ผู้เขียน หัวข้อ: 'วรรณกรรม' ในโรงหมอ  (อ่าน 1424 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
'วรรณกรรม' ในโรงหมอ
« เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2011, 16:28:52 »
ชวนคนใส่เสื้อกาวน์อ่านวรรณกรรมดีๆ สักเล่ม นอกจากความสุนทรีย์ในจิตใจ ยังส่งผลไปถึงการทำงานที่รื่นรมย์และกลมเกลียวกับคนไข้ดุจญาติ

เรื่องวุ่นๆ ในวงการแพทย์อันเนื่องมาจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ พ.ศ... ที่โจทย์คือผู้ป่วยที่ต้องการความคุ้มครองและเรียกร้องความรับผิดชอบจาก แพทย์ผู้ทำการรักษามากกว่านี้ ส่วนจำเลยในชุดกาวน์ก็มองพรบ.ฉบับนี้ว่าเป็นการ บีบคั้นและกดดันการทำงานมากเกินไป บนพื้นฐานที่ว่า "ไม่มีใครอยากให้ความสูญเสียเกิดขึ้น"
 เหตุผลหนึ่ง น่าจะมาจากความเป็นธุรกิจเต็มตัวของโรงพยาบาลและสถานรักษาต่างๆ แพทย์เก่งๆ บางคนถูกดึงตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ วิ่งรอกรับงานวันละไม่ต่ำกว่า 2-3 ที่ ส่วนโรงพยาบาลรัฐ ที่พึ่งของคนหาเช้ากินค่ำ ก็ต้องไปต่อคิวรักษากันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง แพทย์ทำงานแบบยิงยาว ขนาดเวลาทำธุระส่วนตัวยังไม่มี

 เช่นนั้น ผู้ป่วยบางคนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจนป่วยทั้งตัวและเจ็บทั้งใจ ถึงกับพูดว่า หมอสมัยนี้ "รักษาโรค แต่ไม่ได้รักษาความเป็นมนุษย์"

 จริงไม่จริงอาจไม่สำคัญเท่ากับการไปย้อนดูถึงต้นทางอย่างโรงเรียน ผลิตแพทย์ว่า มีวิธีการจัดการศึกษาอย่างไร หัวใจสำคัญของแพทย์รุ่นใหม่ๆ ยังอยู่ที่การรักษาชีวิตหรือเปล่า

 Dr. Johanna Shapiro ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา แห่งภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ได้นำเสนอบทความในวารสาร Philosophy, Ethics, and Humanities in Medicine ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2551 ไว้ว่า

  “การเรียนวิชาแพทย์ของนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัญฑิตแล้ว และกำลังเรียนต่อเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง) ยิ่งนานปี ยิ่งทำให้ความสามารถในการเข้าใจ  ความเป็นมนุษย์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ลดลง สาเหตุสำคัญก็คือ การเรียนแพทย์จะเน้นวิธีคิดแบบ “ชีววิทยา-การแพทย์ (Bio-Medicine)” หรือมองความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของเชื้อโรค และความผิดปกติทางสรีรวิทยาเป็นสำคัญ วิธีคิดแบบนี้จะหล่อหลอมนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านให้มองเพียงแค่โรค หรือความผิดปกติที่เป็นเหตุให้เกิดโรคเป็นสำคัญ ขาดการมองคนทั้งคน ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ รวมทั้งความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วย” แนวความคิดนี้ทำให้วงการแพทย์ในอเมริกาต้องเริ่มหันมาทบทวน การแพทย์แผนปัจจุบันกันใหม่
 
นอกจากนี้แล้ว Dr. Johanna Shapiro  ยังบอกอีกว่าการพัฒนาคนที่เน้นเพียงมิติด้านวิทยาศาสตร์และการใช้หลักของ เหตุผลนั้น ไม่สามารถสร้างคุณภาพที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้
 จากแนวความคิดดังกล่าวทำให้ นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ และรองประธานฝ่ายพัฒนาความรู้และบุคลากรบริษัทรักลูก กรุ๊ป ได้นำแนวคิดนี้มาขยายผล โดยเริ่มจากในกลุ่มบรรดาแพทย์ที่รู้จักมักคุ้นกัน

 คุณหมออุดม แนะนำว่า  Dr. Johanna Shapiro เป็นผู้นำในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้เกิดขึ้นกับบัณฑิตแพทย์ด้วยการใช้ ศาสตร์ด้านศิลปะ และวรรณคดี ในปี 2547  เขาได้เสนอผลงานวิจัยในวารสาร Education for Health ที่ทดลองให้นักศึกษาแพทย์อ่านงานเขียนและบทกวีที่บรรยายเกี่ยวกับความ สัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย แล้วให้นักศึกษาวิจารณ์สิ่งที่ได้อ่าน รวมทั้งพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง

 "เธอพบว่าคะแนนความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ของนักศึกษาเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การได้สัมผัสกับความทุกข์ของคนที่เกิดจากความเจ็บป่วย ความทุกข์ของผู้ป่วยที่เกิดจากการกระทำของแพทย์ผ่านทางงานวรรณกรรม ทำให้นักศึกษาแพทย์เกิดอารมณ์คล้อยตาม เกิดความเจ็บปวดตามไปด้วย"  และด้วย “ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับตนเองด้วย” นี่เอง ทำให้นักศึกษาแพทย์รู้สึกว่าการกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และนำมาสู่การตัดสินใจว่าตนเองจะไม่ทำแบบนี้

 พร้อมกันนี้ Dr. Johanna ยังมั่นใจว่า วรรณกรรมดีๆ จะนำไปสู่การเกิดฐานคิดดีๆ (คุณธรรม) นำไปสู่วัตรปฏิบัติที่ดี ๆ (จริยธรรม) ประสบการณ์สุนทรีย์ หรือ Aesthetic Experience ที่เกิดขึ้นจากการได้อ่านและวิจารณ์งานวรรณกรรม ได้สัมผัสและวิจารณ์งานจิตรกรรมที่มีความหมาย คือสิ่งที่ทำให้คนเราพัฒนาตัวตนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

"ความสุขแห่งชีวิต" ที่ยะลา

 ด้วยความสนใจแนวความคิดของ Dr. Johanna  น.พ.อุดม จึงทำแนวความคิดนี้ไปทดลองปฎิบัติที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาโดยร่วมมือกับ นายแพทย์กุลเดช เตชนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล

 “บรรดาหมอและพยาบาลที่ยะลาอยู่ท่ามกลางความเครียดหลายๆอย่าง ทั้งหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต รวมทั้งความปลอดภัย พอดีคุณหมอกุลเดช  อยากจัดกิจกรรมบางอย่างสำหรับแพทย์พยาบาล เพื่อให้ผ่อนคลายและเกิดความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้น ผมจึงเสนอแนวคิดนี้ โดยให้หมออ่านหนังสือเรื่อง Human Comedy หรือ ความสุขแห่งชีวิต ผลงานของวิลเลี่ยม ซาโรยัน ไปให้อ่าน

 หลังจากอ่านแล้วก็ให้มีการพูดถึงแง่มุมต่างๆ ในเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนี้   มีการถกกัน วิจารณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความรู้สึกลึกๆ ของหมอ ทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน โดยที่หมอแต่ละคนได้สะท้อนตัวตนออกมาให้เห็น  แต่สิ่งสำคัญก็คือทำให้หมอได้เข้าใจความรู้ของความเป็นมนุษย์ผ่านตัวละคร ต่างๆ ในเรื่อง ซึ่งจะส่งผลดีหลายๆ อย่างเวลารักษาคนไข้"

 นพ.อุดมบอกว่านิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่หม้ายคนหนึ่ง มีลูก4คน เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 โดยลูกชายคนโตไปรบ ส่วนคนที่2 ไปเป็นนักศึกษา  ส่วนลูกคนที่3ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องกำลังเรียนชั้นมัธยม และทำงานพิเศษเพื่อหาเงินด้วยการรับจ้างส่งโทรเลขไปตามบ้านต่างๆ ซึ่งโทรเลขที่ไปส่งนั้นก็คือการแจ้งให้พ่อแม่ที่ลูกชายไปรบได้รู้ว่าลูกชาย ได้เสียชีวิตแล้วนั่นเอง

 มาจนฉบับสุดท้าย จ่าหน้าซองถึงแม่ตนเอง นั่นหมายความว่าพี่ชายได้ตายในสนามรบแล้ว...เนื้อหาในนิยายเรื่องนี้นอกจาก จะมีความสะเทือนใจมากแล้ว...ยังสะท้อนให้เห็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเข้าอกเข้าใจเมื่อต้องตกอยู่ในสภาวะที่เป็นทุกข์

