แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: [1] 2 3 ... 535
1
นับตั้งแต่มีชื่อ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ออกมาบอกเล่าความในใจชี้แจงข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชลน่าน ศรีแก้ว" รวมถึงประเด็นร้อน กรณีที่เพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความลักษณะที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพ้นจาก ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ซึ่งมีใจความระบุว่า

ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณ เพจแพทย์ชนบท ที่โพสตให้กำลังใจผม และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็มีบางอย่างที่ผมคิดว่า ข้อมูลยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ซึ่งในสถานการณ์ที่ผมถูกออกปลดออกจากรัฐมนตรี ชมรมแพทย์ชนบทไม่ควรใช้สถานการณ์นี้ออกมาสร้างความแตกแยกในกระทรวงอีก ขอให้ยุติการกระทำ ซึ่ง นพ.สุภัทร ได้โทรศัพท์มาหาผม และยอมรับว่า เขียนและให้สัมภาษณ์จากความเห็นของตนเองและคนในกลุ่ม

ผมได้ติงไปแล้วว่า การพูดจากความเห็นส่วนตัวแทนผมซึ่งไม่ใช่ข้อมูลจริงไม่สมควรก็ยอมรับและขอโทษ ผมไม่อยากให้ปัญหาส่วนบุคคลลุกลามสร้างปัญหาให้ระบบ

เรื่องที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คชมรม ระบุว่า ระดับบิ๊กอืดยังไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยกเอาคำพูดของผมที่ รพ.อุทัย ว่า เอาข้าราชการไม่อยู่ จริง ๆ สิ่งที่ผมพูด คือ ท่านนายกให้รัฐมนตรีทุกคน ต้องกำกับดูแลควบคุมข้าราชการให้อยู่ให้ทำงานอย่างเต็มที่

ผมเองชื่นชมผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงฯ ทุกคนที่เร่งรัดทุ่มเท การทำงานดีมาก ให้คะแนน ก็ 80 คะแนนขึ้นไป ระดับ A+ สนองนโยบาย สำเร็จตามเป้าหมาย Quick win 100 วัน ได้ทั้ง 13 นโยบาย ขับเคลื่อนเข้าสู่ Mid year succes ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมเน้นประเด็นนี้ แต่สื่อที่นำไปเผยแพร่  ตัดบางช่วงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เป็น " ผมมีผลงานระดับ A+ ผมคุมข้าราชการไม่อยู่ จึงถูกปลดออกจาก ครม." อันนี้เป็นเรื่องที่ผมต้องชี้แจง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการ น้อง ๆ ที่ทำงานในสธ.ครับ

ส่วนประเด็นระดับบิ๊ก อืดไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ ผมใช้ผลงานเป็นตัววัด ไม่ให้ความสำคัญ กับคำว่า "คนของใคร" ไม่ต้องมาเป็นคนของผม ขอให้เป็น "คนของประชาชน" ทำงานเพื่อประชาชน ก็พอ ไม่สนใจว่า "แมวขาวหรือแมวดำ" ขอให้ "จับหนู" ได้ก็พอ 
241 วันในการทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ผมให้การสนับสนุน เรื่องการแสดงความเคารพนับถือ การเข้าพบปะเยี่ยมเยียน  การดูแลสุขภาพ การเจ็บป่วยของท่าน อดีตรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวง ในเวลาและเทศกาลที่เหมาะสม และทำให้น้อง ๆ ได้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งควรกระทำ

ส่วนปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบทกับผู้บริหารกระทรวงเป็นปัญหาเดิมที่มีมาหลายปี ถ้าจำได้ เรื่องแรก ๆ ที่ผมทำ คือ พยายามสลายความขัดแย้ง เพื่อให้ทำงานไปต่อได้ มีการเชิญทั้งผู้บริหารและน้องๆแพทย์ชนบทมาทานข้าวด้วยกันด้วยซ้ำ

ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ทั้งชมรม รพศ/รพท. ชมรมนายแพทย์ สสจ. ชมรมผู้อำนวยการ รพช. ชมรมลูกจ้าง ชมรม สสอ.  สภาวิชาชีพ เพื่อให้ ทุกฝ่ายมุ่งหน้า ทำงานรับใช้ บริการประชาชนให้ดีที่สุด

เรื่องถูกวางยาให้เป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. นับตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สามารถทำงานกับ เลขาสปสช.ได้เป็นอย่างดี เลขาสปสช. ทำหน้าที่ในกรอบกฎหมายกำหนด ตอบสนองนโยบายเรือธง "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ขับเคลื่อนวางงบประมาณรองรับอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน บริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการได้

โดยนโยบายนี้เริ่มดำเนินการทันทีหลังแถลงนโยบาย  7 ม.ค 67 แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องนำร่อง และขับเคลื่อนเป็นเฟส ทั้งหมด 4  (เฟส) บนพื้นฐานความพร้อม เชิงระบบเทคโนโลยี ระบบงบประมาณ และมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์  โดยเฟส 1 นำร่อง 4  จังหวัด เฟส 2 ขยายเพิ่ม อีก 8 จังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง จำนวน 1,200 ล้านบาท เพราะนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ จึงให้ใช้งบประมาณในแผนงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน

ส่วนเฟส 3 เพิ่ม อีก 33 จังหวัด  ตั้งงบประมาณปี 67 รองรับ เริ่มขับเคลื่อน เดือน พ.ค 67 เป็นต้นไปเฟส 4 จังหวัดที่เหลือ ตั้งงบประมาณ ปี 68 รองรับ ขับเคลื่อน เดือน ต.ค 67 เป็นต้นไป

เรื่องวางยาให้กระทรวงสาธารสุข ไปมีอำนาจในการจัดสรรเงิน ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้  เพราะมีกฎหมาย กฎ ระเบียบกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ชัดเจน ว่าการจัดสรรจ่ายเงินเป็นอำนาจ หน้าที่ ของ สปสช. ตามมติบอร์ด

ข้อเสนอหลาย ๆ เรื่อง ที่บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วยถูกขับเคลื่อนและได้รับความเห็นชอบในยุคที่ผมเป็นประธาน เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เดิม เสนอเป็น Provider board : กก.ผู้ให้บริการ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ) 

ชมรมแพทย์ชนบทเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนนำเรื่องนี้ไปพูดว่า สธ. อยากไปมีส่วนร่วมกับการจัดสรรเงินซึ่งไม่จริง จริง ๆ แล้วเป็นคนละส่วน คนละบทบาทหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายทำงานได้ดี ผมอยู่ตรงกลาง สธ.ลุยทำงาน สปสช.สนับสนุนเงินทำงาน เป็นเรื่องที่กำลังไปได้ดี ข้าราชการขยันเดินตามทุกครั้งที่ผมออกไปปฎิบัติหน้าที่มีคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติราชการ ติดตามงานนโยบายททุกครั้ง แม้แต่กลับไปพื้นที่ ที่ จ.น่าน ผมก็ไปราชการไม่เคยไปเรื่องส่วนตัว

ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ออกทำงานดูแลพี่น้องประชาชน ในโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ 6 รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค 2567 " ทุกวันหยุดสุดสับดาห์ เสาร์ อาทิตย์ โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และบุคคลากรสาธารณสุข จิตอาสา ตรวจคัดกรอง รักษา ฟื้นฟูสภาพ ติดตามดูแลโรคเฉพาะด้านเฉพาะทาง จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องติดตามไปกับผมตลอด

งานหลายอย่างได้แนวคิดมาจากการปรึกษากันบนรถระหว่างผมและผู้บริหารเจ้าของพื้นที่ ผมสนับสนุน ให้ดำเนินการหลายเรื่องเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจความเชื่อความศรัทธาเดียวกัน เป็นพลังในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะนโยบาย ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ผู้นำศาสนา สถานชีวาภิบาล กุฏิชีวาภิบาล มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าถึง พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา

เรื่อง เกียร์ว่าง ละเลยปฐมภูมิ แก้ปัญหายาเสพติดสะดุด สาธารณสุขรากฐานไม่ก้าวหน้า กระจายอำนาจสับสน ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ที่เกิดขึ้นก่อนผมเข้ามารับตำแหน่ง

ผมเองเป็นคนที่เข้ามาจัดการแก้ปัญหา เร่งรัดให้ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเช่น ระบบปฐมภูมิ กฎหมายออกตั้งแต่ปี 2562 แต่กฎหมายลูกที่จะใช้ขับเคลื่อนยังไม่เสร็จหลายฉบับ จากปัญหาเชิงระบบ ผมมารับตำแหน่ง ก็ได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จเตรียมประกาศเพื่อใช้บังคับ เร่งรัดการขึ้นทะเบียน ผู้รับผู้ให้บริการ การกำหนดพื้นที่ กำหนดหน่วยบริการรับผิดชอบต่อไป

การบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เป็นอีกงานที่ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่ถูกตีตรา เป็นคดี จะได้ดำรงชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ ทั้งที่มีกฎหมายประมวลยาเสพติดตั้งแต่ ปี 2564 พยายามเสนอกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาบ้า เพื่อสันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อเสพถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เสนอ 15 เม็ด ไม่ผ่าน ครม.กลับมาทำใหม่ เสนอ 1 เม็ด ก็ไม่ผ่านครม. จนมาถึงรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ครม.ให้ความเห็นชอบไม่เกิน  5 เม็ด

ผมในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม ในกฎกระทรวง ตามกฎหมายกำหนด ได้เร่งรัดใหัมีสถานบำบัด และชุมชนเป็นฐานในการบำบัดรักษา CBTx มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาถึง 70,000 คน

ผมได้พูดกับคุณหมอสุภัทร ไปแล้วว่า การออกมาให้ข้อมูลทางสื่อ Social  โดยอาศัยจังหวะที่ผมถูกปลดออกจากรัฐมนตรี เพื่อขยายความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม กล่าวหาอีกกลุ่มหนึ่ง ถือว่าไม่เหมาะสม คุณหมอสุภัทรเองก็เข้าใจแล้ว และบอกว่า จริง ๆ ตั้งใจจะให้กำลังใจผม ซึ่งผมก็ขอขอบคุณ แต่ให้ระมัดระวังในการเขียนเนื้อหาที่บางทีมาจากความไม่รู้ อาจจะบิดเบือน ทำให้มองได้ว่า ผมเป็นคนไม่มีความรู้ความสามารถ คุมข้าราชการไม่ได้ ถูกวางยา ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมายซึ่งทำให้ผมเสียหาย โดยเฉพาะความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ผมจึงขออนุญาตขอชี้แจงเพื่อปกป้อง ไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่เกิดความแตกแยก และไม่ให้ผมถูกทำลายไปมากกว่านี้ 



Thansettakij
1 พค 2567

2
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผงาดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย และ Top 200 ของเอเชีย จากการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชีย THE Asia University Rankings 2024 ซึ่งประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 โดยอันดับของจุฬาฯ ขยับขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วถึง 102 อันดับ จากสถาบันอุดมศึกษาในเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับจำนวนทั้งสิ้น 739 แห่ง (ไม่นับรวมสถาบันที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ หรือ Reporter) ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 669 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับจำนวน 19 แห่ง

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Asia University Rankings 2024 ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย และอันดับ 117 ของเอเชีย เป็นผลมาจากผลงานความโดดเด่นจาก 5 ตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ได้แก่
การเรียนการสอน (Teaching) 24.5%
การจัดการระบบนิเวศการวิจัย (Research Environment) 28%
คุณภาพการวิจัย (Research Quality) 30%
รายได้จากผลงานลิขสิทธิ์และนวัตกรรม (Industry) 10%
และความเป็นสากล (International outlook) 7.5%


ติดตามผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมได้ที่
https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2024/regional-ranking

เดลินิวส์
1 พค 2567

3
ภาวะลิ่มเลือดหลังการฉีดวัคซีน Covid-19 เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานในหมู่นักวิชาการและบุคคลทั่วไป ล่าสุดทาง AstraZeneca ได้ออกมายอมรับครั้งแรกว่าวัคซีน Covid-19 ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดได้จริง

บริษัทยายักษ์ใหญ่ AstraZeneca ยอมรับว่าวัคซีนป้องกัน Covid ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชื่อ Covishield นั้นสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ยากได้แก่ลิ่มเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ โดย Covishield ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษและสวีเดนโดยได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้รับการผลิตโดย Serum Institute of India

การศึกษาและวิจัยบางชิ้นที่ดำเนินการระหว่างการแพร่ระบาดของ Covid-19 พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 60-80% อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่า Covishield อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดซึ่งส่งผลต่อชีวิตได้
เนื่องจากวัคซีนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดได้จึงนำไปสู่การฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหราชอาณาจักรว่าวัคซีนดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทำให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 100 ล้านปอนด์แก่เหยื่อประมาณ 50 ราย ผู้เสียหายรายหนึ่งบอกว่าวัคซีนทำให้เกิดความเสียหายกับสมองของเขาอย่างถาวรเนื่องจากลิ่มเลือดเข้าไปอุดกั้นบริเวณดังกล่าว

AstraZeneca ยอมรับเป็นครั้งแรกในรายงานเอกสารต่อศาลว่าวัคซีนทำให้เกิด Thrombocytopenia Syndrome (TTS) หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำและลิ่มเลือดได้ในบางกรณี The Telegraph รายงานว่า AstraZeneca ยอมรับว่าวัคซีนสามารถก่อให้เกิด TTS ได้ในบางกรณี แต่ก็พบได้ยาก ทั้งนี้ยังไม่ทราบถึงกลไกการเกิดลิ่มเลือดที่แน่ชัด พร้อมเสริมว่าแม้ไม่มีวัคซีนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ซึ่งการยอมรับของ AstraZeneca ในครั้งนี้ขัดกับคำยืนยันของบริษัทเมื่อปี 2023 ว่าวัคซีนไม่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้

องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า Covishield อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากที่เรียกว่า Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือเป็นภาวะการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติและรุนแรงซึ่งมีความเชื่อมโยงกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ

ข้อมูลจากสภาองค์การวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างประเทศระบุว่าผลข้างเคียงนั้นพบได้น้อยมาก โอกาสเกิดขึ้นอยู่ที่ 1 ใน 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งองค์กรอนามัยโลกชี้ว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในการป้อง Covid-19 นั้นยังมีมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสยู่ดี

โดย 3 ปีก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจมีความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือด แต่ยังไม่ใช่การยอมรับตรง ๆ โดยบริษัทเอง

Bearta
1 พค 2567

4
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา “ตำรวจไทยฆ่าตัวตาย” ถึง 173นาย!! ส่องปัญหา อะไรทำให้เจ้าหน้าที่สีกากีต้องเผชิญกับปัญหา “สุขภาพจิต”

เครียด-ซึมเศร้า-ทำร้ายตัวเอง

“สภาพจิตใจดีขึ้นแล้ว พร้อมกลับมาทำหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง” คืออัปเดตล่าสุดจาก “ส.ต.ต.หญิง คนธรส” เจ้าของเรื่องราว Talk of The Town จากก่อนหน้านี้ที่ออกมาโพสต์ตัดพ้อและเผยความจริงของชีวิตว่า “หลังจากเป็นตำรวจได้ 1 ปี”ตอนนี้เปลี่ยนสภาพกลายเป็น “ผู้ป่วยจิตเวช”

แล้วเคสนี้สะท้อนถึงเบื้องหลังการฝึก บวกกับเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เข้ามากระทบใจ จนผลักให้เธอกลายเป็น “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”ซึ่งหลังได้รับความช่วยเหลื่อจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หนุนให้เธอเข้ารับการรักษา เจ้าตัวก็อาการดีขึ้นจนออกมาโพสต์อัปเดต


“หากใครที่รู้สึกเศร้า รู้สึกเหมือนจะป่วย รู้สึกดาวน์ ไม่ต้องกลัวหรืออายอะไรเลยนะคะ เราไม่ได้ผิดเลยค่ะที่เป็นแบบนี้ ไปหาคุณหมอกันเถอะค่ะ คุณหมอใจดีมากๆ เลยนะคะ ร่างกายเราป่วยกันได้ เดี๋ยวก็หายได้น้า ต้องใช้เวลาหน่อย”

จากแรงกระเพื่อมของเคสนี้ ทางทีมข่าวจึงลองย้อนรอยสถิติ “การตรวจสุขภาพจิตประจำปีของข้าราชการตำรวจ” ปี 66 พบว่า ตำรวจมี “ภาวะซึมเศร้ารุนแรง”196 นาย “ภาวะเครียดรุนแรง”1,552 นายและ “เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง”ถึง 315 นาย


ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เมื่อลองย้อนข้อมูลจาก “สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” กลับไป 5 ปีตั้งแต่ปี 62-67 พบว่ามี “ตำรวจฆ่าตัวตาย” ถึง 173 นายแล้ว ถ้าเอามาเฉลี่ยกับจำนวนปี เท่ากับว่าหมายถึงยอด “ปีละ 35 คน” เลยทีเดียว

