แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 592 593 [594] 595 596 ... 651
8896
 เผยเหตุพยาบาลจบใหม่ส่วนใหญ่ลาออก เนื่องจากไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เร่งแก้ไขพัฒนาระบบกำลังด้านพยาบาล ยกเครื่องทั้งระบบ 3 แนวทาง ตั้งทีมศึกษาข้อมูลการใช้กำลังอย่างแท้จริงใน รพ.ทุกระดับ พร้อมเตรียมออกนอกระบบและบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขมีสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ เชื่อลดปัญหาการลาออก
       
       วันนี้ (9 ส.ค.) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “แนวทางพัฒนาคน เพื่อพัฒนางานการพยาบาล” เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการพัฒนากำลังคนทางการพยาบาลและนวัตกรรมทางการพยาบาล มีพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศร่วมประชุมจำนวน 1,300 คน
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาปีในสถานพยาบาลสังกัด สธ.ละ 180 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในปีละ 2 ล้านคน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคน โดยพยาบาลที่จบใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ จึงเป็นสาเหตุให้ลาออกไปทำงานในภาคเอกชน ทำให้บุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 70,000-80,000 คน ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น การแก้ไขด้านกำลังคนของพยาบาลจะต้องแก้ไขทั้งระบบ คือ 1.ต้องผลิตพยาบาลให้เพียงพอ และ 2.ต้องรักษาบุคลากรที่ผลิตมาให้ทำงานในระบบได้
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทางออกการแก้ไขเรื่องกำลังคน กระทรวงสาธารรณสุขได้วางทิศทางแก้ไข 3 เรื่อง ได้แก่

1.ศึกษากำลังคนสุขภาพในระดับประเทศ และระดับกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งทีมวิชาการศึกษากำลังคนในสาขาต่างๆ ที่จำเป็นทั้งระบบ ทำงานควบคู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกในหน่วยบริการทุกระดับ และศึกษาในหน่วยจัดการศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้กำลังคนที่แท้จริง คาดว่า จะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
       
2.เตรียมการออกนอกระบบ ไม่สังกัดกับ ก.พ.เพื่อบริหารกำลังคนแบบอิสระโดยมีพระราชบัญญัติรองรับคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการ และ

3.จัดระบบบริหารลูกจ้างชั่วคราวให้อยู่ในระบบได้ โดยจัดเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรูปแบบเฉพาะ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ และมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเบื้องต้นจะมีพนักงาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ และกลุ่มเทคนิคบริการ บริหารทั่วไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 สิงหาคม 2554

8897
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ขอเชิญร่วมงาน มหกรรมหมอพื้นบ้านนาชาติ ICETM 2011 พบกับกิจกกรมการออกบูธพร้อมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย, นิทรรศการหมอพื้นบ้านนานาชาติและผลงานทางวิชาการภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน 8 ประเทศ, บริการคลินิกทางการแพทย์, เรือนสาธิตการรักษาด้วยแพทย์พื้นบ้าน, บริการคลินิกฝังเข็ม ชมสวนสมุนไพรในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย ระหว่างวันที่ 24-28 สิงหาคม 2554 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

ThaiPR.net  9 สิงหาคม 2554

8898
สธ. เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

สธ.เล็งขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่ว ปท.
ข่าวทั่วไป สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 9 สิงหาคม 2554 13:23:00 น.
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

"กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกระจายบริการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทุกประเภท เช่น ตับ, ไต, ปอด, หัวใจ, ดวงตา โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะในระดับภูมิภาคครบวงจร" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศที่มี 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะสมองตายแล้ว ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2553-2554 จะผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้ 300 ราย และเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ต่อปี หลังจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกแล้ว

ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่สำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคถือว่าเป็นมหันตภัยเงียบ เมื่อโรคลุกลามไปมากจะทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการล้างไต เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องล้างอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง การรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือการผ่าตัดเปลี่ยนไต (Kidney  Transplant ) ซึ่งเดิมทำได้เฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาสได้รับบริการ ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตประมาณ 2,654 คนทั่วประเทศ

และข้อมูลจากสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดในประเทศไทยจนถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 4,864 ราย เฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ซึ่งควรจะมีปีละประมาณ 1,000 รายต่อปี เนื่องจากขาดแคลนอวัยวะบริจาค

--อินโฟเควสท์ 9 สิงหาคม 2554

8899
กลุ่มหมอต่อต้าน กม.คุ้มครองผู้ป่วย รวมตัวฟ้องศาลยกเลิกกฎกระทรวงสิทธิตาย เหตุขัดมาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ชี้เพิ่มอำนาจผู้ป่วยสร้างหลักเกณฑ์การรักษาเหนือผู้ประกอบวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีที่การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 และ ขอให้ยกเลิก เพิกถอนกฎกระทรวง ดังกล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ยื่นฟ้องศาลปกครองเพราะมองว่า การออกกฎกระทรวง ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 4 พ.ร.บ. ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบวิชา ชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค รวมทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สร้างภาระให้กับการบริการสาธารณ สุข ขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในขณะที่กฎกระทรวงดังกล่าวสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ที่สร้างภาระต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้มีภาระหนักเพิ่มกว่าเดิม และเป็น การยกระดับให้ผู้ป่วยมีอำนาจสร้างหลักเกณฑ์การรักษาเหนือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

นพ.,ฐาปนวงศ์กล่าวอีกว่า อีกทั้งกฎกระทรวงดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องพ้นจากความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยที่มีหนังสือแสดงเจตนา ในทางกลับกันต้องเป็นผู้วินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต จึงไม่เป็นธรรมต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ตั้งอยู่บนความเสี่ยงของเส้นลวดคนละเส้น กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์สาธารณะจึงขอให้ยกเลิก เพิกถอนกฎหมายดังกล่าว.


