แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - patchanok3166

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 20
151
ร.ต.อ.ขับกระบะเสียหลักพุ่งชนรถร.พ. พยาบาลสาวดับสลด อีก5ชีวิตเจ็บ หญิงท้องแก่ด้วย


ร.ต.อ.ขับกระบะเสียหลักพุ่งชนรถร.พ. –  เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าว ข่าวสด จังหวัดบุรีรัมย์ รายงานอุบัติเหตุคร่าชีวิตพยาบาลสาว เมื่อรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ผู้ขับขี่เป็นนายตำรวจ ยศ ร.ต.อ. สถานีตำรวจภูธรใน จ.บุรีรัมย์ เสียหลักข้ามเลนพุ่งชนประสานงากับรถพยาบาลของร.พ.ประโคนชัย บริเวณบนถนนสายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ช่วงระหว่างบ้านไทร-ไพบูลย์ ต.บ้านไทร อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์


แรงชนอย่างแรงทำให้รถพยาบาลคันดังกล่าวพลิกคว่ำตกลงไปข้างทางในสภาพพังเสียหายยับเยินเกือบทั้งคัน อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กระจายเกลื่อน

เจ้าหน้าที่พยาบาลที่นั่งมาในรถรีเฟอร์คันดังกล่าว รวมถึงสาวท้องแก่ ญาติ และคนขับรถ บาดเจ็บ รวมจำนวน 6 คน มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร และกู้ชีพ อบต.บ้านไทร เร่งลำเลียงส่งโรงพยาบาลประโคนชัย โดยพบว่าพยาบาลสาวมีอาการสาหัสไม่ได้สติ จึงปั้มหัวใจเพื่อช่วยเหลือ แต่ยื้อชีวิตไว้ไม่ได้ เสียชีวิตในที่สุด


ด้านคนไข้สาวท้องแก่ถูกส่งไปรักษาที่ร.พ.ศูนย์บุรีรัมย์อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4 คนยังรักษาตัวอยู่ที่ ร.พ.ประโคนชัย


สำหรับรถกระบะ ที่มีร.ต.อ.เป็นคนขับด้านหน้าก็มีสภาพพังเสียหายยุบเข้าไปถึงเกือบถึงคอนโซนหน้ารถ แต่คนขับบาดเจ็บเล็กน้อย


จากการสอบถามทราบว่ารถรีเฟอร์หรือรถพยาบาลคันดังกล่าว ประสบเหตุขณะลำเลียงสาวท้องแก่ใกล้คลอดมาจากโรงพยาบาลประโคนชัย เพื่อจะส่งไปทำคลอดที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โดยมีญาติ เจ้าหน้าที่พยาบาลนั่งในรถคันดังกล่าวด้วย รวม 6 คน แต่ระหว่างทาง รถกระบะวิ่งสวนทาง และข้ามเลนพุ่งเข้ามาชนจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันพังยับเยิน

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะสอบปากคำคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และสอบปากคำพยานแวะล้อมที่เห็นเหตุการณ์ รวมถึงตรวจสอบกล้องหน้ารถ เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง


16 ต.ค.61 ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด

152
ไบโพล่าร์หรือคนสองบุคลิก


ระยะหนึ่งแล้วที่คนไทยเริ่มรู้จักกับโรค “ไบโพล่าร์” หรือบางคนอาจเรียกว่าโรค “คนสองบุคลิก” ที่เมื่อเสียใจก็เสียใจสุดๆ แต่เมื่อดีใจก็ดีใจเสียโอเวอร์ แต่ถึงแม้ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์จะมีจำนวนมากขึ้นในสังคมไทยก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการเหล่านี้จะถูกเรียกว่าเป็นโรคไบโพล่าร์กันเสียหมด


Sanook! Health ทำข้อมูลดีๆ จากเฟซบุ๊คเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ที่จะมาอธิบายถึงโรคไบโพล่าร์ให้ชัดเจนขึ้น ให้คนทั่วไปเข้าใจถึงโรคนี้ และทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ให้มากขึ้นด้วยค่ะ

------------------------


ขอเพียงความเข้าใจ ไบโพล่าร์

ปัจจุบันหากได้มีโอกาสติดตามข่าวในโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ คงได้มีโอกาสได้ยินเกี่ยวกับโรคไบโพล่าร์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า สังคมมักจะมีความคิดประมาณว่า ถ้าใครมีลักษณะผิดปกติอะไรสักอย่าง ต้องถามขึ้นมาเลยว่า "นี่เป็นไบโพล่าร์รึเปล่าเนี่ย!?!" ซึ่งคงไม่ยุติธรรมกับคนไข้ที่เป็นไบโพล่าร์เท่าไหร่นัก แล้วในความเป็นจริง ไบโพล่าร์คือโรคอะไรกันแน่


* ที่แน่ๆ มันไม่ใช่อารมณ์ร้ายเพียงเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ใช่คนนิสัยเอาแต่ใจหรือเห็นแก่ตัว *

โรคอารมณ์สองขั้ว หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bipolar Disorder นั้น จากงานวิจัยพบว่า คนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วได้ประมาณ 1% การที่มีความเข้าใจเรื่องโรคนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันและดูแลคนรอบข้างที่มีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคได้ โรคอารมณ์สองขั้ว ลักษณะทั่วไปก็เป็นตามชื่อ ก็คือ มีลักษณะของอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่าง 2 แบบ


ช่วงซึมเศร้า (Depressive episode) ที่เป็นนานอย่างน้อย2สัปดาห์ (รายละเอียดในบทความโรคซึมเศร้า)
มีลักษณะ คึกคักพลุ่งพล่าน ที่เรียกว่าเมเนีย (Mania หรือ Manic episode)
คนที่เป็นโรคไบโพล่าร์นี้อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ


ช่วงที่ว่านี้คือเป็นสัปดาห์ ไม่ใช่เป็นชั่วโมงหรือวันสองวัน
โดยเป็นอาจเป็นลักษณะซึมเศร้า ตามด้วยช่วงเวลาที่เป็น "ปกติ" ดี เป็นคนเดิมของเขา จากนั้นอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา
โดยโรคไบโพล่าร์ ต้องมีช่วงเมเนียแต่อาจจะมีช่วงซึมเศร้าหรือไม่ก็ได้
บางคนแสดงอาการซึมเศร้าก่อน ต่อมาค่อยแสดงอาการเมเนีย การวินิจฉัยจึงเปลี่ยนจากโรคซึมเศร้า เป็นโรคไบโพลาร์
ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการซึมเศร้าก่อนมากกว่า
อาการหลักๆคือ "เยอะ" ไม่ว่าความคิด ความมั่นใจ การพูด ”ล้น” ไปหมด (โดยที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้) แต่มักไม่เกิดผลดี เพราะมาจากสมองที่กำลังปั่นป่วน


เราอาจเคยเห็นเพื่อนๆหรือคนที่อยู่รอบข้าง ที่อยู่ดีๆก็ขยันทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บางคนดูเหมือนมีแผนการและความคิดสร้างสรรค์มากมาย เวลาพูดคุยด้วยจะสังเกตว่าพูดมาก พูดเร็ว แต่ดูกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อ เปลี่ยนเรื่องเร็วจนตามไม่ทัน มีพลังงานเหลือเฟือในการทำงาน วางแผนโครงการต่างๆมากมาย บางคนไปดาวน์รถ จองคอนโดหลายที่ ต้องมาตามใช้หนี้ตอนหลัง รวมทั้งดูมีความมั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าตัวเองมีความสามารถสูง เช่น ถ้าลงเลือกตั้งต้องได้ตำแหน่งแน่ๆ


