ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เปิด 3 แผนฟื้นฟูหลังน้ำลด 24 จังหวัดประสบภัย  (อ่าน 1567 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
  “จุรินทร์” เปิด 3 แผนฟื้นฟูหลังน้ำลดที่ลพบุรี ขยายผลใน 24 จังหวัดประสบภัย และให้บูรณาการ 3 แผนทั้งเรื่องแก้ไขปัญหาสุขภาพขณะน้ำท่วม หลังน้ำลด และแผนต้านภัยหนาว
       
       วันนี้ (1พฤศจิกายน 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาลพบุรีซึ่งเป็นจุด อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมชั่วคราวของจังหวัด โดยในวันนี้ได้มอบเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วยผ้าห่ม ถุงดำรองเท้าบู๊ท สารส้ม คลอรีน สารอีเอ็ม ยาชุดน้ำท่วม จำนวน 500 ชุด และมอบอุปกรณ์ทำความสะอาดหลังน้ำลด เช่น ไม้กวาด ที่ตักขยะ ให้แก่อสม.จำนวน 120 คน เพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดบ้านเรือนและพื้นที่สาธารณะหลังน้ำลด

นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำลดของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มต้นที่จังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่ตัวอย่าง สำหรับ การฟื้นฟูสภาพด้านสาธารณสุขหลังน้ำลด ได้มีการสั่งการให้ใช้วิธีเดียวกันทั้ง 24 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ โดยมี 3 แผนงานประกอบกัน ได้แก่ 1.แผนงานตรวจรักษาสุขภาพของประชาชนที่ประสบภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะจะมีผู้เจ็บป่วยอีกช่วงหนึ่งภายหลังน้ำลด 2.แผนการควบคุมโรค เพื่อควบคุมป้องกันโรคต่างๆที่เกิดจากยุง แมลงวัน เช่นโรคทางเดินอาหาร รวมทั้งโรคที่มาหลังน้ำลด เช่นโรคฉี่หนู เป็นต้น ได้มอบแนวทางทำงานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งแล้ว
       
       และ3.แผนฟื้นฟูด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องเข้าไปช่วยรณรงค์ร่วมกับจังหวัด อสม. เจ้าหน้าที่ทุกกภาคส่วน ในการดูแลทั้งปัญหาที่เกิดในครัวเรือน พื้นที่สาธารณะ เช่น สุขา หลังน้ำลดจะราดน้ำไม่ลง ใช้การไม่ได้ จะแจกสารอีเอ็ม ช่วยย่อยสลายให้สุขาใช้งานได้ ส่วนน้ำดื่มน้ำใช้ บ่อน้ำบาดาล บ่อน้ำดื่ม ช่วงเกิดน้ำท่วมขังจะมีสิ่งสกปรกลงไป จะต้องล้างบ่อและใส่สารคลอรีนฆ่าเชื้อปรับสภาพน้ำให้สะอาด ส่วนพื้นที่สาธารณะ เช่นโรงเรียน วัด ตลาดสด จะมีวิธีในการดำเนินการ เช่นพ่นสารเคมีกำจัดพาหหะนำโรค ยุง แมลงวัน กำจัดไข่แมลงวันที่อยู่ตามกองขยะ สิ่งปฏิกูล กำจัดลูกน้ำยุงที่อยู่ในแหล่งน้ำท่วมขัง เป็นต้น
       
       นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับในการดำเนินการนั้นให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ทั้ง 24 จังหวัด แบ่งแผนงานออกเป็น 3 ส่วน และบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยขณะน้ำท่วม 2.การแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยหลังน้ำลด และ3.การต้านภัยหนาว ที่กำลังจะมาถึงให้ทำงานตามสภาพความเป็นจริงและความเหมาะสม เนื่องจากแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำลดไม่พร้อมกันซึ่งได้สั่งการไปแล้ว
       
       นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการ จ.ลพบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 15-31 ต.ค. 2553 จ.ลพบุรี มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งหมด 11 อำเภอ 121 ตำบล 1,060 หมู่บ้าน 145,095 ครัวเรือน และมีประชาชนประสบปัญหาจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ 333,061 ราย สถานพยาบาลในสังกัด สธ.ได้รับความเสียหาย จำนวน 20 แห่ง ผู้ประสบภัยฯได้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ จำนวน 22,299 ราย โดยป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด มีจำนวนถึง 12 ,136 ราย รองลงมาเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ 2,093 ราย ปวดกล้ามเนื้อ 157 ราย และโรคผื่นคันผิวหนัง 786 ราย
       
       “หลังจากสถานการณ์น้ำลดทางจังหวัดได้รับผิดชอบดูแลฟื้นฟูในส่วนของ สถานบริการด้านสาธารณสุข ที่ได้รับความเสียหายทั้ง 20 แห่ง ตามมาตรการของสธ. อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในเรื่องของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เช่น การกำจัดขยะมูลฝอย การฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อโรคและแมลงอันเป็นพาหะของโรค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พื้นที่จังหวัดลพบุรียังคงมีน้ำท่วมขังอยู่อีก 4 อำเภอ 43 ตำบล ซึ่งทางจังหวัดจะมีการเตรียมแผนตามขั้นตอนของกระทรวงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ต่อ ไป“ นายฉัตรชัย กล่าว
       
       ด้านนพ.ศิริชัย ลิ้มสกุล สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลพบุรี กล่าวว่า จากการที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องการเจ็บป่วยทางกายนั้นทางหน่วยแพทย์ เคลื่อนที่ได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือ โดยการกระจายยาชุด ช่วยเหลือประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 130,590 ชุด ส่วนสถานการณ์การป่วยทางสุขภาพจิตนั้นทางหน่วยแพทย์ได้ตรวจคัดกรองทั้งสิ้น จำนวน 1,619 รายพบมีความเครียดสูงจำนวน 7 ราย ซึ่งทางหน่วยแพทย์ได้มีการดำเนินการเยียวยาแล้ว
       
       ในการลงพื้นที่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรีครั้งนี้ นายจุรินทร์พร้อมผู้บริหารได้ลงเรือท้องแบนไปเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรัง อายุ 72 ปี ที่บ้านหมู่ 6 ต.ป่าตาล ซึ่งป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง โดยมอบยารักษาโรคที่กินประจำให้พร้อมถุงยังชีพ และได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม.และองค์กรปกครองท้องถิ่นในการเก็บขยะ พ่นสารอีเอ็ม และอีเอ็มชนิดก้อน เพื่อดับกลิ่นน้ำท่วมที่เน่าเสียด้วย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 พฤศจิกายน 2553