ผู้เขียน หัวข้อ: เบื้องหลังการเสนอรวมกองทุนสุขภาพ ใครจ้องบริหารงบกองทุน มากกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี  (อ่าน 989 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ในระยะนี้มีข่าวว่ามีผู้เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน เข้ามาบริหารโดยคณะกรรมการชุดเดียว โดยผู้ที่ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่สามารถ “เลือก”ได้ว่า จะใช้ชื่อ พ.ร.บ.ว่าอะไรจึงจะเหมาะ โดยได้เสนอชื่อถึง 4 ชื่อคือ ร่าง พ.ร.บ.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ หรือ ร่าง พ.ร.บ. เพื่อสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ หรือ ร่าง พ.ร.บ. จัดระบบประกันสุขภาพภาครัฐ หรือ ร่าง พ.ร.บ. อภิบาลระบบประกันสุขภาพภาครัฐ พ.ศ. .... แต่ความมุ่งหมายของกลุ่มบุคคลที่ยกร่าง พ.ร.บ.นี้ก็คือ ต้องการรวบอำนาจในการบริหารกองทุนสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุนเข้าไว้ด้วยกัน จึงขอเรียกพ.ร.บ.ที่ยังไม่สามารถเลือกชื่อนี้ว่า “พ.ร.บ.รวม 3 กองทุน”
       
       ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.รวม 3 กองทุนดังกล่าว มีข่าวว่าผู้ที่นำเสนอ พ.ร.บ.นี้ก็คือ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย [1] โดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ซึ่งเป็นอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประกันสุขภาพ) กล่าวว่าคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอจะสร้างกลไกกลางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และท้ายที่สุดจะขับเคลื่อนเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะนำเสนอให้ ดร.อัมมาร สยามวาลาประธานกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน(ซึ่งเป็นอดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังของบอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทำการปรับปรุงเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
       
       ทั้งสองคนนี้ ได้อ้างการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือเรารู้จักกันดีตามชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “TDRI” มาอ้างว่า มีความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีสิทธ์ในการรักษาในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเรียกว่าระบบ 30 บาท กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์การรักษาในระบบสวัสดิการข้าราชการ กล่าวคือ นักวิจัยของ TDRI พบว่า ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปที่ได้รับการรักษาโรคเรื้อรัง 5 โรค คือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง นั้น ผู้ป่วยในระบบ 30 บาท มีโอกาสตายมากกว่าและเร็วกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ นับว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ จึงสมควรจะต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยการตั้งองค์กรกลางมา “คุม” 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน [1]
       
       ทั้งนี้นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า “ร่างพ.ร.บ.นี้ จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของทั้ง 3 ระบบ โดยการจัดตั้งสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นเป็นสำนักงานเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบสุขภาพภาครัฐ 3 ระบบ โดยยึดหลักความเสมอภาค มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ”
       
       อย่างไรก็ดี ถ้าเราได้ติดตามงานของ “สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2556 จะพบว่า นักวิจัยคนหนึ่งของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยคือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ได้เสนอ [2] ว่าหลักประกันสุขภาพไทยมีความเหลื่อมล้ำ แนะยุบเลิกสวัสดิการข้าราชการ โดยอ้างว่ามีความเหลื่อมล้ำ 3 ประเด็นคือ 1.เรื่องสิทธิประโยชน์ 2.คุณภาพในการรักษาพยาบาล และ 3.ภาระค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน และยังได้รายงานเรื่อง “(แลข้างหน้า)เรื่องการประกันสุขภาพไทย” [4] ในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 โดยดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ได้อธิบายขยายความเรื่องความเหลื่อมล้ำใน3 ประเด็นดังกล่าวนั้น และสรุปว่าระบบสวัสดิการข้าราชการมีสิทธิประโยชน์เหนือกว่าระบบอื่นและมีงบประมาณสูงที่สุด แต่เธอก็ไม่เชื่อว่าจะมีประโยชน์สูงสุด อาจจะนำไปสู่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สร้างภาระให้แก่งบประมาณของประเทศ ในขณะที่ผู้รับบริการก็มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากขั้นตอนการตรวจรักษาต่างๆที่ไม่จำเป็น
       
       แต่ผู้เขียนเรื่องนี้เห็นว่า สิ่งที่ ดร.เดือนเด่นกล่าวนี้ ไม่มีผลการวิจัยรองรับคำกล่าวของเธอ ในฐานะนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว เธอไม่ควรจะแสดงความเห็นเรื่องการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยไม่มีข้อมูลการวิจัยรองรับ เพราะเธอไม่ได้เก็บข้อมูลตัวเลขว่า มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจริงหรือไม่
       
       ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการบาดเจ็บที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งส่วนมากก็คือข้าราชการทหาร ตำรวจ แต่ก็ยังมีข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ที่ต้องได้รับการรักษาในระบบสวัสดิการอีกเป็นจำนวนเท่าไร? ซึ่งในฐานะนักวิจัยผู้มีดีกรีด้านเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่จะเสนอความเห็นในการยุบระบบสวัสดิการข้าราชการดังกล่าวนี้ เธอควรไปเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเหล่านี้ ก่อนจะนำเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบใดๆ ให้เหมาะสมกับการเป็นนักวิจัยเพื่อให้เกิดการ “พัฒนาประเทศไทย” ไม่เช่นนั้นข้อเสนอของเธอก็อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ในการ “ทำลายประเทศไทย” แทนที่จะเกิดการพัฒนาประเทศไทยก็ได้
       นอกจากนั้น ดร.เดือนเด่น ยังกล่าวว่า ระบบประกันสังคมเป็นระบบเดียวที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนจึงจะได้สิทธิในการรักษา ทำให้เสียเปรียบผู้อยู่ใน 2 กองทุนอื่น
       
       ดร.เดือนเด่นจึงเสนอให้มีการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวมกองทุน แต่อาศัยการบูรณาการระบบเข้าสู่หลักเกณฑ์วิธีเดียวกัน โดยการสร้างชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน โดยยึดหลักของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นแกนกลาง ในขณะที่ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการนั้นอาจจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่อยอดขึ้นไปจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
       ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กลุ่มผู้บริหารสปสช.ได้ “จ้างนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” ในการนำเสนอการรวม 3 กองทุนมาบริหารมาแล้ว [4] โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ชมรมแพทย์ชนบทยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการประกันสุขภาพไทย ที่ได้ฝากฝังไว้กับทีมงานให้ทำให้สำเร็จแม้ว่าตนเองจะได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตาม [4]
       
       และดร.เดือนเด่น ได้เสนอวิธีการลดความเหลื่อมล้ำดังแผนภูมิข้างล่างนี้

        อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการสอบถามความเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก 3 กองทุนประกันสุขภาพนี้แต่อย่างใด (ไม่มีการทำ public hearing หรือที่เรียกว่าการรับฟังความคิดเห็นหรือการทำประชาพิจารณ์ใดๆ) ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ ดร.เดือนเด่นนี้ มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในระบบ 3 กองทุนสุขภาพทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนในระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคม ที่จะต้องได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าการได้รับผลกระทบในทางบวก
       
       แต่ถึงจะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีประชาชนจากกลุ่มสวัสดิการข้าราชการและกลุ่มผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม ได้ออกมาโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการรวมกองทุนมาตลอด [4,5] โดยมีกลุ่มข้าราชการได้รวมตัวเป็นชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการและพัฒนาเป็นสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการ [6] โดยได้ฟ้องศาลปกครอง และจัดประชุม เพื่อคัดค้านการลิดรอนสิทธิ์ข้าราชการ [7] และนำเสนอผลการประชุมต่อกรมบัญชีกลาง เพื่อคัดค้านประกาศของกรมบัญชีกลางที่ลิดรอนสิทธ์ข้าราชการ
       
       จะเห็นว่าการยกร่าง พ.ร.บ.นี้มีที่มาจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับ สปสช. ได้แก่ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ดร.อัมมาร สยามวาลา และกลุ่มนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ได้รับจ้าง สปสช.ทำการวิจัยเพื่อแสดงถึงความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพและเสนอให้มีการรวม 3 กองทุนสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555
       เมื่อมาอ่านร่าง พ.ร.บ.รวม 3 กองทุนแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ทำการยกร่าง พ.ร.บ.รวม 3 กองทุนนี้ คือฝ่ายที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.รวม 3 กองทุนนี้ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ แต่ที่ประหลาดกว่ากรรมการในคณะกรรมการใดๆ ก็คือ กรรมการที่มีที่มาตามตำแหน่งดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนใดๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของคนกลุ่มนี้ที่ต้องการอำนาจในการบริหารกองทุน โดยไม่ต้องการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ผู้ที่ยกร่าง พ.ร.บ.นี้ ต้องการมีอำนาจทางการเมือง โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการทางการเมือง ไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้มาจากประชาชน และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้ามาเป็นข้าราชการ นับว่าพวกเขาต้องการสร้างหลักเกณฑ์ในการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ต้องการมีอำนาจเหนือรัฐ เพราะกำหนดว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงมติในการประชุม รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ(ในฐานะข้าราชการผู้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน) ก็ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงมติในการประชุมเช่นเดียวกัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการประจำที่มีหน้าที่ในการดูแลการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
       
