ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.โต้ไม่ลิดรอนสิทธิ ขรก.เข้าถึงยา ลั่นบังคับใช้ปีใหม่เช่นเดิม  (อ่าน 768 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
“หมอประดิษฐ” ยันประกาศกรมบัญชีกลางไม่ลิดรอนสิทธิข้าราชการ แพทย์ยังสั่งจ่ายยาต้นแบบได้เช่นเดิม แต่ต้องเหมาะสมกับโรค ชี้เทียบการเบิกยาชื่อสามัญได้เพิ่มขึ้น แต่ยาต้นแบบเบิกได้น้อยลง โรงพยาบาลก็ไม่ขาดทุน ลั่นเดินหน้าบังคับใช้ประกาศ 1 ม.ค.57 เช่นเดิม

สธ.โต้ไม่ลิดรอนสิทธิ ขรก.เข้าถึงยา ลั่นบังคับใช้ปีใหม่เช่นเดิม
        วันนี้ (17 ธ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ว่า การที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกระเบียบการเบิกจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรสูงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา ส่วนการจ่ายยาต้นแบบ (Original) บวกกำไรไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อและไม่เกินกว่าราคากลางที่ คกก.พัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไปนั้น ขอยืนยันว่า กรมบัญชีกลางไม่ได้ห้ามเบิกค่ายาต้นแบบ และไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิการเข้าถึงยาของข้าราชการ เพราะแพทย์มีหน้าที่จ่ายยาให้เหมาะสมกับโรค หากเป็นไปได้ก็อยากให้ใช้ยาชื่อสามัญก่อน แต่หากโรคนั้นๆ ไม่มียาชื่อสามัญจำเป็นต้องใช้ยาต้นแบบ ก็ให้สั่งจ่ายยาต้นแบบ
       
        "แพทย์ที่ทำการรักษามีหน้าที่สั่งจ่ายยาให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดเรื่องผลกำไร หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงพยาบาล ซึ่งแนวทางนี้ยืนยันว่าโรงพยาบาลจะไม่ขาดทุน เพราะยาชื่อสามัญสามารถเบิกได้เยอะขึ้น เช่น ซื้อมา 1 บาท เบิกคืนได้ 3 บาท ก็เท่ากับว่าได้เงินคืน 2 บาท ส่วนยาต้นแบบสมมติซื้อราคา 10 บาท เบิกคืนได้ 10.30 บาท จากเดิมเบิกคืนได้ 11.50 บาท เมื่อเทียบแล้วก็ไม่ถือว่าขาดทุน” รักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
        นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางยังยืนยันว่าจะทำการประเมินภายหลังจากดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้เดินหน้าใช้ประกาศดังกล่าวในวันที่ 1 ม.ค.2557 2.ให้มีการทบทวนแก้ไขปัญหาเป็นระยะทุก 3 เดือน หากพบปัญหาระหว่างดำเนินการก็จะทำการแก้ไข และ 3.จะมีการปรับปรุงสวัสดิการของราชการในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเบิกห้องพิเศษ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทยืที่ยังเบิกไม่ได้ หรือเบิกได้แต่น้อย เพื่อให้เห็นว่าเงินที่เหลือจากการใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่จะนำกลับมาพัฒนาเรื่องสวัสดิการต่อไป
       
        "ระยะแรกอาจมีความยุ่งยากในเรื่องบัญชีบ้าง แต่โดยระบบแล้วหากประหยัดเงินได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งนี้ สธ.ได้มีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำรายชื่อยาต้นแบบให้ชัดเจน และให้มีการทำประชาพิจารณ์กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนแพทย์ ว่าเห็นด้วยกับการทำชื่อยาหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะมีการใช้ยาที่ไม่มีคุณภาพนั้น สธ.จะแก้ปัญหานี้โดยการมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพของยาก่อนนำมาใช้ ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้านั้น ก็ยืนยันว่าไม่มีการกีดกันแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้ายาประมาณร้อยละ 75 ของยาทั้งหมดอยู่แล้ว” รักษาการ รมว.สาธารณสุข กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ธันวาคม 2556