ผู้เขียน หัวข้อ: ยื่น กมธ.ยกร่าง รธน.รวม 3 กองทุน ลดเหลื่อมล้ำสิทธิรักษา  (อ่าน 423 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ยื่น ประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทุนสุขภาพภาครัฐ รวม 3 กองทุนเป็นกองทุนเดียวบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำทุกคนควรได้สิทธิรักษาพยาบาลเท่ากัน หลังประกันสังคมสิทธิด้อยกว่ามาตลอดทั้งที่จ่ายเงินสมทบ แนะให้ สปสช.บริหารสิทธิการรักษา สปส. ดูแลบำเหน็จบำนาญเช่นเดิม ด้านพนักงานมหา'ลัยร่วมหนุน
       
       วันนี้ (2 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อเข้าพบ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นหนังสือขอให้มีการพิจารณารวม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง กองทุนประกนสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ให้เป็นกองทุนเดียว โดยขอให้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเบื้องต้นนั้นอยากให้โอนย้ายผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมมาใช้สิทธิบัตรทอง และให้รัฐบาลโอนเงินสมทบประมาณ 7,000 - 10,000 ล้านบาท มาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บริหาร เพราะมองว่าสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพจะต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ส่วนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายทุกเดือนนั้นให้เข้ากองทุนชราภาพ ซึ่งบริหารโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)
       
       ทั้งนี้ น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า การเรียกร้องครั้งนี้เนื่องจากมองว่า เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการปฏิรูประบบสุขภาพจริงๆ เสียที โดยก่อนอื่นต้องให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานด้านการรักษาพยาบาลในทุกสิทธิประกันุสขภาพภาครัฐ โดยต้องให้ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต้องมาอยู่ในกองทุนเดียว โดยมีการตั้งคณะกรรมการจากทุกฝ่ายขึ้น และให้ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ คือ สปสช. เป็นเลขานุการ ส่วนสาเหตุของการเสนอให้รวมเป็นกองทุนเดียว เพราะมองว่าที่ผ่านมามักพูดว่าจะทำให้การรักษาพยาบาลเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ อย่างกองทุนประกันสังคมก็ทราบดีว่า สิทธิรักษาพยาบาลหลายอย่างยังไม่เทียบเท่าอีก 2 สิทธิ ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตลอด ดังนั้น ควรแยกการรักษาพยาบาลออกมา เพื่อให้การบริหารจัดการตรงจุด
       
       ด้าน รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยหากจะแยกกองทุนประกันสังคมออกมาให้ สปสช. บริหารในสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะตรงกับที่ทางศูนย์ประสานงานฯ เรียกร้อง คือ ให้ สปสช. มาช่วยบริหารกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ หลังจากที่ปี 2542 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บรรจุพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทดแทนอัตราข้าราชการอยู่ในระบบประนสังคม ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 แสนคน ส่วน สปส. ควรบริหารในเรื่องของเงินบำเหน็จบำนาญ เรื่องแรงงานต่างๆ เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่า สิทธิประกันสังคมไม่ดีเทียบเท่าสิทธิอื่น จริงๆ แล้วรัฐบาลยุคนี้สามารถทำได้ ควรตัดสินใจดึงเรื่องรักษาพยาบาลให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยให้ สปสช. ดูแลให้พื้นที่การรักษาเท่ากัน ส่วนผู้ประกันตนเมื่อต้องจ่ายเพิ่มก็ให้เพิ่มสิทธิแล้วแต่กรณีไป
       
       “จากการใช้สิทธิของ สปส. มากว่า 15 ปี พบว่า ยังมีความด้อยกว่าระบบราชการเดิมอย่างมาก ทั้งที่จ่ายเงินเข้าระบบมากกว่า อย่างผมเคยเป็นข้าราชการระดับ 9 แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และกฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิประกันสังคม ก็ได้ทราบถึงความแตกต่าง จึงอยากให้ผู้บริหาร สปส. ทุกท่าน ลองย้ายสิทธิมาใช้ สปส. แล้วจะรู้ถึงอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมก็ล้วนส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ จึงมองว่าควรปรับทั้งระบบ โดยควรแยกกองทุนรักษาพยาบาลออกมาเฉพาะดีกว่า ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานฯ ได้ยื่นเรื่องเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แปรญัตติ ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ... เพื่อเปิดทางให้การตั้งกองทุนใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนทุกคน” รศ.วีรชัย กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    
2 ธันวาคม 2557