ไทยโพสต์  9 สิงหาคม 2554

8900
    นายแพทย์จักร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" ว่า หลังจากที่โรงพยาบาลฯ ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยในอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้การตอบรับจากประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเข้ามารับบริการเป็นอย่างมาก เฉลี่ยวันละประมาณกว่า 100 คน และคาดว่าจะเพิ่มถึงวันละ 300 คน ในเร็วๆ นี้ โดยผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่มีอาการไข้หวัด ความดันโลหิตสูง และเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมค่อนข้างมาก ส่งผลจึงมีผู้มาใช้บริการแผนกกระดูกและข้อเป็นจำนวนมากตามไปด้วย
    “โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต มีแพทย์เฉพาะทางทั้งอายุรกรรม ศัลยแพทย์ สูตินารีแพทย์ กระดูกและข้อ กุมารแพทย์ และทันตกรรม นอกจากการรักษาตามอาการแล้ว แพทย์ยังได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชน โดยให้หมั่นออกกำลังกายและตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมทั้งเสนอแพคเกจตรวจสุขภาพ ตามเพศและอายุไว้บริการประชาชนด้วย นอกจากความพร้อมด้านบุคลากรด้านการแพทย์แล้ว ยังมีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน เช่น เครื่องทีซีแสกน เครื่องอัลตราซาวน์ หน่วยบริการไตเทียม เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นการให้บริการเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน แต่อัตราค่ารักษาเทียบเท่าโรงพยาบาลของรัฐบาล” นายแพทย์จักร กล่าว
    ขณะที่นายแพทย์วิวัฒน์ รัตนชัย แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้แพทย์อายุรกรรม พบว่าตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหลากหลายโรค อาทิโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมทั้งการรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกตามขีดความสามารถที่กำหนดไว้ รวมถึงในส่วนของห้องไอซียูด้วย และเป็นที่น่ายินดีว่าในการจัดสถานที่ให้บริการนั้นก็ได้เตรียมไว้สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยทั้งห้องละหมาดและร้านอาหารฮาลาลภายในโรงพยาบาลด้วย
    อย่างไรก็ตามสำหรับโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 และเปิดให้บริการผู้ป่วยในมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นโรงพยาบาลขนาด 190 เตียง แต่เบื้องต้นให้บริการก่อน 120 เตียง เป้าหมายของการเปิดให้บริการเพื่อช่วยแบ่งเบาจำนวนผู้ป่วยจากโรงพยาบาลของรัฐที่มีเป็นจำนวนมากและแออัด โดยได้ว่าจ้าง บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้นับเป็นโรงพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทยยกเว้นในส่วนของกรุงเทพมหานคร

เนชั่นทันข่าว 7 สค. 2554

8901
สาธารณสุข * สธ.​เผยคน​ไทย​ใช้ยาสมุน​ไพรมากขึ้น ปี 53 จังหวัดชลบุรีอันดับหนึ่ง มูลค่า 26 ล้านบาท รองลงมาจังหวัดสุรินทร์ 12 ล้านบาท จากยอดค่า​ใช้จ่าย​ทั้งหมด 146 ล้านบาท

นพ.​ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ​เป็นประธาน​เปิดงานรวมพลัง​การ​แพทย์​แผน​ไทยภาคกลางปี 2554 ภาย​ใต้หัวข้อ "สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข" ที่วัดปากคลองมะขาม​เฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ​โดยกรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย​และ​การ​แพทย์ทาง​เลือกร่วมกับ 16 จังหวัดภาคกลาง ​เพื่อส่ง​เสริม​การ​ใช้ประ​โยชน์จากภูมิปัญญา​แพทย์​แผน​ไทย​และสมุน​ไพรของ​เครือข่าย​ในระดับภูมิภาค ​โดยมีหมอพื้นบ้าน ​เจ้าหน้าที่สาธารณสุชจาก 16 จังหวัดภาคกลาง ​ได้​แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ​เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ​และประจวบคีรีขันธ์

ปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.มีน​โยบายส่ง​เสริม​ให้มี​การบริ​การ​แพทย์​แผน​ไทยผสมผสานควบคู่กับ​การ​แพทย์ปัจจุบัน ​โดย​ใน รพ.ทุกระดับมีบริ​การ​แพทย์​แผน​ไทย ปัจจุบันมี 10,516 ​แห่งทั่วประ​เทศ นอกจากนี้ ยังสนับสนุน​ให้ รพ.ทุกระดับ​ใช้ยาสมุน​ไพร​เพื่อรักษา​ผู้ป่วยทุกกลุ่ม​โรคทด​แทน​การ​ใช้ยา​แผนปัจจุบัน ล่าสุดมียา​แผน​ไทยที่บรรจุ​ในบัญชียาหลัก​แห่งชาติ​แล้ว 71 ราย​การ สามารถ​เบิกจ่าย​ได้ทุกสิทธิ​การรักษา จากข้อมูล​การติดตามราย​การ​ใน​เขตต่างๆ ​ในปี 2553 พบว่ามี​การ​ใช้ยา​ไทย​ในสถานบริ​การทุกระดับของ สธ. 36 จังหวัด มีมูลค่า 146 ล้านบาท จังหวัดที่​ใช้สูงสุดคือ ชลบุรีกว่า 26 ล้านบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านบาท ขอน​แก่น 10 ล้านบาท

"​ในปี 54 นี้ สธ.​ได้คัด​เลือก รพ.ต้น​แบบ​ให้บริ​การ​ผู้ป่วยด้วย​การ​แพทย์​แผน​ไทย​เต็มรูป​แบบครั้ง​แรก​ในประ​เทศจำนวน 9 ​แห่ง ​ได้​แก่ รพ.พระปก​เกล้า จ.จันทบุรี, รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, รพ.วังน้ำ​เย็น จ.สระ​แก้ว, รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะ​เกษ, รพ.สม​เด็จพระยุพราช​เด่นชัย จ.​แพร่, รพ.​เทิง จ.​เชียงราย, รพ.ท่า​โรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ​และสถาบันวิจัย​แพทย์​แผน​ไทย กรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย"

​ไทย​โพสต์  6 สิงหาคม 2554

8902

งบประมาณค่าตอบแทนปี 2554 เสนอผ่าน สปสช. คณะรัฐมนตรี มีมติ 20 เมย. 2553 ให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์) รับไปพิจารณาร่วมกับ สปสช./ก.พ./สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยค่าตอบแทนฯ ให้ศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางการปรับเพิ่มให้ครอบคลุมบุคลการทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

• รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์) พิจารณาเสนอเป็นมติ ครม. เมื่อ 18 พค. 2553 อนุมัติงบค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขเพิ่มตามที่ เสนอ และให้มีการวิเคราะห์วัตถุประสงค์การจ่ายค่าตอบแทนและความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณให้รอบคอบและเป็นธรรม และให้ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ จัดเตรียมวงเงินงบประมาณ ปี 2554 จำนวนหนึ่งไว้ในงบกลาง เมื่อได้ข้อยุติแล้วจึงขอรับจัดสรรงบประมาณต่อไป

• กสธ. ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับหลักการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขประกอบ 3 ส่วนหลัก ตามข้อเสนอคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระบบการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในภาครัฐ
1. เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง---ตามคุณวุฒิ/ประสบการณ์
2. พื้นที่พิเศษ+ วิชาชีพขาดแคลนและจำเป็น---ธำรงรักษาวิชาชีพขาดแคลนและรักษาคนไว้ในพื้นที่พิเศษ
3. P4P---เพิ่มประสิทธิภาพทั้งใน/นอกเวลาราชการ ค่าตอบแทนสะท้อนภาระงาน ทำมากได้มาก(ค่าหัตถการ, OT , P4P)

ทิศทางการพัฒนาระบบการจ่ายค่าตอบแทนตั้งแต่ปี 2555
• ข้อตกลงในช่วงประกาศหลักเกณฑ์ฯ ฉบับที่ 7 ที่จะปรับระบบใหม่ตั้งแต่ ตค. 2553 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
• มติ ครม. เมื่อ 3 พค. 54 ให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนฯ ตั้งแต่ปี2555 เป็นต้นไป ตามที่ กสธ. เสนอ (เสนอตั้ง กก. พิจารณาทบทวนการแก้ปัญหาระดับพื้นที่และสาขาขาดแคลน รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนตาม P4P)
• ทุกระดับเห็นว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบปัจจุบัน ไม่ช่วยแก้ปัญหา ไม่สะท้อนภาพที่เป็นจริง ไม่สะท้อนภาระงาน งบประมาณก็มีปัญหา
• จำเป็นต้องปรับระบบการจ่ายค่าตอบแทน และเห็นว่า P4Pน่าจะเป็นคำตอบให้กับโรงพยาบาล

การจ่ายค่าตอบแทนเหมาจ่ายแบบ Flat Rate ต้องปรับให้เหมาะสม โดยต้องพิจารณาทบทวนเรื่องพื้นที่ เน้นพื้นที่ที่อยู่ยากลำบาก ในระดับพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ รพช. เพียงอย่างเดียวซึ่งต้องมีคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

• การพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามหลัก P4P เพื่อเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก แต่ไม่ใช่เน้นการเพิ่มค่าตอบแทน ไม่ใช่DF และค่าตอบแทนที่ได้รับ ควรต้องสะท้อนงานที่หนัก โดยคนทำงานหนัก ได้ค่าตอบแทนมาก

การพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง
• ตัวชี้วัดภาระงานของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เช่น งานด้านรักษาพยาบาล : OP (ปกติ ซับซ้อน เรื้อรัง) IP (DRG RW) OR (Major, Minor) Refer-in , งานด้าน PP (เยี่ยมบ้าน, FP,EPI) , งานด้านคุณภาพบริการ (EMS responsiveness prompt battention, Chronic care , การได้พบแพทย์ตรงเวลา)
• การพัฒนาตัวชี้วัด ภาระงานระดับบุคคล เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทน
• การสร้างกระบวนการภายในองค์กร การมีส่วนร่วม การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่
• เริ่มต้นให้เดินหน้าได้ก่อนแล้วค่อยๆ พัฒนา
• ปัญหาการบริหารโรงพยาบาล ทั้งปัญหาด้านการเงินค่าตอบแทน การไม่ได้อัตราตำแหน่ง ปัญหาการจ้างลูกจ้างอาจต้องมีการปรับตัวมาก
• การพัฒนาระบบบริหารจัดการของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจต้องพิจารณาหลายรูปแบบ เช่น
- การกระจายอำนาจ เหมาะไหม
- Autonomous Hospital
.................................................
นพ. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
10 มิถุนายน 2554

8903
นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยืนยัน พ.ร.บ.สิทธิการตาย ไม่ได้ส่งผลต่อรายรับของโรงพยาบาลเอกชน ย้ำผู้ป่วยสมัครใจเข้ารับการรักษา และเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว...

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงกรณีที่มีข้อคิดเห็นแตกต่าง ระหว่างแพทย์กรณีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือ แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และแพทยสภาได้ยื่นขอแก้ไขกฎกระทรวง ที่ทำเกินขอบเขตของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ต่อ รมว.สาธารณสุข ว่า การที่มีบางกลุ่มระบุว่า เรื่องนี้ถูกคัดค้าน เนื่องจากจะส่งผลต่อรายรับของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะอย่าลืมว่าโรงพยาบาลเอกชน เป็นโรงพยาบาลทางเลือกที่ผู้ป่วย สมัครใจเข้ารับการรักษา และเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ขณะที่โรงพยาบาลเองก็มีแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.นี้ มาโดยตลอด ก่อนจะมีการบังคับใช้แนวทางตามกฎกระทรวงเสียอีก ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ต้องอาศัยหนังสือแสดงเจตนา แต่อาศัยการพูดคุย ความศรัทธาที่มีต่อกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ซึ่งแพทย์จะมีการพูดคุยกับญาติอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร มีความรุนแรงแค่ไหน เป็นการปรึกษาหารือกัน ซึ่งไม่เคยมีปัญหา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎกระทรวงดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะโรงพยาบาลมีการดำเนินการลักษณะนี้แล้ว แต่อาจติดตรงการปฏิบัติจริง ยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้ป่วยรักษาอยู่แล้ว และประสงค์ให้ถอดเครื่องหายใจ เรื่องนี้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าทำ

“โรงพยาบาลเอกชน มีแนวทางดำเนินการตามมาตรา 12 มานานแล้ว โดยวิธีการปฏิบัติ ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่มีการหารือกับญาติผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ซึ่งแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดแพทย์ทำงานบนพื้นฐานวิชาชีพ และตามแนวทางของแพทยสภา ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อแพทยสภา มีแนวทางให้ดำเนินการอย่างไร ก็ต้องดำเนินการตาม เป็นไปตามกระบวนที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว” นพ.เอื้อชาติกล่าว.