บางคนเป็นมากอาจมีความคิดหลงผิด (delusion) ว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ มีพลังอำนาจวิเศษเหนือธรรมชาติ หากค่อนข้างสนิทจะเห็นว่ามีลักษณะใช้จ่ายเกินตัวผิดปกติ ถ้าเป็นคนประหยัดจะใช้เปลืองมากขึ้น ถ้าเป็นคนใช้เงินอยู่แล้วก็จะมากขึ้นอีก บางคนบริจาคเงินมากมาย บางทีเอาเงินมาแจกเพื่อน ถ้าเป็นระดับหัวหน้างานก็อาจแจกเงินลูกน้อง พาลูกน้องไปเลี้ยงใหญ่ทุกวัน นอนดึกมากขึ้น (ไม่ใช่นอนไม่หลับ) แต่ไม่ง่วงไม่อยากนอน มีพลังเหมือนสังเคราะห์แสงได้ อารมณ์อาจเป็นลักษณะดีผิดปกติ ดูไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้ ความอดทนต่ำ หุนหันพลันแล่น ทำให้มีเรื่องกับใครได้ง่ายๆ อาจถึงขั้นอาละวาดทำร้ายคนหรือสิ่งของ


 

ผลกระทบ

อาการต่างๆจะส่งผลเสียต่อการทำงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและคนรอบข้าง


การดูแลรักษา

มีความจำเป็นจะต้องให้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (mood stabilizer) ดังนั้นหากสงสัยว่าเพื่อนๆหรือคนรอบข้างมีอาการที่เข้าได้กับโรคอารมณ์สองขั้ว ก็ควรหาทางให้เขาไปพบจิตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษา เพราะอาการเช่นนี้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆก็ได้ เช่น ยาเสพติด ยาลดน้ำหนัก หรือโรคทางกายบางอย่าง ดังนั้นจึงต้องพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อน


คนที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ส่วนใหญ่เมื่อได้รับประทานยา อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติ และสามารถทำงาน ใช้ชีวิตปกติได้เหมือนไม่เคยมีช่วงป่วยมาก่อน ที่สำคัญคือระวังการกำเริบของโรค เพราะคนไข้ไบโพลาร์ ช่วงเมเนียมักไม่คิดว่าตัวเองป่วย หากอาการดีขึ้นก็มักหยุดยาเอง ซึ่งโรคจะกำเริบได้หากรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การพักผ่อนไม่เป็นเวลา การดื่มแอลกอฮอล์และความเครียดที่มากระทบ


ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรทำงานที่พักผ่อนไม่เป็นเวลา เช่น งานที่ต้องอยู่เวรเป็นกะ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่สร้างความเครียดหรือกดดันมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น บางครั้งอาจเกิดจากโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โรคอารมณ์สองขั้วก็ได้ ดังนั้นการไปพบจิตแพทย์จึงมีความจำเป็น


การกลับมาเป็นคนปกติ

คนที่มีโรคไบโพล่าร์ หรือเป็นโรคทางจิตเวชใดๆก็ตาม สามารถรักษาให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตเป็นปกติได้ได้ เขาต้องการความเข้าใจ ไม่ต่างจากคนไข้โรคทางกายอื่นๆ ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเกิดจากความเจ็บป่วย ที่ต้องการการดูแลรักษา แต่น่าเศร้าที่หลายครั้งคนในสังคมมาองคนไข้จิตเวชด้วยอคติ ทั้งการขาดความรู้และความไม่สนใจจะรู้ อย่างที่เราอาจจะพบเห็นบ่อยๆในสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิเจ็บป่วยทางสมองได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐี ยาจก เชื้อชาติไหน ภาษาใดๆ คนเหล่านั้นล้วนต้องการความเข้าใจและยอมรับ


มีคนมากมายในสังคมเราที่ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยทางจิต แต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ซึ่งคนเหล่านั้นจิตแพทย์หรือใครๆก็รักษาไม่ได้ ตรงนี้หมอว่าน่าเหนื่อยใจกว่ามาก แต่คนไข้ไบโพล่าร์ หรือคนไข้โรคทางจิตเวช ซึ่งเกี่ยวกับสมดุลของสารเคมีตัวต่างๆในสมองนั้น รักษาให้หายได้ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ถ้าทุกคนในสังคมให้โอกาส


ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครจะเจ็บป่วย โดยเฉพาะป่วยทางสมอง ที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม แต่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้ง่ายพอที่จะเลือกได้ทุกเรื่อง และไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารักก็ได้ ที่จะต้องประสบกับโรคเหล่านี้



ขอเพียงความเข้าใจ ไบโพล่าร์

จาก... หมอมินบานเย็น และหมอมีฟ้า


อยากบอกว่า คนไข้ของหมอ มีจำนวนมากที่ทำงานที่เป็นวิชาชีพ ไม่ว่าสถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หมอ พยาบาล อาจารย์ ฯลฯ จบป.โท ป.เอก กันมากมาย หมอมั่นใจว่า ถ้าเดินสวนกัน ไม่มีทางรู้ว่าเขามีความไม่สบายบางอย่าง ... ซึ่งตรงนี้คงไม่ใช่ว่าคนวิชาชีพเหล่านั้น เครียดง่ายกว่าเลยป่วยมากกว่า แต่เพราะเขารู้ว่าตนเองเปลี่ยนไป และมองแบบวิทยาศาสตร์ จึงมาพบจิตแพทย์ : )”


17ต.ค 61    ข้อมูล :ฟซบุ๊คเพจ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

153
ไปเที่ยวหน้าหนาวทั้งที หอบเสื้อผ้า พร็อพต่างๆ แล้ว ก็อย่าลืมพกยารักษาโรคไปด้วยนะคะ เพราะหากเป็นอะไรที่ต่างที่ต่างถิ่น โดยเฉพาะหนีร้อนไปเพิ่งหนาวที่ต่างประเทศขึ้นมา จะหมดสนุกเสียเปล่าๆ Sanook! Health นำคำแนะนำดีๆ จาก พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง) มาฝากหนุ่มๆ สาวๆ ชีพจรลงเท้ากันค่ะ


1. ยาลดไข้/แก้ปวด

ใช้ในยามไข้ขึ้นหรือปวดศีรษะ แนะนำเป็น พาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ทานครั้งละ 1 เม็ด ทานซ้ำได้ทุก 6 ชม.



