ผู้เขียน หัวข้อ: อนาคตข้าวไทย-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 928 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ความเดือดร้อนของชาวนายังไม่เห็นแสงสว่าง อนาคตข้าวไทยสดใสหรือมืดมน

“กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม”

บางตอนจากเพลง “ชีวิตกสิกร” ประพันธ์คำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล มีหลักคิดว่า “กสิกรผู้ผลิตอาหารทำให้สังคมมีอำนาจ” ปัจจุบัน อุดมการณ์นั้นไม่ได้เปลี่ยน ไทยยังหวังให้ “ครัวไทยเป็นครัวโลก”  อยากครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก  แต่ล่าสุดกลับต้องเสียหน้าหนักเมื่ออินเดีย เวียดนาม แซงหน้าเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งและสอง ขณะที่ไทยตกเป็นอันดับสาม

จากกลางกรุงมุ่งหน้าสู่ทุ่งข้าวริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอลาดหลุ่มแก้ว จังหวัดปทุมธานี ระหว่างทางยังมี “นาข้าว” อยู่หลังทิวตึก ถนนหลวง และเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังเชื่อมชานเมืองกับศูนย์กลางกรุงเทพฯ เลาะเลียบลำคลองพระอุดมไปยังบ้านลุงทวี คุ้มรักษา ชาวนาวัย 68 ปี ผู้สืบทอดอาชีพชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา

“นาที่ทำอยู่มี 50 ไร่ เคยเป็นนาปู่ยกให้พ่อ แต่เราต้องเช่านาตัวเองทำมากว่า 40 ปีแล้ว"  ลุงทวีเล่าถึงที่นาที่ทำกินมาตั้งแต่รุ่นปู่ ตกทอดถึงรุ่นพ่อแม่ที่ไม่รู้หนังสือไปกู้เงินพ่อค้าซื้อข้าว จนที่นาหลุดกลายเป็นของเจ้าหนี้ แต่นั้นมาต้องเช่านาตัวเองทำกินมาตลอด ขณะที่ราคาที่ดินย่านชานเมืองถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้น่าจะหลักหลายสิบล้านบาทแล้ว

“ทำนาไม่ได้ลำบากกว่าอาชีพอื่น แค่ทำนาให้ดี ปลูกข้าวให้ได้ข้าวดี ซื่อสัตย์ ไม่เล่นการพนัน ไม่ลังเลเกี่ยงงอนว่าเหนื่อยยาก ไม่พลัดวันประกันพรุ่ง"   ชาวนาอาวุโสผู้นี้อธิบายและเสริมว่า ชาวนาเป็นอาชีพอิสระที่สามารถคิดและพัฒนาตัวเองได้  ลองคิดดูว่าหากไปรับจ้างเขาเย็บรังดุม ก็ต้องเย็บรังดุมอยู่ร่ำไป ไม่ได้เรียนรู้ที่จะเย็บเสื้อทั้งตัว แต่เป็นชาวนาได้เรียนรู้ตลอด รู้ดิน รู้ข้าว รู้ฟ้า รู้ฝน รู้เรื่องโรคแมลง มีโอกาสพัฒนาอาชีพ หาเลี้ยงตัวเอง และส่งลูกเรียนหนังสือได้เหมือนอาชีพอื่นๆ
 

"โอกาสเดียวที่ลุงไม่มีตลอดชีวิตชาวนา คือโอกาสที่จะมีที่ดินเป็นของตัวเอง" คือคำพูดจากปากลูกชาวนาที่เคยยากจนต้องซื้อข้าวสารกรอกหม้อวันละ 5 ลิตร ปัจจุบันมีบ้าน รถ รถไถ รถดำนา เงินฝาก และมีข้าวขาย เมื่อถามถึงอนาคตของแปลงนาที่ทำมาตลอดชีวิต ลุงทวียอมรับว่า ลูกๆคงไม่สามารถสืบทอดอาชีพการทำนาต่อไปได้ หากเจ้าของที่นาไม่ให้เช่า ถึงเวลานั้น คงต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรรับจ้างทำนา  ตั้งแต่ดำนาไปจนถึงเกี่ยวข้าว  สำหรับคนที่มีนา แต่ทำนาไม่เป็น หรือไม่มีแรงงาน