ไทยรัฐ 5 สค.2554


8904
ประธาน สพศท.ระบุ หวั่นแพทย์เป็นจำเลยจากการใช้ กฎสิทธิการตายของคนไข้ เพราะหากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วรับหนังสือยินยอมจากญาติ จะเป็นของจริงหรือไม่ กลัวเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี...

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2554 พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.)เปิดเผย กรณี ที่มีการบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือ แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ออกตามมาตรา 12แห่งพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์ หากได้รับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยจากผู้ ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติครบถ้วน แพทย์จะรู้ได้ว่าเป็นหนังสือจริงแน่นอน แต่หากได้รับหนังสือจากญาติในขณะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นของจริง

ประธาน สพศท. กล่าวต่อว่า แม้ว่าในหนังสือจะระบุว่าผู้ป่วยได้ทำหนังสือฉบับนี้ในระหว่างที่มี สติสัมปชัญญะครบถ้วนก็ตาม หรือหากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำหนังสือดังกล่าวไว้ แต่ญาติหรือบุคคลอื่นนำหนังสือปลอมมายื่นให้กับแพทย์ แพทย์ก็ไม่มีทางทราบว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขจึงอาจกลายเป็นเครื่องมือ ให้กับบุคคลที่ไม่หวังดีกับผู้ป่วยใช้เป็นเครื่องมือกระทำการบางอย่างได้ แพทย์อาจกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทำความผิดโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

พญ.ประชุมพร กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงควรมีหน้าที่รับผิดชอบแทนแพทย์ที่ดำเนินการตามที่ผู้ป่วยแสดงเจตนาไว้ใน หนังสือ ด้วยการส่งบุคคลของสช.ไปประจำจังหวัดละ 1 คน ทำหน้าที่ในการรับรองว่าหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของ ผู้ป่วยแต่ละคนที่แพทย์ได้รับนั้นเป็นของจริง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลแอบอ้างนำหนังสือปลอมมายื่นให้กับแพทย์ และหากแพทย์ดำเนินการตามอาจกลายเป็นความผิด โดยบุคคลที่เป็นผู้รับรองหนังสือว่าเป็นหนังสือจริง หากตรวจพบภายหลังว่าเป็นหนังสือปลอมจะต้องรับผิดชอบแทนพยาบาลและแพทย์ด้วย ทั้งนี้ สพศท.ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้จนกว่าจะมีการแก้ไข ข้อบังคับบางส่วนให้มีความเหมาะสมก่อน

ไทยรัฐ 6 สิงหาคม พ.ศ.2554

8905
สธ. เร่งพัฒนางานบริการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด ล่าสุด พัฒนาได้แล้วกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2553 พบว่า ประชาชนนิยมใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น รายงานเบื้องต้นใน 36 จังหวัด มูลค่า 146 ล้านบาท จ.ชลบุรีนำอันดับหนึ่ง 26 ล้านบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านบาท
       
       วันนี้ (5 ส.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานรวมพลังการแพทย์แผนไทยภาคกลางปี 2554 ภายใต้หัวข้อ “สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข” ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับ 16 จังหวัดภาคกลางร่วมจัด ปีนี้     จ.ชัยนาท รับเป็นศูนย์กลางประสานการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของเครือข่ายในระดับภูมิภาค โดยมีหมอพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 16 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและประจวบคีรีขันธ์  เข้าร่วมงานทั้งด้านวิชาการ นิทรรศการ จำนวนมาก
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้มีบริการงานแพทย์แผนไทย ผสมผสานควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบด้วยการตรวจรักษา จ่ายยาสมุนไพร และการนวด อบประคบสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ ที่รักษาได้ด้วยการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลทุกระดับ ปัจจุบันมีจำนวน 10,516 แห่งทั่วประเทศ มีบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยประจำ ขณะนี้เปิดบริการแล้ว 4,379 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42 ของสถานบริการทั้งหมด ซึ่งจะเร่งรัดให้ครบทุกแห่ง
       
       นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกระดับใช้ยาสมุนไพร เพื่อรักษาผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคทดแทนยาแผนปัจจุบัน ล่าสุดมียาแผนไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 71 รายการ สามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา จากข้อมูลการติดตามตรวจราชการในเขตต่างๆในปี 2553 พบมีการใช้ยาไทยในสถานบริการทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข 36 จังหวัด มีมูลค่าทั้งหมด 146 ล้านบาท จังหวัดที่ใช้สูงสุดคือ ชลบุรี 26 ล้านกว่าบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านกว่าบาท ขอนแก่น 10 ล้านบาท
       
       ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้คัดเลือกโรงพยาบาลต้นแบบให้บริการผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี  รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ รพ.เทิง จ.เชียงราย รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยฯที่ยศเส กทม. จะติดตามประเมินผลเป็นระยะ หากได้รับการตอบรับจากประชาชนก็จะเปิดดำเนินการคล้ายประเทศจีนคือเป็นโรงพยาบาลให้บริการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะและพัฒนาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่อไป
       
       สำหรับงานรวมพลังการแพทย์แผนไทย ภาคกลาง  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2554 ในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการ การเสวนาสุขภาพวิถีไทย นิทรรศการสมุนไพร สาธิต บริการ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ พื้นบ้าน อาทิ สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข เหยียบเหล็กไฟ จับเหล็กแดงรักษาอัมพฤกษ์อัมพาต จัดปรับกระดูกแบบมณีเวชและกดจุดหยุดปวด เป็นต้น 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 สิงหาคม 2554

