ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 4) : เมื่อเราถูกบริษัทยาหลอกเรื่อง "คอเลสเตอรอล" !?  (อ่าน 1433 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด


คนทั่วไปมักจะกลัวคำว่า "คอเลสเตอรอล" เพราะกลัวว่าคอเลสเตอรอลนี้จะอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งความจริงแล้วคอเลสเตอรอลก็มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มาก การที่เรากลัวโดยที่ไม่เข้าใจในเรื่องคอเลสเตอรอลให้ดี สุดท้ายก็อาจเสียท่าตกเป็นทาสบริษัทยาที่ขายยาลดคอเลสเตอรอลให้เราอีกเหมือนเดิม
       
        คอเลสเตอรอล มาจากคำในภาษากรีก chole-หมายถึง น้ำดี (bile) และ stereos หมายถึงของแข็ง (solid) เนื่องจากนักวิจัยตรวจพบ คอเลสเตอรอลในสภาพเป็นของแข็งที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี(gallstone) โดยคอเลสเตอรอล เป็นทั้งสาร สเตอรอยด์(steroid) ลิพิด(lipid) และ แอลกอฮอล์ พบใน เยื่อหุ้มเซลล์ของทุกเนื้อเยื่อในร่างกายและถูกขนส่งในกระแสเลือดของสัตว์
       
        คอเลสเตอรอล คือ หนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดในร่างกายมนุษย์ ทุกเซลล์ในร่างกายเราประกอบไปด้วยคอเลสเตอรอล และข้อสำคัญคือฮอร์โมนหลายชนิดในกลุ่มสเตียรอยด์ก็มาจากการสังเคราะห์ในร่างกายที่ได้มาจากคอเลสเตอรอล ซึ่งครอบคลุมฮอร์โมนเพศ และ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตทั้งหมด รวมถึงร่างกายนำมาผลิตเป็นน้ำดีของมนุษย์ด้วย
       
        คอเลสเตอรอล เป็นแหล่งสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid Hormones) ซึ่งมี 6 กลุ่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญกับร่างกายเรา ได้แก่
       
        1. กลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) เป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการเผาผลาญ(Metabolism) กลุ่มพวกคาร์โบไฮเดรตให้เกิดพลังงาน ฮอร์โมนที่สำคัญกลุ่มนี้คือ คอติโซล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตที่ทรงพลังอย่างมากเพราะทำหน้าที่หลายประการในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น "ฮอร์โมนที่ต้านการอักเสบ" ที่ต้านระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันไม่ให้ทำงานมากเกินไป
       
        2. กลุ่มมิเนอรอลคอร์ติคอยด์ (Mineralcorticoids) เช่น อัลโดสโตโรน (Adosterone) มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับระบบการเคลื่อนไหวของน้ำและอิเลคโตรไลท์ ผ่านการควบคุมของโซเดียมและโปแตสเซียม
       
        3. กลุ่มแอนโดรเจน (Androgens) เช่น ดีเอชอีเอ (DHEA) และ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนสร้างความต้องการทางเพศ ในขณะเดียวกันก็ธำรงรักษาความหนาแน่นของกระดูก จากการศึกษาจำนวนมากได้แสดงว่าระดับของดีเอชอีเอที่ต่ำ มีความสัมพันธ์ตามกันกับความหนาแน่นของกระดูกลดลงหรือโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ดีเอชอีเอยังมีความสำคัญต่อความทรงจำการแก่ชราลงด้วย
       
        4. กลุ่มโปรเจสตาเจน (Progestagens) เช่น โปรเจนเตอโรน (Progesterone) มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีประจำเดือนของผู้หญิง และเป็นฮอร์โมนตั้งครรภ์ในผู้หญิง
       
        5. กลุ่มเอสโตรเจน (Esgrogens) เช่น เอสตราดิโอล (Estradiol) เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการพัฒนาเกี่ยวกับเพศ และมีความหลากหลายหน้าที่สำหรับกระดูกและคุณภาพของสมอง
       
