ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำจะท่วมซ้ำซาก และน้ำตาจะไม่เหือดหาย หากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  (อ่าน 1152 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลกใบนี้ สิ่งที่มนุษย์พยายามทำมาตลอด คือ การป้องกัน ลดผลกระทบของความเสียหาย และเยียวยาผู้ที่ประสบภัย อย่างไรก็ดี การจัดการกับปัญหาใดก็ตามจำเป็นต้องมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่เจาะลึกถึงสภาพเงื่อนไขที่ทำให้เกิดภัยพิบัติและความรุนแรงของสถานการณ์

หากทบทวนการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งมาตรการของภาครัฐและการระดมความช่วยเหลือของภาคเอกชน จะเน้นไปที่การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และการทำกิจกรรมโฆษณาประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรต่างๆ ควบคู่ไปด้วย แม้กิจกรรมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยซับน้ำตาของผู้ประสบภัยอยู่บ้าง

แต่สิ่งที่เจ้าของปัญหาต้องการ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ หรืออย่างน้อยควรมีมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าให้เตรียมตัวกันดีกว่ามาตามแก้ไขทีหลังอย่างไม่รู้จักจบสิ้นทุกปี หรือบางปีก็หลายๆ รอบ

มาตรการแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีองค์ความรู้หลากหลายระดับซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการกับปัญหาอย่างยั่งยืน โดยกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายระหว่างประเทศจำนวนมากเกิดจากการถอดบทเรียนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งสามารถเลือกมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย

มาตรการเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1.มาตรการก่อนเกิดภัยพิบัติ เช่น การเตือนภัยล่วงหน้า แผนจัดการทรัพยากร ผังเมือง ฯลฯ

2.มาตรการหลังเกิดภัยพิบัติ เช่น การอพยพ การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟู ฯลฯ

มาตรการเหล่านี้อาจกระทำโดยภาครัฐฝ่ายเดียว หรือกระทำร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งริเริ่มได้หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมและเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ และมีรายละเอียดปลีกย่อยไปตามช่วงระยะเวลาต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่ารัฐที่เผชิญภัยพิบัติซ้ำซากจะมีแผนทั้งระดับรัฐ ภูมิภาค ภูมินิเวศ รวมถึงมีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทย คือ การใช้มาตรการหลังเกิดภัยพิบัติเสียมากกว่า กล่าวคือ มีการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วตามมาด้วยคาราวานข้าวของที่ไปไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในบางกรณีก็เป็นความช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับความปรารถนาของผู้ประสบภัย หรือมีความล้นเกินในบางจุดและขาดแคลนในบางจุด เพราะขาดการประสานข้อมูลและยุทธศาสตร์ร่วม

นอกจากนี้สิ่งที่แทบไม่ปรากฏข้อมูลข่าวสารเลย คือ สาเหตุที่แท้จริงของภัยพิบัติจากพื้นที่ในระดับภูมินิเวศ เช่น ป่าที่เคยซับน้ำป่า สภาพดินที่เคยดูดน้ำ การเก็บกักน้ำของลำธาร และฝายตามธรรมชาติ ฯลฯ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนป้องกันภัยพิบัติในระยะยาว และเป็นการป้องกันน้ำป่าและน้ำตาที่ไหลบ่ามาทุกฤดูน้ำหลาก

จากการทำวิจัยเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบเกษตรพันธนาการ (Contract Farming) ทางทีมวิจัยพบว่า ป่าต้นน้ำที่เป็นทั้งพื้นที่ผลิตความชุ่มชื้นในหน้าแล้งและเก็บกักน้ำฝนส่วนเกินในฤดูน้ำหลากได้สูญสลาย หรือถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็น ป่าเศรษฐกิจ สวนยางพารา ดงข้าวโพด รวมถึงไร่ปลูกข้าวบาร์เลย์และอ้อย อย่างมากมายมหาศาล