       ถ้ามาดูบทบัญญัติที่กล่าวถึงที่มาของกรรมการที่มีสิทธิ์ออกเสียงลงมติในที่ประชุม จะพบว่าประกอบด้วยผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฝ่ายละ 1 คน
       ผู้แทนผู้ให้บริการจำนวน 3 คน คือผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 1 คน ผู้แทนกระทรวงอื่น 1 คน และผู้แทนภาคเอกชน 1 คน (ซึ่งไม่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่ให้บริการมากที่สุดมากกว่า 80 %)
       
       ผู้แทนจากผู้รับบริการจำนวน 3 คน คือผู้แทนข้าราชการ 1 คน ผู้แทนผู้ประกันตน 1 คน ประชาชนผู้ได้รับสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีก 1 คน ซึ่งก็ไม่เหมาะสมอีก เพราะผู้มีสิทธิ์ในแต่ละกองทุนมีจำนวนมากน้อยต่างกันมาก
       
       แต่วิธีการคัดเลือกผู้แทนต่างๆเหล่านี้มาเป็นกรรมการนั้นอาจจะไม่โปร่งใสหรือเป็นกลาง โดยเฉพาะในระยะแรกของการใช้พ.ร.บ.นี้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.สวรส. สสส. สปสช. สช.มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกเลขาธิการคนแรก ก็คงจะได้คนของกลุ่มที่ยกร่างกฎหมายนี้ มาเป็นเลขาธิการคนแรก เหมือนเลขาธิการสปสช.สช. สพฉ. หรือผอ.สวรส.หรือผู้จัดการสสส. และเมื่อครบ 2 วาระ (10ปีแล้ว) ก็จะมีคนของกลุ่มเข้ามาสืบทอดตำแหน่งกันไปอีก ซึ่งเลขาธิการของสภาประกันสุขภาพนี้ มีวาระอยู่ได้ถึง 10 ปี โดยไม่มีการกำหนดขั้นสูงของอายุตัว(กำหนดแต่อายุขั้นต่ำไว้) ซึ่งแตกต่างจากการกำหนดอายุผู้บริหารในองค์กรอื่นว่าต้องไม่เกิน 65หรือ 70 ปี และสำนักงานมีอำนาจในการเจรจาเพื่อจัดตั้งและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ใน 3 กองทุนและงานอื่นๆ อีกมาก
       
       แสดงให้เห็นว่า เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางกว่าเลขาธิการ สปสช. สามารถดำเนินการต่างๆได้ตามหน้าที่ของสำนักงานตามมาตรา14 แล้วคงนำไปเสนอให้กรรมการลงมติ ซึ่งถ้ากรรมการไม่สนใจศึกษาข้อเสนอมาก่อนการประชุม ก็เท่ากับว่าเลขาธิการสามารถดำเนินการไปได้ตามความประสงค์จากการประชุมตามมาตรา 14 หรือสามารถ “ชี้นำ” การประชุมได้ และเลขาธิการยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการสภาประกันสุขภาพอีกด้วยตามาตรา6(7) วรรค 2 ทำให้เลขาธิการมีสิทธิเสนอความเห็นและออกเสียงลงมติได้ด้วย
       
       และไม่ต้องสงสัยเลยว่า เลขาธิการที่มีอำนาจต่างๆมากมายคนแรกนี้ จะมาจากใครไปไม่ได้ นอกจากกลุ่มคนที่สนับสนุนการรวมกองทุนสุขภาพ เช่นนพ.อำพล จินดาวัฒนะ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ หรือนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (ที่ทุกคนอายุเกิน 60 ปีแล้ว ถ้าได้เป็นเลขาธิการ 10 ปี ก็คงอายุเกิน 70 ปี จึงไม่กำหนดอายุขั้นสูงไว้รอแล้ว)ตามที่เคยเห็นมาแล้วจากการออกกฎหมาย สวรส. สสส. สปสช. สช. และสพฉ.
       
