ผู้เขียน หัวข้อ: ถอดรหัส “สิทธิบัตรทอง” ในสายตาต่างชาติ ดีจริงหรือ?  (อ่าน 517 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
นับเป็นปีที่ 12 แล้วกับการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทั่วประเทศ หากไม่นับกลุ่มคนทำงานข้าราชการ ซึ่งมีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และคนทำงานตามบริษัทเอกชน หรือการเป็นลูกจ้างที่มีสิทธิประกันสังคมให้การดูแลอยู่

       นับตั้งแต่ปี 2545 ที่มีการตั้งระบบหลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือสิทธิบัตรทองขึ้น แม้จะดูขลุกขลักไปบ้าง แต่จากการที่ระบบยั่งยืนมานานถึง 12 ปีก็อาจสะท้อนอะไรบางอย่างได้
       
       เมื่อหันไปดูมุมมองต่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในสายตาต่างชาติจะพบว่า ค่อนข้างได้รับเสียงชื่นชมเป็นส่วนใหญ่ถึงความสำเร็จของระบบหลักประกันฯ เช่น ธนาคารโลกยกย่องว่าระบบหลักประกันฯของไทย คือต้นแบบขจัดความยากจน
       
       “ไทยเป็นตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ระบบหลักประกันฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนได้อย่างสำเร็จ แม้จะเริ่มระบบท่ามกลางข้อทักท้วงจากธนาคารโลกเกี่ยวกับความยั่งยืนเรื่องระบบการเงินการคลัง แต่ทุกวันนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ไทยได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะสร้างระบบหลักประกันฯให้เกิดกับคนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า และวันนี้โลกก็ได้เรียนรู้ความสำเร็จจากไทยเป็นต้นแบบ” นพ.จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2556 ในงานประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 66 กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
       
       เช่นเดียวกับ พญ.มาการ์เร็ต ชาน ผอ.องค์การอนามัยโลกก็ยกย่องว่า การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของไทยถือเป็นตำนาน เพราะได้เปลี่ยนแปลงระบบในช่วงที่ประเทศยังไม่ร่ำรวย และเป็นประเทศแรกๆ ที่ดำเนินการนโยบายนี้และประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ขณะที่นาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ได้ชื่นชมว่า ไทยเริ่มต้น 30 บาทรักษาทุกโรคกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยที่รายได้ต่อประชากรยังไม่สูง แต่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน สามารถดูแลคนไทยทั้งประเทศ จึงอยากให้แบ่งปันความรู้ให้ประเทศอื่นๆ
       
       เห็นได้ชัดว่าต่างชาติชื่นชมกับระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่ง นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้วิพากษ์ถึงทัศนคติที่ต่างชาติมีต่อระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้ฟังว่า ที่ต่างชาติชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทองของประเทศไทย เพราะระบบหลักประกันฯช่วยให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการ ทั้งที่ขณะที่เริ่มระบบนั้นประเทศไทยไม่ได้ฐานะทางเศรษฐกิจดีสักเท่าไร นอกจากนี้ ยังมีระบบในการคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี คือประมาณ 4-5% ของ GDPประเทศเท่านั้น คือไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินมากเท่าไร แม้จะมีการพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังล่วงหน้าถึง 20 ปี ก็พบว่า ภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินของระบบยังแบกภาระต้นทุนได้
       
       สาเหตุที่หลายคนเชื่อว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตนั้น นพ.พงษ์พิสุทธิ์ อธิบายว่า เนื่องจากไม่ได้เป็นระบบร่วมจ่ายอย่างเช่นประกันสังคม ประชาชนใช้บริการฟรี แม้บางช่วงจะมีการเก็บ 30 บาทบ้าง ตามที่รู้จักกันคือ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก็ถือเป็นจำนวนเงินที่น้อยเมื่อเทียบกับการรักษา ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีบางประเทศระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเขาต้องมีการร่วมจ่ายค่ายา หรือตามใบเสร็จ คนละ 10 ปอนด์ เป็นต้น แต่ของไทยไม่มี
       
