ผู้เขียน หัวข้อ: โซเชียลจวกโฆษณาลดอุบัติเหตุ “สงกรานต์” ฉายภาพฆ่าตัวตาย ด้าน สสส.ขอโทษพร้อมลบคลิป  (อ่าน 451 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
ดรามาหนัก!! โฆษณารณรงค์ “สงกรานต์สุดท้าย” เตือนสติเมาแล้วขับ หวังลดอุบัติเหตุช่วงกรานต์ ถ่ายทอดภาพรุนแรงของแม่ “ฆ่าตัวตาย” หลังลูกชายตายจากเมาแล้วขับ แถมถูกทวงหนี้ ชาวเน็ตวิจารณ์เสี่ยงทำคนมีปัญหาฆ่าตัวตายตาม ด้านฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ออกแถลงขอโทษ พร้อมถอดคลิปออก
       
       กลายเป็นกระแสดรามาในสังคมออนไลน์ หลังฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ลดอุบัติเหตุ ชุด “สงกรานต์สุดท้าย” ลงในเฟซบุ๊กเพจ “Social Marketing ThaiHealth” เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2560 เนื่องจากภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวถ่ายทอดภาพความรุนแรงของการฆ่าตัวตาย
       
       ทั้งนี้ เนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าว คือ วัยรุ่นชายคนหนึ่งที่ดื่มเหล้าจนเมาแล้วขับรถจักรยานยนต์จนเกิดอุบัติเหตุชนคนตาย ส่วนตัวเองอาการสาหัสต้องรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล จนมารดาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อจ่ายค่ารักษา แต่สุดท้ายลูกชายก็เสียชีวิต และถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายตาม ซึ่งในภาพยนตร์โฆษณาฉายภาพให้เห็นถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่ถือว่าค่อนข้างรุนแรงต่อความรู้สึกของผู้ชม เพื่อกระตุกให้คิดถึงผลลัพธ์และความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการเมาแล้วขับ
       
       ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวจำนวนมาก ทั้งเห็นด้วยที่เสนอภาพและเรื่องราวที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อความรู้สึก เพราะจะช่วยให้กระตุ้นให้คนคิดได้ถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากการดื่มแล้วขับ เพราะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนอีกกลุ่มมองว่าเป็นภาพที่มีความรุนแรงเกินไป และการฉายภาพให้เห็นถึงการฆ่าตัวตาย จะเป็นการตอกย้ำให้คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอยู่แล้วอาจลงมือฆ่าตัวตายได้ ที่สำคัญ ยังเป็นโฆษณาที่มีโลโก้ของ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งในฐานะที่เป็นองค์กรด้านสุขภาพ น่าจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาพยนตร์ดังกล่าวในเชิงสุขภาพจิตด้วย
       
       นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มงานที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โดยหลักวิชาการแล้วการนำเสนอวิธีการฆ่าตัวตายจะมีผลมากกับคนกลุ่มล่อแหลม หรือมีช่วงชีวิตที่อยู่ในลักษณะเดียวกันกับโฆษณา จะกลายเป็นการชักชวนว่าการฆ่าตัวตายคือทางออก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก ซึ่งในอดีตมักพบจากการพาดหัวข่าวของสื่อกระแสหลัก เช่น อกหัก รักคุด สอบตก เป็นต้น ปัจจุบันสื่อกระแสหลักเห็นความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันคือโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่สามารถจำกัดคนใช้งาน จำกัดกลุ่มคนรับสารได้ ดังนั้น การจะนำเสนออะไรต้องระมัดระวัง คิดถึงคนทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถจำกัดการเข้าถึงได้ แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนักกับคนทั่วไปเพราะถือว่ายังมีวิจารณญาณ แต่ทางที่ดีคือไม่ควรนำเสนอข้อมูลในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนไม่เห็นคลิปภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวแล้ว คาดว่าทาง สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะตระหนักถึงเรื่องนี้แล้วถอดออกแล้วหรือไม่

ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้ออกแถลงการณ์ขอแสดงความเสียใจต่อภาพสื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ลดอุบัติเหตุ ชุด “สงกรานต์สุดท้าย” แล้ว โดยระบุว่า
      
       “หลังจากภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ลดอุบัติเหตุ ชุด “สงกรานต์สุดท้าย” ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 และเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงเนื้อหาของสื่อรณรงค์ที่สื่อไปในทางความรุนแรงนั้น ฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ขอน้อมรับทุกความคิดเห็น และพร้อมนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงในการดำเนินงานต่อไป
       
       ขอเรียนว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการพัฒนาสื่อรณรงค์ชุดนี้ สสส. จัดทำขึ้น โดยมีเป้าหมายที่หวังสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มแล้วขับ ที่ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ดื่มเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงคนรอบข้าง และคนในสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ และร่วมกันระมัดระวังการขับขี่ให้ปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุและการสูญเสีย
       
       จากข้อคิดเห็นต่างๆ ขณะนี้ สสส. และทีมงานผู้ผลิต ได้พิจารณาถอดวิดีโอดังกล่าวออกจากสื่อช่องทางต่างๆ แล้ว เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจะได้นำข้อห่วงใย และข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
       
       สุดท้ายนี้ สสส. และทีมงานผู้ผลิต ขอแสดงความเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และจะพัฒนาสื่อรณรงค์เพื่อสังคมด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบให้ดีที่สุดต่อไป”

โดย MGR Online       28 มีนาคม 2560