8906
สพศท.โอด ระบบสาธารณสุขไทย เหมือนผู้ป่วยไอ.ซี.ยู.  ท้า! หาก รบ.“ปูแดง”  ตั้ง “เหลิม” นั่งเก้าอี้ รมว.สธ.ต้องใจกว้างมากขึ้น  ตั้งสเปกละเอียดยิบต้องได้ รมว.ที่ดี เปิดใจรับฟังทุกฝ่าย เชียร์ “วิชาญ” เหตุฟุ้งว่าจะแก้ปัญหาบุคลากร-ค่าตอบแทนในเวทีดีเบตเยอะ
       
       วันนี้ (5 ส.ค.) พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงการที่รัฐบาลใหม่อยู่ในช่วงการสรรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ว่า  ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข สพศท.ว่า รัฐบาลควรจะมีการจัดหามาตามสเปกที่หมาะสม ซึ่งทาง สพศท.เห็นว่า ลักษณะของผู้ที่จะมาเป็น รมว.สธ.ถ้าเป็นแพทย์จะดีมาก   เพราะจะเข้าใจปัญหา แต่หากไม่ได้เป็นแพทย์ ก็ควรมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาของกระทรวง ซึ่งขณะนี้ คล้ายผู้ป่วยไอซียู ที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อมารักษาให้รอด
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วในมุมของ สพศท.นั้น มองว่า ร.ต.อ.เฉลิม มีผลงานมีความเหมาะสมเพียงใด พญ.ประชุมพร กล่าวว่า   ในส่วนของการดำเนินงาน ของ ร.ต.อ.เฉลิม ยังไม่แน่ใจว่า มีศักยภาพแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา สพศท. ทราบว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือน รพ.ในสังกัด กระทรวงเกิดปัญหาเรื่องการเงินมากถึง 15 แห่ง ทั้งนี้ อยากฝากรัฐบาลว่า หากจะให้ ร.ต.อ.เฉลิม มาดำรงตำแหน่ง ก็เป็นไปได้ ถ้ามีใจกว้าง รับฟังทุกฝ่าย เพราะในการดำรงตำแหน่งของ ร.ต.อ.เฉลิม ครั้งก่อน ทราบว่า แพทย์ที่ปฏิบัติงานจริง เข้าถึง ร.ต.อ.เฉลิม ยากมาก
       
       “ในส่วน นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ซึ่งทาง สพศท.เคยเสนอชื่อไว้ คิดว่า น่าจะเหมาะสม เพราะเท่าที่สัมผัส และรับฟังแนวคิดและวิสัยทัศน์ในเวทีดีเบต นโยบายพรรคการเมือง พบว่า นายวิชาญ ได้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาของ สธ.หลายด้าน เช่น การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ค่าตอบแทน สะท้อนให้เห็นว่า นายวิชาญ รับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติงาน และเข้าใจปัญหา อย่างแท้จริง แต่ถ้ารัฐบาลสามารถสรรหา บุคคลที่เหมาะสมมากกว่านี้ได้ ก็ถือว่าจะดีมาก แต่ย้ำว่าขอบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและเข้าใจปัญหาที่แท้จริง” พญ.ประชุมพร กล่าว 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 สิงหาคม 2554

8907
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าได้มีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ส่งเรื่องร้องเรียนพร้อมยื่นเอกสารมายังพรรคเพื่อไทย ว่า โครงการที่เป็นลักษณะจัดซื้อครุภัณฑ์เศรษฐกิจโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ด้วยงบประมาณ 466 ล้านบาทเศษ เป็นการล็อกสเป็ก ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่ไม่สบายใจในการทำงานของรัฐบาลรักษาการณ์ แม้เป็นงบไม่มาก แต่เป็นการล็อกสเป๊กชัดเจน ข้าราชการจึงได้ร้องเรียนมาพรรคให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว แม้จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 ส.ค. แต่การกระทำของรัฐบาลรักษาการณ์เปรียบเสมือนเตรียมทิ้งทวน
    ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ยุติเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องไม่เหมาะสม หากยังไม่มีการยุติเรื่องดังกล่าว เมื่อพรรคได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม
    นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า สมาชิกวิทยุชุมชนได้มายื่นหนังสือต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เนื่องจากกังวลว่านโยบายเกี่ยวกับกับวิทยุชุมชน ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งรีบดำเนินการในการขึ้นทะเบียนวิทยุชุมชน อาจส่งผลกระทบต่อสถานีวิทยุชุมชน กว่า 1,000 สถานี ทั้งนี้ตนจะรับหนังสือดังกล่าวแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตาม การที่มีการคัดสรรคณะกรรมการกสทช. 44 คน วันนี้ (5ส.ค.) เรื่องดังกล่าวยังคงค้างอยู่ที่ต่อวุฒิสภา เนื่องจากมีคนไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรื่องการสรรหาไม่โปร่งใส่
    ทั้งนี้พรรคจะมีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยคณะทำงานของพรรคจะส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการตรวจสอบของวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อยากให้วิทยุชุมชนสบายใจได้ ยืนยันว่าพรรคจะตรวจสอบอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

เนชั่นทันข่าว 4 สค. 2554

8908
กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคม​เพื่อนชุมชน ​ซึ่งประกอบด้วยบริษัทอุตสาหกรรม 5 ​แห่ง ​เซ็นสัญญาจ้างบุคลากรทาง​การ​แพทย์ ​ได้​แก่ ​แพทย์ พยาบาล นักวิชา​การสาธารณสุข ​และนัก​เทคนิค​การ​แพทย์ จำนวน 60 คน ​เข้ามา​ให้บริ​การดู​แลสุขภาพประชาชน​ใน​เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ​และพื้นที่​ใกล้​เคียง นาน 3 ปี ​เป็น​เงินกว่า 11 ล้านบาท ​เริ่มตั้ง​แต่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

"​ความร่วมมือครั้งนี้จะจ้างบุคลากรทาง​การ​แพทย์รวมประมาณ 60 คน ปฏิบัติงานปีต่อปี ​เป็น​เวลา 3 ปี ตั้ง​แต่ พ.ศ.2554-2557 ​เริ่มตั้ง​แต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ​เป็นต้น​ไป ​เพื่อ​ให้มีอัตรากำลัง​แพทย์ พยาบาล ​และ​เจ้าหน้าที่ที่​เกี่ยวข้อง​ให้​การดู​แลสุขภาพประชาชนที่อยู่​ในพื้นที่​เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด ช่วยบรร​เทาปัญหาขาด​แคลนบุคลากร​ในระยะสั้น" นพ.​ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว

