ผู้เขียน หัวข้อ: โจ๋ไทยอาการหนัก ท้องวัยเรียนพุ่ง3เท่า ก๊งมากกว่ารุ่นใหญ่  (อ่าน 1177 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ผงะ! ท้องในวัยเรียนสูง 3 เท่า 'โจ๋ไทย' ดริ๊งค์หนักกว่ารุ่นใหญ่ ส่งผลต่อความจำ ไอคิวต่ำ ด้าน นักวิชาการ จี้ รัฐบาลจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา แนะผุด ครม.สังคมแก้ปัญหาเยาวชนดื่มหนัก...

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดเสวนา “ผ่าทางตัน ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา” ทั้งนี้ มีอาจารย์และนิสิต นักศึกษาจาก 15 มหาวิทยาลัย เข้าร่วม โดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา หากจะให้ประสบความสำเร็จต้องบังคับใช้กฎกระทรวงการคลัง เรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขายสุรา เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ไม่ได้ห้ามจำหน่ายรอบๆ คือบริเวณต่อเนื่องติดกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เสนอต่อรัฐบาล คือมาตรา 27 ข้อสุดท้าย ที่ห้ามไว้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องให้ความสำคัญ เพราะสามารถออกประกาศห้ามเพิ่มเติมได้ นอกจาก นี้ยังได้เสนอให้มีการทำโซนนิ่งรอบสถานศึกษา ไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร่างกฎกระทรวงนี้ก็ติดขัดมาหลาย ปีแล้ว โดยไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้

ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้กฎหมายต่างๆ จัดโซนนิ่งโดยไม่ต้องรอการออกกฎหมายจากรัฐบาลได้ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 ที่ห้ามไม่ให้จำหน่ายกับผู้มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ รวมทั้ง พ.ร.บ.สถานบริการ ถ้าหากว่า ร้านที่จำหน่ายมีการแสดงดนตรี ต้องนับเป็นสถานบริการ ซึ่งต้องขออนุญาตก่อน หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี ซึ่งร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด ถือว่ามีการเล่นดนตรีด้วย

สำหรับแนวทางการจัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา นอกจากการจัดโซนนิ่งแล้วควรมี ครม.ด้านสังคมเกิดขึ้น โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม ประชุมร่วมกันเดือนละ 2 ครั้ง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อแก้ปัญหาร้านเหล้ารอบสถานศึกษาอย่าง บูรณาการ

“ร่างกฎหมายที่ทางฝ่ายการเมืองไม่ประกาศบังคับใช้ เพราะกลัวว่าจะกระทบผู้ประกอบการ ซึ่งเราเคยเสนอร่างกฎหมายการจัดโซนนิ่ง ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มานานหลายปีแล้ว  ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการควบคุม แต่ถ้าเราทำได้บนพื้นฐานกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ก็คงทำได้ไม่ยาก ตอนนี้ 300 เมตร ยังไม่ได้ห้ามจำหน่ายเหล้า แต่เป็นเขตควบคุมการจำหน่ายเหล้า คือ ถ้าเป็นร้านอาหารต้องควบคุมอายุ ถ้าเป็นร้านเหล้า มีดนตรี เราเชิญให้อยู่นอกเขต 300 เมตร โดยต้องทำให้เป็นพื้นฐาน ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และการเจรจา ซึ่งที่ผ่านมาก็ถือว่าได้ผลดี” ดร.ปริญญา กล่าว

ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหานี้ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม ทั้งตัวผู้ประกอบการต้องไม่จำหน่ายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี และไม่เปิดเกินเวลา กรมสรรพสามิตที่ออกใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ และสถานศึกษา

ด้านนายกอบศักดิ์ วิชัยขัทคะ อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเหล้าของนักศึกษา ทั้งการทำแบบสอบถาม และติดตามทุกรูปแบบ พบว่า กลยุทธ์ร้านเหล้ารอบสถานศึกษามีส่วนดึงดูดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องโปรโมชั่น กับเรื่องราคาสินค้า การมีดนตรีสด หรือ คอนเสิร์ต และถ่ายทอดฟุตบอล  นักศึกษาส่วนใหญ่จะชอบร้านที่มีวงดนตรีมากกว่า เพราะถือเป็นบรรยากาศที่ได้ผ่อนคลาย มีการพูดคุยสนทนากันไปในตัว

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการดัดแปลงร้านกาแฟในช่วงกลางวันขายเหล้าปั่นในตอนกลางคืน โดยก่อนหน้านี้ ร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยรังสิตมีจำนวน 30 ร้าน หลังน้ำท่วมเหลือ 10 ร้าน สำหรับแนวทางจัดการ ได้มีการประชุมร้านค้ารอบสถานศึกษา ร่วมกับสถานีตำรวจปากคลองรังสิตเป็นประจำทุก 2 เดือน เพื่อให้ตระหนักในข้อกฎหมาย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน  พบว่า เด็กที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีความสามารถทางสมองไม่เต็มร้อย เปอร์เซ็นต์ ไอคิวแตกต่างกันชัดเจนกับเยาวชนที่ไม่ดื่ม และมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ตามมา ซึ่งเด็กไทยรู้ดีว่าแอลกอฮอล์มีพิษภัย แต่ปัจจัยสำคัญที่หันมาดื่มก็คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีผลต่อเด็กอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องราคา การเข้าถึง และแรงสนับสนุนโฆษณาจูงใจ ซึ่งพฤติกรรมนี้จะต้องจับตามอง เมื่อเด็กเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การเริ่มขาดความรับผิดชอบ เช่น ไม่สามารถไปเรียนหนังสือ ซึ่งเฉลี่ยแล้วเด็กไทยดื่มหนักมากกว่าประชาชนทั่วไปถึง 30% หรือคนละ 4 ขวดของเบียร์ไทย ซึ่งถือว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์สูงมาก ส่วนเด็กผู้หญิง เฉลี่ยแล้ว 2 ขวดต่อคน ซึ่งเป็นอัตราการดื่มที่สูงกว่าผู้ใหญ่มาก โดยเฉพาะผู้หญิงเมาโดยไม่รู้ตัว จนเป็นสาเหตุของการท้องโดยไม่ตั้งใจสูงถึง 3 เท่า

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ สถานบริการเต็มรูปแบบที่อยู่ใกล้ๆ สถานศึกษา ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเข้าไปดูแลสถาน บริการเหล่านั้น หากไม่ให้ความร่วมมือ หรือมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน สถานบริการเต็มรูปแบบส่วนใหญ่ จะดำเนินการผิดกฎหมายอยู่หลายข้อ ซึ่งสามารถใช้กฎหมายหลายฉบับ เข้าไปดำเนินการอย่างเข้มงวดได้  ซึ่งหากใช้ไม้อ่อนแล้วไม่ดำเนินการ ก็ต้องใช้ไม้แข็งในการจัดการ โดยอาศัยกฎหมายอย่างเข้มข้น ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ.

ไทยรัฐออนไลน์  24 กพ 2555