ผู้เขียน หัวข้อ: "ร้อยปีสวรรคตสมเด็จพระปิยมหาราช" (เพื่อประชาชน)  (อ่าน 1997 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 23 ตุลาคม 2553 เป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของคนไทย เวียนมาครบรอบ 100 ปีพอดี พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเป็น "นักปฏิวัติ" "นักปฏิรูป"ของคนไทยและประเทศไทยโดยแท้จริง ได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศไทยไว้มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะการปฏิวัติ ปฏิรูป ระบบราชการของไทย ที่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง การบริหาร จากจตุสดมภ์ มาเป็น กระทรวง ทบวง กรม ตามแบบตะวันตก

การปกครองการบริหารประเทศแบบจตุสดมภ์ มีมายาวนานตั้งแต่ สมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่แยกการบริหารบ้านเมือง ออกเป็น เวียง วัง คลัง นา และมีสมุหพระกลาโหม รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายกรับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือ

ระบบการปกครองการบริหารประเทศที่ล้าหลังมีมายาวนาน ประกอบกับสถานการณ์การถูกคุกคามจากอังกฤษและฝรั่งเศส ในรูปแบบของการล่าอาณานิคม ทำให้ประเทศสยามในสมัยของรัชกาลที่ 5 ต้องเผชิญปัญหาสำคัญ 2 ประการคือ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของชาติ ที่ได้จัดรูปการปกครองออกเป็น 2 แบบ คือ การปกครองดินแดนที่เป็นของไทยโดยแท้แบบหนึ่ง กับดินแดนที่เป็นประเทศราชอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะกับดินแดนประเทศราชต่างๆ มีความแตกต่างกันทางด้านเชื้อชาติบ้าง ภาษาบ้าง ศาสนาและความเชื่อบ้าง หัวเมืองเหล่านั้นอยู่ภายใต้การบังคับการของเสนาบดีถึง 3 กระทรวง การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติก็เกิดปัญหาที่กระทบต่อเอกภาพของประเทศโดยตรง

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความล้าหลังของประเทศที่ได้มีการปฏิรูปครั้งสุดท้าย เมื่อ 400 ปีก่อน เกิดปัญหาประสิทธิภาพการบริหารงาน แต่ละกระทรวงต้องทำงานหลายๆ อย่าง สับสนอลหม่าน การปกครองหัวเมืองก็มีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แบบต่างคนต่างดูแล ไม่เป็นระบบเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยปฏิวัติ ปฏิรูป ระบบราชการของไทย ด้วยการจัดกระทรวงแบบตะวันตก ขึ้น 12 กระทรวง คือ

1.กระทรวงมหาดไทย - บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว

2.กระทรวงกลาโหม - บังคับบัญชา หัวเมืองฝ่ายใต้ และเมืองมลายู

3.กระทรวงการต่างประเทศ - ว่าการการต่างประเทศ

4.กระทรวงวัง - ว่าการในพระราชวัง และราชการในพระองค์

5.กระทรวงเมือง(ภายหลังเรียกกระทรวงนครบาล) - ว่าการตำรวจ การบัญชี กรมสุรัสวดี และรักษาคนไทย

6.กระทรวงเกษตราธิการ- ว่าการการเพาะปลูกและการค้าขาย การป่าไม้ และการบ่อแร่

7.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ - ว่าการภาษีอากร และเงินรับจ่ายในแผ่นดิน

8.กระทรวงยุติธรรม - บังคับศาลแพ่ง อาญา นครบาล และอุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

9.กรมยุทธนาธิการ- ตรวจตราจัดการ ทหารบก ทหารเรือ

10.กระทรวงธรรมการ- บังคับการเกี่ยวกับพระสงฆ์ โรงเรียน โรงพยาบาล

11.กระทรวงโยธาธิการ- การก่อสร้างทำถนน ขุดคลอง การช่างทั่วไป การไปรษณีย์โทรเลข การรถไฟ

12.กระทรวงมุรธาธิการ- รักษาพระราชลัญจกร พระราชกำหนดกฎหมาย และหนังสือราชการทั้งปวง

ทุกกระทรวงมีเสนาบดี เป็นหัวหน้าและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการ

ส่วนราชการที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการปฏิรูป ปฏิวัติระบอบการปกครอง การบริหารประเทศในขณะนั้น และต่อๆ มา ก็คือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เฉพาะกระทรวงมหาดไทย ไว้ 4 ประการ คือ

1.ให้แก้ลักษณะการปกครองแบบประเทศราชาธิการ(EMPIRE)มาเป็นพระราชอาณาจักร (Kingdom)

2. ให้รวมการบังคับบัญชาหัวเมือง มาไว้ที่กระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว

3. ให้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑล ตามสมควรแก่ภูมิลำเนาให้สะดวกแก่การปกครอง และมีสมุหเทศาภิบาลบังคับบัญชาทุกมณฑล

4. ให้จัดเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้เกิดความยุ่งเหยิงขึ้น

ด้วยการตัดสินพระทัยจัดปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนั้น มีผลให้ประเทศไทย มีระบบราชการบริหารมาจนถึงปัจจุบัน แบบที่เป็นอยู่และยังคงรักษาไว้ ซึ่งระบบพระราชอาณาจักร และรวมศูนย์อำนาจไว้ ณ ราชการบริหารส่วนกลาง

กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงสำคัญที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีได้รับพระราชดำริมาวางระบบการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑล เทศาภิบาล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งต่อมาที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงมาเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ในปัจจุบัน

ราชการของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เป็นระบบที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบันมีทั้งกฎหมายรองรับ มีงบประมาณดำเนินการ และมีเจ้าหน้าที่ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ยังยึดมั่นถือมั่นกับ ความเป็นผู้มีอำนาจเหนือประชาชน ถือเอาประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้อาณัติ การอุปถัมภ์ พึ่งพาของราชการ

100 ปี แห่งการสวรรคตของพระองค์ท่าน ประเทศไทยและราชการของไทย ยังไม่เคยมีการปฏิรูป ปฏิวัติระบบการคิด การทำงานอย่างจริงจัง ให้เหมาะสมระบบการปกครองที่เปลี่ยนมาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากจะมีแต่เพียงการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตั้งเพิ่มและลดส่วนราชการเท่านั้น

กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกระทรวงบริหารจัดการภายในของประเทศที่เรียกว่า INTERIOR AFFAIRS ครั้งหนึ่งเคยเป็นกระทรวงที่มีบทบาทปฏิรูประบบการปกครองประเทศทั้งแผ่นดิน เป็นกระทรวงชั้นนำของบ้านเมือง ก็กลายเป็นกระทรวงที่หลับไม่ตื่น ไม่รู้จักคิดปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้อง และรองรับการปกครองประเทศ ที่เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่าง ใด ยังคงรักษาความเป็นกระทรวงผู้ทรงอำนาจ ทรงอิทธิพลเหนือประชาชนตามชนบทและต่างจังหวัดที่นักการเมืองต่างๆ จ้องจะใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกตั้ง เพื่อเปิดประตูแห่งอำนาจให้ตนและพวกพ้อง เดินเข้าสู่ความมีอำนาจวาสนาบารมี ในฐานะของผู้ครองอำนาจรัฐ

มรดกการบริหารราชการแผ่นดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราช ทานไว้แก่ปวงชนชาวไทย เป็นมรดกที่ต้องมีผู้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ปฏิวัติและปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยทำการปฏิวัติ ปฏิรูป ระบบราชการดั้งเดิมที่ใช้มา 400 กว่าปีมาแล้ว

การคิด การตัดสินใจมิใช่เป็นการลบล้างหรือทำลายมรดกความคิดของพระองค์ท่านแต่อย่าง ใด เพราะองค์ท่านทรงรัก ห่วงใยประเทศไทย และคนไทยอย่างแท้จริงทรงเป็นนักปฏิรูป ปฏิวัติ นักเปลี่ยนแปลง ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมีน้ำพระทัย และสายพระเนตรยาวไกล ยิ่งนัก

ในรอบร้อยปีของการเสด็จสวรรคตของพระองค์ ที่คนไทยทั้งแผ่นดินต้องคิดพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยได้รับพระราชทาน จากพระองค์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ก็คือ การเลิกทาส

การเลิกทาสในรัชสมัยของพระองค์เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากลำบาก เพราะกระทบต่อตัวผู้เป็นทาสเอง ที่ไม่อยากหลุดพ้นจากความเป็นทาส และกระทบต่อนายทาสหรือเจ้าของทาส ผู้ขัดขวางการเลิกทาส พระองค์ท่านได้ทรงใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน กว่าจะเลิกทาสในประเทศไทยได้สำเร็จ

แต่ความสำเร็จในการเลิกทาสของพระองค์ ก็เป็นเพียงขั้นแรกของการเลิกทาสที่แท้จริง เป็นเพียงการเลิกทาสทางกายที่มนุษย์คนไทยที่ต้องขาดอิสรเสรีภาพ ตกไปเป็นทาสผู้อื่น ด้วยการขาย การเป็นลูกทาส ตั้งแต่เลิกทาสครั้งนี้แล้ว คนไทยทั้งแผ่นดินไม่ต้องตกเป็นทาสทางกายแก่ผู้ใดอีกไม่ว่าจะด้วยการซื้อขาย หรือการสืบสายโลหิต

ยังมีทาสอีกประเภทหนึ่ง ที่คนไทยทั้งแผ่นดินในปัจจุบันไม่ยอมสลัดออกไปจากใจของตน แล้วพัฒนาปัญญาให้พ้นจากการเป็นทาสทางความคิด วัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมจากประเทศตะวันตก และยังไม่สลัดความเป็นทาสทางอารมณ์ ความรู้สึก อันเกิดจากกิเลส ตัณหา อุปทาน ในความโลภ ความโกรธ และความหลง การเป็นทาสของอำนาจ และเงินตรา ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ท่านไม่สามารถมาเลิกให้ใครได้

ด้วยความเป็นทาสทางใจเช่นนี้ มิใช่หรือ ประเทศไทยจึงขาดความรัก ความสามัคคี มีปัญหาความร้าวฉาน การเข่นฆ่า ประหัตประหารกัน สร้างความหายนะแก่บ้านเมืองชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องคนไทยอยู่ทุกวันนี้

ร้อยปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระปิยมหาราช น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการการปฏิวัติ ปฏิรูป การปกครองการบริหารราชการของไทย การปฏิวัติ การปฏิรูป วิธีคิด วิธีดำรงตนของคนไทยเสียใหม่ ให้สมกับเมืองไทยเป็นดินแดนแห่งปัญญา

กระผมรอคนกล้าปฏิวัติ ปฏิรูป เช่นเสด็จพ่อ ร.5 อยู่ครับ

ประมวล รุจนเสรี
วันที่ 24/10/2010