สำหรับสมาคม​เพื่อนชุมชน ประกอบด้วย 5 บริษัท ​ได้​แก่ กลุ่มบริษัท ปตท.​เคมีคอล จำกัด, บริษัท มาบตาพุด ​โอ​เลฟินส์ จำกัด(​ใน​เครือ ​เอสซีจี ​เคมีคอลส์), บริษัท บี​แอลซีพี ​เพา​เวอร์ จำกัด, บริษัท ดาว ​เคมีคอล ประ​เทศ​ไทย ​และบริษัท ​โกล์ว จำกัด (GLOW) ​ซึ่ง​ให้​การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 11.88 ล้านบาท ​เพื่อดำ​เนิน​การต่างๆ ​ได้​แก่ 1.​โรงพยาบาลมาบตาพุดจ้างพยาบาลจำนวน 25 คน ค่าตอบ​แทนคนละ 15,000 บาทต่อ​เดือน 2.ศูนย์อาชีว​เวชศาสตร์จ้างพยาบาลจำนวน 8 คน ค่าตอบ​แทนคนละ 15,000 บาทต่อ​เดือน นัก​เทคนิค​การ​แพทย์จำนวน 10 คน ค่าตอบ​แทนคนละ 12,500 บาทต่อ​เดือน ​และนักวิชา​การสาธารณสุขจำนวน 10 คน ค่าตอบ​แทนคนละ 12,500 บาทต่อ​เดือน 3.จ้าง​แพทย์ประจำศูนย์บริ​การสาธารณสุขชุมชน​เนินพยอม ศูนย์บริ​การสาธารณสุขชุมชนห้วย​โป่ง ​โรงพยาบาลส่ง​เสริมสุขภาพตำบลบ้านพยูน ​แห่งละ 1 คน คนละ 60,000 บาทต่อ​เดือน ​และจ้างทีมสุขภาพประกอบด้วย​แพทย์ พยาบาล ​เจ้าหน้าที่อื่นๆ ​ให้บริ​การนอก​เวลาราช​การ​ในคลินิกรุ่งอรุณของ​โรงพยาบาลส่ง​เสริมสุขภาพตำบล​เนินพระ ​เดือนละ 60,000 บาท

ปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่าง​การขยายบริ​การของ​โรงพยาบาลมาบตาพุด จาก​เดิม​ซึ่ง​เป็น​โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 ​เตียง จะก่อสร้าง​เพื่อขยาย​ให้​เป็น​โรงพยาบาลขนาด 200 ​เตียง ​และ​เป็น​โรงพยาบาลที่มี​ความ​เชี่ยวชาญด้านอาชีว​เวชศาสตร์ตามมติของคณะรัฐมนตรี ​เพื่อดู​แลรักษา​โรคที่​เกิดจากมลพิษสิ่ง​แวดล้อม​โดยตรง ขณะนี้​การก่อสร้างคืบหน้า​ไป​แล้วร้อยละ 50 คาดว่าจะ​แล้ว​เสร็จ​ใน พ.ศ.2555 ​และ​เปิด​ให้บริ​การ​เต็มรูป​แบบ​ใน พ.ศ.2556 ​โดยกระทรวงฯ จะจัดอัตรากำลัง​เจ้าหน้าที่​ให้​เพียงพอ ​โดยกำหนด​ให้มี​แพทย์ 34 คน พยาบาล 180 คน ​แต่ปัจจุบัน​โรงพยาบาลมาบตาพุดมี​แพทย์ 8 คน ​และ พยาบาล 58 คน ​ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง​ได้ประสานกับ​ผู้ประกอบ​การ​ในนิคมอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนสุขภาพ ​และ​ให้ทุน​เรียนพยาบาลจำนวน 200 ทุน ​โดยพิจารณา​ผู้ที่อยู่​ใน​เขตควบคุมนี้​เป็นอันดับ​แรก

ด้าน นพ.ปร​เมษฐ์ กิ่ง​โก้ นาย​แพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง กล่าวว่า ​ในปีนี้​ได้ดำ​เนิน​การตรวจสุขภาพประชาชน​และพนักงานที่อยู่​ใน​เขตควบคุมมลพิษ ​เป้าหมาย 20,000 คน ​เพื่อ​เฝ้าระวังผลกระทบจากมลพิษสิ่ง​แวดล้อม ผล​การตรวจล่าสุดตั้ง​แต่วันที่ 14 ก.พ.-24 ก.ค.54 ​ได้รับ​การตรวจสุขภาพ​แล้วจำนวน 13,454 คน ​โดยตรวจ​เลือดดู​ความสมบูรณ์ของ​เม็ด​เลือด​และตรวจ​การ​ทำงานของตับ ​ไต ผล​การตรวจส่วน​ใหญ่ปกติ ​โดยพบ​การ​ทำงานของ​ไตผิดปกติร้อยละ 3 ตับ​ทำงานผิดปกติร้อยละ 5 ส่วนผลตรวจปัสสาวะ​เพื่อหา​โลหะหนัก ผลส่วน​ใหญ่ปกติ ​โดยตรวจพบสารตะกั่วร้อยละ 2 พบสารปรอทร้อยละ 5 พบสารหนูอนินทรีย์ร้อยละ 2 ​และพบอนุพันธ์ของสาร​เบนซินร้อยละ 12 ​โดยพื้นที่ที่ตรวจพบอนุพันธ์ของสาร​เบนซีน​ในปัสสาวะมากที่สุด คือ มาบข่า-สำนักอ้ายงอน ร้อยละ 24 รองลงมาคือ ซอยร่วมพัฒนา ร้อยละ 23 ​และชุมชนตากวน-อ่าวประดู่ ร้อยละ 22 ​ซึ่ง​แพทย์​ได้​ทำ​การรักษา​และติดตามประ​เมินผลอย่างต่อ​เนื่อง

