ผู้เขียน หัวข้อ: กอบกู้วิกฤติอาหารทะเล-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2347 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ในแต่ละปีกุ้ง หอยปูปลาในธรรมชาติถูกจับขึ้นมาจากมหาสมุทรคิดเป็นปริมาณเกือบ 80 ล้านตัน และผู้สันทัดกรณีในอุตสาหกรรมประมงยังเชื่อว่า ปริมาณการจับระดับนี้ค่อนข้างคงที่ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทว่าการศึกษาที่ยังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องของดาเนียล ปอลี  นักวิทยาศาสตร์การประมงที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย   ร่วมกับเอนริก ซาลา นักวิชาการผู้เป็นภาคีสมาชิกสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กลับ ชี้ว่า ปริมาณการจับปลาทั่วโลกหาได้คงที่ หรือแบ่งสันกันอย่างเป็นธรรมในหมู่ประเทศต่างๆทั่วโลก ในการศึกษาเรื่อง “ผลกระทบของการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเล” หรือ “ซีฟู้ดปรินต์” (SeafoodPrint) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการกุศลพิว (Pew Charitable Trusts) และสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นักวิจัยทั้งสองเสนอแนะหนทางที่พวกเขาเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อช่วยกอบกู้ท้องทะเล

พวก เขายังหวังว่า การศึกษาชิ้นนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับ ทรัพยากรอาหารทะเล ผู้คนทั่วไปมักคิดถึงผลกระทบที่ประเทศหนึ่งๆกระทำต่อท้องทะเลโดยดูจากปริมาณ ปลาทั้งหมดที่ประเทศนั้นๆจับได้ แต่กลายเป็นว่าตัวเลขนั้นบิดเบือนผลกระทบ ที่แท้จริงของการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเล ปอลีกล่าวว่า “ปัญหาก็คือปลาแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน ทูน่าหนึ่งกิโลกรัมอาจสร้างผลกระทบมากกว่าปลาซาร์ดีนหนึ่งกิโลกรัมถึงร้อย เท่า”

ความ เหลื่อมล้ำเช่นนี้มาจากเหตุผลที่ว่า ปลาทูน่าเป็นสัตว์นักล่าอันดับสูงสุด ซึ่งหมายความว่าพวกมันอยู่ในตำแหน่งบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ปลาทูน่าตัวใหญ่ที่สุดกินปลาจำนวนมากเป็นอาหาร รวมทั้งปลานักล่าระดับกลางๆอย่างปลาแมกเคอเรล ซึ่งจะกินปลาเล็กปลาน้อยอย่างปลากะตักอีกทอดหนึ่ง ส่วนปลากะตักก็จะกินโคพีพอดตัวเล็กจิ๋วเป็นอาหาร ทูน่าตัวใหญ่ต้องกินปลาปริมาณเท่ากับน้ำหนักตัวของมันทุกๆสิบวันเพื่อให้ อยู่รอด   ดังนั้น  ทูน่าหนัก 450 กิโลกรัมตัวหนึ่งอาจต้องกินปลาตัวเล็กกว่ามากถึง 15,000 ตัวต่อปี ห่วงโซ่อาหารเช่นนี้ดำรงอยู่ในระบบนิเวศมหาสมุทรทั่วโลก โดยในแต่ละแห่งจะมีสัตว์นักล่าอันดับสูงสุดแตกต่างกันออกไป ปลาตัวใหญ่ๆไม่ว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใดก็ตาม ล้วนแต่ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อาหารหลายอันดับชั้น

เพื่อ ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ประเทศต่างๆใช้ทรัพยากรทางทะเลแตกต่างกันอย่างไรนั้น นักวิจัยในโครงการซีฟู้ดปรินต์ต้องหาหนทางเปรียบเทียบปลาทุกชนิดที่จับได้ โดยใช้วิธีการวัดจำนวน “ผลผลิตขั้นต้น” (primary production) อันได้แก่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่อยู่อันดับล่างสุดของห่วงโซ่อาหารใน ทะเลที่ปลาชนิดหนึ่งๆต้องกินเพื่อให้ได้น้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม

ชาติ ที่มีกำลังเงินมีแนวโน้มที่จะซื้อปลามาก และปลาจำนวนมหาศาลที่ชาติเหล่านี้ซื้อก็มักเป็นปลานักล่าอันดับสูงสุดอย่าง ทูน่า   นับวันผลกระทบของการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเลของแต่ละประเทศมีแต่จะเพิ่มสูง ขึ้น ปอลีบอกว่า สิ่งที่ผลวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นคือ ปริมาณเหล่านี้ไม่เพียงมากมายมหาศาลเท่านั้น แต่ยังไม่ยั่งยืนอีกด้วย

ความ ไม่ยั่งยืนที่ว่านี้เห็นได้จากผลการวิเคราะห์การค้าอาหารทะเลระดับโลกที่วิ ล์ฟ ชวอร์ตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ทำงานวิจัยในโครงการซีฟู้ดปรินต์ ได้รวบรวมไว้ การบริโภคผลผลิตขั้นต้นจากทะเลของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลัง มือนับจากทศวรรษ 1950 เป็นต้นมาจนถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1950 ยังมีการทำประมงในมหาสมุทรไม่มากนักเพื่อป้อนความต้องการบริโภคอาหารทะเลของ มนุษย์ แต่ขณะที่ชาติร่ำรวยเริ่มหันมาบริโภคสัตว์น้ำซึ่งเป็นนักล่าในอันดับสูงสุด มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็จับสัตว์น้ำจนเกินขีดความสามารถของผลผลิตขั้นต้นในน่านน้ำเขต เศรษฐกิจจำเพาะของตน หรือคิดเป็นระยะทาง 370 กิโลเมตรทะเลจากชายฝั่ง   ผลที่ตามมาก็คือ    มีการทำการประมงในน่านน้ำมหาสมุทรทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่หรือน่านน้ำนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะเหล่านี้มีศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า “ทะเลหลวง” (high seas) อาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลเหล่านี้คือดินแดนไร้ผู้ครอบครองแห่งท้ายๆบนโลก การจับสัตว์น้ำจากทะเลหลวงเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าจาก 1.6 ล้านตันในปี 1950 เป็นราว 13 ล้านตัน สัตว์น้ำส่วนใหญ่ที่ถูกจับขึ้นมาคือทูน่า นักล่าอันดับสูงสุดที่มีค่าตัวแพงลิ่ว ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบของการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเลสูงมากอีกด้วย

การ ที่ชาติร่ำรวยคือผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ประมงส่วนใหญ่เหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากการทำให้สมบัติประมงส่วนรวมกลายเป็นสมบัติส่วนตัวไปโดยปริยาย ประเทศที่ยากจนกว่าย่อมไม่มีปัญญาประมูลหรือซื้อหาปลาราคาแพงๆได้ ประชากรในชาติเหล่านั้นยังอาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบหากรัฐบาลของตนยอมทำข้อ ตกลงด้านการประมงหรือการค้ากับชาติที่มั่งคั่งกว่า  ในข้อตกลงเหล่านี้   ปลาที่จับได้จากท้องถิ่นจะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ แทนที่จะขายให้กับผู้คนในท้องถิ่น

แม้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีปลาวางขายอย่างเหลือเฟือ  แต่ผลการศึกษาของซี ฟู้ด ปรินต์ระบุว่า ความสมบูรณ์พูนสุขเช่นนี้เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงสองปรากฏการณ์ ได้แก่ น่านน้ำทะเลหลวงที่เคยเป็นสมบัติของส่วนรวม ถูกแปรเปลี่ยนเป็นบริเวณที่มีการทำประมงอย่างหนักและผูกขาดมากขึ้นทุกที และนับวันความมั่งคั่งทางทรัพยากรอาหารทะเลของประเทศยากจนรังแต่จะถูกผู้ เสนอราคาสูงสุดช่วงชิงไป