ภาวะหนี้สินชาวนากับการสูญเสียที่ดินและความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคมในจังหวัดพระนครอยุธยา ศึกษาโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เมืองอู่ข้าวอู่น้ำในลุ่มเจ้าพระยาแห่งนี้ได้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม มีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98 ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้เพียงร้อยละสองของรายได้มวลรวมจังหวัด  ชาวนาอยุธยามีอายุเฉลี่ย 62 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพ ทำให้ชาวนามากถึงร้อย 84 กำลังเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นนอกภาคเกษตร แม้ว่าปัจจุบันเนื้อที่ร้อยละ 60 ของจังหวัดยังเป็นนาข้าว แต่ร้อยละ 72 ของชาวนาในปัจจุบันไม่มีที่ดิน ต้องทำนาเช่ามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย  การลงทุนในนาเช่าต้องจ่ายค่าเช่าประมาณ 1,052 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อย 18 ของต้นทุนทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 6,007 บาทต่อไร่   ชาวนาอยุธยามีหนี้สินเฉลี่ย 636,387 บาทต่อครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ถึงร้อยละ 58 ของหนี้ทั้งหมด

เรื่องราวชีวิตของลุงทวีและชาวนารุ่นราวคราวเดียวกันในจังหวัดพระนครอยุธยา หรือที่ราบลุ่มภาคกลาง อาจหมายถึงชาวนารุ่นสุดท้ายใน “ทุ่งอดีต”  หรือ “ทุ่งเจ้าพระยา” ผืนดินอุดมสมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งในประเทศไทย 

 

ธัญพืชการเมือง
ความพยายามในการหาวิธีสร้างหลักประกันราคาข้าวรูปแบบต่างๆของฝ่ายการเมืองทุกรัฐบาล เช่น การประกันราคาข้าว คือการที่รัฐบาลรับซื้อข้าวในราคาประกันให้มากที่สุด การแทรกแซงหรือพยุงราคา คือการที่รัฐบาลรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดเพื่อดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้น และการจำนำข้าว คือการให้ชาวนานำข้าวไปจำนำกับรัฐบาลในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด เมื่อใดที่ราคาในตลาดสูงกว่าราคาจำนำ สามารถไถ่ถอนไปขายในตลาดได้  การสร้างหลักประกันราคาข้าวรูปแบบต่างๆดังที่กล่าวมา รัฐบาลแต่ละยุคล้วนผลัดเปลี่ยนใช้กันมาแล้วทั้งสิ้น

โครงการรับจำนำข้าวเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2525 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รับจำนำข้าวเปลือกในอัตราดอกเบี้ยต่ำ จูงใจให้ชาวนาชะลอขายข้าวต้นฤดูเก็บเกี่ยว โดยธกส.จะจ่ายเงินจำนำในราคาร้อยละ 80 ของราคาตลาด หรือจ่ายต่ำกว่าตลาด ให้ชาวนามีเงินไปใช้ก่อน แต่ยังไม่ขายข้าว เมื่อข้าวราคาดีก็ให้ชาวนาไถ่ถอนข้าวไปขายได้ แต่ถ้าถึงเวลาชาวนายังไม่มาไถ่ถอน ก็จะยึดข้าวมาขายในตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้ธกส.

โครงการรับจำนำข้าวมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ  จนถึงขนาดทำทั่วประเทศในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2547/48 ตั้งเป้ารับจำนำข้าวเปลือก 9 ล้านตัน โดยรัฐบาลให้ธกส.เป็นผู้จ่ายเงินจำนำข้าว และให้เก็บรักษาข้าว 4.5 ล้านตันไว้ที่ยุ้งฉางของชาวนา หรือสถาบันเกษตรกร ส่วนอีก 4.5 ล้านตันเก็บไว้ที่โรงสีภายใต้การดูแลขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์  โดย อคส.จะออกใบรับจำนำข้าวหรือ "ใบประทวน" ให้เกษตรกรนำไปแสดงกับธกส.เพื่อรับเงินจำนำ

แม้โครงการนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะราคาข้าวในตลาดสูงอยู่แล้ว แต่กลับกำหนดราคารับจำนำให้สูงขึ้นไปอีก อีกทั้งแนวปฏิบัติที่ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรมในการแข่งขันทางการค้า แต่ก็ถูกใจชาวนา ทำให้รัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำหนดให้นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายเร่งด่วน ประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าตลาด ถึงร้อยละ 40 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่แล้วรัฐบาลกลับประสบภาวะขาดทุนจนไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนา ชาวนาต้องเผชิญกับวิกฤติการเงินในครอบครัว เพราะรัฐบาลจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/57 (นาปี) ช้ามาร่วม 6 เดือนแล้ว คือตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 จนบัดนี้มีใบประทวนที่ยังไม่ได้รับเงินอยู่ราว 1.4 ล้านราย

