ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธบารมีแผ่ไพศาล-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2232 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

แม้จะล่วงเลยมาถึงกว่า 2,500 ปี แต่พระธรรมคำสอนและหลักปรัชญาอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งของศาสนาพุทธ นอกจากจะหยั่งรากลึกเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนอย่างมั่นคงแล้ว ยังแผ่ไพศาลจนได้รับแรงศรัทธาจากผู้คนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ในโลกตะวันตก

        ชายผู้สอนให้ผมเข้าใจพุทธศาสนามากที่สุดไม่ใช่ภิกษุผู้ปลงผม ไม่ได้พูดภาษาสันสกฤต และไม่ได้อาศัยอยู่ในอารามแถบเทือกเขาหิมาลัย
        อันที่จริงเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเสียด้วยซ้ำ คนผู้นี้คือคาร์ล เทย์เลอร์ ชาวซานฟรานซิสโกแต่กำเนิดวัยสี่สิบปลายๆ ในตอนนั้น เขานั่งอยู่บนเตียงคนไข้ซึ่งถูกเข็นไปที่สวนนอกหอผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรง พยาบาลลากูนาฮอนดา ดูจากท่าทีเหมือนเขากำลังรู้สึกหนาว แม้จะเป็นยามบ่ายของวันฟ้าใสในฤดูร้อน แต่ในเมืองนี้ ท้องฟ้าที่ปราศจากเมฆอาจหมายถึงอากาศที่เย็นจับจิต เขากำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
        ผมเข้าร่วมโครงการเซนสงเคราะห์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาสาสมัครจากองค์กรพุทธศาสนานี้จะช่วยงานเจ้าหน้าที่ในหอผู้ป่วยขนาด 25 เตียงของโรงพยาบาลลากูนาฮอนดา โครงการสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ขยายไปทั่วโลกนี้ใช้พุทธธรรม 2 ข้อ คือ สติ หรือความตระหนักรู้ในปัจจุบัน และความเมตตา เป็นเครื่องช่วยให้ผู้ป่วยภาคภูมิในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตน แต่บทเรียนที่ว่าใช่จะเรียนรู้ได้ง่ายๆ
        ผมนั่งข้างๆคาร์ล และช่วยขยับเสื้อแจ๊คเก็ตคู่ใจที่เขาใช้ต่างผ้าห่มให้เข้าที่ คาร์ลปลงตกและยอมรับชะตากรรมด้วยจิตใจที่กล้าหาญ ผมพยายามชวนคุยแต่ก็ฝืดเฝือเต็มที การปลอบโยนคนที่รู้ตัวว่าจะอยู่ได้อีกไม่นานนั้นเป็นเรื่องยากจริงๆ
        "คุณทำ... เอ่อ เคยทำงานอะไรหรือครับ" คาร์ลที่กำลังสูบบุหรี่นั่งเงียบโดยไม่ตอบอะไร  เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าขณะที่เราเฝ้ามองกลุ่มเมฆขาวเคลื่อนไปบนท้องฟ้า
        "ผมไม่อยากพูดถึงอดีตครับ"
        ไม่เป็นไร ผมนึกไล่คำถามอื่นๆเพื่อสานต่อบทสนทนา เมื่อถามถึงอดีตไม่ได้และอนาคตก็ไม่ควรถาม จึงเหลือแต่ปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีอะไรจะให้ถาม เพราะปัจจุบันขณะก็คือภาวะที่เป็นอยู่ ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะเมื่อปราศจากคำถาม นักข่าวอย่างผมก็ไม่รู้จะทำอะไรดี
        ทว่าเพียงแค่มีคนนั่งเป็นเพื่อน คาร์ลกลับดูสบายใจขึ้นแล้ว เมื่อยอมรับได้ว่าไม่ต้องทำอะไรและไม่ต้องรีบไปไหน ผมก็รู้สึกผ่อนคลาย คาร์ลเหลือบมองผมแล้วยิ้ม เราทั้งคู่ต่างรู้ว่าผมเพิ่งได้บทเรียนเล็กๆบทหนึ่ง