        6. วิตามินดี (Vitamin D) ในทางเทคนิคคือไขมันสเตอรอล (Sterol) แต่หน้าที่ของมันเหมือนกับสเตียรอยด์ ฮอร์โมน โดยวิตามินดีจะถูกแปลงสภาพในตับเป็นหน้าที่สนับสนุนภูมิต้านทานสำคัญหลายชนิด วิตามินดียังมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำกับปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือดอีกด้วย
       
        จากข้อมูลความสำคัญของกลุ่มฮอร์โมนทั้ง 6 ข้างต้น แสดงเห็นได้ว่าเมื่อคอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อระบบฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์เช่นนี้ มนุษย์ย่อมขาดคอเลสเตอรอลไม่ได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นใครก็ตามที่รับประทานอาหารโดยขาดคอเลสเตรอลก็อาจจะเกิดการพร่องการสังเคราะห์ฮอร์โมนและภูมิต้านทานไปด้วยอย่างแน่นอน
       
        ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอลนั้นจำต้องรู้ผลกระทบของผลข้างเคียงด้วยว่า ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินเหล่านี้ (Statin Drugs) จะไปขัดขวางการสังเคราะห์ฮอร์โมนที่ได้มาจากคอเลสเตอรอลด้วย ผลก็คือทำให้เราสูญเสียความแข็งแกร่งทางร่างกายลง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สูญเสียความทรงจำ ตับทำงานผิดปกติ เกิดการอักเสบทางผิวหนังได้ง่ายขึ้น อารมณ์แปรปรวน เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อ (myopathy) เบาหวาน ฯลฯ
       
        ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2553 ของ โดเฮนนี่ (Doheny K.) เผยแพร่ใน WebMd Health News การสำรวจว่าผู้ชายกว่า 3,500 คนที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นผู้ที่ใช้ยาลดคอเลสเตอรอลในกลุ่มสแตตินมีมากเป็น 2 เท่าตัวและพบว่ามีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนของคนเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ
       
        นอกจากยาที่ลดไขมันในเส้นเลือดจะขัดขวางการสังเคราะห์ให้คอเลสเตรอลเป็นฮอร์โมนแล้ว แล้วไขมันเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหนอีกด้วย เพียงแต่ว่าไขมันพวกนี้ย้ายที่ไปสะสมเก็บอยู่ที่ตับแทน เหตุก็เพราะว่ายาลดไขมันในกระแสเลือดพวกนี้จะทำหน้าที่เพิ่มปุ่มรับ (Receptor) บนเซลล์ตับ ดังนั้นคนที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอลอย่างยาวนานเมื่อทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ที่ตับแล้วก็จะพบว่าคนเหล่านี้ได้โรคไขมันพอกตับร่วมด้วย และอาจส่งผลทำให้เกิดอาการตับแข็ง ตับอักเสบตามมา
       
        ข้อสำคัญยาพวกนี้แม้จะลดแต่เฉพาะไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (low density lipoprotein) หรือ แอลดีแอล (LDL) แต่ไม่ได้ลดไตรกลีเซอไรด์จึงอาจเป็นสาเหตุของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ได้
       
        ด้วยทัศนคติที่เราถูกหลอกว่าคอเลสเตอรอลที่ตรวจพบในเส้นเลือดนั้นมาจากน้ำมันพืชกรดไขมันอิ่มตัวบ้าง บางคนก็เข้าใจว่าคอเลสเตอรอลที่อยู่ในเส้นเลือดนั้นส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งความจริงแล้วเราอาจต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเสียใหม่เกี่ยวกับ "คอเลสเตอรอล"
       
        เพราะคอเลสเตอรอลโดยส่วนใหญ่แล้ว "ร่างกายสังเคราะห์เองถึงเกือบ 70% -80%" และลำเลียงผ่านเส้นเลือดตามความจำเป็นของร่างกาย !!!
       
        ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวประมาณ 68 กิโลกรัม โดยปกติจะมีคอเลสเตอรอลในร่างกายทั้งหมดประมาณ 35,000 มิลลิกรัม โดยในทุกๆวันร่างกายจะสังเคราะห์ขึ้นเองประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งร่างกายของคนทั่วไปควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งส่วนที่ร่างกายรับเพิ่มเข้าไปจะถูกชดเชยโดยการลดปริมาณที่สังเคราะห์ขึ้นเอง
       
        การสังเคราะห์คอเลสเตอรอลในร่างกายมีสารตั้งต้นการสังเคราะห์มาจากอะซิทิล โคเอ (acetyl CoA) 1 โมเลกุลและอะซิโทซิทิล-โคเอ(acetoacetyl-CoA) 1 โมเลกุลโดยผ่าน เอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเทส พาทเวย์ (HMG-CoA reductase pathway) การผลิตคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกายประมาณ 20-25 % เกิดขึ้นในตับมากที่สุด ส่วนอื่นของร่างกายที่ผลิตมากรองลงไป ได้แก่ ลำไส้เล็ก (intestines) ต่อมหมวกไต (adrenal gland) และอวัยวะสืบพันธุ์ (reproductive organ)
       
        หมายความว่าถ้าเรารับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ร่างกายก็จะจัดสมดุลใหม่ด้วยการลดการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลลง ในทางตรงกันข้ามถ้าเราขาดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลร่างกายก็จะสังเคราะห์คอเลสเตอรอลแล้วส่งผ่านไปยังเส้นเลือดเพื่อใช้งานมากขึ้นอีกเช่นกัน
       
        ตัวอย่างงานสำรวจและวิจัยระหว่างช่วงการอดอาหาร นิตยสาร American Journal of Clinical Nutrition ฉบับที่ 11 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 ของนายแพทย์ Norman Ende ภาควิชาพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิลท์ เมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการอดอาหารติดต่อกันเกิน 72 ชั่วโมง แต่เป็นการศึกษาที่สรุปเอาไว้ว่าระหว่างการอดอาหารคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเส้นเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น




ภาพที่ 1 แสดงช่วงเวลาการอดอาหาร 72 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน ระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดจะสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


       นี่คือตัวอย่างที่ชัดที่สุดเพราะในช่วงเวลาที่เราไม่มีอาหารเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อตรวจคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดกลับเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้นย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าร่างกายสังเคราะห์คอเลสเตอรอลตามความจำเป็นในการใช้งานของร่างกายอย่างแท้จริง
       
        แต่ถ้าเราฟังตามสูตรและตรรกะของบริษัทขายยาลดไขมัน ก็แปลว่าคนอดอาหารทุกคนต้องกลายเป็นคนที่ต้องรับประทานยาลดคอเลสเตอรอลทุกคนไปด้วย ซึ่งเป็นตรรกะที่ดูแปลกประหลาดอยู่มาก จริงหรือไม่?
       
        บริษัทยาได้ส่งเสริมและสนับสนุนและผลักดันจนเป็นผลทำให้ทั่วโลกได้รับเอา “มาตรฐานคอเลสเตอรรอลรวมในเลือด” ว่ามนุษย์ปกติไม่ควรมีคอเลสเตอรอลเกิน 250 mg/dL ในกระแสเลือด ต่อมาจึงได้มีการกำหนดลดลงไปอีกให้เหลือเพียง 200 mg/dL จึงจะถือว่าเป็นปกติ ผลปรากฏว่าจากคนที่เคยปกติต้องกลายเป็นคนไม่ปกติในชั่วข้ามคืนและทำให้ยอดขายยาสแตตินพุ่งขึ้นทำกำไรมหาศาลอย่างรวดเร็ว
       