2. ยาแก้แพ้

เวลาไปเที่ยวที่ใหม่ๆ เรามักจะได้ลองอาหารแปลกๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้คันได้
แนะนำให้พกยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ซึ่งมีทั้งแบบไม่ง่วง (สำหรับคนส่วนใหญ่) เช่น Cetirizine หรือแบบง่วงเช่น Chlorpheniramine



3. ยาแก้เมารถ/เมาเรือ/เมาเครื่องบิน

แก้ได้สารพัดเมา ยกเว้นเมาเหล้า แนะนำเป็น Dimenhydrinate แต่ต้องระวังว่ายาตัวนี้จะทำให้ง่วงมากได้นะคะ



4. ยาทาแผล

ไว้ใช้เมื่อเกิดแผลเปิดที่ผิวหนัง รวมถึงบาดแผลรองเท้ากัดด้วย แนะนำเป็นยาทาปฏิชีวนะรูปแบบขี้ผึ้ง เช่น Mupirocin ointment


5. พลาสเตอร์ปิดแผล

เลือกแบบมีรูพรุนระบายอากาศควรพกไปหลายชิ้นเพราะต้องเปลี่ยนบ่อย ไม่ควรติดแผ่นเดียวนานๆ



6. ยาทาแก้ผื่นคัน

หากมีผื่นคันจากยุง,แมลงกัด อาจจำเป็นต้องใช้ยาทาเช่น Hydrocortisone ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์อ่อนๆ



7. เจลล้างมือ

การล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนทานข้าว จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษ และการติดเชื้อโรคอื่นๆได้มาก



8. ยาแต้มสิว

การนอนไม่พออาจส่งผลให้สิวอักเสบ(บวม แดง เจ็บ)ปูดได้ ควรพกยาแต้มสิวเช่น Erythromycin gel ไว้ทายามฉุกเฉิน



9. ยาประจำตัว

ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ควรพกยาประจำตัวไปให้เพียงพอ โดยควรบรรจุในหีบห่อตามที่ได้มา อย่าเพิ่งแกะเป็นเม็ดลงกระปุกเก็บยา เพื่อให้ไม่มีปัญหายามถูกตรวจค้น และควรขอใบรับรองแพทย์เป็นภาษาอังกฤษแนบไปด้วยทุกครั้ง





17 ต.ค. 61 sanook.com

154
สพฉ.ห่วงระบบแพทย์ฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ยังไม่ถูกระบุเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งกีฬา แนะผู้จัดต้องจัดระบบเตรียมพร้อมให้ได้มาตรฐาน คนเล่นต้องตรวจสุขภาพก่อนแข่ง มีโรคหรือไม่ เพื่อรู้ลิมิตตัวเอง ด้านสมาคมฟุตบอลฯ จี้ผลักดันเป็นวาระชาติ เน้นป้องกันบาดเจ็บและตายจากปัญหาหัวใจ


ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวในงานเสวนา “เล่นกีฬาปลอดภัย ห่างไกลการบาดเจ็บและเสียชีวิต ป้องกันได้อย่างไร” ว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นกีฬา มาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัย เช่น หักโหมเล่นกีฬามากเกินไป ขาดการตรวจสอบความพร้อมของร่างกายก่อนเล่น เช่น การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การวัดความดันโลหิต เรื่องนี้ ทำให้ สพฉ. เล็งเห็นถึงการเตรียมความพร้อม ป้องกันการเกิดเหตุ และตอบโต้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนี้เห็นได้ชัดว่า การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ช่วยชีวิตในสนามกีฬา หรือการจัดการแข่งขันกีฬา ยังไม่ถูกระบุให้เป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น จึงเห็นควรว่าต้องมีการจัดระบบที่ดี ที่สำคัญต้องสร้างความรู้ใหม่ รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันมากยิ่งขึ้น


ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพบ่อยครั้ง ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้น การดูแลตนเองให้มีความพร้อมก่อนออกกำลังกาย การจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ภาคสนามให้พร้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดย สพฉ. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับเบื้องต้น ขั้นสูง และเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินในกีฬาแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสม พร้อมเน้นย้ำการเตรียมความพร้อม เครื่อง AED เพราะจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้น


น.อ.(พิเศษ) ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการแพทย์ฉุกเฉินกับการกีฬา ควรต้องผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้รัฐสนับสนุนให้คนเล่นกีฬา โดยสามารถนำแผน Football Model มา ประยุกต์ใช้กับกีฬาประเภทอื่นๆ ได้ด้วย หลักๆ คือ เรื่องของการป้องกันการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากปัญหาเรื่องหัวใจ เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นนักฟุตบอลเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ ควรสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ทางแพทย์ เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกาย สอนเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บ การรักษาการบาดเจ็บ จะทำอย่างไรจึงจะกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิมได้เร็วที่สุด และที่สำคัญคือ ควรตรวจร่างกายนักกีฬาก่อนทำการแข่งขัน ส่วนกรณีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินก็ต้องมีมาตรการที่พร้อมจะรับมือ เช่น เข้าไปสนามแข่งทันที ไม่ต้องขอกรรมการ การจอดรถต้องไม่กีดขวางรถฉุกเฉิน และทีมต้องพร้อมเสมอ


นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาเคยมีประสบการณ์จัดกิจกรรมวิ่งมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะมีทีมแพทย์ดูแลทุกคนที่วิ่งตลอดเส้นทาง และคนวิ่งจะต้องอยู่ในสายตาของผู้จัดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซอกหลืบตรงไหน จะต้องมองเห็นผู้วิ่งทุกคน และเครื่อง AED ต้องไปถึงภายใน 4 นาที หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยที่มหาวิทยาลัยจะมีเครื่องติดตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ฯ มีนักศึกษาขี่จักรยานเข้าไปนำอุปกรณ์ และช่วยเหลือได้ง่าย สิ่งสำคัญที่จะป้องกันเหตุฉุกเฉิน คือ นักกีฬาควรดูแลตัวเองก่อน เช่น ต้องรู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือไม่ ต้องรู้จักลิมิตและความฟิตของตัวเอง ทำร่างกายให้เหมาะสมกับประเภทของกีฬา แต่งกายให้เหมาะสมกับการเล่นกีฬา ส่วนผู้จัดงานเองการต้องมีความพร้อม เตรียมทีมแพทย์ไว้ให้พร้อมจัดให้ได้มาตรฐาน เช่น การจัดงานวิ่งต้องมีน้ำเตรียมไว้เพียงพอ เพราะนักกีฬาวิ่งจะเสียเหงื่อมาก


นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันกีฬา ผู้จัดต้องมีการเตรียมการเรื่องการดูแลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง กกท.จะเน้นการเตรียมการของผู้จัดกีฬาเป็นพิเศษ เช่น การจัดกีฬาเยาวชนจะจัดในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อน ดังนั้น ต้องปรับเวลาให้พร้อมในการแข่งขัน หรือการวิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดวิ่งปีละ 600-700 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Sport Tourism ซึ่งก็ต้องเตรียมดูแลเรื่องการบาดเจ็บที่ฉุกเฉินด้วย โดยเราจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะได้รับความปลอดภัยในการเล่นกีฬาให้มากที่สุด


เผยแพร่:  17 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

155
คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. เปิดบริการ "ทำฟันฟรี" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ"


คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดบริการ "ทำฟันฟรี" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องใน "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" โดยจะดำเนินการตรวจสุขภาพช่องปาก อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ผู้ใหญ่ 1,000 ราย เด็ก 200 ราย ผ่าฟันคุด 50 ราย เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ต้องมีผู้ปกครองมาด้วย ผู้รับบริการผ่าฟันคุด อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีใบยินยอม และนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครองมาด้วย เปิดรับบัตรคิวเวลา 07.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าคิวจะเต็ม บริการตรวจเบื้องต้น เวลา 08.00 น.

17ต.ค61 sanook.com


ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลทันตกรรม โทรศัพท์ 0-7428-7620

156
หลายคนคงเคยประสบปัญหาเรียน ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ตกดึกก็อยากจะหลับให้เต็มอิ่มสักหน่อย แต่ไม่รู้ทำไมตอนกลางคืนหนังตากลับตึง ไม่ง่วงหนังตาหย่อนเหมือนตอนเช้าเลยล่ะ ขืนเป็นอย่างนี้นานวันเข้าจะเสียการเสียงาน เสียสุขภาพจิตเอานะ ถ้าอยากนอนหลับสบายเหมือนเดิม ตาม Sanook! Health มารับมือกับอาการนอนไม่หลับกันเถอะ

เมื่อไหร่จึงเรียกว่านอนไม่หลับ ?