สำนักข่าวอิน​โฟ​เควสท์  4 สิงหาคม 2554

8909
จากข้อมูล​การสำรวจ​การสูบบุหรี่​ใน​เยาวชน​ไทยอายุ 13-15 ปี ​เมื่อปี 2552 ของศูนย์​เฝ้าระวังพฤติกรรม​เสี่ยง​โรค​ไม่ติดต่อ สำนัก​โรคติดต่อ กรมควบคุม​โรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน​ได้อย่างชัด​เจนว่า ​เยาวชน​ไทยมี​แนว​โน้ม​การสูบบุหรี่ที่สูงขึ้น ​และยิ่งน่าตก​ใจ​เมื่อพบว่า ​เยาวชนมี​ความ​เข้า​ใจว่า​การสูบบุหรี่​ทำ​ให้มี​เพื่อนมากขึ้น ​ซึ่งจุดนี้นับ​เป็นปัญหา​ใหญ่ที่สังคมต้อง​เร่งสร้าง​ความ​เข้า​ใจ ​เพื่อ​ไม่​ให้ลุกลามต่อ​ไป

ศูนย์วิจัย​และจัด​การ​ความรู้​เพื่อ​การควบคุม​การยาสูบ (ศจย.) สนับสนุน​โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุน​การสร้าง​เสริมสุขภาพ (สสส.) ​เป็นองค์กรที่ มี​ความ ตระหนัก​ถึงปัญหาดังกล่าวนี้อย่างมาก ​จึง​ได้ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิ​การ (ศธ.) ​เครือข่าย​ทั้งภาครัฐ​และ​เอกชน จัด​เสวนา​เรื่อง "​การควบคุมยาสูบ​ในสถานศึกษา" ที่​โรง​แรมสยามซิตี้ กรุง​เทพฯ ​เพื่อระดม​ความคิด​เห็น​ใน​การหา​แนวทางป้องกัน ​และควบคุม​การบริ​โภคยาสูบ​ใน​เยาวชน​ไทย​ให้ลดน้อยลง ​และ​เลือนหาย​ไป​ในที่สุด ​โดยมี นักวิชา​การ นัก​การศึกษา ​และ อาจารย์หลายท่าน​ให้​ความคิด​เห็น​เสนอ​แนะ​ถึงหนทาง​การ​แก้​ไขที่น่าสน​ใจ​เป็นอย่างยิ่ง

รศ.ดร.สุรินธร กลัมพากร อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ​เผยผล​การศึกษา​โครง​การ "​การวิ​เคราะห์ข้อมูล สถาน​การณ์​การ​ใช้ยาสูบของนัก​เรียน​ใน​โรง​เรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรม​การ​การศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประ​เทศ" ว่า จาก​การวิ​เคราะห์ข้อมูล มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างตั้ง​แต่ระดับประถมศึกษา ​ถึง ม.ปลาย ปี​การศึกษา 2553 จำนวน 5,805,560 คน ​แบ่ง​เป็น ชาย 2,784,527 คน ​และหญิง 3,021,033 คน พบว่า มี​เด็กที่​เกี่ยวข้องกับสาร​เสพติด 67,000 คน ​เป็นชายมากกว่าหญิง ​และส่วน​ใหญ่อยู่ ม.ปลาย ​โดยพบ​ในภาคตะวันออก​เฉียง​เหนือ ​และภาค​ใต้มากที่สุด ... ​ซึ่ง​เป็น​เรื่องที่ต้องหาทาง​แก้​ไข ​และ หยุดยั้ง​การขยายตัว

อาจารย์อนงค์ พัวตระกูล รองประธาน​เครือข่ายครูนักรณรงค์​เพื่อ​การ​ไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ยอมรับว่า​เยาวชน​ไทยหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น ​ซึ่งจาก​การติดตาม​การหา​แนวทางช่วย​เหลือ ​และ​แก้ปัญหา​เด็กที่ติดบุหรี่​ในสถานศึกษา ส่วน​ใหญ่พบว่า​ผู้บริหาร ​และครูยัง​ให้​ความสำคัญกับ​การ​แก้ปัญหานี้น้อย​เกิน​ไป ​จึงฝาก​ให้ทุก​โรง​เรียนหันมา​ให้​ความสำคัญ ​เพราะ​เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ปัญหานี้จะลดลง​ได้อย่าง​แน่นอน ... ​เป็น​เรื่องที่ควรพิจารณา​ถึงตัว​ผู้บริหารอย่างจริงจัง ​และ​เด็ดขาด

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ​ผู้อำนวย​การ ศจย. กล่าวว่า ปัจจุบัน​เยาวชน​ไทย​เริ่มสูบบุหรี่ขณะที่ยังอยู่​ในวัย​เรียน ทาง​โรง​เรียน​จึงควรจัดกิจกรรม​ให้​เด็ก​ได้​ใช้​เวลาว่าง​ให้​เป็นประ​โยชน์ ​เพื่อ​ให้​เด็ก​ไม่หัน​ไป​ใช้​เวลากับสิ่ง​เสพติด รวม​ทั้งบุหรี่ นอกจากนี้​ความห่าง​เหินของครอบครัว ​ก็​ทำ​ให้​เด็กหัน​ไป​ทำสิ่งที่​ไม่​เหมาะสม ดังนั้น​โรง​เรียน ​และครอบครัวต้อง​ใส่​ใจ ​และสน​ใจ​ใน​ความสามารถพิ​เศษของ​เด็ก ​และจัดกิจกรรมที่​เหมาะสม​ให้ หาก​ทำ​ได้​เด็กคงหัน​ไปหมกหมุ่นกับบุหรี่น้อยลง....​ซึ่งจะต้องร่วมมือกัน​ทำอย่าง​เร็วที่สุด

นางจุ​ไรรัตน์ ​แสงบุญนำ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.​ให้​ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ​โดยมีคำสั่ง​ไปยังสถานศึกษาทั่วประ​เทศ​ใน​การควบคุมยาสูบ​ในสถานศึกษา อาทิ ​โรง​เรียนต้องติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ มี​การ​เข้า​ไปสำรวจนัก​เรียนที่อาจมีสาร​เสพติดปีละ 2 ครั้ง ​เพื่อ​เป็น​การป้องปรามอย่าง​เข้มงวด ​และห้าม​ไม่​ให้มี​การซื้อขายบุหรี่​ในสถานศึกษา ​โดยครู บุคลากรทาง​การศึกษา ​และภาร​โรง ต้อง​เป็น​แบบอย่างที่ดี​ให้​แก่​เด็ก อย่าง​ไร​ก็ตามข้อ​เสนอ​แนะต่างๆ จาก​การ​เสวนา​ในครั้งนี้จะนำ​เข้าสู่ที่ประชุม​ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ​เพื่อ​แก้​ไขปัญหาต่อ​ไป ...จะมีคำสั่ง​เพียงอย่าง​เดียวคง​ไม่พอ​แล้ว ​แต่ควรต้องมี​การ​ให้ปฏิบัติอย่าง​เคร่งครัดด้วย

