แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 477 478 [479] 480 481 ... 651
7171
กลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่าที่ฟุ้งกระจายบริเวณตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อช่วง 2 วันที่ผ่านมา เกิดจากซากปลาตายหรือปฏิกิริยาเคมีของสาหร่ายในทะเลสาบแห่งหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาณเตือนแผ่นดินไหวอย่างที่หลายคนหวาดเกรง ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เผยวานนี้ (11)
       
       วันจันทร์ที่ผ่านมา (10) ทางการแคลิฟอร์เนียได้รับแจ้งจากประชาชนหลายร้อยคนที่ได้กลิ่นเหม็นคล้ายกำมะถันฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 150 ไมล์ ซึ่งก่อให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดในโลกอินเทอร์เน็ตว่า กลิ่นดังกล่าวอาจเกิดจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ และเป็นสัญญาณเตือนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
       
       อย่างไรก็ตาม สำนักงานจัดการคุณภาพอากาศประจำชายฝั่งตอนใต้ (South Coast Air Quality Management District) ยืนยันว่า ต้นตอของกลิ่นเหม็นมาจากทะเลสาบ ซอลตัน ซี ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากเมืองซานดิเอโกไปทางตะวันออกราว 2 ชั่วโมงรถยนต์
       
       “เราพบหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า ทะเลสาบซอลตัน ซี คือที่มาของกลิ่นเหม็นที่แพร่กระจายไปทั่ว” แบร์รี วอลเลอร์สไตน์ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน กล่าว
       
       เขาอธิบายว่า ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ “ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุดังเช่นที่เกิดในทะเลสาบซอลตันซี มีกลิ่นไม่ต่างจากไข่เน่าเลย”
       
       ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานแห่งนี้เชื่อว่า “กระแสลมคงจะทำให้น้ำก้นทะเลสาบซึ่งเต็มไปด้วยแบคทีเรียและมีกลิ่นเหม็น ลอยขึ้นมาด้านบน”
       
       “แม้ระดับความเข้มข้นของไฮโดรเจนซัลไฟด์ในทะเลสาบซอลตันซีจะสูงผิดปกติ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพของมนุษย์”
       
       ปรากฎการณ์แผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงนี้ หลังจากที่เกิด “แผ่นดินไหวกลุ่ม” ขนาดกลางเขย่าตอนใต้ของรัฐหลายร้อยระลอกเมื่อปลายเดือนสิงหาคม โดยมีจุดศูนย์กลางที่เบเวอร์ลีฮิลล์ถึง 2 ครั้ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

7172
  รองปลัด สธ.ชี้ 3 กองทุนสุขภาพอยู่ในภาวะบีบ ต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด ต้องประเมินอีกระยะว่าจะกระทบโรงพยาบาลหรือไม่ แนะ สธ.จัดสรรงบแบบเหมาเข่ง เริ่มจากงบฯส่งเสริมป้องกันโรค ด้าน สปสช.-สปส.ประสานเสียงไม่รวมกองทุนแน่ แค่พัฒนาให้กลมกลืน
       
       วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 วันที่ 12-14 กันยายน นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “กองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน : สิทธิต่างๆ โอกาสรวม/ปัญหาอุปสรรค” ว่า วันนี้กองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการอยู่ในภาวะบีบทั้งหมด คือ พยายามใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดกับกองทุน ไม่ต้องการให้นำเงินที่เหลือจากกองทุนตนเองไปใช้โปะให้กับอีกกองทุนหนึ่ง อย่างเช่น สวัสดิการข้าราชการจากการเบิกจ่ายตามจริงกรณีผู้ป่วยในเปลี่ยนเป็นการจ่ายตามการวินิจฉัยโรคร่วม หรือ ดีอาร์จี (DRG)
       
       “ถามว่า กระทบกับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลหรือไม่ อาจจำเป็นต้องบันทึกผลไประยะหนึ่งก่อนจึงจะสามารถระบุผลที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการต้องใช้จ่ายเงินด้วยความระมัดระวังมากขึ้นให้เกิดผลคุ้มค่าที่สุด รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยต้องมีการปรับลด เช่น การใช้ยาต้องสมเหตุสมผล ค่าแรงต้องมีความเหมาะสม หากใช้จ่ายด้วยความสมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี และการเบิกชดเชยค่าบริการสมเหตุสมผลแล้ว ถ้ายังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินต้องมาปรับและเคลียร์กัน” นพ.สมชัย กล่าว
       
       นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า งบเหมาจ่ายรายหัวที่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลได้รับจากกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคมไม่ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% แต่จะมีการหักกันเงินไว้ก่อน อย่าง กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะหักไว้ 25% เป็นเงินเดือนข้าราชการ สธ.อีก 75% ที่เหลือไม่ได้จ่ายลงมาให้หน่วยบริการทั้งหมด แต่จะจ่ายมาให้เพียงส่วนหนึ่งที่เหลือจะใช้ระบบทยอยจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่ยุ่งยากก่อให้เกิดเงินคงค้างอยู่ส่วนกลาง หรือเรียกว่า เงินค้างท่อถึง 1-2 ปี ส่วนตัวจึงเห็นว่าหากเป็นไปได้ควรจ่ายให้ สธ.แบบเหมาเข่งทั้งหมดแล้วมาบริหารจัดการเอง แต่ต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่าเงินที่สธ.ได้รับจัดสรรมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นนำไปทำอะไรบ้าง
       
       นพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นเห็นว่า ส่วนที่จะมอบให้สธ.บริหารจัดการเองได้แบบเต็มๆ คือ ในส่วนของงบส่งเสริมป้องกันโรค ที่ไม่ควรจัดสรรให้แบบรายปีต่อปี เพราะการส่งเสริมป้องกันโรคไม่สามารถประเมินผลได้แบบรายปี ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนิน จึงควรจัดสรรงบให้สธ.เป็นราย 4 ปีโดย สธ.ทำแผนงานชัดเจน อีกทั้งเงินในส่วนนี้แม้ในการของบประมาณของ สปสช.จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลในอัตราประชากร 48 ล้านคน แต่เงินส่วนนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนำมาใช้ต้องใช้เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคคนทั้งประเทศคือ 60 ล้านคน ไม่ได้แยกว่าดูแลแค่ผู้ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น
       
       ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 9 และ 10 มีเจตนารมย์ในการให้รวม 3 กองทุน และรวมถึงมาตรา 12 กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ด้วย ซึ่งโดยหลักการต้องการให้การบริหารจัดการ 3 กองทุนกลมกลืนกันเท่านั้น ไม่ได้รวมกองทุน ซึ่งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 16 ข้อ จะพบว่าในข้อ 14 กำหนดว่า จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต้องให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม และต้องมีการบูรณณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบสุขภาพต่างๆ หมายความว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์บูรณาการทั้ง 3 กองทุนให้กลมกลืน โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอถึงการสร้างความเสมอภาคการเข้าถึงบริการของประชาชน
       
       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน อดีตรองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จะไม่มีการรวมกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุนเข้าเป็นกองทุนเดียวแน่นอน ซึ่งในส่วนของ สปส.ขณะนี้มีเงินของลูกจ้างที่ฝากไว้กับ สปส.ทั้งหมด 940,000 ล้านบาท เป็นเงินต้นของลูกจ้างประมาณ 6 แสนล้าน อีก 2-3 แสนล้านเป็นดอกเบี้ย และเป็นส่วนรักษาพยาบาลประมาณ 8 หมื่นล้าน
       
       “นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า ไม่รวมกองทุน เพียงแต่อยากให้ประชาชนที่ไปรับบริการต้องไม่ถูกถามสิทธิ และหากต้องย้ายสิทธิ ต้องย้ำว่าสิทธิที่ควรต้องได้ต่อเนื่องต้องได้เหมือนเดิม สรุปคือ สิทธิการได้รับประโยชน์ ต้องเป็นไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งการทำประกันสังคมก็คล้ายกับสปสช. โดยต้องการป้องกันความยากจนอันเกิดจากการเจ็บป่วย โดยให้เหมาจ่าย และให้รักษาจนสิ้นสุดการรักษา สำหรับวิธีการจ่ายเงินเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ขอยืนยันว่า ยึดหลักประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง โดยลูกจ้างต้องได้รับการดูแลโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม” นพ.สุรเดช กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

7173
 นักวิชาการเตือนเปิดประชาคมอาเซียน เสี่ยงต่างชาติแย่งชิงรับบริการสุขภาพคนไทย เผย คนชั้นกลางกระทบมากสุด แนะต้องเพิ่มกำลังผลิตบุคลากรสาธารณสุข ย้ำ เปิดการค้าเสรียิ่งเปิดช่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าทำลายสุขภาพหลั่งไหลเข้าไทยมากขึ้น
       
       วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวในงานเสวนา “ประชาคมอาเซียน 2558 โอกาสหรือวิกฤตระบบสุขภาพไทย” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2555 ว่า ปัจจุบันไทยให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน 65 ล้านคน แต่หากมีประชาคมอาเซียนจะต้องเตรียมพร้อมการบริการให้กับคนถึง 575 ล้านคน ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหามาก หากไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเด็นข้อตกลงที่มีการหารือถึงประเด็นการอนุญาตให้กลุ่มประเทศสมาชิก สามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการได้สูงสุดร้อยละ 70 ของบริการภาพรวม ซึ่งรวมถึงบริการสาธารณสุขด้วย ตรงนี้ต้องระวังเพราะจะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างแน่นอน
       
       “ปัจจุบันประเทศไทยควบคุมไว้ไม่ให้ต่างชาติลงทุนในประเทศเกินร้อยละ 50 จากบริการทั้งหมด แต่ก็มีพวกนอมินีใช้ชื่อคนไทยแทน และเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อใดจะยิ่งลำบาก เรื่องนี้แม้ปัจจุบันในกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่ได้แก้กฎหมายตามข้อหารือในระดับอาเซียนก็ตาม แต่ก็อยากให้จับตามองเรื่องนี้ด้วย เพราะหากมีการแก้กฎหมายคล้อยตามเมื่อใด จะกลายเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน ซึ่งตรงนี้ต้องถามทางกระทรวงพาณิชย์ เพราะเข้าใจว่าดูแลเรื่องนี้” นพ.ภูษิต กล่าว

   
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       นพ.ภูษิต กล่าวอีกว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่น่าจะเป็นปัญหาในอนาคต คือ ปัจจุบันโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ก็มีการยกระดับขึ้น อยากให้โรงเรียนแพทย์เหล่านี้คำนึงถึงปรัชญาเดิมที่ตั้งขึ้นเพื่อคนไทย แม้จะยกระดับเป็นเมดิคัล ฮับ แต่ขอให้ยึดประชาชนคนไทยเป็นหลักด้วย ไม่เช่นนั้น ต้องมีการแยกหน่วยออกไป นอกจากนี้ การเปิดเมดิคัล ฮับ สำหรับแรงงานต่างด้าวและชาวต่างชาติ อาจส่งผลกระทบต่อคนชั้นกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะหาโรงพยาบาลเข้ารักษาตัวยาก ฉะนั้น สธ.ต้องทำงานในเชิงรุก โดยต้องมองว่าอย่างไรต่างชาติก็ต้องไหลเข้ามาสู่ประเทศทั้งแรงงานและคนรวย ต้องมีการวางแผนการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ ไม่ใช่วางแผนสำหรับคนไทยเพียงอย่างเดียว
       
       “ปัจจุบันจำนวนแพทย์ต่อผู้ป่วยใน กทม.คิดเป็น 1 ต่อ 700-800 คน ส่วนในต่างจังหวัดคิดเป็น 1 ต่อ 9,000 คน หากเปิดประชาคมอัตราผู้ป่วยต่อแพทย์หนึ่งคนก็จะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น เราจะผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในปริมาณเท่าเดิมเหมือน 10-20 ปีที่แล้วไม่ได้ การจะไปอิมพอร์ตจากพม่า หรือประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้ประเทศเขาขาดกำลังคน วิธีที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มกำลังผลิตของไทยเอง โดยต้องวางแผนสำหรับคนอาเซียนที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย ไม่ใช่สำหรับคนไทยเพียงอย่างเดียว อยากฝากถึงปลัด สธ.คนใหม่และรัฐมนตรี สธ.ให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย” นพ.ภูษิต กล่าว
       
       นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่า หากเข้าสู่อาเซียนจะส่งผลกระทบในเรื่องของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งอาหารและยา รวมทั้งพวกสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อย่างบุหรี่ และเหล้า ยิ่งมีการเปิดการค้าเสรีจะยิ่งทะลักเข้ามามาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาบุหรี่ต้องระวัง ปัจจุบันในอาเซียนมีคนสูบบุหรี่ถึง 127 ล้านคน จีน มีคนสูบบุหรี่ 301 ล้านคน และมีกระแสข่าวว่า จีนกำลังจะสร้างโรงงานผลิตบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีก ตรงนี้หากมีข้อตกลงอาเซียนพลัส 3 ซึ่งมี จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี ทั้งนี้ หากมีการเจรจาเปิดการค้าเสรี ระวังบุหรี่จีนจะเข้ามาไทยด้วย นอกจากนี้ ต้องเตรียมพร้อมการบริการผู้ป่วยต่างชาติในกลุ่มที่ไม่ร่ำรวย หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าว อย่างพม่า ด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ชายแดนภาคใต้จะมีผลกระทบอย่างไรเมื่อเข้าสู่อาเซียน นพ.ภูษิต กล่าวว่า หากพูดถึงมาเลเซีย สิ่งที่ต้องระวังคือ การดึงพยาบาลไทย เพราะราคาค่าจ้างแพงกว่าไทยเท่าตัว แม้ปัจจุบันไทยจะมีนโยบายจูงใจแพทย์ แต่พยาบาลยังไม่มี เรื่องนี้ต้องระวังการดึงบุคลากรด้วย อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ใช่จะมีแต่ผลกระทบ เพียงแต่หากมุ่งหวังด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่ระวังผลกระทบแล้ว อาจเกิดปัญหาได้
       