พื้นที่เพาะปลูกทางเศรษฐกิจดังกล่าวขยายตัวอย่างกว้างขวางได้อย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่ทีมวิจัยมุ่งหาคำตอบ เกษตรกรและภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ให้ข้อมูลว่า น่าจะมีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ มีการเข้ามากว้านซื้อสิทธิในที่ดิน (ที่ดินหลายแปลงไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ตามกฎหมาย เช่น ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) เพื่อนำไปปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยวโดยนายทุนระดับท้องถิ่น นายทุนจากที่อื่น และกลุ่มทุนระดับชาติ

กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่น่าอิจฉาของคนในพื้นที่เพราะสามารถกระทำการต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างสะดวกและไม่ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กลับกันพี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมผสมผสานตามวิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ กลับต้องเผชิญปัญหาจากภาครัฐ และกลุ่มอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรจำนวนมากมีเงื่อนไขด้านหนี้สินและความไม่มั่นคงในที่ดินรุมเร้า จึงหันมาเข้าร่วมกับกลุ่มนายทุนเหล่านั้น ในรูปของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายต่อให้กลุ่มทุน หรือรับจ้างทำการเพาะปลูกหรือเป็นนอมินีให้กับนายทุนเหล่านั้น เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาเผื่อแผ่ปกป้องไม่โดนรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป และมีรายได้ที่แน่นอนขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ต้องมีปัญหากับรัฐบ่อยๆ

ภาพที่ทุกท่านจะได้เห็นจากการขับรถชมทิวทัศน์บนยอดดอยและภูผาในภาคเหนือทางตะวันออกและภาคอีสานตอน คือ ไร่ข้าวโพด ต้นยางเข้าแถวเรียงราย ตามสองข้างทาง และบนภูเขาเดิมพื้นที่ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ไม่ศักยภาพในการสกัดกั้นและดูดซับน้ำเช่นป่าธรรมชาติ เนื่องจากร่องแถวเป็นทางเดินน้ำที่สะดวก และพืชเหล่านี้มีอายุน้อยรากสั้น รวมทั้งขาดพืชอื่นปกคลุมหน้าดิน

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ น้ำที่มาจากยอดเขาจึงพัดผ่านต้นไม้และลากเอาหน้าดินลงสู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมหาศาลกว่าเดิม จนชาวบ้านที่เคยอยู่ชายเขาก็คาดคิดไม่ถึง จึงมีบทสัมภาษณ์หลายครั้งที่แสดงความตระหนกเพราะไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เช่นว่ามาก่อนในช่วงชีวิตตน

นอกจากนี้เขื่อนซึ่งสามารถปิดช่องเขาหรือทางน้ำได้แบบตามฤดูกาล ก็ไม่อาจรองรับปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะน้ำมาจากทุกทิศทาง มิใช่ไหลมาตามลำธาร ช่องเขา แล้วลงสู่แม่น้ำ ดุจดังภูมิประเทศแบบเดิม หากจะสร้างเขื่อนกันจริง ต้องสร้างตั้งแต่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงใหม่ ไปจนสุดที่ จ.บึงกาฬ แบบไม่ขาดช่วงเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยต้นทุนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคมที่ต้องอพยพคนออกจากพื้นที่หลายล้านคน

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการตีแผ่ในสื่อกระแสหลักที่ต้องรับโฆษณาจากกลุ่มทุนซึ่งอยู่เบื้องหลังการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหล่านี้ หากเฝ้าดูรายการเล่าข่าวทั้งหลายก็จะเห็นแต่ปรากฏการณ์ความสูญเสีย ไม่เห็นการพูดถึงสาเหตุทั้งที่นักข่าวเหล่านั้นย่อมรู้ข้อมูลที่แท้จริงจากพื้นที่

ดังนั้น จึงเป็นวาระของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนซึ่งไม่ตกอยู่อำนาจทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องลุกขึ้นมาผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ซับน้ำเหล่านั้นออกมา เพื่อวางมาตรการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติที่เกี่ยวพันกับชะตาชีวิตคนทั้งชาติ มากกว่าปิดบังข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนไม่กี่ตระกูล

โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2554)