ขณะ เดียวกัน หลายประเทศกำลังพยายามชดเชยการขาดดุลทางทรัพยากรอาหารทะเลของโลก ด้วยการเพาะเลี้ยงหรือทำฟาร์มปลานักล่าในอันดับสูงสุดอย่างแซลมอนและทูน่า ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงมายาคติแห่งความล้นเหลือในท้องตลาดให้คงอยู่ต่อไป แต่แนวทางนี้กลับก่อให้เกิดปัญหาข้อใหญ่ตามมา นั่นคือ ปลาที่เพาะเลี้ยงเกือบทั้งหมดยังต้องกินอาหารที่ได้จากเนื้อและน้ำมันของปลา ขนาดเล็กกว่าอยู่ดี นี่อาจเป็นประโยชน์อีกประการของการศึกษาว่าด้วยผลกระทบของการจับสัตว์น้ำ เป็นอาหารทะเล   เพราะหากนักวิจัยสามารถคำนวณคุณค่า ทางนิเวศวิทยาของปลาในธรรมชาติที่กลายเป็นอาหารของปลาเลี้ยงได้แล้วละก็ ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะสามารถแสดงผลกระทบที่แท้จริงของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำได้

เครื่อง มือทางการวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า ใครจะเป็นผู้จับสัตว์น้ำชนิดใดจากท้องทะเล และปริมาณการจับนั้นเป็นธรรมและยั่งยืนหรือไม่ การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการจับสัตว์น้ำเป็นอาหารทะเลซึ่งเป็นการศึกษา ระดับโลกระบุอย่างชัดเจนว่า ชาติร่ำรวยประเมินผลกระทบที่ตนเองสร้างขึ้นต่ำเกินไป และหากทัศนคติเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณปลาอันล้นเหลือในตลาดก็อาจลดลงอย่างรวดเร็ว

ปอ ลีชี้ว่าที่ผ่านมาเรารู้หนทางในการลดผลกระทบที่เราสร้างต่อท้องทะเลลงได้ ตั้งแต่การลดจำนวนเรือประมงทั่วโลกลงราวร้อยละ 50 จัดตั้งเขตห้ามจับปลาที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ในมหาสมุทร ไปจนถึงจำกัดการใช้ปลาในธรรมชาติเป็นอาหารของปลาเลี้ยง น่าเสียดายที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลมักเป็นอุปสรรคกีดขวางบนหนทางที่นำไปสู่ การปฏิรูป
ทั้ง นี้ทั้งนั้น ปอลีและซาลา รวมไปถึงทีมงานผู้วิจัยโครงการซีฟู้ดปรินต์ ไม่ได้ต้องการทำลายอุตสาหกรรมการประมง กำจัดธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  หรือต่อต้านการบริโภคปลา  สิ่ง ที่พวกเขาพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็คือ การทำธุรกิจอย่างที่กำลังเป็นอยู่นั่นเอง โดยมุ่งหวังให้ผู้คนได้ตระหนักว่า การทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทุกวันนี้ไม่ใช่วิถีที่ยั่งยืน และชี้ว่าคนที่สนับสนุนการกระทำเช่นนี้ให้ดำเนินต่อไป ก็คือคนที่ปิดหูปิดตาไม่รับรู้ถึงผลกระทบทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจ ด้วยการวัดผลกระทบที่ประเทศต่างๆกระทำต่อท้องทะเลอย่างเที่ยงตรง โครงการวิจัยซีฟู้ด ปรินต์อาจปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรที่นับวันจะมีแต่ถดถอยไม่ใช่ เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป ปอลีเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวอาจช่วยให้นานาประเทศสามารถแบ่งปันทรัพยากรในมหาสมุทรที่ได้ รับการชุบชีวิตขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้ได้อย่างเป็นธรรม แทนที่จะมาต่อสู้แย่งชิงเศษปลากันอย่างตะกละตะกลามหลังอุตสาหกรรมประมงล่ม สลายลง

ตุลาคม 2553