       ด้าน พญ.ภาวนา อังคสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าส่วนแบ่งการตลาดในการบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเทศไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 สิงคโปร์ และ มาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 14 แม้ไทยจะมีสัดส่วนมาก แต่ปรากฏว่า รายได้ของไทยกลับมีเพียงร้อยละ 30 แต่สิงคโปร์ แม้สัดส่วนน้อยกว่ากลับมีรายได้ถึงร้อยละ 47 แสดงว่าคุณภาพการบริการดีมาก ทำให้ราคาสูงตามด้วย ดังนั้น ต้องกลับมามองจุดนี้ และพัฒนาให้ดีขึ้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 กันยายน 2555

7174
ผู้เขียนได้แจกแจงถึงภัยของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคมาแล้ว 3 ตอน คือ ภัยต่อประชาชน ภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขและงบประมาณแผ่นดิน ในตอนนี้ผู้เขียนจะขอชี้ให้เห็นมหันตภัยของระบบ 30 บาท ที่มีต่อการประกันสุขภาพของประเทศไทย

   การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้ต้องการประกันภัย จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทประกันภัยเป็นจำนวนที่กำหนดตามสัญญา(กรมธรรม์)ที่ตกลงกันไว้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย

   โดยสรุป การประกัน(insurance) คือการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสามส่วนคือ ผู้รับประกัน ผู้เอาประกัน ผู้รับผลประโยชน์

 ส่วนการประกัน(ภัย) สุขภาพหรือ Health Insurance เป็นการลดภาระค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ลดภาระบุคคลรอบข้าง เป็นการประกันภัยความเสี่ยงทางการเงิน ในกรณีเจ็บป่วย บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามวงเงินของการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ที่ต้องการทำประกันสุขภาพ ก็จะต้องจ่ายเงินของตนล่วงหน้าให้แก่บริษัท(รับ)ประกันโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วจะได้รับการรักษาในวงเงินเท่าไร หรือครอบคลุมโรคอะไรบ้าง

  ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ 3 ระบบ คือ

1.ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบนี้รวมอยู่ในผลประโยชน์ที่ข้าราชการจะได้รับร่วมกับการได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทน จากการ”ทำราชการ” ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพื่อกำหนด “สิทธิประโยชน์” ในการรักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัว ฉบับล่าสุดคือ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553

 ถึงแม้ว่าข้าราชการจะไม่ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าแก่กรมบัญชีกลาง แต่ก็เหมือนกับว่ากรมบัญชีกลางได้ “หักเงินเดือนของข้าราชการทุกเดือน” กลับคืนสู่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนข้าราชการกับเงินเดือนภาคเอกชน สำหรับบุคลากรที่มีคุณวุฒิเหมือนกันแล้ว จะเห็นได้ว่าเงินเดือนในส่วนราชการนั้น น้อยกว่าเงินเดือนในภาคเอกชนมาก

 จึงเห็นได้ว่าการให้สวัสดิการต่างๆแก่ข้าราชการ เป็นการให้สัญญาล่วงหน้าว่า ประชาชนที่มาสมัครเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานบริการประชาชนอื่นๆนั้น นอกจากจะได้รับเงินเดือนตามอัตราที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะได้รับสวัสดิการอื่นๆนอกเหนือจากเงินเดือน รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มาสมัครสอบแข่งขัน เพื่อที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
ระบบนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันให้กับข้าราชการซึ่งเป็นลูกจ้างของราชการและครอบครัวโดยทางราชการซึ่งเป็นนายจ้างใช้เงินภาษีจ่ายให้เป็นสวัสดิการ โดยกรมบัญชี กลางเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบในการเบิกจ่ายเงินในระบบนี้โดยมีข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านคน ได้รับสวัสดิการจากระบบนี้   

โดยสรุประบบสวัสดิการข้าราชการเป็นระบบที่ข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

2.ระบบประกันสังคม เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2497โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้มีสวัสดิการแก่ลูกจ้างในภาคเอกชน ได้รับความช่วยเหลือและได้รับการคุ้มครองเมื่อเจ็บป่วย  ตกงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตณและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ซึ่งได้มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 เป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ที่เป็นลูกจ้างจะต้องร่วมจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนประกันสังคมในอัตราส่วนร้อยละ 5 ของเงินเดือน โยนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบในอัตราส่วนที่เท่ากัน และรัฐบาลต้องจ่ายอีกร้อยละ 2.75 สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทุกๆเดือน ทั้งนี้ในปัจจุบันผู้ประกันตน(ลูกจ้าง) จะได้รับสิทธิประโยชน์จากเงินกองทุนนี้ ทั้งหมดรวมทั้งสิ้นดังนี้คือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ตาย 1.5%โดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเท่ากัน  สงเคราะห์บุตร ชราภาพ 3% ว่างงาน 0.5% มีขึ้นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง ธุรกิจเอกชน   ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก็คือลูกจ้าง นายจ้าง และผู้เสียภาษี โดยมีสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้บริหารโดยมีลูกจ้างประมาณ 10 ล้านคน ได้รับความคุ้มครอง(ประกันสุขภาพ)จากระบบนี้ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์อื่นๆตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ประกันสังคม

3.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ National Health Security Act เป็นการให้ “หลักประกันสุขภาพ” แก่ประชาชนไทย 48 ล้านคน (ที่ยังไม่มีสิทธิ์ในการประกันสุขภาพจากทั้ง 2 ระบบดังกล่าวข้างต้น)  เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาโรคโดยจ่ายเงินเพียงครั้งละ 30 บาท ไม่ว่าการเจ็บป่วยนั้นจะมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้มีการแก้ไขเป็นไม่ต้องจ่ายเงินเลยในปี 2550 และกลับมากำหนดให้จ่ายเงินในปี 2555 ครั้งละ 30บาทอีกครั้งหนึ่ง แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ไม่ต้องจ่ายเงิน และ “ไม่ต้องการจ่ายเงิน” อีก 21 ประเภท

เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด (ครอบคลุมประชาชน 48 ล้านคน)การบริหารจัดการบริหารจัดการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายครอบคลุมบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการ
โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้บริหารภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4.ระบบสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของนักการเมือง ทั้งนี้นอกจากเงินเดือนแล้ว นักการเมืองจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นรวมทั้งการประกันสุขภาพ ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการพ.ศ.2555
ระบบนี้ นักการเมืองไม่ต้องจ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุน แต่จ่ายโยเงินภาษีของประชาชน ซึ่งในระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในระบบนี้ จะมีอัตรากำหนดไว้สูงที่สุดกว่าระบบอื่นๆที่ต้องจ่ายเงินจากภาษีของประชาชน

5.ระบบประกันเอกชน   
   เป็นระบบสมัครใจผู้ที่ต้องการได้สิทธิประโยชน์ตามข้อเสนอของบริษัทประกันสามารถซื้อบริการประกันสุขภาพได้จากบริษัทประกันภัยต่างๆ โดยที่ประชาชนรับผิดชอบจ่ายเงินเอง และบริษัทเอกชนแต่ละแห่งเป็นผู้บริหาร

 ความแตกต่างของ “ที่มาของเงินงบประมาณ”ในแต่ละกองทุน

  จะเห็นได้ว่าการประกันสุขภาพในประเทศไทยนั้นมีอยู่เพียง 4 ระบบที่เกิดขึ้นตามการบัญญัติของกฎหมายคือพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ส่วนระบบสุดท้ายคือระบบประกันเอกชนนั้นเป็นระบบที่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของประชาชนเอง โดยประชาชนต้องจ่ายเงินของตนเองทั้งหมดในการประกันสุขภาพของตน จึงจะไม่กล่าวถึงระบบนี้อีกในบทความนี้
ส่วนระบบอื่นที่เหลืออีก 4 ระบบ เป็นระบบที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมา “ร่วมจ่าย”เป็น “ค่าประกันสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสิทธิในการ “ประกันสุขภาพ” จึงควรพิจารณาดูว่า ได้บริหารงานคุ้มค่าเงินภาษี และประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างดีมีมาตรฐานหรือไม่ ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมมาตลอด เช่นเดียวกับประชาชนอื่นๆ
 
1. ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนมาจ่ายทั้งหมด โดยข้าราชการไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่กองทุนโดยตรง แต่จ่ายทางอ้อม คือ ข้าราชการยอมรับเงินเดือนต่ำ ยอมทำงานภายใต้กฎระเบียบ วินัย และการบังคับบัญชาและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและทางราชการ (ที่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย) โดยไม่สามารถปฏิเสธได้

  2.ส่วนระบบที่ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มีส่วนจ่ายเงินของตนเองโดยตรงเข้าสู่กองทุน ได้แก่กองทุนประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างหรือที่เรียกว่า “ผู้ประกันตน” ต้องจ่ายเงินจากเงินเดือนของตนเอง 5% ทุกเดือน จึงจะได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โดยรัฐบาลจ่ายเงินจากภาษีสมทบเพียง 2.75% เท่านั้น สำหรับเงินส่วนที่ใช้ในการประกันสุขภาพคิดเป็น 1.5% (จาก 5%)
ฉะนั้น ถ้าลูกจ้างมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือ 9,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องจ่ายเงินของตนเองเดือนละ 135 บาท จึงจะได้รับการประกันสุขภาพ

นับว่า เป็นคนที่มีรายได้น้อย แต่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพด้วยตนเอง มีนายจ้างและเงินภาษีประชาชนช่วยจ่ายอีกฝ่ายละ 135 บาทเท่ากัน

 3.ในส่วนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดินปีละมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยประชาชนในระบบไม่ได้จ่ายเงินของตนเองเข้าสู่ระบบ หรือจ่ายเพียง 30 บาทโดยเลือกที่จะไม่จ่ายก็ได้ ทั้งนี้มีประชาชน 48 ล้านคน ได้รับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์จากกองทุนนี้

 ซึ่งในจำนวนประชาชน 48 ล้านคนนี้ อาจจะมีคนจนไม่ถึง 20 ล้านคน แต่มีคนที่ไม่จน แต่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง อาจเป็นเจ้าของกิจการ เป็นพ่อค้า คหบดี มีเงินมากมาย แต่มาเบียดบังใช้บริการฟรีให้ประชาชนที่ต้องเสียภาษีจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพให้ฟรีๆ
ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ

  มีการกล่าวอ้างโดยทั่วไปว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน และมีผู้เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมในแต่ละกองทุน โดยเสนอให้มีการรวมกองทุนสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละกองทุนมีสิทธิในการได้รับบริการสุขภาพโดยให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

  ซึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 51 ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย “

 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้สิทธิประชาชนทั้งยากไร้และไม่ยากไร้ ได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

   ที่สำคัญก็คือ โดยหลักการสากล การทำให้เกิดความ “เสมอภาค” นั้นไม่ได้ทำให้เกิด “ความเป็นธรรม” เสมอไป ทั้งนี้ เนื่องจากคนแต่ละคนย่อมมีคุณสมบัติหรือทรัพย์สมบัติไม่เท่าเทียมกัน การให้ความเสมอภาคแก่บุคคลที่ไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งเป็นการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้น้อย ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้ คนที่มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมากตามอัตราส่วนที่กฎมายกำหนด หรือคนพิการ ทุพพลภาพ ก็ควรได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากกว่าคนที่ไม่พิการ คนชรา ก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากสังคม เป็นต้น

   ฉะนั้นในสังคมที่เจริญแล้วและมีวัฒนธรรมที่จะจรรโลงสังคมให้อยู่อย่างเป็นปกติสุข  สังคมจึงต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสในสังคม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550

  แต่การที่สปสช.ให้สิทธิแก่ประชาชน 48 ล้านคน ได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-2555 นี้ ได้ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบการบริการสาธารณสุขของไทยดังที่กล่าวแล้ว(มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค ตอน “ภัยต่อระบบบริการสสาธารณสุข” กล่าวคือ ทำให้ระบบการบริการสาธารณสุข“ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐาน” เนื่องจากงบประมาณที่สปสช.ส่งให้แก่โรงพยาบาลนั้นไม่เพียงพอต่อการที่จะรักษามาตรฐานการบริการสาธารณสุขได้ เช่น การกำหนดการรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย โดยการเริ่มต้นล้างไตทางหน้าท้องก่อนเป็นครั้งแรกกับผู้ป่วยไตวายทุกคน (CAPD-first)   จนทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเหล่านี้ตายไปมากกว่า 40% ในบางศูนย์ก็มีอัตราตายไปถึง 100% หรือการบังคับให้แพทย์สั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นเพียงบางชนิดเท่านั้น ไม่สามารถสั่งใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ โดยให้ใช้ยาเฉพาะในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งผลจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานก็ทำให้เกิด “มหันตภัยต่อผู้ป่วย” ดังที่ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกัน

   และสวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ที่เป็นองค์กรแม่ที่ได้ “ออกลูก” เป็น สสส. สปสช. และสช.แล้ว ได้ส่งลูก(เครือข่ายสถาบัน)คือสพตร.(สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการรักษาพยาบาล ) ไปตรวจสอบการรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และพบว่ามีแพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักถึง 66% 

แทนที่สวรส.จะพูดว่ายาในบัญชียาหลักไม่สามารถครอบคลุมการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ ทำให้แพทย์ต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก แต่สวรส.และสพตร.กลับ “บิดเบือนความจริง” หรือ “โกหก” ว่า แพทย์ “ยิงยา”หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทยา และส่งเรื่องให้ DSI สอบสวนแพทย์หลายร้อยคน แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีรายงานจาก DSI ว่า มีการทุจริตประพฤติมิชอบของแพทย์ในกรณีสั่งยานอกบัญชียาหลักอย่างมากมายเหมือนที่สพตร.ออกข่าวแต่อย่างใด

 ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลทำการตรวจสอบว่าสพตร.และสวรส. “โกหกหลอกลวงรัฐบาลให้หลงเชื่อได้หรือไม่”ในกรณีการกำหนดยาในบัญชียาหลักที่ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน จนทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาโรคของตน
นอกจากการโกหกเรื่องยาแล้ว สวรส.ยังไปโกหกรัฐบาลให้หลงเชื่อว่า การรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนจะทำให้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพยั่งยืน โดย สวรส.ยัง” ออกลูก” มาเป็นสวปก. (สำนักงานวิจัยระบบประกันสุขภาพไทย) โดยมีโครงการวิจัยที่ต้องการผลลัพท์คือ “ลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ” แล้วอ้างผลการวิจัยของสวปก. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ โดยตั้งเป็นสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ (สพคส.) ใน”เครือสถาบันสวรส.” หรือเท่ากับสวรส. “ออกลูก”เป็นสพคส.ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2553 โดย มีเป้าหมายที่จะดำเนินการตามแผนการ (โดยอ้างธรรมนูญสุขภาพหมวด 12)ดังต่อไปนี้คือ

1.   จะต้องมีระบบการเงินการคลังรวมหมู่ที่ยั่งยืน ไม่มุ่งเชิงธุรกิจ
2.   โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 จะให้จ่ายจากครัวเรือนไม่เกินร้อยละ 20
3.   โดยรายจ่ายสุขภาพมีอัตราเพิ่มไม่มากกว่าอัตราเพิ่มของ GDP 
4.   โดยมีแหล่งเงินมาจากระบบภาษีอัตราก้าวหน้า และเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ
5.   ขยายสิทธิครอบคลุมคนไทยทุกคน และหลีกเลี่ยงการเก็บเงินแบบร่วมจ่าย ถ้าทำต้องไม่ใช่เพื่อเรื่องรายได้ และต้องคุ้มครองคนจน
6.   ให้เป็นระบบการคลังรวมหมู่แบบปลายปิด กำหนดวงเงินใช้จ่ายล่วงหน้า

ซึ่งเมื่อดูจากแนวทางที่สพคส.ตั้งธงไว้ ก็คือ ไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพของตน ต้องการให้เป็นเงินงบประมาณจากภาษีประชาชนทั้งหมด และต้องการให้มีแหล่งที่มาของเงินที่จะมาใช้จ่ายในกองทุนจาก “การเก็บภาษีก้าวหน้า” และต้องการรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนให้มาอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกันให้เป็นผลสำเร็จ

  และไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารกองทุนที่รวมแล้วนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่มพรรคพวกของ สวรส.  ซึ่งปัจจุบัน ก็ยึดกุมอำนาจในการบริหาร สงวรส. สสส. สช. สปสช. และองค์กรลูกทั้งหลายทั้งปวง ที่ใช้เงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ล้านบาท (สมแสนล้านบาท)

 โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำการตรวจสอบและประเมินการทำงานอย่างเป็นทางการว่า มีการใช้เงินไปอย่างเหมาะสม สุจริต โปร่งใส หรือหมกเม็ด ทุจริต เบียดบังผลประโยชน์ไปสำหรับตนเองและพรรคพวกโดยมิชอบ
ตามมติครม.เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 นยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติว่า กพร. มีหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลงานขององค์กรเหล่านี้ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะ และกำหนดไว้ว่า ถ้าองค์กรเหล่านี้ ทำงานโดยไม่ประหยัด และไม่คุ้มค่า ครม.สามารถยุบองค์กรเหล่านี้ได้ (3) แต่ยังไม่เห็นว่ากพร.จะได้ไปตรวจสอบและประเมินผลองค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด อาจถือได้ว่ากพร.ละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่?  ส่วนธง(เป้าหมาย)ที่สพคส.ตั้งไว้ข้อ 4 ก็คือการ “จัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และเก็บภาษีจากจากบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจและสินค้าที่ทำลายสุขภาพ “ หมายความว่า ถ้าเงินงบประมาณที่จะใส่เข้าไปในกองทุนสุขภาพใหญ่นี้มีไม่เพียงพอ และไม่ต้องการให้ประชาชนร่วมจ่ายด้วย ก็จะต้องมีการ “ขึ้นอัตราการเก็บภาษีจากประชาชน รพ.เอกชน และสินค้าบาป”

  แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการเพิ่มอัตราการ “เก็บภาษีก้าวหน้า”จนมี “เม็ดเงิน” ใส่เข้ามาในกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ จึงเกิดเหตุการณ์ที่สปสช.ได้พยายามที่จะ “จำกัดค่าใช้จ่าย”ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาท เช่นการจำกัดรายการยา การจำกัดวิธีการรักษา โดยไม่เคยไป “จำกัดการมาใช้บริการสาธารณสุข” หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ประชาชนจะมารับบริการสาธารณสุขได้

  ทำให้เงินงบประมาณที่จะให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนไม่เพียงพอ และไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐาน เกิดมหันตภัยต่อประชาชน บุคลากรสาธารณสุขและระบบบริการสาธารณสุขดังกล่าวแล้ว

  แต่สปสช. ได้ทำการ “โกหก” คือไม่ได้บอกความจริงให้ประชาชนทราบว่า การบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก่อให้เกิดมหันตภัยดังกล่าว สปสช.ได้แต่โฆษณาว่า  “30 บาทรักษาทุกโรคอย่างมีมาตรฐาน”
การบริการสาธารณสุขจะมีมาตรฐานได้อย่างไร? ในเมื่อขาดเงิน ขาดยา ขาดบุคลากรทางการแพทย์และขาดมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ดังกล่าวมาแล้ว

แต่สปสช.ไม่หยุดอยู่แค่การโกหกประชาชน สปสช.ยังโกหกกรมบัญชีกลางว่า จะแก้ปัญหาการใช้เงินในระบบสวัสดิการข้าราชการได้ ก็ต้องทำตามที่สปสช.ทำกล่าวคือ จำกัดรายการยา และคิดอัตราการรักษาผู้ป่วยในแบบรายกลุ่มโรค (Diseases Related Group) ในราคาต่ำกว่าราคาค่าใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วย แบบที่สปสช.ใช้อยู่

ในส่วนผู้ป่วยในก็ให้ “จำกัดงบประมาณ” โดยระบบเหมาจ่ายรายโรค(Diseases Related Group) โดยจ่ายให้โรงพยาบาลน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

 ทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง เนื่องจากก่อนที่กรมบัญชีกลางจะคิดราคารักษาผู้ป่วยแบบที่สปสช.ใช้นั้น โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการและผู้ป่วยประกันสังคม ต้องนำเงินที่ได้จากการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบนี้ มาจ่ายชดเชยการขาดทุนในระบบ 30 บาท (ทำให้กรมบัญชีกลางต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกมาก ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ)

 เมื่อกรมบัญชีกลางหันมาใช้ระบบเดียวกับสปสช. จึงทำให้รพ.ไม่ได้รับเงินจากระบบสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยการขาดทุนจากสปสช.อีกต่อไป ทำให้ปัญหาการขาดทุนรุนแรงขึ้น

  และการที่จะประหยัดเงินในการรักษาผู้ป่วยนอก สปสช.ก็แนะนำกรมบัญชีกลางให้จำกัดรายการยาที่ผู้ป่วยจะได้รับ ไม่ให้แพทย์ใช้ยาได้อีก 9 กลุ่ม เพื่อ “ประหยัดงบประมาณค่ายา”

  พร้อมทั้งมีการเสนอให้ครม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด ระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะ”ลดค่าใช้จ่ายในการบริการสุขภาพ” โดยการควบคุมกำกับการใช้ยา กำกับการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักและยาต้นแบบในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการใช้ยาชื่อสามัญ กำหนดแนวทางเวชปฏิบัติ และข้อบ่งชี้การใช้ยานอกบัญชียาหลัก  รวมถึงข้อบ่งชี้การตรวจวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยเทคโนโลยีราคาแพง  กำหนดกลไกกลางในการตรวจสอบการเบิกจ่ายและการจ่ายยา  และปรับอัตราการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมให้เป็นเอกภาพระหว่างกองทุน  และการพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินแบบตกลงราคาล่วงหน้าบริการผู้ป่วยนอก

 โดยสรุปก็คือสพคส. สวรส. และสปสช.ต่างก็บิดเบือนความจริงว่า แพทย์ใช้ยาฟุ่มเฟือย ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินจำเป็น จึงต้องหาทางประหยัดงบประมาณ โดยการตั้งคณะกรรมการมาทำหน้าที่ในการ “ประหยัดงบประมาณ” ค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัย และค่ารักษาผู้ป่วยในทุกกองทุน
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้เกิดมหันตภัยแก่ระบบประกันสุขภาพอื่นๆ ที่จะถูกควบคุมการตรวจวินิจฉัย การรักษาและการใช้ยาให้มีมาตรฐานเลวเหมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 สปสช.ยังโกหกอีกว่าโรงพยาบาลไม่ขาดทุน มีเงินเหลือเพิ่มขึ้น และสปสช.ประหยัดงบประมาณได้ถึง 4,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง การที่สปสช.อ้างว่าประหยัดเงินได้จากการจัดซื้อยาแทนโรงพยาบาลนั้น สปสช.ได้นำเอาเงินค่าตอบแทนการซื้อยาเอาไปเป็นประโยชน์แก่บุคลากรสปสช.เอง โดยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ชี้ว่าไม่ถูกต้อง
แต่สปสช.ก็ยังยืนยันว่าได้ชี้แจงไปแล้ว ในขณะที่กรรมการตรวจสอบความผิดของสปสช.ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมาตรวจสอบนั้น ก็มีความเห็นว่าสปสช.ทำไม่ถูกต้องตามที่สตง.ชี้ประเด็นแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดแต่อย่างใด น่าจะถือได้ว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำกับดูแลสปสช.ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ “กำกับสปสช.” มาโดยตลอด

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ที่มติครม.กำหนดสปสช.ต้องถูกตรวจสอบและประเมินผลงานโดยกพร. แต่ก็ไม่ปรากฏว่า กพร.ได้ทำการตรวจสอบและประเมินผลงานของสปสช.แต่อย่างใด อันอาจจะถือได้ว่าสำนักงานกพร.ละเลยการปฏิบัติหน้าที่นี้

  ในขณะที่สปสช.กลับไป”ว่าจ้าง” ให้บริษัทเอกชนมาประเมินผลงานของตน น่าจะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
 คงต้องรอดูว่า เมื่อไรสวรส. สพคส. และสปสช. จึงจะยอมสารภาพเรื่องโกหก เหมือนท่านรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งทีเพิ่งออกมาสารภาพเรื่อง “โกหกสีขาว” จะได้มีการยุติมหันตภัยต่อระบบการประกันสุขภาพ ทั้งหลายในประเทศไทยเสียที

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
7 ก.ย. 55


เอกสารอ้างอิง
  1.http://www.hsri.or.th/about/introduction

2. http://www.hsri.or.th/plans/34
3. . http://www.tmi.or.th/docs/midyear2.ppt
4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2555

7175
“เสถียรธรรมสถาน” เร่งใช้ธรรมะปลุกเร้าให้ธุรกิจปรับทิศทางใหม่ ชูแนวทางพระโพธิสัตว์ลดเลิกการมุ่งไปสู่การกอบโกยเข้าหาตัว หวังหยุดยุคแห่งความทุกข์ยาก ชี้ “การให้” คือกุญแจสู่ทางรอดและความสำเร็จอย่างยั่งยืน
       
       แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดโครงการ “ปลุกหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์” เพื่อนำธรรมะมาขับเคลื่อนและปลุกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกหรือจุดเล็กๆ เพื่อจะขยายไปในวงกว้างต่อไป เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่ 10 ปีจะเห็นได้ชัดว่า สังคมของการเอาหรือกอบโกยทำให้เกิดความทุกข์ยาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อโลก ซึ่งน่าจะต้องสะเทือนใจกันได้แล้ว และถ้าไม่ทำวันนี้จะไม่เหลืออะไรแล้ว สิ่งที่เห็นในวันนี้คือการพูดถึงธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และการทำธุรกิจอย่างสมดุล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการเน้นให้ตระหนักคือ “การให้” เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในยุคนี้
       
       “การให้มีความยากง่ายอยู่ที่การทำบ่อยๆ ไม่ใช่นานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคา เพราะถ้านานๆ ทำทีหรือขึ้นอยู่กับราคาหมายความว่าไม่จริงใจ แต่การทำบ่อยๆ หรือให้ได้ง่ายขึ้น สม่ำเสมอ และเป็นการให้ที่ไม่ผลักตกเหวคือการให้ที่ทำให้เกิดความมั่นคง สามารถยืนอยู่บนฐานกำลังของการพึ่งพาตนเอง นักธุรกิจหรือผู้บริหารต้องคิดว่าจะให้อย่างไรที่เป็นการให้อย่างยั่งยืน และทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้อย่างมีราคา ซึ่งมีรากศัพท์มาจากราคะ หมายความว่าเป็นการให้เพื่อหวังจะเอา แต่ให้โดยสละราคะคือการให้อยู่เหนือการได้คืน แม้จะรู้สึกว่ายาก แต่เมื่อทำได้แล้วจะมีความยั่งยืน”
       
       ในระดับปัจเจกต้องทำให้เกิดขึ้นในวิถีขององค์กรด้วยการทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การสนับสนุนให้พนักงานในออฟฟิศภาวนาจิตมากขึ้น หรือคนที่ไม่เคยสวดมนต์ ใส่บาตร ก็สนับสนุนให้ทำ ซึ่งเมื่อระดับปัจเจกเริ่มมีความสุขที่ได้ให้ จะทำให้ง่ายในการขยายฐานการให้ออกไป และไม่ต้องอธิบายมาก เมื่อพนักงานในองค์กรมีความสุขที่ได้ให้ องค์กรจะได้ทรัพยากรที่มีจิตใจที่จะให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็จะทำเต็มที่และองค์กรจะได้กำไรตามมานั่นเอง นี่จึงเป็นเรื่องของการฝึกปฏิบัติ
       
       แม่ชีศันสนีย์ทิ้งท้ายว่า ถ้าคนในบริษัทมีจิตที่คิดจะให้ จะกลายเป็นบริษัทที่ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายได้ เช่น การทำธุรกิจย่อมมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายที่ทำให้ต้องวิ่งอย่างหืดหอบมากกว่าจะได้เข้าเส้นชัย แต่เมื่อทำให้เกิดการให้จะกลับกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหรือพลังที่จะทำให้การทำธุรกิจสำเร็จได้ง่ายขึ้น สำหรับการนำพระโพธิสัตว์มากล่าวถึงหรือเป็นตัวอย่างเพราะถ้าเป็นคนธรรมดาจะให้ได้ยาก แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์จะทำได้ง่าย เช่น การควักลูกตาให้ ควักหัวใจให้ ฯลฯ เพราะการมีกำลังหรือพลังนั่นเอง หรืออย่างเสถียรธรรมสถานซึ่งไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นองค์กรที่พิสูจน์มาแล้วว่ายิ่งให้ยิ่งมีกำลัง ยิ่งให้ในสิ่งที่คนอื่นให้ได้ยาก

 จิตอาสากู้โลก
       
       ไจตนย์ ศรีวังพล ผู้อำนวยการรายการข่าวจราจร สวพ.FM 91 และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิไลเซ็นเตอร์แอนด์ซันส์ จำกัด กล่าวว่า การเป็นสถานีวิทยุเพื่อความปลอดภัยและการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาหรือความทุกข์ของคนในสังคมเมือง ดังนั้น ภารกิจหรือจุดประสงค์ของงานหรือธุรกิจที่ดูแลอยู่นี้มีความชัดเจนว่าคือการให้ เป็นการให้ข้อมูลและประสานความช่วยเหลือความปลอดภัยจากการจราจร
       
       ที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำแนวทางนี้มาใช้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวจากการมี “โพธิ” หรือปัญญาตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ และ “สัตว์” ก็คือตัวเรา “โพธิสัตว์” คือคนเราที่พัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง และการที่เราจะอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข เราต้องมีความสุขก่อน ซึ่งการอยู่บนหนทางของการพัฒนาเราต้องอยู่ก่อนและชวนคนอื่นไปด้วยกัน ในเรื่องการให้เราไม่ได้ให้คนเดียว แต่ชวนผู้ฟังรายการของเราให้ด้วย เช่น กองทุนเหรียญสลึงซึ่งเห็นเหรียญสลึงที่ถูกทิ้งขว้างอยู่ ก็นำมาช่วยคนที่ไม่มีในสังคมด้วยสิ่งที่ถูกทิ้งขว้าง เป็นการชวนคนอื่นมาพัฒนาและให้ร่วมกัน เช่นเดียวกับการทำงานในบริษัท เป็นการทำงานแบบช่วยเหลือกัน ให้โอกาสกันทำในสิ่งที่ดีๆ รวมทั้งเน้นในเรื่องจิตอาสา เพราะทำให้เกิดการแบ่งปันและช่วยเหลือกันมากขึ้น
       
       “ในทางธุรกิจหมายถึงการไม่ต้องกำไรมากๆ มาก่อน แต่ต้องคิดถึงการให้มาก่อน ธุรกิจจะอยู่รอดเมื่อมีแนวทางเช่นนี้กันมากขึ้นๆ จะทำให้การเอาเปรียบ เบียดเบียนกัน และมุ่งกอบโกยเข้าหาตนเองลดลง และสุดท้ายจะทำให้โลกอยู่รอดได้” ไจตนย์กล่าวย้ำ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 กันยายน 2555

7176
พิษน้ำท่วมทำโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่สะดุด กำลังการผลิตลดลง กระทบโรงพยาบาล-ศูนย์ล้างไตส่วนภูมิภาคขาดแคลนถุงน้ำเกลือหนัก อย.-อภ.เร่งแก้ปัญหาจับมือ 3 บริษัทผลิตน้ำเกลือเป็นตัวแทนจำหน่าย คาด สถานการณ์ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

       วันนี้ (7 ก.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สถานการณ์ถุงน้ำเกลือขาดตลาดในขณะนี้ สาเหตุหลักเกิดจากโรงงาน GHP ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำเกลือรายใหญ่ และสามารถผลิตน้ำเกลือป้อนตลาดถุงน้ำเกลือได้มากถึง 25-30% นั้น กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงจากเหตุการณ์ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ทำให้กำลังการผลิตลดลง และสามารถจำหน่ายได้เฉพาะกลุ่มศูนย์ล้างไต ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าประจำเท่านั้น ทำให้ลูกค้ารายย่อยอื่นๆอาทิ โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคต่างๆ ได้รับผลกระทบในการสั่งซื้อถุงน้ำเกลือ ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานผลิตน้ำเกลือแห่งนี้จะสามารถกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมภายในสิ้นปีนี้
       
       “ขอยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากการโก่ง หรือการขึ้นราคาน้ำเกลือแต่อย่างใด แต่เกิดจากการผลิตน้ำเกลือของโรงงานหลักนั้น ผลิตได้น้อยลง ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุงฟื้นฟูให้สามารถกลับมาผลิตได้ 100% แต่ยังต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานเช่นเดิม” เลขาธิการ อย.กล่าว
       
       นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในขณะนี้ อย.และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ได้รับความร่วมมือจาก 3 บริษัทผู้ผลิตน้ำเกลือ ได้แก่ A.N.B. Laboratories, Thai Otsuka และ Thai Nakorn Patanaซึ่งทั้ง 3 บริษัทจะส่งมอบถุงน้ำเกลือประมาณ 5-6 หมื่นถุงให้แก่ อภ.เป็นตัวแทนจำหน่ายภายในช่วงสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า จะสามารถจำหน่ายถุงน้ำเกลือให้แก่ศูนย์ล้างไตและโรงพยาบาลต่างๆ ได้หมดภายในวันจันทร์ที่ 10 ก.ย.นี้ หากศูนย์ล้างไตหรือโรงพยาบาลใดที่ขาดแคลนถุงน้ำเกลือก็สามารถติดต่อมาที่ อภ.ได้ นอกจากนี้ ทั้ง 3 บริษัทจะเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนถุงน้ำเกลือจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
       
        นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโรคไตประสบปัญหาขาดแคลนน้ำยาหรือน้ำเกลือ สำหรับฟอกเลือด โดยทั้งประเทศมีทั้งหมด 30,000 ราย เป็นผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 10,000 ราย ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำยาฟอกเลือดถึงเดือนละ 1 ล้านถุง แต่ปัจจุบันมีโรงงานที่ป้อนน้ำเกลือรายหลักๆ คือ บริษัท GHP แต่ประสบปัญหาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม เนื่องจากโรงงานผลิตอยู่ภายในนวนคร จนขณะนี้ยังฟื้นตัวไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงงานที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ บริษัท A.N.B. Laboratories หรือบริษัท อำนวยเภสัชฯ บริษัทไทย โอนิซูกะ ( Thai Otsuka) และ บริษัท ไทยนครพัฒนา (Thai Nakorn Patana) ก็ประสบปัญหากำลังผลิต ไม่สามารถผลิตได้ทัน เนื่องจากอยู่ระหว่างขยายกำลังผลิต มีการปรับปรุงเครื่อง ประกอบกับเครื่องที่ใช้มีปัญหาอยู่บ้าง ทำให้ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดขาดแคลนน้ำเกลือขึ้น
       
       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า โรงงานที่ผลิตน้ำเกลือล้างไตในไทยขณะนี้มี 4 บริษัท กำลังการผลิตได้ปีละประมาณ 120 ล้านถุง โดยมี 1 บริษัทที่ถูกน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งขณะนี้เริ่มเปิดเดินเครื่องได้แล้ว แต่กำลังการผลิตยังไม่ครบ 100 เปอร์เซนต์ จึงทำให้ขาดสภาพคล่องได้ เบื้องต้น อภ. ได้สั่งนำเข้าจาก 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมกว่า 1 ล้านถุง ขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์-1 เดือน ซึ่งขณะนี้เรือกำลังทยอยเข้ามาและจะเข้ามาเรื่อยๆ เช่น วันที่ 13 กันยายน 2555 จะมา 22,800 ถุง วันที่ 17 -18 กันยายน 2555 จำนวน 600,000 ถุง เป็นต้น โดย จะเร่งกระจายให้หน่วยฟอกไตเทียมที่ขาดแคลน และจะให้ครบภายใน 3 วัน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2555

7177
“วิทยา” ปลื้ม แถลงผลงาน 1 ปี โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินโดนใจ ปชช.มากสุด ฟุ้งช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก 90.5% เล็งขยายสิทธิผู้ป่วยไตวายครอบคลุม 3 กองทุน ย้ำร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี แต่ต้องการพัฒนาการบริการ ลดความแออัดของโรงพยาบาล
       
       วันนี้ (7 ก.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลงาน “365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน” ว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจำนวนทั้งสิ้น 48.5 ล้านคน ผ่านนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีการพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่โดดเด่นที่สุด และประชาชนได้รับประโยชน์ในทุกสิทธิ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ 30 บาท กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ภายใต้โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638 คน อัตรารอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 โดยเอแบคโพลสำรวจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 พบว่า ประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล
       
       “จากความสำเร็จในการบูรณาการโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ก้าวต่อไปจะเดินหน้าขยายสิทธิให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกกองทุนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แม้ย้ายสิทธิก็ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเหมือนเคย รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกองทุนจะต้องได้รับยาต้านไวรัสฯ ที่ระดับค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะเดินหน้าในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ จะขยายสิทธิเรื่องผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมทุกกองทุนด้วย ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้ง ให้ได้ภายในปี 2556” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นายวิทยา กล่าวอีกว่า นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่แค่เก็บเพราะต้องการในเรื่องของความมีศักดิ์ศรีเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ประสงค์จ่ายจะไม่มีศักดิ์ศรี มีเหมือนกันหมด แต่หลักๆ ต้องการพัฒนาการบริการมากกว่า ซึ่งตรงนี้ยังช่วยในเรื่องลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วย และยังเพิ่มศักยภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 226 แห่ง และพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ป่าเขาอีก 200 แห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพิ่มระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ให้ประชาชนที่ใช้บริการที่ รพ.สต.ได้พบแพทย์เฉพาะทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ กระจายแพทย์ให้บริการที่ รพ.สต.ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และค่าเสียโอกาสได้ 4 เท่า และอีกนโยบายในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา คือ โครงการไข่ใหม่แลกยาเก่า ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ประชาชนใช้ยาทุกชนิดอย่างเหมาะสมด้วย
       