​และ​ในงานนี้​ได้มีข้อ​เสนอ​แนะที่น่าสน​ใจ​เกี่ยวกับ​การจะ​ทำ​ให้ ​เด็ก ​หรือ ​เยาวชนที่หลงผิด​เข้า​ไปอยู่​ในวังวนของ​การสูบบุหรี่ สามารถหลุดออกมาจากวังวนอันชั่วร้ายนี้​ได้ ​โดย มี​การ​แนะวิธีช่วยลด​ความอยากสูบบุหรี่ด้วยมะนาว ที่ครูจะนำมาส่ง​เสริม​ให้​เด็กนัก​เรียนสามารถลด​การสูบบุหรี่ จนกระทั่งอาจจะสามารถ​ทำ​ให้​เด็กนัก​เรียน​เลิกสูบบุหรี่​ได้ คือ หั่นมะนาว​เป็นชิ้น​เล็ก​โรยด้วย​เกลือ ​แล้ว​ให้​เด็กอมมะนาว​ไว้ชั่วครู่ จากนั้น​จึงค่อยๆ ​เคี้ยวจนหมด ต่อด้วย​การดื่มน้ำตาม ​การกระ​ทำ​เช่นนี้จะช่วย​เด็ก​ให้ลด​ความอยากสูบบุหรี่​ได้มาก ​ทั้งนี้ ​เนื่องจาก มะนาวจะมีวิตามินซีที่จะช่วยลดสารนิ​โคติน​ในกระ​แส​เลือด​ได้ ​ซึ่งจะ​ทำ​ให้อา​การอยากบุหรี่น้อยลง ​และ​เมื่อดื่มน้ำตามมากๆ สารนิ​โคติน​ก็จะขับออกมาพร้อมปัสสาวะ

​เป็นที่ประหลาด​ใจว่า ​แม้ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานจะพยายามหา​แนวทาง​แก้​ไขปัญหา​การสูบบุหรี่​ในสถานศึกษามาอย่างต่อ​เนื่อง ​แต่ทว่าตัว​เลขสิงห์อมควัน​ในวัย​เรียนกลับยัง​ไม่ลดลง ดังนั้น​จึง​ถึง​เวลา​แล้วที่ทุกฝ่ายที่​เกี่ยวข้องจะต้องหันหลังกลับมาทบทวนว่า ​การดำ​เนิน​การที่ผ่านมายังบกพร่อง​ในส่วน​ใด ​และต้อง​แก้​ไขอย่าง​ไร ​เพื่อ​ให้​เด็ก ลด ละ ​เลิก ​และ​ไม่​เกี่ยวข้องกับบุหรี่อีก ​ซึ่ง​แม้จะดู​เป็น​เรื่องยาก ​แต่หาก​ไม่​เริ่มต้นตั้ง​แต่วันนี้ มั่น​ใจว่านักสูบหน้า​ใหม่คงจะ​เกิดขึ้นอยู่​เกลื่อน​เมือง

​แนวหน้า  3 สิงหาคม 2554

8910
สช.ย้ำ “สิทธิการตาย” ผ่านความเห็นทุกฝ่ายแล้ว พร้อม ด้าน “นพ.มงคล” แจงหนังสือฯ ไม่มีการบังคับให้ทำ เพราะสุดท้ายก็ต้องคุยกับญาติ ย้ำ ไม่ควรวิตกเกินเหตุ
       
       หลังจากคณะอนุกรรมการศึกษารายละเอียดและกำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับ กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีมติ 4 ข้อหลัก ทั้งเรื่องการกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิต แพทยสภาจะเป็นผู้กำหนดนิยามของคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิต โดยจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและราชวิทยาลัยต่างๆมาประชุมหารือ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา ก่อนจะนำเสนอต่อรับมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น

ล่าสุด วันนี้ (2 ส.ค.) นพ. อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินการตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ : การปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต(สิทธิการตาย) ครั้งที่ 1 ว่า ขอยืนยันว่า การแสดงเจตนาดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ และขณะนี้ก็มีการเดินหน้าสู่แนวทางการปฏิบัติแล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะอนุกรรมการของแพทยสภามีมติว่าจะยื่นเรื่องให้ รมว.สธ.คนใหม่ แก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คงต้องขอติดตามว่ามติที่แท้จริงเป็นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ผ่านมติของคณะกรรมการบริหารของแพทยสภา อย่างไรก็ตาม คงบอกไม่ได้ว่าสมควรแก้กฎกระทรวงหรือไม่ เพราะขณะนี้สิทธิดังกล่าวได้มีการใช้แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของ สช.ซึ่งเป็นเลขานุการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรี สธ.เป็นรองประธาน ดังนั้น สช.ย่อมต้องเสนอรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทางประธาน และรองประธานทราบ
       
       อนึ่ง ภายในเวทีดังกล่าว ยังจัดกิจกรรมพิเศษ “เปิดหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12” โดยผู้แสดงเจตนา คือ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรี สธ.และ นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการบริษัทบูติกนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยทั้งหมดต่างเห็นด้วยกับการแสดงเจตนาดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิทธิที่พึงกระทำ
       
       โดย นพ.มงคล กล่าวว่า การแสดงสิทธิการตาย นี้ใช้ในกรณีที่คนป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะ แต่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้บังคับ แม้มีหนังสือ สุดท้ายก็ต้องนั่งพูดคุยกับญาติอยู่ดี จึงไม่อยากให้คิดมาก วิตกกังวลเกินเหตุ เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 สิงหาคม 2554

หน้า: 1 ... 592 593 [594] 595 596 ... 651