และข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิต ปี 66 นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตำรวจที่“เริ่มมีภาวะเครียด”มีอยู่ 12,000 กว่านาย และ “เริ่มมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย”ถึง 13,000 กว่านายเลยทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.เกริกกมล แย้มประยูร หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ช่วยวิเคราะห์ตามคำขอของทีมข่าวเอาไว้ เพื่อให้เห็นแรงผลักของสถิติที่น่าเป็นห่วงเหล่านี้

ระบุชัดว่า ปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจไทย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือ “ความเครียดกังวล ปัญหาการปรับตัว”และ “ภาวะซึมเศร้า” ส่วนต้นตอปัญหาสุขภาพจิตนั้น มาจาก 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้

“ลักษณะงาน” ปัญหาที่อาชีพตำรวจต้องเจอคือ ขอบเขตงานที่กว้างและหลากหลาย ภาระงานที่มาก ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า รวมไปถึงการได้รับมอบหมายงานที่ตัวเองไม่ถนัด ก็ส่งผลให้เครียดได้

“ความสัมพันธ์”ไม่ว่าจะกับเพื่อนรวมงาน, ผู้บังคับบัญชา, ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การถูกเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ, ถูกตำหนิจากผู้บังคับบัญชา หรือแม้แต่ความขัดแย้งในครอบครัว ก็ส่งผลต่อปัญหานี้

และสุดท้ายคือ “ปัญหาการเงิน” ทั้งปัญหาหนี้สิน, รายได้ที่ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อย่างที่เคยได้ยินมากับหูหลายต่อหลายครั้ง

“จากตำรวจที่เป็นคนไข้นะครับ พอหน้างาน งานเขาเยอะมาก เขาไม่เหลือเวลาเลย เมื่อรายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่ภารกิจหลักก็เต็มอยู่แล้ว มันก็ไม่เหลือเวลาในการหารายได้เสริม”

และยังบอกอีกว่า ”ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มักเกิดกับบุคลากรที่อยู่หน้างาน”ซึ่งลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับข้าราขการตำรวจชั้นประทวน, รองสารวัตร และสารวัตร ไล่ระดับกันมา

“ส่วนหนึ่งผมคิดว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะปัญหาส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับหน้างานเสียมากกว่าระดับสั่งการ”

ตรวจประจำปี ยังไม่ดีเท่าช่วยสังเกต

ส่วนผลสถิติ “ตำรวจที่จบชีวิตตัวเอง”ตั้งแต่ปี 62-67 ที่มีมากถึง 173 นายนั้น หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดรายเดิม ได้เผยคำอธิบายที่น่าตกใจว่า สถิติการฆ่าตายตัวตาย “ตำรวจมีโอกาสทำสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป 2.5 เท่า เพราะเขามีอาวุธปืน”

นำมาสู่อีกคำถามคือ “องค์กรตำรวจ” มีการเข้าไปดูแลหรือตรวจสอบ “สุขภาพจิตของตำรวจ” มากน้อยแค่ไหน? คำตอบที่ได้คือ มีการทำ “แบบทดสอบเบื้องต้น”จากนักจิตวิทยา ตั้งแต่ตอนคัดเลือกเข้ามารับราชการแล้ว ซึ่งถ้าพบว่าเข้าข่าย จะส่งให้จิตแพทย์วินิจฉัย

นอกเหนือจากนั้น จะเป็นการตรวจอีกแบบคือ “การตรวจสุขภาพประจำปี” เน้นที่ประเมินสุขภาพจิตเรื่องความเครียด, ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม “แบบทดสอบ” ก็ยังมี “ข้อด้อย” อยู่คือ “จะประเมินได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-4 สัปดาห์” และไม่สามารถประเมินสุขภาพจิตทุกๆ เดือนได้ ด้วยตำรวจมีจำนวนเยอะ “มันก็เป็นภาระ ต่อบุคลากรทางด้านจิตวิทยา”

การแก้ปัญหาจุดนี้คือการประชาสัมพันธ์กับว่า “ตำรวจต้องช่วยสังเกตกันเอง”คนที่ใกล้ชิด ผู้บังคับบัญชา เพื่อนตำรวจ หรือครอบครัว “ตรงนี้จะทำให้อัปเดตอาการสุขภาพจิตได้มากกว่าแบบทดสอบ”

“ถ้าคนใกล้ชิดสามารถสังเกตได้ ในเรื่องของความคิด ความรู้สึก อารมณ์ พฤติกรรมที่ดูแปลกไป ถ้าเห็นว่าผิดสังเกต อย่างน้อยๆ ให้ปรึกษาผู้รู้”

โดยทุกวันนี้ ทางโรงพยาบาลตำรวจเปิดช่องทางให้ปรึกษาได้แล้ว ทั้งผ่านแฟนเพจ “Depress We Care” เพื่อดูแลให้คำปรึกษาสุขภาพจิตตำรวจและครอบครัว รวมถึงสายด่วน 24 ชม.“08-1932-0000”

ในภาพใหญ่ “ตำรวจทั้งประเทศมีกว่า 2 แสนนาย” การจะดูแลสุขภายจิตให้ครอบคลุมนั้น เรื่องสำคัญคือความเข้าใจเรื่อง “การดูแลสุขภาวะทางจิต” ที่จะสังเกตตัวเองและคนอื่นได้

“เมื่อเราสามารถตรวจสอบได้ ก็อย่าลังเลที่จะมาเข้ารับการปรึกษา หรืออย่างน้อยๆ ส่งข้อมูลมาปรึกษาจิตแพทย์เบื้องต้นก็ได้ เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะเกิดปัญหารุนแรง แล้วไปก่อเหตุทั้งกับตัวเองหรือคนอื่นครับ”

มีช่องทางแต่ “ไม่กล้าเข้าไป”

ที่น่าเป็นห่วงคือ ถึงแม้ว่าจะมีการให้บริการ “Depress We Care” แต่กลับมีตำรวจเข้าไปใช้บริการกันน้อย สวนทางกับยอดตำรวจที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต
ส่วนเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เป็นอย่างนั้น พ.ต.อ.เกริกกมล วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะก่อนหน้านี้ ปัญหาสุขภาพจิตยังมีมายาคติที่ว่า การที่คนอื่นรู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องพวกนี้ จะทำให้เขารู้สึกโดนตีตรา และถูกแบ่งแยกออกจากยังสังคม

“ก่อนหน้านี้ก็จะมีประเด็นนี้อยู่ ที่ทำให้เขาไม่อยากเข้ามา ซึ่งจริงๆ มันมีช่องทางให้เข้าถึง แต่ก็ไม่เดินเข้ามารับบริการสุขภาพจิต เพราะกลัวปัญหาด้านนี้”

แต่หลังรับรู้ถึงปัญหานี้ก็ได้มีสร้างความรู้เกี่ยวเรื่องสุขภาพจิต ลงไปในหลัก “สูตรอบรมตำรวจ” และเพิ่มเข้าไปในเนื้อหาการเรียนการสอน ทั้งในวิชาของนักเรียนร้อยและนักเรียนนายสิบว่า...

“ตรงนี้มันก็เหมือนโรคทางกายเนอะ จะต้องมีการตรวจวินิจฉัย ต้องได้รับการรักษา ยิ่งรักษาเร็วก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้นก็อย่าไปแบ่งแยก อย่าไปตีตราเขา”

อีกปัญหาหนึ่งที่ทำ “ตำรวจ” หรือแม้แต่ “ประชาชน” เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้น้อย คือ “บุคลากร” อย่าง หมอหรือนักจิตวิทยาที่มีจำนวนน้อย “ความไม่เพียงพอของบุคลากร ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของเรื่องนี้”

การเพิ่มการเข้าถึงบริการ ทั้งช่องทางและจำนวนหมอ จึงเป็นอีกทางออกหนึ่ง แต่กูรูรายเดิมก็ยังมองว่า การจะแก้ปัญหาสุขภาพจิตของตำรวจนั้น “อาจต้องกลับไปมองที่ตัวตั้งต้นของปัญหา”

“ปริมาณงาน” ถ้ามีการจำกัดขอบเขตงานที่จะชัดเจน เพื่อลดภาระงาน หรือมอบหมายงานที่ตรงตามความถนัด การแบ่งงานที่ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ส่วนนี้ก็จะช่วยลดความเครียดที่ส่งต่อสุขภาพจิตใจได้