       ด้านนพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท นับเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่ของไทยที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน อาจยังไม่พร้อมในสถานพยาบาลบางแห่ง อย่างในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้น อาจมีบางแห่งไม่เรียกเก็บ ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิของเขา อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศการร่วมจ่ายแพร่หลายมาก และมีวิธีที่ซับซ้อนกว่าของไทย อาทิ บรูไน จะเรียกเก็บกับผู้ป่วยประมาณ 25 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นผู้ป่วยโรคง่ายๆ ก็จะเรียกราคาถูก ผู้ป่วยโรคปานกลางก็จะเรียกเก็บอีกระดับ และผู้ป่วยอาการหนัก อาทิ ผ่าตัดสมอง หัวใจ หรือโรคมะเร็ง กลุ่มนี้จะไม่เรียกเก็บเลย เนื่องจากรัฐบาลบูรไนเห็นว่าเป็นโรคที่สามารถทำให้ผู้ป่วยล้มละลายได้ จึงไม่ควรเรียกเก็บ

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2555

7178
ผู้เขียนได้เขียนเรื่องมหันตภัยหรือภัยอันร้ายแรงของระบบ 30 บาทที่มีต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว
วันนี้จะเขียนต่อถึงมหันตภัยของระบบ 30 บาทที่มีต่อระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและภัยต่องบประมาณแผ่นดิน
ซึ่งน่าจะต้องมองก่อนว่า ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลอะไรต่อระบบสาธารณสุขไทยบ้าง ดังต่อไปนี้

1.   กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป
เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถูกส่งไปให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนา
2.   โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากเกินไป
3.   มาตรฐานการแพทย์ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขมีปัญหา
4.   สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีขึ้น
5.   งบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า/สมเหตุผล
6.   อวสานของกระทรวงสาธารณสุข
เนื่องจากการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ
ซึ่งจะขอกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดมหันตภัยต่อระบบบริการสาธารณสุขดังนี้

1.กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณในการดำเนินงานตามภาระรับผิดชอบของตนเองอีกต่อไป

เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถูกส่งไปให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสปสช.ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนา ทั้งนี้ บทบัญญัติในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ม. 5ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ
เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดและในมาตรา 38 กำหนดให้มีการจัดตั้ง "กองทุนหลักประกันสุภาพแห่งชาติ"มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และในมาตรา 41
ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้แก่หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ
โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และมาตรา 46 กำหนดว่าหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการและหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปีตามม.18(13)

  ฉะนั้นเมื่อมีการมอบงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกาบริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบ 30 บาทแล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้จ่ายงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรงอีกต่อไป กระทรวงสาธารณสุขมีช่องทางเดียวที่จะบอกให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทราบว่ามีเงินเพียงพอต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนหรือไม่ โดยการเสนอความคิดเห็นในการประชุมประจำปีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องจัดตามหน้าที่ในม.18(13)

  แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยจัดประชุมเลยและไม่เคยรับฟังความคิดเห็นว่าหน่วยบริการสาธารณสุขประสบกับปัญหาการขาดงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่ปรากฏว่าสปสช.กล่าวหาว่ารพ.กระทรวงสาธารณสุขมีกำไรด้วยซ้ำไป!

 นอกจากนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในม.18(3) ในการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตแต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้สปสช.โฆษณาประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศว่า 30 บาทรักษาทุกโรคต่อมาก็ประกาศว่ารักษาฟรีอย่างมีคุณภาพใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาได้ทุกโรงพยาบาล หรือในปัจจุบันก็ประกาศว่า 30 บาทเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการโดยไม่ต้องพักเที่ยง และยกเว้นไม่ต้องจ่ายอีก 20ประเภท และประเภทที่ 21ไม่ต้องการจ่ายก็ได้สิทธิ์นั้นทันที

   การโฆษณาประชาสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าจะต้องได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างดีที่สุด แต่ในเมื่อโรงพยาบาลไม่มีงบประมาณที่พอเพียงและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯก็ไม่รับฟังความคิดเห็นเรื่องการขาดงบประมาณที่เหมาะสมจากหน่วยบริการและไม่แก้ไขการขาดแคลนนั้นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถที่จะพัฒนาอาคารสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และไม่มีเงินจ้างบุคลากร เพิ่มให้พอรองรับจำนวนผู้ป่วย จนมีปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องนอนเตียงเสริมเตียงแทรกตามระเบียง หรือปูเสื่อนอนตามพื้น และต้องเสียเวลารอคอยเป็นครึ่งค่อนวัน
กว่าจะได้รับการตรวจรักษาแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับงบประมาณแผ่นดินในการบริหารจัดการในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลตามความจำเป็นและเหมาะสม
นอกจากนั้น โรงพยาบาลยังได้รับเงิน  "ค่าบริการสาธารณสุข"จากผู้ป่วยที่ไปรับบริการสาธารณสุข เรียกว่า "เงินบำรุง"โรงพยาบาลซึ่งผู้อำนวยการมีอำนาจที่จะใช้เงินบำรุงในขอบเขตที่กำหนด เพื่อที่จะพัฒนาและปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์รวมทั้งจ้างเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขมาเพิ่มจากอัตราข้าราชการและลูกจ้างประจำเพื่อให้สามารถให้บริการที่สะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว แก่ผู้ป่วยได้

แต่เมื่อเริ่มมีระบบ 30 บาทกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินที่จะจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลเลยและโรงพยาบาลก็เก็บเงินค่าบริการได้เพียงครั้งละ 30 บาทและต่อมาก็เก็บไม่ได้เลย ทำให้โรงพยาบาลขาดทั้งเงินงบประมาณแผ่นดิน และขาดเงินบำรุงโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินพัฒนาและปรับปรุงใดๆรวมทั้งไม่มีเงินจ้างบุคลากรที่ขาดแคลนอีกด้วยทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก และไม่มีความปลอดภัยในการไปรับบริการมากขึ้น

2.โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยมากเกินไป

โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ต้องรับภาระในการดูแลรักษาหรือให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ของระบบ30 บาท เพราะเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มีอยู่นั้น ตอนแรกเมื่อเริ่มโครงการ 30 บาทก็เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทด้วย
แต่ในระยะต่อมารพ.เอกชนส่วนใหญ่ก็ถอนตัวออกจากการร่วมโครงการนี้ ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขต้องรับภาระดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยมากขึ้นหลายเท่าตัวมีผู้ป่วยไปรับบริการสูงถึง 200 ล้านครั้ง/ปีในปัจจุบัน แต่บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีไม่พอเพียง อาคารสถานที่ก็คับแคบ และจำนวนผู้ป่วยก็มากขึ้น ทำให้มีสภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลผู้ป่วยต้องเสียเวลาในการไปโรงพยาบาลเกือบทั้งวัน เพื่อจะมีเวลาได้พบหน้าแพทย์เพียง 2- 4 นาทีทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อความเสียหายหรือความเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่แพทย์อธิบาย ผู้ป่วยขาดความเชื่อมั่นในการรักษา ได้ยาไปกินแล้วสองสามวันไม่หายก็เปลี่ยนโรงพยาบาล ไปรักษาที่อื่น ทำให้จำนวนผู้ป่วยยิ่งมากขึ้นและภาระงานของโรงพยาบาลก็มากขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

3.มาตรฐานการแพทย์ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขมีปัญหา

จากการที่สปสช.จ่ายเงิน "ค่าบริการสาธารณสุข"ให้แก่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลต่างๆไม่เพียงพอ แต่สปสช.กลับเอาเงินที่ควรจะส่งให้รพ.ไปทำโครงการในการรักษาโรคบางอย่างเองโดยไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.เช่นโครงการผ่าตัดต้อกระจก และโครงการอื่นๆอีกมากทำให้สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาโรคทั่วไปน้อยลง และสปสช.จำกัดรายการยาและรายการรักษา
ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่สามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสมและทันสมัยและในปัจจุบันนี้การจำกัดรายการยาแบบนี้กำลังจะถูกกรมบัญชีกลางนำไปใช้ในระบบสวัสดิการข้าราชการเพิ่มอีกด้วย การจำกัดรายการยาโดยอาศัยเพียงข้อจำกัดของงบประมาณจะทำให้ไม่มีการพัฒนาวิชาการทางการแพทย์ในระบบโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขอีกต่อไปทำให้ประชาชนที่พอมีเงิน ต้องหันไปรับบริการจากโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น จนมีรายงานในตลาดหลักทรัพย์ว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60% แต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขตกต่ำ ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากขึ้นทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ และมีผลไปจนถึงการผลักดันให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แทนที่จะป้องกันการเสียหาย โดยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการเพื่อทำให้ประชาชนปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น การเกิดความเสียหายก็เป็นภัยต่ประชาชนส่วนการออกพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯก็ทำให้เกิดการต่อต้านจากบุคลากร เพราะเกรงว่าจะทำให้เสี่ยงภัยจากการถูกฟ้องร้องมากขึ้นไปอีก

4.สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าประชาชนจะ "เข้าถึง"บริการมากขึ้น แต่ความจำกัดเรื่องงบประมาณต่างๆดังกล่าว ประกอบกับประชาชนไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรเลยไม่มีการกำหนดกฎกติกา ว่าจะไปรับบริการสาธารณสุขได้ปีละกี่ครั้งจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ปีละกี่ครั้ง
จะต้องไปพบแพทย์ทั่วไปก่อนจึงจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ จะต้องมีหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างไรถ้าเจ็บป่วยเพราะพฤติกรรมไม่ดี เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทำให้ป่วยบ่อยต้องไปรพ.มากกว่าปีละกี่ครั้งจะต้องจ่ายเงินค่ายาในการรักษาด้วย
ถ้าไม่ป่วยเลยในปีนั้นๆก็อาจจะได้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณกันบ้างและควรให้ผู้ป่วยที่ไม่ยากจนต้องจ่ายค่ายยาตามอัตราส่วนเช่น10-20%ของมูลค่ายา ไม่ใช่ไม่จ่ายเลยหรือจ่ายแค่ครั้งละ 30 บาทซึ่งเป็นราคาที่ถูกมาก การที่ให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ายาก็เพื่อให้ตระหนักใน"มูลค่า"ที่ต้องจ่ายไปในการที่จะได้ยาเพราะคนไทยมักจะมองว่าของที่รัฐบาลให้นั้นมันฟรีไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งว่ามันก็มาจากเงินภาษีของทุกคนจึงใช้ของฟรีอย่างทิ้งๆขว้างๆโดยรัฐมนตรีก็ส่งเสริมการใช้ยาแบบทิ้งๆขว้างๆโดยการเอายามาแลกไข่ไปกินได้อีก (โดยยาที่แลกมาก็ต้องทิ้งไปเพราะไม่แน่ใจในชนิดและคุณภาพของยา)แต่สำหรับประชาชนที่ยากไร้และสมควรได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล(เช่นพิการ)ก็ควรจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงิน

5.งบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม และเป็นภาระหนักแก่งบประมาณแผ่นดิน

การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้มีการตั้งสำนักงาน มีกรรมการ อนุกรรมการและบุคลากรประจำสำนักงานสปสช.มากมาย และไปประจำทุกพื้นที่ของประเทศ มีการจัดสรรงบประมาณบริหารสำนักงาน
เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงแก่บุคลากร กรรมการและอนุกรรมการมากมายทั้งๆที่มีหน้าที่เพียงแค่ บริหารกองทุน แต่ทำให้ต้องจ่ายเงินจ้างบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและกรรมการส่วนหนึ่งก็เป็นข้าราชการประจำที่ได้รับเงินเดือนประจำอยู่แล้ว
ก็มารับเงินเบี้ยประชุมอีกทำให้งบประมาณแผ่นดินถูกจ่ายซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข แต่เป็นกรรมการจากกลุ่มเอกชน ที่มีความใกล้ชิดกับสปสช.
และเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนรัฐบาลก็พยายามจำกัดงบประมาณ แต่ไม่กล้าที่จะบอกประชาชนว่าคุณภาพที่ดีๆนั้นหาไม่ได้จากราคาถูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพทย์ปัจจุบันก้าวหน้าไปทุกเวลา แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะบังคับให้ใช้แต่ยาเดิมๆซึ่งไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงบางอย่างได้

  นอกจากนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯยังไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอย่างแท้จริง
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาสุขภาพก็แยกออกไปเป็นองค์กรอิสระนอกเหนือการควบคุมของนักการเมืองและราชการ
แต่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ในการทำงานโดยมีอำนาจการบริหารจากคณะกรรมการในรูปแบบเดียวกับสปสช. และบุคคลในกลุ่มเดียวกันซึ่งน่าจะเป็นการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง   ในการเป็นคณะกรรมการในองค์กรต่างๆเหล่านี้ เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ซึ่งมีองค์กรลูกอีกมากมายหลายองค์กร เช่น สรพ.(สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล)
สพตร.(คณะกรรมการพัฒนาการตรวจสอบระบบการรักษาพยาบาล) ซึ่งสพตร.นี้ก็ไปตรวจสอบการสั่งยาของแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆและระบุว่าแพทย์"ยิงยา"กล่าวคือสั่งยาโดยไม่ถูกต้องเพราะมีประโยชน์จากบริษัทยา พร้อมทั้งส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบ  ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีการทุจริตแต่อย่างใดกลายเป็นว่าสพตร.ที่มีแพทย์เพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทุกโรคกลับไปเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของผู้เชี่ยวชาญแบบนี้ สมควรหรือไม่?) ซึ่งสำนักงานต่างๆเหล่านี้ ต่างก็ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะได้รับงบประมาณแผ่นดินในการบริหารงาน แต่การดำเนินการต่างๆไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐบาลว่าได้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่

