเศษแตกต่าง และความสะดวกสบายเฉพาะตัว

 "โลกกำลังเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศตะวันตกชะลอตัว เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ประชาคมเอเชียซึ่งมีประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน มากเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกที่มีอยู่ 7 พันล้านคน กำลังซื้อในเอเชียมีมหาศาล เพียงแต่เราต้องบริการรองรับให้ได้" นพ.ปราเสริฐ กล่าว และทิ้งท้ายว่า เรื่องเข้าตลาดหลักทรัพย์ คงต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะให้รายละเอียดได้มากกว่านี้ 

กรุงเทพธุรกิจ 11 สิงหาคม 2554