       และยังตั้งงบประมาณสำหรับการบริหารสำนักงานไว้สูงถึง 0.5%ของงบประมาณทั้ง 3 กองทุน ซึ่งจะทำให้เลขาธิการมีอำนาจบริหารเงินจากงบประมาณแผ่นดินและกองทุนประกันสังคมสูงกว่าปีละ 1,500 ล้านบาทและมีแต่จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
       
       ฉะนั้น ผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่า การออกกฎหมายรวม 3 กองทุนนี้ ใครจะได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ ทั้งจากการมีอำนาจในการบริหารสิทธิประโยชน์ในการรับบริการสาธารณสุข และการมีอำนาจในการบริหารงบประมาณก้อนโต โดยที่กรรมการบอร์ดก็อาจไม่สามารถควบคุมได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในสปสช.แต่ประชาชนผู้มีสิทธิในระบบการประกันสุขภาพระบบต่างๆ อาจจะได้รับการบริการสาธารณสุขที่เลวลงเท่าเทียมกันตามกฎเหล็กของสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติตามร่างพ.ร.บ.รวม 3 กองทุน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทำให้ผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วยของระบบ 30 บาทด้อยกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากกฎเหล็กในการรักษาผู้ป่วยของสปสช.
       
        จากเหตุผลต่างๆดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าผู้ที่อ่านบทความนี้ทุกคน คงมีความเห็นเหมือนกับผู้เขียนว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดในการรวมกองทุน ก็คือกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รวมทั้งพ.ร.บ.สวรส. สสส. สช. สฉ.และตระกูลส.อื่นๆ
       
       โดยการยกร่างพ.ร.บ.รวม 3 กองทุนนี้ เขามิได้มีความมุ่งหมายที่จะตั้งหน่วยงานกลางเกี่ยวกับการรวบรวมและบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลเพื่อทำให้การเข้าถึงบริการดีขึ้นตามที่พญ.พรพรรณ บุญรัตพันธุ์ประธานกรรมาธิการสาธารณสุขสปช.กล่าวแต่อย่างใด [8,9] และประธานกรรมาธิการสาธารณสุขสปช.เอง อาจจะได้รับข้อมูลเช่นนั้น แต่ท่านคงยังไม่ได้อ่านร่างพ.ร.บ.รวม 3 กองทุนอย่างละเอียด ท่านจึงยังไม่ทราบถึงความมุ่งหมายอย่างแท้จริงของกลุ่มคนที่ยกร่างพ.ร.บ.นี้ว่า พวกเขาต้องการมีอำนาจในการบริหารกองทุนประกันสุขภาพเหนืออำนาจรัฐบาล และเป็นไปอย่างยาวนานแบบตายคาเก้าอี้ โดยไม่มีข้อจำกัดในการกำหนดเพดานอายุสูงสุดที่จะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาประกันสุขภาพ
       
       และถ้าพ.ร.บ.รวม 3 กองทุนนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขจริง จะต้องมีการเขียนเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาสถานพยาบาลและการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับความต้องการจากการรักษาความเจ็บป่วยของประชาชน เพราะคุณภาพมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขจะเกิดขึ้นและคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีการพัฒนาดังกล่าว แต่คนที่ร่างพ.ร.บ.นี้สนใจแต่ “อำนาจและเงินตรา” เท่านั้น ทั้งนี้มีการกำหนดอำนาจในการลงโทษสถานพยาบาลทั้งทางอาญาและทางแพ่ง สามารถสั่งปิดสถานพยาบาลตามมาตรา 31 วรรค 3 ลงโทษจำคุกหน่วยงานผู้ให้ประกันหรือหน่วยบริการตามาตรา 33
       
       จึงเห็นได้ว่าสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ จะมีอำนาจทางการปกครอง มีอำนาจบังคับผู้เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง ทางอาญา เหนือพ.ร.บ.สถานพยาบาล และเหนือพ.ร.บ.สภาวิชาชีพ
       
       มีการกำหนดวงเงินที่จะมาบริหารสำนักงานเป็นเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณกองทุนไว้แล้ว 0.5% ตามมาตรา12 วรรค2 ซึ่งอย่างน้อยก็คงต้องมากกว่าปีละ 1,500 ล้านบาทและคงจะเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยให้เลขาธิการมีอำนาจเต็มในการบริหารสำนักงาน เจรจาต่อรองกับผู้บริหารทั้งกรมบัญชีกลาง เลขาธิการประกันสังคม และเลขาธิการสปสช.รวมทั้งจ้างเจ้าหน้าที่ กำหนดเงินเดือน ลด เลื่อน ตัดเงินเดือนฯลฯ ตามมาตรา 19
       
       และยังกำหนดให้เลขาธิการก็เป็นกรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย จึงมีสิทธิเสนอความเห็นและลงมติได้ด้วย (ในขณะที่ห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีออกเสียงลงมติ)
       
       ถ้าถามผู้อ่านว่า ใครจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาประกันสุขภาพแห่งชาติที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.รวม 3 กองทุน ผู้เขียนคิดว่าเด็กป.4 ก็คงตอบถูก