6.อวสานกระทรวงสาธารณสุข

เนื่องจากการบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขนั้นขาดเอกภาพ กล่าวคือมีแต่ภาระงาน  ไม่มีงบประมาณ ไม่สามารถทำตามนโยบายใดๆได้ต้องทำตามคำสั่งและมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกอย่างตลอดไปจนการสั่งยาของแพทย์
จึงเท่ากับว่าไม่มีอำนาจใดๆในการทำงาน ต้องตกเป็น "เมืองขึ้น"ของสปสช. ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดองค์กรตระกูลส.ต่างดังกล่าวแล้ว ได้แก่สวรส.(และองค์กรลูกอีก 6 องค์กร) สสส. สช. และสปสช. ได้มองว่าการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากเขาได้บอกว่า ในอนาคตนั้น "ระบบสุขภาพ"นั้นจะไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล(รัฐมนตรี)และระบบราชการส่วนกลาง(ปลัดกระทรวง)เลย เพราะเขาบอกว่า สช.จะเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายผ่านการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและรัฐบาลต้องทำตามเพราะบัญญัติไว้แล้วในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550

 สสส.จะเป็นผู้จัดการให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ สปสช.จะเป็นฝ่ายควบคุมการบริหารงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดจะเป็นผู้จัดบริการสาธารณสุข ข้อสุดท้ายนี้ ก็คือมหันตภัยอันยิ่งใหญ่ต่อระบบบริการสาธารณสุข
และกระทรวงสาธารณสุขจะถึงกาลอวสาน  (ไม่ต้องมีอยู่อีกต่อไป)

   พร้อมกับการอวสานของการบริหารราชการแผ่นดินโดยผู้แทนราษฎร(สส) และอวสานของมาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพราะกลุ่มองค์กรอิสระเหล่านี้ อ้างผลประโยชน์ประชาชนบังหน้า แต่แท้ที่จริงแล้ว จำกัดงบประมาณในการรักษาทำให้จำกัดมาตรฐานการบริการแต่ใช้งบประมาณตอบแทนพวกพ้องจนร่ำรวยไปตามๆกัน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
4 กันยายน 2555

7179
 อาชีพการเลี้ยงวัว-ควายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ควายไทยให้คงอยู่ แต่ปัจจุบันปริมาณวัว ควายไทยลดลงอย่างมากเนื่องจากมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ด่านพรมแดนสากลมุกดาหารพบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 200 ตัว/วัน
       
       อาชีพการเลี้ยงโค กระบือเพื่อใช้งานและขายบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยอนุรักษ์โค กระบือไทยให้คงอยู่ ที่สำคัญยังสร้างรายได้เลี้ยงชีพครอบครัวเกษตรกร โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการจัดทำโครงการรวมใจภักดิ์อนุรักษ์ควายไทย พร้อมจัดตั้งเป็นธนาคารโค-กระบือตามแนวพระราชดำริฯ สนับสนุนทั้งวัคซีนและเชื้อผสมพันธุ์ฟรีแก่เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงควาย
       
       แต่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมากลับพบว่าปริมาณการเลี้ยงโค กระบือไทยเพื่อใช้งานมีจำนวนลดลง จากข้อมูลจังหวัดมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 5,046 ครัวเรือน จำนวนควาย 20,539 ตัว เป็นควายที่สามารถใช้แรงงานได้เพียง 257 ตัว หรือประมาณ ร้อยละ 1.25 ของจำนวนควายทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าควายไทยที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและการอนุรักษ์หายไปไหน
       
       จากคำบอกเล่าของเกษตรกร พบว่าสาเหตุที่ปริมาณวัว ควายไทยลดลงก็เนื่องมาจากความนิยมในปัจจุบันเปลี่ยนจากการใช้แรงงานควายมาเป็นการใช้เครื่องจักรในการทำนา นอกจากนี้ มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประชากร “ควายไทย” ลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ คือการส่งออก
       
       นางสาวพรพิมล สัตยาภินันท์ นายด่านศุลกากรมุกดาหาร กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่บริเวณด่านพรมแดนมุกดาหาร พบว่าปริมาณการส่งออกวัว ควายไปลาว เวียดนาม และจีนมีมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 จนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีปริมาณวัว ควายที่ส่งออกรวมแล้ว 8,370 ตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ของวัว ควายไทย
       
       ดังนั้น แม้ภาครัฐจะให้ความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์ควายไทยอยู่แล้วก็ตาม หากยังมีนายทุนที่มุ่งหวังรายได้จากการส่งออกเพื่อการค้า การส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ย่อมไม่ได้ผล ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่ออนุรักษ์ควายไทยไม่ให้หายไปเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
       
       ปัจจุบันการส่งออก โค และกระบือที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขตแต่ละวัน มีการส่งออกไปแขวงสะหวันนะเขตประมาณ 200-400 ตัว โดยจะมีรถบรรทุกโค กระบือ มาจอดถ่ายโค กระบือที่ทางเข้าด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 มุกดาหาร เป็นจำนวนมากโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่มีการกักกันเพื่อรอตรวจหาโรคติดต่อที่มากับโค และกระบือ
       
       นางสาวพรพิมลระบุว่า โค กระบือที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ เพราะโค กระบือส่วนใหญ่ได้นำมาจากต่างจังหวัด หลายจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งการส่งออกที่จังหวัดมุกดาหารเห็นได้ว่าไม่มีการกักกันแต่อย่างใด เพราะรถบรรทุกที่ขนโค กระบือ จะมาขนถ่ายกันที่ถนนทางเข้าด่านสะพาน แล้วก็วิ่งผ่านด่านไปยังแขวงสะหวันนะเขต หากเป็นเช่นนี้วัว ควายในประเทศไทยคงจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2555

7180
  เอเอฟพี - กลุ่ม ส.ส.เกาหลีใต้ 20 คนเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายตัดองคชาติผู้กระทำผิดคดีทางเพศซ้ำซาก วันนี้ (5) หลังเกิดคดีอาชญากรรมทางเพศติดต่อกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้ชาวเมืองกิมจิรู้สึกโกรธแค้น
       
       หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ศาลจะสามารถสั่งลงโทษตัดอวัยวะเพศผู้กระทำผิดคดีทางเพศที่การอบรมพฤติกรรมหรือฉีดสารเคมีเพื่อระงับอารมณ์ใคร่ใช้ไม่ได้ผล
       
       เมื่อปี 2010 รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ออกกฎหมาย “ตอนทางเคมี” สำหรับอาชญากรที่ก่อคดีทางเพศต่อผู้เยาว์ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีซ้ำหลายครั้ง ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้ก็เริ่มใช้วิธีฉีดสารเคมีเพื่อปรับฮอร์โมนให้ชายวัย 45 ปีคนหนึ่ง ซึ่งรับโทษจำคุกมาแล้ว 10 ปีฐานพยายามข่มขืนเด็กหญิงวัย 10 ขวบ
       
       อย่างไรก็ดี แพทย์หญิง ปาร์ก อิน-ซุก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ส. 20 คนที่เสนอกฎหมายตัดอวัยวะเพศชี้ว่า การฉีดสารเคมีนั้นให้ผลเพียงชั่วคราว และผู้ต้องหาจะกลับไปมีความต้องการทางเพศในระดับเดิมหากหยุดการรักษา
       
       “เราต้องใช้วิธีที่เด็ดขาดกว่านั้น เช่น การตอนทางร่างกาย เพื่อป้องกันมิให้พวกเขาทำผิดได้อีก” ปาร์กให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
       
       ปาร์ก จอง-วอน ผู้ช่วยของแพทย์หญิงปาร์ก อธิบายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐสภาอีกหลายชุด ก่อนจะมีการลงมติขั้นสุดท้ายในที่ประชุมสภาแห่งชาติ ซึ่งเขาเชื่อว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่
       
       รัฐบาลกรุงโซลกำลังเผชิญแรงกดดันจากสังคมให้ออกมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเพศ หลังเกิดคดีสะเทือนขวัญหลายคดีในช่วงไม่นานมานี้
       
       เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดี อี มย็อง-บัก ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้ออกมาแถลงขอโทษประชาชนหลังเกิดกรณีเด็กหญิงวัย 7 ขวบคนหนึ่งถูกลักพาตัวไปจากบ้านและข่มขืนอย่างทารุณ ซึ่งตำรวจสามารถจับกุมตัวคนร้ายวัย 20 กว่าๆ ได้
       
       เมื่อเดือนสิงหาคมเช่นกัน ชายผู้ก่อคดีทางเพศจนถูกทางการติดตั้งอุปกรณ์ตามตัว ได้พยายามเข้าไปข่มขืนผู้หญิงที่ผับแห่งหนึ่ง ก่อนจะก่อเหตุแทงชายคนหนึ่งเสียชีวิต และทำร้ายอีก 4 คนได้รับบาดเจ็บ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2555

7181
ผบช.น.เปิดโครงการ “หมอบนถนน” จัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือคนท้องที่ติดอยู่ในรถบนถนนท่ามกลางการจราจรที่ติดขัด สั่งเตรียมพร้อม 24 ชม.
       
       วันนี้ (5 ก.ย.) เวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. แถลงถึงการจัดทำโครงการ “หมอบนถนน” เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงใกล้คลอดที่ไม่สามารถไปทันโรงพยาบาลได้เนื่องจากการจราจรติดขัดว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริได้ทำคลอดหญิงในรถเก๋งบนทางคู่ขนานลอยฟ้าขาเข้า แขวงและเขตตลิ่งชัน กทม. ปรากฏว่าได้ลูกแฝดเป็นเพศชายทั้ง 2 คน จนเกิดปัญหาจราจรติดขัด เพราะปริมาณรถยนต์เยอะมาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่
       
       พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้มองในส่วนกรณีที่มีการทำคลอดเร่งด่วน ได้กำชับให้ผู้รับผิดชอบเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถที่จะเรียกเจ้าหน้าที่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประชาชนอาจจะไปโรงพยาบาลไม่ทันเพราะการจราจรติดขัด โดยจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลางไปนำรถออกมาเพื่อไปให้ทันเวลาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าฉุกเฉินไม่สามารถไปได้ทันเวลา เจ้าหน้าที่จะมีอุปกรณ์ในการทำคลอดเตรียมพร้อมไว้อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการอบรมในโครงการพระราชดำริและจะมีอุปกรณ์ชนิดนี้ติดรถทุกคัน พร้อมที่จะช่วยเหลือทำคลอดตลอดเวลา
       
       “ถ้าประชาชนอยู่ที่บ้านพักแล้วกำลังปวดท้องคลอด ซึ่งหากออกมาไม่ทันสามารถเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลางมาได้เลยจะออกไปให้บริการทันที ทางด้านตำรวจจราจรกลางจะมีการอบรมทุกปี แต่ความเชี่ยวชาญขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่ได้ทำการคลอดเป็นประจำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประจำทั่วกรุงเทพ ประมาณ 70 คน” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว
       
       สำหรับชุดการช่วยคลอดฉุกเฉิน ประกอบด้วย ลูกยางแดง ไว้ดูดเอาน้ำเมือก น้ำคล้ำ ออกจากปากหรือจมูกของเด็ก, ผ้าที่ใช้ห่อเด็กหรือซับเลือดของแม่ที่เบาะรถ, ถุงมือ,สำลี, ยาเบทาดีน, แคมป์หนีบ เจ้าหน้าที่จะไม่ตัดสายสะดือแต่จะเอาแคมหนีบไว้ หากมีความจำเป็นต้องตัด คือ กรณีที่เด็กหายใจไม่ดี จะใช้มีดฆ่าเชื้อตัดสายสะดือออก ซึ่งใน 1 ปีถ้าใช้อุปกรณ์ไม่หมดทางโรงพยาบาลกรุงเทพจะนำไปอบฆ่าเชื้อใหม่ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเหลือคนเจ็บ คนแก่ เพียงแค่ให้แจ้งมาเหมือนกัน
       
       พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวอีกว่า ส่วนเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งเข้ามาได้ตลอด เช่น เบอร์ 191, 1197, 1255, สวพ. 91, จส.100 หรือเบอร์โทรศัพท์วิทยุในโครงการพระราชดำริ คือ 0-2354-6177 หรือ 0-2354-6324 และจะทำสติกเกอร์ติดเพื่อประชาสัมพันธ์ตามสี่แยกต่างๆ เพราะหากเด็กเกิดไปคลอดบนรถแล้วเสียชีวิตขึ้นมามันทำให้เกิดการสูญเสียขึ้น

manager.co.th  5 กันยายน 2555

7182
 วันนี้ (5 ก.ย.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ขณะนี้การผลิตยาซิลเดนาฟิลเพื่อแก้ไขอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนของ อย.แล้ว โดยเตรียมการแถลงข่าว และวางจำหน่ายใน 15 ตุลาคม 2555 นี้ โดยการผลิตยาดังกล่าวก็เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของยาปลอม ประกอบกับสังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้กลุ่มยาดังกล่าวเป็นที่นิยม การที่ยามีราคาแพง ทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษา ทั้งนี้ จะจำหน่ายยาดังกล่าวในขนาด 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัม โดยขนาด 50 มิลลิกรัม ตกราคาเม็ดละ 25 บาท และมีความเหมาะสมกับคนไทย สำหรับยาไวอะกร้าที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่ตกเม็ดละ 200 บาท
       
