ผู้เขียน หัวข้อ: สิทธิ ขรก.ส่อวุ่น “รพ.แรกรับป่วยฉุกเฉิน” มึน! ไม่รู้แหล่งส่งต่อหลังอาการทุเลา  (อ่าน 972 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9775
    • ดูรายละเอียด
สธ.ประเมินผลบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 5 วันแรก 1-5 เม.ย พบนิยามบริการ “ฉุกเฉิน” ผ่านฉลุย แพทย์ประจำ รพ.ประเมินอาการได้ ขณะสิทธิข้าราชการฯ ส่อวุ่น รพ.แรกรับยังมึน! รักษาอาการทุเลา แล้วไม่รู้ส่งต่อ รพ.ต้นสังกัดได้ที่ใด เตรียมประเมินผลรอบ 3 เดือน ก่อนสรุปผลและแก้ปัญหา
       
       นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการบริการฉุกเฉินทุกสิทธิ ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2555 ว่า ตนได้รายงานผลการประเมินการบริการดังกล่าวในรอบ 5 วันแรก ต่อ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2555 โดยภาพรวมนั้น การบริการของหน่วยบริการในสังกัด สธ.เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยเฉพาะในเรื่องการบริการตามนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทุกพื้นที่มีแพทย์ในโรงพยาบาลที่แรกรับสามารถประเมินอาการของผู้ป่วยได้ ส่วนนี้ถือว่ามีการชี้แจงที่สามารถทำความเข้าใจได้ดี แต่ในส่วนของปัญหาอื่นที่อาจเกี่ยวข้อง คงต้องให้ รพ.ที่ร่วมบริการเป็นผู้ชี้แจง อย่างไรก็ตามปัญหาเบื้องต้นที่ยังมีอยู่ในขณะนี้หลังจากที่ บริการไปได้ 5 วันแรก พบว่า ยังมีเรื่องของความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการบริการผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการิข้าราชการ (ขรก.) ซึ่งแต่เดิมก่อนที่จะมีบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ทุกสิทธิ กรมบัญชีกลาง ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของ ขรก.จะระบุในเงื่อนไขการบริการ ว่า ขรก.ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องสำรองเงินจ่ายก่อน หากเข้ารับบริการใน รพ.ที่ไม่ใช่เครือข่ายร่วม แต่หลังจากวันที่ 1 เม.ย.2555 ยังพบว่า มี รพ.บางแห่งเรียกเก็บเงินสำรองจ่าย ซึ่งตามหลักเกกณฑ์การบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินระบบใหม่ที่รัฐบาลประกาศนั้น ทุก 3 กองทุน คือ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ สวัสดิการ ขรก.ทำความเข้าใจกันแล้ว ซึ่งส่วนนี้จะมีปัญหาประมาณ 2-3 วันแรก แต่ช่วงระยะหลัง สธ.ได้ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงไปแล้ว หน่วยบริการก็รับทราบในเงื่อนได้ดี
       
       “หากจะกล่าวไปแล้ว สิทธิการบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนี้ สิทธิ ขรก.เป็นสิทธิเดียวที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพราะเป็นสิทธิเดียวที่สามารถรับบริการสาธารณสุข ได้ทุกแห่งในสถานบริการของรัฐ แต่หากใช้บริการนอกเครือข่ายก็ต้องสำรองจ่ายก่อน ส่วน 2 สิทธิ์ที่เหลือ คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม นั้นไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายอยู่แล้วในกรณีฉุกเฉิน” นพ.สมชัย กล่าว
       
       รองปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ปัญหาที่ยังคงพบประปราย ได้แก่ ปัญหาเรื่องการส่งต่อหลังจากอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินทุเลา ซึ่งขณะนี้ พบว่า การบริการผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ รพ.ที่แรกรับบริการผู้ป่วยฉุกเฉินยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า เมื่อจะส่งต่อผู้ป่วยอาการทุเลาแล้วจะส่งต่อไปให้หน่วยบริการใด เนื่องจากสิทธิข้าราชการ สามารถเข้ารับบริการได้ใน รพ.รัฐทุกสังกัด ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1 เม.ย.แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น รพ.A รับนาย ก.สิทธิข้าราชการ กรณีเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด หน้า รพ.เอกชน B แล้วเข้ารับบริการใน รพ.เอกชน B ตามสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วจนอาการทุเลา รพ.เอกชน B ก็ต้องส่งต่อไปยัง รพ.ต้นสังกัดเพื่อรักษาต่อ เนื่องจากโรคหัวใจขาดเลือดเนโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง รพ.เอกชน B จึงจำเป็นต้องหาทางส่ง ซึ่งเหล่านี้แพทย์ก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกส่งต่อไปที่ใด ซึ่งส่วนนี้ คงจะต้องเร่งรัดหาทางออกกรณีดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม สธ.จะมีการประเมินครั้งใหญ่อีกครั้งหลังจากบริการครบ 3 เดือน โดยเฉพาะการบริการในพื้นที่ กทม.ที่มีหน่วยบริการมากถึง 5 ส่วน ได้แก่ หน่วยบริการสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยบริการสังกัด กทม.หน่วยบริการสังกัด โรงเรียนแพทย์ หน่วยบริการเอกชน และหน่วยบริการเหล่าทัพ
       
       “อย่างไรก็ตาม ศูนย์ประสานงานการบริการฉุกเฉินทุกสิทธิ รวดเร็ว ปลอดภัยไร้รอยต่อ  เพื่อติดตามการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานบริการในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ก็ยังคงเปิดให้บริการต่อไป โดยมีสายด่วน 0-2590-1994 มี 10 คู่สาย โทรสาร 0-2590-1993 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดสายด่วน 1330 ด้วย หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถ โทร.แจ้ง หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินฟรีทั่วประเทศ ทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง” รองปลัด สธ.กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 เมษายน 2555