        ศูนย์ควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (US Center for Disease Control) ได้รายงานว่ามีผู้ใหญ่ 1 ใน 6 มีคอเลสเตอรอลในระดับสูง ในขณะที่องค์กรการวิจัยและคุณภาพของการดูแลสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (US Federal Agency for Health Research and Quality) รายงานว่าจำนวนประชากรที่ซื้อยาสแตติน เช่น ลิปิเตอร์ และโซคอร์ จากปี พ.ศ. 2543 อยู่ที่ 15.8 ล้านคน พอมาถึงปี 2548 เพิ่มขึ้นมาเป็น 29.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมาถึง 88% ในระยะเวลาเพียง 5 ปี
       
        ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราถูกมายาคติหลอกให้เราหลงเข้าใจว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวมากๆ จะทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น จะความดันโลหิตสูงขึ้น จะทำให้หลอดเลือดอุดตัน และสุดท้ายก็จะกลายเป็นโรคหัวใจในที่สุด
       
        ในที่สุดความจริงก็เริ่มปรากฏกลับด้านว่า คนที่เป็นโรคหัวใจที่เสียชีวิตไปเกือบครึ่งหนึ่งนั้น มีคอเลสเตอรอลในเลือดอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ !!!
       
        เมื่อปี พ.ศ. 2551 องค์กรในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้แก่ British Heart Foundation Health Promotion Research Group Department of Public Health, University of Oxford and Health Economics Research Centre, Department of Public Health, University of Oxford ได้ทำการศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดของประชากรชาวยุโรป 40 ประเทศ กลับพบว่าปริมาณการบริโภคไขมันอิ่มตัวของประชากรในยุโรปไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตโรคหัวใจเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่มากกว่ากลับมีแนวโน้มที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจน้อยลงเสียด้วยซ้ำไป



ภาพที่ 2 แสดงความสัมพันธ์การเปรียบเทียบสถิติของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่อประชากร 100,000 คน (กราฟแท่งสีแดง) กับ อัตราร้อยละของปริมาณการบริโภคไขมันอิ่มตัว (กราฟแท่งสีฟ้า) กราฟเส้นตรงสีเขียวแสดงค่าเฉลี่ยแนวโน้มพบว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจเลย แต่กลับมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงเมื่อบริโภคไขมันอิ่มตัวมากขึ้น
       



ภาพที่ 3 แสดงความสัมพันธ์การเปรียบเทียบสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจต่อประชากร 100,000 คน (จุดสีแดง) กับ อัตราร้อยละของปริมาณการบริโภคไขมันอิ่มตัว (กราฟแท่งสีฟ้า) กราฟเส้นตรงสีเขียวแสดงค่าเฉลี่ยแนวโน้มพบว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจเลย แต่กลับมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจลดลงเมื่อปริมาณร้อยละของการบริโภคไขมันอิ่มตัวสูงขึ้น

       เมื่อปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดไม่ใช่คำตอบของอันตรายที่มีต่อร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2537 ที่ได้เคยเกิดงานวิจัยครั้งใหญ่จากการสำรวจสถิติกลุ่มตัวอย่างถึง 3,641 คน โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลวาเนีย เมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณคอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ ซึ่งจัดทำโดย Kinosian, B; Click, H; and Garland, G.1994 ในหัวข้อ “Cholesterol and coronary heart disease: Predicting risks by levels and ratios.” ตีพิมพ์ใน Ann. Internal Med. 121:641-7 ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ให้คำตอบกว่าการกำหนดปริมาณเกณฑ์การใช้คอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่อ้างว่าจะทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นไม่สามารถชี้ชัดได้เลย และเมื่อเก็บสถิติแล้วกลับพบว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน่าจะใช้วิธีอื่นวัดน่าจะถูกต้องมากกว่า
       