       ส่วนความเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทาง อภ.ได้ปรับปรุงโรงงานผลิตยาที่รังสิตให้ได้มาตรฐาน PICS ทำให้ยาได้มาตรฐานระดับเดียวกับอาเซียน โดยมีการกำลังกายผลิต 5,000 ล้านเม็ด และเตรียมรุกตลาดยาอาเซียน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ในกลุ่มยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเอดส์ พร้อมยอมรับการรุกตลาดยาในประเทศอินโดนีเซียลำบาก เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายในอินโดเนียบังคับให้ต้องมีฐานการผลิตยาในประเทศเท่านั้น จึงจะสามารถจำหน่ายยาได้ ทำให้เตรียมนำยากึ่งสำเร็จ เข้าไปบรรจุและจำหน่ายแทน

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2555

7183
  เปิดมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ “นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก” เน้นเผยแพร่นวดไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งไทยและเทศ หลังยูเนสโกขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำโลก ด้าน “วิทยา” สั่งเร่งผลิตแพทย์แผนไทยประจำ รพ.สต.400 แห่งในปี 2556 พร้อมเปิดโรงพยาบาลรักษาด้วยแพทย์แผนไทย เชื่อช่วยลดการใช้ยา
       
       วันนี้ (5 ก.ย.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด “นวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก” และการประชุมการแพทย์พื้นบ้านแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย.2555 ว่า ที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดสินค้าสมุนไพร ยาแผนดั้งเดิม อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร ในประเทศไทยในปี 2554 มีมูลค่าถึง 2,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมูลค่าอุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพรสูงถึง 30,000 ล้านบาท รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญในการส่งเสริม คุ้มครอง อนุรักษ์ภูิมิปัญญาไทย และส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ

       นายวิทยา กล่าวอีกว่า ในปี 2556 ได้วางแผนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร 4 เรื่อง ได้แก่
1.เร่งผลิตแพทย์แผนไทยส่งไปประจำในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ได้ 400 แห่ง
2.พัฒนาโรงพยาบาลตรวจรักษาดูแลด้วยการแพทย์แผนไทยต้นแบบ โดยจะเปิดให้บริการ 14 แห่ง ซึ่งจะมีบริการนวดเพื่อการรักษาและนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด และยาคลายเครียดได้มาก
3.จัดทำราคากลางอ้างอิงยาแผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้สถานบริการจัดซื้อในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ราคากลางมีเฉพาะยาแผนปัจจุบัน และ
4.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้ 100 รายการ ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 71 รายการ ซึ่งจะทำให้มียาสมุนไพรที่มีคุณภาพและความปลอดภัย รักษาอาการเจ็บป่วยมากขึ้น
       
       “การนวดไทยถือเป็นการบำบัดอาการปวดเมื่อยที่ได้ผลดีมากและให้ผลทางจิตใจ โดยจะมีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้การนวดอย่างเป็นระบบ ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ และนำเข้าสู่ระบบการรักษาอาการปวดเมื่อย เนื่องจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ได้รับการขึ้นทะเบียนนานาชาติจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ได้มีการรวบรวมความรู้ต่างๆ ของไทยหลายหมวด จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน 1,360 แผ่น และหนึ่งในนั้นเป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง อนามัย ตำรายา ตำราแพทย์แผนไทย และมีการปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวน 80 ท่า เพื่อใช้อธิบายประกอบตำรับตำรา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจัดประชุมการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงครั้งที่ 5 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมาร์ ไทย และ เวียดนาม ซึ่งได้มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขง ร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์การแพทย์พื้นบ้านลุ่มน้ำโขงต่อไป
       
       ทั้งนี้ นายวิทยา ยังได้มอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ.2555 แก่ พ่อหมอสง่า พันธุ์สายศรี หมอพื้นบ้านเหยียบเหล็กแดง แห่งตำบลพะยอม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวิธีการช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วย
       
       สำหรับกิจกรรมภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 อาทิ การแสดงวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การประชุมวิชาการประจำปี มีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แผนยุทธศาสตร์การนวดไทย มรดกไทยสู่มรดกโลก พ.ศ.2555-2559” การประกวดผลงานวิชาการ การฝึกอบรมระยะสั้น 50 หลักสูตร พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การนวดตนเองด้วยอุปกรณ์โบราณ การตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน สวนสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ซึ่งจะมีการแจกต้นไม้วันละกว่า 3,000 ต้น และหนังสือบันทึกของแผ่นดิน 5 สมุนไพร เป็นต้น

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2555

7184
 1. ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก “แพรวา” 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี พร้อมห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปี!

       เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา อายุ 18 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
       
       คดีนี้ อัยการฯ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2553 เวลากลางคืน จำเลยได้ขับรถฮอนด้า ซีวิค ทะเบียน ฎว 8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ มุ่งหน้าถนนดินแดงด้วยความเร็วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจำเลยได้กระทำการประมาท โดยปราศจากความระมัดระวัง เมื่อมาถึงบริเวณแยกทางลงบางเขนช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำเลยได้เปลี่ยนช่องทางไปมา จากขวาสุดไปซ้าย และเปลี่ยนกลับมาขวาอีกครั้ง เป็นเหตุให้รถของจำเลยพุ่งเข้าชนรถตู้โดยสาร ทะเบียน 13-7795 กรุงเทพมหานคร ที่วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีนางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับ ทำให้รถตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์ พลิกคว่ำพังเสียหาย ขณะที่คนขับรถตู้และผู้โดยสารกระเด็นออกจากตัวรถตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 รายและบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง ส่วนรถของจำเลยแฉลบเลยจากรถตู้ประมาณ 50 เมตร นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถด้วย โดยมีหลักฐานเป็นรายงานการใช้โทรศัพท์ของจำเลย อย่างไรก็ตามในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา
       
       ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีประจักษ์พยานเป็นผู้เสียหายที่โดยสารมากับรถตู้ รวมทั้งมีพยานเป็นพนักงานขับรถยกของท่าอากาศยานดอนเมืองที่ขับรถตามมาก่อนเกิดเหตุ ภาพวงจรปิดบนทางด่วน และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง จึงพิพากษาจำคุกจำเลย 3 ปี ในความผิดฐานขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ให้คุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะอายุ 25 ปี ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถนั้น ศาลยกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่ เพราะอยู่ในรถ
       
       หลังฟังคำพิพากษา นางยุวดี เยี่ยงยุกดิ์สากล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า จะยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลไม่รอลงอาญาจำเลยหรือไม่ รวมทั้งอุทธรณ์ข้อหาจำเลยใช้โทรศัพท์ขณะขับรถหรือไม่ ต้องขอคัดคำพิพากษาไปปรึกษาอธิบดีอัยการฝ่ายคดีเยาวชนฯ ก่อน อย่างไรก็ตาม นางยุวดี บอกว่า ตามข้อกฎหมายแล้ว ห้ามอุทธรณ์ข้อหาใช้โทรศัพท์ เพราะมีโทษแค่ปรับเท่านั้น ยกเว้นจะได้รับการรับรอง และว่า หากโจทก์ร่วมต้องการยื่นอุทธรณ์คดี ก็สามารถทำได้ทันทีภายใน 1 เดือน นางยุวดี ยังพูดถึงคำพิพากษาของศาลด้วยว่า “คดีนี้ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง ซึ่งเป็นธรรมชาติของคดีเยาวชนที่มุ่งเน้นแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเยาวชน”
       
       ด้านนางถวิล เช้าเที่ยง มารดาของนายศาสตรา หรือ ดร.เป็ด นักวิจัย อดีตนักเรียนทุน ก.พ. ซึ่งเสียชีวิตจากกรณีแพรวาซิ่งซีวิคชนรถตู้ บอกว่า พอใจคำพิพากษา ส่วนจะอุทธรณ์หรือจะดำเนินคดีทางแพ่งอย่างไร ต้องปรึกษาทนายความอีกครั้ง และว่า หลังจากนี้ จะไปบอกลูกชายว่าศาลพิพากษาลงโทษและได้ภาคทัณฑ์จำเลยแล้ว
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.แพรวา จำเลย ได้เดินทางมาศาลพร้อมพ่อ-แม่และทนายความ โดยหลังรู้ผลคำพิพากษาว่าจำคุก แต่รอลงอาญา น.ส.แพรวาและครอบครัวได้เดินออกจากห้องพิจารณาด้วยสีหน้าที่แสดงอาการโล่งใจ
       
       2. “สุกำพล” ยัวะถูกร้องเรียนล้วงลูกย้ายทหาร สั่งเด้งฟ้าผ่าปลัด กห. ด้าน “ปชป.”ซัด ลุแก่อำนาจ ขณะที่ “ประยุทธ์”ปัดวิจารณ์!

       จากกรณีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. โดยขออนุญาตเข้าพบเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมประจำปี 2555 เนื่องจากเห็นว่าการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่แทน พล.อ.เสถียร ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ แต่ พล.อ.เสถียร ไม่เห็นด้วย เพราะยังมีนายพลคนอื่นที่อาวุโสสูงกว่า พล.อ.ทนงศักดิ์ ประกอบกับมีรายงานว่า พล.อ.เสถียร เห็นว่า พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม มีความเหมาะสมกับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมมากกว่า พล.อ.เสถียร จึงทำหนังสือขอเข้าพบนายกฯ เพื่อร้องเรียนเรื่องดังกล่าว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้เข้าพบ โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ บอก(26 ส.ค.)ว่า หนังสือของ พล.อ.เสถียรที่ทำถึงนายกฯ อยู่ที่ตน โดยจะแจ้งกลับไปว่า นายกฯ ไม่สามารถให้เข้าพบได้ เพราะอาจถูกมองว่านายกฯ เข้าไปแทรกแซงการทำงานของกองทัพ ดังนั้น พล.อ.เสถียร และ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องไปหารือกันเอง
       
       ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล บอก(26 ส.ค.)ว่า จะคุยกับ พล.อ.เสถียรถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่จะคุยวันไหนยังตอบไม่ได้ต้องดูอีกที พร้อมยืนยันว่า ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(27 ส.ค.) พล.อ.อ.สุกำพลได้มีคำสั่งเด้งฟ้าผ่าให้ พล.อ.เสถียรไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยให้ไปรายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.-30 ก.ย. พร้อมกันนี้ยังมีคำสั่งให้ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเช่นกัน โดยให้ไปรายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.เป็นต้นไป นอกจากนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหมคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทน พล.อ.เสถียร ส่วน พล.ร.อ.รุ่งรัตน์ บุณยรัตพันธุ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติหน้าที่แทน พล.อ.ชาตรี และ พล.ท.ชาญ โกมลหิรัญ รองเจ้ากรมเสมียนตรา ปฏิบัติหน้าที่แทน พล.อ.พิณพาษณ์
       
       ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกำพล เผยเหตุที่มีคำสั่งย้าย พล.อ.เสถียรไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมว่า เพื่อให้การทำงานภายในกระทรวงคล่องตัวขึ้น เพราะที่ผ่านมาการทำงานไม่ไหลลื่น “ผมยืนยันว่า การย้าย พล.อ.เสถียร ไม่ใช่การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทหาร แต่การทำหน้าที่ของ พล.อ.เสถียร ถือว่าทำไม่ถูกต้อง ที่นำเรื่องภายในกระทรวงกลาโหมออกไปพูด ทำให้เกิดผลกระทบต่อกระทรวง”
       
       ด้าน พล.อ.เสถียร บอกว่า ตนยังไม่เห็นคำสั่ง พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่ตนทำ ทำไปตามความถูกต้อง ทำตามตัวบทกฎหมาย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ยอมรับสภาพ แล้วแต่ผู้บังคับบัญชา ไม่เป็นไร พล.อ.เสถียร ยังบอกด้วยว่า เมื่อตนโดนแบบนี้ อีกหน่อยผู้บัญชาการเหล่าทัพก็โดนเหมือนกัน ดูตนเป็นตัวอย่าง ส่วนจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ พล.อ.เสถียรปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
       
       ขณะที่ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม บอกว่า ยังไม่ทราบเหตุผลที่ถูกย้ายไปช่วยราชการ แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2555 เพราะเป็นแค่ 1 ในแคนดิเดตที่ถูกเสนอให้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่เท่านั้น “การย้ายผมไปช่วยราชการ หากไม่เป็นธรรม ก็ต้องขอหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายก่อน ...ยังไม่เห็นเอกสาร จึงไม่อยากเอป็นผู้ร้าย ให้อีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายไปฝ่ายเดียวดีกว่า...”
       