แผนผังแสดงอำนาจของสภาประกันสุขภาพที่มีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบประกันสุขภาพของไทย
        เนื่องจากพ.ร.บ.ที่พวกเขาได้ยกร่างขึ้นมานั้น ได้ให้อำนาจแก่ผู้ที่จะมาเป็นเลขาธิการไว้อย่างกว้างขวาง และมีวาระการดำรงตำแหน่งได้สองวาระรวมเป็น 10 ปี และถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของพ.ร.บ.ขององค์กรส.ทั้งหลาย ผู้ที่มากุมอำนาจบริหารสำนักงาน(ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกผู้บริหารสำนักงานว่าผู้อำนวยการ ผู้จัดการหรือเลขาธิการ)ในวาระแรกสองวาระติดต่อกัน ก็คือกลุ่มคนที่ยกร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ทั้งสิ้น ได้แก่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขคนแรก คือ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้จัดการ สสส.คนแรกคือนพ.สุภกร บัวสาย เลขาธิการสปสช.คนแรกคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติคนแรกคือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ถ้าพวกเขาสามารถผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.รวม 3 กองทุนสำเร็จ ผู้ที่จะมาเป็นเลขาธิการคนแรกและครองตำแหน่งครบ 2 วาระ 10 ปี คงจะมีชื่อสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ หรืออำพล จินดาวัฒนะ เป็นตัวเลือกต้นๆ

แผนผังแสดงที่มา องค์ประกอบ และสิทธิในการลงมติของคณะกรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ
        และถ้าเราไปติดตามข่าวว่า ใครแต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็พบว่าคือมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย และใครแต่งตั้งประธานกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน ก็จะพบว่าเป็น ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม และถ้าเราไปติดตามข่าวว่า เมื่อหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งย้ายนพ.วินัย สวัสดิวรออกจากตำแหน่ง มีใครออกมาโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบ้าง [10] เราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจในการบริหารสาธารณสุข และต้องการมีอำนาจเหนือการควบคุมของรัฐบาลดังกล่าวมาแล้ว
       
       ฉะนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า การรวมกองทุนตามพ.ร.บ.ที่ยกร่างใหม่นี้ จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆแก่ประชาชนผู้มีสิทธิ์ในการประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนนี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือกลุ่มผู้ยกร่างพ.ร.บ.นี้ที่หมายมั่นปั้นมือที่จะเข้ามามีอำนาจในการบริหารกองทุนเหนืออำนาจรัฐ อย่างยาวนาถึง 10ปี โดยไม่ต้องไปสมัครรับเลือกตั้งจากประชาน ไม่ต้องไปสอบเข้ารับราชการ
       
       ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจากพ.ร.บ.สวรส. สสส. สปสช. สช. สพฉ. ซึ่งนอกจากจะเป็นความเสี่ยงต่อการล้มละลายของระบบการเงินการคลังของประเทศ ระบบมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขไทย และเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการรับบริการสุขภาพของประชาชน ยังเป็นความเสี่ยงต่อระบบบริหารราชการแผ่นดินและเสี่ยงต่อปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอีกด้วย
       
       เอกสารอ้างอิง :
       1.http://www.hfocus.org/content/2015/06/10108 ดันตั้งองค์กรกลางคุม 3 กองทุนประกันสุขภาพรัฐ
       2.http://v-reform.org/v-report/standardization-thai-healthcare-system/
       4. ชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ
       5.http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id=28129 โลกไซเบอร์ฮือค้าน“ประกันสังคม-บัตรทอง”รวมกันเป็นหนึ่ง ??
       6.https://www.facebook.com/ORWApage สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ
       7.http://thaipublica.org/2014/01/measures-to-control-medical-costs/
       กรมบัญชีกลางคุมเข้มค่ารักษาพยาบาล ออกกฎคุมราคายานอก บีบใช้ยาในประเทศ หวั่นอนาคตชีวิตคนไทยไร้คุณภาพ
       8. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000084366 “พรพรรณ” ชี้ไทยควรมี “สภาประกันสุขภาพ” ดูคุณภาพ 3 กองทุน ไม่ใช่รวมบริหาร แนะคนไทยจ่ายเบี้ยสุขภาพเพิ่ม
       9. http://www.hfocus.org/content/2015/05/9988 กมธ.ปฏิรูป สธ.เสนอตั้งศูนย์ค่าใช้จ่ายสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน
       10. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000079604 การตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของ สปสช. และข้อเสนอในการแก้ปัญหา


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
       กรรมการแพทยสภา
       ที่ปรึกษาสำนักกฎหมาย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
       ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สนช.
       ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
       27 กรกฎาคม 2558

http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000086400