ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.สวรรค์ประชารักษ์ยังอ่วม เร่งย้ายผู้ป่วยหนักออก  (อ่าน 1396 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
รพ.สวรรค์ประชารักษ์ยังอ่วมเร่งย้ายผู้ป่วยหนักออกจากพื้นที่ จัดเครื่องบินลำเลียงคนป่วยวันละ 5 ลำ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานหลัก ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง...

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมการดูแลผู้เจ็บป่วยใน จ.นครสวรรค์ ที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ และที่ศูนย์อพยพที่สนามกีฬากลางจังหวัด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ว่า ขณะนี้ รพ.ค่ายจิระประวัติ ซึ่งมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 90 เตียง แต่มีผู้ป่วยนอนรักษา 140 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 30 ราย  ได้เร่งระบายผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นด้วย โดยระดับน้ำท่วมที่ จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ยังสูงประมาณ 2 เมตร น้ำเริ่มทรงตัว มีศูนย์อพยพ 11 จุด รับประชาชนได้ประมาณ 8,000 คน แต่ละจุดจะมีหน่วยแพทย์ประจำ และดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ขยะ ส้วม สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด ในส่วนของ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ จึงได้ย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลทั้งหมดไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง และเปิดจุดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ที่บริเวณสี่แยกไป จ.พิษณุโลก ใกล้โรงเรียนประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยวันละ 400 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับบริการ โดยพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง 2 แห่งใน จ.นครสวรรค์ คือ รพ.ลาดยาว และ รพ.ตาคลี ให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป มีเตียงรับ 90-120 เตียง ทำการผ่าตัดได้ เพื่อให้งานบริการสามารถเดินได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา ระดมแพทย์เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลในจังหวัดภาคเหนือมาให้บริการ พร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในวันจันทร์ที่ 17 ต.ค. 2554 นี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สภาพน้ำท่วมขังที่กระจายในวงกว้างขณะนี้ การส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยฉุกเฉินต้องใช้วิธีการขนส่งทางอากาศ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยประสานงานหลัก ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยจัดเครื่องบินสำรองอย่างน้อยวันละ 5 ลำ มีทีมกู้ชีพฉุกเฉินระดับสูงวันละ 10-15 ทีม ตั้งแต่วันที่ 8-14 ต.ค. 2554 ได้ลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ รวม 89 ราย ร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยร้อยละ 30 เป็นผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสนามใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี 7 จุด คือ
1. ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด
 2.ทุ่งนเรศวร
3.บางนมโค อ.เสนา
4. เทคนิคยานยนต์ อ.อุทัย
5.มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ประตูน้ำพระอินทร์
6.หน้าห้างบิ๊กซี ถนนเอเชีย และ
7.ที่มหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือวัดชูจิตธรรมมาราม.

ไทยรัฐออนไลน์ 15 ตค 2554