       ทั้งนี้ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพล โดยนายโกวิทย์ ธารณา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้โจมตี พล.อ.อ.สุกำพลและรัฐบาลว่า ลุแก่อำนาจแทรกแซงโผทหาร เมื่อถูกจับได้ว่าทำผิดขั้นตอน กลับไม่ปรับปรุง แต่ใช้อำนาจสั่งย้ายเข้ากรุ และว่า การกระทำของ พล.อ.อ.สุกำพลเป็นการทำลายองค์กรทหาร และทำลายอนาคตของนายทหารดีดีคนหนึ่ง ทั้งที่ พล.อ.เสถียรควรจะเกษียณอย่างสง่างามในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมที่เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน
       
       ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล ได้ออกมายืนยันว่า เป็นสิทธิและอำนาจของตนที่จะสั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหมไปช่วยราชการ ส่วนที่ พล.อ.ชาตรี เตรียมฟ้องร้องขอความเป็นธรรมนั้น พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า จะให้ความเป็นธรรม ถ้า พล.อ.ชาตรีเดินมาหามาคุย ตนก็คุยด้วย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง พล.อ.อ.สุกำพล เปิดทางพร้อมคุยกับผู้ที่ถูกย้ายไปช่วยราชการ ปรากฏว่า พล.อ.พิณพาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ได้ทำหนังสือขอเข้าพบเพื่อขอขมา พล.อ.อ.สุกำพล เมื่อวันที่ 29 ส.ค. หลัง พล.อ.อ.สุกำพลอนุญาตให้เข้าพบที่ห้องทำงานภายในกระทรวงกลาโหม พล.อ.พิณพาษณ์ได้นำดอกไม้ ธูปเทียน มาไหว้ขอขมา โดยยอมรับผิดทุกประการ พร้อมยืนยันว่า คำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพลที่ให้ไปช่วยราชการนั้นถูกต้องแล้ว ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล บอกว่า เมื่อขอโทษแล้วก็ต้องให้อภัยกัน เพราะเป็นพี่น้องกัน เมื่อผิดก็ต้องยอมรับผิด และว่า ต่อไปนี้ไม่มีอะไรติดใจต่อกัน ส่วนคำสั่งที่ออกไปนั้น ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร
       
       ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแฉพฤติกรรมของรัฐบาลที่พยายามทุกวิถีทางที่จะล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารและผลักดันคนของตัวเองให้ได้ตำแหน่ง โดยเฉพาะการผลักดัน พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ โดยมีเจ๊ “ด.” อยู่เบื้องหลัง “มีข้อมูลว่า พล.อ.ทนงศักดิ์มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับเด็กคนหนึ่งของเจ๊ “ด.” ผู้กว้างขวางทางภาคเหนือ ขาใหญ่ดูแลนักการเมืองหลายระดับใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ถ้ายังทำงานรับคำสั่งจากผู้มีบารมีนอกพรรค คิดว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก”
       
       หลังนายองอาจพาดพิงถึงเจ๊ “ด.” ปรากฏว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาปฏิเสธว่า ตนไม่ได้อยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารหรือปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริต และว่า ตั้งแต่พ้นโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ตนก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายการเมืองอีก “ดิฉันไม่อยากให้เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป เพราะทำให้เกิดความเสียหาย...”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.อ.สุกำพลสั่งย้ายปลัดกระทรวงกลาโหมไปช่วยราชการ โดยบอกว่า การย้าย การลงโทษและการให้ความดีความชอบ เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา ไม่ขอวิจารณ์ แต่ยืนยันว่า พล.อ.เสถียรยังคงเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมอยู่ เพียงแต่ไปช่วราชการเท่านั้น ซึ่งคงต้องคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด “ผมทราบข่าวก็ไม่สบายใจ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา เพราะทหาร คำว่าผู้บังคับบัญชาสำคัญที่สุด...”
       
       3. “ทักษิณ-สุริยะ” รอด ป.ป.ช. ไม่ฟ้องคดีทุจริตซีทีเอ็กซ์ อ้าง หลักฐานไม่พอ ขณะที่ 6 จนท.รัฐส่อไม่รอด ถูกตั้งอนุ กก.ไต่สวน!

       เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด(ซีทีเอ็กซ์ 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้แถลงความคืบหน้าของคดีกรณีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้ตั้งข้อหาผู้เกี่ยวข้อง 2 ข้อหา คือ 1.บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่(บทม.) ว่าจ้างบริษัทกิจการค้าร่วมค้าไอทีโอ จัดหาระบบสายพานลำเลียงฯ โดยไม่ชอบด้วยยกฎหมายหรือไม่ 2.บทม.ออกหน้าเป็นตัวแทนบริษัทนายหน้าจัดซื้อเครื่องตรวจสอบซีทีเอ็กซ์เสียเองหรือไม่
       
       ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า สำนวนของ คตส.จำนวน 560 แผ่น และเอกสารอื่นๆ ยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณา ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ป.ป.ช.จึงได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา(เอฟบีไอ) ได้ส่งเอกสารเพิ่มมาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจำนวน 5,000 แผ่น แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ,นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฯลฯ
       
       อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า เอกสารบางส่วนแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง 6 คนในคดีนี้น่าจะมีมูลความผิด แต่ คตส.ไม่ได้ไต่สวนไว้ ประกอบด้วย นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน บทม. ,พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธาน บทม. ,นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ,นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ ,นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขะพงศ์ กรรมการ บทม. ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการ บทม. และได้เดินทางไปดูงานที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีหลักฐานเป็นใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่ายว่าบริษัทตัวแทนขายเครื่องซีทีเอ็กซ์จ่ายค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าเล่นกอล์ฟให้ นอกจากนี้ยังพบว่า กรรมการบางคนได้พาภรรยาและครอบครัวไปด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ และมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐทั้ง 6 คนดังกล่าวว่าเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่ นอกจากนี้หากพบว่ามีหลักฐานใหม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตจัดซื้อและติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ ก็สามารถหยิบคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้
       
       ทั้งนี้ นายวิชัย ยืนยันว่า การพิจารณาคดีนี้ของ ป.ป.ช.ไม่ใช่มวยล้ม เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่ได้มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การจะไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่มีเหตุผล พร้อมย้ำว่า ข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ได้ถูกตัดตอน จนไม่สามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ และที่ผ่านมาก็ไม่ได้ยื้อคดีแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการพิจารณาคดีซีทีเอ็กซ์ครั้งนี้ ไม่มีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีต คตส. ร่วมพิจารณาด้วยแต่อย่างใด
       
       4. “ปลอดประสพ” เตรียมซ้อมปล่อยน้ำเข้ากรุงทดสอบระบบระบายน้ำ 5 และ 7 ก.ย.นี้ ด้าน “สุขุมพันธุ์” ลั่น หากเกิดอุบัติเหตุ รบ.ต้องรับผิดชอบ!

       เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เผยว่า ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ จะมีการทดสอบการระบายน้ำและขีดความสามารถของการระบายน้ำในคูคลองในกรุงเทพฯ เพื่อทดสอบความพร้อมในการรับมือน้ำเหนือที่จะลงมากรุงเทพฯ ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นการทดลองโมเดลระบบระบายน้ำใหม่ครั้งแรกในพื้นที่จริง โดยการทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กบอ.กับกรมชลประทาน กองทัพเรือ และกรุงเทพมหานคร(กทม.)
       
        ทั้งนี้ นายปลอดประสพ บอกประชาชนว่าอย่าตกใจกับการทดสอบครั้งนี้ เพราะน้ำที่จะระบายลงมากรุงเทพฯ มีปริมาณไม่มาก “การทดสอบปล่อยน้ำครั้งนี้ จะปล่อยไม่เกิน 20 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที โดยวันที่ 5 ก.ย. จะทดสอบในฝั่งตะวันตก บริเวณคลองทวีวัฒนาและคลองอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และวันที่ 7 ก.ย. จะทดสอบฝั่งตะวันออก บริเวณคลองระพีพัฒน์และคลองลาดพร้าว... ยืนนยันว่าการทดสอบจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการเกษตรด้วย และหากเกิดสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย จะหยุดการทดสอบทันที”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายฝ่ายไม่มั่นใจว่าการทดสอบระบบการระบายน้ำดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนตามที่นายปลอดประสพยืนยัน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาช่วยนายปลอดประสพการันตีว่า พี่น้องประชาชนที่อยู่ริมคลองสบายใจได้ ไม่ต้องห่วง เพราะการทดสอบการระบายน้ำครั้งนี้ทำด้วยความระมัดระวัง หากมีผลกระทบ พร้อมที่จะหยุดทันทีอยู่แล้ว
       
        ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม.ค่อนข้างเป็นห่วงกลัวว่าการทดสอบระบบระบายน้ำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการทดสอบระบบระบายน้ำของ กบอ.ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ เพราะเดือน ก.ย.เป็นเดือนที่ฝนตกหนักมากที่สุดในรอบปี ซึ่งจากข้อมูลการพยากรณ์อากาศในช่วงนี้ จะมีฝนตกถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการก่อตัวของพายุในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะเคลื่อนเข้าไทยในที่สุด
       
        ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บอกด้วยว่า แม้ไม่เห็นด้วยกับการทดสอบระบบระบายน้ำ แต่เมื่อเป็นเจตนาของรัฐบาล กทม.ก็พร้อมร่วมมือ แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะเดิมพันครั้งนี้คือคนและบ้านเรือนของประชาชน “กบอ.พูดว่า ถ้ามีปัญหาจะยกเลิกการทดสอบทันที แต่เรากำลังพูดถึงน้ำธรรมชาติไม่ใช่น้ำก๊อก ในฝั่งตะวันตกผมไม่ห่วงมาก จะมีบ้างก็ในส่วนของคลองมหาสวัสดิ์ที่ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อมริมแม่น้ำของ กทม.ยังไม่แล้วเสร็จดี ซึ่งตรงนี้ได้เตรียมมาตรการเร่งด่วนไว้โดยเสริมกระสอบทราย แต่ที่ผมมีความเป็นห่วง คือคลองลาดพร้าวที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับดำเนินการขุดลอก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ขุดลอกเลย ก็ขอให้การดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปได้ด้วยความระมัดระวัง หากเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่ต้องฟังใคร ขอให้ฟังผมคนเดียว”

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2555

7185

 "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" อธิบดีกรมสุขภาพจิต ขึ้นตำแหน่งปลัดสธ. "หมอพรเทพ"อกหักแพ้เส้นใหญ่กว่า  ขรก.สธ.ขานรับเชื่อทำหน้าที่บริหารได้ดี
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ (28 ส.ค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการนำรายชื่อ โยกย้ายข้าราชการระดับซี 11 ประจำสธ.เข้าสู่ครม. โดยมี ชื่อของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข แทนที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการลง อย่างไรก็ตาม โผก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าแคนดิเดตอย่าง นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) มีแนวโน้มมาแรงที่สุดนั้น มีนายวิทยา ให้การสนับสนุนอยู่ ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ก็เป็นรายชื่อที่มีคนระดับบิ๊กในพรรคเพื่อไทย เจาะจงเลือกมา ทำให้นายวิทยา ไม่สามารปฏิเสธได้
       
       ทั้งนี้ หลังจากที่ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ กล่าวว่า งานด้านสาธารณสุขที่จะดำเนินการสานต่อ และขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลแล้ว จะเน้นเรื่องของคุณภาพและการบริการในสถานบริการ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมการส่งเสริมสุขภาพตามกลุ่มอายุ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีเหมาะสมกับวัย รวมถึงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
       
       ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ต้องการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ สร้างความสมดุลระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเล็ก เรื่องของการแก้ไขปัญหากำลังคน และเดินหน้าโครงการงบประมาณเงินกู้ (ดีพีเอล) อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายบริหารมาก่อน จะทำให้ไม่มีปัญหาในการบริหารงาน
       
       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยินดีมาก เนื่องจากเห็นคนที่มีความสามารถที่สุดแล้ว และมีความเป็นผู้นำสูง เป็นคนที่มีความรอบรู้ในการบริหารกระทรวงต่อไปทุกคน เนื่องจากขณะที่เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีความเข้าใจเป็นอย่างดีในการบริหารจัดการทั้งในระดับจังหวัดและนอกกระทรวงสาธารณสุข
       
       สำหรับประวัติ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ มีดังนี้
       
       ประวัติการศึกษา/อบรม
       
       แพทย์ศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2521
       หลักสูตรนักบริหารการแพทย์และสาธารณสุขระดับสูง รุ่นที่ 11 กสธ. พ.ศ. 2537
       หลักสูตรนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 38 สำนักงาน ก.พ พ.ศ. 2545
       สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2548
       การป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 21 พ.ศ. 2551
       
       ประวิติการทำงาน
       
       1. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร พ.ศ 2536-2542
       2. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พ.ศ 2542-2544
       3. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ 2544-2545
       4. รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พ.ศ.2545 - พ.ศ 2550
       5. ผู้ตรวจราชการกระทรวง พ.ศ 2550 - พ.ศ 2553
       6. รองปลัดกระทรวง (ด้านบริหาร) พ.ศ 2553 - พ.ศ 2554
       7. อธิบดีกรมสุขภาพจิต ตุลาคม 2554 ถึงปัจจุบัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์   28 สิงหาคม 2555

หน้า: 1 ... 477 478 [479] 480 481 ... 651