 “มีหมอคนหนึ่งผมไม่ขอเปิดเผยชื่อนะ บรรดาเพื่อนๆ หมอรู้ดีว่าเป็นหมอใจหินมาก หลังจากได้อ่านเรื่องนี้แล้ว เมื่อให้แสดงทัศนะต่างๆ เกี่ยวกับนิยายที่ได้อ่าน หมอคนนี้ถึงกับร้องไห้ออกมาเลย เพราะเขารู้สึกสะเทือนใจกับตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง นี่แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจิตใจเบื้องลึกของหมอคนนี้ไม่ได้ใจหินอะไรเลย เมื่อมีโอกาสระบายความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ไม่มีอะไรต้องปิดบัง นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า การได้สัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ความประทับใจ คือที่มาของคุณธรรมในจิตใจของเรา และสิ่งนี้คือ ประสบการณ์สุนทรีย์ หรือ Aesthetic Experience นั่นเอง"

 สำหรับผลที่ได้รับนั้น นพ.อุดม เพชรสังหารบอก ว่า ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีอย่างยิ่งระหว่างเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาล เพราะทุกคนได้ระบายความรู้สึก โดยเฉพาะการรับรู้ความเป็นไปของมนุษย์ในตัวละครที่ได้อ่าน ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้หมอพูดคุยกับคนป่วยมากขึ้น เพื่อจะได้รู้ถึงความรู้สึกของคนป่วย ได้รู้ถึงเบื้องหลังของคนป่วย ตลอดจนมีความห่วงใยเหมือนเป็นญาติเป็นเพื่อนสนิท

 เมื่อคนป่วยกับหมอเข้าอกเข้าใจกัน  จึงเกิดความไว้วางใจต่อกัน และปัญหาต่างๆ อย่าง กรณีการฟ้องร้อง จะไม่เกิดหรือเกิดน้อยมาก เพราะการพูดคุยอย่าง "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" จะเข้ามาช่วยคลี่คลายเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี
..................................

ประสบการณ์สุนทรีย์ที่ คณะแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร

 ปัจจุบันแม้จะมีการนำเอาสุนทรียศาสตร์มาใช้ในวงการแพทย์ แต่ก็เป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น การวาดรูป หรือดูงานศิลปะ แต่สำหรับการนำเอาวรรณคดีมาเป็นองค์ประกอบนั้นยังไม่มีอย่างจริงจัง

 "สิ่งที่น่าสนใจคือผลการทดลองของ Dr. Johanna Shapiro เพราะจากการทดลองให้นักศึกษาแพทย์ได้อ่านงานวรรณคดีหรือวรรณกรรม ซึ่งงานวรรณกรรมที่เขาเอามาให้หมออ่านนั้น จะมีเนื้อหาเป็นลักษณะที่บอกว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้น ถ้าเป็นหมอ หมอควรจะทำอะไร พร้อมกับมีการวิเคราะห์วิจารณ์เนื้อหาอย่างจริงจัง ผลปรากฎว่าหมอที่ได้ซึมซับงานวรรณกรรม มีความเข้าใจคนป่วย ความบกพร่องลดลง และสามารถจะวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น "

 จากผลการทดลองนี่เอง นพ.อุดม เพชรสังหาร จึงนำเอาความคิดเหล่าไปพูดคุยกับ นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร ผู้เชี่ยวชาญวิชาการวิจัยชุมชนทางการแพทย์เชิงคุณภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนคณะแพทย์ศาสตร์  ม.นเรศวร ซึ่งสนใจและมีแนวความคิดในการสอดแทรกในหลักสูตรที่ว่าด้วยการเขียน การบันทึก และการอ่านให้กับนักศึกษาแพทย์อยู่แล้ว

อะไรคือจุดเริ่มต้นในการใช้หลักสูตรสุนทรียศาสตร์ด้านงานเขียนงานบันทึก

 หลักสูตรวิชาพื้นฐานวิชาชีพแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 นิสิตแพทย์จะได้สัมผัสชีวิตผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชนตั้งแต่เทอมที่ 1 ปีที่ 1 ต่อเนื่องจนถึงชั้นปีที่ 3 ด้วยการศึกษาประวัติการเจ็บป่วย และศึกษาพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยคนเดียวกัน ที่ยังเป็นปัญหาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา3  ปี

เมื่อศึกษาในชั้นปีที่ 2 นักศึกษาแพทย์จะต้องศึกษาอัตชีวประวัติของผู้ป่วยที่เคยศึกษาในชั้นปีที่ 1 เพื่อทำความเข้าใจชิวิตของผู้ป่วยทั้งชีวิตในรายวิชาประวัติศาสตร์ทางการ แพทย์ และยังคงติดตามรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยด้านการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมต่อ ไป จนกว่าจะจบชั้นปีที่ 3

เริ่มใช้หลักสูตรนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

 หลักสูตรดังกล่าวเพิ่ง เริ่มใช้ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 ในปีการศึกษา 2554 จะปรับปรุงรายวิชาเวชปฏิบัติกับความมนุษย์ (Humanistic Medicine) ในชั้นปีที่ 3 โดยเพิ่มเติมประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองในการสัมผัสกับการแพทย์ทางเลือกในแพทย์ แผนปัจจุบัน (complimentary alternative medicine) รวมทั้งการใช้ศิลปะหรืองานเขียนที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ และการศึกษาศาสนา/วัฒนธรรมที่แตกต่าง
 
วิธีการการเรียนการสอนเป็นอย่างไร?

 กิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ  จะมีทั้งการลงไปเก็บข้อมูลที่บ้านผู้ป่วย การนำเสนองานทั้งด้วยวาจาและเขียนรายงานโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คนต่อนิสิตแพทย์ 1 กลุ่ม (กลุ่มละ 10 - 15 คน) ทุกรายวิชาใช้กระบวนการเรียนรู้แบบปฏิบัติ (Action Learning) และแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning )

จุดมุ่งหมายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น?
 

  การสอนให้นิสิตแพทย์เข้าใจมิติความเป็นมนุษย์จากการสัมผัสผู้ป่วยและการ ปฏิบัติจริง ในคณะแพทย์ต่างๆ มักทำการสอนในชั้นคลินิกโดยการมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังหรือ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีการใช้สื่อและภาพยนตร์ รวมทั้งงานเขียนประสบการณ์ของนักศึกษาแพทย์กับผู้ป่วยมาประกอบการสอนร่วมไป กับการมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

 เพราะสังคมอุตสาหกรรมและวงการแพทย์กับสาธารณสุขถูกครอบงำวิธีคิดโดย แยกจิตออกจากวัตถุตามแนวคิดของเดคาร์ต ด้วยกระบวนทัศน์แบบกลไกมากกว่า 300 ปี ที่ว่า “องค์รวมไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากผลรวมขององค์ประกอบของมัน” วงการแพทย์จึงให้ความสำคัญกับชีววิทยาและหลักฐานเชิงประจักษ์”

 ขณะที่กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ใหม่ซึ่งเริ่มพัฒนามาเกือบ 100 ปี โดยเฉพาะอิทธิพลจากทฤษฎีสัมพันธภาพ ควอนตัมฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ที่ไม่ใช่เส้นตรง  ชีววิทยาองคาพยพ ล้วนนำไปสู่ความสอดคล้องลงตัวว่า สรรพสิ่งทั้งหลายนับตั้งแต่อนุภาคของสสาร คลื่น และพลังงาน จนถึงจักรวาล ล้วนเชื่อมต่อกันอย่างแยกกันไม่ออกระหว่างจิตกับวัตถุ และ “เชื่อมโยงจิตวัตถุและชีวิตเข้าเป็นหนึ่งเดียว” (Fritj of Capra)

นั่นหมายความแพทย์ยุคใหม่มองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนไข้มากขึ้น?

 วงการแพทย์ยุคใหม่จึงเริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นองค์รวมของชีวิต ทั้งกาย สิ่งแวดทางกายภาพ สังคม จิต และจิตวิญญาณ ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ซึ่งละเลย มิติความเป็นมนุษย์  วงการแพทย์จึงเริ่มให้ความสนใจมิติความเป็นมนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการยอมรับงานวิจัยเชิงคุณภาพเข้ามาเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ทางการแพทย์ด้วย พบว่า “ข้อมูลเชิงคุณภาพมีพลังในการปรับเปลี่ยนระบบและพฤติกรรมในเวชปฏิบัติ มากยิ่งกว่าข้อมูลเชิงสถิติ”

แสดงว่าการเข้าใจคนป่วยทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีกว่า?

 การสัมผัสชีวิตผู้ป่วย รวมทั้งการศึกษาอัตชีวประวัติผู้ป่วยซึ่งเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพที่จะทำให้ นิสิตแพทย์ เข้าใจชีวิตและความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยที่แตกต่างไปจากตัวเอง   โลกทัศน์ดังกล่าว ควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ปีแรกของแพทยศาสตร์ศึกษา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญเมื่อขึ้นไปศึกษาในชั้นคลินิกที่ยังคงให้ความสำคัญ กับการดูแลกายมากกว่า

 เราเชื่อว่าการสัมผัสเรียนรู้กับผู้ป่วยตั้งแต่ขั้น Pre-clinic จะได้ผลดีกว่าการเริ่มต้นเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยในชั้น clinic

กรุงเทพธุรกิจ
24 กุมภาพันธ์ 2554