       ซึ่งตัวบ่งชี้เกี่ยวกับการตรวจวัดในกระแสเลือดที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจนั้นน่าจะใช้อัตราส่วนของปริมาณคอเลสเตอรอล หารด้วย ปริมาณไลโปโปรตีนหนาแน่นสูง (High Density Lipoprotein) หรือที่เรียกสั้นว่า HDL ที่แพทย์มักเรียกให้เข้าใจว่าไขมันตัวดีที่ทำหน้าที่เก็บกวาดไขมันตามเส้นเลือดส่งไปให้ตับใช้งาน ดังนั้นจึงกำหนดว่า
       
       “สัดส่วนปริมาณคอเลสเตอรอลโดยรวมไม่ควรมีเกิน 5 เท่าของปริมาณ HDL” น่าจะบ่งชี้ถึงการป้องกันอัตราเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจมากกว่า
       
       ในช่วงหลังๆก็มีการปรับตามสูตรของแต่ละสำนัก เช่น บ้างก็กำหนดให้ คอเลสเตอรอลโดยรวมอย่าเกิน 4.6 เท่าเมื่อเทียบกับ HDL และอีกสูตรหนึ่งคือ ปริมาณไลโปโปรตีหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein) หรือ LDL ควรมีไม่เกิน 3 เท่าของ HDL เป็นต้น
       
       หรืออีกนัยหนึ่งจากงานวิจัยในช่วงหลัง คือปริมาณคอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัญหาของโรคหัวใจ หากมี HDL มากพอ !!!
       
        ในที่สุดเมื่อเราเข้าใจมากขึ้นว่าโรคหัวใจไม่ได้มาจากปริมาณคอเลสเตอรอลตามที่บริษัทขายยาโฆษณาชวนเชื่อ แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะมีสารอุดตันที่เรียกว่า พลาก (plague) ที่ไปสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดส่วนใน ทำให้หลอดเลือดแคบลง เมื่อมันโตขึ้นกระทั่งหลอดเลือดอุดตัน (Clog) จนเลือดก็ไหลผ่านไม่ได้ ก้อนเลือดนี้อาจจะหลุดออกและถูกพาไปตามกระแสเลือดไปสู่หลอดเลือดที่เล็กกว่า
       
        คำถามมีอยู่ว่าแล้ว พราก (Plague) มันคืออะไรที่มันไปสะสมอยู่ในผนังหลอดเลือด?
       
       ความจริงก็ได้ปรากฏเมื่อมีงานวิจัย 2 ชิ้น ที่ทำให้ความจริงกระจ่างขึ้น คืองานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี พ.ศ. 2537 ของ Felton, C.V.;Crook, D.; Davis, M.J.; and Oliver, M.F. 1994 ในหัวข้อ Polyunsaturated fatty acids and composition of human aortic plaques. ลงตีพิมพ์ใน Lancet 344: 1,195-1,196 และ งานวิจัยอีกชิ้นคือในปีพ.ศ.2542 ของ Enig, M.G. 1999 ในหัวข้อ Coconut: Insupport of Good Health in the 21st Century. โดยเป็นรายงานที่นำเสนอในการประชุมครั้งที่ ของ APCC พบเรื่องความจริงที่น่าสนใจว่า:
       
        “สาร Athermoas ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของสารอุดตันพลาก (Plague) ในหลอดเลือด เป็นพวก “ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง” (มีมากในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ) และจากการวิเคราะห์แผ่นไขมันที่เกาะเส้นเลือดพบว่าในอนุพันธ์คอเลสเตอรอล 74% เป็น “ไขมันไม่อิ่มตัว” และเป็น “ไขมันอิ่มตัวเพียง 26%” ข้อสำคัญคือกรดไขมันเหล่านี้ก็ไม่ใช่กรดลอริก หรือกรดไมริสตริกจากน้ำมันมะพร้าวเลย”
       
        จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปว่าการรับประทานยาลดไขมันไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพราะทำได้แค่เคลื่อนย้ายไขมันจากหลอดเลือดไปพอกที่ตับ หรือไม่ก็ตับก็ส่งไขมันไปตามเส้นเลือดตามการใช้งาน ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ต้องพยายามเผาผลาญเอาคอเลสเตอรอลไปใช้งานให้มากขึ้นต่างหากจึงจะถูกต้อง และหลีกเลี่ยงบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ
       
       ส่วนวิธีที่จะทำให้ HDL สูงขึ้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการควบคุมการกินของเราเอง ออกกำลังกายเพิ่มการเผาผลาญให้มาก รวมถึงอาจเสริมด้วยการรับประทานน้ำมันมะพร้าวที่มีกรดไขมันสายสั้นและปานกลางที่ช่วยทำให้เกิดเผาผลาญได้มากขึ้น เมื่อการเผาผลาญมากขึ้นคอเลสเตอรอลทั้งหลายก็จะถูกแปลงเป็นฮอร์โมนและน้ำดีได้มากขึ้น และคอเลสเตอรอลก็จะกลายสภาพมาเป็นแกนกลางของ HDL มากขึ้นได้ด้วย ดังนั้นผู้ที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวส่วนมากมักจะพบว่าปริมาณ HDL ในกระแสเลือดจะสูงขึ้นอย่างชัดเจน และจะมีสัดส่วนของคอเลสเตอรอลลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปริมาณ HDL ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอีกจำนวนมาก
       
       แต่ที่น่าสนใจอย่างมากอยู่ที่ “สงครามการทำงานวิจัย” เพราะฝ่ายผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลือง และบริษัทยาทั้งหลาย ต่างพยายามโจมตีไขมันอิ่มตัวอย่างหนักหน่วงเช่นกัน โดยเทคนิคในการทำผลงานวิจัยให้ได้ผลตรงกันข้ามเหล่านั้นแทนที่จะเอาน้ำมันพืชโดยตรงไปทดสอบ แต่กลับใช้เล่ห์กลโดยวิธีการแยกกรดไขมันแต่ละชนิดให้แยกออกมาต่างหากเดี่ยวๆ โดยหลีกเลี่ยงที่จะวิจัยจากตัวน้ำมันชนิดนั้นโดยตรง เพราะน้ำมันแต่ละชนิดมีกรดไขมันหลายชนิดทำงานร่วมกันโดยเฉพาะกรดไขมันสายสั้นและปานกลางที่ร่วมกันในการเผาผลาญซึ่งกันและกัน เพื่อหวังผลให้เป็นตรงกันข้ามกัน ดังนั้นตรงนี้เป็นเทคนิคในการวิจัยที่ต้องรู้ทันชั้นเชิงนี้ด้วย
       
       สุดท้ายนี้ก็อยากจะบอกเพียงว่าการออกกำลังกายช่วยการเผาผลาญนั้นดีที่สุด และการบริโภคไขมันก็ควรจำกัดไม่เกิน 30% ของปริมาณแคลอรีที่บริโภคต่อวัน พยายามรับประทานหวานให้น้อยลง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น งดไขมันทรานส์ หลีกเลี่ยงของผัดๆทอดๆโดยเฉพาะจากมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (โดยเฉพาะ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทานตะวัน)
       
       ข้อสำคัญเมื่อศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้และเชื่อมั่นจนปรับพฤติกรรมของเราได้แล้ว การหยุดยาลดไขมันทั้งหลายก็จะดีที่สุด เป็นการประกาศปลดแอกเป็นอิสระภาพจากการเป็นทาสความคิดของทุนสามานย์ด้วยตัวเราเอง
       
       ถ้าทำเช่นนั้นได้นอกจากจะมีสุขภาพกายที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นที่เรามีปัญญาไม่ถูกคนพวกนั้นหลอกเราอีกต่อไป จริงหรือไม่?


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    25 ตุลาคม 2556