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ต้องขออธิบายให้รู้ว่าการนอนไม่หลับนั้นไม่ใช่โรค แต่นับเป็นปัญหาการนอนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น โดยอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่ การทำงาน และความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นได้ ซึ่งหลายๆ คนก็อาจมีความรู้สึกเมื่อนอนไม่หลับได้หลายรูปแบบ เช่น นอนหลับยาก ต้องใช้เวลานานถึงจะหลับ , นอนหลับไม่สนิท , นอนหลับๆ ตื่นๆ , นอนเร็วกว่าปกติ , ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น เหมือนไม่ได้หลับ เมื่อเกิดอาการนี้มากๆ เข้า หลายคนก็หมกมุ่นอยู่กับอาการของตนจนไม่เป็นอันทำอะไร


ปัญหาการนอนไม่หลับนั้นแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ดังนี้ ..

    การนอนไม่หลับแบบชั่วคราว
    การนอนไม่หลับแบบเป็นๆ หายๆ
    การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง


การนอนไม่หลับส่งผลกระทบอย่างไร ?

    คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง
    อัตราของการขาดงานเพิ่มขึ้น
    ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
    ความสามารถในการดำเนินชีวิตลดลง
    อาจเกิดประสบอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งมีรายงานว่า หากขับรถ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.5 เท่า
    มีการใช้บริการทางแพทย์สูงขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา รู้สึกไม่สดชื่น หงุดหงิด ขาดสมาธิ เป็นต้น
    การนอนไม่หลับ ในผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคทางจิตเวช มีรายงานพบว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำอีก รวมถึงเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าด้วย


สาเหตุของการนอนไม่หลับ

    สาเหตุของการนอนไม่หลับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ (Psychologic Causes of Insomnia) จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่มักเกิดจากอาการที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องของจิตใจ อาทิ โรคเครียด โรคซึมเศร้า โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 70 จะมีอาการนอนไม่กลับเป็นอาการหลักๆ

      2. สาเหตุของการนอนไม่หลับที่มีปัจจัยที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดการนอนไม่หลับ (Precipitating Factors of Transient Insomnia) ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว อาทิ


        Adjustment Sleep Disorder เป็นภาวะนอนไม่หลับที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นที่เพิ่งเกิด เช่น ผลจากความเครียด , การเจ็บป่วย , การผ่าตัด , การสูญเสียของรัก , เรื่องงาน ซึ่งเมื่อใดที่สิ่งกระตุ้นเหล่านี้หาย อาการนอนไม่หลับจะกลับสู่สภาวะปกติ
        Jet Lag มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เดินทางบินข้ามเขตเวลา ทำให้ร่างกายต้องเปลี่ยนเวลานอนจนปรับตัวไม่ทัน เป็นเหตุให้นอนหลับยาก
        Working Conditions เป็นผลมาจากการที่ต้องเข้างานเป็นกะ ทำให้นาฬิกาชีวิตเสียไป จนทำให้ต้องนอนไม่เป็นเวลา
        Medications อาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการใช้ยา หรือเครื่องดื่ม เช่น ยาลดน้ำมูก , กาแฟ

       3. สาเหตุของการนอนไม่หลับที่เกิดจากโรค (Medical and Physical Conditions) ซึ่งบางโรคก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ อาทิ

        โรคบางโรคเมื่อขณะเกิดจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ เช่น โรคหอบหืด , โรคหัวใจวาย , โรคภูมิแพ้ , โรคสมองเสื่อม , โรคพาร์คินสัน , โรคคอพอกเป็นพิษ
        ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน Progesteron เมื่อฮอร์โมนตัวนี้สูงขึ้นก็จะทำให้ง่วงนอนในช่วงไข่ตก  แต่ในช่วงที่ประจำเดือนใกล้มาจะมีฮอร์โมนน้อย อาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับ อีกทั้งเมื่อคุณสาวๆ กำลังตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ และระยะใกล้คลอดก็จะมีอาการนอนไม่หลับเช่นกัน เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมถึงช่วงแรกของผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง ก็จะมีอาการนอนไม่หลับเช่นกัน
        การเปลี่ยนเวลานอน Delayed Sleep-Phase Syndrome ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ อาทิ เมื่อถึงเวลานอนแต่ไม่ได้นอน ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

        4. สาเหตุของการนอนไม่หลับที่เป็นปัจจัยเสริม (Perpetuating Factors) มีหลายภาวะที่เสริมส่งให้การนอนไม่หลับเกิดได้ง่ายมากขึ้น

        Psychophysiological Insomnia เกิดจากการนอนก่อนเวลาทำให้นอนไม่หลับ เรียกว่า Advanced sleep phase Syndrome ทำให้คนๆ นั้นพยายามที่จะต้องนอนให้หลับ กระสับกระส่าย พลิกตัวไปมา ไม่ผ่อนคลายจนเกิดการสะสมแล้วกลายเป็นความเครียด โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีลักษณะชีพจรเต้นเร็ว ตื่นง่าย อุณหภูมิร่างกายจะสูงกว่าปกติ

        นอนไม่หลับจากสารบางชนิด อาทิ สุรา กาแฟ ซึ่งการดื่มกาแฟ หรือสุราในช่วงกลางวันถึงกลางคืนอาจจะทำให้นอนไม่หลับ ถ้าไม่นับรวมว่าการดื่มสุราแค่เพียงจิบ หรือเพียงเล็กน้อยก่อนนอนจะช่วยลดความเครียด ทำให้นอนได้หลับดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากดื่มมากเกินไปก็จะทำให้หลับได้ไม่นาน ตื่นง่าย เมื่อถึงช่วงอดสุราก็จะมีปัญหาหลับยาก รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่จะนอนหลับประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงแล้วตื่น อันเนื่องมาจากมีระดับ Nicotin ที่ลดลง

        ระดับ Melatonin ลดลง ส่วนใหญ่ Melatonin จะมีมากในเด็กและลดลงในวัยผู้ใหญ่หลังช่วงอายุ 60 ปี มีส่วนให้เกิดอาการนอนหลับยาก
        ปัจจัยจากแสงก็มีส่วนให้เกิดอาการนอนหลับยาก จากความรู้เบื้องต้นว่าแสงจะกระตุ้นให้ร่างกายเราตื่น ถึงแม้ว่าจะหรี่แสงลงแล้วก็ตาม
        การนอนไม่หลับในวัยเด็ก พ่อแม่ให้เวลานอนลูกไม่สม่ำเสมอจะทำให้เด็กนอนไม่หลับในตอนโต
        การออกกำลังกายในช่วงก่อนนอนและการทำงานที่ทำให้เกิดความเครียดในช่วงก่อนนอน
        การนอนและการตื่นที่ไม่เป็นเวลา
        สิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนไม่เหมาะสม เช่น มีอุณหภูมิที่ร้อน หรือหนาวจนเกินไป เสียงดังเกินไป รวมถึงลักษณะการนอนของคนใกล้ชิด อย่าง นอนดิ้น หรือนอนกรน เป็นต้น


8 วิธีแก้อาการนอนไม่หลับ :