ส่วนเรื่อง “ปัญหาการเงิน” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีนโยบายทั้งจากสหกรณ์และสถาบันทางการเงิน ให้ความช่วยเหลื่อจัดการ “หนี้สิน” และยังมีการเปิดให้ความรู้เรื่อง “การจัดการเงิน” ให้ตำรวจด้วย



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
25 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

5
ล่าสุดนิตยสาร CEOWORLD Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจชื่อดัง ได้เก็บข้อมูลจากความเห็นผู้อ่าน 265,000 คน ในการจัดอันดับเป็นประเทศที่ต้องไปเที่ยวสักครั้งในชีวิต ปี 2567 หรือ  (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime 2024) โดยประเทศไทยติดอันดับ 1  ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในโลก 2024  ที่สักครั้งในชีวิตที่ควรไป จาก 67 ประเทศทั่วโลก

โดยไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในโลก 2024 ด้วยคะแนน 72.15 ตามมาด้วย ประเทศกรีซ คะแนน 67.22

นิตยสาร CEOWORLD ระบุว่า ประเทศไทยประกอบด้วยความหลากหลาย เช่น สถานบันเทิงยามค่ำคืน, อาหารอร่อย, ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา, แหล่งช้อปปิ้งที่ดีเยี่ยม, แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม, วัดวาอาราม, ตลาดกลางคืน

10 อันดับประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในโลก 2024 สักครั้งในชีวิต มีดังนี้
อันดับ 1 ประเทศไทย 72.15 คะแนน
อันดับ 2 กรีซ  67.22 คะแนน
อันดับ 3 อินโดนีเซีย 65.15 คะแนน
อันดับ 4 โปรตุเกส 64.32 คะแนน
อันดับ 5 ศรีลังกา   60.53 คะแนน
อันดับ 6 แอฟริกาใต้  59.76 คะแนน
อันดับ 7 เปรู 59.76 คะแนน
อันดับ 8 อิตาลี 57.77 คะแนน
อันดับ 9 อินเดีย  57.65 คะแนน
อันดับ 10 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 57.38 คะแนน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอบคุณทุกการทำงานของหน่วยงานง ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพที่ดีจนไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในปี 2024 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime, 2024) รวมทั้ง เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงทุกปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

โดยทางนิตยสารได้ระบุว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยทำให้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น สีสันยามค่ำคืน อาหารอร่อย ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แหล่งชอปปิ้งที่ขึ้นชื่อ แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม วัดของศาสนาพุทธ ตลาดกลางคืน ตลาดน้ำ และ สวนสาธารณะสุดพิเศษ

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพประเทศไทย และทำให้รัฐบาลได้วางแผน ดำเนินการผลักดันการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน โดยการจัดอันดับในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่พิสูจน์ว่า แนวนโยบายของไทยที่สนับสนุนศักยภาพการท่องเที่ยวนั้น เดินหน้ามาอย่างถูกทาง และพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) ในระดับโลกต่อไป” นายชัย กล่าว



Thansettakij
27เมย2567

6
กลุ่มแพทย์ญี่ปุ่น 63 คน รวมตัวกันยื่นฟ้องกูเกิล บริษัทเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเรียกร้องค่าเสียหาย จากสิ่งที่พวกเขาอ้างว่า เป็นการสร้างความเสื่อมเสีย โดยกูเกิลไม่ควบคุมดูแล และกูเกิลมักปล่อยให้มีการแสดงความเห็นที่เป็นเท็จ

คดีดังกล่าวซึ่งถูกยื่นฟ้องเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่นมา ที่ศาลแขวงโตเกียว โดยกลุ่มแพทย์ ได้เรียกร้องค่าเสียหาย 1.4 ล้านเยน (9,400 ดอลลาร์) โดยคำฟ้องระบุว่า กูเกิลปล่อยให้โพสต์คอมเมนต์แบบผิด ๆ ต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนกูเกิลแมพ ซึ่งได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น โดยเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีความรับผิดชอบ และดูเหมือนจะถูกเขียนออกมาด้วยความเคียดแค้น และคำพูดแบบ 'ปากต่อปาก' โดยผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แทบจะไม่มีทางปฏิเสธเลย ซึ่งกูเกิลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะมีการร้องเรียนแล้วก็ตาม

ยูอิจิ นากาซาวะ ซึ่งเป็นผู้นำทีมกฎหมายของโจทก์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ความเสียหายที่ได้รับมีมาก และประชาชนไม่มีอำนาจที่จะต่อสู้กลับ เราไม่เห็นด้วยที่แพลตฟอร์มดังกล่าว ไม่มีส่วนรับผิดชอบ”

ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นบางคนกล่าวว่า พวกเขาเชื่อในสิ่งที่ผู้คนแสดงความเห็นทางออนไลน์เกี่ยวกับโรงพยาบาล  มากกว่าข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโรงพยาบาล แต่ความคิดเห็นออนไลน์เหล่านั้นอาจไม่ถูกต้อง และเป็นอันตราย

ซึ่งโจทย์ ระบุว่า มีการโพสต์บทวิจารณ์เชิงลบอย่างไร้เหตุผลบน 'กูเกิล แมพ' ซึ่งเป็นแอปยอดนิยมในญี่ปุ่น ซึ่งอนุญาตให้ผู้คนเขียนการให้คะแนนของสถาบันต่าง ๆ และบทวิจารณ์ส่วนตัวของพวกเขาได้

ขณะที่ทางด้าน กูเกิล กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล เมื่อวันศุกร์ว่า บริษัทกำลังทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด หรือเป็นเท็จ บนแพลตฟอร์ม โดยรวมทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยี “เพื่อลบบทวิจารณ์ที่ฉ้อโกง”

ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มเกิด ขึ้นค่อนข้างน้อยในญี่ปุ่น แม้ว่า กูเกิล จะถูกฟ้องในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ โดยถูกกล่าวหาว่า มีโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด // ละเมิดความเป็นส่วนตัว และปัญหาอื่น ๆ

22 เม.ย. 2567
ch3plus.com

7
รมว.สาธารณสุข  เผยสถานการณ์ความพร้อมการแพทย์ดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบเมียนมา ล่าสุดพบบาดเจ็บสะสม 113 ราย ส่วนใหญ่ถูกระเบิด อาวุธปืน เหลือรักษา รพ.แม่สอด 82 คน ผ่าตัดแล้ว 29 ราย รอผ่าตัดอีก 3 ราย แจงประกาศแผนฉุกเฉิน เหตุผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันเกิน 20 คน แต่ปิดได้ใน 3 ชม. 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ รพ.แม่สอด จ.ตาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ขณะลงพื้นที่ติดตามด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับผู้หนีภัยสงครามเมียนมา ว่า วันนี้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตาม 2 จุด คือ รพ.แม่สอด เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมของ รพ. ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และดูแลเรื่องขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน อีกจุดคือพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวที่ราชการจัดไว้ให้ผู้ประสบภัยมาพักอาศัยชั่วคราว โดยติดตามเรื่องของมิติการเฝ้าระวังป้องกันโรค และสภาพแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ

เผยที่มาแผนฉุกเฉินรับสถานการณ์
นพ.ชลน่านกล่าวว่า รพ.แม่สอดมีความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยสงคราม ที่ผ่านมามีการดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะ แต่มาเน้นหนักตั้งแต่คืนวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่มีผู้บาดเจ็บจากภัยสงครามเข้ามารักษาพร้อมกันถึง 22 คน จึงจำเป็นที่จะต้องประกาศแผนรองรับฉุกเฉินระดับ 3 หรือระดับรุนแรง คือ มีผู้ป่วยเข้ามาพร้อมกันมากกว่า 20 คนขึ้นไป เพื่อระดมทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือต่างๆ มารองรับ ซึ่งเป็นการประกาศแผนรองรับฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ รพ. ไม่ได้เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราไม่มีอำนาจ

"ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาจำนวนมากจากอุบัติเหตุหมู่ อุบัติภัยหมู่ ซึ่งสงครามก็ถือเป็นอุบัติภัยหมู่ ก็จะมีการประกาศแผนรองรับอยู่แล้ว โดยหลังประกาศแผนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็ยุติแผนได้เลย ส่วนวันที่ 21-22 เม.ย.ก็เป็นการรับผู้ป่วยตามปกติ อย่างวันที่ 21 เม.ย.ก็มีผู้บาดเจ็บเข้ามา 16 คน แต่เป็นการทยอยเดินทางเข้ามารักษา ไม่ได้มาพร้อมกัน จึงไม่จำเป็นต้องประกาศใช้แผน" นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้บาดเจ็บเหตุเมียนมา กระจายรักษาตาม รพ.ต่างๆ
นพ.ชลน่าน กล่าาวว่า ผู้ป่วยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเข้ามารับบริการและยังค้างอยู่ที่นี่ 82 คน ส่วนใหญ่มีลักษณะบาดเจ็บเป็นหลัก รักษาด้านศัลยกรรม จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ผ่าตัดแล้ว 29 ราย รอผ่าตัดอีก 3 ราย เราดูแลแบบไม่แยกฝ่าย ถือเป็นผู้ประสบภัยไม่แยกฝ่ายไหนอย่างไร โดยเมื่อรักษาเสร็จหายออกจาก รพ.ได้ ฝ่ายความมั่นคงก็จะมารับตัวไปดำเนินการดูแลต่อ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก รายงานว่า ภาพรวมมีผู้ป่วยสะสม 113 ราย กระจายตาม รพ.ต่างๆ ทั้ง รพ.อุ้มผาง รพ.ตามตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากระเบิดที่เข้ามากระทบ รวมถึงบาดแผลจากอาวุธปืน การดำเนินการระดับจังหวัดจะแบ่งการเตรียมการรองรับไว้ 3 ระดับ คือ ระดับ 1ผู้ป่วยไม่เยอะ เป็นแผนรองรับเฉพาะพื้นที่ รพ. บริหารจัดการจบใน รพ.  ระดับ 2 มีผู้ป่วยมากขึ้นต้องระดมทรัพยากรในจังหวัดมาช่วยกัน ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 60 คน และระดับ 3 คือต้องใช้ทรัพยากรโดยรวมจากนอกเขต และต้องเปิด รพ.สนาม ขณะนี้ยังไม่ถึง นี่คือการเตรียมความพร้อม รวมถึงเครื่องมือบุคลากร ห้องผ่าตัดต่างๆ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า อีกเรื่องคือ การดูแลผู้อพยพในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ซึ่งล่าสุดมีเหลืออยู่ประมาณ 1,600 คน จาก 3 พันคนที่เข้ามา มีทยอยกลับไปแล้ว เราดูแลมิติสุขภาพตรวจสอบว่ามีสถานะสุขภาพอย่างไร มีการวางระบบประเมินเข้าไปดูแลทางสุขาภิบาลอาหาร น้ำ และเฝ้าระวังโรค เช่น มุ้ง ยาต่างๆ ก้จะเตรียมพร้อมทั้งหมด

ยังไม่จบง่ายๆ คาดอพยพเข้าไทยอีก
ถามว่าสถานการณ์ยังไม่จบง่ายๆ อาจมีการอพยพเข้ามาเพิ่ม  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราไม่ประมาทว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เรามีมาตรการขั้นสูงสุดที่จะรองรับ ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเหตุการณ์เกิดถึงระดับ 3 เราก็ประกาศแผนระดับ 3 คือเราพร้อมรองรับ ในมุมของการเมืองเรื่องสิทธิมนุษยชน มิติสุขภาพ ความเป็นอันตราย ถ้าไม่เกิดจะดีที่สุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกัน ประเทศเราในมุมของการเมืองก้ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด การแพทย์และสาธารณสุขก็ดูแลสุขภาพเป็นหลัก

ถามว่าต้องมีทรัพยากรอะไรเข้ามาเสริม รพ.แม่สอดอีกหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า แน่นอน เราต้องดูตลอด ขณะนี้เราประสบปัญหาเรื่องหมอศัลยศาสตร์ระบบประสาท ปลัด สธ.ก็ให้ความสำคัญ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ รพ.แม่สอดควรต้องมี แต่ขณะที่ไม่มี ปลัด สธ.สั่งการกับผู้ตรวจราชการ สธ.แล้วว่าจะต้องหาวิธีการทำอย่างไรก็ได้ให้มีศัลยศาสตร์ประสาทเข้ามาดำเนินการ เพราะมีความจำเป็น อย่างกรณีที่เกิดขึ้นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปที่ รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 1 ราย เพื่อดูเรื่องระบบสมอง

ถามย้ำว่าขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับใด  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าใน รพ.อยู่ในระดับ 3 เพราะเกิน 20 คน แต่ว่าสามารถจัดการได้เร็วมาก 2-3 ชั่วโมงก็ปิดแผนได้เลย ตอนนี้ใช้แผนปกติไม่ได้ประกาศแผน ไม่ได้วิกฤต ถ้าทยอยเข้ามาเราก็รองรับได้ บริหารจัดการใน รพ.ได้เลย ส่วนกรณีบาดแผลจากสู้รบศักยภาพ รพ.เราพร้อม ในภาวะฉุกเฉิน รพ.แม่สอดสามารถเปิดห้องผ่าตัดได้ถึง 4 ห้อง

22 April 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/04/30322

8
"หมอชลน่าน" สั่งปรับ 100,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังใน จ.สมุทรปราการ หลังปฏิเสธรับผู้ป่วยวิกฤติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นต่อมาภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

25 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ กพฉ. ครั้งที่ 4/2567 ที่มีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงบทลงโทษ จากเหตุการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกรถชนในบริเวณใกล้เคียงไปส่งโรงพยาบาลอื่นจนภายหลังตำรวจรายนี้ได้เสียชีวิต

ที่ประชุมมีมติเห็นว่า จากการรับฟังพยานหลักฐานทั้งในส่วนของพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโดยระหว่างการปฏิบัติการฉุกเฉิน หน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ปฏิบัติการฉุกเฉิน ตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินแล้ว

ดังนั้น เมื่อสถานพยาบาลได้รับการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการเพื่อนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ อันเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน สถานพยาบาลจึงมีหน้าที่ในการตรวจคัดแยกลำดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที และจะต้องปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้นแต่การปฏิเสธไม่รับรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยการนำสิทธิการรักษาพยาบาลหรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาปฏิเสธ ไม่ให้ผู้ป่วยรายนี้ ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 (1)แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 และข้อ 5 วรรคหนึ่งของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษปรับทางปกครองตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

และเมื่อพิจารณาจากการกระทำครั้งนี้พบว่า การปฏิบัติการฉุกเฉินโดยการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้มีการประสานการปฏิบัติการฉุกเฉินเพื่อนำส่งถึงสองครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธทั้งสองครั้งและไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายใกล้ตาย เนื่องจากปัญหาระบบทางเดินหายใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและอำนาจหน้าที่ของสถานพยาบาล ประกอบกับผู้ป่วยฉุกเฉินรายนี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการกระทำข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีมติให้ลงโทษปรับทางปกครองในอัตรา 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยการลงโทษปรับทางปกครอง กับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่รับเคสผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่สอง

ก่อนหน้านี้ กพฉ. เคยมีมติลงโทษปรับ 100,000 บาท ในอัตราที่สูงสูงสุด แก่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่ถูกรถชนอาการสาหัส และภายหลังได้เสียชีวิต ซึ่งขัดต่อกฎหมายและนโยบายของนายแพทย์ชลน่าน ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการรักษาช่วยชีวิตตามมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สิทธิการรักษา และความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ทั้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยปฏิบัติการพบเหตุการณ์การปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติในลักษณะนี้สามารถแจ้งมายัง ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สพฉ.โทร.028721669 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

25 เม.ย. 2567
https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/594464

9
สระแก้ว - อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ กระทำอัตวินิบาตกรรมตนเองในบ้านพักที่ จ.สระแก้ว แม่บ้านเผยได้ยินเสียงปืนตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้แต่ไม่คิดจะฆ่าตัวตายเพราะไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความเครียด ขณะชาวบ้านในพื้นที่สุดรักพากันเรียกติดปาก "หมอบรรหาร"

วันนี้ (23 เม.ย.) ร.ต.อ.เสน่ห์ เดชสุภา พนักงานสอบสวนเวร สภ.เขาฉกรรจ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างสระแก้ว จุดอำเภอเขาฉกรรจ์ ว่าทเกิดเหตุฆ่าตัวตายโดยใช้อาวุธปืนที่บ้านเลขที่ 16 ม.5 ต.เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมแพทย์เวรโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ และพิสูจน์หลักฐานตำรวจภูธร​สระแก้ว

พบที่เกิดเหตุเป็นบ้านพักกลางสวนที่อยู่ติดกับสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ ลักษณะ​เ​ป็นบ้านปูน 2 ชั้น มีรั้วรอบขอบชิด และยังพบว่าเป็นบ้านพักของนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว

และจากการตรวจสอบภายในห้องนอนบนชั้นที่ 2 พบบนโซฟามีร่างผู้เสียชีวิตคือ นายบรรหาร ภู่ทอง สภาพนอนหงาย สวมเสื้อกล้ามสีน้ำเงิน นุ่งกางเกงขาสั้นสีดำ โดยมีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดที่ขมับขวา 1 นัด เลือดไหลเต็มโซฟาและพื้น ข้างลำตัวพบอาวุธปืนลูกโม่ขนาด .22 ตกอยู่ คาดว่าน่าจะเป็นการอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ตัวเอง และน่าจะเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 10 ชั่วโมง

หลังเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบและเก็บรายละเอียดในที่เกิดเหตุแล้ว ได้มอบหมายให้กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตส่งโรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ ก่อนส่งให้นิติเวชทำการผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้งที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

จากการสอบถามแม่บ้าน ทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น.ที่ผ่านมา "หมอบรรหาร" ได้เข้านอนตามปกติ และไม่ได้มีอะไรบ่งบอกว่าเกิดความครียด หรือคิดจะทำร้ายตัวเอง

โดยก่อนเกิดเหตุตนได้อยู่ชั้นล่างของบ้าน กระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น.ที่ผ่านมาได้ยินเสียงคล้ายปืนดังขึ้น 1 นัด แต่ไม่สงสัยอะไรและคิดว่าเป็นเสียงดังมาจากด้านนอกจึงเข้านอนตามปกติ

"กระทั่งช่วงเช้าเวลา 07.30 น.ซึ่งเป็นเวลาที่"หมอบรรหาร ตื่นนอน แต่ไม่เห็นออกมาจากห้องจึงขึ้นไปเคาะประตูแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงโทรศัพท์บอกญาติให้มาช่วยงัดประตูห้องและเมื่อเปิดประตูได้ถึงกับตกใจสุดขีด เมื่อเห็นหมอบรรหาร นอนเสียชีวิตอยู่บนโซฟา จึงรีบแจ้งตำรวจ และกู้ภัยเข้าตรวจสอบ" แม่บ้าน กล่าว

ส่วนสาเหตุการทำอัตวินิบาตกรรมของนายแพทย์บรรหาร เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้และจะต้องรอสอบแม่บ้าน และลูกๆ ของหมอบรรหาร ว่ามีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ หรือมีภาวะความเครียดจากเรื่องใด ส่วนจะเป็นฆาตกรรมหรือไม่นั้นขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ และต้องรอทำการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป

สำหรับนายแพทย์บรรหาร ภู่ทอง อายุ 81 ปี เป็นผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว (คนแรก)​ ปัจจุบัน​ยังดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาสระแก้ว

โดยนายแพทย์บรรหาร เป็นบุคคลที่ชาวบ้านในพื้นที่รักใคร่เนื่องจากเป็นคนอัธยาศัยดี จึงพากันเรียกติดปากว่า "หมอบรรหาร” ทำให้เมื่อเกษียณอายุราชการจึงเลือกที่จะพักอาศัยอยู่ใน จ.สระแก้ว และได้พักอยู่ที่บ้านสวนหลังดังกล่าวเพียงลำพังกับแม่บ้านวัย 50 ปี

23 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

10
วันที่ 24 เมษายน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์ รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.อรรชวศิษฏ์ ศรีบุณยมานนทน์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ร.ต.อ.ปรินทร์ ส่วนบุญ รอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.นิคม นาชัยภูมิรอง สว.กก.สส.3ฯ, ร.ต.อ.ชัยยุทธ ศักดิ์เพชร รอง สว.กก.สส.3ฯ กับพวก

จับกุมตัว น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อินทยาวงค์ อายุ 35 ปี ที่อยู่ 62/310 ซอยเสรีไทย 72 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.52/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น”

โดยก่อนการจับกุม สืบนครบาลได้รับข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลย่านพญาไท พบผู้ที่ใช้ชื่อว่า สุวรรณอำภา อินทยาวงศ์ ปลอมบัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งบัตรประจำตัวที่ปลอมขึ้นมานั้น เป็นบัตรรุ่นเก่าของคณะ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน โดยนำบัตรดังกล่าวไปใช้ในการแอบอ้างตนว่าเป็นศัลยแพทย์ระบบสมองของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และนำไปหลอกลวงเอาเงินจากคนไข้และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลหลายราย

โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีบุคคลที่ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล และไม่ใช่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล ซึ่งทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลได้รับความเสียหาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบนครบาลได้ตรวจสอบพบว่าบุคคลดังกล่าวคือ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา อายุ 35 ปี ซึ่งมีหมายจับติดตัวของศาลแขวงราชบุรี โดยพฤติการณ์คือ เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2563 ขณะที่ผู้เสียหายใช้เฟซบุ๊ก และได้มีบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อ “ข้อมูล ส่วนตัว” เพิ่มเพื่อน

จากนั้นเฟซบุ๊กดังกล่าว ทักข้อความมาพูดคุย และได้แนะนำตัวว่าเป็นแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อว่า น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ผู้เสียหายก็พูดคุยกันมาเรื่อยๆ จนได้คบหากัน โดย น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา จะเดินทางมาหาผู้เสียหายที่ อ.เมืองราชบุรี ทุกๆ สัปดาห์ ครั้งละประมาณ 2 วัน แล้วก็จะนั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ โดยบอกผู้เสียหายว่าจะไปทำงานที่โรงพยาบาลดังกล่าว และบางสัปดาห์ผู้เสียหายจะขับรถไปรับที่หน้าโรงพยาบาล แล้วก็ไปส่งด้วย เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่คบหากัน

ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2566 ผู้เสียหายและ น.ส.สุวรรณอำภา หรือปลา ได้เลิกรากันแต่ปรากฏว่าช่วงก่อนที่จะเลิกกันนั้น น.ส.สุวรรณอำภาได้มาขอให้ผู้เสียหายหาเงินจำนวนประมาณ 300,000 บาท อ้างกับผู้เสียหายต้องใช้เงินในการชดใช้ให้ญาติคนตายที่ตนได้เป็นคนผ่าตัดแล้วเสียชีวิตลง

ผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงจึงเอาเงินผู้เสียหายโอนให้ไปจำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินมูลค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,283,620 บาท ต่อมาผู้เสียหายพบว่า น.ส.สุวรรณอำภาไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และไม่ได้เป็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามาธิบดีแต่อย่างใด

ซึ่งต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลขออนุมัติหมายจับ และสืบนครบาลได้ติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาขณะที่แต่งกายในชุดบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และมีชื่อของผู้ต้องหาเป็นภาษาอังกฤษที่หน้าอกเสื้อด้านซ้ายอีกด้วยได้ จากนั้นได้นำตัวส่ง สภ.เมืองราชบุรี ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีประวัติการต้องโทษหรือเคยถูกจับมาก่อน

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า การหลอกลวงมีหลายรูปแบบ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สายอาชีพต่างๆ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และฝากเตือนประชาชนเกี่ยวกับการถูกหลอกลวง หลอกให้รัก ผ่านการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้จะมีการนัดพบเจอทำความรู้จักกันแล้ว แต่มิจฉาชีพยังสามารถมีวิธีการในการหลอกลวงปกปิดตัวตนที่แท้จริง หรืออวดอ้างหน้าที่การงานที่ดี ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเสียทรัพย์สินมูลค่าสูงได้... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4543803

25 เมษายน 2567
มติชนออนไลน์

11
เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น?

