ผู้เขียน หัวข้อ: ผอ.รพ.อุ้มผางอัดสปสช.เป็นคนดีแต่ใจดำ  (อ่าน 422 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และอดีตแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2538 เปิดเผยว่า ได้เขียนจดหมายถึง นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เพื่อเล่าสภาพปัญหาการทำงานภายในพื้นที่ รวมถึงตำหนิการทำงานของผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าเป็น “คนดีแต่ใจดำ” จริง เนื่องจากที่ผ่านมา 12 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งสปสช. โรงพยาบาลอุ้มผางยังประสบปัญหาในการดูแลผู้ป่วยมาโดยตลอด แต่ผู้บริหารกลับนิ่งดูดาย ปล่อยให้โรงพยาบาลชายแดนต้องเดือดร้อน โดยที่ไม่ทำอะไร ทั้งที่มีงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก และเชื่อว่า หาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสปสช.ยังมีชีวิตอยู่ สปสช.จะไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนลำบากอย่างนี้

“ผมอยากจะเปรียบว่าเราเป็นเหมือนคนขับรถที่จอดเสียอยู่ข้างทาง แล้วสปสช.เป็นคนขับรถที่ผ่านมา มีอุปกรณ์ช่วยเหลืออยู่เต็มรถ แต่ขับผ่านไปโดยไม่ช่วยเหลืออะไร เพราะที่ผ่านมา พื้นที่โรงพยาบาลอุ้มผาง มีปัญหาทั้งคนไร้สัญชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก หรือปัญหาโรคติดต่อ เช่น วัณโรค หรือโรคระบาดร้ายแรงที่ข้ามชายแดนมา ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนสะสมมานานหลายปี แต่สปสช.กลับสนับสนุนได้เพียงคนไทย ซึ่งเข้ามาใช้บริการน้อยมากเท่านั้น”นพ.วรวิทย์กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวอีกว่า สปสช.มีตัวชี้วัดตามกองทุนย่อยหลายตัวที่โรงพยาบาลอุ้มผางทำตามได้ยาก เช่น การแก้ปัญหาเด็กอ้วน แต่ในพื้นที่ชายแดน เด็กส่วนใหญ่ขาดสารอาหาร ทำให้ไม่ได้งบประมาณส่วนนี้ หรือยารักษาวัณโรค ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสปสช.เช่นกัน ซึ่งวิธีการใช้หลักเกณฑ์เดียวให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม 12 ปีที่ผ่านมาสะท้อนชัดว่าไม่ได้ผล เมื่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. มีแนวทางใหม่ สนับสนุนให้นำงบประมาณกองทุนย่อย มาเกลี่ยในเขตบริการสุขภาพ จึงน่าจะเข้าใจปัญหาในแต่ละพื้นที่เฉพาะมากขึ้น

ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า โรงพยาบาลอุ้มผาง เป็นโรงพยาบาลที่ดี และนพ.วรวิทย์ก็เป็นแพทย์ที่ทุ่มเทให้กับพื้นที่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลอุ้มผางดูแลผู้ป่วยถึง 3 กลุ่ม คือ

1.คนไทย ซึ่งมีจำนวนไม่ถึง 50%
2.กลุ่มผู้ที่รอพิสูจน์สัญชาติ
3.ชาวต่างชาติ ที่ข้ามมาจากพม่า

อย่างไรก็ตาม สปสช.ดูแลได้เฉพาะคนไทยที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 2 สธ.เป็นผู้ดูแลงบประมาณ และกลุ่มที่ 3 รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณผ่านสธ. เพื่อจัดสรรให้โรงพยาบาลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัด สปสช.ได้พยายามสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือมาโดยตลอด รวมถึงงบประมาณกองทุนย่อยก็ได้จัดสรรให้เพิ่มในฐานะโรงพยาบาลที่มีความยากลำบาก แม้จะไม่เพียงพอกับความต้องการก็ตาม

ทั้งนี้ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ 2 แนวทางคือ
1.ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลที่มีประเด็นเฉพาะมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สปสช.กำลังร่วมกันคิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะเพิ่มหลักการจัดสรรงบประมาณอย่างไร และ
2.อยู่ระหว่างหนุนนโยบายการหาเจ้าภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามารักษา กับสำนักงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลชายแดน ไม่ให้ต้องรับภาระ อย่างที่ นพ.วรวิทย์กำลังเผชิญ อย่างไรก็ตาม เจ้าภาพในกลุ่มที่ 2 คือสธ. และเจ้าภาพกลุ่มที่ 3 คือรัฐบาล ต้องช่วยกันดูแลด้วย เพราะสปสช.ไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้เพียงหน่วยงานเดียว เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ดูแลได้เฉพาะคนไทย

ด้าน นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม เปิดเผยว่า อันที่จริง ข้อเสนอของ ผอ.รพ.อุ้มผาง เหมาะที่จะใช้กับ รพ.ชายแดนที่ประชากรถือบัตรประชาชนไทยมีน้อย แต่โดยมนุษยธรรมต้องรักษาผู้ป่วยไร้สัญชาติและชายแดนด้วย ไม่ใช่เสนอให้ใช้วิธีนี้กับทกกรณี หรือทุกพื้นที่ การที่มีคนเอาจดหมายมาปล่อยเช่นนี้ จึงเป็นเพียงการหาประโยชน์จากเจตนาบริสุทธิ์จากแพทย์ดีๆ คนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น เรียกว่า ฝั่งปลัดณรงค์ ผู้ตรวจ และ สสจ. ใช้กันทุกวิธี

โพสต์ทูเดย์ 11 ธันวาคม 2557