1. จัดห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอน เช็ครอบห้องให้ดี อย่าให้มีเสียงรบกวนแทรกเข้ามาได้ ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสมไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป สำคัญเลยคือ ห้องนอนควรมืดสนิท เพื่อการนอนหลับที่ดี มีประสิทธิภาพ

2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หลังช่วงบ่ายจนถึงช่วงก่อนนอน

3. ก่อนนอน ดื่มนมอุ่นๆ สักแก้ว จะช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น

4. ไม่ควรงีบหลับในตอนกลางวัน เพราะอาจรบกวนการนอนในยามค่ำคืนได้  ถ้าง่วงจนทนไม่ไหวจริงๆ ก็อย่างีบหลับเกิน 1 ชั่วโมงเป็นอันขาด

5. นอนให้เพียงพอ อย่านอนมากเกินไป หลังตื่นนอนควรลุกออกจากเตียง แล้วเดินไปสูดอากาศยามเช้าซะดีกว่า

6. เข้านอน และตื่นนอนให้เป็นเวลา ทำให้ติดเป็นนิสัย ไม่ใช่ว่าคืนนี้นอนดึก พรุ่งนี้ขอตื่นสายสักนิดได้ไหม? ตอบเลยว่า ไม่ได้ ไม่งั้นอาจจะกระทบกับเวลานอน ทำให้อาการนอนไม่หลับกลับมาอีก

7. ถ้านอนไม่หลับเกิน 15-20  นาที ควรลุกออกจากเตียงมาหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือวิชาการหรือธรรมมะ น่าจะช่วยให้รู้สึกง่วงได้ไม่น้อย  หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือเล่นคอมพิวเตอร์ เพราะแสงจากจอ จะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวได้

8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-45 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายจะช่วยลดความตึงเครียดทางอารมณ์และร่างกายได้ หากออกกำลังกายในช่วงเช้า และเย็นได้ผลดีที่สุด ไม่ควรออกกำลังกายตอนดึก หรือใกล้เวลานอน เพราะอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นและไปกระตุ้นสมองให้ทำงาน จะทำให้เราหลับยากกว่าเดิม

 

ง่ายใช่ไหมล่ะ ไม่จำเป็นต้องซื้ออะไร หรือขอความช่วยเหลือจากใคร แค่เปลี่ยนที่ตัวเราเองเท่านั้น รู้แบบนี้แล้วใครกำลังเจอกับปัญหาการนอนไม่หลับ อย่าลืมนำไปใช้และบอกต่อกันด้วยนะ ทวงคืนความสุขในการนอนของเรากลับมากันเถอะ


17ต.ค.61 โดย sanook.com

157
ผอ.โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา แถลงขอโทษสังคม จัดงานเดิน-วิ่งโดนวิจารณ์อย่างหนัก เพราะความไม่พร้อม แจงเพราะทีมงานเป็นอาสาท้องถิ่น จึงขาดความเป็นมืออาชีพ

จากกรณีกะะแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรม “เดิน-วิ่งการกุศล ชลบุรี มาราธอน 2018” เพื่อระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้กับ “อาคารวิจัยทางการแพทย์ ” ซึ่งเป็นอาคารศูนย์กลางการวิจัยและรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ที่มีแผนจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2562


โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าว ถูกจัดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ได้เกิดข้อผิดพลาดมากมายจนทำให้นักวิ่งที่มีจำนวนมากถึง 14,000 คน แห่แชร์ภาพความไม่ประทับใจในความไม่พร้อมของการจัดงาน รวมทั้งการขาดแคลนน้ำให้บริการแก่นักกีฬา ทำให้เกือบมีภาวะขาดน้ำ กลายเป็นกระแสเกิดขึ้นนั้น


>> ผู้ว่าฯ ชลบุรีขอโทษดราม่างานวิ่งการกุศล แต่ขาดน้ำดื่มบริการนักวิ่ง


ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (15 ต.ค.) นายแพทย์สุริยา โปร่งน้ำใจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกมากล่าวแสดงความเสียใจผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยังกล่าวขอโทษนักกีฬาที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทำให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชายหาดบางแสนมีผู้คนล้นทะลักและรถติดอย่างหนัก


นายแพทย์สุริยา กล่าวว่า ในฐานะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นปลายทางของการจัดกิจกรรม จำเป็นต้องออกมาขออภัยแทนคณะผู้จัดงานซึ่งเป็นทีมงานท้องถิ่นที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น โดยมีเป้าหมายเดียวกันกับนักวิ่งและผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการระดมทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนให้กับโรงพยาบาล


แต่เนื่องจากจำนวนนักวิ่งที่มีมากถึง 14,000 คน และทีมผู้จัดซึ่งล้วนแต่เป็นทีมงานท้องถิ่น ไม่ได้ว่าจ้างผู้จัดงานมืออาชีพเพื่อเข้ามาช่วยดูแลความเรียบร้อย เพราะต้องการให้เหลือปัจจัยสำหรับมอบให้กับโรงพยาบาลมากที่สุด จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นมากมาย


ทางเราเป็นปลายทางในการรับน้ำใจ ในครั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมงานการกุศลและร่วมทำบุญกับโรงพยาบาลฯ ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่อยากให้ทุกคนมองไปในเรื่องเจตนาที่ไม่ดี แต่อาจเป็นเพราะจำนวนนักวิ่งที่มีมากจนเกินความสามารถในการดูแลของผู้จัดงานจึงเกิดปัญหาขึ้น


อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เชื่อว่าทีมผู้จัดงานจะเข้ามาสรุปถึงข้อปัญหาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะมอบให้กับโรงพยาบาล เพราะเราเองก็ยังต้องจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนต่อไป แต่สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งหน้าก็จะต้องมีความละเอียดและรอบคอบในการคัดเลือกผู้จัดงานให้มีความพร้อมในการทำกิจกรรมที่สามารถดูแลผู้ที่เข้าร่วมงาน เพราะการทำบุญคือความสบายใจ ผู้ทำบุญก็ต้องได้รับความสุขด้วย


ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กิจกรรม “เดิน-วิ่งการกุศล ชลบุรี มาราธอน 2018” เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ชมรมเดิน-วิ่ง สวนหลวง ร.๙ ชลบุรี, สโมรสรไลออนส์ ชลบุรี บางแสน และสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานและยอดเงินที่จะมอบให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา โดยเชื่อว่าคณะผู้จัดงานจะออกมาแถลงข่าวในเร็วๆ นี้

15 ต.ค 61 โดย sanook.com

158
ร.ต.อ.ควบกระบะเสียหลักข้ามเลน พุ่งชนรถรีเฟอร์ รพ.ประโคนชัย พลิกคว่ำตกข้างทาง พยาบาลสาวดับ 1 ราย สาวท้องแก่ พร้อมญาติ และคนขับบาดเจ็บรวม 5 ราย


วันนี้ (16 ต.ค. 61) เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนด์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งทราบว่ามีนายตำรวจยศ ร.ต.อ.สถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ เป็นคนขับ ได้เสียหลักข้ามเลนพุ่งชนประสานงากับรถพยาบาลของ โรงพยาบาลประโคนชัย บนถนนสายบุรีรัมย์ – ประโคนชัย ช่วงระหว่างบ้านไทร-ไพบูลย์ ต.บ้านไทร อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ จนรถพยาบาลคันดังกล่าวพลิกคว่ำตกลงไปข้างทางในสภาพพังเสียหายยับเยินเกือบทั้งคัน  อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กระจายเกลื่อน  เป็นเหตุให้ทั้งพยาบาลที่นั่งมาในรถรีเฟอร์คันดังกล่าว รวมถึงสาวท้องแก่  ญาติ และคนขับรถ ได้รับบาดเจ็บ รวมจำนวน 6 คน


โดยมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร และกู้ชีพ อบต.บ้านไทร ได้ลำเลียงส่งโรงพยาบาลประโคนชัย เพื่อให้แพทย์ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้ผู้บาดเจ็บมีพยาบาลสาว ทราบชื่อนางสาวสุดารัตน์ เชื่อมาก อายุ25ปี พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เขาคอก สสอ.ประโคนชัย อาการสาหัสไม่ได้สติ เจ้าหน้าที่จึงทำการปั้มหัวใจเพื่อช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ สุดท้ายพยาบาลสาวคนดังกล่าวเสียชีวิตในที่สุด ถือเป็นการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่


ส่วนสาวท้องแก่ถูกส่งไปรักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4 คน ยังรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลประโคนชัย ส่วนรถกระบะที่มี ร.ต.อ.เป็นคนขับ ด้านหน้าก็มีสภาพพังเสียหายยุบเข้าไปถึงเกือบถึงคอนโซนหน้ารถ แต่คนขับได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย


>> ยืนยันทำคดีตรงไปตรงมา หลังพยาบาลสาวถูกกระบะตำรวจพุ่งชนดับ


เบื้องต้นจากการสอบถามทราบว่า รถรีเฟอร์หรือรถพยาบาลคันดังกล่าวได้ลำเลียงสาวท้องแก่ใกล้คลอดมาจาก โรงพยาบาลประโคนชัย เพื่อจะส่งไปทำคลอดที่ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โดยมีญาติ และเจ้าหน้าที่พยาบาลนั่งในรถคันดังกล่าวด้วยรวม 6 คน แต่ระหว่างทางได้มีรถกระบะวิ่งสวนทาง และข้ามเลนพุ่งเข้ามาชนจนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันพังยับเยิน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายรายดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนก็จะได้ทำการสอบปากคำคู่กรณีทั้งสองฝ่าย และสอบปากคำพยานแวดล้อมที่เห็นเหตุการณ์  รวมถึงตรวจสอบกล้องหน้ารถเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริงอีกครั้ง

เผยแพร่ 16 ต.ค 61 โดย sanook.com

159
พญ.ชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี


ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง

การศึกษาทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด Framingham Heart Study พบอุบัติการณ์ของภาวะนี้ในคนทั่วไป 3% และในผู้สูงอายุพบมากถึง 23% สำหรับผู้ที่เคยมีอาการวูบหมดสติมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกถึง 1 ใน 3 เท่า


สาเหตุของภาวะวูบหมดสติ

โดยส่วนใหญ่เกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ (Vasovagal Syncope) นอกจากนั้นอาจเกิดจากภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือเสียน้ำมาก และจากยาบางชนิด

ทั้งนี้ อาการวูบหมดสติ ที่เกิดจากการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติชั่วคราว อาจถูกกระตุ้นในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การขับปัสสาวะ การขับถ่ายอุจจาระ การกลืนอาหาร การไอ จาม ภาวะกลัวสถานการณ์ต่างๆ เช่น การถูกเจาะเลือด และการฉีดยา เป็นต้น



อันตรายจากภาวะวูบหมดสติ

ผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติ มีโอกาสเกิดอันตรายจากการหมดสติแล้วล้มลง โดยเฉพาะบางอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถ นักบิน นักประดาน้ำ คนงานก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำเติมจากการเป็นลมได้



รับมือกับภาวะวูบหมดสติ

เมื่อพบผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้รีบช่วยเหลือด้วยการพานั่ง หรือนอนราบ ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และรีบขอความช่วยเหลือเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลต่อไป เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และการรักษาให้ตรงกับสาเหตุที่ก่อโรค โดยแพทย์จะตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น ตรวจพิเศษทางระบบหัวใจหลอดเลือด และตรวจพิเศษทางระบบประสาทอัตโนมัติ


ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ แข็งแรง โดยรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน ถือเป็นแนวทางพื้นฐานสำคัญ ที่ช่วยป้องกันภาวะวูบหมดสติได้เป็นอย่างดี



เผยแพร่:15 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

160
อย.ชี้ บริจาคนมแม่ ควรทำผ่านธนาคารนมแม่ มีอยู่ 2 แห่งในไทย คือ ศิริราช และ รามาธิบดี ผ่านระบบฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของลูก ย้ำ เด็กได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาค ถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมาย เตือนอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนม


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การบริจาคนมแม่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดื่มนมแม่ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวน้อย และทารกที่มีปัญหาการเจ็บป่วย ซึ่งแม่มีปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะของธนาคารนมแม่ ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารนมแม่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารนมแม่ศิริราช และธนาคารนมแม่รามาธิบดี ดำเนินการภายใต้ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งได้นำมาตรฐานของคลินิกนมแม่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาจัดทำหลักเกณฑ์และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย สำหรับคุณแม่ที่จะบริจาคน้ำนมจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ว่า ไม่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค เมื่อพบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะจ่ายให้เด็กทารก ในโรงพยาบาลต่อไป


ทั้งนี้ การบริจาคน้ำนมแม่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายจึงไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่อย่างไรก็ตาม อย. มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัย หากพบมีเด็กได้รับอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาคจะถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมายกรณีผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


“การส่งเสริมการดื่มนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากนมแม่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูง สำหรับเด็กปกติสนับสนุนให้เด็กกินนมแม่ตนเอง หากจำเป็นต้องได้รับการบริจาคนมแม่จะต้องได้รับผ่านธนาคารนมแม่ที่มีกระบวนการคัดกรองโรคและฆ่าเชื้อนมที่มีมาตรฐาน เนื่องจากเด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ ส่วนคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมน้อย หรือมีปัญหาเรื่องการให้นมแม่ สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกนมแม่ ที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเพิ่มน้ำนมมารับประทานเอง เนื่องจากสตรีมีครรภ์และแม่ที่อยู่ในช่วงการให้นมลูกถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องมีความตระหนักและระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหาร เนื่องจากอาหารทุกชนิดที่แม่รับประทานจะมีผลโดยตรงต่อทารกด้วย หากมีความประสงค์จะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการบริโภค และขอย้ำว่า อย. ไม่เคยอนุญาตการกล่าวอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวว่า สามารถช่วยเพิ่มน้ำนมได้” เลขาธิการ อย. กล่าว


เผยแพร่:  16 ต.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

161
รพ.จุฬาฯ เปิดตัวคู่มือ “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คู่มือการดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ให้ความรู้ 4 ด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสรีระ ปัญหาของผู้สูงวัยและการดูแล โรคเฉพาะของคนแก่ และการดูแลจิตวิญญาณมีส่วนร่วมกับชุมชน


วันนี้ (12 ต.ค.) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดงานเสวนาเปิด “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คัมภีร์การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแบบครบวงจร และมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงวัย รวมถึงกิจกรรมการแสดงของกลุ่มผู้สูงวัยภายในงาน ณ อาคาร ส.ธ.


ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้การบริการทางการแพทย์ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน ผู้สูงอายุต้องการบริการและการดูแลมากขึ้น ขณะที่ต้องเตรียมผู้สูงอายุให้มีบทบาทสำคัญในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษามากขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและประเมินด้านสุขภาวะของผู้สูงวัยที่ต้องมุ่งเน้นการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมผู้สูงวัยทุกด้าน เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกคนได้ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีคุณภาพ


โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานด้านสุขภาพของผู้สูงวัย ได้ มีการจัดตั้ง “กองทุน ส.ธ. เพื่อผู้สูงวัย” และจัดสร้าง “อาคาร ส.ธ.” เพื่อเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านผู้สูงวัยแบบบูรณาการครบวงจร และเป็นต้นแบบของสังคมไทยในการดูแลผู้สูงวัย จนนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมศักดิ์ศรี เพื่อลดการพึ่งพิงผู้อื่น


กิจกรรมโดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ เน้นการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงวัยในทุกๆ ด้าน และการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในผู้สูงวัย เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรมบุคลากร ในการนี้ได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยจัดทำเป็น “ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย” คู่มือการดูแลผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถนำมาใช้อ้างอิงในการดูแลผู้ป่วยตลอดจนการทำวิจัยด้านผู้สูงวัย นอกจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวผู้สูงวัยในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง รวมถึงผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย นับว่าเป็นคู่มือในการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การดูแลรักษา และฟื้นฟูภาวะต่างๆ ของผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตในวัยชราอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยจะมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประเด็นคำถามในเกือบทุกวงการในประเทศไทย สังคมไทยในอนาคตควรจะมีแนวทาง มาตรการหรือนโยบายอย่างไรในการปรับเปลี่ยนรองรับจำนวนผู้สูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงวัยในประเทศไทย นอกจากไม่เป็นภาระต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสามารถเป็นกำลังสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าในประเทศไทย


ประเด็นสำคัญที่สุดซึ่งเป็นรากฐานสำหรับสังคมผ้สูงวัยในอนาคตของประเทศไทยคือ ประเด็นด้านสุขภาพ การแพทย์และการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขควรร่วมกันสร้างแนวทางการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย และร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยไทย แนวความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจัดทำ ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โดยคาดว่า ตำราเวชศาสตร์สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะช่วยสนับสนุนและเป็นเครื่องมือให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง เรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยไทย และสามารถต่อยอดความรู้โดยการสร้างงานวิจัยด้านผู้สูงวัยต่อไป


ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงวัย ประกอบด้วยองค์ความรู้ผู้สูงวัย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นองค์ความรู้ความเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของผู้สูงวัย ส่วนที่ 2 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาผู้สูงวัย และแนวทางการดูแลแก้ไข ส่วนที่ 3 เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคหรือภาวะเฉพาะของระบบต่างๆ ที่เป็นปัญหาของผู้สูงวัย และส่วนที่ 4 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยด้านจิตวิญญาณและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เป็นต้น


นอกจากการจัดทำตาราเวชศาสตร์เพื่อผู้สูงวัยแล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุยังคงมุ่งเน้นตามพันธกิจที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงวัยสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงวัยต่อผู้อื่น มีการจัดตั้ง คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี เพื่อสร้างเสริมการดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงวัยตั้งแต่เริ่มต้น ให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


นพ.ไอศวรรย์ เพชรล่อเหลียน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงวัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึงอายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับโรคประจำตัวต่างๆ โดยเฉพาะโรคกลุ่ม NCD เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ซี่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงภาวะสมองเสื่อม กุญแจสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคกลุ่มนี้ คือ การปรับวิถีชีวิตให้มีความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ด้วยการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร การดูแลอารมณ์ การพักผ่อน และการพบปะสังสรรค์เข้าสังคม ความท้าทายคือทำอย่างไร จึงจะผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ เข้ากับศิลปะในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบุคคลได้


นพ.ภรเอก มนัสวานิช อาจารย์ประจำฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย กล่าวถึงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับวัยสูงอายุ ควรเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย ควบคุมโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรค การฝึกสมอง และการเข้าสังคม


เผยแพร่: 12 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

162
ศิริราช ขอรับบริจาคเลือดกรุ๊ปเอ เผย ขาดแคลนระดับวิกฤต


เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.วิโรจน์ จงกลวัฒนา หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ต้องใช้เลือดในการรักษา ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนเลือดสำรองหมู่ เอ ในระดับวิกฤต


ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป ร่วมบริจาคเลือดเพื่อให้มีเลือดเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วย โดยที่ไม่ต้องขอรับจากสภากาชาดไทยที่ต้องกระจายเลือด ให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคเลือดได้ที่ ตึก 72 ปี วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาเวชศาสตร์ การธนาคารเลือด 0 2419 7492, 0 2419 8081 ต่อ 123, 128


สำหรับผู้ที่ต้องการมาบริจาคเลือดขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม โดยพักผ่อนให้เพียงพออย่าง น้อย 6 ชั่วโมง น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป เพื่อที่จะนำเลือดมาปั่นแยกเอาผลิตภัณฑ์ไปใช้อย่างอื่นร่วมด้วย และต้องไม่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่มีไขมันสูง งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์




 6 ต.ค. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

163
สสส.- เครือข่ายลดเค็ม เผยผลสำรวจเมนูเจยอดฮิต “พะโล้- จับฉ่าย-ขนมจีนน้ำยากะทิ” พบโซเดียมสูงสุด คนไทยกินเค็มเกินค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า ผู้ป่วย 2 ล้านคน/ปี แนะ 3 กินเจแบบได้บุญ ได้สุขภาพ “เลือกกินผักสด-ลดเค็มเลี่ยงอาหารแปรรูป-ลดมัน ลดแป้ง”


วันนี้ (10 ต.ค.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “เจนี้ ลดเค็ม ได้บุญ ได้สุขภาพ” โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะกินเจ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจมาจากการซื้อจากร้านอาหารเพื่อความสะดวก โดยการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเจจะพิจารณาจากรสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารเป็นอันดับแรก


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มจึงทำการสุ่มตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยม บนถนนสายเศรษฐกิจ 3 แหล่งใน กทม. ได้แก่ เยาวราช อ.ต.ก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผัดกะเพรา แกงส้ม ผัดผัก ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และ ผัดขิง พบว่า ทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ โดยในแต่ละมื้อไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม ซึ่งเมนูที่มีโซเดียมสูงสุด คือ พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,092.44 มิลลิกรัม/200 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อเกือบ 2 เท่า ตามด้วยอันดับ 2 ต้มจับฉ่าย (1,055.11 มิลลิกรัม/200 กรัม) และอันดับ 3 ขนมจีนน้ำยากะทิ (1,037.33 มิลลิกรัม/200 กรัม) นอกจากนี้ ยังพบอาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี้ยวหรือดองเป็นเวลานาน จะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็ม เพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด


“ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยพบว่าปริมาณโซเดียมที่คนไทยกินเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน ที่เกิดจากพฤติกรรมกินเค็ม เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ สสส.จึงอยากชวนคนไทยในช่วงเทศกาลกินเจนอกจากถือศีลละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อยากชวนให้ร่างกายได้พักไตด้วยการลดเค็มในเมนูเจ ซึ่งมี 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดี คือ 1. เลือกทานผักสด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าโดยต้องล้างผักให้สะอาด 2. ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูปหรือการทานน้ำซุป เพราะมีเกลือสูง 3. หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง หลายคนกินเจแล้วน้ำหนักเพิ่ม เพราะในเมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืชซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว


นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ประธานสถานศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ได้สาธิตการทำอาหารเจ อร่อยได้ ไม่ต้องเค็ม ในเมนู “หูฉลามเจ” พร้อมกับข้อแนะนำการปรุงอาหารเจให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ



 10 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

164
ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ สปสช.หนุนงบตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องดี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและอัตราเสียชีวิต ชวนคนอายุ 50-70 ปี ตรวจคัดกรองได้ที่ รพ.สต.- รพ.ใกล้บ้าน ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย


นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็น เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่” ตอนหนึ่งว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 3 ประเภทมะเร็งที่ผลการศึกษา ระบุว่า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากทำการคัดกรองในระดับประชากร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้งบสนับสนุนการคัดกรองดังกล่าวในประชากรอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ยังมีความหลากหลายในเรื่องระบบบริการ แต่โดยภาพรวมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก โดยการคัดกรองดังกล่าวทำโดยวิธีการตรวจอุจจาระ หากพบเซลล์เม็ดเลือดแดงแพทย์ก็จะส่องกล้องตรวจให้ฟรี ซึ่งการคัดกรองจะช่วยให้พบผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรกเริ่มและสามารถรักษาให้หายขาดได้


นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย โดยมักพบโรคในผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50-70 ปี แต่ครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งดังกล่าว ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงส่วนหนึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาหารฟาสต์ฟูด ที่สำคัญคือ การตรวจคัดกรองตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งทุกวันนี้ สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนอายุ 50-70 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการตรวจเลือดที่แฝงอยู่ในอุจจาระได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ


นพ.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า การตรวจคัดกรองมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากมะเร็งปากมดลูกที่เคยมีสถิติผู้ป่วยสูงที่สุด เมื่อมีการให้สิทธิประโยชน์คัดกรอง ก็ทำให้ตัวเลขลดลงมาอยู่ในลำดับที่สอง ซึ่งการรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งทำให้ประชาชนให้ความสำคัญและเข้ามาตรวจเพิ่มมากขึ้น ส่วนมะเร็งบางประเภท อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งปอด แม้ว่าจะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรอง แต่จากผลการศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หากทุกวันนี้ไม่มีนโยบายคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ อย่างจริงจัง จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ราวๆ 2 หมื่นราย ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นด้วยเช่นกัน


 8 ต.ค. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

165
อินทผลัม (หรือที่มักชอบเขียนกันผิดเป็น อินทผาลัม) ถึงแม้จะมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่ในปริมาณสูง แต่ผลไม้รสหวานอร่อยชนิดนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ลองอ่านรายละเอียดพวกนี้ดูนะ แล้วคุณจะรู้ว่าอินทผลัมเป็นผลไม้ที่ชวนกินจริงๆ
ข้อมูลทางโภชนาการ



อินทผลัมหนึ่งลูกจะมีสารอาหารดังต่อไปนี้

     แคลอรี่: 20

    ไขมันรวม: 0.03 กรัม

    คาร์โบไฮเดรทรวม: 5.33 กรัม

    ใยอาหาร: 0.6 กรัม

    น้ำตาล: 4.5 กรัม

    โปรตีน: 0.17 กรัม

    วิตามินบี 6: 0.012 มิลลิกรัม

    ธาตุเหล็ก: 0.07 มิลลิกรัม

    แมกเนเซี่ยม: 3 มิลลิกรัม

    โปตัสเซี่ยม: 47 มิลลิกรัม


 
ประโยชน์ของอินทผลัม


นอกเหนือจากรสชาติอร่อยแล้ว อินทผลัมยังอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ มากมาย แถมยังมีประโยชน์อีกมากมาย

 
มีกากใยสูง

อินทผลัมจะช่วยเพิ่มปริมาณกากใยในอาหารได้มากขึ้น เนื่องจากอินทผาลัม 3.5 ออนซ์ มีปริมาณกากใยอยู่เกือบ 7 กรัม ซึ่งกากใยอาหารนั้นใครๆ ก็รู้กันดีว่ามีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ โดยผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้คนจำนวน 21 คน กินอินทผลัมวันละ 7 ลูก เป็นเวลา 21 วัน จะช่วยให้ถ่ายอุจจาระถี่ขึ้น และช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ไม่ได้กินอินทผาลัม นอกจากนี้กากใยในอินทผลัมจะทำให้การย่อยอาหารทำงานช้าลง และช่วยป้องกันน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้

 
อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ


อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ด้วย สารต่อต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนั้นเป็นโมเลกุลที่ไม่มีความคงที่ ที่อาจก่อให้เกิดปฎิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และก่อให้เกิดโรคได้


อินทผลัมมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังอยู่สามชนิด ซึ่งก็ได้แก่


    ฟลาโวนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้จะช่วยลดอาการอักเสบ และมีการทำศึกษาวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรงเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็งบางชนิด


    แคโรทีนอยด์ สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพแข็งแรง และอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา อย่างเช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม


    กรดฟีโนลิค สารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้มีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านอาการอักเสบ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจด้วย

 
ช่วยทำให้สมองแข็งแรง


การศึกษาวิจัยในห้องทดลองพบว่าอินทผลัมช่วยลดสารอินเตอร์ลิวคิน 6 (Interleukin 6 หรือIL-6) ในสมอง ซึ่งถ้าเรามีสารชนิดนี้มากเกินไป ก็จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้การทดลองในสัตว์ยังพบว่า อินทผลัมช่วยลดการก่อตัวของโปรตีนบีตา-แอมีลอยด์ (Beta-amyloid) ที่จะทำให้เกิดเป็นคราบสะสมขึ้นในสมอง ซึ่งจะเป็นการรบกวนการสื่อสารระหว่างสมองกับเซลล์ต่างๆ นำไปสู่การตายของเซลล์สมอง และทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาได้

 
ช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น


การกินผลไม้ในช่วงสองสามสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะช่วยขยายปากมดลูก ซึ่งจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยลดเวลาในการเบ่งคลอดลงด้วย โดยการศึกษาวิจัยที่ทำกับผู้หญิงจำนวน 69 คน ที่กินอินทผลัมวันละ 6 ลูก เป็นเวลา 4 สัปดาห์ก่อนถึงวันครบกำหนดคลอด จะช่วยทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาในการคลอดน้อยกว่าด้วย ซึ่งเป็นเพราะอินทผลัมมีสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนออกซิโทซินในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้มดลูกเกิดอาการบีบรัดตัวได้ง่ายขึ้น


ประโยชน์ทางด้านสุขภาพอื่นๆ



ว่ากันว่าอินทผลัมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างอื่นด้วย ถึงแม้จะยังไม่มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ตาม ซึ่งประโยชน์พวกนั้นก็ได้แก่…


    ช่วยให้กระดูกแข็งแรง อินทผลัมมีแร่ธาตุหลายชนิด ร่วมทั้งฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม และแมกเนเซียม ซึ่งแร่ธาตุพวกนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้

    ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อินทผลัมมีดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

 
ข้อควรระวังของอินทผลัม


เนื่องจากอินทผลัมมีน้ำตาลอยู่ในปริมาณสูง ฉะนั้น คนที่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน ควรจะต้องระวังการกินอินทผลัมเอาไว้หน่อย แต่ถ้าเรากินอันทผลัมในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องโรคเบาหวานอยู่ก็ตาม


29 ส.ค 61       ขอขอบคุณ ข้อมูล :ออมสิน แสนล้อม

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 20