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น? เปิดสาเหตุ หมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ประกาศ "ลาออก" จากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง "อิสรภาพ" ในการพูดความจริง

โดย หมอดื้อ หรือศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา​ ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ได้แจ้งลาออกจากการเป็น หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" มีผู้ติดตาม 3.5 แสนคน ระบุว่า

เรียนทุกท่านครับ เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน/เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ
 
ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4 และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่ม แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง (ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)


ด้าน "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการลาออกของหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือหมอดื้อ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" ระบุว่า

หมอธีระวัฒน์ลาออกจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง “อิสรภาพ” ในการพูดความจริง เดินหน้าต่อร่วมจัดเสวนา “อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด” หอศิลป์กรุงเทพ 3 พ.ค.นี้

ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยเหตุผลว่า

"เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็น เรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่นๆ"

ขอให้กำลังใจแด่ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ได้มีความกล้าหาญและเสียสละในการตัดสินใจครั้งนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นชัยชนะในการประกาศอิสรภาพเพื่อพูดความจริงให้ได้ตรงประเด็นได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะ  "ศาสตราจารย์นายแพทย์"  ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท และในฐานะ "กลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง"

และการลาออกครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การทำหน้าที่ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาหายไป

เพราะวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะยังคงเดินหน้าและเคียงข้างในการนำเสนอความจริงและทางออกให้กับประเทศ ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต่อไป

26 เม.ย. 2024
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1123972

12
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม หวั่นปริมาณสวนทางกับคุณภาพ พร้อมเสนอ 2 ทางออก

วันที่ 17 เมษายน 2567 นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา โพสเฟซบุ๊ก อำนาจ กุสลานันท์ เผยหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ พร้อมแนบผลสำรวจความเห็นของแพทย์ 1,485 ราย ต่อโครงการผลิตแพทย์ รวมถึงข้อเสนอทางเลือกการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ๆ

โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อความว่า

เรื่อง ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการผลิตแพทย์จำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปกติ

เรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 ผู้บริหาร สธ.ได้แถลงข่าวการขออนุมัติงบประมาณ 150,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแพทย์เพื่อส่งไปประจำ รพ.สต.แห่งละ 3 คนและกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้โดยในวันที่ 20 กพ. 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ 37,000 ล้านบาท แล้วนั้น

เนื่องจากมีเพื่อนแพทย์จำนวนมากได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้มา ดังนั้นคณะทำงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วย

1.ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
2.นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์
3.ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ
4.ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

จึงได้จัดทำแบบสอบถามขึ้นเพื่อขอทราบความเห็นจากแพทย์ในกลุ่มต่าง ๆ มีแพทย์ตอบแบบสอบถามมา 1,485 ราย โดยเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นดังนี้

1.ร้อยละ 81 เห็นว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ มากเกินไป

2.ร้อยละ 84.8 เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจาก ปริมาณการผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ ควรแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ

3.ร้อยละ 85.8 เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ ให้ปฏิบัติหน้าที่ในรพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำรพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น กรณีที่เกินขีดความสามารถ ให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ

จึงเรียนมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาสั่งการให้มีการชะลอโครงการดังกล่าวไว้ แล้วรับฟังความเห็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องก่อน

เนื่องจากในปัจจุบันได้มีแพทย์จบใหม่พิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คนซึ่งก็เต็มศักยภาพการผลิตแล้ว รวมทั้งมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกประมาณ 200 คนทำให้มีแพทย์เพิ่มปีละประมาณ 3,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม

ขอแสดงความนับถือ

ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
อดีตนายกแพทยสภา

17 เมษายน 2567

13
สธ. เร่งสอบ ‘ปาร์ตี้โฟมสงกรานต์’ ป่วยเข้าโรงพยาบาล 65 คน พบใช้น้ำคลองมาสาด แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอาหาร หรือ น้ำ แต่จะทราบผลในจันทร์นี้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปเล่นปาร์ตี้โฟมในงานสงกรานต์ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาในวันที่ 17 เม.ย. พบว่าเด็กเข้ารับการรักษาอาการท้องเสีย เวียนหัว ไข้สูง อาเจียน และ มีผื่นขึ้นตามตัว ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่า 65 ราย

นพ.ธงชัย กล่าวว่า เบื้องต้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการสอบสวนโรคพร้อมขยายผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยอุจจาระร่วงในช่วง 3-7 วัน โดยพบว่าการตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test)

ซึ่งในการวินิจฉัยโรค เมื่อมีผลบวกแล้วกับไวรัสโรต้า (Rotavirus) จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยันผล ทาง สสจ.สุพรรณบุรี จึงเก็บตัวอย่างส่งไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว คาดว่าจะทราบผลในวันจันทร์นี้ (22 เม.ย.)

จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอาเจียนร้อยละ 93.33 รองลงมา ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายเหลว และปวดท้อง โดยมีประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมสงกรานต์ที่เดียวกัน ระหว่างวันที่ 13-17 เม.ย. ที่ผ่านมา

สสจ. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอาหารและน้ำเพื่อส่งตรวจแล็บ ส่วนผลการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พบว่าคือการสัมผัสจุดเสี่ยงร่วมกันภายในงานสงกรานต์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดจากอาหาร-น้ำ ที่นำมาจำหน่ายในงาน การสัมผัสฝอยละอองน้ำที่นำมาเล่นสาดน้ำ หรือฝอยละอองน้ำที่ปล่อยจากท่ออุโมงค์น้ำ และปลายสายยางที่ใช้ผสมโฟม ซึ่งมีการใช้น้ำจากคลองในบริเวณที่จัดงานมาเล่นสาดกัน จึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจากฝอยละอองน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหาร หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาดภายในงานและทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้.

20 เม.ย. 2567
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8194755?utm_source=msn_news&utm_medium=footer_click

14
“อยู่ตามลำพัง” ปัญหาหนึ่งของ “สังคมผู้สูงวัย” เมื่อสถิติชี้จะมี “คนแก่” ที่ใช้ชีวิตตัวคนเดียว “เพิ่มขึ้น” นักวิชาการสะท้อน ผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวคือ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกมองข้าม

ปัญหาเรื้อรัง เพราะไม่ถูกวางแผนล่วงหน้า

เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า “ไทย” ได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์” แล้ว แต่ปัญหาหนึ่งคือ มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ “ตัวคนเดียว” โดยไม่มีญาติหรือลูกหลานดูแล นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทอดทิ้งคนแก่

แต่ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป คนมีลูกกันน้อยลง เลือกใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลถึงกัน และจากรายงาน “ภาพสะท้อนสถานการณ์การของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว” ของ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ระบุว่า...

สัดส่วนของ “คนแก่” ที่อาศัยตามลำพัง “เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด” ในปี 2564 คือมีผู้สูงอายุที่ “อยู่ตัวคนเดียว” ถึง1.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนผู้อายุทั้งหมด

และอีก 21% อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส บวกกับด้วยทุกวันนี้ “คนไม่นิยมมีลูก” ทำให้แนวโน้มผู้สูงอายุในอนาคต จะเป็นคนที่ต้องอยู่ตามลำพังโดยไม่มี“ลูกหลาน” เพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาของการที่ “คนแก่” อยู่คนเดียว แน่นอนคือ “สุขภาพ” ที่ไม่มีใครคอยดูแล บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้น เสียชีวิต โดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็มี อย่างที่เราเคยเห็นกันในสื่อ

รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวันสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล สะท้อนปัญหาที่คนเหล่านี้ต้องเจอให้ทีมข่าวฟังว่าคือ “การเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารธสุข หรือบริการสังคมอื่นๆ” และคำตอบได้จากผู้สูงอายุเหล่านี้คือ...

“ประมาณ 1 ใน 4 ของคำตอบ คือไม่มีคนพาไป มันก็เป็นคำถามนึงว่า แล้วเราจะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้ เข้าถึงบริการสาธารณสุข หรือบริการทางสังคม จะทำยังไงกับคนกลุ่มนี้ดี”

แม้จะตระหนักถึงปัญหาเรื่องผู้สูงอายุในภาพรวม แต่เราไม่เคยนิยามว่า “กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว” แบบไร้ญาติขาดมิตรนั้นเป็น “กลุ่มเปราะบาง”

เอาเข้าจริง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ “ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ”แต่ในเมื่อไม่ถูกนิยามว่าเป็น“กลุ่มเปราะบาง” อย่างคนพิการ หรือผู้ป่วยติดเตียง “เราอาจไม่ได้ตระหนักว่า พวกเขาจะอยู่ได้ไหม”

การจะดูแลเหล่าผู้สูงอายุ จริงๆ อาจต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุอย่าง “การลงทะเบียนผู้สูงอายุ” ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอีก 5 ปีก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุ

อาจจะต้องขึ้นทะเบียนสำหรับ“คนอาศัยอยู่คนเดียว” เพราะเมื่อแก่ตัวขึ้น ความเสี่ยงเรื่องการดูแลมันจะตามมา คนกลุ่มนี้เองที่ภาครัฐและประชาสังคมต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

“ปัญหาหนึ่งอย่างที่เจอเยอะเลยคือ ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งมากกว่าร่างกาย บางคนถึงร่างกายจะดี แต่มีเรื่องซึมเศร้า ความเหงา ความกังวลที่จะอยู่คนเดียว”

“ความกังวล”คืออีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ลำบาก เรื่องที่กังวลส่วนมากคือ “ความปลอดภัย” ผู้เฒ่าหลายคน อยากจ้างคนมาช่วยดูแล แต่ก็ห่วงเรื่องการถูกทำราย หรือลักขโมย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มีการเสนอไปในเชิงนโยบายว่า “ควรจะหาหน่วยงานหลัก” ที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ และบรรจุให้เป็นภารกิจหลัก ในทั้งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น หรือในชุมชน

“เพื่อนบ้าน-ชุมชน” ระบบช่วยเหลือคนแก่

จากสภาพสังคมที่เห็น ดูเหมือนหลายคนในอนาคต คงต้องใช้ชีวิตวัยแก่อย่างโดดเดียว คำถามที่น่าสนใจคือ เรามีระบบที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้น สามารถใช้ชีวิตได้ แม้จะไม่มีครอบครัวดูแลได้หรือเปล่า?