        สัปดาห์นั้นผมยังได้บทเรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาอีกหลายบท เช่น อนิจจัง หรือความไม่เที่ยงของชีวิต การยึดมั่นถือมั่นให้ทุกสิ่งเป็นไปดั่งใจและความผิดหวังเมื่อไม่สมใจ ความทุกข์ทางกายและทางใจ และคุณค่าของสิ่งที่ชาวพุทธเรียกว่าสงฆ์ ซึ่งแปลให้ใกล้เคียงที่สุดได้ว่า "หมู่หรือคณะ" แต่สิ่งสำคัญที่สุด ผมได้ประจักษ์ว่า สิ่งที่บุรุษผู้หนึ่งในอินเดียเรียนรู้เมื่อ 2,500 ปีก่อนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร
        ปัจจุบันมีพุทธศาสนารูปแบบใหม่เกิดขึ้นทั่วโลก มีการนำพุทธปรัชญามาใช้ในการบำบัดสุขภาพใจและกาย รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองและสิ่งแวดล้อม ธรรมะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะ ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงจัดการความเครียดได้ดีขึ้น ช่วยให้ตำรวจคลี่คลายเหตุการณ์วุ่นวาย และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง บทบาทร่วมสมัยเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นใหม่ แม้แต่ในอินเดียที่พุทธศาสนาเกือบสูญหายไป หรือในประเทศจีนที่พุทธศาสนาเคยเป็นสิ่งต้องห้าม
        ปัจจุบันศาสนาพุทธไม่ได้จำกัดวงอยู่ในหมู่ภิกษุ หรือเศรษฐีชาวตะวันตกที่เห่ออารยธรรมตะวันออกอีกต่อไป ชาวคริสต์และชาวยิวหันมาปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนา ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาฝึกสมาธิร่วมกับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญบางคนประมาณว่าเฉพาะในสหรัฐฯ มีพุทธศาสนิกชนราว 3 ล้านคน และการวิจัยเมื่อปี 2004 พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 25 ล้านคนเชื่อว่า คำสอนของพุทธศาสนามีผลต่อจิตวิญญาณของตนอย่างสูง
        โครงการเซนสงเคราะห์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือตัวอย่างหนึ่งของ "พุทธศาสนาที่มีบทบาทในสังคม" ซึ่งเป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยติช นัท ฮันห์ ภิกษุเวียดนามผู้ถูกเนรเทศในทศวรรษ 1960 เพราะการต่อต้านสงครามด้วยสันติวิธี ปัจจุบันภิกษุชราวัย 79 ปียังคงทำงานเพื่อสังคม และในปีนี้ซึ่งครบรอบ 30 ปีที่พรรคคอมมิวนิสต์ยึดครองเวียดนาม ท่านใช้เวลา 3 เดือนออกเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วมาตุภูมิที่ท่านเคยถูกขับไล่
        ติช นัท ฮันห์ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งและเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่าย ต่างๆ เช่น ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล ขึ้นเป็นประจำ ณ ศูนย์ฝึกสมาธิประจำหมู่บ้านพลัมทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ท่านเล่าว่า การสัมมนาเช่นนี้มักเริ่มต้นด้วยความโกรธเกลียด แต่มักจบลงด้วยอ้อมกอดเสมอ
        ท่านกล่าวเรียบๆว่า "การเปลี่ยนความคิดของผู้เข้าร่วมสัมมนาล้วนเกิดจากสุภาษิตที่ว่า ‘นิ่งเสียตำลึงทอง’ ในการแก้ไขปัญหาสังคมทุกอย่าง ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้สิ่งที่พุทธองค์ทรงเรียนรู้ นั่นคือการทำจิตให้ว่าง จากนั้นเราจะรู้เองว่าควรทำอะไรต่อไป"

เรื่องโดย เพอร์รี การ์ฟิงเกล
พุทธบารมีแผ่ไพศาล
ธันวาคม 2548