ผู้เขียน หัวข้อ: กระจายผ่าตัด “ไส้ติ่ง-ทำคลอด” ไป รพช. ลดผู้ป่วยล้น รพ.  (อ่าน 1283 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สธ.ปรับระบบบริการเป็น 12 เขตพื้นที่ หวังลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนดใหญ่ เล็งกระจายการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอดจาก รพศ./รพท.สู่ รพช.30 แห่ง พร้อมให้แพทยสภาทำความเข้าใจโรงพยาบาลขนาดเล็กผ่าตัด หลังกังวลการฟ้องร้อง
   
       วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมปรับรูปแบบการบริการสาธารณสุขในปี 2556 ว่า เดิมระบบบริการของสถานพยาบาลในสังกัด สธ.จะแยกส่วนกันชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ควรกระจายอย่างเหมาะสม รมว.สาธารณสุขจึงมีนโยบายจัดระบบใหม่ โดยทำเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยแบ่งเป็นพวงบริการ 12 เขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะพัฒนาการบริการออกเป็น 10 สาขา คือ 1. การพัฒนาการบริการรักษาหัวใจและหลอดเลือด 2. มะเร็ง 3. อุบัติเหตุ 4. ทารกแรกเกิด 5. จิตเวช 6. ตาและไต 7. การบริการ 5 สาขา ทั้งสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช และออร์โธปิดิกส์ 8.ทันตกรรม 9. การบริการปฐมภูมิทุติยภาพองค์รวม และ 10.การบริการโรคไม่ติดต่อ ซึ่งทั้งหมดมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
       
       นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะเริ่มการบริการ 5 สาขาหลัก เน้นการกระจายการผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายที่แต่ละ 12 เขตพื้นที่บริการเป็นผู้กำหนด โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเนื่องจากเดิมทีการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด ทำให้เกิดการกระจุกตัว ทั้งๆที่โรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร และความกังวลในเรื่องการฟ้องร้อง ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็ก
       
       “การผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด จะให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่ราว 10 คนขึ้นไป มากสุดพบถึง 30-40 คน อาทิ รพช.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รพช.บางละมุง จ.ชลบุรี รพช.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยจะให้รพช.ทำหน้าที่ตรงนี้ รวมไปถึงกรณีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งป่วยเรื้อรังก็จะมีการพิจารณาให้รพช.ดูแล สำหรับตัวเลข รพช. ที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ดังกล่าว เบื้องต้นมีประมาณ 30 แห่งจากทั่วประเทศ โดยแนวทางการบริหารรูปแบบนี้จะมีความชัดเจนในวันที่ 14 ธันวาคม จากนั้นในเดือนมกราคม 2556 จะมีการพิจารณาในเรื่องแผนกำลังคน และการใช้งบประมาณ” นพ.ณรงค์กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกรณีบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่ต้องการทำหน้าที่ผ่าตัด เนื่องจากกังวลหากมีปัญหากับคนไข้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับทางแพทยสภา ในฐานะกำกับดูแลแพทย์ว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ทุกระดับทุกคน ทั้งนี้ มีการหารือด้วยว่าจะมีการอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดเล็กด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง


ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555