กูรูรายเดิมช่วยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ตอนนี้บ้านเรามีบริการที่เรียกว่า “ผู้ช่วยเหลือพาไป” เป็นบริการ ที่พาไปโรงพยายาบาล พาไปทำธุระข้างนอก แล้วก็นำกลับมาส่งที่บ้าน

แต่ด้วยที่ว่าบริการรูปแบบนี้ “มันยังไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ” มีเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นบริการที่ดี และพอจะช่วยแก้ปัญหา การเข้าถึงบริการการรักษาของคนกลุ่มนี้ได้ในระดับนึง

ส่วนในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังในบ้านนั้น บางพื้นที่ก็เริ่มมีการผลักดันเรื่อง “การบริการชุมชน” โดย ดร.ศุทธิดา อธิบายแนวคิดเหล่านี้ไว้เพิ่มเติม

“มีแนวคิดที่ว่า คนที่อยู่คนเดียวเนี่ย เราอยากให้เขาได้อยู่บ้านเดิม ชุมชนเดิมได้ โดยที่เขาไม่ต้องพึ่งพาใครได้ยาวนานที่สุด หมายความว่าแม้จะอยู่คนเดียวโดยไม่มีครอบครัวเลย แต่ก็จะมีการดูแลโดยชุมชน”

ต่างกับ “ยุโรป” ที่จะเห็นว่า ส่วนใหญ่มักเลือกไปอยู่บ้านพักคนชรา หรือซื้อบริการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะว่า “สวัสดิการและเงินบำนาญของเขาสูง” พวกเขาจึงสามารถดูแลตัวเองในตอนแก่ได้

แต่ตอนนี้บ้านเราก็เริ่มมีโมเดล ที่เรียกว่า “การดูแลระยะยาว” ในบางพื้นที่ คือมีการติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือกล้องวงจรปิดที่ส่งสัญญาญตรงไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น

“เขาจะมีกริ่งเรียก แล้วมันจะส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานในชุมชน ให้รับรู้ว่าบ้านนี้ ผู้สูงอายุกำลังมีปัญหา”

อีกอย่างที่ทีมวิจัยของ ดร.ศุทธิดา กำลังผลักดันคือ “การดูแลโดยเพื่อนบ้าน” หมายถึงในหนึ่งชุมชน จะมีการตั้งผู้นำที่รับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ เก็บข้อมูลว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกี่คน คนไหนที่อาศัยอยู่คนเดียว แล้วก็ให้เพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดเป็นคนช่วยดูแล “เพราะเพื่อนบ้านจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยเหลือได้เร็วที่สุด ตรงนี้ก็อาจช่วยได้”

อาจารย์เสริมอีกว่า จริงๆ แล้วการดูแลเรื่องเหล่านี้ ทางภาครัฐทำมาตลอด อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนคอยดูแลเรื่องเหล่านี้

แต่จากการลงพื้นที่วิจัยก็พบปัญหาหนึ่ง คือจำนวนบุคลากรน้อย และภาระงานที่เยอะ ทำให้บางพื้นที่ไม่ได้ถูกดูแลอย่างทั่วถึง อีกเรื่องคือ “ข้อมูลที่กระจัดกระจาย” ของแต่ละหน่วยงาน ถ้าตรงนี้สามารถบูรณาการรวมกันได้ ก็จะตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
14 เม.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

15
เลขาธิการแพทยสภา เตือน "หมอ" ระวังออกใบความเห็นแพทย์หรือใบรับรองแพทย์เท็จหลังหยุดยาว เหตุนายจ้างตรวจเข้มการหยุดลูจ้าง พบ 5 ปัญหาปลอมใบรับรอง แนะเก็บต้นขั้วไว้ตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้แพทย์ระวังเรื่อง "ใบความเห็นแพทย์ (เท็จ) หลังวันหยุดยาว" โดยระบุว่า เนื่องจากการให้หยุดมีผลต่อการทำงานของคนไข้บางคน ในกรณีที่ป่วยจริงไม่มีปัญหา แต่ที่แพทยสภาเคยพบปัญหาจากใบความเห็นแพทย์เท็จเหตุดังนี้ กรณีวันหยุดยาวบริษัทห้างร้านจะเพ่งเล็งในการตรวจสอบ วันลาหยุดใน ใบความเห็นแพทย์ เป็นพิเศษ เกี่ยวกับการขาดงานของ ลูกจ้าง โดยเฉพาะห้างร้านที่เปิดในช่วงวันหยุด และการหยุดโดยเจ็บป่วยจะไม่ถูกหักค่าแรง จึงมักมีการตรวจสอบอย่างละเอียดกัน

แพทยสภาเชื่อมั่นว่าคุณหมอใช้วิจารณญาณและระมัดระวังในการให้หยุดให้เหมาะสมกับความเจ็บป่วยอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่อาจพบคือ

1. มีการปลอมแปลงแก้ไขวันหยุด ให้มากขึ้น ในใบรับรองแพทย์โดย พนักงาน เป็นเหตุให้มีการส่งไปตรวจสอบ ที่สถานพยาบาลและบางครั้งถามมาที่แพทยสภา ดังนั้นจึงต้องมีต้นขั้ว ที่ชัดเจนทุกครั้ง

2. มีการใช้ใบรับรองของเพื่อนพนักงานด้วยกันมาแก้ไขชื่อ หรือทำสำเนา ถ่ายเอกสารสีปลอม ซึ่งถือเป็นใบรับรองแพทย์เท็จ เมื่อตรวจสอบกับสถานพยาบาล ดังนั้นต้นขั้วที่สถานพยาบาลจึงสำคัญมาก

3. มีการไปซื้อใบรับรองแพทย์จากแหล่งปลอมต่างๆ ปั๊มตราสถานพยาบาล มีลายเซ็นแพทย์ปลอม อันนี้ตรวจสอบกับสถานพยาบาล ได้ และมีการตรวจอยู่ประจำ ทางแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะผิดกฎหมายเอกสารเท็จอยู่แล้ว

4. มีการร้องขอแพทย์ ให้เพิ่มวันลาในโรคที่ไม่ควรหยุดยาว เพราะจะกลับบ้านต่างจังหวัดหรือไม่มีรถมาทันในการทำงาน การออกต้องระวัง ขอให้แพทย์ยึดมั่นตามข้อเท็จจริง สงสารเขาอาจจะเป็นปัญหากับตัวเองได้

5. ขอให้ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเพราะมาทำงานไม่ทัน โดยไม่ได้ป่วยจริง อันนี้เข้าข่ายออกใบรับรองแพทย์เท็จ มีคดีร้องจริยธรรมมาที่แพทยสภาด้วย โดยมีพยานเพื่อนพนักงานบอกว่าไม่ได้ป่วย ไปเที่ยวด้วยกัน ทำให้หมอถูกลงโทษได้ แพทย์ออกได้ตามวันจริงที่มาตรวจเท่านั้น
เชื่อว่าสถานการณ์ใบความเห็นแพทย์จะมีปัญหาหลังวันหยุดยาว ขอให้คุณหมอระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ คุณหมอเอง และถ้าเป็นคลินิก ต้องให้มีสำเนาไว้ทุกครั้งที่ตรวจสอบได้ทันที ถ้าพบใบรับรองแพทย์เท็จที่ใช้ชื่อคุณหมอ ให้แจ้งความและแจ้งนิติกร แพทยสภา (02-589-7700 , 02-589-8800) และ สถานพยาบาลที่ออกด้วย

ใบรับรองแพทย์เท็จ หรือปลอมแปลงมีความผิดตามกฎหมาย เตือนเพื่อนๆ พนักงาน อย่าหยุดจนเลยเวลา หลายรายถูกออกจากงานไม่คุ้ม

17 เม.ย. 2567 ผู้จัดการออนไลน์


หน้า: [1] 2 3 ... 535