ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ปรับ รพ.ตาคลี - ลาดยาว รองรับผู้ป่วยแทน รพ.สวรรค์ประชารักษ์  (อ่าน 1246 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
รมว.สธ. รุดเยี่ยมน้ำท่วมที่ จ.นครสวรรค์ เร่งพัฒนา รพ.ตาคลีแ- ลาดยาว ให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป รักษาผ่าตัดได้ รองรับผู้เจ็บป่วยในจังหวัดแทนรพ.สวรรค์ประชารักษ์
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดูแลผู้เจ็บป่วยในจังหวัดนครสวรรค์ ที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ และที่ศูนย์อพยพที่สนามกีฬากลางจังหวัด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อบ่ายวันนี้ (15 ตุลาคม 2554) ว่า ขณะนี้โรงพยาบาล (รพ.)ค่ายจิระประวัติ ซึ่งมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 90 เตียง แต่มีผู้ป่วยนอนรักษา 140 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 30 ราย ได้เร่งระบายผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นด้วย โดยระดับน้ำท่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ขณะนี้ยังสูงประมาณ 2 เมตร น้ำเริ่มทรงตัว มีศูนย์อพยพ 11 จุด รับประชาชนได้ประมาณ 8,000 คน แต่ละจุดจะมีหน่วยแพทย์ประจำ และดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ขยะ ส้วม สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด
       
       นายวิทยากล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ ได้ย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง และเปิดจุดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงที่บริเวณสี่แยกไป จ.พิษณุโลกใกล้โรงเรียนประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยวันละ 400 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบริการ โดยพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง 2 แห่งใน จ.นครสวรรค์ คือ รพ.ลาดยาว และ รพ.ตาคลี ให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป มีเตียงรับ 90-120 เตียง ทำผ่าตัดได้ เพื่อให้งานบริการสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา ระดมแพทย์เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลในจังหวัดภาคเหนือมาให้บริการ พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2554 นี้
       
       ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สภาพน้ำท่วมขังที่กระจายในวงกว้างขณะนี้ การส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยฉุกเฉินต้องใช้วิธีการขนส่งทางอากาศ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานหลัก ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจัดเครื่องบินสำรองอย่างน้อยวันละ 5 ลำ มีทีมกู้ชีพฉุกเฉินระดับสูงวันละ 10-15 ทีม ตั้งแต่วันที่ 8 -14 ตุลาคม 2554 ได้ลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ รวม 89 ราย ร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยร้อยละ 30 เป็นผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนามใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี 7 จุด คือ 1. ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด 2.ทุ่งนเรศวร 3.บางนมโค อ.เสนา 4. เทคนิคยานยนต์ อ.อุทัย 5.มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ประตูน้ำพระอินทร์ 6. หน้าห้างบิ๊กซี ถนนเอเชีย และ 7.ที่มหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัยหรือ วัดชูจิตธรรมมาราม
       
       ทั้งนี้ ทีมแพทย์ที่ประจำการในโรงพยาบาลสนาม มาจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีศักยภาพสูง ได้แก่ รพ.ราชบุรี ศิริราชพยาบาล รพ.รามาธิบดี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.อุตรดิตถ์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สุรินทร์ และ รพ.อุดรธานี ซึ่งจะสับเปลี่ยนให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 ตุลาคม 2554