       “ที่สำคัญคือระบบเป็นการเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งทุกวันนี้ตกอยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสิทธิบัตรทองมีประมาณ 48 ล้านคน ประเด็นคือคนไม่ได้ป่วยทุกคน เงินเหมาจ่ายนี้จึงเป็นการเกลี่ยเงินจากคนสุขภาพดีไปถึงคนที่เจ็บป่วย หากจะเทียบภาระค่าใช้จ่ายแล้ว สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งเป็นงบประมาณแบบปลายเปิด จ่ายตามที่มีการเบิกนี่ยังน่าเป็นห่วงกว่ามาก ซึ่งสิทธิสวัสดิการข้าราชการรวมครอบครัวแล้วประมาณ 5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ซึ่งสูงกว่ารายหัวของสิทธิบัตรทองเสียอีก”
       
       นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคประจำตัวต่างๆ จึงมากตามไปด้วย ทำให้ต้องใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูง อาจจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เราจึงต้องหาเงินเพิ่มเติม โดยอาจต้องหาแหล่งเงินจากหน่วยงานอื่น หรือจากผู้มีสิทธิมากขึ้น โดยเริ่มสะสมเงินมาตั้งแต่อายุมากเพื่อนำมาใช้จ่ายภายหลัง เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ คือจะต้องเพิ่มงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 14% ของงบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด โดยมองว่าต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 20% เพราะการส่งเสริมป้องกันโรค สปสช. ไม่ได้ทำเฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง แต่ทำในคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็มีการดำเนินการมากขึ้น ทั้งตรวจสุขภาพประจำปี การคัดกรองผู้ป่วยโรคต่างๆ ก็กำลังทยอยทำมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       ด้าน นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ร่วมแสดงความเห็นว่า อย่างที่รู้ดีกันว่าต่างชาติต่างชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เนื่องจากช่วยไม่ให้คนต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ออกแบบระบบดีใช้งบประมาณไม่เกิน 5% ของ GDP ซึ่งแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วยังทำไม่ได้ อย่างสหรัฐฯใช้ถึง 17% ของ GDP เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบหลักประกันของไทยยังเป็นต้นแบบให้ชาติต่างๆ ต้องมาศึกษา รวมถึงถูกบรรจุเป็นหลักสูตรในปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อเป็นกรณีศึกษาด้วย เนื่องจากจุดแข็งของระบบหลักประกันไทยระบบการจ่ายเป็นแบบปลายปิด โดยใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับผู้ป่วยโรค และจ่ายตามกลุ่มโรค DRG ในผู้ป่วยใน
       
       “อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะงบประมาณมาจากภาครัฐโดยตรง หากเศรษฐกิจไม่ดีหรือเกิดวิกฤตสัก 3 ปีซ้อน อัตราการเติบโต GDP ติดลบ รัฐไม่มีรายได้จากภาษีอากร คนตกงานมาอยู่ในระบบหลักประกันมากขึ้น ก็จะกระทบต่องบประมาณที่ต้องขอในแต่ละปีด้วย อาจทำให้งบประมาณน้อยลง หนทางแก้ไขคือสุดท้ายอาจต้องพิจารณาตัดชุดสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยนอกออก เป็นต้น ซึ่งต่างจากกองทุนประกันสังคมที่มีสายป่านยาว มีกองทุนแน่นหนา”
       
       สิ่งที่ สปสช. ต้องดำเนินการต่อในช่วงทศวรรษที่สอง นพ.วิโรจน์ เสนอว่า ต้องเน้นเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากขึ้น เพราะคนไทยอายุยืนขึ้น โรคเรื้อรังก็ตามมา ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลก็มากขึ้น การส่งเสริมป้องกันโรค ตรวจคัดกรองอย่างเบาหวาน ความดัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่งบส่งเสริมสุขภาพยังน้อยอยู่ประมาณ 14-15% ของงบทั้งหมด ทั้งที่ตอนแรกตั้งเป้าว่าจะต้องอยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งขณะนี้ก็มีความพยายามในการเพิ่มจำนวนงบดังกล่าว เพราะหากมีกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลก็จะลดลงไปเองในที่สุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 พฤษภาคม 2557