การต้องรวบรวมข้าวเพื่อควบคุมราคาในตลาด แต่ควบคุมไม่ได้ เลยขาดทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ก่อเกิดหนี้สาธารณะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ของรายได้มวลรวมในประเทศ  อีกทั้งมีข้าวค้างสต็อกกว่า 18 ล้านตัน  ต้องใช้เวลาระบายกว่า 3-4 ปี และถ้าขายเป็นข้าวสารจะได้ราคาเพียงตันละไม่เกิน 10,000 บาท ขณะที่ซื้อข้าวเปลือกมาตันละ 15,000 บาท พอสีเป็นข้าวสารเหลือ 600 กิโลกรัม การพยายามควบคุมตลาดจึงเป็นการทำลายระบบตลาดข้าวไปโดยปริยาย

ในแง่หนึ่ง โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ต่อชาวนา เหมือนการถ่ายเทเงินที่เคยขูดรีดจากชาวนาในสมัยเก็บค่าพรีเมียมข้าวกลับไปให้ชาวนา อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่าชาวนาที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มีไม่ถึงร้อยละ 50 ของชาวนาทั้งหมด 3.4 ล้านครัวเรือน


"ปัญหาใหญ่กว่าเรื่องเงินจำนำข้าว คือปัญหาที่ดินและหนี้สิน เพราะไทยมีชาวนาต้องเช่าที่ดินทำนาถึงร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ ในพื้นที่ชลประทานชาวนาไม่มีที่ดินสูงถึงร้อยละ 80 ถ้าใช้งบประมาณเพียง 1 ใน 4 ของโครงการจำนำข้าว ภายใน 4 ปี จะแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินได้  และถ้ามีกองทุนที่ใช้งบปีละ 100,000 ล้านบาท จะแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินได้ภายใน 4 ปี"  วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี  ให้ความเห็น

ปี พ.ศ. 2557 อาจเป็นเพียงจุดเริ่มของวิกฤติข้าวไทย เพราะหลังเปิดเสรีการค้าอาเซียน ข้าวจากพม่า กัมพูชา และเวียดนาม จะเข้าสู่ไทยโดยเสรี ขณะที่ข้าวไทยมีต้นทุนการผลิตสูงมาก ข้าวนาปรังปี พ.ศ. 2556 ในไทยลงทุน 8,711 บาทต่อตัน  ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 4,960 บาท หากเปิดเสรีอาเซียนคาดว่า ราคาข้าวในประเทศอาจเหลือไม่เกิน 6,000 บาทต่อตัน

โครงการรับจำนาข้าวที่มีตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2516  เป็นหนึ่งในโครงการ “ประชานิยม” ที่ทุกพรรคการเมืองซึ่งเคยเป็นรัฐบาลล้วนเคยนำมาใช้  เพราะตัวเลขจำนวนชาวนาซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเกือบ 18 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้พรรคการเมืองที่ต้องการชนะเลือกตั้งต่างคิดค้นกลยุทธ์ด้านราคาข้าวมาชวนให้เชื่อได้ว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาข้าว การอุดหนุนด้วยการให้กู้เงิน หรือปัจจัยการผลิต  โดยต่างเป้าหมายที่จะโกยคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเป็นครั้ง ๆ ไป

สิ่งที่เห็นน้อยหรือแทบไม่มีเลยในนโยบายข้าวที่มาจากฝ่ายการเมือง  อาทิ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนาจต่อรอง  การปกป้องสิทธิของชาวนา สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตการใช้เคมีเกษตร  การคุ้มครองเมล็ดพันธุ์และพื้นที่ผลิตอาหารหรือนาข้าว  การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเอง  ลดการพึ่งพาภายนอก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาทักษะและเทคนิคทางการเกษตร ไปจนถึงการฟื้นฟูประเพณีที่เกี่ยวกับข้าว ทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏในนโยบายการเมืองเรื่องข้าว

เรื่องโดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์
เดือนพฤษภาคม 2557